ร่วมคิด ร่วมค้น ทิศทางและอนาคตมหาวิทยาลัยไทยในยุค VUCA World

VUCA เป็นตัวย่อของ 4 คำสำคัญ ได้แก่ ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity) ซึ่งปรากฏขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันผ่านหลากหลายสถานการณ์ในโลกปัจจุบัน และส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตในต่างมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลายเป็นยุค VUCA World ในศตวรรษที่ 21 ที่ดิสรัปต์ทุกภาคส่วนของโลกและประเทศไทย รวมถึงภาคการศึกษาโดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาที่มีภารกิจหลักในการผลิตบัณฑิตให้พร้อมด้วยวิชาความรู้และภูมิคุ้มกันทางจิตใจและการดำเนินชีวิตอย่างเข้มแข็ง รวมไปถึงความพร้อมรับมือและปรับตัวกับทุกการเปลี่ยนแปลงอย่างมีทิศทางและเป็นระบบ ตลอดจนผสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างแข็งแกร่ง เพื่อการพัฒนาทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืนร่วมกัน

 

ณ เวทีเสวนาออนไลน์ Digital University: Enabling The Smart Society ที่เดินทางครบรอบ 6 เดือนเต็ม จึงพร้อมก้าวสู่หลักไมล์แห่งอนาคตกับการร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ประสบการณ์ และการแสดงผลความก้าวหน้าของสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งมาพร้อมกับแนวทางและจุดหมายใหม่ ๆ ที่ตั้งเป้าหมายการเติบโตยิ่งขึ้นอีกระดับ การสนทนาภายใต้ประเด็น “แผนที่นำทางเชิงกลยุทธ์ระดับชาติ ก้าวสู่ปีงบประมาณใหม่และทิศทางที่ก้าวไปในปี 2023” จึงเกิดขึ้นในแรกก้าวต่อไปนี้ โดย อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ชี้ให้เห็นความสำคัญของการสร้างความพร้อมในการรับกลยุทธ์ใหม่ ๆ กับการมีบ้านที่มั่นคงแข็งแรง โดยมีคำว่า ‘ตั้งหลัก’ เป็นตัวตั้งต้น พร้อมด้วย Enterprise Blueprint หรือพิมพ์เขียวองค์กร เป็นแผนผังแสดงหน่วยองค์ประกอบความสามารถต่าง ๆ ขององค์กรหรือมหาวิทยาลัยออกเป็นหมวดหมู่ที่ชัดเจนว่า ‘ใครทำใคร ใครทำอะไร และเพื่อทำอะไร’ เพื่อทำให้ผู้บริหารและทีมงานเห็นภาพตรงกัน (Common Understanding) สู่การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบมีเอกภาพในการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน

 

“แล้ว VUCA World จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร” อาจารย์ดนัยรัฐชวนคิด ก่อนอธิบายว่าทั้ง Performance Management การจัดการผลการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ กลยุทธ์และทิศทางต่าง ๆ ที่ไม่เคยทำแล้วต้องทำ ด้วยเพราะโจทย์ความต้องการต่าง ๆ เปลี่ยนไป “ทำอย่างไรจะ Embark หรือ Acquire เข้ามาในองค์กร ทำเป็น Sandbox ได้ไหม เริ่มต้นในโครงการสำคัญก่อนได้ไหม จะทำให้ Core Services นี้มีเรื่องใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น นี่คือเรื่องและประเด็นใหม่ ๆ” อีกส่วนหนึ่งคือเกณฑ์คุณภาพ อาทิ EdPEx เกณฑ์หนึ่งในการจัดการเรื่องความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัย “จากคะแนนเต็ม 1,000 คะแนน มหาวิทยาลัยได้ 200-300 คะแนน หรือ 100 กว่าก็มี แสดงว่าได้คะแนนไม่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ ด้วยข้อจำกัดอย่างหลากหลายในยุคเศรษฐกิจปัจจุบันที่ต้องใช้คำว่าเกิด ‘วิกฤต’ มหาวิทยาลัยจะจัดการกลยุทธ์ ตลอดจนจัดการคุณภาพ กฎเกณฑ์ และกฎระเบียบ ภายใต้สถานการณ์ที่ถูกดึงแขนจะขาด-ขาจะให้น้ำเกลือได้อย่างไร” อาจารย์ดนัยรัฐชี้ว่าฟากหนึ่งก็เข้มข้นกับทุกผลสัมฤทธิ์ อีกฟากฝั่งก็ห้ามตกหล่น ไม่เช่นนั้นจะผิดกฎ ถูกร้องเรียน เหมือนหยิน-หยางที่จำเป็นต้องนำ Data เข้ามาช่วยให้มหาวิทยาลัยในยุคดิจิทัลสามารถใช้ข้อมูลร่วมกัน อาทิ Student Data และ Citizen Data เพราะปัจจุบันมหาวิทยาลัยพัฒนาหลักสูตร Non-Degree ขึ้นเพื่อสร้างเนื้อหาและให้บริการที่ตอบโจทย์ประชาชนและสังคมมากกว่าการให้บริการเฉพาะนิสิต-นักศึกษาเช่นในอดีต เป็นต้น นอกจากนี้ยังเสริมด้วยเทคโนโลยีใน 5 เลเยอร์ ได้แก่ Infrastructure, Decision Layer, Data, Process และ User Touchpoint

 

Digital University for All และตอบโจทย์ประเทศ

เมื่อว่าด้วย ‘เรื่องกลยุทธ์’ และกล่าวถึงทิศทางของอนาคตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าเวลานี้คือช่วงที่ 2 ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) อันประกอบด้วยแผนระดับที่ 1 และ 2 ซึ่งมี 4 แผน ได้แก่ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และแผนความมั่นคง “นี่คือช่วงเวลาที่สำคัญมากที่การอุดมศึกษาไทยต้องมองตัวเองและปฏิบัติ เพราะข้อสำคัญของเมืองไทยในวันนี้คือต้องการเห็นแล้วว่าแอ็กชันคืออะไร” ในฐานะผู้บริหารจากสภาพัฒน์ฯ จึงสะท้อนการเขียนแผน ที่ต้องมองสถานการณ์ปัจจุบันว่าประเทศเผชิญกับอะไร อย่างไร ดังเช่นเมกะเทรนด์ที่สำคัญคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งในหลายครั้งทุกภาคส่วนต่างแสดงว่ามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หากพบว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่เข้าไม่ถึงความก้าวหน้านั้น มหาวิทยาลัยดิจิทัลจึงควรที่จะเป็น ‘For All’ กล่าวคือไม่เพียงแต่คนที่มีอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีจะได้ใช้ประโยชน์จากมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยต้องทำให้คนที่ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นช่องทางออนไลน์หรืออื่น ๆ ได้ใช้ประโยชน์ด้วย “เช่นที่อาจารย์ดนัยรัฐกล่าวไว้ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยในปัจจุบันไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะนิสิต-นักศึกษา ดังนั้นมหาวิทยาลัยจะทำอย่างไรให้คนที่อาจเคยหลุดจากระบบ เช่น จากความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ได้มีโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต อนาคตของงานในวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล หลายอาชีพถูกทดแทน ทำอย่างไรมหาวิทยาลัยไทยจะตื่นและรับกับความเปลี่ยนแปลง ไม่มองเฉพาะ Degree แต่เป็นการเพิ่มพูนความรู้ เปลี่ยนแปลงความรู้ หรือสร้างความรู้ใหม่ให้กับคน น่าจะทำให้อยู่ในความเปลี่ยนแปลงของโลกได้” ดร.วันฉัตรยกตัวอย่าง “หรือในวันนี้ที่เศรษฐกิจไทยผันผวนมาก ประเทศไทยเคยพึ่งพาการท่องเที่ยว แต่การท่องเที่ยวก็เปลี่ยนรูปไป ถามคำถามง่าย ๆ คือมหาวิทยาลัยไทยปัจจุบันได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไปพัฒนาตัวเองหรือไม่ หรือได้ใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดูความเปลี่ยนแปลงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการบริหารจัดการอย่างไร”

 

บทบาทและก้าวต่อไปของมหาวิทยาลัยไทยต่อทิศทางของประเทศและเมกะเทรนด์ของโลกในยุค VUCA World เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย โดยการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลยังเน้นกระบวนการที่ต้องตอบโจทย์ประเทศเป็นสำคัญ “มหาวิทยาลัยของประเทศไทยในวันนี้เป็น ‘จุดกำเนิดของการทรานส์ฟอร์เมชัน’ สู่การทำงานที่สามารถส่งผลต่อเป้าหมายของประเทศ” ขณะนี้ประเทศอยู่ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นับจากนี้ไปอีก 5 ปีประเทศต้องการมีความสามารถด้านการผลิตทางเกษตรและเกษตรมูลค่าสูงขึ้น การท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นคุณภาพและความยั่งยืน การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก การแพทย์และการสาธารณสุขมูลค่าสูง ต้องการเป็นประตูการค้าการลงทุนของอินโดจีนและอาเซียน การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ฯลฯ ขณะเดียวกันในมุมของความเสมอภาค ประเทศต้องการ SMEs ที่เข้มแข็ง การมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะ การขจัดความยากจน เศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) รวมถึงกำลังคนที่มีศักยภาพสูง ฯลฯ “คำถามสำคัญอยู่ที่ว่าทั้งรัฐบาลดิจิทัลและมหาวิทยาลัยดิจิทัลจะเป็นดิจิทัลแค่ภายใน หรือเป็นดิจิทัลภายในเพื่อขับเคลื่อนประเทศ เพราะหากจะตอบโจทย์ภายในอย่างเดียว คงจะยังไม่ใช่ หน้าที่ที่มีไม่ใช่แค่นั้น มหาวิทยาลัยคือฟันเฟืองใหญ่ที่ต้องทำให้เกิดคนที่มีคุณภาพมาพัฒนาประเทศ ประเทศไทยกล่าวว่ามีความพร้อมรับ Long-Term Residence ฉะนั้นถ้าในวันนี้ที่มหาวิทยาลัยไทยร่วมขับเคลื่อน Digital University ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่ง เชื่อว่าประเทศไทยจะไปได้ไกลมาก”

 

สำหรับการจัดการภาครัฐ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้วยวงจรคุณภาพ หรือ PDCA (Plan, Do, Check, Act) ซึ่ง Plan คือยุทธศาสตร์ชาติ Do คือการทำให้ Plan เกิดขึ้นจริง เช่น Digital University จะเกิดขึ้นได้อย่างไร Check คือดูสิ่งที่ทำ (Do) ก่อให้เกิดการบรรลุเป้าหรือไม่ และ Check เพื่อให้เกิด Act “เพราะฉะนั้นจึงอยากฝากไว้ว่า PDCA คือวงจรคุณภาพที่เราได้ใช้เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ” ดร.วันฉัตรอธิบาย “ส่วนทางสภาพัฒน์ฯ เราทำ Value Chain ซึ่งระบุไว้ว่าการบรรลุเป้าหมายหนึ่ง ๆ นั้นต้องมีองค์ประกอบและปัจจัยอะไร เช่น แผนแม่บทในประเด็นการบริหารประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ ในแง่ของเป้าหมายบริการภาครัฐได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นดิจิทัลเพิ่มขึ้น มีองค์ประกอบ 5 องค์ประกอบ และแต่ละองค์ประกอบมีปัจจัยอะไร เพราะฉะนั้นหากจะนำมหาวิทยาลัยดิจิทัลไป Fit In กับภาพประเทศ มหาวิทยาลัยดิจิทัลอยู่ตรงไหน ความเป็น Digital University ไม่ใช่สิ่งที่ Stand Alone จึงต้องทำให้ตัวเองเป็น Digital University ที่ขับเคลื่อนประเทศด้วย ข้อสำคัญคือจะเป็น Digital University ของมหาวิทยาลัยเฉย ๆ หรือจะเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลของประเทศไทย”

 

Next Normal VUCA World ที่ต้องพึ่งวัคซีน

“Welcome everyone to the Next Normal VUCA World” คุณสมพร จิตเป็นธม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทผู้ริเริ่มทำแผนประเมินต่าง ๆ ให้กับรัฐวิสาหกิจ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ กล่าวพาทุกคนเข้าสู่โลกที่มาพร้อมความท้าทายอีกขั้น แม้ว่า Next Normal และ VUCA World ฟังแล้วอาจจะย้อนแย้ง คือน่าจะมีความเป็นปกติ แต่กลับผันผวน “เพราะเป็น VUCA ซึ่งมีทั้ง Volatility, Uncertainty ฯลฯ ทำให้มีการประเมินรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ซึ่งอยากนำมา Apply กับ Digital University ว่าว่าสามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างไร ในโมเดลของการวัดประเมินผลในเชิงคุณภาพ และ Compliance ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป แทนที่จะดูเรื่อง KPI อย่างเดียว ยังมีอีกหมวดตัวชี้วัด เรียกว่า Enablers ที่เรียกว่า Enablers เพราะจะเป็นตัวที่จะทำให้องค์กรมีความพร้อมและสามารถก้าวข้าม VUCA ได้ ถ้าเปรียบ VUCA เป็นโรค Enabler ก็คือวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้กับองค์กรหรือ Digital University”

 

Enablers คือหลักเกณฑ์การประเมินกระบวนการปฏิบัติงานและการจัดการ ประกอบด้วย 8 หลักเกณฑ์ ได้แก่ 1) การกำกับดูแลที่ดีและการนำองค์กร (Corporate Governance & Leadership : CG & Leadership) 2) การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Planning : SP) 3) การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน (Risk Management & Internal Control : RM &IC) 4) การมุ่งเน้นลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder & Customer : SCM) 5) การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology: DT) 6) การบริหารทุนมนุษย์(Human Capital Management : HCM) 7) การจัดการความรู้และนวัตกรรม (Knowledge Management & Innovation Management: KM&INNO) และ 8) การตรวจสอบภายใน (Internal Audit : IA)

 

“หลักใหญ่ ๆ อยู่ที่การกำกับดูแลฯ การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ และการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับทุกภาคส่วนขององค์กร การเชื่อมโยงและการบูรณาการ คีย์สำคัญของ Enablers ใช้หลัก Maturity Level คือจะต้องทำตั้งแต่ขั้นที่ 1-2-3 ไปตามลำดับ ขั้นที่ 1 คือวางแผน รู้ว่าต้องทำอะไรและทำอย่างไร ต่อไปต้องรู้ว่าทำแล้วใครได้อะไร Stakeholder คืออะไร ได้อย่างไร และหากมีการผันผวนเปลี่ยนแปลง ต้องสามารถปรับปรุง ปรับตัวให้เข้ากับบริบทหรือสภาพแวดล้อมต่าง ๆ นี่คือ Maturity Level กระทั่งสุดท้ายจบตรงที่การบูรณาการ” ดังที่ทราบว่ามหาวิทยาลัยมีหลากหลายหน้าที่ การบูรณาการใน Digital University จึงหมายถึงกระบวนการของการทำงานต่าง ๆ อาทิ นำดิจิทัลและเทคโนโลยีมาใช้เชื่อมโยงงาน โดยมุ่งที่ความเชื่อมโยงเชิงวัตถุประสงค์และเชิงผลลัพธ์ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่เป็นดิจิทัลต้องรู้และเห็นว่าอีกฝ่ายกำลังทำอะไรและผลกระทบต่อใคร อย่างไร “กระทั่งภาพใหญ่คือภาพการวางแผน ต้องเชื่อมโยงกัน จะเห็นว่าใน Enabler มี KM & Innovation มหาวิทยาลัยซึ่งต่างเป็นสถาบันและองค์กรความรู้และเน้นการสร้างนวัตกรรม เพียงกระบวนการของ KM & Innovation มีฐานรากอันสำคัญ เช่น เรื่อง KM หลายครั้งเราคิดว่าเรารู้ เราคิดว่าเราทำ แต่ไม่สามารถนำไปแชร์กันได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากและท้าทายในยุคข้างหน้า ขณะที่ Innovation เป็นการนำ KM มาต่อยอด ซึ่งพบว่ายังมี Room to Improvement ค่อนข้างเยอะทีเดียว”

 

Next Normal VUCA World สามารถจัดหมวดของสิ่งที่ต้องทำเป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ ได้แก่ หมวดที่ 1 การทำให้เป็น Sustainability “หมายความว่าต้องเริ่มตั้งแต่ Strategic Foresight วางแผนยุทธศาสตร์ให้ดี วางแผนให้ Take Into Account ในสิ่งที่เป็นปัจจัยต่าง ๆ ถึงแม้ว่าปัจจัยภายนอกจะ Volatile หรือ Uncertain แต่การวางแผนยุทธศาสตร์ที่ดีสามารถปรับได้ตามกลยุทธ์ และมองภาพให้กว้าง ต่อมาจึงเป็นการวัด Performance ถ้า Keep Improve ของ Performance โดยการทำ Performance Management ที่ดีและถูกต้อง เชื่อว่าจะสามารถก้าวข้าม VUCA World ในอนาคตได้ อันที่ 3 ก็คือเรื่อง Value และ Culture เป็นตัวย่อยต่อไปในเรื่องของ Sustainability มหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั้นมี Value และ Culture อยู่เยอะ บางอย่างเป็น Value และ Culture ที่ดั้งเดิมทีเดียว ก็ถึงเวลาต้องทบทวนว่า Value และ Culture ที่ทำงาน หรือ Operate Under Environment ต่าง ๆ นั้นยัง Make Sense อยู่หรือไม่ ต้องปรับอย่างไร เชื่อว่าหลาย ๆ เรื่องอาจจะต้องแก้ไขเพื่อให้เข้ากับ VUCA World ใหม่ในทศวรรษหน้า และเรื่องที่ 4 ซึ่งอยู่ในหมวด Sustainability คือเรื่อง Rich Management กับเรื่องความต่อเนื่องของธุรกิจ อยากฝากให้มหาวิทยาลัยลองทบทวนเรื่อง Rich Management กับตัวเองดูว่ามีแอเรียไหนบ้างที่เป็นจุดอ่อนที่ทำให้ไม่ Sustainable”

 

หมวดที่ 2 คือเรื่อง KM & Innovation “KM & Innovation มาด้วยกัน แต่ต้องมองให้ลึกในบางบริบทที่นอกเหนือจาก KM & Innovation คือ Stakeholders หรือ Customers ทั้งหลายว่าต้องการอะไร” และหมวดสุดท้ายคือเรื่อง Adaptability “เพราะ VUCA World เป็นโลกของความไม่แน่นอน Resilience และการเปลี่ยนแปลงได้ต้องมีพร้อมอยู่ในมหาวิทยาลัย ความเป็น Digital University มีความสามารถทำเรื่อง Adaptability และ Resiliency ให้ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันต้องนึกถึงคนด้วยว่าพร้อมแค่ไหน มีการเปลี่ยน Mindset ในการทำงานไหม หรือเอาแค่ Process ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการ Improve ไม่มีการตัดสิ่งที่อาจจะเรียกว่าฟาง จึงเหมือนกับบ้าหอบฟาง ตอนนี้ถ้าจะ Digitalize ตัว Process ต่าง ๆ ให้นึกถึงฟางเหล่านี้ด้วยว่าจะสกัด-ขจัดฟางเหล่านี้ออกได้มากน้อยแค่ไหน ทำให้ Process มี Efficiency สูงขึ้นอย่างไร Adaptability จึงเน้นเรื่องคน มี Personnel Engagement แค่ไหน มีพนักงานที่พร้อมจะเดินไปพร้อมกัน พร้อมปรับปรุงตัว พร้อมแก้ไขตามสถานการณ์ต่าง ๆ มากน้อยแค่ไหน” คุณสมพรสรุป 3 เรื่องใหญ่ ๆ ‘Sustainability, KM & Innovation และ Adaptability’ ที่เป็นความท้าทายและมหาวิทยาลัยต้องให้ความสำคัญเพื่อก้าวสู่ปีและทศวรรษหน้า โดยทริส ซึ่งเป็นองค์กรที่คล้ายคลึงกับมหาวิทยาลัยคือดำเนินงานด้านวิชาการ พร้อมเป็นพันธมิตรร่วมทำงานวิจัย ให้คำปรึกษา ถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อก้าวข้าม VUCA World ไปด้วยกัน

 

พลังความรู้ ข้อมูล และการแบ่งปัน สู่การต่อยอดและประยุกต์ใช้จริงอย่างมีศักยภาพ

เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าทุกคนอยู่กับโลกดิจิทัลมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่าจริง ๆ โลกดิจิทัลนั้นมาพร้อมกับการเรียนรู้ การสื่อสาร และอีกหลายมิติที่เป็นประโยชน์ ทั้งนี้บทบาทของมหาวิทยาลัยซึ่งถือเป็นประชาคมสำคัญของโลกปัจจุบันและมีความสำคัญกับโลกอนาคต ในสถานการณ์ที่ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและมีความเสี่ยงสูง ‘การรู้เท่าทัน’ จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งสำคัญของประเทศที่มี ‘ข้อมูล’ ทั้งที่เป็นชุดความรู้ เรื่องของสิ่งใหม่ ๆ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถถ่ายทอดผ่านการเรียนการสอนหรือการวิจัย ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยยังเป็นแหล่งที่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ท่ามกลางข้อมูลที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ซึ่งสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้คนในโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และช่วยให้คนไทยและประเทศมีข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างเพียงพอในการตัดสินใจยิ่งขึ้น “เพราะฉะนั้นบทบาทของมหาวิทยาลัยใน VUCA World ที่จะทำให้เกิดสังคมแห่งความรู้และการมีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง มหาวิทยาลัยน่าจะเป็นอีกแหล่งที่พึ่งของสังคมไทย”

 

สกสว. มีจุดเริ่มต้นและบทบาทสำคัญประการแรกคือแง่ของการทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนสู่หน่วยปฏิบัติที่ทำหน้าที่วิจัยและสร้างนวัตกรรม โดยแรกสุดเมื่อทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต้องนำเมกะเทรนด์ และสถานการณ์ต่าง ๆ รวมทั้ง VUCA World มาเป็นตัวตั้งในการมองการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น “สำคัญมากคือต้องกลับไปจับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทอีก 23 ฉบับ รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและอื่น ๆ เพื่อมองแผนไปข้างหน้าในระยะ 5 ปี ขณะเดียวกันในมุมของ สกสว. ยังลงไปทำเรียกว่า Stakeholders Needs พูดคุยกับภาคเอกชนในภาพการไปข้างหน้าจากมุมของเอกชน อีกด้านหนึ่งคือ Social Needs และระดับพื้นที่ ซึ่งใช้ SDGs เป็นกรอบในการมอนิเตอร์พื้นที่ต่าง ๆ ที่แบ่งไว้ประมาณ 6 กลุ่มภูมิภาค เพื่อดู Gap ของแต่ละภูมิภาค ที่สำคัญที่สุดคือทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ ววน. จะเข้าไปช่วยตอบโจทย์และแก้ปัญหา” รศ. ดร.ปัทมาวดีอธิบายการทำงานของ สกสว. ในการจัดแผนและงบประมาณ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการวิจัยสู่เป้าหมายของการปรับแผนและเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการสนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยที่ปฏิบัติการวิจัยจริง และมหาวิทยาลัยเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งจากประมาณ170 หน่วยงานที่รับงบประมาณด้าน ววน. กว่า 90 หน่วยงานเป็นมหาวิทยาลัย บทบาทของมหาวิทยาลัยจึงมีความสำคัญทั้งในมิติของการสร้างความรู้และนำความรู้สู่การขับเคลื่อน “ประการแรกอยากเห็นมหาวิทยาลัยมีศักยภาพในการบริหารจัดการงบประมาณและการวิจัยที่ดี มหาวิทยาลัยจะต้องมีการบริหารจัดการเรื่องระบบข้อมูลเพื่อใช้ในเรื่องการบริหารจัดการและเรื่องทรัพยากรบุคคลของมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็ต้องการข้อมูลเพื่อประกอบในการตั้งโจทย์การทำวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพราะฉะนั้นนอกจากการเข้าถึงข้อมูลระดับปฐมภูมิจากระดับพื้นที่จริงของมหาวิทยาลัยเองแล้ว มหาวิทยาลัยเองจึงมีบทบาทที่จะเข้าถึงและใช้ข้อมูลดิบจากแหล่งต่าง ๆ รวมถึงการทำให้ Survey ของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ต่าง ๆ กลับเข้ามาอยู่ในระบบ จะเห็นว่ามหาวิทยาลัยซึ่งมีการทำงานวิจัยถือเป็นแหล่งสำคัญทั้งเป็นผู้ใช้ข้อมูล และเป็นผู้ที่สร้างข้อมูลจากการทำ Survey ของมหาวิทยาลัยเอง ตลอดจนเปลี่ยนด้วยกระบวนการวิจัยจากข้อมูลให้เป็นชุดความรู้ ซึ่งความรู้ที่เกิดขึ้นนี้ยังเป็นจุดสำคัญในการเผยแพร่ต่อไปให้กับประชาชน เอกชน แม้แต่ใหน่วยงาน Policy ของรัฐ”

 

ด้วยชุดความรู้ที่เกิดขึ้นสู่การบูรณาการระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็น Information Sharing และ Knowledge Sharing ดิจิทัลจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาเชื่อมและเสริมให้มหาวิทยาลัยสามารถแสดงบทบาทได้เต็มศักยภาพ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยต้องนำข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรด้านการวิจัย โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมทั้งทรัพยากรอื่น ๆ มาแบ่งปันกัน “มหาวิทยาลัยดิจิทัลทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าสำหรับการเรียนการสอน และยังสามารถแบ่งปันข้อมูลหรือสิ่งอื่น ๆ ที่มีให้กับประชาชนและภาคเอกชนข้างนอกด้วย เมื่อองค์ความรู้สามารถเชื่อมต่อกัน ประเทศก็จะสามารถต่อยอดงานวิจัยขยับไปข้างหน้าได้ หนึ่งมหาวิทยาลัยอาจมีความเชี่ยวชาญบางด้าน แต่เมื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ อาจต้องการชุดความรู้อีกชุดหนึ่งมาผสมผสานและต่อยอด การทำงานเป็นทีมหรือเป็นคลัสเตอร์จะเป็นประโยชน์มากในการทำให้องค์ประกอบชุดความรู้ได้รับการต่อยอดและเผยแพร่”

 

“ประเทศไทยมีความรู้กระจายอยู่ในหลาย ๆ พื้นที่ และหลาย ๆ ฝ่ายสามารถเข้าถึงความรู้นั้น เพราะฉะนั้นการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลสามารถสร้างอิมแพกต์ในการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดด้วยความรู้และเทคโนโลยี โดย สกสว. มีบทบาทในการหนุนเสริมเพื่อทำให้ Flow ของการ Sharing เกิดขึ้นได้จริง และนำไปสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดชุดความรู้ต่าง ๆ เพื่อไปข้างหน้าด้วย”

 

เชื่อมโยงและบูรณาการด้วยดิจิทัล

รศ. ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ สะท้อนภาพความก้าวหน้าด้านการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทยที่เกิดการขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รัฐบาลสนับสนุนให้มีการใช้งานแอปพลิเคชันของรัฐ อาทิ หมอพร้อม เป๋าตัง ฯลฯ อย่างกว้างขวางและแพร่หลาย แม้ไม่สามารถนำมาเป็นตัวชี้วัดความเป็นดิจิทัลของประเทศไทย หากเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สร้างความคุ้นเคยกับความเป็นดิจิทัลให้กับประชาชนยิ่งขึ้น “เพราะดิจิทัลเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และความก้าวหน้าของดิจิทัลมาเร็วกว่าที่คิด นั่นหมายความว่าต่อไปคนไทยจะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ยิ่งในช่วงการประชุม APEC 2022 รัฐบาลจะประกาศสร้างภูมิทัศน์ใหม่ พลิกโฉมนวัตกรรมการเงินไทย แสดงความก้าวหน้าทางธุรกรรมการเงิน ยกประเทศไทยให้เป็นต้นแบบของเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ เมื่อนโยบายหรือทิศทางของประเทศไทยชัดเจนเช่นนี้ มหาวิทยาลัยของไทยซึ่งเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตและมีบทบาทในสังคมจะตอบสนองกับอย่างไร เพราะมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นหน่วยงานในระดับมันสมองของประเทศควรต้องมีบทบาทและมีหน้าที่ในการสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ที่มีความคุ้นชินกับความเป็นดิจิทัลในมิติต่าง ๆ เช่นกัน ดังนั้นการพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีความพร้อมในการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเพื่อให้เกิดบรรยากาศของการเรียนรู้และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้เกิดความถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และที่สำคัญคือเชื่อมโยง จึงเป็นเรื่องสำคัญ” ข้อสังเกตคือการผลักดันการใช้งานดิจิทัลผ่านแอปพลิชันต่าง ๆ นั้นมีเบื้องหลังอยู่ที่ ‘การเชื่อมโยง’ หรือความพยายามในการใช้ข้อมูลร่วมกัน เฉกเช่นเป้าหมายของการพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล ที่สุดแล้วหัวใจสำคัญคือ ‘การเชื่อมโยง’ ในทุกระดับ “ไม่ว่าจะเป็นภายในหน่วยงาน ข้ามหน่วยงาน เครือข่ายระดับประเทศ หรือไกลกว่าคือไปทั่วโลก จากตรงนี้น่าจะเป็นเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ”

 

สถาบันคลังสมองฯ มีบทบาทและภารกิจสำคัญในการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของประเทศก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล (อย่างใกล้เคียงความสมบูรณ์แบบหรือเต็มรูปแบบ) โดยตั้งเป้าไว้ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ทว่าในเวลานี้ ‘การเชื่อมโยง’ และ ‘การบูรณาการ’ ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง และ ‘ดิจิทัล’ เข้ามาเป็นเครื่องมือทำให้เกิดการเชื่อมโยงและการบูรณาการดังกล่าว “คำถามคือจะเชื่อมโยงกันได้อย่างไรในเมื่อตอนนี้มหาวิทยาลัย ก. มีงานวิจัยกี่เรื่อง ต้องไปถามที่สถาบันวิจัย อยากรู้ว่านิสิต-นักศึกษากี่คนเรียน อะไรบ้าง ต้องไปถามกองบริการการศึกษา ฯลฯ เครื่องมือหนึ่งที่น่าจะต้องเร่งทำก็คือ Single Data Base ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดจะต้องเอาข้อมูลมารวมศูนย์ แต่หมายความว่าแต่ละหน่วยก็มีข้อมูลไป แต่จะต้องมีระบบการดึงข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการบริหารได้อย่างทันเวลา”

 

รศ. ดร.พีรเดชกล่าวถึงพิมพ์เขียวองค์กรที่อาจารย์ดนัยรัฐอธิบายไว้ก่อนหน้าว่าสะท้อนเรื่องการเชื่อมโยง เปรียบกับการสร้างบ้านที่มีโครงสร้างของบ้าน ภายในยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งอำนวยความสะดวก “ถ้าใครเริ่มเล่นสมาร์ตโฮมคงจะรู้ที่เขาบอกว่า IoT เดี๋ยวนี้คล้าย ๆ กับเครื่องต่าง ๆ ในบ้านคุยกันได้ คือใช้ดิจิทัลเป็น ‘เครื่องมือในการเชื่อมโยง’เครื่องมือเครื่องใช้ในบ้าน แต่นั่นไม่ได้หยุดอยู่แค่ในบ้าน ถ้าสังเกตให้ดี หลายอย่างนั้นต่ออินเทอร์เน็ตออกไปทั่วโลก เป็นต้น เพราะฉะนั้นกับคำถามว่าที่มหาวิทยาลัยจะตอบโจทย์ประเทศได้หรือไม่ ผมคิดว่าน่าจะได้ เพราะสิ่งหนึ่งที่น่าจะทำได้ก็คือการใช้ความเป็นดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำสูงขึ้น ที่สำคัญคือมหาวิทยาลัยสามารถใช้ความเป็นดิจิทัลในการสร้างคนที่มีคุณภาพ ติดอาวุธทางปัญญาให้กับเด็กรุ่นใหม่ พร้อมอยู่รอดในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคของโลกดิจิทัล เช่นที่เคยพยายามบอกในหลาย ๆ ครั้ง คนที่ผ่านเข้ามาในมหาวิทยาลัย เราหวังและวาดฝันว่าเด็กเหล่านี้น่าจะเป็นผู้นำทางด้านดิจิทัลหรืออยู่รอดในโลกดิจิทัลได้”

 

นอกจากนี้ รศ. ดร.พีรเดชยังกล่าวถึงหน่วยงานภาครัฐ กับโอกาสในการใช้ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเพื่อวางแผนประเทศ “ผมว่ายังกระท่อนกระแท่น ยังไม่ค่อยเป็นรูปแบบอย่างที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่างเช่น กระทรวง อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ซึ่งควรจะต้องเป็นแหล่งที่มีข้อมูลของทุกมหาวิทยาลัย เช่น ปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรด้านโรบอติกส์จำนวนเท่าไร มีหลักสูตรอะไร สอนอยู่ที่ไหน หากมหาวิทยาลัยตั้งเป้าว่าจะผลิตบัณฑิตปีละ 500 คนควรจะต้องส่งไปผลิตที่ไหน หน่วยงานกลางเหล่านี้ไม่สามารถใช้ในการวางแผนได้เพราะอะไร เพราะข้อมูลไม่เชื่อมโยงกัน ผมเห็นด้วยกับ ดร.วันฉัตร เรื่องการเชื่อมโยงและตอบโจทย์ให้ได้ว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่ว่าใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการบริหารอย่างเดียว” รศ. ดร.พีรเดชอธิบายพร้อมสะท้อนภาพ “หลาย ๆ มหาวิทยาลัยยังเข้าใจอยู่ว่าการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลคือมีคอร์สออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่เลย คอร์สออนไลน์เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของบทบาทภารกิจเรื่องการเรียนการสอนเท่านั้น พราะฉะนั้นเป้าหมายสุดท้ายของการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล คือ ระดับ 4 หรือ Connected University ถามคอนเนกต์กับอะไร คอนเนกต์ระหว่างมหาวิทยาลัยด้วยกัน คอนเนกต์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน คอนเนกต์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับโลกข้างนอก นี่คือเป้าหมายที่เราหวังและอยากเห็นมหาวิทยาลัยเป็น Connected University ครับ”

 

Strategic Maturity Roadmap 4 ขั้น

อาจารย์ดนัยรัฐกล่าวถึง Strategic Maturity Roadmap ว่าการทำแผนที่นำทางหรือเข็มทิศมีขั้นตอนที่เปรียบเป็นบันได ในขั้นที่ 1 คือระยะเริ่มต้น เป็นการทดลองทำ (Silo) ระยะที่ 2 เป็นขั้นที่มีมาตรฐาน (Standardization) “เริ่มคุยภาษาชาวโลกที่คนอื่นรู้เรื่อง ไม่ใช่คุยแต่ของเราคนเดียวแล้วบอกว่าจะเชื่อมกัน จะเชื่อมอย่างไร มาตรฐานยังเปลี่ยนทุกวัน ดังนั้นไปดูมาตรฐานก่อนว่าเรื่อง API, JSON, ISO จะเอาอย่างไร มาตรฐานเราคนเดียวไปเชื่อมกับคนอื่นไม่ได้ ต้องจัดหมวดหมู่ จัดกลุ่มกระบวนการทำงาน ฯลฯ ตรงนี้ทางสถาบันคลังสมองฯ มีเครื่องมือให้อาจารย์ทุกท่านดูได้ว่าเราอยู่ในระยะที่เท่าไร” ส่วนขั้นที่ 3 คือการทำให้เชื่อมกันในกลุ่มได้ (Optimization) “ขจัดความซ้ำซ้อนออกให้หมด ต้อง Lean เสียก่อน ทำให้มีชั่วโมงบินในการเชื่อมโยงในกลุ่ม เชื่อมในกลุ่มก่อน แล้วจึงไปสู่ขั้นที่ 4 ต่อยอดได้ทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง (Modularity) มหาวิทยาลัยจะเป็น Co-Working Space, Logistics Hub, Intelligence Center และเป็นเมืองพี่เมืองน้องใน Smart City เป็นต้น จะทำอย่างไรให้ Process As A Service วิชันของเราเป็น As A Service ได้ไหม ให้คนอื่นมาแชร์ การแชร์ไม่ใช่ต้องแชร์เฉพาะ Data, Process หรือเรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่แชร์เรื่อง SLA, Commitment หรือวิชันได้หรือไม่”

 

นอกจาก ‘เชื่อมงาน เชื่อมคน ยังต้องเชื่อมเงิน’ อาจารย์ดนัยรัฐยกตัวอย่างโครงการที่เป็นเรื่องเดียวกันอาจไม่ต้องใช้งบแยกกัน “ตัว Phasing ของแต่ละเฟสของการเชื่อมนั้น ขั้นบันไดโตขึ้นไหม หรือมีแต่ปริมาณหลักสูตร มีแต่ปริมาณบัณฑิต ตรงนี้น่าจะเป็นประโยชน์และทำให้ผู้ใหญ่มองเห็นว่าการเชื่อมกันนั้นเชื่อมแบบที่คนหนึ่งเป็น Standard แต่อีกคนเป็น Silo หรือไม่ ไม่อาจปฏิเสธว่าองค์กรต่างมีเป้าหมายของการเชื่อมทั้งภายในองค์กรและสู่ภายนอกองค์กร หากการเชื่อมอย่างมีคุณภาพคือเครื่องมือจากโครงการ Digital University” อาจารย์ดนัยรัฐกล่าวปิดท้ายกับเครื่องมือเช็กสุขภาพที่ปัจจุบันอยู่บนแพลตฟอร์มที่พร้อมใช้ผ่านสมาร์ตโฟน ทั้งยังเป็น Open Data ระหว่างองค์กร ซึ่งทั้งหมดวางอยู่บน Data Portability คือสามารถถอดข้อมูลออกมาได้ทั้งหมดแบบไม่มีกั๊ก