แนวคิดการทำงานแบบ Agile ด้วย Agile Enterprise Architecture กับการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต (EP.3)

ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี

AGILE ENTERPRISE ARCHITECTURE

มาถึงคำว่า ‘Agile Enterprise Architecture (Agile EA)’ ซึ่งก็คือ การนำแนวคิด Agile ซึ่งมีหลักสำคัญ คือ แนวคิดการทำงานที่ทำให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น และทำให้ทีมงานสื่อสารกันอย่างคล่องตัว เพื่อสามารถถอดบทเรียนสู่การพัฒนาต่อเนื่อง มุ่งสู่การตอบความต้องการใหม่ ๆ มาใช้ในการจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture) ให้มีการสร้างความสำเร็จในแต่ละระยะ เน้นการสื่อสารเพื่อทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถร่วมมือในการพัฒนาองค์กร และถอดบทเรียนสำหรับการขยายผลสู่การพัฒนาในระยะถัดไปอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ลักษณะหน้าตาของ Agile Enterprise Architecture ก็คือ การทำให้เห็นภาพขององค์กรตรงกัน จากนั้นแต่ละทีม ซึ่งเป็น Agile Team จะพัฒนางานของตนเอง แล้วจึงนำมาประกอบร่างกัน โดยมีการถอดบทเรียนที่แยกไปทำงานกันและกลับมารวมกัน สู่การพัฒนาที่ต่อเนื่อง

AGILE ENTERPRISE ARCHITECTURE & DIGITAL UNIVERSITY

หากถามว่าแนวคิดการทำงานแบบ Agile ด้วย Agile Enterprise Architecture เข้ามาช่วยงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยยุคใหม่อย่าง Smart University หรือ Digital University อย่างไรนั้น สามารถแบ่งเป็นประเด็นสำคัญ ได้แก่ ช่วยทำให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี รองคณบดี ไปจนถึงผู้ช่วยทั้งหมด เห็นภาพของระบบการทำงานในมหาวิทยาลัยตรงกันในลักษณะของพิมพ์เขียวองค์กร

ทั้งนี้ ระบบการทำงานในมหาวิทยาลัยที่ว่า หมายถึง โครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน นโยบายการทำงาน แอปพลิเคชัน ข้อมูล เทคโนโลยีพื้นฐานนั่นเอง

ประเด็นต่อมา คือ ช่วยทำให้มองเห็นกระบวนการทำงานที่เชื่อมโยงกันนำสู่การใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้มองเห็นผลกระทบของงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงทำให้ผู้บริหารสามารถจัดลำดับความสำคัญของงานในช่วงเวลาต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนถึงช่วยเป็นเครื่องมือในการสื่อสารการทำงานของแต่ละหน่วยงานอย่างกระชับและเป็นระบบ และท้ายสุด คือ ช่วยทำให้มหาวิทยาลัยจัดทำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างคุ้มค่า ตรงกับความจำเป็นเร่งด่วนที่เกิดขึ้นภายใต้ความต้องการที่แท้จริง

ดังนั้น หากยกตัวอย่างการใช้ Agile EA ที่เข้ามาช่วยงานในมหาวิทยาลัยให้เห็นภาพ ‘พิมพ์เขียวองค์กรของมหาวิทยาลัย’ ต้องปรากฏขึ้น ซึ่งจะทำให้เห็นงานหลักต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น งานวิจัย งานวิชาการ การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก การผลิตบัณฑิตแบบ Degree และ Non-degree การพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการ การทำ Public Training, Life Long Learning, Test Center และการทำตามนโยบายภาครัฐ เป็นต้น กล่าวได้ว่า เป็นภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยยุคปัจจุบันที่อยู่ในพิมพ์เขียวองค์กรของมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีภารกิจในเรื่องการประเมินผลงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย เช่น ตัวชี้วัดการประกันคุณภาพหลักสูตร ตัวชี้วัดการประกันคุณภาพองค์กร ฯลฯ ตลอดจนถึงการทำงานด้านนวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เรียกว่า Innovation Sandbox ที่มหาวิทยาลัยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบ หรือทดลอง ที่อาจใช้เวลาในช่วง 6-9 เดือน หรือบริการ One Stop ต่าง ๆ หรืองานบริการทำให้คำปรึกษา (Personal Consultant) ที่เป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดี ซึ่งทั้งหมดรวมอยู่ในกลุ่ม Experience Management ไม่ใช่งานใน Core Product หรือ Core Service หากในอนาคตอาจกลายเป็นบริการหลักของมหาวิทยาลัยได้เช่นกัน

พิมพ์เขียวองค์กรของมหาวิทยาลัยยังปรากฏในเรื่องงานแบ็คออฟฟิศต่าง ๆ เช่น งานทรัพยากรมนุษย์ งานด้านการเงิน งานบัญชี งานงบประมาณ งานจัดซื้อจัดจ้าง งานศิษย์เก่า งานสำนักอธิการบดี งานโรงอาหาร งานสนามกีฬา งานสระว่ายน้ำ เป็นต้น รวมไปถึงงานด้านกฎระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติ PDPA กฎระเบียบมหาวิทยาลัย และข้อบังคับต่าง ๆ ที่ใช้กำกับมหาวิทยาลัยให้ดำเนินกิจกรรมหรือกิจการและปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง

ข้อมูลของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นฐานข้อมูลนิสิต-นักศึกษา ข้อมูลหลักสูตร ข้อมูลงบประมาณ ข้อมูลงานวิจัยตีพิมพ์ ข้อมูลวิชาเปิดสอน ข้อมูลแหล่งฝึกงานของนิสิต-นักศึกษา ฯลฯ รวมไปถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยใช้ในปัจจุบัน เช่น ระบบลงทะเบียน ระบบสารบรรณกลาง ระบบจัดการวิชาและตารางเรียนตารางสอน ระบบฐานข้อมูลวิชาการ กลุ่ม Data Management Software กลุ่มที่เกี่ยวกับ Infrastructure (เช่น Server, Network และอื่น ๆ) ล้วนปรากฏในพิมพ์เขียวองค์กรของมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น

พิมพ์เขียวองค์กรของมหาวิทยาลัยไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ที่ทำงานในมหาวิทยาลัยมองเห็นงานของตนเอง หากยังทำให้มองเห็นว่าในมหาวิทยาลัยมีภารกิจในการตอบโจทย์อะไร ที่สำคัญ เมื่อมีการทำงานร่วมกัน จะมีโอกาสมองเห็นการทำงานที่อาจมีผลกระทบต่อกัน เช่น ระบบเครดิตแบงก์ ที่ต้องการให้ระบบการเงินเชื่อมต่อกับระบบเครดิตแบงก์ จึงต้องดูเรื่องของข้อมูลและเทคโนโลยีกว่าจะเชื่อมต่ออย่างไร ซึ่งรวมทั้งการเชื่อมกระบวนการทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอน ก่อนจะไปถึงการนำใช้เทคโนโลยี หรือการพัฒนาบัณฑิตแบบ Non-degree ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เข้าเรียน ดังนั้น ต้องมีการเก็บข้อมูลของบุคคลทั่วไป เพราะฉะนั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติ PDPA อย่างไร นอกจากนี้ การดำเนินงานด้านต่าง ๆ จะผ่านตัวชี้วัด หรือการประเมินได้อย่างไร นี่คือความสัมพันธ์ของแต่ละส่วนในพิมพ์เขียวองค์กรของมหาวิทยาลัย

SMART UNIVERSITY, SMART PEOPLE, SMART CITY AND SMART GOVERNMENT

หนึ่งในหัวใจและภารกิจสำคัญของ Smart University หรือ Digital University คือ การผลิตบัณฑิต ซึ่งแท้ที่จริงก็คือ การผลิตพลเมืองแห่งยุค หรือที่เรียกว่า ‘พลเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart People’ ซึ่งก็คือ พลเมืองที่สามารถดูแลตนเองและสภาพแวดล้อมได้ รวมถึงมีความฉลาดด้านการนำใช้เทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ทั้งเศรษฐกิจและมีความปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ไม่หวังดี ซึ่งตัวชี้วัดสำคัญ คือ การมีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยี มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถด้านการคิดค้นต่อยอดเป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ มีทัศนคติ ที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม จริยธรรมและคุณธรรม

การมุ่งพัฒนาพลเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart People ยังเป็นหัวใจหลักของกรอบการพัฒนา ‘เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City’ อันหมายถึง เมืองที่มีการพัฒนาทั้งคุณภาพ การดำรงชีวิต และการอยู่ร่วมกันในสังคม มีการพัฒนาในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การคมนาคม สภาพแวดล้อม ฯลฯ และมีการสื่อสารแบบใหม่ เช่น การนำใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น โดยมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาด ผ่านการกำกับดูแลอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ Smart University กับภารกิจสร้าง Smart People ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนา Smart City ยังเชื่อมโยงสัมพันธ์กับ ‘รัฐบาลอัจฉริยะ หรือ Smart Government’ อย่างแยกออกจากกันไม่ได้ ซึ่ง Smart Government ก็คือ รัฐบาลอัจฉริยะที่สามารถพัฒนาประเทศอย่างมีส่วนร่วม ขับเคลื่อนข้อมูลด้วยเทคโนโลยี เพื่อทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ต่อประชาชน และภาคธุรกิจ อย่างเป็นระบบ รวมถึงการสนับสนุนการเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ผ่านการกำกับการดูแลอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ งานบริการที่สำคัญของ Smart University เช่น งานวิจัย งานบริการด้านวิชาการ ความเข้าใจในท้องถิ่น ฯลฯ ที่สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งความรู้ของเมือง (City) และการบริหารการปกครองในแต่ละพื้นที่ของประเทศ คือ องค์ความรู้ที่ทำให้ Smart University ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการศึกษา มีข้อได้เปรียบมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในการประสานการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ตลอดจนถึงการพัฒนา Smart City และ Smart Government อีกด้วย

ขอยกตัวอย่างเรื่อง Smart Environment หรือการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในเมือง ซึ่ง Smart Environment เป็นหน้าที่ของทุก ๆ คน ตั้งแต่ฝ่ายรัฐบาลที่เป็นส่วนกลางทั้งด้านนโยบาย การบริหาร และการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจและยกระดับชุมชนให้เกิด Smart Environment ขึ้น ทั้งนี้ Smart University สามารถสนับสนุนเรื่องงานวิจัยที่เกี่ยวกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางเสียง มลพิษด้านขยะ ฯลฯ หรือสร้างโครงการต้นแบบในแต่ละพื้นที่เพื่อเป็นตัวอย่างในการดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

Smart City ยังต้องดูแลและจัดการเรื่องการบริโภคเกินความจำเป็น ที่ส่งผลให้เกิด ‘ขยะอาหาร’ (Food Waste) ซึ่งกลายเป็นประเด็นใหญ่ระดับโลกในปัจจุบัน Smart University สามารถร่วมรณรงค์หรือสร้างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการตระหนักในเรื่องการบริโภคเกินความจำเป็น และขยะอาหารที่จะกลายเป็นมลพิษของเมืองนั้น ๆ

ด้านเศรษฐกิจ Smart University ยังสามารถทำงานร่วมกับปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อพลิกโฉมธุรกิจพื้นฐานของชาวบ้าน เช่น ผลไม้อบแห้ง หรืองานจักสาน ให้มีมาตรฐานและมีความทันสมัยยิ่งขึ้น และใช้เครือข่ายของการทำอีคอมเมิร์ซเข้ามาพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น เกิดเป็นเศรษฐกิจอัจฉริยะ หรือ Smart Economy ซึ่งอยู่บนรากฐานที่มั่นคง สู่การเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน เป็นต้น

 

 

สถาบันอุดมศึกษา หรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มุ่งหน้าและพลิกโฉมสู่ Smart University นั้น มีพันธกิจสำคัญในการร่วมออกแบบและพัฒนากำลังคน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแห่งปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานทุกภาคส่วนของประเทศอย่างสอดคล้องและตอบรับกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงในมิติที่หลากหลายอยู่ตลอดเวลา ‘ความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และการร่วมทำงานที่มีการสื่อสารกันอย่างคล่องตัว’ จึงเป็นแนวคิดสำคัญที่เข้ามาส่งเสริมและผลักดันให้การทำงานของ Smart University สามารถตอบความต้องการใหม่ ๆ และเป็นฟันเฟืองแห่งการพัฒนาทุกองคาพยพของประเทศอย่างต่อเนื่อง มีศักยภาพ และยั่งยืนต่อไป