จากการประชุมวิชาการ เรื่อง ‘Mental Well-Being In VUCA World’ โดยศูนย์จัดประชุมวิชาการรามาธิบดี คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ‘VUCA’ ได้รับการกล่าวถึงกันทั่วไปนับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลกเผชิญกับเหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป จนถึงการเกิด New Norm หรือพฤติกรรมใหม่ ๆ ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนการเข้ามาของเจเนอเรชัน เทรนด์ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ดิสรัปต์ธุรกิจบางประเภท ส่งผลให้เกิดการทรานส์ฟอร์เมชัน การเกิดขึ้นใหม่และการหายไปของบางอาชีพ

อดีต ที่เคยคาดการณ์ได้ในระยะ 10-20 ปี

ปัจจุบัน ไม่อาจมั่นใจว่าภายในปีนี้หรือปีหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนไป

 

นักศึกษาทหารจาก U.S. Army War College ใช้คำว่า VUCA เป็นครั้งแรก เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความผันผวน ยากจะคาดเดา มีความซับซ้อนสูง และคลุมเครือเกินกว่าจะอธิบายได้ ซึ่งเป็นการคำอธิบายสถานการณ์หลังจากเหตุการณ์สงครามเย็น ในปี 1991 ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และต่อมา คำว่า VUCA ได้รับการกล่าวอย่างแพร่หลายขึ้นในวงการอื่น ๆ เพื่อนำมาอธิบายสถานการณ์ที่ยากจะอธิบาย คาดเดาไม่ได้ และไม่แน่นอน อันประกอบด้วยคำ 4 คำ ได้แก่

V – Volatility ความผันผวน ยากจะคาดเดา เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม ในตลาด หรือในโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังส่งผลกับความผันผวนของอุปสงค์ โดยมีการกล่าวไว้ว่ายิ่งโลกผันผวน การเปลี่ยนแปลงก็ยิ่งเร็วขึ้นเป็นเงาตามตัว

U – Uncertainty มีความไม่แน่นอนสูง ไม่ชัดเจน ยากจะอธิบาย ซึ่งหมายถึงขอบเขตของการทำนายอนาคตได้อย่างมั่นใจ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของความไม่แน่นอนนั้น เกิดจากการที่ผู้คนไม่สามารถเข้าใจและไม่สามารถเข้าถึงในสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ความไม่แน่นอนเป็นลักษณะเฉพาะของสภาพแวดล้อม กล่าวคือมีสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถคาดการณ์และไม่ได้อยู่บนพื้นฐานทางสถิติ ทั้งนี้ ยิ่งโลกมีความไม่แน่นอนเท่าไร ก็ยิ่งคาดเดาได้ยากขึ้นเท่านั้น

C – Complexity มีความซับซ้อนสูง มีปัจจัยมากมายที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ซึ่งความหลากหลายและความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเหล่านั้นที่ต้องคำนึงถึงหรือนำมาประกอบการตัดสินใจ ยิ่งมีปัจจัยมาก ความหลากหลายและความเชื่อมโยงก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น และภายใต้ความซับซ้อนสูงย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งหมดและหาข้อสรุปอย่างมีเหตุผล นั่นหมายความว่า ยิ่งโลกซับซ้อน ก็ยิ่งวิเคราะห์ยาก

A – Ambiguity มีความคลุมเครือ เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ขาดความชัดเจนเกี่ยวกับวิธีตีความบางสิ่ง หรือสถานการณ์ไม่ชัดเจน ยากจะคาดเดาผลลัพธ์ได้ เช่น ข้อมูลไม่สมบูรณ์ ขัดแย้ง หรือไม่ถูกต้อง เกินกว่าจะสรุปผลที่ชัดเจนได้ เมื่อโลกมีความคลุมเครือจึงทำให้ยิ่งตีความยากขึ้นนั่นเอง

 

เมื่อพิจารณาสถานการณ์โลกปัจจุบัน หรือที่ผู้คนเรียกว่า VUCA World จึงเป็นความท้าทายขององค์กรในการที่จะอยู่รอดภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็ว สถานการณ์นี้จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่กระตุ้นและผลักดันให้องค์กรต่างต้องปรับกลยุทธ์รองรับความท้าทายและรูปแบบการทำงานยุคใหม่ ผู้บริหารและผู้นำองค์กรจะต้องรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ทบทวนตัวเอง ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้นำอย่างแท้จริง ขณะที่บุคลากรต้องพร้อมปรับ/เปลี่ยนทัศนคติและทักษะเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

 

รศ. ดร.เชฏฐเนติ ศรีสอ้าน รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวไว้ว่า การเข้าสู่ VUCA World เป็นโลกที่เคยคิดว่าถูกก็กลายเป็นผิดได้ สิ่งที่เคยว่าดีก็กลายเป็นไม่ดีได้ เป็นสิ่งที่ผันผวนมาก ไม่รู้อนาคต และพยากรณ์หรือคาดการณ์ไม่ได้ นั่นหมายความว่าประเทศไทยทั้งประเทศต้องมี ‘ทักษะแห่งความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Resilient)’ หมายถึง สามารถล้มเหลว เรียนรู้ และลุกขึ้นใหม่ได้ นอกจากนี้ ในยุค VUCA World ที่โลกเปลี่ยน จะต้องคิดใหม่ ไม่นำความสำเร็จในอดีตมาตัดสินปัจจุบัน ยิ่งเคยประสบความสำเร็จในอดีตเท่าไรยิ่งต้องเปลี่ยน คิดแบบนวัตกรรมทั้งหมด

 

อาจารย์ปรมินทร์ เยาว์ยืนยง ผู้ก่อตั้งบริษัท โซนิกส์เซอร์วิส จำกัด ย้ำว่าโลกเผชิญกับความแปรปรวนและมีผลกระทบต่าง ๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นหากกล่าวถึงทักษะสำคัญในยุค VUCA World อาจารย์ปรมินทร์ให้ความเห็นว่า Entrepreneurship Skill หรือทักษะการเป็นนักประกอบการ คือคำตอบ ซึ่งทักษะของผู้ประกอบการ นักประกอบการ คือ ‘ผู้แก้ปัญหา’ “ในชีวิตจริง ที่เมื่อออกไปทำงานแล้วสามารถนำชุดความรู้มา Connected / Digitalized ทักษะโลกใหม่ คือการแต่งงานระหว่าง School ของทุกวันนี้ กับ -Preneur ซึ่งจะเกิดคำต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น Datapreneur แปลว่า ผู้ประกอบการที่มีพื้นฐานเป็น Data Analytics นี่คือตัวอย่างว่า School ของทุกมหาวิทยาลัยควรใส่ หรือ Marry With Preneur”

 

“Welcome everyone to the Next Normal VUCA World”

คุณสมพร จิตเป็นธม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทผู้ริเริ่มทำแผนประเมินต่าง ๆ ให้กับรัฐวิสาหกิจ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ เคยกล่าวประโยคนี้ไว้ ที่เป็นความท้าทายอีกขั้น

แม้คำว่า Next Normal และ VUCA World จะฟังแล้วย้อนแย้ง กล่าวคือ น่าจะมีความเป็นปกติ แต่กลับผันผวน นั่นเป็นเพราะ VUCA ทำให้ผู้ประเมินรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ อย่างทริส ต้องใช้โมเดลของการวัดประเมินผลที่เปลี่ยนไป ซึ่งคุณสมพรอธิบายว่าไม่สามารถดูเรื่อง KPI อย่างเดียว ยังมีอีกหมวดตัวชี้วัด เรียกว่า ‘Enablers’ ซึ่งเป็นตัวที่จะทำให้องค์กรมีความพร้อมและสามารถก้าวข้าม VUCA ได้ โดยถ้าเปรียบ VUCA เป็นโรค Enabler ก็คือวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้กับองค์กร

 

Enablers คือหลักเกณฑ์การประเมินกระบวนการปฏิบัติงานและการจัดการ ประกอบด้วย 8 หลักเกณฑ์ ได้แก่

1) การกำกับดูแลที่ดีและการนำองค์กร (Corporate Governance & Leadership : CG & Leadership)

2) การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Planning : SP)

3) การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน (Risk Management & Internal Control : RM &IC)

4) การมุ่งเน้นลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder & Customer : SCM)

5) การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology: DT)

6) การบริหารทุนมนุษย์(Human Capital Management : HCM)

7) การจัดการความรู้และนวัตกรรม (Knowledge Management & Innovation Management: KM&INNO) และ

8) การตรวจสอบภายใน (Internal Audit : IA)

 

Next Normal VUCA World สามารถจัดหมวดของสิ่งที่ต้องทำเป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ ได้แก่

หมวดที่ 1 Sustainability เริ่มตั้งแต่การคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ วางแผนยุทธศาสตร์ให้ดี “เรียกว่าวางแผนให้ Take Into Account ในสิ่งที่เป็นปัจจัยต่าง ๆ แต่การวางแผนยุทธศาสตร์ที่ดีสามารถปรับได้ตามกลยุทธ์ และมองภาพให้กว้าง ต่อมาจึงวัด Performance ถ้า Keep Improve ของ Performance โดยการทำ Performance Management ที่ดีและถูกต้อง เชื่อว่าจะสามารถก้าวข้าม VUCA World ในอนาคตได้ นอกจากนี้ เรื่อง Value และ Culture เป็นตัวย่อยต่อไปในเรื่องของ Sustainability บางอย่างเป็น Value และ Culture ที่ดั้งเดิมทีเดียว ก็ถึงเวลาต้องทบทวนว่า Value และ Culture ที่ทำงาน หรือ Operate Under Environment ต่าง ๆ นั้นยัง Make Sense อยู่หรือไม่ ต้องปรับอย่างไร เชื่อว่าหลาย ๆ เรื่องอาจจะต้องแก้ไขเพื่อให้เข้ากับ VUCA World ใหม่ในทศวรรษหน้า สุดท้าย Risk Management กับเรื่องความต่อเนื่องของธุรกิจ ลองทบทวนเรื่อง Risk Management ขององค์กรว่ามีแอเรียไหนบ้างที่เป็นจุดอ่อนที่ทำให้ไม่ Sustainable”

หมวดที่ 2 KM & Innovation “KM & Innovation มาด้วยกัน แต่ต้องมองให้ลึกในบางบริบทที่นอกเหนือจาก KM & Innovation คือ Stakeholders หรือ Customers ทั้งหลายว่าต้องการอะไร”

หมวดที่ 3 Adaptability เพราะVUCA World เป็นโลกของความไม่แน่นอน คำว่า Resilience และการเปลี่ยนแปลงได้ต้องมีพร้อม “ขณะเดียวกันต้องนึกถึงคนด้วยว่าพร้อมแค่ไหน มีการเปลี่ยน Mindset ในการทำงานไหม หรือเอาแค่ Process ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการ Improve ไม่มีการตัดสิ่งที่อาจจะเรียกว่าฟาง Adaptability จึงเน้นเรื่องคน มี Personnel Engagement แค่ไหน มีพนักงานที่พร้อมจะเดินไปพร้อมกัน พร้อมปรับปรุงตัว พร้อมแก้ไขตามสถานการณ์ต่าง ๆ มากน้อยแค่ไหน”

 

ด้าน อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล เสริมไว้ว่า ‘Vision Builder’ คือเครื่องมือที่ช่วยตอบโจทย์ VUCA ไปด้วยกัน เพราะ Vision Builder เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ ‘สภาพแวดล้อม’ รอบด้านสู่การวิเคราะห์ทิศทางและลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องดำเนินการ เชื่อมโยงการทำงานอย่างเป็นลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน เน้นการขับเคลื่อนคุณค่าขององค์กร

 

 

จากยุค VUCA ที่สะท้อนภาพ ‘สถานการณ์’ ความไม่แน่นอน ความไม่มั่นใจ ความซับซ้อน และความคลุมเครือ ได้ถูกทับซ้อนด้วย ‘ผลกระทบ’ ด้านอารมณ์ ความรู้สึก ของผู้คนที่เรียกว่า ‘BANI World’ ซึ่งเป็นโลกแห่งความเปราะบาง เต็มไปด้วยความกังวล ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นเส้นตรง และเป็นโลกที่เข้าใจได้ยาก

 

‘BANI World’ เป็นคำที่เกิดขึ้นใหม่ คิดค้นขึ้นโดย Jamais Cascio นักมานุษยวิทยา นักเขียน และนักอนาคตศาสตร์ชาวอเมริกัน ต่อยอดจากแนวคิดทางสังคมวิทยา ‘Liquid Modernity’ โดย Zygmunt Bauman ที่อธิบายว่าทุกอย่างเป็นของไหล คลุมเคลือ ไม่แน่นอน และดังที่กล่าวไว้แล้วว่าคำว่า BANI เป็นมากกว่า ‘สถานการณ์’ จึงเป็นการอธิบายที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถนำไปใช้เป็นกรอบคิดและกรอบการทำงานใหม่ ๆ ในการจัดการด้านต่าง ๆ อาทิ การกำหนดกลยุทธ์ หรือการบริหารพัฒนาคน เป็นต้น BANI ประกอบไปด้วย 4 คำหลัก ได้แก่

B Brittle โลกที่เปราะบาง กล่าวคือ แทบทุกอย่างมาเร็วไปเร็ว ความสำเร็จในโลกธุรกิจหลาย ๆ อย่างไม่อาจอยู่คงทนถาวร แถมยังแตกหักได้ง่าย อาจถูกดิสรัปต์ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี รูปแบบธุรกิจ ฯลฯ ธุรกิจที่สร้างขึ้นจากรากฐานที่เปราะบาง อาจพังได้ในชั่วข้ามคืน องค์กรจึงต้องมีความสามารถในการฟื้นตัวที่รวดเร็ว ไม่ควรใช้การปฏิบัติงานแบบใดแบบหนึ่งทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้แนวทางนั้นจะดูน่าเชื่อถือ ยืดหยุ่น และดูแข็งแรงก็ตาม ความเปราะบางอยู่ใกล้กับวิกฤตอย่างเห็นได้ชัด บางภาคส่วน เช่น ห่วงโซ่อุปทาน พลังงาน และการค้าโลก สามารถส่งผลกระทบและก่อให้เกิดการหยุดชะงักในหลาย ๆ ส่วนในทั่วโลก เป็นต้น

A – Anxiety / Anxious เต็มไปด้วยความกังวล แม้จะเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตัดสินใจ ก็อาจทำให้ไม่สามารถเลือกสิ่งสำคัญในช่วงเวลาที่กดดันและตึงเครียดด้วยตนเองได้ เพราะวิตกกังวลและกลัวจะเจอความล้มเหลวอยู่ตลอดเวลา ยิ่งสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นการแตกสลายอย่างง่ายดายในทุกระดับ และสะท้อนความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ ปัจจุบัน ยังพบว่าไม่มีอะไรประกันความมั่นคงของการทำงาน การเปลี่ยนแปลงในลักษณะของงานก็ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่นำไปสู่ความวิตกหวั่นไหวขององค์กรและผู้คน ผลลัพธ์ของวิตกกังวลและความกลัว คือ ความเฉื่อยชา การปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยไม่มีการดำเนินการใด ๆ ขณะเดียวกันยังพึ่งพาผู้อื่นมากกว่าลงมือทำด้วยตัวเอง หรือเลือกวิธีการที่รู้ว่าไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับส่วนรวม นอกจากนี้ยังรวมถึงปัญหาการจัดการกับสถานการณ์ในทางบวกและพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ในโลกที่มีข้อมูลมากมาย ภัยคุกคาม และข่าวปลอม ตลอดจนการขาดทักษะในการกำจัดวิกฤตด้วยวิธีที่รวดเร็วและสงบ

N – Nonlinear ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นเส้นตรง เหตุและผลอาจไม่แปรผันตามกันชัดเจนเหมือนเดิม มีปัจจัยแทรกซ้อน ตัวแปร สถานการณ์อื่น ๆ ส่งผลกระทบอย่างไม่คาดคิด Linear คือ เส้นตรงซึ่งมีความชันคงที่ หมายถึงสาเหตุและผลไปอย่างควบคู่กัน ดังนั้น ลักษณะที่ไม่เป็นเส้นตรงจึงทำให้ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าสาเหตุจะนำไปสู่ผลใหญ่โตเพียงใดในอัตราความเร็วเท่าใด กล่าวได้ว่าอดีตไม่อาจเป็นเครื่องชี้อนาคตได้เสมอไป ดังนั้น การวางแผนและการดำเนินการในระยะยาวจึงอาจไม่ใช่เรื่องตายตัวอีกต่อไป ผลกระทบในการตัดสินใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนอาจไม่มีวันที่จะเกิดขึ้นหรือสิ้นสุด ในบริบทของปัจจุบัน เรียกว่า ไม่มีจุดเริ่มต้น ตรงกลาง และจุดสิ้นสุด จึงต้องเตรียมพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าและถอยกลับทุกเมื่อ

I – Incomprehensible เข้าใจได้ยาก การใช้ชีวิตในโลกที่เปราะบาง เต็มไปด้วยความวิตกกังวล และไม่สามารถคาดเดาได้ ทำให้หลายเหตุการณ์ไม่มีเหตุและผล การตัดสินใจส่วนใหญ่จึงยากที่จะทำความเข้าใจ จึงต้องเพิ่มสัญชาตญาณเข้ามาช่วยในการหาคำตอบและทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ แม้แต่การใช้ Big Data เข้ามาช่วยก็อาจทำให้สับสนยิ่งกว่าเดิม เพราะเกิดภาวะ Information Overload น่าสนใจว่าการมีข้อมูลเพิ่มไม่ได้หมายความว่าจะไขความหมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอไป

 

ภายใต้บริบทของความเปราะบาง วิธีที่ดีในการปรับตัวและเติบโตคือการเสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กร ทีมทำงาน และบุคลากร การแสวงหาวัฒนธรรมของการทำงานร่วมกัน ซึ่งสามารถเพิ่มการสื่อสารและความโปร่งใสระหว่างบุคคล ทีม แผนก และหน่วยงาน การใช้โครงสร้างที่มีการกระจายที่ดี และการลงทุนในการฝึกอบรมเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยให้องค์กรของคุณมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การจัดการกับความวิตกกังวลต้องอาศัยความเห็นอกเห็นใจ โดยเฉพาะจากบริษัทให้มากขึ้น การสนับสนุนให้มีการฝึกอบรมและเพิ่ม Soft Skills ให้กับบุคลากรก็เป็นแนวทางที่มีความสำคัญและมีประโยชน์สำหรับการทำงานในอนาคตอีกด้วย

ในโลกที่ไม่เป็นเส้นตรง แผนตายตัวมักจะเป็นภาระของธุรกิจ บริษัทที่ไม่คิดค้นและพึ่งพาเพียงวิธีการที่ ‘พิสูจน์แล้ว’ ในการทำสิ่งต่าง ๆ มักพบว่า ‘ตามหลังคู่แข่ง’ และ ‘ปรับตัวได้ไม่เร็วพอกับการเปลี่ยนแปลง’

ในทางกลับกัน ความเข้าใจผิด ๆ หรือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยี อาทิ AI, Big Data และ Data Science ที่สามารถเข้าถึงอย่างเข้าใจ และเท่าทัน เป็นต้น

 

BANI ทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่เรียกว่า ‘Journey’ อธิบายและยกตัวอย่างดังปัญหาเล็ก ๆ ซึ่งสามารถแก้ไขภาพรวมทั้งหมดของปัญหา (The Whole Problem) ทีเดียวได้ แต่สำหรับบางปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความรู้สึก กฎระเบียบ ฯลฯ อาจต้องปรับกระบวนวิธีในการแก้ปัญหาเป็น Journey หรือเป็นการแก้ปัญหาแบบ One Step At A Time ทำให้ดีขึ้น ดึงพลพรรคที่มีความคิดที่ดีเข้ามาร่วมช่วยกัน เมื่อทำ Journey จะเหมือนการลูกบอลหิมะกลิ้งจากภูเขา คือจะใหญ่ขึ้น ๆ ในการทำ Journey นี้ ‘เมื่อมองไปข้างหน้ามีความหวังได้ว่าไม่เป็นการทำร้ายใคร ขณะที่มองไปข้างหลังก็ได้รับความภาคภูมิใจกับสิ่งที่ทำ’

 

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก : acmrrama.com, forbes.com, scb.co.th, bangkokbiznews.com, mercadoe.com, mjvinnovation.com

https://www.facebook.com/digitaluniversity.thai/