มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กับการขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล

การเปลี่ยนแปลง กับก้าวที่กล้า

นับแต่มี ‘ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580’ หรือยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี อันเป็นยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวฉบับแรกของประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นกรอบชี้นำทิศทางการพัฒนาประเทศทุกมิติในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า ‘แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ’ ได้รับการจัดทำขึ้น เพื่อกำหนดให้ประเทศไทยมีทิศทาง และเป้าหมาย ในการพัฒนาประเทศชัดเจนมากขึ้น โดยแบ่งช่วงระยะเวลาของการพัฒนาออกเป็น 4 ช่วง ช่วงละ 5 ปี ซึ่งทำให้ทิศทางการพัฒนามีความยืดหยุ่น พร้อมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของแต่ละช่วงเวลา และสามารถปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดทำ ‘นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2570’ ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และยังมี ‘แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศให้บรรลุผลตามยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้ โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาอันเป็นปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ ซึ่งได้วิเคราะห์สภาพปัญหา และความท้าทายของระบบการศึกษาไทย ประกอบกับข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษาของหน่วยต่าง ๆ กำหนดเป็นแผนงานเพื่อการปฏิรูป 7 เรื่อง ทั้งนี้ เรื่องสำคัญประการหนึ่ง คือ ‘เรื่องการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล’ (Digitalization for Educational and Learning Reform) สถาบันคลังสมองของชาติ จึงดำเนิน ‘โครงการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital Transformation Health Check for University Preparedness)’ โดยมีเป้าหมายเพื่อสำรวจความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในการก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลใน 5 มิติ ได้แก่ ทิศทางและการพัฒนาองค์กร (Direction) ความพร้อมด้านพันธกิจ/ธุรกิจ (Direction) ความพร้อมด้านระบบงานประยุกต์ (Application) ความพร้อมด้านข้อมูล (Data) และความพร้อมด้านเทคโนโลยี (Technology) โดยได้อ้างอิงจากการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กรดิจิทัล TOGAF Framework และประยุกต์ใช้ในหน่วยงานภาครัฐของไทย ให้นำไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลมาแล้วหลายหน่วยงาน โดย อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ซึ่งในโครงการนี้ได้นำเครื่องมือดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในชื่อเครื่องมือ ‘Digital maturity model: DMM’ ในการสำรวจความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ที่ได้แบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ระดับที่ 1 Traditional University ระดับที่ 2 E-University ระดับที่ 3 Connected University และระดับที่ 4 Smart University

ทั้งนี้ จากผลสำรวจในโครงการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล พบว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา มีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งในมิติด้านทิศทางและการพัฒนาองค์กร (Direction) โดยมีค่าเฉลี่ยสูงสุดในส่วนวิสัยทัศน์ รวมถึงภารกิจหลักและกลยุทธ์ อยู่ที่ระดับที่ 2 หรือ E-University ในโอกาสนี้ รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ได้เปิดบ้านต้อนรับทีมงาน พร้อมพูดคุยบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับทิศทางและการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ในหลากหลายด้านที่ล้วนมีส่วนผลักดันและส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมีความพร้อมในการขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลในอนาคต

“มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง มียุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ซึ่งสนองพระราโชบายด้านการศึกษาในการเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ของรัชกาลที่ 10 ที่ทรงทรงห่วงใยระบบการศึกษา และทรงต้องการให้ประชาชนทั่วไปอยู่อย่างมีความสุข โดยการมีความสุขนั้นต้องดูด้วยว่า เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากความสะดวกสบาย หรือการรักษาคุณภาพของระบบการศึกษา ทั้งหมดนี้จึงต้องสร้างหน่วยงานที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อรับใช้สังคม โดยให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ยกระดับคนในชุมชน และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ส่วนแรก มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC (Eastern Economic Corridor หรือโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) เป็นพื้นที่ที่เติบโตค่อนข้างเร็ว มีกลุ่มชาวแปดริ้วที่รักบ้านเกิด แล้วยังมีคนภายนอกสนใจที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่ มหาวิทยาลัยจึงปวารณาตัวเองให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ และรับใช้สังคม” รศ.ดร.ดวงพร กล่าว “ทั้งนี้ อย่างหนึ่งที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการ คือ การสร้าง Smart university ที่มุ่งเน้น Digital Literacy (ทักษะความเข้าใจและการนำใช้เทคโนโลยีดิจิทัล) แต่จากเดิมที่เป็น Traditional University ทำอย่างไรเพื่อให้เป็น Smart University และคำว่า Smart คงมาจาก Quality จากดิจิทัล โดยยังต้องสร้างขวัญ และความสุข ให้เกิดขึ้นในสังคม”

 

จุดตั้งต้น ของ Digital Transformation ในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

ส่วนที่เป็นดิจิทัล มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ได้สแกนพื้นที่ 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวมทั้ง 10 องค์การบริหารบริหารส่วนตำบล ทำให้ได้ข้อมูลว่า การพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ จะพัฒนาไปในทิศทางไหน อย่างไร Data เหล่านี้ ทั้ง Data ที่อยู่ในมหาวิทยาลัย Data ที่อยู่ในชุมชน เราก็ต้องนำมารวบรวม เราคิดว่าต้องรีบปรับแล้ว เพราะเราเป็นที่พึ่งของสังคม จะต้องเอาข้อมูลทั้งหมดในมหาวิทยาลัย และข้อมูลที่สแกนพื้นที่ในชุมชน มา Pool รวมกันให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล” รศ.ดร.ดวงพร เล่า “จึงเป็นที่มาของการพูดคุยกับทางคณะทำงาน ซึ่งต้องขอบคุณทีมงานทุกคน ทุกชีวิตในมหาวิทยาลัย ที่พร้อมใจกันผนึกกำลัง ท่านรองอธิการบดี ท่านผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ และทีมงานทั้งมหาวิทยาลัย ฯลฯ ที่ได้มองแล้วว่า เมื่อแต่ละคณะลงสู่ชุมชนแล้ว จะต้องปรับแนวคิดให้เป็นเชิงดิจิทัลทั้งหมด การสร้าง Digital Transformation ในมหาวิทยาลัย จึงเริ่มจากการสร้าง Digital Mindset แล้วก็การสร้าง Digital Literacy”

นอกจากนี้ ด้านการพัฒนาบุคลากร และกระบวนการทำงาน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์มีความภาคภูมิใจต่อการนำใช้เทคโนโลยี คือ การประชุมแบบ Paperless “สิ่งแรก ทำอย่างไรให้ลดการใช้กระดาษมากที่สุด อย่างที่ 2 คือ การติดต่อสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ ทั้งในเรื่องของการใช้ E-document เช่น การรวบรวมข้อมูล เรากำลังทำแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่สามารถลิงก์กับระบบ ISO เพราะฉะนั้นข้อมูลทั้งหลายองถูกดึงมา หรือเรียกดูผ่านโปรแกรม”

อย่างไรก็ตาม สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ นักศึกษายังเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด ทางมหาวิทยาลัยจึงได้ทดสอบการใช้ Digital Transcript และใช้การสอบแบบดิจิทัล เพื่อพิจารณาศักยภาพของนักศึกษาทั้งหมดที่ศึกษาอยู่ เพื่อปิดช่องว่าง และพัฒนานักศึกษาผ่านกระบวนการต่าง ๆ “เราเริ่มจากนักศึกษา โดยคิดว่า คนใน EEC หรือเยาวชนใน EEC ของเราต้องเข้มแข็ง ดังนั้น เราจึงสร้างบุคลากรมาเป็นวิทยากรแกนนำผ่านมาตรฐาน ที่เรียกว่า ICDL (มาตรฐานทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้รับการรับรองจากทั่วโลก) เราสร้าง Train The Trainer ซึ่งตอนนี้ได้บ่มเพาะที่จะสร้าง Train The Trainer ประมาณ 20 กว่าคน แล้วก็จะขยายผลต่อไปอีก” รศ.ดร.ดวงพร ยกตัวอย่าง “เพราะฉะนั้น นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ว่า สร้างนักศึกษาแล้ว สร้างความเข้มแข็งของชุมชนแล้ว ยังมองด้วยว่า ข้อมูลที่มีอยู่ เราสามารถสร้างแพลตฟอร์มการทำงานได้ ซึ่งแพลตฟอร์มอย่างแรกที่มหาวิทยาลัยดำเนินการ คือ แพลตฟอร์มด้านการวิจัย ว่างานวิจัยของมหาวิทยาลัยมีอยู่ในระดับไหน ต้องการแมตชิงกับหน่วยงานทุนมากน้อยแค่ไหน ทำออกมาเป็นข้อมูลเชิง Baseline เพื่อที่ว่าหลังจากนั้นจะได้พัฒนาในส่วนของมหาวิทยาลัยในแต่ละมหาวิทยาลัยที่มีคอนเนกชันระหว่างกัน คนจะเขียนข้อเสนอโครงการต้องมาจากข้อมูลเชิง Baseline เช่น ของทางจังหวัด หรือสภาอุตสาหกรรมใน 3 จังหวัด เพราะข้อมูลเหล่านี้มหาวิทยาลัยมีเครือข่ายการทำงานเป็นแพลตฟอร์ม ซึ่งมหาวิทยาลัยสามารถเก็บข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนเป็นข้อเสนอโครงการได้ อย่างแพลตฟอร์มในเรื่องของวัฒนธรรม เราก็มีศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งท่านผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม ก็ให้ความสำคัญกับกระบวนการการจัดการเรียนรู้ และมีแพลตฟอร์มในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมที่เป็นดิจิทัล คิดว่าดิจิทัลที่เกิดขึ้นนี้สามารถบูรณาการในทุกมิติ ตอนนี้ มหาวิทยาลัยมีแผนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในระหว่างการขอเสนอโครงการกับหน่วยงาน Funding Agencies ต่าง ๆ ซึ่งคิดว่า อนาคตของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์พร้อมผนึกกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไป ถามว่า ในระดับ หรือ Level นี้ จะพัฒนาต่อได้ไหม ทางมหาวิทยาลัยมองว่าในกระบวนการข้างหน้าต้องมีงบประมาณในการพัฒนา และทำให้ทุกคนมี Digital Mindset ร่วมกันทั้งมหาวิทยาลัย”

 

จากนโยบาย สู่การปฏิบัติ

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มีหลักสูตรศึกษาทั่วไป (General Education) หากได้รับการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ในเรื่องของการจัดการเรียนรู้ คือ มีการเรียนรู้แบบผสมผสาน หรือ Blended Learning โดยมีรองอธิการบดีรับหน้าที่ดูแลทางด้าน GE โดยตรง และมีผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการช่วยดูแลด้วย ทั้งนี้ รูปแบบการเรียนการสอนดังกล่าว คือ มีทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ผสมผสานกัน “หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่เราคิดว่าจะสามารถอำนวยความสะดวกได้ และหน้าตาของหลักสูตรนี้จะสร้างคนในโลกอนาคต การพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 หรือแม้กระทั่งทักษะของ Work Force ก็จะผ่านตัว Soft Skill เหล่านี้ เพราะฉะนั้นการจัดการเรียนการสอนในแพลตฟอร์มนี้จึงใช้ในหลักสูตร GE เป็นอันดับแรก” รศ.ดร.ดวงพร อธิบาย

มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ยังพัฒนาหลักสูตร Non Degree ที่มีรองอธิการบดีอีกท่านหนึ่งเข้ามารับหน้าที่ดูแลงาน โดยหลักสูตร Non Degree ได้รับการพัฒนาให้เป็น Career Academy ในมหาวิทยาลัย กล่าวคือ เป็นวิชาที่สร้างแพลตฟอร์มในเรื่องการสร้างอาชีพ “แพลตฟอร์มของหลักสูตร Non Degree นี้ มีตั้งแต่แพลตฟอร์มในเรื่องของ Work Force แพลตฟอร์มในเรื่องของเกษตร แพลตฟอร์มในเรื่องของการพัฒนาสังคม การสร้างสติปัญญา การสร้างและพัฒนาทางด้านศิลปะ ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นหลักสูตรที่ทางมหาวิทยาลัยมีแผนการดำเนินงานให้เป็น Digital Platform” รศ.ดร.ดวงพร กล่าว

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ยังมองถึงการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยมีนโยบายจาก ดร.พินิติ รตะนานุกูล นายกสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งสภามหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยเอง ซึ่งฉายภาพทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัย อันจะนำไปสู่การวางรูปแบบ และการวางกลไกในการทำงาน ทั้งในส่วนของวิสัยทัศน์ และในส่วนของภาคปฏิบัติ รวมทั้งแผนปฏิบัติการว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์จะพลิกโฉม โดยนำหลักสูตร Non Degree ส่งต่อให้กับชุมชน ทั้งภาคประชาสังคม ภาคอุตสาหกรรม และภาคเอกชน ซึ่งการทำงานดังกล่าวนี้จะทำให้มหาวิทยาลัยอยู่อย่างเข้มแข็งต่อไป

ทั้งนี้ รศ.ดร.ดวงพร เล่าว่า ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มีการสื่อสารกับผู้บริหาร และสื่อสารกับคณาจารย์ อยู่บ่อยครั้งว่าจะอยู่ใน Comfort Zone ต่อไปไม่ได้ อาทิ การเข้าถึงชุมชน ถือเป็นโอกาสที่ดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งมียุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่จะนำอาจารย์ นักศึกษา ไปพัฒนาพื้นที่ สแกนพื้นที่ และปรับกลยุทธ์ร่วมกับผู้นำชุมชน “โอกาสเหล่านี้ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัด เขาจะได้รู้จักการความรับผิดชอบ การต่อสู้ การอดทน ที่นอกจากจะได้ลงพื้นที่แล้ว ยังมีนักศึกษาที่ยังจะต้องบูรณาการการเรียนการสอนให้ด้วย เลยคุยกันว่า คงต้องพัฒนา แล้วก็มีเส้นทางความก้าวหน้า ซึ่งยังเป็นการนำมหาวิทยาลัยไปสู่การพัฒนาบุคลากร หรือ Track ในเรื่องของการรับใช้สังคม ตรงนี้คิดว่าเป็นโอกาสให้มหาวิทยาลัยราชภัฏได้รับการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ มิติ” รศ.ดร.ดวงพร กล่าว

 

แรงบันดาลใจ กับพลังแห่งการขับเคลื่อนตนเอง และสังคม

“จริง ๆ การที่จะพัฒนาไปสู่การสร้าง Digital Transformation ได้ ต้องเกิดจากแรงบันดาลใจ” รศ.ดร.ดวงพร กล่าว “มันต้องเห็นสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด เพราะฉะนั้น จึงคิดว่าจะต้องเป็นผู้ที่ติดตามสถานการณ์ว่าโลกใบนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างแล้ว ผู้บริหาร หรือผู้นำ เป็นคนที่มีความสำคัญในการ Direct ถ้าผู้นำรับรู้ข้อมูลเหล่านี้ น่าจะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับหน่วยงานบางหน่วยงานที่อาจจะไม่ทราบข้อมูล ส่วนกลางต้องก็เข้ามาช่วยฉายภาพข้อมูลที่แท้จริงให้กับคนทั่วไป หรือแม้กระทั่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ว่าตอนนี้มันจะอยู่ไม่ได้ ถ้าเราไม่มีการ Transform มหาวิทยาลัย”

รศ.ดร.ดวงพร ยอมรับว่า รู้สึกตื่นเต้น และรู้สึกหัวใจพองโตทุกครั้ง เมื่อได้ยินว่า ภาคส่วนต่าง ๆ ให้การตอบรับในทางบวกต่อการร่วมมีบทบาทในการเข้าสู่ Digital Transformation “เรามีผู้ที่รักในการพัฒนา เพราะฉะนั้น ทุกข้อเสนอแนะมีคุณค่าให้มหาวิทยาลัย มีพลังใจ มีความเข้มแข็ง สำหรับการพัฒนา”

กล่าวได้ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มีความโดดเด่นและมีโอกาสที่ดีอยู่หลายด้าน หากทั้งนี้ ย่อมเกิดจากการลงแรงทำงานอย่างเข้าถึง เข้าใจ และต่อเนื่องเสมอมา อาทิ กระบวนการการจัดให้ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ภาคประชาคม ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน หรือภาครัฐบาล มาพบปะกันอยู่บ่อยครั้ง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัด ให้ความเมตตา และเป็นสื่อกลางเชื่อมต่อให้กับทางมหาวิทยาลัย “เพราะฉะนั้น ท่านก็ให้โอกาสในการจัดสรรงบประมาณบางส่วนในการพัฒนามหาวิทยาลัย สร้างศูนย์ Certified Body การพัฒนา GAP การให้เงินทุนในการพัฒนาเยาวชน ซึ่งการพัฒนากลุ่มคนเหล่านี้เพื่อให้ได้งานทำในอนาคต และเป็นโอกาสของมหาวิทยาลัยที่จะสร้างความท้าทายให้คนในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ที่เราเรียกว่า คน RRU ได้ทำงานพัฒนาร่วมกับคนในพื้นที่”

นอกจากการทำงานเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นแล้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์เล็งเห็นข้อมูลของชุมชนที่มีอยู่อย่างมากมาย ซึ่งนับเป็นโอกาสในการทำงานของมหาวิทยาลัย “เราอยู่ใกล้ชุมชน ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่มีคุณค่า และมีประโยชน์ อาทิ ค่า O-Net ค่า A-Net ของนักเรียนในภาคตะวันออกไม่ได้สูงนัก เพราะฉะนั้น กระบวนการจัดการเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งการพัฒนา Digital Literacy และการพัฒนาเยาวชนตั้งแต่ปฐมวัยเป็นสิ่งสำคัญ และการพัฒนาเหล่านี้ต้องอาศัยดิจิทัลเป็นตัวนำ ให้เขาสามารถเรียนรู้ทั้งในประเทศ และนอกประเทศ ดังนั้น การพัฒนาดิจิทัล ยังอาจจะต้องควบคู่กับการพัฒนาทางด้านภาษาควบคู่กัน แล้วพัฒนาทางด้านสังคมสติปัญญา การเข้าสู่สังคม การสร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจที่จะต้องยกระดับและพัฒนาการศึกษา โดยใช้เครื่องมือดิจิทัล เป็นหลัก เราจะพัฒนาได้ ต้องก้าวทันการเปลี่ยนแปลง” รศ.ดร.ดวงพร กล่าว “มหาวิทยาลัยราชภัฏอาจเริ่มจากการได้รับงบประมาณจัดสรรส่วนหนึ่งจากยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โครงการนี้ ในนามของผู้บริหาร และในนามของคณาจารย์ เรารู้สึกว่า งานเหล่านี้เป็นงานที่สร้างโอกาส ตั้งแต่การเข้าถึงชุมชน การจัดการเรียนการสอน การบริการวิชาการ Blend เข้าไปอยู่ในกิจกรรมเดียวกัน นำเอาโจทย์วิจัยที่เป็นความต้องการของพื้นที่เข้าไปพัฒนาพื้นที่ ทำให้เกิดงานวิจัย เกิดผลงานวิจัย แล้วนำไปสู่การตีพิมพ์ เราได้คุณค่าทางสังคม เราได้ศิลปวัฒนธรรม เราได้ถึงแม้กระทั่งตำรับอาหาร เราได้รู้จักปราชญ์ชาวบ้าน เรารู้จักคุณค่าของชุมชน เราเห็นการทำงานที่อยู่ร่วมกับชุมชน เหล่านี้คือ โอกาส มหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่คนเดียว แต่อยู่พร้อม อยู่ร่วม กับชุมชน แล้วทำให้ชุมชนสงบสุขได้”

การที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มุ่งหน้ามาสู่บันไดขั้นที่พร้อมก้าวขึ้นไปสู่การเป็น Smart University หรือมหาวิทยาลัยดิจิทัล ได้นี้ ทั้งวิสัยทัศน์ พร้อมพลังงานและพลังใจที่เป็นหนึ่ง เกิดจากการกำหนด OKR (Objective and Key Results) ร่วมกัน “ผู้บริหารในแต่ละระดับต้องคุยกันว่า หลักสูตรในปีนี้ เราจะไปในทิศทางไหน แล้วเราก็มองไปสู่การวัดผล ประเมินผลสำเร็จที่ได้ การมองเป้าหมายร่วมกันทั้งมหาวิทยาลัย หรือการมองเป้าวิสัยทัศน์ของการทำงาน ต้องออกมาเป็น Action Plan เราจึงมีการติดตามทุกไตรมาส ดูว่ากิจกรรมในแต่ละโปรเจกต์ ในแต่ละรายการ เดินไปแค่ไหน ที่สำคัญ คือ การติดตามอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดการประชุมผู้บริหารในทุก ๆ เดือน หรือเดือนละ 2 ครั้ง ทำให้ทุกคนตื่นตัวในการทำงาน และมีการวางแผนด้วยกัน”

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการสร้าง Digital Transformation ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์จะไม่มีอุปสรรค รศ.ดร.ดวงพร กล่าวว่า งบประมาณเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องใช้และลงทุนสูง ขณะเดียวกัน การทำให้บุคลาการในองค์กรกว่า 800 ชีวิต มองภาพเป็นภาพเดียวกันทั้งหมด และทุกคน ย่อมมี Layer ของความเข้าใจที่แตกต่างกัน “ในการประชุม ในการสื่อสาร จึงต้องสื่อสารจากระดับที่เป็นหัวกะทิก่อน จากนั้น จึงสร้างความเข้าใจให้ตระหนักถึงความสำคัญด้วยกัน แล้วจึงกระจายลงสู่คณาจารย์ และนักศึกษา เป็นลำดับต่อไป” รศ.ดร.ดวงพร อธิบาย