บทบาท มรภ. ที่ต้องปรับเพื่อขับเคลื่อนประเทศ
มิติของการออกนอกรั้วมหาวิทยาลัย การพัฒนาพื้นที่ภายใต้แผน 13 และเครื่องมือที่นำสู่การพุ่งเป้า กับ ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ
การประชุมออนไลน์ “38 มหาวิทยาลัยราชภัฏกับการเตรียมความพร้อมเพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยยุคใหม่” ที่จัดขึ้นโดย สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้สนับสนุนและผลักดัน โครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล (Driving Thai University toward Digital University) กับบรรยายพิเศษ “ก้าวต่อไปของมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13” ที่จะยกให้เป็นเวทีของ ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้เกียรติมาเยือนการเสวนาออนไลน์ที่สถาบันคลังสมองฯ จัดขึ้นเป็นประจำ และเช่นเคย สำหรับก้าวต่อไปของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ต้องตอบสนองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และมีบทบาทที่สำคัญในมิติต่าง ๆ อย่างไร ดร.วันฉัตรพร้อมให้ข้อมูลครบถ้วนตรงนี้แล้ว
บทบาท มรภ. เพื่อขับเคลื่อนประเทศต่อไป กับ PDCA
เพราะต้องการสนับสนุนให้มหาวิยาลัยของประเทศไทยร่วมมีบทบาทสำคัญ คือการร่วมขับเคลื่อนประเทศ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภายในรั้วมหาวิยาลัย แต่เป็นการมุ่งออกนอกรั้วไปพร้อมกัน ดร.วันฉัตรกล่าวว่าแม้หน้าที่สำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัยจะเป็นการผลิตบัณฑิต และ ณ ที่ประชุมครั้งนี้จะให้น้ำหนักกับความคาดหวังต่อการสร้างบัณฑิตที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป การทำงานของมหาวิยาลัยในวันนี้จึงไม่ได้หมายถึงเพื่อสร้างบัณฑิตในอีก 4-6 ปีตามหลักสูตร หากเป็นเรื่องการ Reskill/Upskill ไปถึงการทำงานนอกรั้วมหาวิยาลัย ดร.วันฉัตรย้ำว่า มรภ. หลายแห่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีที่ตนมีโอกาสได้ร่วมงานกันในหลากหลายด้าน สะท้อนว่าอาจารย์ในรั้ว มรภ. สามารถนำหลักการและทฤษฎีที่อยู่ในตัวของอาจารย์เองออกมานอกรั้ว สู่หลักปฏิบัติในพื้นที่ สู่เรื่องหลักฐานเชิงประจักษ์ในพื้นที่ได้
สำคัญกว่านั้นคือการทำให้มหาวิทยาลัยของไทยมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป
“ตอนนี้ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และใช้หลักการวงจรคุณภาพ PDCA เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งมี Plan, Do, Check, Act กับบทบาทของอาจารย์ที่ว่าไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการสอนหนังสือ แต่มีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับ 4 วงจรคุณภาพ คือ การช่วยวางแผน การลงมือทำ การแสดงประเด็น-จุดประเด็น-ชี้ประเด็น ติดตามประเมินผล และข้อสำคัญคือการที่จะสะท้อนกลับเหล่านี้ไปสู่การพัฒนา
“การปรับเปลี่ยนเรื่อง PDCA เป็นมติคณะรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ อธิบายง่าย ๆ คือเราใช้หลักการวงจรคุณภาพนี้เป็นเบื้องหลังการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมด สำหรับพื้นที่ที่ มรภ. ตั้งอยู่ ไม่ว่าจะสุราษฎร์ธานี สวนสุนันทา นครสวรรค์ ฯลฯ พื้นที่ที่อาจารย์อยู่นั้นสามารถใช้ PDCA ได้หมด เช่น ในแง่ของพื้นที่ อาจารย์สามารถใช้ PDCA ช่วยทำแผนพัฒนาจังหวัด เพราะวางแผน คือ Plan ไปช่วยคนในจังหวัด ลงมือทำ คือ Do ไปช่วยข้อมูลในจังหวัด คือ Check เพื่อดูว่าสิ่งที่ทำมาใน Do ใน Plan ตอบโจทย์เป้าหมายหรือไม่”
ณ วันที่ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางการขับเคลื่อนผ่านการวางแผน การลงมือทำ การประเมินผล และการสะท้อนกลับ ดร.วันฉัตรอธิบายว่า PDCA เป็นข้อสำคัญที่สุด ‘ไม่สามารถแยกเป็น Silo ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด’
ร่วมพลิกโฉมประเทศผ่าน 13 หมุดหมาย
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เป็นแผนในช่วง 5 ปี คือ 2566-2570 “แผน 13 แตกต่างจากแผน 12, 11, 10, 9, 8 ค่อนข้างมาก ที่ต่าง 1 อย่างคือแผน 13 ‘ไม่ทำทุกเรื่อง’ เพราะในกระบวนการวางแผนประเทศไทยแบ่งแผนเป็น 3 ระดับ คือ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนเลเวล 2 ที่ทอนยุทธศาสตร์ชาติเป็นประเด็น คือ แผนแม่บท และเรามีแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งจบไปแล้วเมื่อสิ้นปี 2565 แต่แผนปฏิรูปประเทศยังคงดำเนินการต่อไปตามแผนอื่น ๆ และตัวที่ 3 คือแผน 13”
ดร.วันฉัตรเล่าว่าเมื่อครั้งยกร่างแผน 13 มีการร่วมคุยกันว่าหน้าตาจะเหมือนแผน 12 หรือไม่ แต่คำตอบคือไม่ได้ เพราะถ้าหน้าตาเหมือนแผนเดิม จะซ้ำกับแผนแม่บท ดังนั้นแผน 13 ต้อง ‘ชี้ชัด คัดกรองประเด็นที่มีความสำคัญในช่วงการพัฒนา 5 ปีนั้น ๆ’ และตรงนี้เองที่ ดร.วันฉัตรฝาก ‘13 หมุดหมายเพื่อขับเคลื่อนแผน 13’ อันเป็นหัวใจหลักของประเทศไทยในช่วงเวลานี้ ได้แก่ 1) เรื่องเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง 2) เรื่องการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน 3) เรื่องฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก 4) เรื่องการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง 5) เรื่องประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ 6) เรื่องอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัล 7) SMEs ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง แข่งขันได้ 8) เรื่องพื้นที่และเมืองอัจฉริยะ Digital University 9) เรื่องความยากจนข้ามรุ่นฯ 10) และ 11) เรื่องของสิ่งแวดล้อม 12) เรื่องกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง และ 13) เรื่องภาครัฐทันสมัย มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ประชาชน
“คำถามง่าย ๆ คือทั้ง 13 หมุดหมายนี้ มรภ. อยู่ตรงไหนของแต่ละหมุดหมาย มรภ. คงไม่ใช่คำตอบเดียวของทุกหมุดหมาย เพราะแต่ละหมุดหมายมีตัวผู้เล่นที่หลากหลายที่เข้ามามีส่วนในการทำงานแต่ละส่วน และในช่วงแผน 13 หรือ 5 ปีนี้ คำถามคือ มรภ. จะสามารถเข้ามาพลิกโฉมประเทศผ่าน 13 หมุดหมายนี้อย่างไร”
พัฒนาประเทศสู่เป้าหมายรวม ทำ X ได้ Y ได้ Z
“หลักการที่เราใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติผ่านแผนแม่บทยังคงอยู่ แผนแม่บท แผน 13 แผนมั่นคง คือแผนเลเวล 2 ที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งการทำงานขอให้ยึดถือตามหลักการของแผนแม่บท ไม่ว่าจะเป็นแผน 13 หรืออะไรก็ตาม มันคือ X, Y, Z คนในแวดวงของการเขียนโครงการ X, Y, Z คือ โครงการของ มรภ. ต้องไม่ใช่โครงการที่ตอบ มรภ. เท่านั้นอีกต่อไป แต่ต้องเป็นโครงการของ มรภ. ที่ตอบ มรภ. แล้วยังสามารถส่งผลต่อการพัฒนาประเทศได้ด้วย คือ Y หรือเป้าหมายการพัฒนาประเทศผ่านแผนแม่บท Y1 คือเป้าหมายระดับย่อย Y2 คือเป้าหมายประเด็น
“หลักการคืออะไร โครงการทุกโครงการเมื่อทำแล้ว เสร็จแล้ว ผ่านไปแล้ว จะต้องสามารถที่จะทำให้โครงการนั้นบรรลุตามเป้าหมาย และทำให้เป้าหมายของประเทศมีการขับเคลื่อนด้วย เรียกว่า ‘การพุ่งเป้า’ สู่ X, Y, Z คือทำ X ได้ Y ได้ Z ทำโครงการสามารถส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศผ่านเป้าหมายแผนแม่บท สามารถส่งผลต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ X, Y, Z ดังนั้นหลักการคืออาจารย์ต้องดูเป้าหมายประเทศ ดูเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดไว้ในแผนแม่บท แล้วทอนเป้าหมายเหล่านั้นออกมาเป็นโครงการ”
นอกจากนี้ ดร.วันฉัตรยังเสริมเรื่อง ‘ห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทย’ (Final Value Chain Thailand) หรือตัวเชื่อมระหว่างเป้าหมายของแผนแม่บทไปสู่การลงมือทำ PDCA พร้อมอธิบายว่าแยกกันตรงที่ P คือยุทธศาสตร์ชาติ และแผนเลเวล 2 ส่วน D – Do เริ่มต้นที่แผนเลเวล 3 และโครงการ หมายความว่า P กับ D ในระดับประเทศ แผนคือ 2 เลเวล D คือแผนปฏิบัติราชการ เช่น แผน มรภ. หรือตัวโครงการ “2 ตัวนี้ต้องมีตัวเชื่อม เราไปหามาดีกว่าว่าจะแปลงเป้าหมายของแผนแม่บทไปสู่การทำงานต้องทำอย่างไร จึงไปคุยกับทุกหน่วยงานที่บอกว่ามีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมาย Y1 คือเป้าหมายแผนแม่บทย่อย เมื่อคุยกันเสร็จ จึงนำทั้งหมดมารวมกัน เอาทุกความคิดมาขยำรวมกันให้ได้ และออกมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า Final Value Chain Thailand” ดร.วันฉัตรอธิบาย “พูดง่าย ๆ คือการบรรลุ 1 เป้าหมายต้องทำอะไรบ้าง มีองค์ประกอบคือตัวรวมหมวดหมู่ของปัจจัย ในทุก Y1 จะมี Final Value Chain Thailand และ Final Value Chain Thailand นี้เองจะบอกว่าต้องทำอะไรบ้าง ในนั้นจะมีปัจจัย อาจารย์ต้องดูว่าเกี่ยวข้องกับ Y1 นี้ ดู Y1 นี้เสร็จ ไปเปิดดู Final Value Chain Thailand เห็นองค์ประกอบ เห็นปัจจัยปุ๊บ ก็เอาปัจจัยนี้เป็นกรอบในการเขียนโครงการ ดู Z ดู Y ผ่าน Value Chain เพื่อเขียน X ทำ X ต้องได้ Y ต้องได้ Z”
ดร.วันฉัตรกล่าวถึง ‘โลกดิจิทัล’ กับการมาของ IoT แต่ในทางกลับกันมีอาจารย์เป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่น มหาวิทยาลัยชุมชน อาจารย์ยังชื่อว่าได้เป็นหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และ ‘ท้องถิ่น’ ยังมีประเด็นอีกมากมาย เช่น ความยากจน การตกงาน Low-Skilled/Unskilled Labor หรือปัญหาสังคมต่าง ๆ “เหล่านี้จึงไม่ใช่การพุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว ไม่ใช่ผลิตบัณฑิตเพื่อตอบโจทย์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงเสมอ แต่ทำอย่างไรให้คนที่อยู่ข้างหลังหรือเบื้องหลัง สามารถยกตัวเองขึ้นมาอยู่เทียบเคียงคนอื่นได้ด้วย เหล่านี้เป็นโจทย์ทั้งหมด คือโจทย์ที่ทำอย่างไรจึงจะหาโซลูชันให้เจอ อย่างไรจึงจะหา X ให้เจอ”
เชื่อมโยงไปถึงเรื่อง ‘เทรนด์โลก’ อาทิ การท่องเที่ยว ทั้งเพื่อการพักผ่อน เพื่อการทำงาน เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การกิน-เที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ จนถึงเรื่อง Health & Wellness ฯลฯ ดร.วันฉัตรกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ที่ มรภ. ต้องพิจารณาว่าเกี่ยวข้องอย่างไร ให้อาจารย์ได้ไปทำ X และให้สามารถตอบโจทย์ประเทศ คือ Y ได้ “มรภ. ต้องหาให้เจอว่าโจทย์ประเทศ โจทย์พื้นที่คืออะไร แล้ว มรภ. จะสามารถเข้าไปเสียบได้อย่างไร หมายความว่างานของอาจารย์ไม่ใช่งานอาจารย์อย่างเดียว แต่เป็นงานอาจารย์ แต่เป็นงาน มรภ. ที่จะสามารถตอบโจทย์ของราชภัฏได้ด้วย” ดร.วันฉัตรยกตัวอย่างต่อไปถึงเรื่องอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มหาวิทยาลัยราชภัฏสามารถมองไปสู่เรื่อง Reskill/Upskill กลุ่มบัณฑิต ทำให้คนกลุ่มนี้เป็นอีคอมเมิร์ซที่แท้จริง สามารถเข้าสู่กระบวนการของการพัฒนาได้จริง เป็นต้น
DMM : ชี้ประเด็น ตีโจทย์ พุ่งเป้า… ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ด้วยเป็นการประชุมออนไลน์ “38 มหาวิทยาลัยราชภัฏกับการเตรียมความพร้อมเพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยยุคใหม่” ซึ่งมีการสำรวจความพร้อมของสถาบันด้วยเครื่องมือ ‘Digital Maturity Model หรือ DMM’ และในฐานะที่ ดร.วันฉัตรเองเป็นผู้ที่มีโอกาสได้พูดคุยเรื่อง DMM บ่อยครั้ง จึงฝากข้อคิดที่สำคัญไว้ว่า “ไม่อยากให้มหาวิทยาลัยเป็นดิจิทัลด้วยการเป็นดิจิทัลอย่างเดียว หมายความว่าให้อาจารย์นำ DMM มาเป็นเครื่องมือในการบริหารมหาวิทยาลัย ผมไม่อยากเป็นป้ายข้างหน้า มรภ. อีกหลาย ๆ ป้ายว่า ‘ผ่าน DMM แล้ว’ อะไรอย่างนั้น ในสายตาของคนวางแผน มันไม่ได้เกิดประโยชน์กับ Y เพราะฉะนั้นการเป็น DMM หน้าที่คืออะไร หน้าที่ของ DMM คือตามวงจรนโยบายสาธารณะ
“DMM คือเพื่อชี้ประเด็น เช่น ภายในอาจารย์ไปตรวจเรื่องการประเมินวุฒิภาวะของความเป็นดิจิทัล ประเมินแล้ว มหาวิทยาลัยของท่านยังไม่เป็นดิจิทัลในจุด 1, 2, 3, 4, 5 นั่นคือโจทย์ เพราะฉะนั้นโซลูชันในการแก้โจทย์นี้คืออะไร เช่น ประเมินแล้ว เด็กของเราใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อความบันเทิงมากกว่าการสืบค้นหาความรู้ เช่น เด็ก 40 กว่าคนของ มรภ. ที่หนึ่งใช้กูเกิลในการค้นหาข้อมูล เสิร์ช Lisa Blackpink เขาเสิร์ชได้เก่งกว่าผมมาก เก่งกว่าเยอะจริง ๆ แต่พอเสิร์ช เช่น กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ใช้สมองเป็นเบส เขากลับอึ้ง เขาไม่รู้จักการใช้คอมมา ไม่รู้จักการใช้เครื่องหมายและ เป็นต้น เพราะฉะนั้นนี่คือการใช้ DMM ชี้ประเด็นว่าอะไรที่จะต้องเกิดการพัฒนาขึ้น ทั้งในส่วนภายในของอาจารย์ กับส่วนที่อาจารย์ไปช่วยข้างนอก”
ดร.วันฉัตรกล่าวว่า DMM นำไปสู่โจทย์ที่ว่าแล้วอย่างไรต่อ โจทย์นี้มีทางเลือกอย่างไร มีเลือกทางเลือกที่ดี ที่เหมาะในการทำงานอย่างไร และลงมือทำแบบไหน ความหมายคือการตีโจทย์หนึ่ง ๆ แล้ว DMM จบ ไม่ได้สนใจต่อ ไม่ได้เอามาลงมือทำ ไม่ได้เอามาหาประเด็นต่อ ก็เท่ากับ ‘ไม่มีค่า’
จะเป็นเครื่องมือ DMM หรือเครื่องมือไหนก็ตามในโลกนี้ ก็คือเครื่องมือ
“เครื่องมือ หมายความว่า ใช้เสร็จต้องนำไปสู่เป้าหมาย ทุกอย่างคือการพุ่งเป้า เมื่อใช้ เครื่องมือ DMM ก็เพื่อการพุ่งเป้าเช่นกัน ณ วันที่มุ่ง Future of Work, Future of Skill มรภ. เองเป็นแบบนั้นหรือไม่ ใช่ตรงนั้นหรือเปล่า อะไรคือแก๊ป อะไรคือตรงที่บอด สิ่งที่อาจารย์ทำคือเพื่อหาโจทย์ เพื่อหาจุดบอดให้เจอ และนำไปสู่โซลูชัน นำไปสู่การลงมือทำและประเมินต่อไป”
DMM จึงไม่ใช่เครื่องมือที่อยู่แค่วงจรหนึ่ง แต่เป็นเครื่องมือที่สามารถวนอยู่ในลูปนี้
“ทำเสร็จปุ๊บประเมินว่าดีขึ้นจากของเดิมหรือเลวลง ถ้าเลวลงแปลว่าวิธีการเราไม่ใช่แล้ว เปลี่ยนใหม่ วนไปเรื่อย ๆ”
บทส่งท้าย
ดร.วันฉัตรสรุปส่งท้ายว่าการพัฒนา Digital University ผ่านเครื่องมือ DMM ไม่ใช่การตอบโจทย์ทีเดียว แต่คือการยกระดับมหาวิทยาลัย หรือ มรภ. ภายใน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลิตบัณฑิต งานวิจัย สนับสนุนวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม ล้วนนำไปสู่กระบวนการในการพัฒนาประเทศผ่านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต่อไป อาทิ โครงการเรื่องการพัฒนาดิจิทัลเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นฐานในการผลิตบัณฑิตที่มี Digital Mindset สู่การทำงานสำหรับ Digital Government ต่อไป เป็นภาพ ‘ความเชื่อมโยง’ หากัน และต้องลดความเป็น Silo ระหว่างกันให้ได้
13 หมุดหมาย ในแผน 13 คือบทบาทของมหาวิทยาลัย ยิ่งในวันที่เป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบแล้ว จะต้องถามตัวเองว่ามีบทบาทใดในการส่งเสริมหมุดหมายต่าง ๆ ทั้งแบบที่ทำโดยตรงในรั้ว และแบบที่ร่วมกับผู้อื่น ทำอย่างไรให้งานวิจัยท้องถิ่นที่ไม่ว่าจะผ่านทุนใด ๆ ไปสู่นโยบาย (Policy) ระดับพื้นที่ เช่น ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในพื้นที่ หรือมุ่งตอบโจทย์การแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นในพื้นที่ เป็นต้น
ไม่อยากเห็น DMM เป็นไฟนอล เป็นฟูลสตอป ทำเสร็จปุ๊บ จบปั๊บ ประกาศโชว์เปรี้ยง ไม่มีอะไรทำต่อ
“อยากเห็น DMM เป็นเครื่องมือในการนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ในแต่ละช่วง อยากเห็น DMM เป็นเครื่องมือที่อาจารย์ใช้เพื่อปรับเปลี่ยนตัวเอง พัฒนาตัวเอง ให้ตัวเองสามารถขับเคลื่อนประเทศผ่าน X, Y, Z ได้ ผมเชื่อใน มรภ. เชื่อในความตั้งใจของ มรภ. แม้ว่าอาจต้องมีความต้องการปรับเปลี่ยนอะไรใน มรภ. ก็ตาม
“เพราะฉะนั้นฝาก DMM ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้เห็นว่าอะไรบ้างที่เราจำเป็นต้องปรับ เพื่อทำให้ก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล แต่การปรับนี้เพื่อให้เป็น Digital University แต่ไม่ใช่ฟูลสตอป ปรับเพื่อให้เราไปทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศต่อ มีหลาย ๆ อย่างที่อาจารย์สามารถทำได้ดีมากในพื้นที่ อยากให้อาจารย์ใช้ความสามารถและความเก่งของอาจารย์ในพื้นที่ออกมาแสดงพลัง ออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัย ออกมาทำให้เห็นว่าชุมชนที่ดีสามารถเติบโตได้ในพื้นที่นั้นเป็นอย่างไร”
กำลังใจสำหรับพวกผมมีให้เสมอ อยากให้อาจารย์ร่วมลงมือทำกับพวกเราอย่างเต็มที่ พวกเราคือภาคีการพัฒนาทั้งหมด