การขับเคลื่อนความเข้มแข็งของ 3 มหาวิทยาลัย ในมิติที่แตกต่าง

อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี

ในวันที่สถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยมุ่งสู่การเป็น Digital University เต็มรูปแบบเพื่อปรับองค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของการพัฒนาในหลากหลายมิติ พร้อมดำเนินงานที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาประเทศระยะยาวที่กำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาให้กับหน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนอันนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ของประเทศที่ว่า ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว’ ตลอดจนสอดประสานกับนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ด้วยภารกิจที่มุ่งสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยมุ่งสู่การเป็น Digital University เต็มรูปแบบ ที่ผ่านมา ‘สถาบันคลังสมองของชาติ’ จึงเตรียมความพร้อมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital Transformation Health Check for University Preparedness) ภายใต้โครงการการพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยดิจิทัล เพื่อสำรวจความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาใน 5 มิติ ได้แก่ 1) ทิศทางและการพัฒนาองค์กร 2) ความพร้อมด้านพันธกิจ/ธุรกิจ 3) ความพร้อมด้านระบบงานประยุกต์ 4) ความพร้อมด้านข้อมูล และ 5) ความพร้อมด้านเทคโนโลยี โดยอ้างอิงจากการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กรดิจิทัล TOGAF Framework และประยุกต์ใช้ในหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยให้นำไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) แล้วหลายหน่วยงาน ซึ่งโครงการดังกล่าวได้นำเครื่องมือมาประยุกต์ใช้ในชื่อ ‘Digital Maturity Model หรือ DMM’ ในการสำรวจความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลที่ได้แบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ระดับที่ 1 Traditional University ระดับที่ 2 E-University ระดับ 3 Connected University และระดับที่ 4 Smart University

 

การเสวนาออนไลน์ Digital University : Enabling The Smart Society ภายใต้หัวข้อ “สำรวจความพร้อมเพื่อสร้างแผนที่นำทางสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล” เป็นโอกาสที่ดีอีกครั้งที่บุคคลสำคัญซึ่งมีประสบการณ์ตรงในการใช้เครื่องมือ DMM และมีการดำเนินงานเชื่อมโยงกับประเด็นของภาคการศึกษาที่กำลังเร่งขับเคลื่อนสู่การเป็น Digital University เต็มรูปแบบ ได้มาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนทรรศนะ เพราะก่อนเดินหน้าไปสู่การเป็น Digital University เต็มรูปแบบนั้นมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จำเป็นจะต้องรู้สถานภาพหรือสถานการณ์ปัจจุบันขององค์กร เพื่อการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายและพัฒนาศักยภาพในอนาคตอย่างถูกทิศถูกทางในอนาคตต่อไป

 

และเช่นเคย อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล เริ่มต้นนำทุก ๆ คนไปทำความรู้จักกับความแตกต่างของมหาวิทยาลัย 4 กลุ่มกันอีกครั้ง “ระดับที่ 1 ใช้คำว่า Silo ซึ่งไม่ได้แปลว่าไม่ดี แต่เป็นสภาวะที่องค์กรดำเนินงานในลักษณะต่างคนต่างทำ มองเป็นข้อดีคือไม่ก้าวล่วงกัน แต่ทั้งนี้เมื่อต่างคนต่างทำไปเยอะ ๆ หรือขยับ กลับไม่ดี เพราะว่าเมื่อเกิดปัญหา จะไม่ได้กลับมาดูกัน และเมื่อต้องการขยายผลก็ไม่รู้ว่าสามารถใช้ร่วมกันได้หรือไม่ ซึ่งในระดับของ Silo บ้านเรายังมีอยู่เยอะ ส่วนระดับที่ 2 เรียกว่า มีมาตรฐาน แต่ต้องเป็นมาตรฐานระดับโลกเท่านั้น อย่างไรก็ตามอาจเริ่มต้นจากในมหาวิทยาลัยหรือระหว่างแผนกก่อนว่าขั้นตอนไหนต้องทำก่อน-หลัง หรือมาตรฐานเรื่องเทคโนโลยี เช่น Work From Home จะใช้มาตรฐานอะไร เป็นต้น” อาจารย์ดนัยรัฐอธิบายพร้อมยกตัวอย่าง “ระดับที่ 3 เรียกว่า Optimization คือ Connect หรือเชื่อมโยงจนเป็นเนื้อเดียวกัน อาจเป็นการ Connect ระหว่างองค์กร เช่น หอการค้า ฯลฯ มีการแลกเปลี่ยน Data กันประดุจเป็นองค์กรเดียวกัน เรียกว่าเป็น Process ที่สอดคล้องกัน และระดับที่ 4 หรือช่วงสุดท้ายคือ Modularity เรียกว่าเป็นการเชื่อมโยงบริการสู่ภาคส่วนอื่น ๆ ได้ สะท้อนกลับไปยังงานที่เกิดขึ้นซึ่งจะต้องเดินหน้าทั้งเรื่อง Performance และ Maturity จะต้องเกิดขึ้นตามลำดับ แต่ไม่จำเป็นต้องเริ่มที่ระดับที่ 1 เสมอไป กล่าวคือ ขึ้นตามลำดับ”

 

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น จะยกระดับหรือพัฒนาศักยภาพได้ องค์กรจำเป็นต้องรู้ว่ามาตรฐานคืออะไร ตรงไหนที่เป็นจุดซ้ำซ้อน ฯลฯ เรียกว่ารู้ทั้งจุดอ่อนและความโดดเด่นของตนเอง “เครื่องมือ DMM นี่ละครับที่จะสะท้อนว่า ณ ตอนนี้เราอยู่ที่ไหน และถ้าต้องการทำให้ดีขึ้นควรจะโฟกัสที่อะไร DMM ช่วยให้สามารถขับเคลื่อนวุฒิภาวะของมหาวิทยาลัยได้ทั้งหมด”

ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยบอกเล่าและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้เครื่องมือ DMM ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทุกวงจรนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะในวันที่องค์กรและทุก ๆ คนจำเป็นต้องรู้ว่าโจทย์ของการพัฒนาองค์กรอยู่ที่ไหน ในโอกาสนี้ ดร.วันฉัตรร่วมแบ่งปันมุมคิดต่อภาคการอุดมศึกษา ในฐานะที่เป็นผู้บ่มเพาะดิจิทัลออกไปสู่สังคมหรือประเทศไทยในช่วงเวลาที่ประเทศต้องได้รับการขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและนวัตกรรมดิจิทัลทุกภาคส่วน “บทบาทนี้สำคัญมาก แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมหาวิทยาลัยเข้าใจตัวเองว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลได้อย่างไร สำหรับคนนโยบายอย่างผม มองว่าเครื่องมือ DMM จะทำหน้าที่ได้อย่างหลากหลาย ด้านการวางแผนมี 4 ด้าน 1) ชี้ประเด็น ให้เห็นว่าแต่ละมหาวิทยาลัยต้องได้รับการพัฒนาอย่างไร 2) ชี้แนวนโยบาย เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหา นโยบายทางออกไม่ใช่เรื่องของการปฏิบัติอย่างเดียว เช่น สิ่งที่สภาพัฒน์ฯ เจอมาตลอด เราประกาศเรื่องความเป็นรัฐบาลดิจิทัล แต่ถ้าหัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก หรือสำหรับมหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่ อาจารย์เล่นเต็มที่ แต่ทางอธิการบดีไม่เอา งานบางอย่างก็ไปไม่ได้ งานนโยบายจะมีส่วนกำหนดให้เห็นภาพทุกมิติ” ดร.วันฉัตรอธิบาย “3) ลงมือทำ อันนี้สำคัญที่สุด ต่อให้แผนดีแค่ไหน DMM ให้เห็นว่าต้องแก้ปัญหา หาจุดใดเป็นการเฉพาะ หรือจัดเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน ถ้าไม่ทำก็ไม่มีค่า สภาพัฒน์ฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการลงมือทำ เพราะว่าต่อให้พวกผมหรือว่าอาจารย์ทุกท่านในที่นี้เขียนแผน หรือมหาวิทยาลัยดิจิทัลเขียนแผนดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่ลงมือทำทั้ง Value Chain ก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และ 4) ชี้ว่าสิ่งที่ลงมือทำไปแล้วตอบโจทย์การชี้ประเด็นหรือไม่ คือสามารถทำให้เห็นในเรื่องของการติดตามและประเมินผลได้ อาจติดตาม DMM ย่อยในส่วนที่เรียกว่าความจำเป็นเฉพาะก็ได้ เพราะ DMM เป็นเครื่องมือใช้ทั้งติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล แต่ทั้งนี้ถ้าไม่มีการนำข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการสำรวจและประเมินมาใช้ต่อ เครื่องมือนี้ไม่มีค่าเช่นกัน”

มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กับพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน

ด้วยปรัชญาแห่งการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ‘มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์’ จัดเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มพัฒนาชุมชนเชิงท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น (Area-based & Community Engagement) ตามการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา และ ณ เวทีเสวนาออนไลน์ครั้งนี้ รศ. ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จึงนำเรื่องราวและบทบาทของการใช้เครื่องมือ DMM ของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์มาถ่ายทอดกันตั้งแต่ต้นทาง “เพราะเราต้องทบทวนคนของเรา ทบทวนพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) และบทบาทของประเทศ โดยการทบทวนสถานการณ์ในพื้นที่ EEC ต้องพิจารณาทั้งการเปลี่ยนแปลง แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นทั้งเรื่องทรัพยากร โครงสร้างประชากร การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาความมั่นคง หรือแม้แต่โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เพื่อนำมาข้อมูลมาประเมินและจัดการต่าง ๆ ต่อไป ซึ่งนอกจากการใช้เครื่องมือใน DMM แล้ว เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาในพื้นที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ หลักการของนโยบายการทำงานรอบนี้จะต้องทำงานแบบก้าวกระโดด แต่มีเข็มทิศที่บอกทิศทางอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีจุดพลิกโฉมหรือจุดวิจัยเป็นฐาน เพราะการทำงานในรูปแบบใหม่ด้วยข้อมูลหรือด้วยกิจการ มหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง ทำเฉพาะบางเรื่อง ใช้การศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมยกระดับเป็นขีดความสามารถ และบูรณาการศึกษากับภาคีความร่วมมือ เพราะฉะนั้นความเข้มแข็งของพื้นที่ กลุ่มเศรษฐกิจ และ Stakeholder จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนามหาวิทยาลัยและพื้นที่ไปพร้อมกัน”

 

สำหรับบทบาทของการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ได้ร่วมทำ Health Check เพื่อตรวจวัดระดับต้นทุน และพบว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์มีความพร้อมในระดับที่ 3 หรือ Connected University “มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์เป็นองค์กรที่บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์กับเดต้าเบสแบบแบบดั้งเดิมร่วมกัน และนำการบริหารจัดการทางด้านเทคโนโลยี ‘ที่มีอยู่’ มาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เราจึงถือว่าเป็น Smart University”

 

“นอกจากนี้การนำข้อมูล Health Check มาบูรณาการกับการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างงาน สร้างอาชีพ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ยังนำมาซึ่ง Action Plan โดยกลยุทธ์ของการทำงานเริ่มจากการยกระดับคุณภาพทรัพยากรในมหาวิทยาลัย หาต้นทุน ส่งเสริมคุณภาพการบริการ พลิกโฉมมหาวิทยาลัย พัฒนาสมรรถนะกำลังคน จัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ รวมทั้งการสนับสนุนการบริหารจัดการในระบบเครือข่าย”

 

รศ. ดร.ดวงพรเล่าว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ได้จัดเวิร์กชอปโดยเชิญบุคลากรจากสถาบันคลังสมองของชาติและอาจารย์ดนัยรัฐมาเป็นวิทยากร เพื่อสำรวจโครงสร้างการทำงานและฉายภาพวิสัยทัศน์สำคัญของการทำงาน โดยวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ความต้องการของตลาด ฯลฯ เรียกว่าครบถ้วนทุกองคาพยพ ทุกมิติ

 

กระทั่งมีการจัดเวิร์กชอปในครั้งอื่น ๆ ตามมา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์จึงมีโอกาสได้เห็นระบบการบริการที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข การพัฒนา และการจัดบริการด้านนวัตกรรม ไปจนถึงการได้พิจารณาในปัจจัยสำคัญต่าง ๆ อาทิ ความเสี่ยง ช่องว่าง หรือแม้แต่ข้อควรต้องระวังเพื่อการพัฒนา ซึ่งท้ายที่สุดจึงนำไปสู่การทำเฟรมเวิร์กและโรดแมปการทำงานในระยะ 5 ปี

 

“เฟรมเวิร์กของการทำงานจึงมีขั้นตอนการพัฒนาตั้งแต่การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมเพื่อกำหนดทิศทางและกำหนดความสำคัญของกลยุทธ์ โดยใช้เครื่องมือเรียกว่า Vision Builder ซึ่งจะทำให้เห็นภาพของการทำงานทั้งมหาวิทยาลัยเป็นภาพเดียวกัน จนถึงสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัย แล้วเราก็ทำ Digital Blueprint และ Worksheets ในแต่ละงาน โดยมีระบบการกำกับ การติดตาม การตรวจสอบ การประเมินเกิดขึ้นในทุก ๆ งาน สุดท้ายจึงทำโรดแมปเป็นขั้นตอนที่เป็น Core ในการพัฒนาระบบบริหาร” รศ. ดร.ดวงพรอธิบาย “เครื่องมือเหล่านี้ทำให้เราเห็นจุดจัดการ เห็นข้อมูลที่แท้จริง และนำมาเป็นโรดแมปของการทำงานในพื้นที่ โดยสามารถนำข้อมูลทั้งหมดมาพัฒนา หรือปลั๊กอินกับการพัฒนาของจังหวัดฉะเชิงเทรา และการเป็น Smart City เพราะมหาวิทยาลัยผูกความรับผิดชอบกับ Smart People ในเรื่องของการพัฒนากำลังคนในจังหวัดฉะเชิงเทราและพื้นที่ EEC ทั้ง 3 จังหวัด การขับเคลื่อนการเป็นพลเมืองอัจฉริยะไม่ใช่การเดินคนเดียว ต้องมีหน่วยงาน องค์กร ภาคีเข้ามาพัฒนาความร่วมมือ เพราะฉะนั้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลและพบช่องว่างของการทำงาน กลุ่ม Stakeholder ก็สามารถเข้ามาเติมเต็ม Gap เหล่านี้ ทำให้การพัฒนาพื้นที่รอบใหม่เป็นการทำงานในรูปแบบใหม่ คือแบบก้าวกระโดด”

 

“ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ สิ่งที่เห็นชัดก็คือการเป็นกระบอกเสียงให้กับบุคลากรในมหาวิทยาลัย ส่วนที่ 2 คือ นักศึกษา ระบบการทำงานที่ผ่านมาเครือข่ายความร่วมมือ หรือ Stakeholder มีความสำคัญในการรวมพลังจัดการต่าง ๆ และการทำงานในรอบนี้จะต้องมีทิศทางการทำงานที่ชัดเจน อาจดูในเรื่องเชิงประเด็น ในเรื่องเชิงพื้นที่ ได้ทั้ง 2 กรณี แต่สิ่งหนึ่งคือพลังการขับเคลื่อน ตั้งแต่ท่านนายกสภา ท่านกรรมการสภามหาวิทยาลัย ท่านกรรมการสภาวิชาการ หรือท่านกรรมการส่งเสริมที่จะรวมพลังและชี้นำนโยบายต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เป็นองคาพยพชิ้นใหญ่ที่สามารถขับแคลื่อนไปได้เร็ว ภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์จะ Full Option ได้จะต้องมีธงปักทางที่ชัดเจน” รศ. ดร.ดวงพรปิดท้ายประเด็นแนวทางและการทำงานที่มุ่งสู่การเป็น Digital University เต็มรูปแบบของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับการพัฒนาที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก

จากภาคตะวันออกขยับขึ้นไปที่ภาคเหนือ ‘มหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ ซึ่งร่วมทำ Health Check กับสถาบันคลังสมองแห่งชาติประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา และได้ผลลัพธ์ว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ในระดับ Digital University อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.รัฐสิทธิ์ สุขะหุต รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องการต่อไปสู่ความเป็น Fully Digitalize หรือการเป็น Smart University ซึ่งในแง่ของการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความสำคัญเรื่องการทำแผนและยุทธศาสตร์ “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นำกรอบของการทำแผนพัฒนาของมหาวิทยาลัยมาเป็นตัวตั้งและดูเรื่องของการพัฒนามหาวิทยาลัยว่าจะขับเคลื่อนให้แผนของมหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จกันอย่างไร แผนพัฒนาดิจิทัลมีการตั้งเป้าเอาไว้และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนของมหาวิทยาลัยซึ่งจะเริ่มในปี 2566-2570 แต่ในหลายส่วนได้มีการพัฒนาและขับเคลื่อนมาพอสมควร อาทิ รากฐานของโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ จนกระทั่งการนำไปใช้ประโยชน์ การวิเคราะห์ และการตัดสินใจสำหรับผู้บริหาร”

 

รศ.ดร.รัฐสิทธิ์เล่าว่าจริง ๆ แล้ว ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการกล่าวถึง Digital Transformation หรือ Digital University กันมาตั้งแต่สมัยอธิการบดีใน 2 สมัยที่ผ่านมา กล่าวคือเป็นระยะเวลาย้อนไปกว่า 12-13 ปีที่แล้ว โดยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องในเรื่องการขับเคลื่อนดิจิทัลว่าจะปรับตัวอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแนวนโยบาย หรือเรื่องของข้อบังคับต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นโดยสภามหาวิทยาลัย “พูดกันในนามหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย เช่น เรื่องของ Smart City ที่มีศูนย์บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปจนถึงมีหน่วยงานดูแลเรื่องการศึกษาตลอดชีวิต (CMU School of Lifelong Education) ซึ่งดูแลเรื่องการเรียนการสอนในยุคใหม่ที่ไม่ได้มองเพียงนักเรียนหรือนักศึกษา เพราะต่อไปมหาวิทยาลัยต้องมองว่าใคร ๆ ก็สามารถเป็นผู้เรียนได้ อีกทั้งยังเป็นศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ ซึ่งช่วยพัฒนาอาจารย์ให้สามารถปรับตัวและปรับวิธีการจัดการเรียนการสอน และการนำ Digital Technology เข้ามาใช้”

 

เพราะเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นทั้ง Threat และ Opportunity ความก้าวหน้าทำให้โลกไร้พรมแดน ในแง่ของการศึกษาไม่ใช่การแข่งกับตัวเอง หรือแข่งขันกันภายในประเทศและนอกประเทศอีกต่อไป มีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมายด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไกลและก้าวกระโดด เรื่องของ Aging Society, Z Generation หรือแม่แต่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของประชากรโลก ล้วนเป็นสิ่งประจักษ์ “โจทย์สำคัญของการทำ Digital Transformation ก็คือ Digital Disruption ซึ่งหมายความว่าถ้าไม่ปรับตัว ไม่ปรับองค์กร สุดท้ายแล้วก็อาจถูกดิสรัปต์ มหาวิทยาลัยเองเริ่มมีการปรับตัว จากที่มีผู้เรียนในประเทศจำนวนลดน้อยลง วันนี้จึงมีการพูดถึง Internationalize ของมหาวิทยาลัยมากขึ้น จะเห็นว่าการทำ Digital Transformation ก็คือความสำคัญของการวางยุทธศาสตร์ ความสอดคล้องของยุทธศาสตร์ด้าน IT ความสอดคล้องของการพัฒนามหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับผู้บริหารค่อนข้างมาก เพราะถ้าผู้บริหารไม่ปรับตัว ไม่ขับเคลื่อน องคาพยพที่เหลือก็คงมองไม่เห็นภาพและไม่รู้ว่าทิศทางหรือเป้าหมายของการ Transformation ว่ามุ่งไปสู่เรื่องอะไร”

 

“เป้าหมายในการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลที่หมายถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็น Key Enabler ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทั้งการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการรับใช้สังคม เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ ต่อยอดธุรกิจในเรื่องของการแข่งขัน แต่ถ้านำ Digital Technology เข้ามาใช้แล้วไม่ได้สามารถที่จะคงอยู่ในสภาพของการแข่งขันได้ ก็ถือว่า Fail เพราะไม่สามารถที่จะคงอยู่ในโลกของการแข่งขันที่มี Threat มากมาย Globalization แทบจะเปิดกว้าง อันนี้คือเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล”

 

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังตั้งเป้าจากมหาวิทยาลัยดิจิทัล สู่ ‘มหาวิทยาลัยชั้นนำ’ ที่ตอบโจทย์การให้บริการด้านวิชาการและการให้บริการแก่สังคม ไม่ว่าจะเป็นผลิตบัณฑิตออกไปสู่ตลาดแรงงาน หรือนำผลงานด้านวิชาการและงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งจากที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ Thailand Quality Class (TQC) ที่พิสูจน์การทำงานและการปรับตัวของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี “ตัวรางวัลเป็นจุดหนึ่งที่สะท้อนว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน การทำงานร่วมกันเป็นทีม-เป็นองคาพยพของมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม ในอีก 4 ปีข้างหน้า ท่านอธิการ (ศ. ดร. นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล) ให้แนวนโยบายว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะมุ่งสู่การเป็น World Class ในเรื่องของการพัฒนา โดยมุ่งพัฒนาจาก TQC เป็น TQA (รางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ Thailand Quality Award) ทั้งนี้การจะไปสู่ตรงนั้นได้จะต้องปรับทั้งเรื่องการบริหารจัดการ การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน และการมองกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษา แต่มองรวมไปถึงผู้เรียนที่จะเข้ามาเรียนหรือมาหาความรู้ การวิจัย และการบริการวิชาการในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การขับเคลื่อนต่าง ๆ เหล่านี้เป็นองคาพยพที่ค่อนข้างใหญ่ และต้องอาศัย Digital Technology เครื่องมือสำคัญ จึงต้องรู้ว่าตัวเราเองอยู่จุดไหน และต้องดูว่าการรับรู้ของคนในสังคมมองมหาวิทยาลัยในแง่มุมไหน กล่าวคือไม่ได้ดูจากตัวเองเท่านั้น เสียงตอบรับจากชุมชนและสังคมยังเป็นตัววัดที่สำคัญว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ควรจะปรับปรุงและพัฒนาอย่างไร ไปจนถึงกลุ่ม Stakeholder จากมหาวิทยาลัย ผู้เรียน ในแวดวงวิชาการและการศึกษา ซึ่งเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย” รศ.ดร.รัฐสิทธิ์กล่าว

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กับการสร้างเสริมจุดแข็งขับเคลื่อนทุกองคาพยพให้ยิ่งโดดเด่น

รศ. ดร.สุวรรณี อัศวกุลชัย ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการเงิน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าที่ผ่านมามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเองยังไม่เคยใช้เครื่องมือ DMM ในการทำ Health Check ทว่ามีความสนใจเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปดูว่ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำอะไรไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ รศ. ดร.สุวรรณีเล่าว่ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีจุดแข็งคือการมีสภาหอการค้าเป็นกรรมการสภา ส่วนการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพิจารณาใน 4 มิติ ได้แก่ People, Process, Technology และ Content ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตาม Digital Maturity Model โดยมีการประเมินผลและสามารถจัดสิ่งที่ทำไปแล้วออกมาได้ “ส่วนของ People กล่าวคือ Leadership พร้อมในการปรับเปลี่ยนหรือไม่ เพราะนี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ส่วนของ Process ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำคือความร่วมมือกับภาคเอกชน ถ้าดู Vision Builder ต่าง ๆ หรือ Enterprise หรือ Worksheets ที่ทำมาทั้งหมด น่าจะเป็นเครื่องมือที่นำมาจับสิ่งที่ทำไปแล้วได้ทั้งหมด และเอามาใช้ประโยชน์ต่อได้ จุดแข็งอีกอย่างในส่วนของ Process คือการสอนจากนักธุรกิจ เจ้าของนวัตกรรม และการมีสภาหอการค้าอยู่กับเราตลอดเวลา ส่วน Technology จะเห็นว่ามีการ Work From Home ในสถานการณ์โควิด-19 มีการใช้ Google Classroom, Line, Facebook และ Webex และตอนนี้มหาวิทยาลัยปรับตัวเป็นไฮบริดมีทั้งออนไลน์และออนไซต์ นอกจากนี้การเรียนการสอนในระดับปริญญาโทยังทำอะไรได้เยอะ เพราะมหาวิทยาลัยของเราเป็น Student Center นักศึกษาอยากเรียนอะไรเขาก็บอกเรา เราปรับเปลี่ยนให้เท่าที่จะทำได้ ต่อไปคือ Content มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำหลักสูตรดิจิทัลต่าง ๆ ของตัวเอง โดยหลักสูตรสำหรับปริญญาตรีจะต้องมี Basic Knowledge ด้วย ในเวลานี้เริ่มเรียนด้วยระบบออนไลน์มากขึ้น เด็กก็มีความสนใจทั้งออนไลน์และออนไซต์มากขึ้น และยังมีความตั้งใจอยู่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น Basic Knowledge ที่จะใส่เข้าไปในระบบจึงเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับปริญญาโทนั้นง่ายกว่า เนื้อหาของ Course Syllabus ไม่เปลี่ยน แต่รูปแบบการเรียนการสอนและเนื้อหาภายในสามารถปรับได้ อาทิ การเชิญกูรูมาทำคอร์สให้อัปเดตตลอดเวลา เพราะการเป็น Digital University คอร์สต้องปรับตัวได้เร็ว Content เป็นอะไรที่ต้องทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เช่น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยปรับปรุงระเบียบและหลักสูตรใหญ่ทุก ๆ 5 ปี และการปรับปรุงรายละเอียดย่อยสามารถทำได้ตลอดเวลา”

 

ด้วยจุดเด่นของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่มุ่งเน้นโอกาสและธุรกิจ โครงการหรือ Content ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาเรียนรู้จึงจำเป็นต้องตอบโจทย์และต่อยอดไปสู่การสร้างโอกาสในการทำมาหากินและสร้างรายได้ได้จริง “เช่นการลงทุนใน Bitcoin สิ่งที่นักศึกษาอยากรู้คืออะไร ช่วงขาขึ้นเขาไม่สนใจ แต่พอขาลงนักศึกษามากันเต็มเลย นั่นคือความรู้ที่เขาอยากรู้ในโลกของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเขาเสิร์ชจากกูเกิลได้เยอะแยะมากมาย แต่ในส่วนของการปฏิบัติจริงเขียนจริงคือสิ่งที่เขาต้องกลับเข้ามาสู่ระบบของมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้น Digital University เรื่องอุปกรณ์ และ Content คือสิ่งสำคัญที่จะต้องใส่ไปในดิจิทัล ในส่วนของ Health Check ของมหาวิทยาลัยเองตรงนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพยายามขับเคลื่อนจุดแข็งทั้งหมด”

 

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังร่วม ‘โครงการ U2T’ โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ สามารถใช้องค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และทรัพยากรของมหาวิทยาลัย ในการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาประเทศ ในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะนำโจทย์หรือปัญหาของประเทศ มาสู่การพัฒนาศักยภาพกำลังคน พัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศ (www.u2t.ac.th) และด้วยเพราะมีทำเลอยู่ใจกลางของกรุงเทพฯ จึงร่วมจัดทำ ‘ห้วยขวางโมเดล’ ก้าวสำคัญของการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ที่บรรดานักศึกษามีโอกาสลงพื้นที่ไปพบปะและพูดคุยกับแม่ค้าพ่อค้ารอบ ๆ มหาวิทยาลัย และนำมาสู่การโครงการต่อยอดและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามมา “ตอนที่ยังไม่มีโควิด-19 ยังทำได้ เมื่อมีโควิด-19 แล้ว ส่วนใหญ่ก็ต้องลดไป เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เป็น Fully Digital คือให้ชาวบ้านสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและเรียนรู้กับมหาวิทยาลัย เพราะจากที่นักศึกษาลงพื้นที่ไปพูดคุยพบว่าปัญหาของชาวบ้านคือการเข้าถึงสื่อดิจิทัล เพราะฉะนั้น Infrastructure ก็สำคัญ การจะเป็น Digital University ได้ควรจะ Support ทุกคน ปัจจัยนี้ต้องคำนึงถึงด้วย”

 

รศ. ดร.สุวรรณียกตัวอย่างอีกหนึ่งทิศทางสำคัญของการมุ่งสู่ Digital University กับ ‘โครงการ Harbour.Space@UTCC’ ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ Harbour.Space มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการบริหารธุรกิจ เทคโนโลยี และการออกแบบ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจ Startups และผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง Startups ในระดับสากล ด้วยการระดมมืออาชีพระดับโลกร่วมขยายขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและการออกแบบ และจัดการเรียนการสอนที่สร้างประสบการณ์แก่ทั้งอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษา “นี่คืออีกทิศทางหนึ่งที่จะเป็นดิจิทัล คนเรียนสามารถจับคู่กับธุรกิจ และทำเป็นขึ้นมาจริง ๆ มหาวิทยาลัยให้ความรู้แล้ว สุดท้ายเขาสามารถนำไปเป็นความร่วมมือ เรียนไปและได้ทำงาน ทิศทางของการเรียนที่สามารถนำความรู้จากระบบดิจิทัลไปใช้เรียนและทำงานจริงด้วยได้นั้นคือการเรียนตลอดเวลา และน่าจะเป็นเรื่องดิทิจัลในอนาคตต่อไป”

 

ความเข้มข้นของทุกการขับเคลื่อนที่ส่งต่อสู่สังคมดิจิทัลในภาพใหญ่

ดร.วันฉัตรสรุปช่วงท้ายว่าดังที่อาจารย์ทุกท่านกล่าวไว้ว่าการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลไม่เพียงเป็นการตอบโจทย์ตัวของมหาวิทยาลัยเองเท่านั้น หากยังส่งผลกับการเป็นดิจิทัลของประเทศไทย ย้ำถึงความสำคัญที่ว่า ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เพราะจุดมุ่งหมายสำคัญยิ่งของการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลคือส่งผลกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน องคาพยพทั้งหมดจึงต้องเดินไปสู่คำว่าดิจิทัลร่วมกัน “มหาวิทยาลัยดิจิทัลไม่ใช่แค่การลงทุนที่ฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ ตัวคนก็สำคัญมากที่จะทำให้เกิดความเป็นดิจิทัลขึ้นมา อยากให้อาจารย์มองออกไปที่นอกรั้วมหาวิทยาลัยด้วยว่าจะทำอย่างไรให้สังคมไทยมีความรอบรู้ในเชิงของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ก็มีการคิด วิเคราะห์ และแยกแยะในความมีเหตุและมีผลของข้อมูลข่าวสาร ไม่ใช่การมีแค่เครื่องไม้เครื่องมือ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงหรือทำให้เกิดความเป็นดิจิทัลทั้งองคาพยพ” ดร.วันฉัตรกล่าว “DMM ไม่ใช่เครื่องมือวิเคราะห์ตัวเราอย่างเดียว แต่สามารถชี้ประเด็น ชี้ทางออกได้ วันนี้ความเป็น digital university ดิจิทัลของรัฐบาล หรือดิจิทัลทางสังคมต่าง ๆ นานา คือสิ่งที่ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่ยุทธศาตรชาติ แผนแม่บท แผนทุกประเภท แผน 13 ที่จะประกาศใช้ (ตุลาคม พ.ศ. 2565) ฯลฯ เพื่อให้ประเทศไทยมีความเท่าทันสามารถแข่งขันกับสังคมโลกได้ จึงฝากไว้ว่า ‘สังคม’ จะก้าวไปสู่ความเป็นดิจิทัลได้อย่างไร”

 

“ตอนนี้จะมองแค่ผลประกอบการของตัวเองตามลำพังไม่ได้แล้ว ยังมีเรื่องของ People และ Planet เครื่องมือ DMM จะช่วยในเรื่องของการชี้จุด ชี้เป้า และทำให้เราเป็นลมใต้ปีกของกันและกัน สภาวะที่เรียกว่า Modularity หรือในส่วนที่เรามีความถนัด สามารถปลั๊กกับคนอื่นได้ จะเกิดขึ้นจริง นอกจากนี้การทำร่วมกันจะเรียกว่า Go Far Go Together ไม่ใช่ Go Fast และ Go Alone อีกต่อไป” อาจารย์ดนัยรัฐเสริมและปิดท้าย

 

ชมเสวนาออนไลน์ Digital University : Enabling The Smart Society ในหัวข้อ “สำรวจความพร้อมเพื่อสร้างแผนที่นำทางสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล” ได้ที่นี่

https://www.facebook.com/digitaluniversity.thai/videos/1240455023398618

https://www.facebook.com/digitaluniversity.thai/