Satori Generation ชีวิตเรื่อย ๆ ไม่คาดหวังกับอนาคต อีกความท้าทายของการอุดมศึกษาปัจจุบัน
Satori การตื่นแห่งเซน
ณ ช่วงเวลาหนึ่ง คำว่า ‘ซาโตริ (Satori)’ ได้รับการกล่าวถึงและเข้าใจใน ‘เชิงบวก’
‘พระพุทธศาสนามหายานนิกายเซน (Zen)’ การตื่นขึ้นสู่จิตอันล้ำลึกของมนุษย์ ซึ่งโดยภาษาแห่งเซน เรียก ‘การตื่นขึ้น’ นั้นว่า ‘ซาโตริ’ ซึ่งแปลว่า การตรัสรู้ เพื่อหมายถึงสัจจะแห่งประสบการณ์ทางศาสนานิกายเซน มองว่าสรรพสิ่งคือความว่าง เซนมองว่ามนุษย์มิใช่ศูนย์กลางแห่งจักรวาล สรรพสิ่งล้วนต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และเชื่อว่าสรรพสัตว์มีพุทธภาวะอยู่ในตัวอยู่แล้ว ‘การบรรลุซาโตริ’ ก็คือการเห็นตามความเป็นจริงของโลกและชีวิต โดยที่โลกและชีวิตนั้น คือ ความว่าง ในเมื่อว่างจากตัวตนแล้วก็จะว่างจากการยึดติด เมื่อว่างจากการยึดติดก็จะประจักษ์ถึงสุญตาธรรมในที่สุด
การศึกษา ‘เรื่องสันติภาพ’ ท่านติซ นัท ฮันห์ กล่าวไว้ว่า ‘พุทธศาสนาเป็นวิถีชีวิต’ เนื่องด้วยคติข้อหนึ่งที่แพร่อยู่ในพุทธศาสนามหายาน คือ ‘วิถีทางพุทธธรรม’ ซึ่งเป็น ‘วิถีทางแห่งชีวิต’ ท่านจึงนำ ‘ธรรม’ สู่ ‘ชีวิตประจำวัน’ เช่น การฝึกลม หายใจ เพื่อนำสู่ ‘สติ’ และ ‘สันติ’
การเข้าถึง ‘ซาโตริ’ เพื่อสันติภาพทุกย่างก้าว
‘การสร้างสันติภาพ’ ท่านติซ นัท ฮันห์ เห็นว่าพระพุทธศาสนามิอาจแยกจากชีวิตได้ การปฏิบัติธรรมมิได้หมายถึงการปลีกตัวออกจากกิจวัตรประจำ หากควรผสานให้กลมกลืนกับทุกอิริยาบถ ซึ่งล้วนเป็นโอกาสแห่งการเจริญสมาธิภาวนาทั้งสิ้น พระพุทธศาสนาที่สัมพันธ์กับชีวิตและสังคมอย่างแนบแน่นดังกล่าวท่าน เรียกว่า ‘Engaged Buddhism’ หรือ ‘พุทธศาสนาเพื่อสังคม’ ท่านกล่าวว่าพระพุทธศาสนาได้ช่วยผู้คนและได้รอดพ้นช่วงวิกฤตมาได้หลายๆ ครั้ง
ทั้งนี้ ‘การสร้างสันติภาพในเชิงปัจเจกบุคคล’ นอกจากหลักศีล 5 ที่เป็นพื้นฐานสากลซึ่งทุกคนพึงปฏิบัติแล้ว ‘การพัฒนาจิต’ เป็นสิ่งที่ท่านให้ความสำคัญมาก เนื่องจากรากเหง้าแห่งความรุนแรงที่มาจากจิตอันเป็นอกุศลเปรียบเหมือนยาพิษร้ายแรง การพัฒนาจิตเพื่อให้เข้าสู่การหลุดพ้น หรือการเข้าถึง ‘ซาโตริ’ นั้นต้องเป็นอิสระ คือ การหลุดพ้นจากข้อผูกมัดทั้งปวง
การตื่นรู้เล็กน้อยเป็นเรื่องสำคัญนำไปสู่การตรัสรู้
“แค่เธอหายใจเข้า แล้วตระหนักรู้ว่าหายใจเข้า ก็คือ ‘ซาโตริ’ ถ้าเธอดื่มชา แล้วตระหนักรู้ว่าดื่มชา ก็ตรัสรู้ หรือ ‘ซาโตริ’ แล้ว เมื่อเธอมีสติ สมาธิ และนำมาซึ่งปัญญาอยู่เสมอ ปัญญาก็คือความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อให้เราอยู่กับสติ เพื่อสันติภาพทุกย่างก้าว”
การเจริญสติเพื่อพัฒนาสภาพจิตด้วยการมีความตระหนักรู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบันขณะ ในทุกการกระทำทุกอิริยาบถในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถเข้าถึงสมาธิความสงบนิ่งของการมีสติที่อยู่ ‘ที่นี่และเดี๋ยวนี้’
‘ซาโตริ’ ในมุมของวินทร์ เลียววาริณ
วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2556 ผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ 2 ครั้ง คือ ในปี 2540 (ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน) และปี 2542 (สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน) เคยเขียนไว้ว่า อ่านเรื่องเซนทีไรก็ต้องมีคำว่า ‘ซาโตริ’ ปนมาอยู่เรื่อย ซึ่งคงต้องเริ่มที่คำถามว่า “อะไรคือเป้าหมายหลักของปรัชญาพุทธ” ในทางพุทธก็คือ ‘การบรรลุนิพพาน (Nirvana)’ ในทางเซนคือการบรรลุพุทธภาวะ เรียกว่า ‘ซาโตริ’ ทั้งสองอย่างก็คือการกำจัดความคิดปรุงแต่ง (Delusive Thinking) ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาทุกอย่างของมนุษย์ เมื่อขจัดมันไปได้ ก็ทำให้โลภ โกรธ หลง หายไปด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือการทำลายอุปาทานในขันธ์ เพื่อให้อัตตาสิ้นไป เมื่อไม่มีอัตตา ก็เป็นอิสระ
“แล้วซาโตริต่างจากนิพพานหรือไม่ อย่างไร” มีการให้ความหมายของ ‘นิพพาน’ และ ‘ซาโตริ’ ต่างกันออกไป บางตำราใช้คำนิพพานกับซาโตริในความหมายเดียวกัน บางตำราว่าภาวะการรู้แจ้ง (Enlightenment) มาก่อนภาวะนิพพาน (Nirvana) บางตำราก็แบ่งการบรรลุธรรมออกเป็นหลายระดับ เช่น นิพพาน ซาโตริ เคนโซ (Kensho)
ผู้รู้ด้านเซนหลายท่านอธิบายว่า ‘ซาโตริ’ มักมีความหมายของ ‘การตื่นเล็ก’ นิพพานมีความหมายของ ‘การตื่นใหญ่’ นั่นคือนิพพานเป็นผลรวมของการบรรลุซาโตริ สรุปแบบหยาบ ๆ ได้ว่า คนเราสามารถบรรลุซาโตริได้หลายครั้ง แต่บรรลุนิพพานได้ครั้งเดียว
วิถีซาโตริในมุมกลับ
แต่แล้วท่ามกลางการพัฒนาจิตให้เกิด ‘การตื่นรู้’ หรือ ‘เปิดประตูสู่ความหลุดพ้น’ อันนำมาซึ่ง ‘ซาโตริ’ อย่างที่ผู้คนเข้าใจกันมาอย่างยาวนาน ก็มี ‘Satori Generation’ เกิดขึ้น กับแนวความที่คิดเสมือน ‘การสวนกลับ’ และ ‘โต้ตอบ’ ไม่ว่าจะเป็นต่ออุดมคติหรือความจริงที่มีผู้พิสูจน์กันไว้เนิ่น
ด้วยเพราะบริบททั่วโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง สังคมทุก ๆ ภาคส่วนกระตุ้นให้ ‘คน’ โดยเฉพาะ ‘กำลังแรงงานและกำลังสมองแห่งอนาคต’ ต้องมีความพร้อมด้วยทักษะที่หลากหลาย ทั้ง Hard Skills และ Soft Skills ฯลฯ หากปรากฏว่า ‘คนรุ่นใหม่’ ทั่วโลกมีแนวโน้มในการใช้ชีวิตและเป้าหมายในชีวิต ‘ต่างไป’ จากคนรุ่นก่อน ๆ ‘แทบจะสิ้นเชิง’ เพราะชีวิตของผู้คนหรือผู้ใหญ่ในอดีตไม่ใช่ชีวิตง่าย ๆ และสวยหรูจริง ๆ แต่เต็มไปด้วยอุปสรรคและปัญหา บรรดาคนรุ่นใหม่และวัยรุ่นทั้งหลาย และขีดเส้นใต้ย้ำ ๆ ที่ประเทศญี่ปุ่น พบว่า อยากมีชีวิตแบบ ‘ซาโตริ’
‘วิถีซาโตริ’ หรือ ‘Satori Generation’ เป็นนิยามของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กล่าวถึงข้างต้น โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเกิดจากความรู้สึกเบื่อหน่ายกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สภาพสังคมที่มีความกดดัน และความคาดหวังสูง จึงเลือกหันหลังให้กับเป้าหมายในชีวิตสู่การใช้ชีวิตแบบ ‘ไม่หวังรุ่ง ไม่หวังรวย ไม่หวังก้าวหน้า อยู่ไปเรื่อย ๆ’ โดยเรียกลักษณะการใช้ชีวิตที่ว่านั้นว่า ‘รู้แจ้ง’ จากการเห็นบางอย่างของการใช้ชีวิต ทำให้มั่นใจที่จะเลือกใช้ชีวิตนั้น และจดจ่อกับ ‘สิ่งที่มี’ มากกว่า ‘คาดหวัง’ ไปกับบางสิ่งบางอย่างในอนาคต บุคลิกที่โดดเด่นของ Satori Generation คือ หลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่ไร้เหตุผล และไม่ต้องการเสียพลังงานในการโต้เถียงกับผู้อื่น มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงความคาดหวังที่มากเกินไป อยากจะสนุกกับชีวิตที่ไม่ใช่การใฝ่หาการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำ และไม่วางเส้นทางอาชีพที่ต้องประสบความสำเร็จตามกรอบความคาดหวังเดิม ๆ ของสังคม เป็นต้น
จุดร่วมใน Satori Generation
จากบทความ ‘Japan’s Gen Z — 5 Points about the Enlightened ‘Satori Generation’ อธิบายไว้ว่า Satori Generation มีจุดเด่นร่วมกัน 5 ข้อ ได้แก่
1) เรียกร้องเรื่องความเท่าเทียม เรียกว่า มีความกระตือรือร้นและมุ่งมั่นการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ อันนำมาสู่แนวคิดเสรีนิยม จากปรากฏการณ์ #WeToo และ #KuToo รวมถึงงานวิจัยหลายชิ้นพิสูจน์แล้วว่า Satori Generation มีความพอใจให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงเข้าถึงโอกาสเดียวกัน ตลอดจนถึงการแบ่งปันความรับผิดชอบอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบในที่ทำงานหรือที่บ้าน
2) การยอมรับความหลากหลายทางเพศ กล่าวคือ นอกจากการแสดงออกซึ่งของอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายและสบายใจ เพราะเชื่อว่าโลกนี้ ‘ไร้เพศ’ แล้ว การไม่ตีกรอบ ตีตรา ตัดสินผู้อื่นจากเพศสภาพ ภาพลักษณ์ และผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่เคยเป็นเครื่องบ่งบอกและแบ่งแยกเพศ ฯลฯ ก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญ
3) ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า กล่าวคือ การให้ความใส่ใจกับประสิทธิภาพด้านต้นทุนด้วยการหาความสมดุลระหว่าง ‘ต้นทุน’ และ ‘ความทนทาน’ เน้นเรื่องประโยชน์ใช้สอย เพราะฉะนั้นเรื่องแบรนด์เนมจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ Satori Generation ให้ความสำคัญเป็นเบอร์ต้น
4) ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะประเด็นเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อสังคม โดยเลือกมีส่วนร่วม ผลักดัน และสนับสนุนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งไม่มีการเปิดเผยตัวตน เพราะไม่ต้องการโดดเด่น หาก Satori Generation นี่เองที่มักจะกลายเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและทำลายกรอบความขัดแย้ง อาทิ ความเท่าเทียม การคุกค่าม การล่วงละเมิด หรือการมองโลกในแง่ดีและการสร้างทัศนคติใหม่ต่อร่างกาย เป็นต้น
5) ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของการมีชีวิตคู่น้อยลง หลายคนระบุว่าไม่ได้มองหาคู่ครองอย่างจริงจัง พบว่า 40% ของคนกลุ่มนี้ หากไม่พบคนที่ใช่ก็ไม่จำเป็นจะต้องแต่งงาน Satori Generation ให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นอันดับแรกแทนที่จะพึ่งพาคนอื่น ทว่าในแง่ของความสัมพันธ์กับครอบครัว คนกลุ่มนี้ยังคงมุ่งรักษาความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด
การพลิกฟื้นภายใต้วิกฤตและความท้าทายของการอุดมศึกษา
ณ เวทีเสวนาออนไลน์ Digital University : Enabling The Smart Society ครั้งหนึ่งซึ่งจัดขึ้นภายใต้ประเด็น “Resilience Mindset For Future University” นอกจาก ‘ศึก’ หลากหลายด้านที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ วิกฤตอาหาร ภัยแล้ง อุทกภัย ฯลฯ ‘Satori Generation’ ยังไม่ต่างจากปรากฏการณ์ในความหมายที่บิดเบี้ยวและเป็นอีกความท้าทายของการอุดมศึกษาไทย
‘Resilience Mindset’ หรือ ‘Resilience Skill’ กลายเป็น ‘คำแห่งยุค’ ที่ ‘โดดเด่นและชัดเจน’ ยิ่งขึ้น ในทางจิตวิทยา Resilience Skill คือ ทักษะความยืดหยุ่นทางจิตใจ เป็นสามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ American Psychological Association : APA คำจัดความ Resilience Skill ไว้ว่า เป็นกระบวนการปรับตัวได้ดีเมื่อต้องเผชิญกับการบาดเจ็บ โศกนาฏกรรม ภัยคุกคาม ความเครียดที่สําคัญ ๆ หรือเปรียบเสมือนลูกบอลยางที่สามารถตีกลับได้ในเวลาที่เผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เป็นชุดกระบวนความคิดและวิธีในการรับมือ แก้ปัญหา โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเอาชนะเพียงเรื่องใหญ่เท่านั้น แม้เรื่องเล็กก็สามารถจัดการและก้าวผ่านไปได้โดยไม่สูญเสียกำลังใจ หลายคนอธิบายว่า “ทักษะล้มได้ ลุกให้เร็ว” อย่างไรก็ตาม แต่ละคนมี Resilience Skill ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานจิตใจและประสบการณ์ต่าง ๆ ฉะนั้นทุกคนสามารถจะเรียนรู้และพัฒนา Resilience Skill ได้อย่างต่อเนื่อง
Resilience Skill ไม่ใช่เป็นเพียงลักษณะเฉพาะที่ควรจะต้องไม่หรือไม่มี แต่นี่คือสิ่งที่จะสนับสนุนให้เติบโตและทำงานต่อไปในอนาคตอย่างมีทักษะที่พร้อมรับมือกับความท้าทายมากมายในชีวิต เพราะ Resilience Skill ช่วยให้แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ปรับเปลี่ยนความคิดใหม่ เชื่อมต่อกับผู้อื่น ซึ่ง Dr.Amit Sood หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Resilience And Wellbeing ของโลก คณะกรรมการที่ปรึกษา Everyday Health Wellness, Executive Director ของ Global Center For Resiliency And Wellbeing และผู้สร้างสรรค์ Resilient Option Program ฯลฯ อธิบายไว้ว่า ผู้ที่ปรับตัวได้จะเก่งกว่า มีอารมณ์ที่เบิกบานมากขึ้น มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้น และมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ Sood ได้ยังได้แบ่งทักษะย่อย 9 ประการที่ทำให้เกิด Resilience Skill ได้แก่ 1) ความสงบ 2) ความอดทน 3) การมองโลกในแง่ดี 4) การรู้สึกขอบคุณ 5) การยอมรับ 6) ความเมตตา 7) ความรับรู้ในจุดมุ่งหมายและความหมาย 8) การให้อภัย และ 9) การเชื่อมร้อยและรักษาความสัมพันธ์
‘วิธีพัฒนาทักษะความยืดหยุ่น’ มี 5 ข้อที่สำคัญ คือ 1) มีจุดมุ่งหมาย เป็นแรงจูงใจผลักดันให้คุณพัฒนาความแข็งแกร่งและความอดทนต่อความยากลำบาก 2) เพิ่มความมั่นใจ ด้วยการเชื่อว่าสามารถรับมือกับความท้าทายและเติบโตท่ามกลางความยากลำบากได้ 3) กำหนดเป้าหมาย โดยรู้ว่าเป้าหมายคืออะไร และทำไมต้องการบรรลุเป้าหมาย จากนั้นจึงวางแผนที่สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์ที่ท้าทายได้ 4) ใช้ทักษะการแก้ปัญหา กล่าวคือ เมื่อสามารถหาทางออกหรือแก้ปัญหาได้ ย่อมทำให้เกิดความพร้อมและความมั่นใจในการเผชิญกับความท้าทายในอนาคต สะท้อนประสบการณ์และการสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ๆ จากอดีตสู่อนาคต และ 5) เชื่อมั่นในผู้คนที่รัก เครือข่ายและพันธมิตรที่มีการทำงานร่วมกันอย่างแน่นแฟ้น มีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้เกิดความเชื่อมั่น ยืนหยัด เป็นกำลังใจเพื่อรักษาความยืดหยุ่นไว้แม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
ทั้งนี้ อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล กล่าวเอาไว้ว่า Resilience ที่หมายถึง ‘การคืนสภาพ พลิกฟื้น’ นั้น สะท้อนสถานการณ์ว่าต้องมี ‘การผุผัง’ เกิดขึ้นบ้าง ถึงจะคืนสภาพจากสถานการณ์ที่ย่ำแย่ให้กลับมาดีเหมือนเดิม หรือดีกว่าเดิม ซึ่งอาจารย์ดนัยรัฐอธิบายยกตัวอย่างภาพของ ‘ฟีนิกซ์ (Phoenix)’ นกวิเศษในตำนานเทพปกรณัมแห่งกรีกที่เป็นสัญลักษณ์ของความอมตะ พร้อมขมวดหลักคิดไว้ให้ 3 ข้ออย่างกระชับและชัดเจน ได้แก่ ‘มองกว้าง มีศรัทธา และฝึกผูกมิตรสัมพันธ์’
“ข้อที่ 1 ‘ต้องมองกว้าง’ คนเราโดยมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย มักจะมองลึก มองกว้างคือถอยมา 1 ก้าว แล้วมองจากทอปวิว คือเอาหลังคาออกมองว่าจะตันตรงไหน โดยมองความรู้สึกคนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นทำใจให้กว้างขึ้น หาข้อมูลให้มากขึ้น ก่อนจะใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม ข้อที่ 2 ‘มีศรัทธา’ มองโลกความจริงให้เป็นไปตามความเป็นจริง และข้อที่ 3 ‘ฝึกผูกมิตรสัมพันธ์’ เพราะมนุษย์คือสัตว์สังคม จึงต้องผูกมิตรสัมพันธ์ ตอนนี้ Satori Generation นั่งเหงาในห้องอย่างเดียว มีซึมเศร้าเป็นเพื่อน หากมี 3 ข้อที่ว่านี้ จะกลับมาเป็นนกฟีนิกซ์ที่บินอย่างสง่างามได้อีกครั้ง”
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : mcu.ac.th, เฟซบุ๊กเพจ วินทร์ เลียววาริณ, tokyoesque.com, positivepsychology.com, skillsyouneed.com, everydayhealth.com, investerest.co, indeed.com