เกี่ยวกับเรา

โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล

ความเป็นมา

     กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหนึ่งฟันเฟืองแห่งการขับเคลื่อนประเทศสู่ความ ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580’ หรือยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวฉบับแรกของประเทศไทย ที่เป็นก้าวแรกแห่งการกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ได้กำหนด ‘แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564-2570’ ว่าด้วยเรื่อง ‘นโยบายการพลิกโฉมการศึกษาด้วยระบบดิจิทัล (Digitalization For Educational And Learning Reform)’ อันประกอบด้วย 3 ประเด็นการปฏิรูป ได้แก่ 1) การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ (Digital Learning Reform : National Digital Learning Platform (NDLP)) 2) ระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา (Big Data For Education) และ 3) การพัฒนาความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) ในด้านความฉลาดรู้ดิจิทัล (Digital Literacy) ความฉลาดรู้สารสนเทศ (Information Literacy) ความฉลาดรู้สื่อ (Media Literacy) เพื่อการรู้วิธีการเรียนรู้ (Learning How To Learn) ในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนการมีพฤติกรรมที่สะท้อนการรู้กติกามารยาทและจริยธรรมเกี่ยวกับการใช้สื่อและการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ต

ดังนั้น ‘สถาบันคลังสมองของชาติ’ ซึ่งมีภารกิจตอบสนองต่อความต้องการของภาครัฐและสังคมในการแก้ปัญหาและแสวงหาความริเริ่มเชิงนโยบายใหม่ ๆ ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้วยกระบวนการทางวิชาการ บนฐานของข้อมูลและการวิเคราะห์วิจัย ผ่านการประสานกับเครือข่ายนักวิชาการจากอุดมศึกษา จึงสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยปี 2563 ได้เริ่มต้น ‘สำรวจความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในการก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ ใน 5 มิติ ได้แก่ ทิศทางและการพัฒนาองค์กร ความพร้อมด้านพันธกิจ/ธุรกิจ ความพร้อมด้านระบบงานประยุกต์ ความพร้อมด้านข้อมูล และความพร้อมด้านเทคโนโลยี กับการประยุกต์ใช้ ‘เครื่องมือ Digital Maturity Model : DMM’ ในการสำรวจความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ซึ่งแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ระดับที่ 1 Traditional University ระดับที่ 2 E-University ระดับ 3 Connected University และระดับที่ 4 Smart University

ทั้งนี้ด้วยความห่วงใยว่ากำลังคนในทุก ๆ มิติแห่งศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องรับรู้ทักษะความเป็นดิจิทัลอย่างหลีกหลี่ยงไม่ได้เพราะโลกมีทิศทางสู่ยุคดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด รศ. ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ จึงให้ความสำคัญกับการสร้าง ‘ระบบนิเวศดิจิทัล’ อย่างแท้จริงภายใต้การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล

“คนเหล่านี้จะเป็นคนยุคดิจิทัลได้อย่างไรหาก ‘สภาพแวดล้อมไม่เอื้อ’ เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวเพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล หรือ Digital University โดยพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็นดิจิทัล หรือเรียกว่า ‘ระบบนิเวศดิจิทัล’ และสามารถใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพและการทำงานได้”

อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล กล่าวถึงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งร่วมสำรวจความพร้อมในการก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ครั้งที่ 1 ว่าเปรียบได้กับ ‘มหาวิทยาลัยเยี่ยงอย่าง’ เพราะมีพลังใจสูงเป็นอย่างยิ่งในการ ‘แหวกอากาศ’ ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ คือ ‘การพัฒนาไปสู่นิเวศดิจิทัล’ ซึ่งจากจุดเริ่มต้นนั้นเองพร้อมนำมาสู่การแหวกอากาศหรือการพัฒนาในระลอกที่ 2, 3 และระลอกต่อ ๆ ไป ณ วันนี้

ในปี 2566 สถาบันคลังสมองของชาติมุ่งขับเคลื่อนงานเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มกำลัง กับ ‘โครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ (Driving Thai University toward Digital University) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ประเภท Fundamental Fund จาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมพัฒนา ‘เครื่องมือ DMM’ สู่เวอร์ชันใหม่เพื่อสำรวจความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ตอบรับ 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงมีความผันผวนมากขึ้น มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องทบทวนความพร้อมของการพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบ 2) เพื่อทำให้ผู้บริหารทุกระดับและระดับปฏิบัติการเห็นภาพตรงกันต่อการดำเนินงานในมหาวิทยาลัย 3) เพื่อทำให้มีการกำหนดประเด็นในการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร และ 4) เพื่อทำให้มีการนำใช้ แบ่งปันข้อมูลและเทคโนโลยีร่วมกัน พร้อมกันนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงชุดคำถามภายใต้การใช้งานเครื่องมือ DMM คือ 1) ชุดคำถามมุ่งความสามารถในการต่อยอดและมุ่งสร้างนิเวศแห่งการพัฒนาร่วมกันทุกภาคส่วน 2) เป็นมุมมองจากความต้องการของสังคม มีการเชื่อมโยงกับทิศทางโลก และบริบทของประเทศมาสู่การกำหนดเป้าหมายของตัวเอง และ 3) ชุดคำถามมุ่งการขับเคลื่อนคนและองค์กรอย่างเป็นระบบโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้สอดคล้อง

โฉมหน้าของเครื่องมือ DMM ซึ่งเป็นดังเครื่องมือกลางสำหรับการตรวจสุขภาพของมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดการเช็กสอบได้อย่างรวดเร็ว ทว่าเป็นระบบมีระเบียบ ปรากฏเป็นแผนภาพ (Diagram) ได้แก่ ส่วนบน คือ กลุ่มผู้บริหารระดับสูง ส่วนกลาง คือ กลุ่มผู้บริหารระดับกลางและระดับปฏิบัติการ และส่วนล่าง คือ เทคโนโลยี อีกด้านหนึ่ง คือ แนวตั้ง 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 งานด้านการส่งเสริม มิติที่ 2 งานด้านภารกิจหลัก แล มิติที่ 3 งานด้านสนับสนุนและควบคุม

ผลสำรวจที่ได้จากเครื่องมือ DMM เวอร์ชันใหม่แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 Silo การพัฒนาต่างคนต่างทำ เพิ่งเริ่มหรือยังทดลองทำ โดยขาดมาตรฐานในการดำเนินงาน ระดับที่ 2 Standardized การพัฒนาที่มีมาตรฐานในการดำเนินงาน ได้แก่ มาตรฐานด้านกระบวนการทำงาน มาตรฐานด้านข้อมูล และมาตรฐานการนำใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ ระดับที่ 3 Optimized การพัฒนาที่มีมาตรฐานในการดำเนินงาน ขจัดขั้นตอนการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนหรือไม่จำเป็นออกไป รวมถึงมีการเชื่อมโยงระหว่างระบบงานทั้งภายในและภายนอกอย่างไร้รอยต่อ และระดับที่ 4 Modular การพัฒนาที่มีมาตรฐานในการดำเนินการ ขจัดขั้นตอนการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนหรือไม่จำเป็นออกไป รวมถึงมีการเชื่อมโยงระหว่างระบบงานทั้งภายในและภายนอกอย่างไร้รอยต่อ และสามารถต่อยอดการสร้างบริการใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การสำรวจความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลด้วยเครื่องมือกลางดังกล่าวไม่เพียงแต่นำมาซึ่งคะแนนหรือสะท้อนสถานะเท่านั้น หากยังส่งผลสู่การดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ทำให้เกิดการเข้าใจตรงกัน พร้อมด้วยการเห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละมิติ 2) ใช้ในการกำหนดกลยุทธ์หรือสิ่งต่าง ๆ ที่จะทำในอนาคต 3) ทำให้สามารถวิเคราะห์ความสอดคล้องของทุก ๆ งานมุ่งสู่เป้าหมายว่ามากน้อยแค่ไหน อย่างไร และ 4) ช่วยปรับกระบวนการทำงาน นำใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติได้อย่างถูกจุด ถูกพื้นที่ พร้อมส่งประโยชน์ต่อภาคส่วนอื่น ๆ ได้แก่ 1) นักศึกษาและผู้ใช้บริการมหาวิทยาลัยจะได้รับบริการที่รวดเร็ว ตรงกับยุคสมัย 2) ภาคอุตสาหกรรมจะได้บัณฑิตที่มีความพร้อมในการทำงานมากขึ้น 3) เกิดการช่วยเหลือกันระหว่างมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้ง่ายขึ้น เพราะมีการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ร่วมกันอยู่ตลอดเวลา 4) ในระดับประเทศจะได้บุคลากรที่มีความสามารถในการพัฒนาประเทศที่ดีมากขึ้น 5) ในระดับนโยบายของอุดมศึกษาสามารถกำหนดทิศทางของการพัฒนาประเทศในแต่ละภูมิภาคได้ชัดเจนมากขึ้นว่าต้องการให้แต่ละภูมิภาคเน้นความสามารถในด้านใด และสามารถพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภูมิภาคได้เป็นอย่างดี 6) ในระยะถัดไปจะสามารถลดปัญหาสังคมเมื่อระดับการศึกษาของประเทศอยู่ในเกณฑ์สูงขึ้น และลดภาระการดูแลจากภาครัฐ

ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เน้นย้ำว่าเครื่องมือ DMM ไม่ใช่ Magic Bullet และไม่ใช่สูตรสำเร็จ “การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลอย่างแท้จริง คือ การได้เห็นโจทย์ที่เกิดจากการใช้เครื่องมือ DMM แล้วสามารถวิเคราะห์ แก้โจทย์ รวมถึงใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อนำเสนอรูปแบบนโยบายที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ต่อไปในอนาคต เครื่องมือ DMM จึงเป็นตัวจักรหรือกลไกขับเคลื่อน เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายสาธารณะ สามารถแสดงผลเชิงประจักษ์ของมหาวิทยาลัยทั้งหมดว่าก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับมหาวิทยาลัยไทย ไปจนถึงบริบทรอบ ๆ มหาวิทยาลัย และประเทศไทยอย่างไร มหาวิทยาลัยดิจิทัลจะต้องทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นการวิจัย การพัฒนา การบริการสังคม ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ความสำคัญของเครื่องมือ DMM ในบทบาทของมหาวิทยาลัยดิจิทัล คือ การทำให้วงจรนโยบายสาธารณะหมุนได้”

ภายใต้ ‘โครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ การพัฒนาประเทศที่พร้อมด้วยระบบนิเวศดิจิทัล และ Digital Transformation หรือ Digital University ครบทุกองศาของแต่ละมหาวิทยาลัยกำลังได้รับการขับเคลื่อนทั้งในส่วนวิสัยทัศน์ พันธกิจ และธรรมาภิบาลอย่างสอดคล้อง โดยมียุทธศาสตร์ชาติ แผน และนโยบายสำคัญต่าง ๆ กำหนดทิศทางและเป้าหมาย ท้ายที่สุดผลลัพธ์ที่สมบูรณ์พร้อมของการเปลี่ยนผ่านมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล คือ การเชื่อมโยงและพัฒนาทุกองคาพยพของประเทศสู่ความ ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ตามบริบทโลกยุคดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างเต็มรูปแบ

มหาวิทยาลัยดิจิทัล องค์กรและกลไกหลักเพื่อขับเคลื่อนประเทศ

โลกเดินทางมาสู่ ‘ยุคดิจิทัล’ คือ มีดิจิทัลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญเทียบได้กับ ‘ยุคการปฏิวัติทางดิจิทัล’ ประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลไกของทั้งโลก การขับเคลื่อนเรื่อง ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ (Digital University) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

“เพราะมหาวิทยาลัยเป็นเป็นองค์กรหัวหอกของทุก ๆ สังคม มหาวิทยาลัยมีองคาพยพและมีองค์ประกอบครบถ้วน มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งทั่วโลกมีบุคลากรที่มีความสามารถ มีประสบการณ์ มีความรู้ และองค์ความรู้ต่าง ๆ ก็รวบรวมอยู่ในมหาวิทยาลัย ที่สำคัญมหาวิทยาลัยมีหน้าที่สร้างและผลิตคนยุคใหม่ ดังนั้นคนที่ออกไปจากมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องเป็น ‘ผู้นำ’ เพื่อที่จะดำเนินการนี้”

เมื่อรัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ ภาพของประเทศไทยในอนาคตคงเป็นประเทศดิจิทัล แต่ก่อนไปถึงวันนั้นประเทศไทยจะต้องใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีหรือความเป็นดิจิทัลเป็นเครื่องมือทำให้ประเทศไทยไปถึงจุดนั้น เพราะฉะนั้นดิจิทัลจึงมี 2 มิติ คือ มิติที่เป็นผลปลายทาง และมิติที่เป็นเครื่องมือ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขับเคลื่อนกลไกของดิจิทัล ขณะที่มหาวิทยาลัยในฐานะคลังความรู้ เป็นคลังสมอง และเป็นแหล่งผลิตบุคลากรหลักทางด้านวิทยาการของประเทศ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญและมีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศไทย โดยในเรื่องมหาวิทยาลัยดิจิทัล ประการที่ 1 มหาวิทยาลัยต้องใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด ในกระบวนการของทั้งองค์กร และทำให้กระบวนงานต่าง ๆ มีความคล่องตัว ถูกต้อง สมบูรณ์ ลดระยะเวลา ลดค่าใช้จ่าย ฯลฯ ตลอดจนถึงมองไปข้างหน้าถึงกลไกการให้การศึกษาในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ Lifelong Learning การเรียนในลักษณะ Reskills/Upskills หรือแม้แต่การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในรายวิชาที่เป็นการปฏิบัติอย่างเต็มที่ ประการที่ 2 มหาวิทยาลัยต้องสร้างคนไทยให้เป็นคนดิจิทัล เรียกว่า ทำให้คนที่ผ่านระบบและประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยเป็นมนุษย์ดิจิทัลในอนาคตของประเทศได้อย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะทำงานใด ๆ ย่อมสามารถใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีและพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยีต่อไปได้ และ ประการสุดท้าย มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการเป็นผู้พัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยี เพราะมหาวิทยาลัยอยู่ในจุดที่ดีที่สุดในการเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี จึงต้องเป็นผู้นำในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแบบที่ผู้อื่นไม่เคยใช้ การที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2580 มหาวิทยาลัยจะต้องพร้อมในเรื่องนี้ก่อนสัก 10 ปี มหาวิทยาลัยจะต้องไม่เป็นผู้ตาม หลายเรื่องมหาวิทยาลัยตามได้ แต่เรื่องมหาวิทยาลัยดิจิทัลจะต้องไม่เป็นผู้ตาม ถ้ามหาวิทยาลัยเป็นผู้ตาม ไม่รู้จะเอาตรงไหนเป็นผู้นำ

กระทรวง อว. คาดหวังว่ามหาวิทยาลัยจะเป็นองค์กรหลักและเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วตามยุทธศาสตร์ชาติ เพราะฉะนั้นนอกจากการเตรียมการเปลี่ยนผ่านของมหาวิทยาลัยไทยไปสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลในปัจจุบันแล้ว มหาวิทยาลัยไทยหรือมหาวิทยาลัยดิจิทัลยังมีบทบาทและความรับผิดชอบสำคัญที่ต้องร่วมมองไปสู่อนาคตให้มากและไกลยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล

ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ระบบนิเวศดิจิทัล ฐานรากสำคัญของมหาวิทยาลัยดิจิทัล

วันนี้ทิศทางและวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยทุกแห่งต่างมุ่งสู่การเป็น ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ (Digital University) เต็มรูปแบบ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ฉะนั้นสิ่งแรกที่มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการเพื่อ ‘สร้างคน’ ให้พร้อมเข้าไปสู่ ‘โลกใหม่’ ที่เป็น ‘ยุคดิจิทัล’ คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นดิจิทัล หรือที่เรียกว่า ‘ระบบนิเวศดิจิทัล’ (Digital Ecosystem) ตั้งแต่ต้นให้กับผู้เรียน เพื่อเป็นหลักในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม และในปัจจุบันที่มีข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) อยู่ในแวดวงการศึกษา แต่ข้อมูลเหล่านั้นกลับอยู่กันคนละทิศคนละทาง ไม่มีพลังในการขับเคลื่อน ไม่มีพลังในการนำมาใช้ มหาวิทยาลัยจึงเปรียบเสมือนหัวรถจักรเชิงความรู้ที่จะต้องทำหน้าที่ลากขบวน ทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม สังคม ประชาชน ชุมชน ฯลฯ โดยอาศัยดิจิทัลเทคโนโลยีเป็น ‘เครื่องมือ’ ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะรวดเร็วขึ้น ประหยัดเวลาขึ้น และถูกต้องแม่นยำขึ้น สถาบันคลังสมองแห่งชาติ จึงมุ่งหวังจะได้เห็นสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยดิจิทัลที่สมบูรณ์หรือเห็นภาพการก้าวเข้าสู่ Fully Digital University อย่างแท้จริง

กำลังคนในทุกมิติแห่งศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องรับรู้ทักษะความเป็นดิจิทัลเพราะเห็นได้ชัดว่าโลกมีทิศทางสู่ยุคดิจิทัล อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมในการสร้างคนไม่ได้หมายถึงมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศหรือมีความหรูในเรื่องดิจิทัล แต่อยู่ที่ความพร้อมในการปรับตัว การใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพและการทำงาน ไปจนถึงการเชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ Smart Thailand โดยองค์ประกอบหลักในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลหรือพร้อมด้วยระบบนิเวศดิจิทัลอย่างเป็นระบบมี 3 ส่วนใหญ่ ได้แก่ ฮาร์ดแวร์ ข้อมูล และคน ซึ่งแต่ละส่วนต้องได้รับการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน

สถาบันคลังสมองของชาติสนับสนุนการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ภายใต้นโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และได้พัฒนาเครื่องมือกลางในชื่อ ‘เครื่องมือ Digital Maturity Model (DMM)’ เพื่อการสำรวจความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ซึ่งช่วยให้มหาวิทยาลัยประเมินตนเองเสมือนการเช็กสุขภาพว่ามีจุดเด่นและจุดอ่อนตรงไหน อย่างไร เป็นการทดสอบตัวเองให้รู้ตัวตนและสิ่งที่จะต้องเติมเต็ม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ งานสนับสนุนการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบนั้น สถาบันคลังสมองของชาติมุ่งสร้างความแข็งแกร่งทางด้านดิจิทัลให้กับมหาวิทยาลัยไทย เพื่อเป็นพลังและเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ด้วยบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในการสร้างคนรุ่นใหม่หรือคนที่จะเป็นอนาคตของชาติให้สามารถอยู่รอดในสังคมหรือโลกดิจิทัลเต็มรูปแบบ มหาวิทยาลัยเองต้องมีความเป็นดิจิทัลอย่างแท้จริงเสียก่อน ยิ่งไปกว่านั้น ในวันนี้ กระทรวง อว. ไม่เพียงเห็นภาพของมหาวิทยาลัยที่มุ่งพัฒนาเพียงกลไกภายในหรือการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยยังเป็นความคาดหวังว่าจะเป็นผู้นำทางด้านดิจิทัลของสังคมไทย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของมหาวิทยาลัยดิจิทัลในอนาคตอีกด้วย

รศ. ดร.พีรเดช ทองอำไพ

ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ

มหาวิทยาลัยดิจิทัลกับเป้าหมาย
Smart Thailand

หัวใจของการมุ่งสู่ ‘การเป็นดิจิทัล’ ตั้งต้นที่ ‘Mindset’ ในการปรับเปลี่ยน เรียนรู้ ปรับตัวอยู่กับสถานะปัจจุบัน และใช้เครื่องมือที่อยู่ในยุคปัจจุบันได้อย่างทรงพลัง ฉะนั้นการสนับสนุนให้มหาวิยาลัยไทยเปลี่ยนผ่านสู่การเป็น ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ (Digital University) จึงมุ่งที่ ‘ผู้บริหารและคน’ เป็นสำคัญ

ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลมาพร้อม Mindset ที่ไม่เหมือนเดิม คือ จากที่เคยมุ่งเป็นที่หนึ่ง หรือจัดอันดับว่าต้องชนะผู้อื่นเท่านั้น เมื่อเป็นดิจิทัลแล้ว หลายอย่างคอนเนกต์และเกิดพาร์ตเนอร์ชิป พลังของดิจิทัลจากเน็ตเวิร์กทำให้เกิดการหาคุณค่า หาตัวตน มหาวิทยาลัยจึงต้องตื่นตัวในการปรับเปลี่ยนและเชื่อมโยงจากเป้าหมายที่มุ่งชนะตามลำพัง เป็น ‘เป้าหมายร่วม’ สู่สังคมยุคใหม่ และมหาวิทยาลัยดิจิทัลที่เดินหน้าสู่คำว่า ‘Smart Thailand’ จึงเป็นการ ‘ทำน้อยได้ผลมาก’ และไม่ใช่ทำเพื่อตัวเองคนเดียวตามลำพัง แต่เป็นการทำเพื่อมวลชนหรือทำเพื่อประเทศไทยทั้งประเทศ

สถาบันคลังสมองของชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันให้มหาวิทยาลัยไทยมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบ ภายใต้นโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สนับสนุนให้พัฒนาและประยุกต์ใช้เครื่องมือ ‘Digital Maturity Model หรือ DMM’ เพื่อสำรวจความพร้อมของมหาวิทยาลัยไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ตอบโจทย์ 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่

 1) แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงมีความผันผวนมากขึ้น มหาวิทยาลัยมีความจำเป็นต้องทบทวนความพร้อมของการพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบ

2) เพื่อทำให้ผู้บริหารทุกระดับตลอดจนระดับปฏิบัติการเห็นภาพตรงกันในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย (ลดการคิดเองเออเอง)

3) เพื่อทำให้มีการกำหนดประเด็นในการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร (ลดการซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงาน) และ

4) เพื่อทำให้มีการนำใช้ แบ่งปันข้อมูลและเทคโนโลยีร่วมกัน (ลดการต่างคนต่างทำ)

พร้อมปรับปรุงในรายละเอียดของชุดคำถาม 3 ประเด็น ได้แก่

       1) มุ่งความสามารถในการต่อยอดและมุ่งสร้างนิเวศแห่งการพัฒนาร่วมกันทุกภาคส่วน

       2) เป็นมุมมองจากความต้องการของสังคม มีการเชื่อมโยงกับทิศทางโลก และบริบทของประเทศมาสู่การกำหนดเป้าหมายของตัวเอง

       3) มุ่งการขับเคลื่อนคนและองค์กรอย่างเป็นระบบโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้สอดคล้อง

ข้อคำถามต่าง ๆ ปรากฏในตาราง 9 ช่อง เป็นการเช็กสอบที่สะดวก เป็นระบบ มีไดอะแกรมเป็นกลุ่ม บนสุด คือ กลุ่มผู้บริหารระดับสูง อาทิ สภามหาวิทยาลัย อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี รองคณบดี เป็นต้น ส่วนกลาง คือ กลุ่มผู้บริหารระดับกลางและระดับปฏิบัติการ และ ส่วนล่าง คือ เทคโนโลยี หรือเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การจัดเก็บข้อมูล แอปพลิเคชัน โปรแกรมประยุกต์ การเชื่อมต่อเครือข่าย เป็นต้น ขณะที่ แนวตั้ง มี 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 งานด้านการส่งเสริม มิติที่ 2 งานด้านภารกิจหลัก และ มิติที่ 3 งานด้านสนับสนุนและควบคุม ซึ่งมหาวิทยาลัยถือเป็นองค์กรองค์กรหนึ่ง การเช็กมิติของมหาวิทยาลัยจึงไม่ใช่การเช็กเฉพาะเรื่องการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ฯลฯ แต่เป็นการมองความสอดคล้องการทำงานของทั้งมหาวิทยาลัย โดยผลจากการสำรวจแบ่งสถานะของมหาวิทยาลัยได้ 4 ระดับ คือ Silo, Standardized, Optimized และ Modular

ทั้งนี้ เครื่องมือ DMM ไม่ใช่เครื่องมือที่ทำหน้าที่สำรวจและให้คะแนนเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปสู่การดำเนินงานของมหาวิทยาลัย 4 ประเด็น คือ

1) ทำให้เกิดการเข้าใจตรงกัน ตั้งแต่ผู้บริหารทั้งระดับสูง ระดับกลาง ระดับปฏิบัติการ

2) ใช้ในการกำหนดกลยุทธ์หรือสิ่งต่าง ๆ ที่จะทำ

3) ทำให้สามารถวิเคราะห์ความสอดคล้องว่าทุก ๆ งานมุ่งสู่เป้าหมายมากน้อยแค่ไหน

4) ช่วยปรับกระบวนการทำงาน นำใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติได้อย่างถูกจุด ถูกพื้นที่ นอกจากนี้ยังขับเคลื่อนทุก ๆ องคาพยพของประเทศให้ได้รับประโยชน์พร้อมกัน ได้แก่ 1) นักศึกษาและผู้ใช้บริการมหาวิทยาลัยจะได้รับบริการที่รวดเร็ว ตรงกับยุคสมัย 2) ภาคอุตสาหกรรมจะได้บัณฑิตที่มีความพร้อมในการทำงานมากขึ้น 3) เกิดการช่วยเหลือกันระหว่างมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้ง่ายขึ้น เพราะมีการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ร่วมกันอยู่ตลอดเวลา 4) ในระดับประเทศจะได้บุคลากรที่มีความสามารถในการพัฒนาประเทศที่ดีมากขึ้น 5) ในระดับนโยบายของอุดมศึกษาสามารถกำหนดทิศทางของการพัฒนาประเทศในแต่ละภูมิภาคได้ชัดเจนมากขึ้นว่าต้องการให้แต่ละภูมิภาคเน้นความสามารถในด้านใด และสามารถพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภูมิภาคได้เป็นอย่างดี 6) ในระยะถัดไปจะสามารถลดปัญหาสังคมเมื่อระดับการศึกษาของประเทศอยู่ในเกณฑ์สูงขึ้น และลดภาระการดูแลจากภาครัฐ

ก่อนมุ่งไปสู่ทิศทางที่วางไว้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยจะต้องรู้สถานภาพหรือสถานการณ์ปัจจุบัน ไปจนถึงสิ่งที่ตกหล่นระหว่างทางและช่องว่างว่าเป็นอย่างไร มีเท่าไร การที่บุคลากรในองค์กรเห็นและเข้าใจภาพเดียวกันหา ตัวเองเจอ และรู้ว่าจะไปทางไหนตามจุดแข็งของแต่ละองค์กร พร้อมด้วยหัวใจสำคัญ คือ การปรับหรือเปลี่ยนแบบลงลึกไปถึง Mindset ด้วยนั้น DMM เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิด Self-actualization หรือความต้องการพัฒนาศักยภาพเพื่อความสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม การมุ่งหน้าสู่ความงามต้องการกำลังใจต่อกันและกัน หมดยุคของการเอาชนะเพื่ออยู่รอด เข้าสู่ยุคการแบ่งปันหาพันธมิตรสนธิกำลังเพื่ออยู่รอด

อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี

ผู้ดูแลโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล