มหาวิทยาลัยไทยในศตวรรษที่ 21

 รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ

 กับการเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล

        “การเรียนการสอนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องของการเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลที่เต็มรูปแบบ การที่เราจะพัฒนาไปเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลมีองค์ประกอบหลายอย่าง การเรียนการสอนออนไลน์เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น องคาพยพอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมทั้งหมด โครงสร้างพื้นฐาน แนวคิด นโยบาย หรือแม้กระทั่งเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อสนับสนุน ต้องไปพร้อมกันรศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ (Knowledge Network Institute of Thailand : KNIT) เปิดประเด็น พร้อมนำเราเข้าสู่การขับเคลื่อนไปยังคำว่า มหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital University)’ ที่แท้จริง

        ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นสังคมแห่งการนำใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กำหนด ‘แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากาลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564-2570’ ว่าด้วย ‘เรื่องนโยบายการพลิกโฉมการศึกษาด้วยระบบดิจิทัล (Digitalization for Educational and Learning Reform)’ อันประกอบด้วยประเด็นปฏิรูป 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ (Digital Learning Reform: National Digital Learning Platform (NDLP)) 2) ระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา (big data for education) และ 3) การพัฒนาความเป็นพลเมืองดิจิทัล (digital citizenship) ในด้านความ ฉลาดรู้ดิจิทัล (digital literacy) ความฉลาดรู้สารสนเทศ (information literacy) ความฉลาดรู้สื่อ (media literacy) เพื่อการรู้วิธีการเรียนรู้ (learning how to learn) ในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนการมีพฤติกรรมที่สะท้อนการรู้กติกามารยาทและจริยธรรมเกี่ยวกับการใช้สื่อและการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ต

        สถาบันคลังสมองของชาติ ซึ่งมีภารกิจเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาครัฐและสังคม ในการแก้ปัญหาและแสวงหาความริเริ่มเชิงนโยบายใหม่ ๆ ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้วยกระบวนการทางวิชาการ บนฐานของข้อมูลและการวิเคราะห์วิจัย ผ่านการประสานกับเครือข่ายนักวิชาการจากอุดมศึกษา ในปี 2563 จึงดำเนิน ‘โครงการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital Transformation Health Check for University Preparedness)’ โดยมีเป้าหมายเพื่อสำรวจความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในการก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลใน 5 มิติ ได้แก่ ทิศทางและการพัฒนาองค์กร (Direction) ความพร้อมด้านพันธกิจ/ธุรกิจ (Direction) ความพร้อมด้านระบบงานประยุกต์ (Application) ความพร้อมด้านข้อมูล (Data) และความพร้อมด้านเทคโนโลยี (Technology) โดยได้อ้างอิงจากการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กรดิจิทัล TOGAF Framework และประยุกต์ใช้ในหน่วยงานภาครัฐของไทย ให้นำไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลมาแล้วหลายหน่วยงาน โดย อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ซึ่งในโครงการนี้ได้นำเครื่องมือดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในชื่อเครื่องมือ ‘Digital maturity model: DMM’ ในการสำรวจความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ที่ได้แบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ระดับที่ 1 Traditional University ระดับที่ 2 E-University ระดับที่ 3 Connected University และระดับที่ 4 Smart University

        “มหาวิทยาลัยดิจิทัลแบ่งเป็นบันได 4 ขั้น ขั้นแรกก็คือ เป็นมหาวิทยาลัยแบบดั้งเดิม หรือ Traditional University คือใช้กระดาษใช้อะไรกันเป็นปกติ ถัดมาเป็น E-University เป็นมหาวิทยาลัยที่ใช้ไอทีเข้ามาช่วยในบางเรื่อง แต่ว่าไม่ได้ทุกเรื่อง และถัดไปจากนั้น เป็นระดับที่แอดวานซ์มากขึ้น คือ Connected University ข้อมูลทุกอย่างจะมีการเชื่อมโยงกัน มีการใช้ประโยชน์จากการเป็นไอทีได้ ในที่สุดเข้าสู่การเป็น Smart University ที่ทุกคนอยู่ตรงไหนก็สามารถทำงานได้ การเชื่อมต่อติดต่อระหว่างนักศึกษา การส่งงาน การส่งการบ้าน ทำได้หมด การบริหารงานอยู่กับบ้าน ผู้บริหารอยู่กับบ้าน เข้าคอมพิวเตอร์ดูก็รู้แล้วว่าตอนนี้สถานการณ์ของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร อันนั้นเป็น Smart University ซึ่งเป็นภาพฝันที่เราอยากเห็นรศ.ดร.พีรเดช กล่าว สิ่งที่เราทำคือ ขั้นแรก สำรวจมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทยว่าอยู่ตรงไหนแล้ว และผลออกมาว่า ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ 2 คือ ขั้นที่เรียกว่า พร้อมเป็น E-University”

        กล่าวคือ การแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยในระดับที่ 1 หรือ Traditional University เรียกว่าระดับ Pre-Early คือลักษณะของสถาบันการศึกษาที่มีเครื่องมือในการทำงาน 2 ลักษณะคือ การดำเนินการใหญ่ใช้กระดาษ และใช้ IT ในบ้าง ในส่วนของการประสานงาน มีทั้งการใช้หนังสือราชการ อี-ไฟล์ และคนทำงาน ส่วนการบริการข้อมูลข่าวสารนั้น ใช้ช่องทางเว็บไซต์ ใช้อี-ฟอร์ม และใช้นิสิต นักศึกษาต้องรับบริการที่มหาวิทยาลัย สำหรับช่องทางการสื่อสารหลัก ใช้โทรศัพท์ และโทรสารเป็นหลัก ใช้อีเมลบ้าง ส่วนงานบริการนิสิต นักศึกษา จะกำหนดโดยมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว อาจมีช่องทางการเปิดรับความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงบริการบ้าง นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องความสามารถในการใช้ไอทีของบุคลากร ส่วนใหญ่ยังมี Digital Literacy ไม่สูงมาก กล่าวคือ สามารถใช้ระบบงานเอกสารได้ แต่ยังมีข้อจำกัดในการออกแบบสื่อผสม รวมถึงความเข้าใจด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลด้านดิจิทัลอย่างครบถ้วน

        ส่วนระดับที่ 2 หรือ E-University เรียกว่าระดับ Early มีเครื่องมือในการทำงานคือ นำไอทีมาช่วยลดการใช้กระดาษ หากยังคงติดขัดกฎระเบียบบางอย่าง ในส่วนของการประสานงานจะใช้อี-ไฟล์เป็นหลัก และใช้หนังสือราชการเท่าที่จำเป็น ส่วนการบริการข้อมูลข่าวสาร ในด้านการบริการข้อมูลข่าวสาร นิสิต นักศึกษา สามารถรับบริการของมหาวิทยาลัยผ่านแอปพลิเคชัน และโมบายล์-แอปพลิเคชัน ซึ่งมีการเสริมการใช้งานอย่างทั่วถึง ทว่า ยังคงต้องมีการเดินทางมาแสดงตัวตนเพื่อให้ข้อมูลสำคัญ ด้านช่องทางการสื่อสารหลัก ใช้เว็บไซต์เป็นหลัก รวมถึงใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนงานบริการนิสิต นักศึกษา มีช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นทางการเพื่อรับความคิดเห็นของนักศึกษาและมีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงบริการของมหาวิทยาลัยให้ดียิ่งขึ้นไป ปรับปรุง Front Office และ Back Office เพื่อรองรับการพัฒนาบริการให้ตรงกับความต้องการ ตลอดจนปรับปรุงและแก้ไขกฎระเบียบเดิม เพื่อให้การบริการแก่นิสิต นักศึกษา มีประสิทธิภาพดีขึ้น สุดท้าย เรื่องความสามารถในการใช้ไอทีของบุคลากร ส่วนใหญ่ใช้ระบบไอทีของมหาวิทยาลัยได้อย่างเชี่ยวชาญ และสามารถใช้ระบบงานอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการจัดการภายในและมีความรู้หลักการจัดการและมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล

        สำหรับระดับที่ 3 หรือ Connected University เรียกว่าระดับ Developing มีเครื่องมือในการทำงานคือ มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อยกเลิกการใช้กระดาษ โดยเปลี่ยนต้นฉบับให้เป็นดิจิทัล ทว่า อาจยังติดขัดกฎระเบียบบางส่วนอยู่ ในส่วนของการประสานงาน มีการเชื่อมกับหน่วยงานอื่นแบบอัตโนมัติ และเชื่อมโยงกระบวนทำงานระหว่างหน่วยงานทั้งภายใน และภายนอก ด้วยความปลอดภัยทางด้านดิจิทัล ส่วนการบริการข้อมูลข่าวสาร แน่นอนว่า นิสิต นักศึกษา ผู้รับบริการ ได้รับความสะดวกในการเข้าถึงบริการในหลากหลายช่องทาง และเรื่องของช่องทางการสื่อสารหลัก จะใช้โมบายล์-แอปพลิเคชัน และใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเสริม ในส่วนงานบริการนิสิต นักศึกษา มีการปรับปรุงบริการด้วยหลักการพัฒนา ตั้งแต่วางแผน ตลอดจนรับเสนอความคิดเห็นและกลับมาพัฒนาต่อยอด (end to end service development life cycle) บนดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดให้นำข้อมูลที่สามารถเปิดเผยได้ของภาคการศึกษาแก่นิสิต นักศึกษา ประชาชน และเอกชน ในการนำใช้ให้เกิดประโยชน์ สำหรับเรื่องความสามารถในการใช้ไอทีของบุคลากร คือ มีความสามารถในการใช้ไอทีของมหาวิทยาลัยได้อย่างเชี่ยวชาญ มีระบบอัตโนมัติ และลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลกัน ทั้งภายในและภายนอกอย่างไร้รอยต่อ มีการนำข้อมูล/ข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ประกอบการตัดสินใจและดำเนินงาน ประยุกต์ใช้ไอที เพื่อสร้างนวัตกรรมการบริหาร/การทำงาน และการนำข้อมูลภายในและภายนอกองค์กร สื่อสังคมออนไลน์มาใช้ประกอบการตัดสินใจ

        ระดับที่ 4 หรือ Smart University เรียกว่าระดับ Mature มีเครื่องมือในการทำงานคือ ใช้เครื่องมือดิจิทัลในการต่อยอดคุณค่าร่วมกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในลักษณะของแพลตฟอร์มด้านดิจิทัล ในส่วนของการประสานงาน ให้ความสำคัญกับการต่อยอดการสร้างคุณค่าร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย ส่วนการบริการข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลสำคัญในการจัดการบริการนิสิต นักศึกษา ถูกเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนแบบอัตโนมัติ ไร้รอยต่อ นิสิต นักศึกษาสามารถเข้าถึงข้อมูลเปิดของมหาวิทยาลัยเพื่อการทำนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ (Data as a service) ส่วนช่องทางการสื่อสารหลัก ใช้ช่องทางทั้งออนไลน์ และออฟไลน์อย่างผสมผสานไร้รอยต่อ ในส่วนของการบริการนิสิต นักศึกษานั้น นิสิต นักศึกษา ประชาชน มีส่วนร่วมในการเสนอแนะและตัดสินใจเชิงนโยบายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ นิสิต นักศึกษา ประชาชน ยังมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัย เกิดการต่อยอดองค์ความรู้และบริการของสถาบันการศึกษาและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการพัฒนาบริการใหม่ ๆ (Service Co-creation) สำหรับเรื่องความสามารถในการใช้ไอทีของบุคลากร มีความสามารถในการต่อยอดในการใช้ไอทีของมหาวิทยาลัยอย่างสร้างสรรค์ เกิดนวัตกรรมด้านกระบวนการทำงานใหม่ ๆ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในมหาวิทยาลัยอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ บุคลากรส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีเพื่อแสวงหาและวิเคราะห์ข้อมูล และข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อประโยชน์ในการวางแผน การปฏิบัติการ การพัฒนานวัตกรรมบริการในอนาคต และที่สำคัญคือ บุคลากรมีความสามารถในการประยุกต์ใช้เครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาขับเคลื่อนการทำงานที่เป็นลักษณะ Anywhere / Anytime / Any Devices และยังคงรักษาความปลอดภัยของข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

       จากการสำรวจความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล พบว่า ภาพรวมมีค่าเฉลี่ยในการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลที่ระดับ 1-2 โดยกลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐ และกำกับของรัฐ มีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในส่วนของวิสัย อยู่ที่ระดับ 2 (E-University) ส่วนด้านอื่น ๆ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1 (Traditional University) ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชน มีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในส่วนภารกิจหลัก (Business) อยู่ที่ระดับ 2 (E-University) ส่วนด้านอื่น ๆ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1 (Traditional University) ในขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ในส่วนวิสัยทัศน์ อยู่ที่ระดับ 2 (E-University) และในส่วนของภารกิจหลักและกลยุทธ์ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2 (E-University) เช่นกัน ส่วนด้านอื่น ๆ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1 (Traditional University) ด้านมหาวิทยาลัยราชมงคล มีค่าเฉลี่ยทุกมิติอยู่ที่ระดับ 1 (Traditional University) นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยทุกกลุ่ม และโดยส่วนใหญ่คะแนนต่ำมากในส่วนของความพร้อมด้านข้อมูล (Data)

      นอกจากนี้ รศ.ดร.พีรเดช อธิบายว่า การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมสำคัญ 3 ประการ คือ นโยบายที่ชัดเจน โครงสร้างพื้นฐาน และเครื่องไม้เครื่องมือ หรือที่เรียกว่า แอปพลิเคชัน หากทั้งนี้ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของดิจิทัล ตลอดจนมีข้อมูลที่เชื่อมต่อกัน ตอนนี้มหาวิทยาลัยมีระดับความพร้อมในเรื่องต่าง ๆ ไม่เท่ากัน และส่วนใหญ่พบว่า ข้อมูลไม่เชื่อมต่อกัน ในการที่จะพัฒนาไปสู่การที่เป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล อันนี้เป็นภาพใหญ่ ๆ ว่า มหาวิทยาลัยมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต คือ การไม่มีทิศทางหลัก ตกลงเราพร้อมจะพัฒนาไปเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลหรือเปล่า เมื่อยังไม่มีหลักชัย หลักคิด เป็นภาพฝันในอนาคต สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หน่วยงานไหนมีความพร้อม ก็พัฒนาก่อน แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ระดับความพร้อมของฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานย่อย ๆ ก็ไม่เท่ากัน

        ทั้งนี้ ต้องมองย้อนกลับไปที่ ‘ทิศทาง (Direction)’ ของมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย และผู้บริหาร ว่า กำหนดทิศทางที่ชัดเจนหรือไม่ อย่างไร เพราะทิศทางที่ชัดเจน ย่อมนำมาซึ่งแผน งบประมาณ และอื่น ๆ ที่จะทำให้เกิดการเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล เมื่อไรก็ตาม ที่ไม่มีทิศทางอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา มันก็เกิดการกระจายไปทุกหย่อมหญ้า เมื่อถึงเวลาจะใช้จริงที่จะหยิบเอาข้อมูลมาเชื่อมกัน จึงทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น หากอยากจะพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ต้องมีผู้นำ มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน เป็นระดับของมหาวิทยาลัยรศ.ดร.พีรเดช กล่าว มหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ บางแห่งไม่มีทิศทางที่แน่นอน คือไม่มีเป้าสุดท้ายที่แน่นอน ถ้าผู้บริหารระดับสูง หรือสภามหาวิทยาลัยไม่เข้าใจ การขับเคลื่อนและการผลักดันจะไม่เกิด ขณะที่บางมหาวิทยาลัย ระดับสภามหาวิทยาลัย ระดับอธิการบดีก็ตาม เขาเห็นความสำคัญ เขาจะลงทุน (Invest) ทุกอย่างอยู่ที่ไดเร็กชัน ถ้าไดเร็กชันชัด ก็สามารถจะพามหาวิทยาลัยทั้งมหาวิทยาลัยเข้าไปสู่การเป็นดิจิทัลได้เต็มรูปแบบในเวลาอันสั้น

        กระทรวง อว. เอง ก็มีนโยบายชัดและประกาศชัดเช่นกันว่า ต้องการพัฒนานักศึกษา และบัณฑิต ให้มีความพร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคที่จำเป็นต้องใช้สมรรถนะทางด้านไอทีค่อนข้างสูง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลิตคนที่มีทักษะทางไอทีสูง หากเขาเหล่านั้นต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีโอกาสใช้และสัมผัสกับลักษณะของการเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งแหล่งเรียนรู้สำคัญ คือ มหาวิทยาลัย นั่นหมายความว่า เมื่อมหาวิทยาลัยมีการพัฒนาขึ้นไปได้ ผลิตผลอันเป็นคนที่มีคุณภาพ ย่อมจะได้มีโอกาสในการเรียนรู้มากขึ้นด้วย ทั้งยังพร้อมที่จะเข้าสู่สังคมดิจิทัลแห่งศตวรรษที่ 21

        จากนโยบายที่ชัดเจนของ อว. ได้ส่งผ่านและถ่ายทอดมาสู่สถาบันคลังสมองของชาติ ซึ่งทางสถาบันคาดหวังว่า ปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทยให้เข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบภายใน 3-5 ปีข้างหน้านี้ โดยหลังจากการสำรวจความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล และมหาวิทยาลัยแต่ละกลุ่มรู้แล้วว่า ตนเองมีจุดแข็ง และจุดอ่อน ตรงไหน อย่างไร ถ้ามีความมุ่งมั่นต้องการพัฒนาตัวเอง คลังสมองสามารถช่วย โดยการทำหลักสูตรฝึกอบรมเติมเต็มในส่วนที่ยังขาด นอกจากนี้ ยังมีการโคชชิง หรือเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งจะให้ผู้ที่เก่งหรือมีศักยภาพโดดเด่นทางด้านต่าง ๆ ทำหน้าที่เติมเต็ม และแลกเปลี่ยนความรู้กันและกัน

        “ขณะเดียวกัน สถาบันคลังสมอง ได้พัฒนาแพลตฟอร์มกลาง เพื่อเก็บข้อมูลดิจิทัลของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งจะนำมาซึ่ง ‘ภาพฝันที่อยากเห็น’ คือ เส้นค่าเฉลี่ยของควรจะปรับเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา เรียกว่า Dynamics กล่าวคือ เมื่อมหาวิทยาลัยไหนมีการพัฒนา ข้อมูลก็จะเปลี่ยนไป สามารถมอนิเตอร์ได้ตลอดเวลา และมหาวิทยาลัยไหนที่พร้อมเข้าสู่ดิจิทัล ณ ตอนนี้ก็อยู่ตรงไหน ใช้มาตรการอะไร เมื่อมาสำรวจใหม่อีกสักครึ่งปีผ่านไป ขยับดีขึ้น หรือเป็นอย่างไร จะเห็นการเคลื่อนไหวของข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งทำให้ทั้งหมดและพัฒนาไปด้วยกันอย่างเป็นระบบรศ.ดร.พีรเดช เสริม แพลตฟอร์มนี้ อยากให้เป็นที่รวมข้อมูลของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก่อน คนที่จะใช้ต่อไปก็คือ ระดับนโยบาย เช่น กระทรวง อว. ที่จะมองดูว่าตอนนี้มหาวิทยาลัยไปอย่างไร อยู่ตรงไหน ถ้าอยากเร่งให้โตเร็ว ต้องใส่มาตรการ กลยุทธ์ นโยบาย หรืองบประมาณอย่างไร คอยมอนิเตอร์ดูว่าโตได้จริงตามที่ฝันหรือไม่ แพลตฟอร์มที่ว่านี้จะใช้ในการบริหารจัดการ และต่อไปถ้าดีขึ้น แพลตฟอร์มนี้น่าจะขยายต่อไปได้ แต่แน่นอน เราคงไม่ฝันว่าทุกอย่างจะต้องมารวมที่แพลตฟอร์มกลาง ในที่สุดแล้ว เราจะสามารถขยายเครือข่าย มันจะค่อยโตขึ้น แล้วจะเกิดเป็นเครือข่ายดิจิทัล ผมไม่ได้มองว่าจะเกิดแพลตฟอร์มเดียว

        สิ่งสำคัญ คือ การวาดภาพให้ตรงกันว่า มหาวิทยาลัยดิจิทัลที่ฝันอยากเห็นนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร เบื้องต้นเราอาจรู้ว่า มหาวิทยาลัยดิจิทัลมีองค์ประกอบด้านใดบ้างเพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ วางว่าเส้นทางระหว่างปัจจุบันกับภาพฝันในอนาคตนั้นห่างกันแค่ไหน สามารถใช้มาตรการอะไร อย่างไร ซึ่งถือเป็นการออกแบบ (Design) อย่างง่าย ๆ

        “ในวันนี้ กระทรวง อว. และมหาวิทยาลัย หวังว่า มหาวิทยาลัยจะเป็นแหล่งสร้างความรู้ และการพัฒนาประเทศ เพราะข้อที่หนึ่ง ถ้ามหาวิทยาลัยพัฒนาตัวเองไม่ได้ แล้วจะพัฒนาคนอื่นได้อย่างไร ทั้งนี้ การเป็น Digital University ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่าง ต้องไฮเทค หรือเลิศหรู เลิศเลออะไร แต่ลักษณะจริง ๆ ก็คือ การใช้เครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพ คำว่า ‘เพิ่มประสิทธิภาพ’ เป็นคำสำคัญนะครับ ทั้งเร็วมากขึ้น ผิดพลาดน้อยลง สามารถประมวลหาข้อมูล หาความรู้ หรือสร้างความรู้ได้มากขึ้น

การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแนวคิด บางคนยังไม่ค่อยกล้าเปลี่ยน ถ้าสามารถปรับเปลี่ยนแนวคิดของคนที่เกี่ยวข้องให้ยอมรับ ให้มีการสร้างระบบอื่น ๆ ในการปิดจุดอ่อนในเรื่องต่าง ๆ ได้ ในที่สุดแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าการเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลช่วยในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

        “แน่นอนในการปรับเปลี่ยนครั้งแรกจะมีการต่อต้าน เรียกว่า ผมเคยสบายอยู่ ทำให้ผมหลุดออกมาจากที่นอนนุ่ม ๆ บางคนเขาก็ไม่ค่อยชอบ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเกิดออกจากที่นอนแล้วไปเจอทะเลใส ๆ น่าจะชอบมากขึ้นก็ได้ หมายความว่าจริง ๆ แล้วการเป็น Digital University อาจจะทำให้ทำอะไรได้มากขึ้นตามที่คิดฝัน ทำอะไรได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิมอีกเยอะรศ.ดร.พีรเดช กล่าว ผมคิดว่า การที่ทำให้ทุกอย่างให้สะดวกสบาย รวดเร็ว และประสิทธิภาพมากขึ้น น่าจะเป็นคำตอบที่จะบอกว่า การที่เป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลดีกว่ามหาวิทยาลัยแบบดั้งเดิมอย่างไร คำถามคือ เราจะเบลนด์ (Blend) อย่างไร ซึ่งความจริงมันไม่ต้องเบลนด์ แต่ต้องค่อย ๆ เปลี่ยน ผมจะใช้คำว่า ค่อย ๆ เปลี่ยน ชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้เราก็เปลี่ยน เหมือนกับการมีโทรศัพท์มือถือ เราเปลี่ยนไปเองครับ ไม่มีใครบอกว่าคุณต้องไปใช้อย่างเก่า การจะเปลี่ยนจาก Traditional University มาเป็น Digital University ไม่ได้เปลี่ยนแบบวันนี้พรุ่งนี้ หรือดีเลย์ (Delay) กันเป็นต้นปีหน้า ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน ทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยเอง ก็เผชิญกับการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา มหาวิทยาลัยหลาย แห่งเคยอยู่ในระบบราชการ ก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ เขาก็ต้องค่อย เปลี่ยน การเป็น Digital University ก็เหมือนกัน ต้องค่อย ปรับเปลี่ยนไป แต่ในที่สุด ก็รู้ว่าอย่างไรก็ต้องเป็นแบบนั้น เพราะว่าถ้ายังใช้แบบเดิม เขาจะอยู่ในโลกของอนาคตไม่ได้ ผมคิดว่าเปลี่ยนทุกหย่อมหญ้า เปลี่ยนทุกจุด ถ้าเป็นการเปลี่ยนที่ดี คนที่ถูกเปลี่ยนเขาจะไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่าเขาถูกเปลี่ยน

        ณ เวลานี้ กระทรวง อว. คือ หัวเรือหลักในการกำหนดทิศทางใหญ่ สร้างแรงจูงใจ และใช้มาตรการสนับสนุนมหาวิทยาลัยให้มีความพร้อมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล อว. ชี้ทิศ และสนับสนุนงานด้านนี้เต็ม ๆ ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยทั้งมวลของประเทศไทยน่าจะก้าวเดินไปพร้อมกันได้รศ.ดร.พีรเดช กล่าว