ผู้นำมหาวิทยาลัยกับโจทย์ที่ท้าทายในกระแสความเปลี่ยนแปลง
สถาบันคลังสมองของชาติ และโครงการมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ร่วมกันจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Agile Leadership towards Digital University” เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารอุดมศึกษา 1 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแบ่งปันวิสัยทัศน์ของผู้นำยุคดิจิทัล
รศ. ดร. เชฏฐเนติ ศรีสอ้าน รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวระหว่างการเสวนา “ผู้นำมหาวิทยาลัยกับโจทย์ที่ท้าทายในกระแสความเปลี่ยนแปลง” ว่าปัจจุบันอาจารย์มหาวิทยาลัยมักเป็นผู้ถูกกระทำ เพราะนักศึกษาเปลี่ยนไปมาก อีกทั้งมีปัญหาของการทำงานแบบต่างคนต่างทำโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีหน่วยงานจำนวนมาก มีอัตตาค่อนข้างสูง การยุบหน่วยงานอาจทำให้เสียสมดุลจึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดภายใต้แรงบีบคั้นที่แตกต่างกัน ความท้าทาย วิสัยทัศน์และโจทย์ใหม่ของผู้บริหาร อาจต้องทำเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์สำคัญ (OKRs) ที่สะท้อนปัญหาจากคนระดับล่างจริง ๆ และมีสมาร์ททีมเพื่อให้ตอบโจทย์ของผู้นำมหาวิทยาลัยในยุคดิจิทัลได้
กรณีศึกษาที่น่าสนใจที่มหาวิทยาลัยรังสิตได้ดำเนินการปรับตัวแล้ว คือ การเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของนักศึกษาด้วยกระบวนการสตาร์ทอัพ มีศูนย์บ่มเพาะของตัวเอง ทำให้นักศึกษามีความภาคภูมิใจและสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของอาจารย์ในโครงการอาจารย์พันธุ์ใหม่ “ความท้าทายคือจะต้องปรับตัวให้ได้ พัฒนาตนเอง และเตรียมตัวตกงานเพราะปัจจุบันอัตราการเกิดมีน้อยมาก นอกจากนี้ต้องมีแนวทางการทำงานร่วมกันและสร้างความเชื่อมั่น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยยุคใหม่ต้องปรับตัวในการสร้างความยั่งยืนโดยทีมคนรุ่นใหม่ หมดสมัยที่จะบินเดี่ยวหรือเป็นศูนย์กลางจักรวาล ลดอัตตาและรับฟังให้มากขึ้น”
ขณะที่ ผศ. ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปัญญาประดิษฐ์เพื่องานวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนความเห็นจากมุมของคนทำงานทั้งระดับบนและระดับล่างว่า ทุกมหาวิทยาลัยล้วนมีความท้าทายในการบูรณาการการทำงานเพราะมีการแข่งขันสูงมาก มหาวิทยาลัยเคยอยู่ในสภาวะได้รับการปกป้องและการแข่งขันต่ำจากผู้แข่งขันรายอื่นทั้งทางภูมิศาสตร์ กระบวนการรับเข้า การเข้าถึงองค์ความรู้ และการยอมรับรูปแบบการให้บริการ จึงต้องเปิดโอกาสในการแข่งขันจากทุกที่ในโลก จากทุกภาคอุตสาหกรรมด้วยความเร็วสูง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การถูกบ่มเพาะในลักษณะรายบุคคลค่อนข้างสูง โครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่สอดคล้องกับการทำงานร่วมกัน อาจารย์ต้องการเติบโตทางสายวิชาการซึ่งมีความเกี่ยวพันกับเป้าหมายขององค์กรที่ไม่มากนัก เน้นหน่วยงานการทำงานไม่ใช่ผลสำเร็จในภาพรวม และวัฒนธรรการไม่นับซ้ำ เมื่อเทียบกับบริษัทเอกชนที่มีสิ่งตอบแทนหลักของบุคลากรคือเงินเดือน ค่าตอบแทนประจำตำแหน่ง และโบนัส ความรวดเร็วในการทำงาน และลักษณะการทำงานที่ล้มเร็วแต่ลุกเร็ว มองการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติ
ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงต้องมองเห็นเป้าหมายร่วมกัน และประสบความสำเร็จไปด้วยกัน แนวทางการพัฒนาคือ มุ่งเป้าหมายในระดับภาพรวมที่ชัดเจน เน้นที่ผลกระทบไม่ใช่นับผลงาน กำหนดเป้าหมายที่เน้นการทำงานร่วมกัน มีหน่วยงานทั้งในรูปแบบการทำงานในฝ่ายและข้ามฝ่าย รวมถึงการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งแสวงหาความร่วมมือ ยกตัวอย่างเช่น การทำงานด้านสังคมสูงวัยของจุฬาฯ ใน 4 มิติ คือ เศรษฐกิจ ประชากรและสังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อม รวมถึงโครงการห่วงโซ่นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าของงานวิจัยไม่ให้ขึ้นหิ้ง ต้องพัฒนาองค์ความรู้และธุรกิจ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย และกระตุ้นความสนใจของนิสิตให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงานวิจัยที่มุ่งใช้ประโยชน์จริง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ด้านสุขภาพและอุตสาหกรรม ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกที่ทำให้คนสนใจเข้าร่วมโครงการ
“สิ่งท้าทายคือเราทำงานตัวคนเดียวไม่ได้ ต้องใช้จิตวิทยาค่อนข้างสูง ให้คนทำงานร่วมกันและอยู่ด้วยกันได้แบบได้ใจ พร้อมที่จะฝ่าฟัน แม่ทัพต้องนำหน้า เข้าใจคนทำงานและปัญหาต่าง ๆ ให้คนเห็นประโยชน์ทั้งองค์กรและตัวบุคคลเพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ไม่ติดขัดกำแพงขององค์กร มีทีมงานที่เป็นตัวแทนและคอยเป็นหูเป็นตา”
ด้าน อ.พรเทพ ฉัตรภิญญาคุปต์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ระบุว่ามหาวิทยาลัยต้องปรับตัวโดยคำนึงถึงผู้เกี่ยวข้องในระบบทั้งหมดมากกว่าการเอาใจเพียงลูกค้าเท่านั้น ผู้บริหารต้องทำความเข้าใจลูกค้าและกำลังคนของตัวเองว่ามีปัญหาอุปสรรคใดบ้าง การกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPI) หลายตัวเป็นหายนะของหน่วยงานราชการไทย ทำให้ไม่กล้าที่จะล้มเหลว โดยตัวอย่างการจัดตั้งหน่วยวิจัยและออกแบบทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม เพื่อตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของผู้ใช้ ทำให้นักศึกษาได้เห็นกระบวนการทำงานจริงและทำงานข้ามสาขา
“ประเด็นที่น่าสนใจคือ คนทำงานต้องมีความสุข บรรยากาศการทำงานที่สนุกและตื่นเต้น มีข้อมูลเชื่อมโยงและนำไปใช้ต่อ จุดเริ่มต้นคือต้องหากันให้เจอ และบทบาทของมหาวิทยาลัยคือต้องทำให้ลูกศิษย์เก่งกว่าอาจารย์ เตรียมคนที่ฉลาดในการถามคำถาม กระตุ้นต่อมคิดและความสงสัยเพื่อให้อยากค้นคว้าหาคำตอบ”