ผลลัพธ์จาก DMM ส่งไม้ต่อสู่การปรับตัวและพัฒนา (ให้ดีและเดินไปด้วยกัน) ต่อยอดการนำใช้เครื่องมือ DMM พร้อมสร้างนิเวศดิจิทัลที่เกื้อกูลและเป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน

อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี

หลังจากที่เวที เสวนาออนไลน์ Digital University: Enabling The Smart Society ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิคนสำคัญร่วมแลกเปลี่ยนทรรศนะกันอย่างหลากหลายภายใต้หัวข้อ การสำรวจความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล หรือ Transformation Readiness Towards Digital University ซึ่งเจาะลึกสู่ประเด็นการนำใช้เครื่องมือ DMM หรือ Digital Maturity Model เพื่อประเมินความพร้อมและสถานะของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กันไปครั้งหนึ่งแล้ว ก้าวถัดมาจึงเกิดโจทย์ที่ว่า ‘แนวทางในการดำเนินการต่อไปจะเป็นอย่างไร’ เวที Digital University: Enabling The Smart Society จึงเปิดโต๊ะการพูดคุยอีกครั้ง กับหัวข้อ “จาก DMM สู่การจัดการมหาวิทยาลัยจากหน้าบ้านถึงหลังบ้าน” และเช่นเคย อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาและปรับประยุกต์เครื่องมือ DMM ได้ร่วมนำเสนอข้อมูล พร้อมย้ำหัวใจของการต่อยอดการนำใช้เครื่องมือ DMM อย่างครอบคลุม

DMM แบบสำรวจเพื่อมุ่งสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล

อาจารย์ดนัยรัฐอธิบายว่าเครื่องมือ DMM มีข้อคำถามเหมือนกับการประเมินตัวเอง โดยมีจุดสำคัญ คือ การประเมินในอดีตเป็นการประเมินเพื่อแข่งขัน เอาชนะ ทว่า DMM มองในแง่ของความสอดคล้อง ตั้งแต่เป้าหมาย การจัดการ เทคโนโลยี และ Data ขององค์กรว่าสอดคล้องกันหรือไม่ อย่างไร นั่นหมายความว่า DMM สะท้อนความพร้อมเรื่องของการทำงานร่วมกันมากกว่าพร้อมที่จะไปคนเดียว หรือชนะเพียงคนเดียว

“เมื่อพร้อมทำงานร่วมกัน จึงเกิดประโยชน์ทั้งภายใน และการเชื่อมกับหน่วยงานภายนอก ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาคอื่น ๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในยุค 2023 นี้ คือ ‘นิเวศ’ หมายถึง นิเวศของการอยู่ร่วมกัน โดยการเกื้อกูลและสร้างประโยชน์ให้กันและกัน”

 

DMM ตั้งข้อคำถามไปยังผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง ระกับปฏิบัติการ จนไปถึงเทคโนโลยี

อาจารย์ดนัยรัฐอธิบายต่อไปถึงภาพของ DMM ที่ปรากฏเป็นไดอะแกรมลักษณะ 3×3 ว่าด้านซ้ายของไดอะแกรมมีการตั้งข้อคำถามไปถึงผู้บริหารระดับสูง ซึ่งสำหรับมหาวิทยาลัย ได้แก่ อธิการบดี รองอธิการบดี จนไปถึงสภามหาวิทยาลัย ว่าในมิติต่าง ๆ ทั้งงานด้านส่งเสริมภารกิจหลัก งานสนับสนุน งานควบคุม และ Governance “สมมติด้าน Governance ได้คะแนนน้อย ในอดีตตรงนี้แตะต้องไม่ได้ จะมีการตั้งข้อคำถามในเชิงของปฏิบัติการว่ามี Big Data หรือยัง ทำ Robotic AI เท่าไรแล้ว ไปถามแบบนั้น ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่ได้สนับสนุนความสอดคล้อง”

DMM : กล่องสี่เหลี่ยม 3×3 ที่กะทัดรัดและกระชับ

“มิติที่ 1 สะท้อนด้านผู้บริหารระดับสูง เมื่อกล่าวถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ มีสูงมาก แต่กลายเป็นว่าตาราง 3×3 นี้ เทคโนโลยีด้าน Governance หรือด้านการควบคุมต่ำมาก นั่นจะทำให้มองเห็นว่า รั่วตรงไหน จะอุดตรงไหน” อาจารย์ดนัยรัฐอธิบาย “ฉะนั้นข้อคำถามไม่ได้ซับซ้อนและไม่ได้ยาก เป็นการถามซื่อ ๆ ตรงไปตรงมา ว่าส่วนด้านบนมุ่งไปสู่ทิศทางอะไร และส่วนด้านล่างไปด้วยกันหรือไม่ หรือว่าล้อหลังแซงล้อหน้าไปเสียแล้ว เทคโนโลยีล้ำไปหมดแล้ว แต่ผู้บริหารระดับด้านบนยังไม่ได้มีการวางเป้าหมายอะไรที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น”

การสร้างความสอดคล้องทำให้ตอบโจทย์เรื่องการเป็นผู้ที่รู้เท่าทันทั้งภายนอก ทั้งตัวเอง มีเหตุมีผลว่าทำไมตัวเองจึงใช้ Big Data แบบนี้ เช่น เพราะเป้าหมายองค์กรเราเป็นอย่างนั้น เพื่อที่จะสามารถประมาณตนได้ “คุ้นหรือไม่ว่าศาสตร์แบบนี้คือศาสตร์อะไร ‘ศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียง’ ไม่ใช่ศาสตร์ที่เรียกว่า มือใครยาวสาวได้สาวเอา เมื่อค้นพบตัวเอง จึงจะรู้ว่ามหาวิทยาลัยของเราทำแบบนี้เหมาะสมแล้ว”

 

Next Step for Creating the Future

เมื่อรู้แล้วว่าองค์กรมีอะไรที่ไม่ตรง (Misalignment) ก้าวต่อไป คือ หยิบยกจุดนั้นขึ้นมาซ่อมหรือสร้าง หากยังมีความบกพร่อง แต่เป็นสิ่งจำเป็น มีความสำคัญ จะใช้คำว่า ‘ซ่อม’ แต่อะไรที่ไม่ตรงนั้นยังไม่เกิดขึ้น แต่ต้องเอามาใช้ ต้อง ‘สร้าง’ ขึ้นมาเสีย ทั้งนี้อาจารย์ดนัยรัฐเสริมว่าบางครั้งที่ทั้งไม่มีความจำเป็น แถมยังบกพร่อง เช่นนั้นก็ไม่ต้องซ่อม เพราะทำให้เสียเวลา

“ยกตัวอย่างในภาพเล็ก เช่น เรื่องของงานวางกลยุทธ์ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย หากเกิดการตกหล่น สิ่งที่จะต้องทำ คือ กลับไปดูด้านบนว่าผู้บริหารเคยวางยุทธศาสตร์ด้านการทำการรับรู้ ประชาสัมพันธ์อย่างไร และมีการตกหล่นไปตรงไหน เมื่อขันนอตตรงนี้จะทำให้รู้ว่าตัวเทคโนโลยีและข้อมูลที่จะนำมาใช้นั้นมาก-น้อยแค่ไหน ตรงไหนต้องใช้อะไร อาทิ ChatGPT, AI, Bot หรือ Digital Marketing เป็นต้น

“ในภาพใหญ่ ยุคปัจจุบันที่ไม่ได้อยู่คนเดียวตามลำพัง ต้องเดินไปด้วยกัน ภาคของการศึกษามีความคล้าย แต่ยังตามไม่ทันในด้าน Financial ซึ่ง Financial ในยุคปัจจุบัน คือ ใคร ๆ ก็ทำ Wallet เป็น Fintech รับฝากสตางค์ หลักทรัพย์ เป็นต้น”

อาจารย์ดนัยรัฐกล่าวต่อไปว่าด้านการศึกษา กล่องที่ใหญ่ที่สุดมีคำว่า โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานศึกษา สถาบันอบรม หากโอกาสหรือแรงกดดันล้อมรั้วมหาวิทยาลัยนั้นมีอยู่มากมาย กับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นลูกค้า ก้าวต่อไปมหาวิทยาลัยจะต้องทำงานกับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น ผลคะแนน DMM ที่ออกมา ตรงไหนใน 9 ตัว จาก 3×3 นั้น ตกหล่น ก็สามารถหยิบยื่นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยออกไปสู่นอกรั้ว ซึ่งมีทั้งชุมชนท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน ความร่วมมือเช่นนี้ และการทำงานเชิงพื้นที่ ต้องเป็นลักษณะของการทำงานที่เดินไปด้วยกัน โดยใช้ความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย เช่น การใช้เกณฑ์การวัดผล การจัดระดับ ฯลฯ ร่วมทำงานกับชุมชนท้องถิ่นภูมิปัญญาท้องถิ่น บริษัทวิจัยภายนอก ฯลฯ “สำหรับภาคเอกชน การที่มหาวิทยาลัยไม่สามารถป้อนคนให้ได้ ภาคเอกชนจึงมี Academy ของตัวเองขึ้นมาเต็มไปหมด โดยทำวิจัยอยู่บน Environment ของเขาอย่างจริงจัง”

นี่คือก้าวต่อไป… ถ้าไม่ร่วมมือแบบนี้ แล้วมหาวิทยาลัยจะไปอย่างไร

พร้อมกันนี้ อาจารย์ดนัยรัฐเล่าย้อนถึงคำกล่าวของ ศ. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ว่านอกจากภารกิจในการผลิตคนหรือผลิตบัณฑิตแล้ว มหาวิทยาลัยควรเป็นแพลตฟอร์มด้าน Edtech ที่ล้ำหน้า และเปิดโอกาสให้ผู้อื่นเข้ามาร่วมใช้งานด้วย โดยไม่ต้องรอใครอื่นเริ่มทำ มหาวิทยาลัยทำเลย แล้วให้คนอื่นมาใช้ ดังนั้นมหาวิทยาลัยเองมีสถานที่สำหรับบัณฑิตและนักเรียน เป็น Co-Working Space, Co-Living Lab ไปจนถึง Co เรื่อง Metaverse จากตรงนี้จะเกิดทั้ง Virtual Space และ Physical Space ที่แบ่งปันออกไปข้างนอก

“นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมีเครือข่าย ทั้งกองทุนด้านการศึกษา และเครือข่ายของมหาวิทยาลัยด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Higher Education กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในกลุ่มนิเวศที่จะอยู่ด้วยกันในยุคดิจิทัล ซึ่งคำว่า ดิจิทัล ไม่ได้แปลว่า มีคิวอาร์โค้ดให้ยิงเยอะ ๆ แต่ดิจิทัลเป็นยุคที่ทุกคนสามารถ Interoperate กันได้ตลอดเวลา สามารถเชื่อมโยงกันได้”

 

การเชื่อมโยงในนิเวศ 3 ระดับ

อาจารย์ดนัยรัฐอธิบายเรื่องการเชื่อมโยงในนิเวศที่มีอยู่ 3 ระดับ ได้แก่ เชื่อมโยงเป้าหมาย เชื่อมโยงกระบวนการทำงาน และเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งเป็นระดับล่างสุด และทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมากต่างให้ความสำคัญกับระดับล่างสุดราวกับเป็นระดับบนสุด โดยคิดและเข้าใจไปว่าการเชื่อมโยงข้อมูลจะนำมาสู่การทำงานร่วมกัน และตรงนี้เองที่อาจารย์ดนัยรัฐย้ำว่า “เข้าใจผิดนะครับ” และกล่าวต่อไปว่า “การเชื่อมโยงในนิเวศมีทั้งเป้าหมาย กระบวนการทำงาน และข้อมูล ซึ่งการเชื่อมโยงเป้าหมาย คาแรกเตอร์และความรู้สึกนึกคิดจะต้องไปด้วยกัน ส่วนการเชื่อมโยงกระบวนการทำงาน การรู้เร็ว-ช้า-หนัก-เบา ต้องไปด้วยกัน และการเชื่อมโยงข้อมูล หรือ Knowledge คือ สามารถตอบโต้กันได้

“ยกตัวอย่างเช่น ChatGPT ทำงานกับเรา เป็นเพื่อนเรา หรือเป็นคู่ชีวิตเรากันแน่ เขาเชื่อมโยงความรู้สึกนึกคิด หรือเชื่อมโยงเรื่องการทำงานบนความเร็ว ความช้า หรือว่าเชื่อมโยงในแง่ของการแบ่งปันความรู้เท่านั้น ต้องคิดให้ดี ถ้ายังไม่สามารถสังเคราะห์ได้ว่า ChatGPT หรือ Google Bard นั้นเป็น AI ในลักษณะของภาษา หรือถ้อยคำ เราจะเล่นใหญ่เกินเบอร์ ที่สุดแล้ว เราอาจจะเสียเซลฟ์ หรือเสียศูนย์ ว่าควรทำอะไร และด้อยค่าตัวเอง”

 

ภาพใหญ่ของ Enterprise Architecture สู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการการทำงานแต่ละส่วน

อาจารย์ดนัยรัฐย่อยไว้ให้เข้าใจง่าย ๆ กับ 3 ข้อความสำคัญ ได้แก่ 1) ทำนามธรรมให้เป็นรูปธรรม 2) เดินไปด้วยกันอย่างมีความหมาย และ 3) รู้เร็ว-ช้า-หนัก-เบา ซ่อม-สร้าง-เสริม ในวงจรชีวิตของเราที่เหมาะควร

‘ทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม’ คือ ใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน จะได้มองเห็น และเห็นว่าบาลานซ์หรือไม่บาลานซ์ “เช่น เน้นที่เทคโนโลยีมากเกินไป แล้วมี Requirement จากด้านบนหรือยัง หรือมองแต่เรื่องประชานิยม การตลาด แล้วเรื่อง Governance มีใครดู หรือคิดถึงเรื่องการปกครอง การบังคับ บทลงโทษ จนลืมมองเรื่องความพึงพอใจ กลายเป็นว่าเป็น Monopoly โดยไม่รู้ตัว” อาจารย์ดนัยรัฐอธิบาย “เพราะฉะนั้นอยากใช้คำว่า ‘สติ’ ทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม โดย Set Balance ระหว่างด้านบน คือ Human ด้านล่าง คือ Machine ทางซ้าย คือ More Flexible ทางขวา คือ More Control”

ขณะที่องค์กรอยากทำให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย อยากเห็นตรงนั้น อยากเห็นตรงนี้ อาจารย์ดนัยรัฐกล่าวว่าอย่าเพิ่งรีบกระชากทุกอย่างมาทำภายในวันเดียว และบางครั้งองค์กรไม่ได้อยู่ในจุดที่มีบทบาทที่จะรับผิดชอบเรื่องนั้น ๆ และหลายครั้ง Output/Outcome ยังไม่ได้เขียนให้ชัดเจน เกณฑ์ขั้นต่ำ หรือสิ่งที่บอกว่าการทำงานร่วมกันนั้นโปร่งใส่ เป็นธรรม

“นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ว่าทำไมทุกคนมาทำ ดูเหมือนกับทำเรื่องเดียวกัน เรื่องไหนที่เรียกว่า 1 คนดันไปทำหลายเรื่องจน Burnout เรื่องไหนที่สามารถแชร์ Skill แชร์ Tech ร่วมกัน แต่กลับหากันไม่เจอ มาเจอกันที่นี่ เรื่องไหนที่อยู่ในไทม์ไลน์เดียวกัน แล้วทำไมไม่ใช้ Facility ร่วมกัน เรื่องไหนที่ใช้ Stakeholder ภายนอกร่วมกัน ทำไมไม่มี Contact Person ไปด้วยกัน เรื่องไหน Conflict กันเอง แย่งคน แย่งงาน แย่งเงิน”

ก่อนที่แก้วที่เราอยู่ด้วยกันจะร้าว นามธรรมจะเป็นรูปธรรม และทำให้เกิดประโยคต่อมา

‘เดินไปด้วยกันอย่างมีความหมาย’ เมื่อรู้แล้วว่าใคร ทำอะไร ตรงไหน มีขัดข้องหมองใจกันอย่างไร เวลาเดินไปด้วยกันเหมือนวิ่งตีนตะขาบ ไม่กระชากกันแล้วล้มหกคะเมน Strategic Roadmap ทำให้มองเห็นว่าจากต่างคนต่างทำที่เรียก ไซโล ซึ่งแม้ว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เป็นจุดที่พิจารณาว่าทำให้ดีขึ้นได้ ตามนิยามที่เรียกว่า Standardization

ณ ตอนนี้แอปพลิเคชันที่เกิดขึ้น ทั้งของภาคเอกชน ภาครัฐ แม้จะพูดว่า Digitalize แต่ถือว่า ไม่มี Standardize เพราะเป็น Digitalize ของใครของมัน “การที่ Standardize ได้ เหมือนกับบ้านหนึ่งท่อประปาแตก แล้วสามารถยืมอะไหล่อีกบ้านหนึ่งมา Connect กันได้ นั่นทำให้วิ่งไปสู่ Optimization หรือ One Stop Service ได้ง่ายขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว การเดินไปด้วยกันจะมุ่งหน้าสู่ Modularity ที่เข้าสู่นิเวศ มหาวิทยาลัยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคม และสามารถจะเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่สำคัญ Modular หมายความว่า เรามีประโยชน์ ไม่ได้หมายความว่า ต้องมาแย่งกัน”

Modularity ไม่ใช่ทลายแค่คำว่า ไซโล แต่ทุกคนยืนหนึ่งในความเป็นของตัวเอง และมุ่งหน้าเดินไปด้วยกัน

‘รู้เร็ว-ช้า-หนัก-เบา ซ่อม-สร้าง-เสริม ในวงจรชีวิตของเราที่เหมาะควร’ อาจารย์ดนัยรัฐยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่าทุกคนเป็นเด็กอนุบาลมาก่อน มีการทดสอบ ทดลอง แต่ในเวลาหนึ่งที่ชั่วโมงบินสูงขึ้น มีมาตรฐานเชื่อมกันเป็นกลุ่ม ก็ต่อยอดได้ทุกภาคส่วน ‘ซ่อม’ คือ ทำให้ตั้งตัวอยู่ได้ ‘สร้าง’ เปรียบเหมือนกับเป็นผู้เป็นคน พูดแล้วเข้าใจตรงกัน และเชื่อมโยงกันได้ จากนั้นจึงขยับไปสู่ ‘เสริม’ “แต่ชีวิตใครซ่อมทั้งชีวิตก็ตรอมใจ สร้างทั้งชีวิตก็อีโก้ เสริมทั้งชีวิตก็เวิ่นเว้อ พอร์ตโฟลิโอของชีวิตเราเองนั้น ซ่อม-สร้าง-เสริมของเราอยู่ตรงไหน”

เฉกเช่นเดียวกับ EA ในองค์กร บางจุดต้องซ่อม บางจุดต้องสร้าง บางจุดดีแล้ว เสริมให้กับผู้อื่น คุณค่าของแต่ละขั้นให้ความหมายของความมีชีวิตที่แตกต่างกันในองค์กร

 

 

ชมเสวนาออนไลน์ Digital University : Enabling The Smart Society ในหัวข้อ “จาก DMM สู่การจัดการมหาวิทยาลัยจากหน้าบ้านถึงหลังบ้าน” ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/digitaluniversity.thai/videos/253207793841328/?mibextid=cr9u0

https://www.facebook.com/digitaluniversity.thai/