เพื่อก้าวแห่งอนาคต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก

รศ.ดร.รัฐสิทธิ์ สุขะหุต
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

      ในช่วงเวลาที่ปี 2565 ใกล้จะสิ้นสุดถึงปลายทาง และพุทธศักราชใหม่กำลังจะเริ่มต้นอีกครั้ง ทว่าแต่ละภาคส่วนของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคการศึกษา ยังคงเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานของสถาบันอย่างสอดประสานกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) และมุ่งสู่การเป็น ‘อุดมศึกษาดิจิทัล’ ตาม ‘ยุทธศาสตร์การจัดระบบอุดมศึกษาใหม่’ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิส่งเสริมทบวงมหาวิทยาลัย ‘สถาบันคลังสมองของชาติ’ มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการตอบสนองความต้องการของภาครัฐและสังคม พบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถาบันคลังสมองของชาติสนับสนุนโครงการเตรียมความพร้อมสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลด้วยการสำรวจความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยในการก้าวไปสู่การเป็น Digital University เต็มรูปแบบ ด้วยการใช้เครื่องมือสำรวจความพร้อมตามความสมัครใจที่เรียกว่า Digital Maturity Model หรือ DMM กับการพิจารณาใน 5 มิติ ได้แก่ ทิศทางและการพัฒนาองค์กร ความพร้อมด้านพันธกิจ/ธุรกิจ ความพร้อมด้านระบบงานประยุกต์ ความพร้อมด้านข้อมูล และความพร้อมด้านเทคโนโลยี จากการแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ระดับที่ 1 Traditional University ระดับที่ 2 E-University ระดับ 3 Connected University และระดับที่ 4 Smart University

      การเสวนาออนไลน์ Digital University : Enabling The Smart Society ภายใต้หัวข้อ “สำรวจความพร้อมเพื่อสร้างแผนที่นำทางสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล” ได้รับเกียรติจากผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมีการทำงานที่แตกต่างและหลากหลาย โดยเฉพาะในมุมของภาคการศึกษาที่กำลังเร่งขับเคลื่อนสู่การเป็น Digital University เต็มรูปแบบ รวมทั้งวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีประสบการณ์ตรงกับการใช้เครื่องมือ DMM เข้าร่วมพูดคุยและแบ่งปันแนวความคิดและเรื่องราวการดำเนินงานที่แต่ละช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างน่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือ รศ.ดร.รัฐสิทธิ์ สุขะหุต รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เท้าความว่า ‘มหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ ร่วมทำ Health Check กับสถาบันคลังสมองแห่งชาติตั้งแต่ปี 2563  และ ปี 2566 ด้วยความที่ทางมหาวิทยาลัยมุ่งสู่ความเป็น Fully Digitalize หรือการเป็น Smart University เต็มรูปแบบ จึงให้ความสำคัญเรื่องการทำแผนและยุทธศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง

“มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นำกรอบของการทำแผนพัฒนาของมหาวิทยาลัยมาเป็นตัวตั้ง และดูเรื่องของการพัฒนามหาวิทยาลัยว่าจะขับเคลื่อนให้แผนของมหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จอย่างไร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการตั้งเป้าเรื่องแผนพัฒนาดิจิทัลเอาไว้ โดยมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเริ่มในปี 2566-2570 แต่ในหลาย ๆ ส่วนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีการพัฒนาและขับเคลื่อนมาแล้วพอสมควร อาทิ รากฐานของโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ จนกระทั่งการนำไปใช้ประโยชน์ การวิเคราะห์ และการตัดสินใจสำหรับผู้บริหาร”

      รศ.ดร.รัฐสิทธิ์เล่าว่าจริง ๆ แล้ว ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการกล่าวถึง Digital Transformation หรือ Digital University กันมาตั้งแต่สมัยอธิการบดีใน 2 สมัยที่ผ่านมา กล่าวคือเป็นระยะเวลาย้อนไปกว่า 12-13 ปีที่แล้ว โดยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องในเรื่องการขับเคลื่อนดิจิทัลว่าจะปรับตัวอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแนวนโยบาย หรือเรื่องของข้อบังคับต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นโดยสภามหาวิทยาลัย “พูดกันในนามหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย เช่น เรื่องของ Smart City ที่มีศูนย์บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปจนถึงมีหน่วยงานดูแลเรื่องการศึกษาตลอดชีวิต (CMU School of Lifelong Education) ซึ่งดูแลเรื่องการเรียนการสอนในยุคใหม่ที่ไม่ได้มองเพียงนักเรียนหรือนักศึกษา เพราะต่อไปมหาวิทยาลัยต้องมองว่าใคร ๆ ก็สามารถเป็นผู้เรียนได้ อีกทั้งยังเป็นศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ ซึ่งช่วยพัฒนาอาจารย์ให้สามารถปรับตัวและปรับวิธีการจัดการเรียนการสอน และการนำ Digital Technology เข้ามาใช้” รศ.ดร.รัฐสิทธิ์กล่าว “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งต้นการทำงานร่วมกับสภามหาวิทยาลัย มีข้อบังคับ และคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนแผนดิจิทัล ก่อนถ่ายทอดสู่การจัดทำแผนประจำปี และปฏิบัติตามลำดับต่อไป”

      เพราะเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นทั้ง Threat และ Opportunity ความก้าวหน้าทำให้โลกไร้พรมแดน และในแง่ของการศึกษาไม่ใช่การแข่งกับตัวเอง หรือแข่งขันกันภายในประเทศและนอกประเทศอีกต่อไป มีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมายด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไกลและก้าวกระโดด เรื่องของ Aging Society, Z Generation หรือแม่แต่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของประชากรโลก ล้วนเป็นสิ่งประจักษ์ “โจทย์สำคัญของการทำ Digital Transformation ก็คือ Digital Disruption ซึ่งหมายความว่าถ้าไม่ปรับตัว ไม่ปรับองค์กร สุดท้ายแล้วก็อาจถูกดิสรัปต์ มหาวิทยาลัยเองเริ่มมีการปรับตัว จากที่มีผู้เรียนในประเทศจำนวนลดน้อยลง วันนี้จึงมีการพูดถึง Internationalize ของมหาวิทยาลัยมากขึ้น จะเห็นว่าการทำ Digital Transformation ก็คือความสำคัญของการวางยุทธศาสตร์ ความสอดคล้องของยุทธศาสตร์ด้านไอที ความสอดคล้องของการพัฒนามหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับผู้บริหารค่อนข้างมาก เพราะถ้าผู้บริหารไม่ปรับตัว ไม่ขับเคลื่อน องคาพยพที่เหลือก็คงมองไม่เห็นภาพและไม่รู้ว่าทิศทางหรือเป้าหมายของการ Transformation ว่ามุ่งไปสู่เรื่องอะไร”

      “เป้าหมายในการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลที่หมายถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็น Key Enabler ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทั้งการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการรับใช้สังคม เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ ต่อยอดธุรกิจในเรื่องของการแข่งขัน แต่ถ้านำ Digital Technology เข้ามาใช้แล้วไม่ได้สามารถที่จะคงอยู่ในสภาพของการแข่งขันได้ ก็ถือว่า Fail เพราะไม่สามารถที่จะคงอยู่ในโลกของการแข่งขันที่มี Threat มากมาย Globalization แทบจะเปิดกว้าง อันนี้คือเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล”

      จากกระบวนการตั้งแต่จุดตั้งต้น รศ.ดร.รัฐสิทธิ์ไล่เลียงมาถึงเป้าหมายของการพัฒนา ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำหนดกลยุทธ์การขับเคลื่อนดิจิทัล หรือ Digital Strategy (DS) ทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งดิจิทัลและความมั่นคงของสารสนเทศ “เป็น 2 สิ่งที่คู่กัน ยิ่งพัฒนาด้านดิจิทัลไปข้างหน้ามากเท่าไร ความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศก็จะเป็นเงาตามตัว ทำให้ต้องระวังจุดอ่อน-จุดบวก” 2) กระบวนการทำงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และประสิทธิภาพ “ในยุทธศาสตร์ที่ 2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มองเรื่องของการเป็น Smart University เรื่องการบริหารจัดการที่เป็นเลิศที่เรียกว่า Excellence Management เรื่องการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานด้วยการนำดิจิทัลเข้ามาใช้ โดยมองกระบวนการที่สอดคล้องกับดิจิทัลและข้อกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่ไม่เอื้อต่อการเป็นดิจิทัล ปรับเปลี่ยนไปคู่กัน รวมถึงเรื่องการพัฒนาระบบสารสนเทศ เรื่อง Data คือจาก Data ไปสู่ Information และไปสู่ Business Intelligence” 3) ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่เป็นการพัฒนาระบบงานต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้เรียน ผู้สอน ไปจนถึง Stakeholder สามารถทำงานอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน หรือเป็นคอลลาบอเรทีฟแพลตฟอร์ม 4) การพัฒนาขีดความสามารถ การวิจัย นวัตกรรม และการพัฒนาแพลตฟอร์มแบบเปิด “ในปีนี้ (2565) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการลงทุนแบบ High Performance Computing (HPC) โดยมีการทำ Breathing Innovation และ Frontier Research คือนำงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไปสู่ชุมชน พัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็น Chain สำคัญในเรื่องของการวิจัย” 5) การพัฒนาทักษะของบุคลากร นักศึกษา และผู้บริหารของมหาวิทยาลัย “ทำให้มีทักษะทางด้านดิจิทัล เข้าใจเรื่องความรู้ความสามารถของ Digital Technology ที่สามารถนำมาใช้พัฒนาและขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย” และ 6) กลยุทธ์การสร้างเครือข่ายและก็ความร่วมมือเพื่อก่อให้เกิดการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย “การขับเคลื่อนต้องอาศัยความร่วมมือ สร้างเครือข่ายทั้งภายในมหาวิทยาลัย และสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน”

      นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังตั้งเป้าจากมหาวิทยาลัยดิจิทัล สู่ ‘มหาวิทยาลัยชั้นนำ’ ที่ตอบโจทย์การให้บริการด้านวิชาการและการให้บริการแก่สังคม ไม่ว่าจะเป็นผลิตบัณฑิตออกไปสู่ตลาดแรงงาน หรือนำผลงานด้านวิชาการและงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งจากที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ Thailand Quality Class (TQC) ที่พิสูจน์การทำงานและการปรับตัวของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี “ตัวรางวัลเป็นจุดหนึ่งที่สะท้อนว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน การทำงานร่วมกันเป็นทีม-เป็นองคาพยพของมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม ในอีก 4 ปีข้างหน้า ท่านอธิการ (ศ. ดร. นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล) ให้แนวนโยบายว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะมุ่งสู่การเป็น World Class ในเรื่องของการพัฒนา โดยมุ่งพัฒนาจาก TQC เป็น TQA (รางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ Thailand Quality Award) ทั้งนี้การจะไปสู่ตรงนั้นได้จะต้องปรับทั้งเรื่องการบริหารจัดการ การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน และการมองกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษา แต่มองรวมไปถึงผู้เรียนที่จะเข้ามาเรียนหรือมาหาความรู้ การวิจัย และการบริการวิชาการในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การขับเคลื่อนต่าง ๆ เหล่านี้เป็นองคาพยพที่ค่อนข้างใหญ่ และต้องอาศัย Digital Technology เครื่องมือสำคัญ จึงต้องรู้ว่าตัวเราเองอยู่จุดไหน และต้องดูว่าการรับรู้ของคนในสังคมมองมหาวิทยาลัยในแง่มุมไหน กล่าวคือไม่ได้ดูจากตัวเองเท่านั้น เสียงตอบรับจากชุมชนและสังคมยังเป็นตัววัดที่สำคัญว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ควรจะปรับปรุงและพัฒนาอย่างไร ไปจนถึงกลุ่ม Stakeholder” รศ.ดร.รัฐสิทธิ์กล่าวปิดท้ายถึงงานขับเคลื่อนงานดิจิทัลที่แม้จะเป็นการพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทว่าสอดประสานกับเสียงจากภายในและภายนอกซึ่งล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งสิ้น

ชมเสวนาออนไลน์ Digital University : Enabling The Smart Society ในหัวข้อ “สำรวจความพร้อมเพื่อสร้างแผนที่นำทางสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล” ได้ที่นี่

https://www.facebook.com/digitaluniversity.thai/