ภาพการศึกษาแห่งอนาคตเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน

สุพันธ์ มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

        ขณะที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กำหนด ‘แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากาลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564-2570’ ว่าด้วย ‘เรื่องนโยบายการพลิกโฉมการศึกษาด้วยระบบดิจิทัล (Digitalization for Educational and Learning Reform)’ และสถาบันคลังสมองของชาติได้ดำเนิน ‘โครงการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital Transformation Health Check for University Preparedness)’ โดยมีเป้าหมายเพื่อสำรวจความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในการก้าวเข้าสู่ ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ อีกด้านหนึ่ง ‘สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย’ ซึ่งดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาสถาบันธุรกิจภาคเอกชนของไทยให้แข็งแกร่ง อันทำให้กลไกการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สามารถประสานกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติในวงการเศรษฐกิจโลก และมีวิสัยทัศน์คือ การเป็นแกนกลางเสริมสร้างความเข้มแข็ง และผลิตภาพอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของไทยให้ยั่งยืน ย่อมมีความเห็นและมุมมองสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านของระบบการศึกษาของประเทศ อันมีผลต่อทักษะของกำลังหลักที่จะเดินเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในอนาคต โอกาสนี้ คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงนำเราเชื่อมโยงภาพของการศึกษายุคใหม่กับการตอบโจทย์อุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน ด้วยประเด็นชวนคิดแบบกระชับ ทว่าชัดเจน…

ทักษะสำคัญของกำลังหลักแห่งอนาคต

         “คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องรู้ ‘เทคโนโลยี’ เพราะเทคโนโลยีเข้าไปดิสรัปต์ทุกอย่าง เทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน คนรุ่นใหม่จึงต้องเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น Robotic, AI, AR, VR อย่างน้อยวิทยาการเหล่านี้จะติดตัวไปตลอดชีวิต”

‘ความร่วมมือ’ การเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม

         “ในวันนี้ วิทยาการใหม่ ๆ คือ ต้องทำงานร่วมกัน ระหว่างผู้เรียน สถาบันการศึกษา รวมทั้งเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการ การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยปัจจุบัน ไม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบอาชีพ ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างคิด

        “แม้มหาวิทยาลัยจะบอกว่า พยายามทำและหาวิชาที่ทันสมัยที่สุดมาจัดการเรียนการสอนแล้ว แต่บางทีไม่ใช่ด้วยเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้เอง การเรียนการสอนจึงต้องเปลี่ยน มหาวิทยาลัยอาจไม่ได้รู้ทุกเรื่อง อาจารย์ในมหาวิทยาลัยอาจต้องปรับตัวมาทำหน้าที่ ‘โค้ชชิ่ง’ ปัจจุบัน การเรียนรู้สามารถเรียนรู้ผ่าน Google ได้หมด นอกจากอาจารย์ต้องเปลี่ยนแพลตฟอร์มเป็นการโค้ชชิ่ง ยังต้องสร้างวิธีการให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง และทำหน้าที่ชี้แนะว่าคุณจะไปหาความรู้จากตรงไหน อะไรเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เขาต้องไปเรียนรู้ การเรียนรู้ในห้องเรียนหรือผ่านคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพออีกต่อไป จะต้องไปเรียนรู้ในลักษณะการทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เป็นความจำที่เขาจะสามารถนำความรู้ไปประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยี ถ้าแค่เรียนรู้จาก Google และจากนักวิชาการที่แม้จะเก่งและมีความสามารถ ไม่ได้ทำงาน สุดท้าย เขาก็นำไปประยุกต์ใช้ไม่ได้”

บทบาทใหม่ของมหาวิทยาลัย

         “มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว วิชาการต้องเปลี่ยนไปทำงานร่วมกับภาคเอกชน มหาวิทยาลัยหันมาทำงาน R&D (Research & Development) มากขึ้น จริงอยู่ มหาวิทยาลัยต้องมีเรื่องของรายได้ แต่ผมแนะนำให้มหาวิทยาลัยเก่งเรื่องอะไรก็โฟกัสเรื่องนั้น แล้วก็ใช้ R&D ทุกอย่างเข้าไปในเรื่องนั้น เราต้องผลิตเด็กที่มีคุณภาพ อย่าผลิตเด็กที่จำนวนเยอะ ๆ แต่ไม่ได้คุณภาพ นอกจากนี้ ต้องทำมหาวิทยาลัยให้เล็กลง ไม่ใช่พื้นที่ใหญ่ ใหญ่ทุกอย่าง ไปอยู่ Infrastructure ของมหาวิทยาลัย แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายคือ ไม่มีซอฟต์แวร์ มีแต่ฮาร์ดแวร์เต็มไปหมด

            “อาจารย์เองก็ต้องพัฒนา อาจารย์ก็ต้องปรับตัวอย่างรุนแรงในการเรียนรู้ New Technology ทั้งหมด จริง ๆ อาจารย์เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ อาจหาคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยด้านเทคโนโลยี ผนวกรวมกับประสบการณ์ของตนเอง อย่าลืมว่าเด็กในวันนี้ เขาเข้าใจมากกว่าเรา รู้มากกว่าเรา และเขามีเส้นทางของเขาชัดเจน เราบังคับเขายากมาก จะเสนอหรือเปลี่ยนทัศนคติเขาไม่ได้ง่าย ๆ จึงบอกว่า ถ้าเป็นโค้ชชิ่ง เขาจะฟัง แต่ถ้าทำตัวเป็นอาจารย์ ก็อาจจะมีการลองของกับอาจารย์ตลอดเวลา”

FTI Academy

         “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มี FTI Academy ซึ่งไม่ใช่มหาวิทยาลัย แต่เป็นการจัดหลักสูตรโดยมีความร่วมมือกับทุกมหาวิทยาลัย และหลักสูตรที่กำหนดขึ้น เช่น Food Processing ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเรารู้ว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เก่งและมีเครื่องไม้เครื่องมือทางด้านนี้ เราจึงจัดหลักสูตร Food Processing ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเราใช้ทั้งอาจารย์ ทั้งนักวิชาการ และคนที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรม เข้ามาให้ความรู้กับผู้เรียน สิ่งที่เราพยายามทำคือ คนที่จบหลักสูตรไปจะต้องได้งาน เช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัยเองจะต้องเข้าไปให้ความร่วมมือกับผู้ประกอบการให้มากขึ้น เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว ไม่ได้กำหนดโดยมหาวิทยาลัยเท่านั้น และไม่ได้กำหนดว่าเทคโนโลยีแบบนี้ มหาวิทยาลัยต้องใช้หลักสูตรแบบนี้ ไม่มีอะไรกำหนดตายตัว”

‘เสียโอกาส’ เมื่อไม่ได้ใช้ทักษะที่เรียน

         “เมื่อไม่ได้ใช้ทักษะที่เรียน สิ่งที่เรียนมาจะกลายเป็น Waste เสียทั้งเวลา เสียทั้งเงินทอง ที่ผ่านมา เราใช้เด็กที่จบการศึกษาออกมาได้ 10-20% เท่านั้น อย่างเก่งไม่เกิน 50% ต้องมาฝึกกันใหม่ เราก็รู้ว่าเมื่อจบออกมา เราไม่เคยได้นำหลาย ๆ วิชาไปใช้เลยในชีวิตประจำวันหรือในหน้าที่การงาน การเรียนจึงต้องคำนึงถึง Waste เพราะฉะนั้น การเรียนอาจจะไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียนทั้ง 4 ปีก็ได้ อาจจะปรับเป็นอยู่ข้างนอกห้องเรียนมากกว่าข้างในห้องเรียน ให้เด็กมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชน เมื่อจบไป ภาคเอกชนก็ Happy เพราะ Plug-in สามารถให้เด็กทำงานต่อ เพราะเด็กมีความคุ้นเคยกับผู้ประกอบการ ขณะที่เด็กจะทำงานต่อหรือเปลี่ยนไปอยู่กับผู้ประกอบการอื่นก็ได้ เพราะมี Know How แล้ว ไปตรงไหนก็ง่าย”

ศักยภาพของเด็กไทย

         “ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการจ้างแรงงานเข้ามาในประเทศ 2 ประเภท คือ แรงงานต่างด้าวที่ต้องการเพียงกำลังแรงงาน ไม่เป็นสาระของเรา แต่สำหรับแรงงานอีกประเภท เช่น วิศวกร นักวิชาการ ฯลฯ เหล่านี้ เราต้องผลิตเด็กของเราให้ทัน วันนี้ คุณภาพของนักเรียน นักศึกษาของเราดีมาก เพียงแต่ว่าการอบรมการสั่งสอนนั้นถูกวิธีไหม อย่าให้เขาเสียเวลาไปกับช่วงวัยเรียน ต้องทำให้ช่วงวัยเรียนเกิดประโยชน์กับเขามาก ๆ จบออกมาแล้ว ทำงานต่อได้เลย

แนวความคิดของคนรุ่นใหม่

         “วันนี้ต้องยอมรับว่า เด็กส่วนใหญ่ต้องการอิสระ ต้องการมีกิจการของตัวเอง ต้องการมีรายได้สูงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน เด็กรุ่นใหม่ยังแอ็กทีฟมาก มีการเรียนรู้เร็ว มีการพยายามผลักดันตัวเองให้สูงขึ้น ซึ่งเราสามารถนำกลไกต่าง ๆ นี้มาใช้ประโยชน์กับองค์กรได้ และทำให้เด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ ได้ประโยชน์ทางด้านรายได้ก็ดี ด้านการตัดสินใจในการทำงานก็ดี เป็นโอกาสให้เขา และเมื่อเด็กรุ่นใหม่อยาก Spin Off เป็น Start Up องค์กรก็อาจจะส่งเสริมเขา เช่น ให้เข้ามาเป็นผู้ร่วมทุน เป็น JV (Joint Venture) องค์กรเองก็ต้องเปลี่ยน แทนที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจเดียว ก็ต้องสร้างคน สร้างกลไก สร้างเครือข่าย แตกใบ แตกระแหงออกมา”

ความท้าทายต่อการเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมแบบยั่งยืน

        “คำว่า ยั่งยืน คือ การดูว่าอุตสาหกรรมแบบไหนที่เราถนัด และเราสามารถนำมาประยุกต์ได้ สำหรับประเทศไทย เราถนัดเรื่องเกษตร เพราะเราโตมากับการเกษตร เราจึงต้องไปโฟกัสที่การเกษตร การเกษตรทำได้ทั้งเกษตรอาหาร การแปรรูป เครื่องสำอาง ยารักษาโรค ฯลฯ เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องโฟกัสที่ตัวเองถนัด ไม่ใช่ไปดูคนอื่น คนไหนทำแล้วรวย คนไหนทำแล้วได้เงิน ก็ไปทำตาม เพราะเขาถนัดเรื่องนั้น เขาจึงทำได้และประสบความสำเร็จ คนในประเทศไทยอยู่ในธุรกิจการเกษตร 20-30 ล้านคน ทำไมเราไม่ทำเกษตรให้ดี เราไม่จำเป็นต้อง GDP สูง รายได้ประชากรต่อหัวสูงขึ้นดีกว่า ที่ GDP สูงเพราะว่าอยู่กับคนคนนี้สัก 50-60% ที่เหลืออีก 10 ล้านคนมี GDP อยู่แค่ 10% อย่างนี้คนมีความสุขอยู่แค่หยิบมือเดียว แล้วบอกว่า GDP ประเทศดี อย่างนั้นไม่ใช่ แต่ถ้าคนขนาดกลางมีรายได้เยอะมากเท่าไร นั่นคือ GDP ความสุข คือ GDP Per Capita เราดี”

จากประธานสภาอุตสาหกรรม ถึงมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต

        “คนของเราเก่ง ๆ เยอะ เราเคยในจุดที่ประเทศไม่มีอะไรเท่าไร แต่วันนี้มหาวิทยาลัยเรามีความสามารถ ทั้งด้านการเรียนรู้ ทั้งด้านอุปกรณ์ เพียงกลวิธีในการคิด ความร่วมมือ ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และคณะกรรมการมหาวิทยาลัยในมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องชี้ว่าจะไปอย่างไร และต้องกล้าข้ามตรงนี้ให้ได้ เทคโนโลยีซื้อได้ แต่จิตใจคนซื้อกันไม่ได้ คนต้องร่วมมือกันเพื่อพัฒนาว่าจะให้มหาวิทยาลัยโตไปอย่างไร แนวทางไหน โฟกัสเรื่องอะไร มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐ ควรทำเพื่อประโยชน์สังคมให้มากที่สุด อันนี้ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยมีคุณค่า”

        เรียกว่า ‘ชัดเจน’ คงไม่พอ กล่าวได้ว่า ทั้ง ‘ครบ และจบ’ สำหรับความเห็นที่สะท้อนจากฝากฝั่งของภาคอุตสาหกรรมไทย การผลิตกำลังแรงงานจากสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะเมื่อขับเคลื่อนสู่การเป็น ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ ในอนาคตตามเป้าหมายแล้ว อีกภาระหน้าที่สำคัญ คือ การส่งต่อผู้สำเร็จการศึกษาอย่างมีศักยภาพ เข้าสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ของประเทศอย่างยั่งยืน ต่อไปนั่นเอง