ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงวิไล กับแนวนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยไทยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล

สถาบันคลังสมองของชาติ หน่วยงานหลักผู้ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ภายใต้นโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดสัมมนาออนไลน์ ‘การสำรวจความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล’ (Digital Maturity Model (DMM) Transformation Readiness towards Digital University) นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่สะท้อนการนำใช้เครื่องมือ DMM เพื่อสำรวจความพร้อมสู่ความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยดิจิทัลโดยมหาวิทยาลัยแกนนำ รวมถึงการพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องมือ DMM ที่พร้อมใช้แล้ว ณ วันนี้ ในโอกาสสำคัญที่ไม่ต่างจากก้าวใหญ่ ๆ ก้าวใหม่ครั้งนี้ ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เกียรติร่วมปาฐกถาในหัวข้อ ‘แนวนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยไทยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม’

บทบาทของมหาวิทยาลัยในยุคดิจิทัลต้องมากกว่าที่คิด

จากการแบ่งยุคสมัยในประวัติศาสตร์โลก ไม่ว่าจะเป็นตามชนิดของเครื่องมือเครื่องใช้ หรือตามวิถีการดำรงชีวิต ไม่อาจปฏิเสธว่าปัจจุบันโลกของเราเดินทางมาสู่ยุคที่เรียกว่า ‘ยุคดิจิทัล’

“ทำไมเราถึงอยู่ในยุคดิจิทัล มีสิ่งที่บ่งบอกอยู่หลายอย่าง ถ้าถามว่าตอนนี้เราทุกคนถืออะไร ผมเองถือทั้งโทรศัพท์มือถือและไอแพด ในห้องประชุมนี้ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเต็มไปหมด มีคนกล่าวว่าปัจจุบันคนใส่นาฬิกาเป็นเครื่องประดับ แต่ดูเวลาจากโทรศัพท์มือถือ โลกของธุรกิจและบริษัทใหญ่ ๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล ถ้ามีการประมวล-ประเมินว่าเทคโนโลยีปัจจุบันคืออะไร มีองค์กรของโลกที่สอบถามความคิดเห็นของคน เห็นชัดเจนว่าเกินครึ่งหรือเกิน 5 ใน 10 เทคโนโลยีหลักของปัจจุบันเกี่ยวข้องกับดิจิทัล พราะฉะนั้น ‘ดิจิทัล’ คือ ยุคสมัยปัจจุบันและเป็นยุคสมัยข้างหน้าที่จะเกิดขึ้น”

ดิจิทัลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์กล่าวว่าหากเทียบกับการปฏิวัติทางเกษตรกรรม หรือการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม ยุคนี้ก็คือยุคการปฏิวัติทางดิจิทัล ประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลไกของทั้งโลก การขับเคลื่อนเรื่องของมหาวิทยาลัยดิจิทัลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้นอกจากการเตรียมบทบาทของมหาวิทยาลัยของประเทศไทยในการเปลี่ยนแปลงไปสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลแล้ว สิ่งที่ ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์เพิ่มเติม คือ ‘การทำให้มากกว่าที่คิดจะทำยิ่งขึ้น’

ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และมีประโยชน์สูงสุด

เมื่อรัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่ตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2580 “ถ้าหลับตามองไปในปี 2580 ประเทศไทยที่พัฒนาแล้วจะเป็นอย่างไร เมื่อลืมตาขึ้นมา หนึ่งในนั้นคงเป็นภาพของประเทศไทยที่เป็นประเทศดิจิทัล อีกภาพหนึ่ง คือ ก่อนที่จะไปถึงวันนั้น ดิจิทัลเทคโนโลยีหรือความเป็นดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือทำให้ประเทศไทยไปถึงจุดนั้น ดิจิทัลจึงมีทั้ง 2 มิติ มิติที่เป็นผลปลายทาง และมิติที่เป็นเครื่องมือที่จะทำให้เป็นอย่างนั้น”

กระทรวง อว. ขับเคลื่อนกลไกของดิจิทัล ขณะที่มหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นคลังความรู้และเป็นคลังสมองของประเทศ ทั้งยังเป็นแหล่งที่ผลิตบุคลากรซึ่งจะเป็นบุคลากรหลักทางด้านวิทยาการของประเทศ มหาวิทยาลัยจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยจึงมีบทบาทในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทย โดยในเรื่อง Digital University ประการที่ 1 มหาวิทยาลัยต้องใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด ซึ่งคำว่า ประโยชน์ ในที่นี้มีอยู่หลากหลายประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ที่เหมือนกับองค์กรอื่น ๆ ทั่วไป ซึ่งใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในกระบวนการขององค์กร ตั้งแต่กระบวนการหน้าบ้าน กระบวนการหลังบ้าน และกระบวนการอื่น ๆ การใช้ประโยชน์จากดิจิทัลซึ่งทำให้กระบวนงานต่าง ๆ มีความคล่องตัว มีความถูกต้อง มีความสมบูรณ์ ลดระยะเวลา ลดค่าใช้จ่าย ฯลฯ มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในองค์กรต่าง ๆ และเป็นองค์กรขนาดใหญ่ การผนวกความเป็นมหาวิทยาลัยกับดิจิทัลเทคโนโลยีในมิติของการใช้ประโยชน์จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ด้วยมหาวิทยาลัยมีหน้าที่จำเพาะเฉกเช่นทุก ๆ องค์กร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม และอื่น ๆ มหาวิทยาลัยจึงต้องใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการทำกิจกรรมจำเพาะของมหาวิทยาลัยให้ได้ประโยชน์สูงสุด

“การสอนออนไลน์ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นเพียงหนึ่งในเสี้ยวของการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล แต่ก็เป็นภารกิจเรื่องของการจัดการเรียนการสอนซึ่งต้องใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีให้ได้ประโยชน์มากที่สุด”

จากการสำรวจก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พบว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ โดยช่วงเวลานั้นมีการวางแผนว่าประเทศไทยจะมีจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้ประมาณ 10 ปีข้างหน้า “พอโควิดมาปุ๊บ ภายใน 1 อาทิตย์ สามารถสอนออนไลน์ได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์” ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์กล่าว “แปลว่าเราคงมีความพร้อมอยู่จำนวนหนึ่ง และความพร้อมนี้เมื่อสถานการณ์จำเป็นจะต้องใช้ เราก็ต้องใช้”

มหาวิทยาลัยต้องมองไปข้างหน้าถึงกลไกการให้การศึกษาในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ Lifelong Learning การเรียนในลักษณะ Reskills/Upskills หรือแม้แต่การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในรายวิชาที่เป็นการปฏิบัติอย่างเต็มที่ เช่น วิชากายวิภาคศาสตร์ ฯลฯ การใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเทคโนโลยีสามารถสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันเรื่องการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ได้หรือไม่ อย่างไร “กระบวนการในแง่ของการเรียนการสอนเป็นบทบาทอีกบทบาทหนึ่งของมหาวิทยาลัย ซึ่งการเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลจำเป็นต้องมองทั้งการเรียนการสอนปัจจุบัน การเรียนการสอนรูปแบบอื่น ๆ ต่อไป” ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์ยกตัวอย่าง “เราพูดถึงสังคมสูงวัย การเรียนตลอดชีวิต การเรียนแบบค่อย ๆ เติมไป เป็นต้น มหาวิทยาลัยยังมีบทบาทในภารกิจอื่น ๆ เช่น การวิจัย มหาวิทยาลัยวิจัยจะนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างไร หรือเรื่องของการสร้างนวัตกรรมจะใช้อย่างไร ในเรื่องของการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลในแง่ของมหาวิทยาลัยจะต้องใช้ประโยชน์จากดิจิทัลอย่างเต็มที่ในทุก ๆ ภารกิจ ในทุก ๆ มิติ การใช้ประโยชน์ที่ว่านี้จะทำให้สักวันหนึ่งเราจะอยู่กับความเป็นดิจิทัล”

การสร้างคนไทยให้เป็นคนดิจิทัล

ประการที่ 2 มหาวิทยาลัยต้องสร้างคนไทยให้เป็นคนดิจิทัล “เรื่องบทบาทของมหาวิทยาลัยที่นับเป็นหน้าที่ของ Digital University เช่นเดียวกัน คือ มิติของการสร้างคนไทยให้เป็นคนดิจิทัล” ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์อธิบาย “แต่ละวันมีคนอยู่ในระบบของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยประมาณ 2 ล้านคน ทุก ๆ ปีจะมีคน 4-5 แสนคนออกไปจากระบบของมหาวิทยาลัย และคนกลุ่มนี้จะเป็นคนไทยในอนาคต เป็นอนาคตของประเทศ มหาวิทยาลัยต้องทำให้เขาเป็นมนุษย์ดิจิทัล คือ ต้องมีกระบวนการที่ทำให้คนที่ผ่านระบบของมหาวิทยาลัยออกไปเป็นมนุษย์ดิจิทัลที่จะทำให้งานของเขา ไม่ว่าเขาจะไปทำงานใดก็ตาม สามารถใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีและพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยีต่อไป เป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้น เวลาที่ดูเรื่อง Maturity Model ปกติจะมองเฉพาะโหมดแรกโหมดเดียวว่าจะใช้ประโยชน์จากดิจิทัลอย่างไร แต่ยังต้องมองเรื่องของการผลิตคนที่เป็นดิจิทัล ซึ่งกระบวนการและประสบการณ์ที่สำคัญที่สุด คือ ประสบการณ์ที่เขาใช้ดิจิทัลภายในมหาวิทยาลัยที่จะทำให้เขาออกไปเป็นมนุษย์ดิจิทัลต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นบทบาทของมหาวิทยาลัยในการสอน ในการให้ความรู้ การให้ประสบการณ์ของความเป็นดิจิทัล จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดต่อไป”

บทบาทการพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยี

หลังจากกล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในแง่การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมด้วยบทบาทของมหาวิทยาลัยในแง่การสร้างคน ด้วยความหวังว่าคนที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยดิจิทัลจะเป็นคนเทคโนโลยี ซึ่งไม่เฉพาะเจาะจงอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์เท่านั้น ทว่าผู้ที่เรียนสังคมศาสตร์ก็ต้องออกไปเป็นมนุษย์ดิจิทัล ผู้ที่เรียนศึกษาศาสตร์ก็ต้องเป็นมนุษย์ดิจิทัล หรือแม้แต่ผู้ที่เรียนศิลปะก็ต้องเป็นมนุษย์ดิจิทัล มาสู่ ประการสุดท้าย มหาวิทยาลัยกับบทบาทในการเป็นผู้พัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยี คือ บทบาทในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยี

ด้วยมหาวิทยาลัยอยู่ในจุดที่ดีที่สุดที่จะเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี ทั้งบทบาทโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับคณะวิชา และและบทบาทของคณะวิชา หรือหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับด้านการพัฒนาเทคโนโลยี แต่จริง ๆ แล้วเกี่ยวข้องกัน “มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นผู้นำในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแบบที่คนอื่นไม่เคยใช้ เพราะถ้าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2580 มหาวิทยาลัยจะต้องพร้อมในเรื่องนี้ก่อนสัก 10 ปี ภาพหลักของประเทศจึงจะไปอย่างนั้นได้ ดังนั้นถ้าจะเติมเรื่องของ Readiness Model มหาวิทยาลัยจะต้องไม่เป็นผู้ตาม หลายเรื่องมหาวิทยาลัยตามได้ แต่เรื่องมหาวิทยาลัยดิจิทัลจะต้องไม่เป็นผู้ตาม ถ้ามหาวิทยาลัยเป็นผู้ตาม ไม่รู้จะเอาตรงไหนเป็นผู้นำ”

ในโอกาสนี้ ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์กล่าวว่า ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้มอบนโยบายว่าในการขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ของกระทรวงว่าต้องมุ่งที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ ขณะเดียวกันก็เน้นการทำให้ไว ซึ่ง Digital University เป็นเรื่องที่ดี หากปักธงและมีโมเดลชัดเจนแล้ว เห็นตรงกันแล้วว่า Digital University คืออะไร ก็ทำให้สำเร็จ “แน่นอนว่าเราไม่ได้พร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราสามารถขับเคลื่อนได้ มหาวิทยาลัยควรจะเป็นตัวอย่างที่ดี ถ้าท่านคิดว่าทำดีทำไปเลย ประการสุดท้าย เราคิดว่าเราสามารถทำเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ได้ด้วยความประหยัด Digital University ไม่ได้แปลว่า Expensive University Digital University ต้องแปลว่ามีประสิทธิผลสูงขึ้นโดยใช้ทรัพยากรที่ลดลงด้วยซ้ำ แล้วยิ่งขยายผลตัวคูณมากขึ้นเรื่อย ๆ”

กระทรวง อว. คาดหวังว่ามหาวิทยาลัยจะเป็นองค์กรหลัก และเป็นกลไกหลัก ในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามยุทธศาสตร์ชาติ และอนาคตการที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศดิจิทัล รวมถึงประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ใช้ดิจิทัลเป็นหนึ่งในกลไกและเครื่องมือทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นจะต้องเป็น ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’

ชมการสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “การสำรวจความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล” Digital Maturity Model (DMM), Transformation Readiness towards Digital University ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/digitaluniversity.thai/videos/709635990616412

https://www.facebook.com/digitaluniversity.thai/