จากจุดเริ่มต้นย้อนไปเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแกนนำจำนวนหนึ่งร่วมสำรวจความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในการมุ่งสู่การเป็น Digital University ภายใต้โครงการการพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยดิจิทัล ซึ่งมีสถาบันคลังสมองของชาติเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนและผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยมุ่งสู่การเป็น Digital University เต็มรูปแบบ ภายใต้นโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมีการนำใช้เครื่องมือที่ได้รับการพัฒนาและประยุกต์ขึ้น ในชื่อ ‘Digital Maturity Model หรือ DMM’ และในปี 2566 นี้ นับเป็นอีกครั้งที่เครื่องมือ DMM ได้รับการหยิบยกขึ้นมา โดยผ่านกระบวนการปรับรูปแบบของเครื่องมือ อาทิ ชุดคำถาม เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญให้สถาบันอุดมศึกษาทุก ๆ แห่งในประเทศไทยร่วมสำรวจความพร้อมเป็นครั้งที่ 2 กับการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล

ณ เวทีสัมมนาออนไลน์ ‘การสำรวจความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล’ (Digital Maturity Model (DMM) Transformation Readiness towards Digital University) นอกจากการสะท้อนการนำใช้เครื่องมือ DMM ในหลากหลายมิติแล้ว โอกาสนี้ อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเครื่องมือ DMM ในประเด็น DMM : Why, What, and How? กับความชัดเจนแบบขั้นต่อขั้น ข้อต่อข้อ เน้นย้ำใจความสำคัญที่ไม่ควรพลาด

 

DMM : WHY

เมื่อเริ่มต้นกันที่คำถามว่า ‘ทำไม?’ จึงต้องสำรวจความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล อาจารย์ดนัยรัฐสรุปง่าย ๆ ใน 4 ข้อ ได้แก่ 1) แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงมีความผันผวนมากขึ้น มหาวิทยาลัยมีความจำเป็นต้นทบทวนความพร้อมของการพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบ 2) เพื่อทำให้ผู้บริหารทุกระดับและระดับปฏิบัติการเห็นภาพตรงกันต่อการดำเนินงานในมหาวิทยาลัย (ลดการคิดเองเออเอง) 3) เพื่อทำให้มีการกำหนดประเด็นในการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร (ลดการซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงาน) และ 4) เพื่อทำให้มีการนำใช้ แบ่งปันข้อมูลและเทคโนโลยีร่วมกัน (ลดการต่างคนต่างทำ)

“การจะพาคนหลาย ๆ คน หรือคนหมู่มาก ‘ไปด้วยกัน’ ต้องทำความเข้าใจว่าแต่ละคนก็มีทุกข์ของตัวเอง มหาวิทยาลัยก็เช่นกัน แต่ละมหาวิทยาลัย แต่ละคณะ แต่ละหน่วยงานหรือส่วนงานย่อย ต่างมีปัญหาและทุกข์ของเขาเช่นกัน เพราะฉะนั้นในการที่จะผลักดันต้องดูก่อนว่า ข้อที่ 1 แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและการผันผวนมีมากขึ้น ในยุคปัจจุบันการพัฒนาองค์กรเป็นไปลักษณะต่างคนต่างทำ เช่น เรื่องของคนก็ไปเล่มหนึ่ง เรื่องของงานก็ไปอีกเล่มหนึ่ง เรื่องของเงินก็ไปอีกเล่มหนึ่ง แล้วพอมาเรื่องของเทคโนโลยีก็จะไปอีกเล่มหนึ่ง ดังนั้นการพัฒนาที่ต่างคนต่างพัฒนาจึงเป็นปัญหา ปัจจุบัน คน งาน เงิน เทคโนโลยี และข้อมูลต้องไปด้วยกัน ดังนั้นเพื่อทำให้องค์กรหรือมหาวิทยาลัยรู้ว่าสิ่งที่พัฒนานั้นไปคนละทิศคนละทาง DMM จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสะท้อน หรือตรวจสุขภาพ ตรวจแบบทั้งตัว แต่ตรวจให้กระชับ” อาจารย์ดนัยรัฐอธิบายพร้อมยกตัวอย่าง “ข้อที่ 2 เพื่อทำให้ผู้บริหารทุกระดับและระดับปฏิบัติการเห็นภาพตรงกัน คำว่า ‘ลดการคิดเองเออเอง’ อาจฟังดูบ้าน ๆ แต่เข้าใจได้ คือ คิดเองว่าแบบนี้น่าจะดี เพราะสมมติฐาน (Hypothesis)มีแค่นี้ แต่คนที่ดูเรื่องเงิน ก็มีสมมติฐานอีกแบบหนึ่ง คิดไปเองว่าไม่ได้เชื่อมกัน คิดว่าน่าจะดี ต่างคนต่างดี แต่เมื่อมาอยู่ด้วยกัน ทำไมถึงไม่ดี ข้อถัดไป เพื่อทำให้มีการกำหนดประเด็น มีการพัฒนา มีการสอดคล้องกับเป้าหมาย ทุกอย่างต้องลู่เข้าไปในในสิ่งที่เรียกว่า ‘เดินไปในทิศทางด้วยกัน’ บางคนขอไปอีกทิศทางเพราะมีความครีเอทีฟ แต่ประเด็นคือขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ‘การไป’ ถ้าไม่ดีหรือมีข้อผิดพลาด การลุกขึ้นจะเป็นกระบวนท่า (systematic) หรือที่เรียกว่า ‘ลดการซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงาน’ ข้อถัดไป เพื่อทำให้มีการนำใช้ข้อมูล เทคโนโลยี แบ่งปันร่วมกัน เป็นการ ‘ลดการต่างคนต่างทำ’ นั่นเอง นี่คือ ‘ทำไม?’ ต้องมีการสำรวจ คน งาน เงิน ฯลฯ ให้ไปด้วยกัน”

 

DMM : WHAT

สำหรับเครื่องมือ DMM อาจจะมีมากว่า 5-6 ปี หรือเกินครึ่งทศวรรษแล้ว หากดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้าว่าเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เครื่องมือ DMM ถูกหยิบยกมาใช้สำรวจความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในการมุ่งสู่การเป็น Digital University และในครั้งนี้เครื่องมือ DMM ได้รับการออกแบบและพัฒนาไปในอีกขั้น ได้แก่ ประเด็นที่ 1 อดีต ชุดคำถามจะมุ่งสร้างความสามารถในการแข่งขันสูงสุดขององค์กร ปัจจุบัน ชุดคำถามจะมุ่งความสามารถในการต่อยอดและมุ่งสร้างนิเวศแห่งการพัฒนาร่วมกันทุกภาคส่วน “เราชอบพูดถึงซุนวู ‘รบร้อยครั้งชนะร้อยครา’ เราต้องการที่จะแข่งขัน ต้องการที่จะทำให้องค์กรหรือมหาวิทยาลัยแข่งขันให้ได้ตำแหน่งที่สูงที่สุด นี่คือ Mindset แต่ที่ 1 มีที่เดียว แบ่งเพื่อนไม่ได้ แบ่งกันไม่ได้ แต่เราอยากได้คนดีที่มีน้ำใจ เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยน Mindset แทนที่จะบอกว่าให้ไปแข่งให้ได้ที่ 1 ให้ต่อยอดในความดีความงามของตัวเองไปสู่การสร้างนิเวศแห่งการพัฒนาร่วมกัน ดังนั้นในยุคเชื่อมโยงใครที่สามารถแบ่งปันให้คนอื่นได้มากกว่า สามารถทำ Strategy แบบนี้ได้ การแบ่งปันเป็น Common Strategy สำหรับคนที่คิดและอยู่กับปัจจุบันเป็น”

ประเด็นที่ 2 อดีต เป็นมุมมองจากภายในองค์กรที่มองตนเองและบรรลุเป้าหมายที่ตนเองต้องการ ปัจจุบัน เป็นมุมมองจากความต้องการของสังคม มีการเชื่อมโยงกับทิศทางโลก และบริบทของประเทศมาสู่การกำหนดเป้าหมายของตัวเอง “ในอดีตการขายของหรือทำอะไรจะต้องการเป็นที่หนึ่ง เกิดมาเป็นช่างเหล็กก็เป็นช่างเหล็กระดับประเทศไปเลย เพราะมีสมมติฐานไม่เพียงพอ แต่ปัจจุบันเราเห็นความผันผวน ไม่ว่าจะ VUCA, BANI ฯลฯ เป้าหมายยุคปัจจุบันคือเป้าหมายโลก แต่หามุมที่ตัวเองถนัดหรือเก่งที่สุดไปยืนหนึ่งในเป้าหมายนั้นและเชื่อมโยงกับคนอื่น เรียกว่า ‘หาองศายืน’ และให้เพื่อนยืนได้ด้วยในองศาของเขา แล้วทำมุมเชื่อมโยงกัน เกิดเป็นประติมากรรม เกิดเป็นความสร้างสรรค์ DMM จึงสร้างมุมมองจากความต้องการของโลกของสังคมและบริบทประเทศมาสู่เป้าหมายของมหาวิทยาลัย”

ประเด็นที่ 3 อดีต ชุดคำถามมุ่งนวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นหลัก ปัจจุบัน ชุดคำถามมุ่งการขับเคลื่อนคนและองค์กรอย่างเป็นระบบโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้สอดคล้อง “อดีตเราคลั่งไคล้เรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาก ในอนาคตไม่ว่าเทคโนโลยีจะแอดวานซ์ขนาดไหน ท้ายที่สุดก็ต้องสนับสนุนมนุษย์อยู่ดี คงไม่มีใครอยากเอาเทคโนโลยีทูนหัวเดิน แล้วบอกว่าเป็นความสุขหรือเป็นความสำเร็จในชีวิต ตราบใดที่ยังมีปัญหาหรือยังมีความทุกข์อยู่ ชุดสำรวจของ DMM จึงขับเคลื่อนคน และองค์กรอย่างเป็นระบบ โดยประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ให้สอดคล้องทั้งปริมาณ สอดคล้องทั้งความแอดวานซ์ของเทคโนโลยี และสอดคล้องในเรื่องของงบประมาณ และสอดรับกับที่ ดร.วันฉัตร (ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ได้กล่าวไว้ว่า ของใหม่ล่าสุดไม่ได้แปลว่าดี แต่อย่าให้ตกยุค พูดสั้น ๆ คือ ๆ ล้าสมัยเรียกว่าเสี่ยง ไม่มีคนมา Compatible กับเราได้ แต่ล้ำสมัยเรียกว่าเปลือง ดังนั้นเอาให้ตรงกับปัจจุบัน ‘Be Current’ คือจุดที่ Optimal และประหยัดที่สุด”

 

DMM : ตาราง 9 ช่อง

สำหรับ ‘โฉมหน้าของเครื่องมือ DMM’ คือ ข้อคำถามที่ปรากฏในลักษณะของตาราง เพื่อทำให้เกิดการเช็กสอบตัวเองได้ง่าย ๆ และมีไดอะแกรมเป็นกลุ่มจาก บนสุด คือ กลุ่มผู้บริหารระดับสูง อาทิ สภามหาวิทยาลัย อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี รองคณบดี เป็นต้น ส่วนกลาง คือ กลุ่มผู้บริหารระดับกลางและระดับปฏิบัติการ และ ส่วนล่างสุด คือ เทคโนโลยี เป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน การจัดเก็บข้อมูล แอปพลิเคชัน โปรแกรมประยุกต์ การเชื่อมต่อเครือข่าย เป็นต้น ขณะที่ แนวตั้ง มี 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 งานด้านการส่งเสริม อาทิ การกำหนดพวกนวัตกรรม มิติที่ 2 งานด้านภารกิจหลัก “เช่นที่ทราบกันแล้วว่าภารกิจของมหาวิทยาลัยไม่ใช่มีเพียงการผลิตบัณฑิต แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ปลั๊กอินเข้าไปในแผนประเทศ” อาจารย์ดนัยรัฐขยายความ มิติที่ 3 งานด้านสนับสนุนและควบคุม “เช่น เรื่องคน งาน เงิน ฯลฯ ที่มหาวิทยาลัยก็เหมือนองค์กรองค์กรหนึ่ง ดังนั้นการเช็กมิติของมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้เช็กเรื่องการเรียนออนไลน์ สอนออนไลน์ ตรวจการบ้านออนไลน์ สอบออนไลน์เท่านั้น แต่เป็นการมอง Flow การทำงานของทั้งมหาวิทยาลัย ตั้งแต่การกำหนดกลยุทธ์ของผู้บริหารระดับสูง (ซ้าย/บน) จนไปถึงการควบคุมในเรื่องของเทคโนโลยีการใช้งาน หรือ IT Governance (ขวา/ล่าง)

อาจารย์ดนัยรัฐเปรียบเทียบว่า ทุกอย่างใน DMM เหมือนกับการเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ แล้วต้องตอบคำถามใน Migration Form ‘มีหรือไม่ สอดคล้องไหม’ สอดคล้องไหมทั้งเรื่องของการนำนโยบายมาใช้ปฏิบัติ สอดคล้องไหมทั้งการจัดหาเทคโนโลยีเพื่อไปตอบกระบวนการทำงาน ตั้งแต่มิติที่ 1-3 มีการทำงานอย่างมีสัมพันธภาพกันหรือไม่ เป็นต้น

“ในอดีตอาจเช็กว่าเก่งอะไร ว่ายน้ำเป็น ร้องเพลงได้ แต่ DMM ตัวนี้ไม่ได้เช็กอย่างนั้น เช็กความสอดคล้องว่าเสื้อที่ใส่มันพอดีกับตัวเราไหม จุดที่ยืนกับงานที่ทำมีความสัมพันธ์กันไหม ดังนั้น กว่าจะได้คะแนนจึงยาก เพราะไม่ใช่เรื่องของการเก่งเป็นคน คน คน แต่จะต้องเอาความเก่งนั้นมาบูรณาการกันในทั้ง 3 มิติ คือ หน้าบ้าน กลางบ้าน หลังบ้าน”

ผลสำรวจ DMM 4 ระดับที่แตกต่าง

ระดับที่ 1 (Silo) การพัฒนาต่างคนต่างทำ เพิ่งเริ่มหรือยังทดลองทำ โดยขาดมาตรฐานในการดำเนินงาน ได้แก่ มาตรฐานด้านกระบวนการทำงาน มาตรฐานด้านข้อมูล และมาตรฐานการนำใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ “เรียกว่าอยู่ในระดับประคองตัว มีการนำดิจิทัลมาใช้ แต่ยังไม่ได้มีมาตรฐาน เรียกว่า เริ่มขยับบ้าง แต่เป็นจุด ๆ ไม่ได้เชื่อมกัน”

ระดับที่ 2 (Standardized) การพัฒนาที่มีมาตรฐานในการดำเนินงาน ได้แก่ มาตรฐานด้านกระบวนการทำงาน มาตรฐานด้านข้อมูล และมาตรฐานการนำใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ

ระดับที่ 3 (Optimized) การพัฒนาที่มีมาตรฐานในการดำเนินงาน ขจัดขั้นตอนการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนหรือไม่จำเป็นออกไป รวมถึงมีการเชื่อมโยงระหว่างระบบงานทั้งภายในและภายนอกอย่างไร้รอยต่อ

“มหาวิทยาลัยไทยตอนนี้อาจจะอยู่ที่ 1.กว่า เกือบ 2 หรืออาจจะอยู่ที่ 2.กว่า เกือบ 3 หน้าบ้านอาจจะใช้สื่อ Tiktok แล้ว Protocol ที่สื่อสารในสื่อ Tiktok หน้าบ้านกับหลังบ้าน โทนของการสื่อสารมี Standard อะไรไหม บางครั้งเขาจึงอยู่ที่ 1.กว่า เพราะต่างคนต่างไม่รู้ว่าอีกคนทำอะไร ส่วนในระดับที่ 3 ต้องมีการเชื่อมโยงกันอย่างอัตโนมัติ ‘N to N’ อาจจะฟังแล้วค่อนข้างยากว่าจะเอาฝ่ายการเงินการบัญชีมาเชื่อมกับฝ่ายงานเรียนงานสอนและฝ่ายประชาสัมพันธ์ N to N อย่างไร นอกจากนี้ ในระดับที่ 3 N to N ทั้งภายในและภายนอก ระดับนี้จะไปสู่เรื่องของการพัฒนา One stop Service”

ระดับที่ 4 (Modular) การพัฒนาที่มีมาตรฐานในการดำเนินการ ขจัดขั้นตอนการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนหรือไม่จำเป็นออกไป รวมถึงมีการเชื่อมโยงระหว่างระบบงานทั้งภายในและภายนอกอย่างไร้รอยต่อ และสามารถต่อยอดการสร้างบริการใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง “มหาวิทยาลัยจะเป็น As A Platform จะเป็น Factory ของนวัตกรรม จะเป็น Environment และเป็นนิเวศของการพัฒนาทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะมี Startup Hackathon ไม่ว่าจะมีภาคอุตสาหกรรม และไม่ว่านโยบายประเทศ มหาวิทยาลัยจะต้องมีความพร้อม แต่ละขั้น Jump ลำบาก ต้องขึ้นเป็นบันได”

 

DMM : HOW

‘การสำรวจความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล’ พร้อมให้ทุก ๆ มหาวิทยาลัยร่วมดำเนินการด้วยการเริ่มก้าวกับ 2 ข้อ คือ 1) กำหนดคณะทำงาน “การพัฒนาสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล” โดยมี 1.1 ระดับรองอธิการบดี หรือผู้ช่วยอธิการบดีเป็นหัวหน้าคณะทำงาน 1.2 มีตัวแทนผู้บริหารจากส่วนงานต่าง ๆ 5-12 ท่าน มาเป็นคณะทำงาน 1.3 มีผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินการ เช่น อธิการบดี หรือรองอธิการบดี และ 2) ส่งข้อความแสดงความต้องการการสำรวจความพร้อมมาที่ Inbox ของ https://www.facebook.com/digitaluniversity.thai

“ผมขอแค่ Effort หรือความพยายามแค่ 2 ข้อตรงนี้ก่อน ไม่อยากมีที่สเตปยากและวุ่นวายมาก เดี๋ยวจะท้อกันเสียก่อน จึงพยายามทำให้ง่ายที่สุด และใช้เครื่องมือที่ทุกคนเข้าถึงได้” อาจารย์ดนัยรัฐย้ำ

ทั้งนี้อาจารย์ดนัยเล่าว่าในขอบเขต (Scope) ของ DMM บางมหาวิทยาลัยดึงมาหลายคณะ เรียกว่า เป็นการทำ Scope ปของมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าดีมาก แต่ในบางครั้งคณะทำงานมาจาก 1-2 คณะทำงาน ผลจึงไม่สามารถสะท้อนภาพทั้งมหาวิทยาลัย ดังนั้นเมื่อจะดึงผู้เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมคณะทำงาน จึงควรพิจารณาว่าให้คณะทำงานนั้น ๆ เป็นตัวแทน (Represent) ที่สะท้อนภาพของของมหาวิทยาลัยได้

อย่างไรก็ตามผลที่ได้จะเป็นค่าคะแนนระหว่าง 1-4 เช่น 1.6, 2.37 ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยอาจมุ่งและหวังใจสอบให้ได้เกรด 4 แต่ปัจจุบันการดำเนินงานยังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างสำเร็จ ขัดแย้งกัน คะแนนนอกจากจะไปหน้าไม่ได้แล้ว อาจจะติดลบ หรือมีการเชื่อมโยงกับภายนอก หากไม่มีการกำหนดมาตรฐานของข้อมูล การเชื่อมโยงข้อมูลตรงนั้น ยากจะกล่าวว่า ‘ไปต่อได้’ เพราะบางครั้งการนำการทดลองออกไปเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม โดยไม่ได้ชี้แจงกันไว้ ‘ไม่มี Standard แต่ไป Modular’ จะเกิดการเข้าใจผิดว่าอะไรคือของจริง อะไรคือของทดลอง

“เพราะฉะนั้น การทำตรงนี้ เมื่อเห็นเลข 4 ติ๊กเลข 4 ทันทีว่าเราทำ แต่ไม่ได้รู้ว่าการติ๊กเลข 4 โดยไม่มี 2, 3 คะแนนจะไม่ขึ้นให้”

ทำอะไรต่อหลังจากได้ผลคะแนน

“คณะทำงานจะได้รับ Metrix เป็นตาราง 9 ช่อง ผลออกมาใน 9 ช่องจะออกมาใน 9 ข้อ หมายความว่า ผลของแต่ละมหาวิทยาลัยไม่ได้ออกมาเพียงแค่ประเด็นเดียว ออกมาเป็น 9 ประเด็น และคะแนน 1-4 ในแต่ละ 9 ช่องจะไม่เท่ากัน บางทีผู้นำทำการบ้านมาเยอะ Hands-on ลงลึกมาก ด้านบนอาจจะได้ 4 แต่ด้านล่างอาจจะได้ 1 เพราะว่างบประมาณไม่พอ ในทางกลับกัน บางมหาวิทยาลัยมีงบประมาณเลี้ยงตัวเอง แต่ด้านบนยังไม่พร้อมหรือมาใหม่ ยังไม่รู้ว่ากลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ หรือการวางภารกิจหลักที่สอดคล้องกับบริบททั้งหมดว่าคืออะไร อาจจะได้ 1 ก็ได้ ต่างคนต่างกระจายไปทำ Experiment ข้างล่างใช้เทคโนโลยีอย่างไรก็ยากลำบาก ว่าตกลงอะไรคือ Standard อะไรคือการยืนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ณ จุดนั้นไปเชื่อมกับคนอื่นได้อย่างไร เรียกว่า ใช้เทคโนโลยีอย่างไม่มีทิศทาง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตัวนี้ 9 ช่องจะถามความสอดคล้อง จึงกระชับ เป็นเหมือน One page”

 

นำใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์

เพราะเครื่องมือ DMM ไม่ใช่เครื่องที่ทำหน้าที่สำรวจ และให้คะแนนเท่านั้น หากยังส่งผลไปสู่การดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งอาจารย์ดนัยรัฐอธิบายไว้เป็น 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ทำให้เกิดการเข้าใจตรงกันก่อน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารทั้งระดับสูง ระดับกลาง ระดับปฏิบัติการ พร้อมด้วยการเห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละมิติ และเช่นที่กล่าวไว้แล้วว่าการใส่ว่าทุกอย่างดีหมด ไม่ได้แปลว่าจะได้คะแนนที่ดี เพราะจะพบว่าไม่มีความสอดคล้องกัน 2) ใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่จะทำ “สมมติใน quadrant นี้ ในตารางนี้ มิติที่ 3 กับปฏิบัติการ ตรงนี้คะแนนต่ำ แต่ว่าเป็นเรื่องของการควบคุมและธรรมาภิบาล เป็นเรื่องงานจัดซื้อ เขาก็ไปดูแลตรงนี้ กระบวนการจะทำอย่างไรให้เช็กสอบได้ เป็นกลยุทธ์ว่าต้องปรับตรงไหน ไม่ใช่มีแต่กลยุทธ์ผลิตดิจิทัล ผลิตหลักสูตรอย่างเดียว บางอย่างเป็นคานงัดกันและกัน” 3) ทำให้สามารถวิเคราะห์ความสอดคล้อง ว่าทุก ๆ งานมุ่งสู่เป้าหมายมากน้อยแค่ไหน และ 4) ช่วยปรับกระบวนการทำงาน นำใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติได้อย่างถูกจุด ถูกพื้นที่ “ทั้งหมดนี้ ถ้ามหาวิทยาลัยมาทำสำรวจอีก ถ้าได้ทำตามนี้ คะแนนจะต้องขึ้นแน่นอน จะไม่มีวันลด เพราะจะรู้ Area ที่ชัด สมัยก่อน ระดับ Top Management แตะต้องไม่ได้ ไม่ให้แตะต้อง สั่งอะไรตามนั้น ถูกผิดอย่างไรไปตามนั้น เพราะเราไม่มีข้อมูล สมัยนี้ทุกอย่าง IoT เซนเซอร์ล้อมตัวเรา บล็อกบนเป็นการเช็ก Management โดยเฉพาะ Top Management สมัยก่อนเวลาเช็ก ไปเช็กแต่ข้างล่าง เช็กว่ามี Database ไหม มีอะไรไหม ตอนนี้ถึงเช็กข้างบน”

นอกจากสถาบันการศึกษาเอง การขับเคลื่อนไปข้างหน้าทุก ๆ องคาพยพยังเกิดผลประโยชน์ต่อภาคส่วนอื่น ๆ ได้แก่ 1) นักศึกษาและผู้ใช้บริการมหาวิทยาลัยจะได้รับบริการที่รวดเร็ว ตรงกับยุคสมัย 2) ภาคอุตสาหกรรมจะได้บัณฑิตที่มีความพร้อมในการทำงานมากขึ้น 3) เกิดการช่วยเหลือกันระหว่างมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้ง่ายขึ้น เพราะมีการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ร่วมกันอยู่ตลอดเวลา 4) ในระดับประเทศจะได้บุคลากรที่มีความสามารถในการพัฒนาประเทศที่ดีมากขึ้น 5) ในระดับนโยบายของอุดมศึกษาสามารถกำหนดทิศทางของการพัฒนาประเทศในแต่ละภูมิภาคได้ชัดเจนมากขึ้นว่าต้องการให้แต่ละภูมิภาคเน้นความสามารถในด้านใด และสามารถพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภูมิภาคได้เป็นอย่างดี 6) ในระยะถัดไปจะสามารถลดปัญหาสังคมเมื่อระดับการศึกษาของประเทศอยู่ในเกณฑ์สูงขึ้น และลดภาระการดูแลจากภาครัฐ

“นักศึกษาได้แน่ ๆ วันนี้ยุค Aging Society หลักสูตรต่าง ๆ ที่เขาพร้อมใช้ เขาอาจจะบอกกับอาจารย์ว่าเขามีแค่ 20 ชั่วโมง แต่ต้องการทำ Infographic ในระดับหากินง่าย ๆ ก่อน เขาควร Customize วิชาของเขาอย่างไร นี่คือลูกค้าหรือผู้รับบริการมหาวิทยาลัยโดยตรง ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ไปสร้าง Academy และมหาวิทยาลัยของตัวเอง แปลว่าอะไร เขาไม่พอใจในสิ่งที่เราผลิตให้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ที่ภาคอุตสาหกรรมจะได้กลับมาร่วมไม้ร่วมมือกันว่าคนที่ต้องการในแต่ละอย่างคืออะไร ข้อที่ 3 การช่วยเหลือกันระหว่างมหาวิทยาลัย ถ้าเคยได้ยินคำว่า Smart City มีเมืองพี่เมืองน้อง มหาวิทยาลัยพี่มหาวิทยาลัยน้อง ก็ต้องมีกลุ่มที่ไปด้วยกัน กลุ่มสมุนไพรไปด้วยกัน กลุ่มที่เกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซไปด้วยกัน เมื่อมา Featuring กันกลายเป็นขายของผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น จากเดิมทุกคนจะเป็นที่ 1 แม้ไม่อยากทำแต่จำเป็นต้องทิ้งคนอื่นเพื่อให้ได้เป็นที่ 1 การวัดด้วย DMM มองถึงความร่วมมือ ดังนั้นจะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ส่วนในระดับประเทศจะมองเห็นว่าจุดตรงไหนที่ประเทศควรจะอัดฉีด อาทิ พรบ.อำนวยความสะดวก หรือการให้ทุน จะเป็น Targeted ว่าตรงนี้ต้องการแพทย์ทางเลือกใช่ไหม ตรงนี้ต้องการสังคมเกี่ยวกับอุตสาหกรรม Digital Purely ใช่ไหม มองเห็นสภาพความเป็นไปและความเป็นจริง ในระยะถัดไปไม่ใช่การทำให้ประเทศ Achieve ในเป้าหมายเท่านั้น แต่เป็นการกลับมาถึงลูกหลาน ในเรื่องของสังคม ลดปัญหาของเรื่องคน การไม่เป็นภาระสังคมก็คือการไม่เป็นภาระครอบครัว ไม่เป็นภาระเพื่อน และไม่เป็นภาระกับรัฐบาล”

 

อาจารย์ดนัยรัฐย้ำว่ามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรหนึ่งที่ดำเนินงานด้วยความยากลำบากและเป็นความคาดหวังของสังคมเสมอ ‘การสำรวจความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล’ ครั้งนี้ คณะทำงานสะท้อนใจเสมอว่ามหาวิทยาลัยไม่เคยมีชีวิตอย่างสุขสบาย ดังนั้นการจะคัดเลือกคณะทำงานเพื่อร่วมสำรวจความพร้อมด้วยเครื่องมือ DMM นี้ขอให้มุ่งที่จุดที่คิดว่าเป็น Flagship แล้วขยับ ณ ตรงนั้น

“จากการสำรวจรอบที่ 1 เราบอกว่าขอให้เป็นเยี่ยงอย่างให้คณะฯ อื่นหรือว่าส่วนงานอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัย คำว่า ‘เยี่ยงอย่าง’ จะต้องมีพลังใจสูงมากในการแหวกอากาศไปทำสิ่งที่ไม่เคยทำ คือ ‘การพัฒนาไปสู่นิเวศ’ ไม่ใช่การพัฒนาให้ตัวเองดีคนเดียว ต้องคิดเผื่อเพื่อน กำลังใจตรงนั้นเรียกว่าเป็นเยี่ยงอย่างคนอื่นเลย ไม่ใช่เป็นตัวอย่างงั้น ๆ หลังจากนั้นระลอกที่ 2 จะเกิดตัวอย่างที่มากขึ้น จาก 100% เยี่ยงอย่างอาจจะเกิดแค่ 5% แล้วหลังจากนั้นอาจจะเกิด 20% เดี๋ยวระลอก 3 มาเอง”

การมุ่งหน้าสู่ความงามต้องการกำลังใจกันและกัน หมดยุคของการเอาชนะเพื่ออยู่รอด เข้าสู่ยุคการแบ่งปันหาพันธมิตรสนธิกำลังเพื่ออยู่รอด

‘เก่งคนเดียวตามลำพังกับการมีพันธมิตรเป็นพันเป็นหมื่นคน คนไหนจะมีอุปสรรคน้อยกว่ากัน’

 

ชมการสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “การสำรวจความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล” Digital Maturity Model (DMM), Transformation Readiness towards Digital University ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/digitaluniversity.thai/videos/709635990616412

https://www.facebook.com/digitaluniversity.thai/