การพัฒนาที่ยั่งยืน : คำสำคัญแห่งยุคที่เป็นเป้าหมายและความเชื่อมโยงของภาคการศึกษา

‘การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development’ ได้รับการกล่าวถึงอย่างต่อเนื่องขึ้นในทุกระดับทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นระดับโลก ประเทศ สังคม อุตสาหกรรม หรือแม้แต่ภาคการศึกษา ทำไมคำว่า ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ จึงกลายเป็นคำสำคัญแห่งศตวรรษ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำกัดความไว้ว่า ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ คือ “แนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง (Brundtland Report, 1987) โดยการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) ความครอบคลุมทางสังคม (Social Inclusion) และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection)” และจากส่วนหนึ่งของบทความโดยคุณสันติ บางอ้อ ซึ่งเผยแพร่ใน หนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ คอลัมน์สภาพัฒน์กับการพัฒนาประเทศ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2546 ระบุว่า “ที่ดูจะเข้าใจง่ายขึ้นก็คือคำอธิบายตามแนวคิดของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) (สมณศักดิ์ในเวลานั้น) ที่อธิบายไว้ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนมีลักษณะที่เป็นบูรณาการ คือทำให้เกิดเป็นองค์รวม หมายความว่า องค์ประกอบทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาประสานกันครบองค์และมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง คือ มีดุลยภาพ หรือพูดอีกนัยหนึ่ง คือ การทำให้กิจกรรมมนุษย์สอดคล้องกับเกณฑ์ของธรรมชาติ” ถ้าจะแปลความให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อให้เข้าใจถึง ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ ของไทยก็คือ “การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องเป็นการพัฒนาที่ก่อให้เกิดความสมดุลหรือมีปฏิสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันในระหว่างมิติอันเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้ชีวิตมนุษย์อยู่ดี มีสุข คือ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม จิตใจ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งต่อคนในรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นอนาคต”

ทั้งนี้ การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ประเทศไทยและประเทศสมาชิกสหประชาชาติรวม 193 ประเทศ ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาของโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยกำหนดให้มี ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) 17 เป้าหมาย’ ได้แก่

1) ขจัดความยากจน (No Poverty)

2) ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger)

3) สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well Being)

4) การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education)

5) ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)

6) น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล (Clean Water and Sanitation)

7) พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ (Affordable and Clean Energy)

8) งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Decent Work and Economic Growth)

9) โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม (Industry, Innovation and Infrastructure)

10) ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequality)

11) เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities)

12) การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production)

13) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)

14) ทรัพยากรทางทะเล (Life Below Water)

15) ระบบนิเวศบนบก (Life on Land)

16) ความสงบสุขยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง (Peace Justice and Strong Institution) และ

17) ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวทางให้แต่ละประเทศดำเนินการ (Partnerships for the Goals)

ตลอดจนได้จัดกลุ่ม SDGs ตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกัน 5 มิติ (5P) ได้แก่

1) การพัฒนาคน (People) ซึ่งให้ความสำคัญกับการขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหย และลดความเหลื่อมล้ำ ในสังคม

2) สิ่งแวดล้อม (Planet) ให้ความสำคัญกับการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศเพื่อพลเมืองโลกรุ่นต่อไป

3) เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (Prosperity) ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและสอดคล้องกับธรรมชาติ

4) สันติภาพและความยุติธรรม (Peace) ยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีสังคมที่สงบสุข และไม่แบ่งแยก และ

5) ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย’ ที่ครอบคลุมมิติการพัฒนาด้านการพัฒนาคน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สันติภาพและความยุติธรรม และความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ยังสอดคล้องกับ ‘แนวทางการพัฒนาของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)’ ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล และเป็นกรอบในการจัดทำแผนการพัฒนาประเทศให้มีความสอดคล้องและบูรณาการกัน เพื่อพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดย คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) มีมติเห็นชอบ ‘หลักการของแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thailand’s SDG Roadmap)’ ซึ่งประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่

1) สร้างความตระหนักรู้

2) เชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับแผน 3 ระดับของประเทศ ได้แก่ แผนระดับที่ 1 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) แผนระดับที่ 2 ประกอบด้วย 4 แผน คือ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และแผนระดับที่ 3 คือแผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการระยะ 5 ปี และรายปี แผนปฏิบัติการด้าน…(เฉพาะกิจ)…ที่จัดทำขึ้นตามพันธกรณีหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศ

3) จัดตั้งกลไกในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

4) จัดทำโครงการ/การดำเนินงาน/การพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

5) ภาคีการพัฒนาที่มุ่งให้ภาคส่วนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน SDGs และ

6) ติดตามประเมินผลการขับเคลื่อน SDGs ที่มุ่งหมายให้การติดตามและประเมินผลมีความเป็นระบบปัจจุบันมีการออกแบบระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติที่เรียกว่า eMENSCR

 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำเนินการวิเคราะห์เปรียบเทียบความเชื่อมโยงระหว่าง 169 เป้าหมายย่อย (Target) ของ SDGs กับ 37 เป้าหมายระดับประเด็นแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 23 ฉบับ (แผนระดับที่ 2) และ 140 เป้าหมายระดับแผนย่อยของแผนแม่บทฯ เพื่อประมวลความสอดคล้องการกำหนดทิศทางการพัฒนาระดับประเทศกับระดับนานาชาติ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ พบว่า ‘เป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายหลัก และ 169 เป้าหมายย่อย’ มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน’ คือ

ยุทธศาสตร์ 1 ด้านความมั่นคง

ยุทธศาสตร์ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

ยุทธศาสตร์ 3 ด้านพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์

ยุทธศาสตร์ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

ยุทธศาสตร์ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ

ยุทธศาสตร์ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

และมีความสอดคล้องกับเป้าหมายระดับแผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 23 ประเด็น ซึ่งหน่วยงานของรัฐสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำโครงการและแผนระดับที่ 3 ให้สามารถบรรลุได้ทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทฯ ได้ในคราวเดียวกัน

 

สำหรับ ‘ภาคการศึกษา’ โดยเฉพาะ ‘การอุดมศึกษาของประเทศไทย’ ซึ่งนำโดย ‘กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)’ ตระหนักในภารกิจสำคัญคือการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศให้มีศักยภาพและมีความพร้อมในการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามเป้าหมายที่รัฐบาลมุ่งพัฒนากำลังคนเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากสู่ความเป็น Thailand 4.0 สร้างความเชื่อมั่นและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รัฐบาลจึงมีนโยบายให้นำวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม มาใช้ในการขับเคลื่อนประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชนและสังคม และบูรณาการวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาใช้ในเชิงพาณิชย์ในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และภาคบริการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนให้ความสำคัญแก่การพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคม และนวัตกรรมในเชิงพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาและสร้างโอกาสไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาทุนมนุษย์ทั้งในด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับโลกยุคดิจิทัล และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 สอดคล้องกับ ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’

 

ทั้งนี้ เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย เพื่อเร่งสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาคนของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจะต้องสอดประสานการทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนา เพื่อเป็น Future Changer คือ การเป็นตัวหลักในการเตรียมพร้อมคนไทยในศตวรรษที่ 21 เป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่าและเป็นเฟืองสำคัญในการปรับเปลี่ยนสู่ประเทศฐานนวัตกรรม ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทภารกิจไปพร้อม ๆ กับการเติมเต็มศักยภาพ ทั้งของสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สามารถตอบโจทย์ประเทศและประชาชนได้ โดยกรอบโยบายที่วางไว้เป็น 4 มิติ ได้แก่

1) สร้างและพัฒนาคนไทยในศตวรรษที่ 21

2) สร้างและพัฒนาองค์ความรู้

3) สร้างและพัฒนานวัตกรรม และ

4) ปฏิรูปการอุดมศึกษา

 

ในห้วงเวลานี้ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่เพียงไม่นาน ‘Digital University หรือ Smart University’ ยังคงเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายหลัก ที่ สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวง อว. ต่างเร่งรุดเดินหน้ากันด้วย ‘ความเข้มข้นและเข้มแข็ง’ หากความสำคัญคือการมี ‘เป้าหมาย กรอบคิด และเข็มทิศที่ชัดเจน’ ตั้งแต่ความเกี่ยวข้องและสอดรับกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนที่สำคัญ ๆ อย่างครบถ้วนทุกมิติ อาทิ

 

1) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้มีรายละเอียดสำคัญที่น่าสนใจ กล่าวคือ ยุทธศาสตร์ 1 ด้านความมั่นคง ประกอบด้วยประเด็นยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลด้าน การแก้ไขปัญหาภัยคุกคามและปัญหาที่ส่งผลต่อความมั่นคง อาทิ อาชญากรรมทางไซเบอร์และการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ ยุทธศาสตร์ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน กล่าวคือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ในการเพิ่มศักยภาพ และยกระดับประสิทธิภาพของภาคเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ยุทธศาสตร์ 3 ด้านพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ มุ่งเน้นการปฏิรูปการเรียนรู้แบบพลิกโฉมในทุกระดับตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการพัฒนาระบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 มีการออกแบบระบบการเรียนรู้ใหม่ การเปลี่ยนบทบาทครู การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการศึกษา และการพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอด ชีวิตเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถกำกับการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเองได้อย่างต่อเนื่องแม้จะออกจากระบบการศึกษาแล้ว ยุทธศาสตร์ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ได้แก่ การสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่บนฐานข้อมูลความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลมิติต่าง ๆ ให้มีความถูกต้องแม่นยำ การเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่จะเอื้อให้ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ยุทธศาสตร์ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้น้อมนำศาสตร์ของพระราชาสู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยยึดหลัก 3 ประการคือ ‘มีความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน’ มาเป็นหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติควบคู่กับการนำ ‘เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย’ มาเป็นกรอบแนวคิดที่จะผลักดันดำเนินการเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลทั้ง 3 ด้าน ไม่ให้มากหรือ น้อยจนเกินไป อันจะนำไปสู่ความยั่งยืน และ ยุทธศาสตร์ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นยุทธศาสตร์ที่เน้นการปรับเปลี่ยนภาครัฐ ยึดหลัก ‘ภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม’ โดยภาครัฐต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาทภารกิจ และแยกแยะบทบาทหน่วยงานของ รัฐที่ทำหน้าที่ในการกำกับหรือในการให้บริการในระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขัน มีขีดสมรรถนะสูง ยึดหลักธรรมาภิบาล ปรับวัฒนธรรมการทำงานให้มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม มีความทันสมัยและพร้อมที่จะปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

 

2) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งมีสถานะเป็นแผนระดับที่ 2 ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยเป็นกลไกที่สำคัญในการแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ และใช้เป็นกรอบสำหรับการจัดทำแผนระดับที่ 3 เพื่อให้การดำเนินงานของภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องสามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ การกำหนดทิศทางของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้ประเทศสามารถก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ เพื่อให้ ‘ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ อาศัยหลักการและแนวคิด 4 ประการ ได้แก่

  1. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดย ‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ การพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างมีเหตุผล ความพอประมาณ ภูมิคุ้มกัน บนฐานของความรู้ คุณธรรม และความเพียร
  2. การสร้างความสามารถในการ ‘ล้มแล้ว ลุกไว’ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ระดับ ประกอบด้วย การพร้อมรับ หรือระดับ ‘อยู่รอด’ การปรับตัว หรือระดับ ‘พอเพียง’ และการเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน หรือระดับ ‘ยั่งยืน’
  3. เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติโดยกำหนดทิศทางการพัฒนาที่อยู่ บนพื้นฐานของแนวคิด ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ และ
  4. การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว โดยให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสมัยใหม่และความคิดสร้างสรรค์

 

3) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (แก้ไขปรับปรุง) ซึ่งมีหลักการว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญาความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยยึด 3 หลัก คือ

  1. เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน
  2. ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
  3. การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

 

4) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 เพราะประเทศไทยยังต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วนในด้านโอกาสทางการศึกษา ด้านคุณภาพ ด้านประสิทธิภาพของการจัดการ เรียนการสอน การบริหารจัดการ และการใช้จ่าย งบประมาณทางการศึกษา จึงมีการจัดทำแผนการ ศึกษาแห่งชาติ ยึดหลักสำคัญในการจัดการศึกษา ประกอบด้วย

  1. หลักการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All)
  2. หลักการจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมและทั่วถึง (Inclusive Education)
  3. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) และ
  4. หลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของ สังคม (All for Education)

อีกทั้งยึดตาม ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ประเด็นภายในประเทศ (Local Issues) คุณภาพของคนทุกช่วงวัย การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ประชากรของประเทศ ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ และวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โดยนำยุทธศาสตร์ชาติมาเป็นกรอบความคิดสำคัญในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยกำหนดวิสัยทัศน์ คือ “คนไทยทุกคนได้รับสอดคล้องกับหลักปรัชญาการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21” โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา 4 ประการ คือ

  1. เพื่อพัฒนาระบบและกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ
  2. เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองดี มีคุณลักษณะ ทักษะและสมรรถนะที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและยุทธศาสตร์ชาติ
  3. เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณธรรม จริยธรรม รู้รักสามัคคี และร่วมมือผนึกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  4. เพื่อนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และความเหลื่อมล้ำภายในประเทศลดลง โดยมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะในโลกศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ‘3Rs + 8Cs’ (3Rs : อ่านออก (Reading) เขียนได้ (Writing) คิดเลขเป็น (Arithmetic) + 8Cs : ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving) ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม (Creativity and Innovation) ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์ (Cross –cultural Understanding ทักษะด้านความร่วมมือ การท างานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration Teamwork and Leadership) ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ (Communications, Information and Media Literacy) ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Computing and ICT Literacy) ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้ (Career and Learning Skills) มีความเมตตา วินัย คุณธรรม จริยธรรม (Compassion))

พร้อมด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

  1. การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ
  2. การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
  3. การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
  4. การสร้างโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา
  5. การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  6. การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา

 

5) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งกำหนดแนวทางการพัฒนาหรือภูมิทัศน์ดิจิทัลออกเป็น 4 ระยะ เพื่อให้นโยบายและแผนระดับชาติฯ สามารถรองรับพลวัตของเทคโนโลยีดิจิทัล และนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศตามที่กำหนดวิสัยทัศน์ คือ ปฏิรูปประเทศไทยสู่ Digital Thailand โดยกำหนด 4 เป้าหมายในระยะ 10 ปี คือ

เป้าหมายที่ 1 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ก้าวทันเวทีโลก ด้วยการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิต การบริการ

เป้าหมายที่ 2 สร้างโอกาสทางสังคมอย่างเท่าเทียมด้วยข้อมูลข่าวสารและบริการผ่านสื่อ ดิจิทัล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

เป้าหมายที่ 3 พัฒนาทุนมนุษย์สู่ยุคดิจิทัล ด้วยการเตรียมความพร้อมให้บุคลากรทุกกลุ่มมีความรู้และทักษะที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัล

เป้าหมายที่ 4 ปฏิรูปกระบวนทัศน์การทำงานและการให้บริการของภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อให้การปฏิบัติงานโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

 

6) (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 ที่มุ่งยกระดับภาครัฐไทยสู่เป้าหมายการให้บริการที่ตอบสนองประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจ การสร้างความโปร่งใส ที่เน้นการเปิดเผยข้อมูลแก่ประชาชนโดยไม่ต้องร้องขอและการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน และการเป็นภาครัฐที่ปรับตัวทันการณ์ กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ข้างต้นไว้ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาบริการที่สะดวกและเข้าถึงง่าย

ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างมูลค่าเพิ่มอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ยกระดับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลภาครัฐ เพื่อการบริหารงานที่ยืดหยุ่น คล่องตัว และขยายสู่หน่วยงานภาครัฐระดับท้องถิ่น

นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลมีทิศทางที่ชัดเจนและเกิดขึ้นได้จริงในเชิงปฏิบัติ จึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาในด้านที่มุ่งเน้นสำคัญ ไว้ทั้งหมด 10 ด้าน ได้แก่ การศึกษา สุขภาพและการแพทย์ ความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน สิ่งแวดล้อม การเกษตร การท่องเที่ยว การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) แรงงาน การยุติธรรม และการมีส่วนร่วม โปร่งใสและตรวจสอบได้ของประชาชน

 

7) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561-2580) กับวิสัยทัศน์ ‘ปฏิรูปประเทศไทยสู่ดิจิทัลไทยแลนด์’ ที่กำหนดเป้าหมายไว้ 4 เป้าหมาย ได้แก่

เป้าหมายที่ 1 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ก้าวทันเวทีโลก ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิตการบริการ

เป้าหมายที่ 2 สร้างโอกาสทางสังคมอย่างเท่าเทียมด้วยข้อมูลข่าวสารและบริการผ่านสื่อดิจิทัล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

เป้าหมายที่ 3 พัฒนาทุนมนุษย์สู่ยุคดิจิทัลด้วยการเตรียมความพร้อมให้บุคลากรทุกกลุ่มมีความรู้และทักษะที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัล

เป้าหมายที่ 4 ปฏิรูปกระบวนทัศน์การทำงานและการให้บริการของภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อให้การปฏิบัติงานโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้อง คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล

 

8) นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2570 เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาระบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน เพื่อให้เกิดเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ที่สอดคล้องกับทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และนโยบายของรัฐบาล โดยมีวิสัยทัศน์ คือ “เตรียมคนไทยแห่งศตวรรษที่ 21 พัฒนาเศรษฐกิจที่กระจายโอกาสอย่างทั่วถึง สังคมที่มั่นคง และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยสร้างความเข้มแข็งทางนวัตกรรม ระดับแนวหน้าในสากล นำพาประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว” การจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ฉบับนี้ คำนึงถึงบริบทของการปฏิรูปประเทศในปัจจุบัน การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกระทรวงใหม่ และบริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงออกแบบให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน การดำเนินงานในลักษณะแพลตฟอร์ม ความร่วมมือ ตามเป้าประสงค์ของการพัฒนาใน 4 ด้าน ได้แก่

  1. การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้
  2. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม
  3. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
  4. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ

โดยดำเนินงานควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ยุทธศาสตร์การดำเนินงานในแต่ละแพลตฟอร์ม ได้กำหนดเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (Objectives and Key Results : OKR) และชุดโปรแกรมภายใต้แพลตฟอร์ม เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบแผนด้านการอุดมศึกษา และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศต่อไป ทั้งนี้ประกอบไปด้วย 4 แพลตฟอร์ม คือ

แพลตฟอร์มที่ 1 การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้

แพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อจอบโจทย์ท้าทายของสังคม

แพลตฟอร์มที่ 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

แพลตฟอร์มที่ 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ

 

นอกจากนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผน ที่ยึด ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ เป็นสำคัญ และเชื่อมร้อยเข้ากับ ‘การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบ’ ของสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ แล้ว อีกหนึ่ง ‘หัวใจหลัก’ ของการสร้างความพร้อมในการรับกลยุทธ์ใหม่ ๆ คือ คำว่า ‘ตั้งหลัก’ เป็นตัวตั้งต้น กับ ‘Enterprise Blueprint หรือพิมพ์เขียวองค์กร’ ที่เป็นแผนผังแสดงหน่วยองค์ประกอบความสามารถต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยออกเป็นหมวดหมู่ที่ชัดเจนว่า ‘ใครทำใคร ใครทำอะไร และเพื่อทำอะไร’ เพื่อทำให้ผู้บริหารและทีมงานเห็นภาพตรงกัน (Common Understanding) สู่การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบมีเอกภาพใน ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’

 

คราหนึ่ง รศ. ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ มีบทบาทและภารกิจสำคัญในการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของประเทศก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล (อย่างใกล้เคียงความสมบูรณ์แบบหรือเต็มรูปแบบ) โดยตั้งเป้าไว้ในระยะ 5 ปีข้างหน้า สะท้อนภาพความก้าวหน้าด้านการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทยที่เกิดการขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว ทว่าข้อสังเกตของการผลักดันการใช้งานดิจิทัลผ่านแอปพลิชันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทางที่ผ่านมานั้น มีเบื้องหลังอยู่ที่ ‘การเชื่อมโยง’ หรือความพยายามใน ‘การใช้ข้อมูลร่วมกัน’ เฉกเช่นเป้าหมายของการพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล ที่สุดแล้วหัวใจสำคัญคือ ‘การเชื่อมโยง’ ’ และ ‘การบูรณาการ’ ในทุกระดับ

 

นอกจากนี้ ก้าวสำคัญอีกก้าว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นและบทบาทสำคัญประการแรก คือ แง่ของการทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนสู่หน่วยปฏิบัติที่ทำหน้าที่วิจัยและสร้างนวัตกรรม ได้ร่วมสานกำลังและความเข้มแข็งกับสถาบันคลังสมองของชาติ ในการสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยให้เข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบ รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึงการทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของ สกสว. ไว้ว่า แรกสุดจะต้องนำเมกะเทรนด์ และสถานการณ์ต่าง ๆ มาเป็นตัวตั้งในการมองการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น และที่สำคัญ คือ การกลับไปจับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทอีก 23 ฉบับ รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและอื่น ๆ เพื่อมองแผนไปข้างหน้าในระยะ 5 ปี โดย สกสว. ยังพูดคุยกับภาคเอกชนในภาพการไปข้างหน้าจากมุมของเอกชน อีกด้านหนึ่ง คือ Social Needs และระดับพื้นที่ ซึ่งใช้ ‘SGDs’ เป็นกรอบในการมอนิเตอร์พื้นที่ต่าง ๆ ด้วย

 

จากภาพใหญ่สู่ภาพย่อย และการนำไปปฏิบัติตามลำดับ โดยเฉพาะภาคการศึกษา ที่เป็นต้นทางการผลิตทรัพยากรสำคัญให้กับประเทศ ทั้งกำลังคน องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม ฯลฯ ที่ล้วนต้องตอบโจทย์และสอดคล้องกับแนวความคิด ความต้องการ และการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกมิติ ตลอดจนถึงการบรรลุเป้าหมายด้านความเติบโตทางเศรษฐกิจ ความครอบคลุมทางสังคม และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ คงต้องยกให้ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ ซึ่งเป็นทั้งกรอบการพัฒนาและเป้าหมายของโลก กลายเป็นหนึ่งคีย์เวิร์ดแห่งยุคนี้ไปอย่างสิ้นสงสัย

5 ข้อค้นพบจากคนหลังบ้าน

จากประสบการณ์และจากผู้ที่เข้าร่วมโครงการ สิ่งแรกที่คนหลังบ้านได้ค้นพบคือ ‘องค์กร’ หรือวิสัยทัศน์ขององค์กร กล่าวคือหลายองค์กรมีวิสัยทัศน์ที่ดี แต่กระบวนการที่จะไปถึงอาจยังมีข้อติดขัด โครงการที่เกิดขึ้นจึงอาจช่วยให้ข้อติดขัดบางอย่างไปต่อได้ กระบวนการต่าง ๆ สามารถดำเนินไปได้อย่างลื่นไหล “ส่วนที่ 2 คือ ความตระหนัก รู้เกี่ยวกับการหาแนวทาง เมื่อมหาวิทยาลัยได้หาแนวทางว่าถ้าจะมุ่งไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ซึ่ง ณ ตอนนั้นข้อมูลข่าวสารของโครงการอาจยังไม่หลากหลายและทั่วถึง แต่ก็สามารถหาบุคคล หาองค์ความรู้มาสนับสนุนในเบื้องต้นได้ ส่วนถัดมาคือ วิสัยทัศน์/วิกฤต หมายความว่า องค์กรจะขับเคลื่อนด้วยวิสัยทัศน์ หรือจะรอให้เกิดวิกฤตเสียก่อนถึงจะเดินหน้าไปต่อ ส่วนถัดมาคือ การรวมกลุ่มขององค์กร เป็นการเชิญทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมทำงาน ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้องค์กรขับเคลื่อนได้ก่อน”

สำหรับ ‘หน่วยงาน’ พบว่า เมื่อได้เรียนรู้เกี่ยวกับการมุ่งสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลกับ ‘โครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ แล้ว จึงกลับมาเช็กมาดูกันว่างานที่ทำอยู่นั้นตอบโจทย์กับวิสัยทัศน์หรือตอบโจทย์กับแฟล็กชิปของมหาวิทยาลัยหรือไม่ เกิดเป็นการทบทวน ทำให้เกิดความตระหนักขึ้นในองค์กรว่าถ้ายังไม่ตอบโจทย์กับวิสัยทัศน์หรือตอบโจทย์กับแฟล็กชิปของมหาวิทยาลัย แล้วจะขยับอย่างไร “มีการปรับตัว หาองค์ความรู้ เข้ามาในโครงการ ทั้งเพื่อสอบถามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งล้วนแต่เป็นการเริ่มขยับ หน่วยงานในมหาวิทยาลัยส่วนไหนที่มีความพร้อมก่อนก็ไปก่อน เพื่อเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ที่จะขยับไปด้วยกัน” อาจารย์วสันต์กล่าว “ถัดมาคือการให้ความร่วมมือของหน่วยงาน และระหว่างหน่วยงาน เพราะอย่าลืมว่าหน่วยงานแต่ละหน่วยงานที่ทำงาน จะต้องมีหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาช่วย Support เราไม่สามารถทำงานหน่วยงานเดียว เราไม่สามารถสร้างข้อมูลอย่างเดียว เราต้องใช้ข้อมูลจากหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย นี่ทำให้เกิดและเห็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน แม้ว่าจะเป็นความร่วมมือที่ยังไม่เป็นทางการ แต่พอจะทราบแล้วว่าต่อไปถ้าจะพัฒนาหน่วยงานของตนเองนั้น เราต้องให้หน่วยงานไหนเข้ามา Support”

ถัดมาคือ ‘บุคลากร’ กล่าวคือ เมื่อหน่วยงานเริ่มเกิดการตระหนักรู้แล้วว่าหน่วยงานของเรามีความสำคัญในการขับเคลื่อน การพัฒนาศักยภาพบุคลากรนั้นจึงนับเป็นส่วนสำคัญ เพราะองค์กรต้องมีบุคลากรเพื่อการพัฒนาทั้งกระบวนการทำงานและการเชื่อมต่อระหว่างองค์กรด้วยกัน “สิ่งที่ค้นพบคือ เมื่อบุคลากรได้เข้าร่วมกับโครงการแล้ว จะเริ่มเห็นตัวเอง เห็นงานของตัวเอง เห็นเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ ว่าอยู่ตรงไหนใน Enterprise Blueprint ไปถึงการใช้ประโยชน์อย่างไร ข้อมูลตรงไหน ในเบื้องต้นของจุดที่เริ่มมองเห็นนั้น จะเริ่มมีแนวทางแล้วว่าจะไปต่อเป็นอย่างไร จะพัฒนางานตัวเองอย่างไร โครงการนี้จึงตอบโจทย์กับบุคลากรที่กำลังต้องการพัฒนาตัวเอง และคนที่พร้อมมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ การสื่อสาร การพูดคุย การแลกเปลี่ยนปรึกษา เรียกว่า เป็นการค้นหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและปรับตัวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล” อาจารย์วสันต์อธิบาย “ส่วนสุดท้ายของบุคลากรคือ การเชื่อมโยงงานของตัวเองกับงานของหน่วยงานภายนอก เมื่อเริ่มเห็นว่าเกิด Diffusion คือ การแพร่กระจายของสิ่งที่คิดว่า เขาทำได้ เขาภูมิใจ และเขารู้แล้วว่า สิ่งที่เขาทำ หรือข้อมูลที่เขาทำนั้นมีประโยชน์กับหน่วยงานอื่น ๆ หน่วยงานอื่น ๆ ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลของเขา จึงเริ่มแพร่กระจายความสำเร็จเล็ก ๆ เหล่านี้ไปสู่หน่วยงานอื่น ๆ และเกิดการเลียนแบบ เกิดการหาแนวทางในการพัฒนาตัวเองต่อไป”

ข้อค้นพบถัดมาคือ ‘ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง’ อธิบายได้ว่า หลังจากเริ่มหาจุดร่วมแล้วว่าเราจะร่วมกับเขาอย่างไร เราจะไปอยู่ตรงไหนของเขาในกระบวนการทำงาน เราจะแชร์ทรัพยากรอะไรได้บ้าง ‘โครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ จะทำให้เกิดภาพที่ชัดเจน “เพราะเมื่อเริ่มกล้าที่จะทำ ประเด็นถัดมาคือรู้ว่าใครที่เราจะต้องร่วมงานด้วย ใครที่จะต้องมาช่วยเหลือเรา และเราต้องช่วยเหลือใคร เป็นการมองเห็นตัวเอง พาร์ตเนอร์ ไปจนถึงเรื่องของการใช้ข้อมูล การเชื่อมโยงระบบการทำงานต่าง ๆ เป็นการร้อยคนที่อยู่ในบริบทที่หลากหลายเข้ามาร่วมงานกัน”

ข้อค้นพบสุดท้ายคือ ‘เทคโนโลยี และข้อมูล’ อาจารย์วสันต์สะท้อนประสบการณ์และกล่าวยอมรับกับความจริงที่เกิดขึ้นว่า ‘เทคโนโลยีนำวิสัยทัศน์’ อันนำมาสู่เรียบเรียงความเข้าใจและคลี่คลายประเด็นต้องสงสัยว่า ‘ตกลงเราจะไปด้วยวิสัยทัศน์ หรือเราจะไปด้วยเทคโนโลยี’ โดยฉายความชัดเจนว่าไปด้วยแต่ละอย่างนั้นแตกต่างและเป็นอย่างไร เปรียบเทียบกัน “ถัดมาคือ ข้อมูลและมาตรฐานการเชื่อมต่อข้อมูลในหน่วยงาน ถือเป็นสิ่งที่พบเจอกันได้ทั่วไป อีกส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลคือ ความกังวลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี หรือกังวลเรื่องการปรับเปลี่ยน เป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่คิดว่าจะทำได้หรือไม่ได้ แน่ใจหรือไม่แน่ใจ ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้วยแล้ว มักทำให้คนรู้สึกกังวล แต่เมื่อได้รับการคลี่คลายไปในบางส่วน ก็ทำให้เกิดความรู้สึกกล้ามากขึ้น” อาจารย์วสันต์กล่าว “สุดท้ายคือมีเทคโนโลยีจริง แต่ความไซโลก็ยังมี ทั้งนี้ความไซโลไม่ใช่เรื่องไม่ดี การประเมินด้วยเครื่องมือ DMM แล้วได้ผลว่าไซโลเยอะ จะโดนว่า ความจริงแล้วไซโลคือจุดที่เราเห็นตัวเอง และสามารถที่จะเริ่มต้นพัฒนาตัวเอง บางงานอาจยังต้องไซโลเพื่อให้ผ่านตรงนี้ไปได้ ต่อไปจะรีไทร์เซอร์วิสตัวนี้ก็ไม่มีผลกระทบอะไร เพราะฉะนั้นไซโลไม่ใช่ของแสลง แต่เป็นสิ่งที่เราต้องอยู่ด้วยกันและพัฒนาไปด้วยกัน”

 

เครื่องมือ DMM กับงานหน้าบ้าน กลางบ้าน หลังบ้าน

อาจารย์วสันต์กล่าวถึงการทำ Enterprise Blueprint การทำ Design & Track Worksheet หรือแม้กระทั่งการทำ Vision Builder สิ่งที่ปรากฏคือ ในอดีตเมื่อองค์กรจะทำอะไร ต้องรอวิสัยทัศน์จากผู้บริหารว่าท่านจะขับเคลื่อนไปทางไหน และรอให้ตกผลึกลงมาสู่ระดับล่าง ซึ่งกว่าจะถึงระดับปฏิบัติการอาจจะดูว่าช้าเกินไป หากในยุคปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า ยุคดิจิทัล การทำงาน เรียกว่า คู่ขนาน “ระดับปฏิบัติการสามารถทำ EA คู่ขนานกับวิสัยทัศน์ นี่เป็นสิ่งที่ทำได้จริง ๆ และยังสามารถใช้แนวทางของ Vision องค์กร เพราะฉะนั้นหลังจากที่หลายมหาวิทยาลัยได้ผลลัพธ์จากการประเมินด้วยเครื่องมือ DMM กันไปแล้ว ก้าวต่อไปของส่วนต่าง ๆ จึงเริ่มได้เลย

“ส่วนแรกคือ ‘ตัวองค์กร’ ปรับได้เลย ทำได้เลย โดยเป็นไปตามศักยภาพและ Resource ที่มี อันดับแรกคือ ‘การปรับวิสัยทัศน์’ ว่า ณ ปัจจุบันสถานการณ์เป็นอย่างไร อาทิ ความต้องการนักศึกษา ซึ่งสามารถใช้ทุนเดิมของมหาวิทยาลัยในการตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ถัดมาคือ ‘ตอบโจทย์สังคม’ ทั้งการสร้างนิเวศทางดิจิทัลที่เหมาะสมขององค์กร และการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมว่ามีการสร้างนิเวศอย่างไร เรื่องต่อมาคือ ‘การปรับกฎระเบียบต่าง ๆ’ ให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมมากขึ้น อีกส่วนคือ ‘วัฒนธรรมการทำงาน’ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่เป็นขวัญและกำลังใจของคนปฏิบัติงานในการขับเคลื่อนองค์กร เรียกว่า ซื้อใจคนให้สามารถทำงานและสนับสนุนองค์กรได้อย่างไม่มีความรู้สึกติดขัดในใจ ส่วนถัดมาคือ ‘ทักษะที่จำเป็น’ องค์กรต้องรู้ว่าอะไรคือทักษะที่จำเป็นเพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปในแนวทางนี้”

จากองค์กร ส่วนที่ย่อยลงมาคือ ‘หน่วยงาน’ ซึ่งอาจารย์วสันต์อธิบายว่าจะต้องพิจารณา ‘ความสอดคล้องระหว่างกระบวนการทำงานกับวิสัยทัศน์ขององค์กร’ ถ้าไม่สอดคล้องก็ต้องปรับ ต่อมาคือ ‘การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานภายใน การมีส่วนร่วม การพัฒนาทักษะที่จำเป็น’ ซึ่งเป็นการสร้างระบบนิเวศเล็ก ๆ ของหน่วยงานเพื่อตอบโจทย์วิสัยทัศน์องค์กร ล้วนเป็นสิ่งที่สามารถเริ่มทำได้ทันที

สำหรับก้าวเริ่มของ ‘บุคลากร’ คือ ‘การพัฒนาบุคลากร’ ที่พัฒนาได้ด้วยเครื่องมือที่เป็นดิจิทัล เช่น Design & Track Worksheet ไปจนถึง ‘การปรับแนวคิดและทัศนคติในการนำใช้เทคโนโลยี ซึ่งอาจารย์วสันต์เล่าว่าเคยลองทำงานวิจัยชิ้นเล็ก ๆ พบว่า กระบวนการนำใช้เทคโนโลยีในการทำงาน หรือทฤษฎีการยอมรับเทคโนโลยี หากมุ่งหวังให้คนมีพฤติกรรมในการใช้เทคโนโลยีใหม่ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ ความคาดหวังเรื่องประสิทธิภาพ เช่น ถ้าใช้เทคโนโลยีนี้แล้ว ทำให้ไม่จำเป็นต้องกลับมากรอกซ้ำกรอกซ้อน ถ้าตอบโจทย์อย่างนี้แล้วจบ คนจะเริ่มมีความตั้งใจในการใช้เทคโนโลยี เป็นต้น

“ปัจจัยถัดมาคือ ความคาดหวังว่าเทคโนโลยีที่จะต้องใช้ง่าย เมื่อคนรู้สึกว่าง่ายและมีประสิทธิภาพดี พฤติกรรมความตั้งใจจะสูงขึ้น บวกกับอิทธิพลทางสังคม เช่น หน่วยงานที่มีความพร้อม ย้ำว่าหน่วยงานที่มีความพร้อม เพราะจากประสบการณ์ หลาย ๆ มหาวิทยาลัยจะมีหน่วยงานที่เรียกว่าเป็นต้นแบบในการนำเครื่องมือตัวที่เป็นดิจิทัลมาใช้ และเมื่อเริ่มใช้แล้วมีประสิทธิภาพดี ใช้งานง่าย ย่อมส่งอิทธิพลต่อหน่วยงานอื่น ๆ ว่ามหาวิทยาลัยเริ่มขยับมาใช้วิธีการหรือกระบวนการอย่างนี้แล้ว ถ้าคุณยังไม่ทำ ยังใช้วิธีการเดิม ๆ อิทธิพลตรงนี้จะช่วยขับให้เกิดความตั้งใจในการปรับพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีตรงนี้อีกส่วนหนึ่ง ปัจจัยสุดท้ายคือ สิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งชี้ไปที่พฤติกรรมการใช้งานใหม่ หมายความว่าต่อให้อำนวยความสะดวกหรือมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้คนใช้มากเท่าไร แต่หากไม่มีความตั้งใจในการใช้พฤติกรรม วันหนึ่งคุณอาจจะไม่ใช้เทคโนโลยีตัวนั้นเลยก็ได้ นี่คือการใช้ทฤษฎีมาอธิบายสิ่งที่เห็นและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทางของโครงการ”

‘ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง’ เป็นส่วนที่ต้องสนับสนุนและยกระดับให้งานดีขึ้น กล่าวคือ โตไปด้วยกันในสภาพหรือในระบบนิเวศที่ดี ไม่ต้องแข่งขัน ไม่ต้องแย่งชิงทรัพยากรที่มีน้อยอยู่แล้ว ไปจนถึงการเชื่อมโยงข้อมูล ทั้งในหน่วยที่เล็กที่สุด จนขยายไปถึงทุก ๆ ภาคส่วน

ส่วนสุดท้ายคือ ‘เทคโนโลยี’ ต้องตอบโจทย์การทำงานขององค์กรอย่างแท้จริง ซึ่งอาจารย์วสันต์ย้ำว่า ไม่ได้ซื้อมาเพื่อเอาไว้โชว์ นอกจากนี้คือมีเทคโนโลยีที่ Resilience คือในกรณีที่เกิดปัญหาหรือข้อติดขัดย่อมสามารถกลับคืนสู่สภาพแวดล้อมเดิมหรือกลับคืนในระบบการทำงานได้อย่างรวดเร็ว “เมื่อทุกอย่างได้รับการคลี่คลาย แนวทางสุดท้ายก็คือ การวางแผนว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไร จะซื้อเทคโนโลยีอะไร มีหน่วยงานไหนที่ต้องใช้ และข้อมูลอะไรที่มีความจำเป็น เป็นการวางแผนการใช้เทคโนโลยีอย่างครอบคลุมกระบวนการการทำงานทั้งหมดที่มีอยู่ในองค์กร”

‘โครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ ซึ่งนำมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าร่วมการสำรวจความพร้อม เปรียบกับการตรวจเช็กสุขภาพ ดังนั้นต่อคำถามและความกังวลที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย อาทิ ทำแล้วจะได้หรือเปล่า ทำแล้วจะดีหรือไม่ เพิ่มภาระตัวเองหรือเปล่า หากผิดพลาดใครจะรับผิดชอบ ฯลฯ ในฐานะที่ทำงานหลังบ้าน อาจารย์วสันต์จึงใช้การให้ความคิดที่ถูกต้อง คือ ‘การประเมินด้วยเครื่องมือ DMM ไม่ใช่แบบประเมิน’ กล่าวคือ เป็นจุดเริ่มต้นของการ ‘รู้’ เรื่องของสุขภาพตนเอง มีอาการเจ็บป่วยหรือไม่ จะเริ่มรักษาจากตรงไหน มีวิธีการเริ่มรักษาอย่างไร ฯลฯ เป็นการคลี่คลายเบื้องต้น เพื่อสร้างความมั่นใจ

อาจารย์วสันต์ทิ้งท้ายบทสรุปของคนหลังบ้านไว้ว่า โครงการไม่ได้มองถึงจุดด้อยของแต่ละสถาบัน แต่เป็นการมองในมุมที่เชื่อว่ายังไปต่อได้ มองที่จุดพัฒนา ว่าจุดไหนควรพัฒนา โดยผู้ร่วมทาง ซึ่งหมายถึง มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ต้องตาบอดคลำหา ว่าต้องเริ่มจากตรงไหน แต่ ‘เห็นชัด ๆ ได้’ จาก DMM นั่นเอง