เกี่ยวกับเรา

โครงการสร้างนิเวศสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

ด้วยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้กำหนดแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนา กำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564-2570 ว่าด้วยเรื่องนโยบายการพลิกโฉมการศึกษาด้วยระบบดิจิทัล(Digitalization for Educational and Learning Reform) อันประกอบด้วยประเด็นปฏิรูป 3 ประเด็นได้แก่ 1) การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ (Digital Learning Reform: National Digital Learning Platform (NDLP)) 2) ระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา(big data for education) และ 3) การพัฒนาความเป็นพลเมืองดิจิทัล (digital citizenship) ในด้านความฉลาดรู้ดิจิทัล (digital literacy) ความฉลาดรู้สารสนเทศ (information literacy) ความฉลาดรู้สื่อ (media literacy) เพื่อการรู้วิธีการเรียนรู้ (learning how to learn) ในการเรียนรู้ตลอดชีวิตตลอดจนการมีพฤติกรรมที่สะท้อนการรู้กติกามารยาทและจริยธรรมเกี่ยวกับการใช้สื่อและการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ต (สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564-2570, 2563)

สถาบันคลังสมองของชาติ เป็นองค์กรที่มีภารกิจตอบสนองต่อความต้องการของภาครัฐและสังคมในการแก้ปัญหาและแสวงหาความริเริ่มเชิงนโยบายใหม่ๆ ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้วยกระบวนการทางวิชาการ บนฐานของข้อมูลและการวิเคราะห์วิจัย ผ่านการประสานกับเครือข่ายนักวิชาการจากอุดมศึกษา จึงดำเนินการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต และผลักดันให้มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลอย่างเป็นระบบ

โดยในปี 2563-2564 สถาบันได้มีการดำเนินโครงการสนับสนุนเตรียมความพร้อมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital Transformation Health Check for University Preparedness) และการพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบเพื่อเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล โดยมีเป้าหมายให้มหาวิทยาลัยไทยสามารถเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลในระยะเวลา 5 ปี จำนวน 50% ซึ่งผลพบว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีความพร้อมในการก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลไม่เท่ากัน โดยกลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐ/ในกำกับของรัฐส่วนใหญ่มีความพร้อมในมิติของวิสัยทัศน์ ส่วนกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนมีความพร้อมในส่วนของการพัฒนาพันธกิจของมหาวิทยาลัย กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏมีความพร้อมในส่วนกลยุทธ์การทำงาน ส่วนกลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคงมีความพร้อมด้านต่างๆอยู่ในระดับ 1 คือ traditional University และโดยภาพรวมของทุกกลุ่มมหาวิทยาลัยนั้นยังมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับในระดับที่มากที่สุด คือ ระดับที่ 2 คือ E-University ซึ่งเป็นขั้นที่เริ่มมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ ยังอยู่ห่างจากระดับเป้าหมายที่วางไว้ใน ระดับที่ 4 คือ Smart University หรือ Digital University

การดำเนินโครงการในปี 2565 ที่ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อสร้างสังคมการเรียนรู้ร่วมกันในการก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล มีกระบวนการหนุนเสริมผ่านเนื้อหาความรู้ทางระบบออนไลน์หรืออีเลิร์นนิ่ง (E-learning) มีการอบรมออกแบบเนื้อหาการทำงานที่เหมาะกับบริบทของมหาวิทยาลัยและนำไปสู่การทำแผนงานมหาวิทยาลัยต่อไป รวมถึงมีการสร้างพื้นที่ออนไลน์ในการเผยแพร่และแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยดิจิทัลทางสื่อสังคมออนไลน์ คือ เว็บไซต์ https://du-knit.org และ  แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กเพจ Digital University มหาวิทยาลัยดิจิทัล โดยมีผู้กดติดตามรวมทั้งหมด แบ่งเป็นผู้ติดตามแบบกดไลค์ (Page likes) จำนวน 717 ราย และผู้ติดตามอย่างเดียว (Page followers) จำนวน 1,030 ราย (จำนวน ณ วันที่ 27 กันยายน 2565) โดยผู้ติดตามส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ นักวิจัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนประเด็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลของมหาวิทยาลัยต่างๆ

จากนั้นในปี 2566 จะมีการดำเนินโครงการต่อเนื่องในโครงการ การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัย โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเสริมพลังการทำงานของมหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ค้นหารูปแบบการพัฒนามหาวิทยาลัยไทยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล และสร้างความตระหนักรู้ในการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน  ทั้งนี้ก็เพื่อหาคำตอบว่าการพัฒนามหาวิทยาลัยไทยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบจะสามารถปรับเปลี่ยนมหาวิทยาไทยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลได้ในรูปแบบที่หลากหลายตามอัตลักษณ์และเรือธงของแต่ละมหาวิทยาลัย

ในปี 2567 เพื่อพัฒนาให้มหาวิทยาลัยไทยสามารถเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลอย่างยั่งยืนและเข้มแข็ง รับมือกับบริบทสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป แต่ยังคงเอกลักษณ์และความโดดเด่นของแต่ละมหาวิทยาลัยไว้ สร้างการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงมีความน่าสนใจที่จะศึกษาต่อว่าระบบนิเวศที่สนับสนุนและส่งเสริมการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลควรเป็นแบบใด รวมถึงสร้างการสื่อสารอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยดิจิทัลให้แพร่หลาย จนสามารถเพิ่มจำนวนมหาวิทยาลัยไทยที่ต้องการปรับเปลี่ยนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลให้มากขึ้นและครอบคลุม

  1. เพื่อสร้างระบบนิเวศการพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัลร่วมกัน
  2. เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลเปิด (Open data) ในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเชื่อมโยง
  3. เพื่อสร้างการรับรู้ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

กรอบการวิจัย/พัฒนา

  1. สรุปผลการสำรวจความพร้อมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลของแต่ละกลุ่มมหาวิทยาลัย
  2. พัฒนาแพลตฟอร์มสําหรับการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยดิจิทัล โดยเป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นพื้นที่เชื่อมต่อข้อมูลการทำงานสําหรับมหาวิทยาลัยที่ดําเนินการก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลและหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
  3. เก็บรวบรวมฐานข้อมูลจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และจัดทํารายงานเสนอผู้เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการทํางานร่วมกัน
  4. ถอดบทเรียนมหาวิทยาลัยต้นแบบที่มีความพร้อมในการก้าวสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลเพื่อจัดทําข้อมูล การทํางานรูปแบบต่าง ๆ สําหรับการก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง
  5. ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของสังคมเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยดิจิทัลและประสานการทำงานของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
  6. จัดเวทีสาธารณะเรื่อง Digital University Forum ทั้งในรูปแบบของออนไลน์/ออนไซต์
  7. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับมหาวิทยาลัยกลุ่มเป้าหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  8. ผลิตสื่อเพื่อสารสื่อสาร (Media kit) ได้แก่ ข่าวสาร บทความ อินโฟกราฟิก คลิป
  9. สื่อสารเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลให้มีการรับรู้อย่างทั่วถึง
  10. สร้างปฏิสัมพันธ์ของแต่ละกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดการทํางานและมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลร่วมกัน
  11. สร้างพื้นที่การเรียนรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อและทำงานร่วมกัน