การออกแบบการเรียนรู้แบบผสมผสานที่มากไปกว่า Hybrid & Blended Leaning
จากจุดเริ่มต้นเมื่อปลายปี 2562 เกิดวิกฤตการณ์ที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับโรคติดเชื้อครั้งใหญ่อีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ ใช่… เรากำลังกล่าวถึง ‘โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19’ ที่มีการระบุว่าเกิดจากเชื้อไวรัส Sars-Cov-2 และแพร่ระบาดเป็นวงกว้างทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จนกระทั่งรัฐบาลได้ประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน
ต่อมาการระบาดได้ลากยาวข้ามปี มาตรการควบคุมยังมีอย่างต่อเนื่อง หากความเข้มข้นได้ลดระดับลงตามสถานการณ์ ถึงอย่างนั้น โควิด-19 ส่งผลกระทบไว้เป็นระยะ ไล่เลียงได้ตั้งแต่ผลทางเศรษฐกิจที่กินเวลาและรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อให้กับสังคมในอีกหลากหลายมิติ ทั้งยังเกิดการปรับตัว เกิดชีวิตวิถีใหม่ในโลกใบเดิม (New Normal) ซึ่งแนวทางที่ผู้คนต่างปรับเปลี่ยนชุดพฤติกรรมและรูปแบบวิถีชีวิตไปพร้อมกันทั่วโลก อาทิ การทำงาน การศึกษา หรือการเรียนรู้ในรูปแบบผสมผสาน การดำเนินการทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์และสาธารณสุขในลักษณะ Online Medical Consulting หรือแม้แต่การ Deglobalization เพื่อพึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้น เป็นต้น
หากมองย้อนไปที่ประเด็นพื้นฐานของสังคม การระบาดของโควิด-19 สร้างประเด็นท้าทายแก่ ‘ภาคการศึกษา’ ของประเทศไทยไม่น้อย ที่ผ่านมา การอุดมศึกษาของประเทศมีความพยายามรับมือและปรับตัวอย่างหนักหน่วง โดยพบว่า การศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้รับการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการและรูปแบบการเรียนรู้ที่เป็นลักษณะเฉพาะของผู้เรียน เกิดนวัตกรรมที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการและสถานที่เรียน ตั้งแต่ระบบการจัดการการเรียนรู้ (Learning Management Systems : LMS) ไปจนถึงซอฟต์แวร์การเรียนรู้ แม้ว่าการเรียนรู้แบบทางไกล (Distance Learning) จะมีมาแล้วเป็นเวลากว่าทศวรรษ หากการระบาดของโควิด-19 นี้เองที่เร่งให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งพัฒนาการเรียนการสอนและเทคโนโลยีการศึกษาเข้ากับหลักสูตรของสถาบันอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานที่ผู้บริหารและคณาจารย์ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนากันต่อไป และจะเป็นวิถีใหม่แห่งการเรียนรู้ในอนาคตอย่างแท้จริง
Hybrid VS Blended Leaning สองความต่างที่สามารถผสมผสาน
ทั้งนี้การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานมี 2 คำสำคัญที่ได้รับการกล่าวถึงอยู่เสมอ คือ ‘Hybrid Learning’ และ ‘Blended Leaning’ ซึ่งทั้ง 2 คำมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ‘Hybrid Learning’ เป็นการเรียนรู้แบบผสมผสานรูปแบบหนึ่งที่มุ่งเน้นการนำการสอนแบบ Face-To-Face หรือรูปแบบการเรียนรู้แบบเดิมมา ‘รวม’ กับแนวทางการเรียนรู้แบบทางไกลมีวัตถุประสงค์คือการผสมผสานกลยุทธ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมเพื่อถ่ายทอดเนื้อหาหรือองค์ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยังคงตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ของผู้เรียน และกลยุทธ์การเรียนรู้ที่เพิ่มเติมขึ้นเป็น ‘การเสริมมากกว่าแทนที่’
การจัดการเรียนการสอนแบบ Face-To-Face หรือรูปแบบการเรียนรู้แบบเดิม เช่น หากมีคลาสเรียน 2 วันต่อสัปดาห์ ผู้สอน (ซึ่งปัจจุบันเน้นที่การเป็น Instructors และ Facilitators) แบบ Hybrid Learning สามารถกำหนดเวลา 1 วันสำหรับการบรรยายในชั้นเรียน และอีก 1 วันสำหรับห้องปฏิบัติการในภาคปฏิบัติ หรือมอบหมายงานทางออนไลน์ โดยใช้เครื่องมือการเรียนรู้แบบ Hybrid Learning เช่น การประชุมทางวิดีโอ ระบบการจัดการเรียนรู้ (LMS) งานออนไลน์ กระดานสนทนาออนไลน์ การฝึกอบรมวิดีโอที่บันทึกไว้ล่วงหน้า ฯลฯ และที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น คือ Hybrid Learning ยังเป็นแนวทางการศึกษาที่ผู้เรียนบางคนอาจเลือกมีส่วนร่วมแบบ Face-To-Face หรือรูปแบบการเรียนรู้แบบเดิม และบางคนมีส่วนร่วมทางออนไลน์ก็ได้ โดยผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนทั้ง 2 แบบในเวลาเดียวกันโดยใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องมือข้างต้นให้เกิดประประสิทธิภาพมากที่สุด
ขณะที่ ‘Blended Leaning’ เป็นการผสมผสานเรียนรู้แบบออฟไลน์และออนไลน์ที่แตกต่างจาก Hybrid Learning ซึ่งเน้นการสอนออนไลน์เพื่อเสริมไม่ใช่การแทนที่ หาก Blended Leaning ผู้เรียนจะใช้เวลาในการทำกิจกรรมหรือมีส่วนร่วมผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ การทำงานให้เสร็จ การถามคำถาม การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนคนอื่น ๆ ไปจนถึงการสื่อสารกับผู้สอน หากเป็นตัวอย่างเดียวกันกับตัวอย่างข้างต้น สำหรับ Blended Leaning แล้ว ผู้สอนสามารถจัดตารางการเรียนการสอนหรือการฝึกอบรมแบบ Face-To-Face ทั้ง 2 วัน จากนั้นจึงมอบหมายให้ผู้เรียนเขียนโพสต์ในฟอรัมออนไลน์ ‘นอกเวลาเรียน’ ถือเป็นการจัดการเรียนการสอนแบบ Face-To-Face ร่วมกับการทำกิจกรรมการเรียนรู้แบบออนไลน์ (หรือนอกห้องเรียน) คือ ผู้เรียนทำชิ้นงานหรือกิจกรรมบางส่วนให้สมบูรณ์ทางออนไลน์ หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ด้วยตัวเองนอกคลาสเรียนได้
อย่างไรก็ตาม โดยสรุปแล้วทั้ง Hybrid Learning และ Blended Leaning มักจะได้รับการปรับใช้ร่วมกัน แต่ความแตกต่างระหว่างการเรียนรู้แบบผสมผสานทั้ง 2 รูปแบบ คือ Blended Leaning มุ่งเน้นไปที่การผสมผสานการการเรียนรู้แบบออนไลน์เข้ากับมาเพิ่มเติมให้การสอนแบบมาตรฐานหรือรูปแบบเดิมที่เป็นหลัก ในขณะที่การเรียนรู้แบบ Hybrid Learning มุ่งเน้นไปที่การใช้วิธีการเรียนรู้ใด ๆ ที่มีอยู่เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์ และมีแนวโน้มว่าจะมุ่งเน้นที่การเสริมการเรียนรู้แบบออนไลน์ให้มากขึ้น
นอกจากวิกฤตการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่อยู่เบื้องหลังแล้ว ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ของโลกในอนาคต ซึ่งส่งผลให้การเรียนรู้และความต้องการได้รับการขับเคลื่อนไปอย่างสอดคล้องและตอบสนองต่อความฉับไวของกฎระเบียบ เทรนด์ และความเปลี่ยนแปลงที่พร้อมจะถาโถม นับว่าทั้ง Hybrid Learning และ Blended Leaning เป็นแนวทางการเรียนรู้ที่สมเหตุสมผลและตอบโจทย์
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ปรับตัวในยุคดิสรัปชัน และยุค New Normal อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดลที่ปรับรูปแบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นสูงกว่าในอดีต กับคอนเซปต์ Flexible Education ด้วยการทำหลักสูตรในลักษณะ Multidisciplinary หรือหลักสูตรข้ามศาสตร์ ข้ามระหว่างสายวิชาเพื่อสร้างองค์ความรู้แบบกว้างขวางยิ่งขึ้น ไปจนถึง Flip The Classroom ที่เน้นการผสมผสานรูปแบบของการเรียนออนไลน์และออนไซต์ เป็นต้น
ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวไว้ว่า การศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ประกอบด้วยหลากหลายสาขาและมีการเรียนการสอนจำนวนหนึ่งเป็นภาคปฏิบัตินั้น จะใช้เพียงบทเรียนออนไลน์ในภาคทฤษฎีไม่ก็คงเพียงพอ แม้ว่าในหลาย ๆ ประเทศจะมีความก้าวหน้าด้วยการสร้าง Virtual Laboratory หรือ Open Laboratory เพื่อพัฒนาสื่อการสอนให้สามารถปฏิบัติได้เอง หากก็ยังทดแทนการเรียนการสอนภาคปฏิบัติทั้งหมดไม่ได้ เพราะการเรียนการสอนประเภท Hands On จำเป็นต้องสัมผัสของจริง แม้แต่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ยังให้ข้อมูลไว้ว่า ยังต้องคงการเรียนรูปแบบ Face-To-Face ไว้ ซึ่ง ศ.ดร.วิจิตร อธิบายว่า สัดส่วนของการเรียนรูปแบบ Face-To-Face ขึ้นอยู่กับแต่ละศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อาจมีอัตราส่วนของการศึกษาประเภทสัมผัสของจริง เรียนรู้ร่วมกัน เป็นการร่วมแชร์ความรู้ สร้างชุมชนผู้เรียนรู้ และทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพดีขึ้น นอกจากนี้ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรูปแบบ Face-To-Face หรือออนไลน์ จะต้องมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน และระหว่างผู้เรียนด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้น การเรียนรู้แบบผสมผสานอาจจะจัดให้ครึ่งหนึ่งเรียนออนไลน์ ครึ่งหนึ่งเรียนแบบ Face-To-Face ก็ยังได้ หากหัวใจคือ Interactivity นั่นเอง
การออกแบบและพัฒนาการเรียนรู้ ที่ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยแล้วยังมีประเด็นชวนคิดและใส่ใจ โดยเฉพาะในเรื่องของ ‘ความเท่าเทียม’ และ ‘ความทั่วถึง’ หากการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้กำลังได้รับการพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริงในอนาคต
จากการสำรวจแบบเร่งด่วนทางโทรศัพท์ (Computer Assisted Telephone Interviews) ระหว่างวันที่ 27 เมษายน ถึง วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ซึ่งการสัมภาษณ์ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 2,000 คน โดย ธนาคารโลก ร่วมกับ Gallup Poll เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องผลกระทบของโควิด-19 ต่อประชากรชาวไทย ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลทั้งส่วนของตนเองและครัวเรือน มีการรายงานว่า ครัวเรือนที่ให้สัมภาษณ์ร้อยละ 90 มีบุตรหลานในวัยเรียน ซึ่งเข้าเรียนช่วงภาคการศึกษาที่ผ่านมา ครึ่งหนึ่งเข้าเรียนในระบบผสม ในขณะที่อีกร้อยละ 25 เข้าเรียนในชั้นเรียนจริงตามปกติ ข้อสังเกตสำคัญประการหนึ่ง คือ ครัวเรือนชนบท ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ และครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ มีสัดส่วนบุตรหลานที่เข้าเรียนในภาคการศึกษาที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำ ครัวเรือนกว่าครึ่งหนึ่งรายงานว่าเด็ก ๆ ประสบปัญหาในการเรียนระหว่างช่วงการระบาด อาทิ ปัญหาเรื่องไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียน และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต มีบทบาทสำคัญต่อการศึกษาทางไกล เด็กในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำและครัวเรือนชนบทจึงอาจประสบกับปัญหาทางการศึกษามากกว่าเด็กในครัวเรือนอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผลกระทบทางลบต่อทุนมนุษย์นี้อาจส่งผลให้เกิดความยากจนและความไม่เท่าเทียมในระยะยาว
อีกด้านหนึ่ง จากรายงานผลกระทบของการระบาดโรคโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทยฉบับล่าสุดขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ชี้ว่า การระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชนหลากหลายด้าน ซึ่งรวมถึงด้านการศึกษาที่เกิดการสูญเสียการเรียนรู้ อันมีสาเหตุตั้งแต่การปิดสถานศึกษา การขาดอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ อาทิ คอมพิวเตอร์ และประสบปัญหาในการเข้าถึงไฟฟ้า ครอบครัวของเด็กบางกลุ่มยังมีรายได้น้อย ส่งผลให้เกิดการหลุดออกนอกระบบ เพราะไม่มีเงินเพียงพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในสถานศึกษา เป็นต้น
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีตประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวไว้ว่า ผู้คนต่างเรียนรู้อะไรมากมายเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องการจัดการการศึกษา และการที่มหาวิทยาลัยของประเทศมุ่งหน้าเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบด้วยแล้ว กระบวนการ Re-design การเรียนการสอนต้องเกิดขึ้น โดยมีเป้าหมาย คือ New Normal Education ซึ่งแบ่งเป็น 3 เป้าย่อย ได้แก่ 1) 2s Safety คือ การจัดการเรียนการสอนให้มีความปลอดภัยกับ Student (นิสิต นักศึกษา) และ Staff (อาจารย์ และบุคลากร) 2) Non-Crowded คือ การจัดการเรียนการสอนที่มีความแออัดหรือรูปแบบเดิมจะต้องเปลี่ยนไป 3) ความเสมอภาค
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเรียนรูปแบบออนไลน์ไม่สามารถตอบโจทย์การเรียนการสอนในทุกพื้นที่และทุกคน
‘เรียนออนไลน์ ต้องตามไปดู ตามไปจัดหาจัดเตรียมให้ได้ ให้พร้อม ให้เข้าถึง’
การพัฒนาคนให้มีความรู้ ทักษะ และสมรรถนะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทุกคนต้องช่วยกัน ทุกคนต้องได้รับการศึกษาและรับรู้ตรงกัน จึงจะเกิดผลลัพธ์ตามที่ตั้งไว้
‘การ Re-design จึงต้องปรับ Infrastructure ปรับ Workflow และปรับ Mindset’
กล่าวคือ เป็น ‘การ Re-design of Education’ นอกจากนี้ยังมีกระบวนการของ Digital Solution ในช่วงเวลาที่ Digital Transformation มีบทบาทและเป็นตัวช่วยสำคัญ จึงนำมาซึ่งการใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างหลากหลาย
อย่างไรก็ตาม ดิจิทัลแพลตฟอร์มไม่อาจแทนทุกอย่างได้ แม้ว่าจะช่วยในการเรียนรู้ได้เป็นอย่างมาก ทั้งผ่านการใช้เครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีต่าง ๆ แต่เมื่อต้องเรียนออนไลน์ พบว่า เป็นการนำสิ่งที่เคยสอนมาใส่ลงในออนไลน์ ‘อย่างนี้ไม่ใช่ Online Learning’
Online Learning ต้องเปลี่ยนคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น ๆ และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า กล่าวคือ ต้องทันสมัย ตอบโจทย์ผู้เรียน ที่สำคัญ คือ ตอบโจทย์ในสิ่งที่ผู้เรียน ‘ขาด’ การเรียนรู้จึงต้องเป็น Competency-based Learning และ Interactive Learning
‘Online Learning ไม่ใช่การใช้คอนเทนต์แบบเดิมมาใส่แพลตฟอร์มแบบใหม่ ไม่ใช่ทำแบบไม่มีคุณภาพ ไม่ใช่เอาเหล้าเก่ามาใส่ขวดใหม่’
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม ย้ำว่า การเรียนรู้แบบออนไลน์ไม่ได้มาแทนทุกอย่าง การเรียนการสอนในปัจจุบันต้องเป็นการเรียนรู้แบบผสมผสาน ทั้งออฟไลน์และออนไลน์คู่กันไป ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ ‘การประเมินผล’ การเรียนรู้แต่ละรูปแบบว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไร นั่นเป็นสิ่งที่ภาคการศึกษาจะต้องร่วมกันออกแบบ
ใจความสำคัญไม่ได้อยู่ที่การนำดิจิทัลหรือเทคโนโลยีมาใช้อย่างไร้ทิศทาง หากต้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้ ‘เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่นิสิตนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร มหาวิทยาลัย’ และที่สำคัญที่สุด คือ ‘ประเทศ’ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและศักยภาพของประเทศต่อไป
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : hsri.or.th, tosh.or.th, tdri.or.th, blogs.worldbank.org, unicef.org/thailand