คุยเข้มข้น กับความเข้มแข็ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในยุค DIGITAL TRANSFORMATION ที่พร้อม ‘SMART’ ทุกมิติ

รากฐานสำคัญ สู่การต่อยอดอย่างแข็งแกร่ง

        ในวันที่ทุกภาคส่วนของประเทศไทยกำลังเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานของตนเองให้สอดประสานกับ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580’ หรือยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวฉบับแรกของประเทศไทย และยังเป็นกรอบชี้นำทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า ยุทธศาสตร์ด้านหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม คือ ‘การจัดระบบอุดมศึกษาใหม่’ อันมี ‘สถาบันอุดมศึกษา’ เป็นหน่วยจัดการศึกษาขั้นสูงและเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยนอกจากต้องมุ่งพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะตรงตามอัตลักษณ์ของสถาบันตนเองเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและประเทศแล้ว นอกจากนั้น คือ การปรับตัวและพัฒนาสถาบันไปสู่องค์กรชั้นนำ ทั้งยังต้องพร้อมด้วยระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มีความทันสมัย ความโปร่งใส (Transparency) ความรับผิดชอบและการตรวจสอบได้ (Accountability) มีการใช้จ่ายงบประมาณที่ภาครัฐสนับสนุนอย่างคุ้มค่า คุ้มทุน และมีประโยชน์สูงสุด และสามารถจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อบรรยากาศการเรียนการสอนและรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งแนวทางขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ ประกอบไปด้วย 4 แนวทาง คือ การบริหารจัดการและธรรมาภิบาล (Management and Good Governances) การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาตามอัตลักษณ์ที่หลากหลาย (Reinventing University) ความมั่นคงทางการเงินในระบบอุดมศึกษา (Financial Security) และ ‘อุดมศึกษาดิจิทัล (Digital Higher Education)

        ทั้งนี้ หากย้อนเวลากลับไปกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ศาสตราจารย์นายแพทย์โชติ ธีตรานนท์ อธิการบดีหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ปี 2535-2543) ได้เล็งเห็นความสำคัญด้านการใช้งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งสถานบริการคอมพิวเตอร์ขึ้น ซึ่งปัจจุบัน คือ สํานักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ “จะเห็นว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่พัฒนาเรื่องนี้มาเป็นเวลาร่วม 20 กว่าปีที่ผ่านมา เรียกว่ามีการพัฒนาให้ดีขึ้นตามลำดับ ส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่น รับไม้กันมารุ่นต่อรุ่น จนมาถึงปัจจุบัน หากถามว่ามหาวิทยาลัยมีนโยบายอย่างไร ก็คือมีการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาดูแลการบริหารจัดการในภาพรวมทั้งหมด ทั้งการเรียนการสอน การวิจัย การให้บริการวิชาการ รวมถึงการบริหารจัดการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคคล เรื่องการเงิน เรื่องการดูแลนักศึกษา รวมทั้งเรื่องการเรียนการสอน และปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใช้กรอบบริหารจัดการที่เรียกว่า TQA (Thailand Quality Award Framework) ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีทิศทางเดียวกัน และมีความร่วมมือของบุคลากรทุกภาคส่วน ทำให้การบริหารจัดการมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นตามลำดับ” ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มต้นการสนทนาด้วยการเล่าย้อนความถึงที่มาที่ไปของการนำใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

        อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังเล่าต่อว่า ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 ภาคการศึกษาไทยมีการพูดถึง 3 ทักษะสำคัญของการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ทักษะชีวิตและการทำงาน การเรียนรู้และนวัตกรรม รวมถึงทักษะด้านเทคโนโลยีกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งช่วงเวลานั้นเอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีการวางรูปแบบของการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยทั้งหมด กล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยมีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังดำเนินงานต่าง ๆ อย่างมีทิศทางภายใต้แผนการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง

        ล่าสุด การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ได้ทบทวนปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนปฏิรูปประเทศ ดังนั้น ยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562-2565) จึงเชื่อมโยงและสนับสนุนการดำเนินงานของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ของประเทศอีกด้วย

 

ลงแรงร่วมใจสร้างงานหลากมิติ ในยุค DIGITAL TRANSFORMATION

        จาก 20 ปีที่ผ่านมา สู่ 20 ปีแห่งอนาคต ในวันนี้ สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่อาจปฏิเสธยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านของดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital Disruption) อันทำให้เกิดการมุ่งหน้าปรับตัวสู่ยุค Digital Transformation หรือยุคแห่งการนำใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการมหาวิทยาลัยอย่างมีกลยุทธ์และทิศทาง กระทั่งเกิดภาพการทำงานของ ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ อย่างแท้จริงในที่สุด ดังที่ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ ย้ำว่า “มหาวิทยาลัยดิจิทัลก็คือการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการมหาวิทยาลัยในภาพรวมทั้งระบบ” นั่นเอง

        “Digital Transformation เป็นสิ่งจำเป็นครับ เพราะดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตของคนยุคนี้ และจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเจเนอเรชันต่อไป เราจึงต้องกลับมามองการปฏิบัติพันธกิจของมหาวิทยาลัย ทบทวนตั้งแต่พันธกิจ วิสัยทัศน์ และพยายามบูรณาการดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่และยกระดับอย่างเต็มความสามารถ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ รองอธิการบดีด้านดิจิทัลและสมาร์ตซิตี กล่าวถึงคีย์เวิร์ดสำคัญ ‘Digital Transformation’ ในมุมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “เรื่อง Digital Transformation ในความหมายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเด็นสำคัญที่สุด ถ้าพูดเป็นภาษาธุรกิจ ก็หมายถึง ธุรกิจของมหาวิทยาลัยต้องขึ้นสู่โลกดิจิทัลให้มากที่สุด และต้องรองรับเจเนอเรชันต่อไปที่ย่อมมีมุมมอง ความคิด และความต้องการ แตกต่างจากเจเนอเรชันนี้ และเพื่อรองรับความเป็นไปของโลกในอนาคต ที่เราถือว่าสำคัญที่สุด”

        นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.รัฐสิทธิ์ สุขะหุต ผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ยังกล่าวถึงประเด็นสำคัญที่จะนำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลว่าเกิดจากการเตรียมความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการเชื่อมต่อและการเข้าถึงข้อมูลตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งยังมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเป็นข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหาร ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.รัฐสิทธิ์ ได้กล่าวถึงการนำใช้เทคโนโลยี Power BI หรือ Business Intelligence ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะในกลุ่ม Data Analyst หรือ Business Analyst ซึ่งจำเป็นต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจทางธุรกิจ “เรามีการพัฒนาเรื่อง BI อย่างต่อเนื่อง จนถึงทุกวันนี้ ผู้บริหารของเราสามารถใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการบริหารงานของมหาวิทยาลัยด้วยครับ” รองศาสตราจารย์ ดร.รัฐสิทธิ์ กล่าว

        รองศาสตราจารย์ ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง ผู้ช่วยอธิการบดี เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีการสื่อสาร เล่าถึงอีกกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อเดินหน้าไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล “การมุ่งเน้นเรื่องของการสร้าง Partnership หรือการสร้างความสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน หรือภาครัฐ เราทำ MOU กับ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ในเรื่องของ AI ในเรื่องของ Cloud ในเรื่องของการวิจัย และร่วมมือกับ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทอันดับต้น ๆ ของ Social Listening Tools ในเรื่องของการวิเคราะห์สังคม หรือการนำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์ นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยยังได้มีความร่วมมือกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) เน้นในเรื่องของ 5G โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล และเรื่อง Tele Medicine มาใช้กับเทคโนโลยี 5G” รองศาสตราจารย์ ดร.ถนอมพร กล่าว

        สำหรับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ ให้ความเห็นต่อการเดินหน้าเข้าสู่ Digital Transformation ไว้ว่าไม่อาจดูที่รายได้ที่เข้ามาสู่มหาวิทยาลัยเท่านั้น หากการเป็นมหาวิทยาลัย ยังมุ่งหวังที่การสร้างอิมแพกต์ให้กับสังคม “กระบวนการหลังบ้าน หรือกระบวนการสนับสนุนเดิมเป็นแอนะล็อก มหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จมาในระดับหนึ่ง อิมแพกต์ที่มีต่อสังคมจะต้องเป็นอิมแพกต์ที่เร็วขึ้น มหาวิทยาลัยจะทำให้คนเข้าถึง หรือเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยได้ทุกที่ ทุกเวลาได้มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ผลกระทบของมหาวิทยาลัยที่มีต่อสังคมข้างนอกจะทวีความสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ในส่วนของผู้เรียนจะมีการขยายฐาน ในส่วนขององค์ความรู้จะสามารถแลกเปลี่ยนกับที่อื่น เดิม Learning Curve ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ตอนนี้ข้อจำกัดถูกลบออกหมดแล้ว การวิ่งผ่านขององค์ความรู้จะเร็วมากยิ่งขึ้น คือ อิมแพกต์ของมหาวิทยาลัยจะมีสูงขึ้น มี Partnership คนสามารถเข้ามาทำงานบูรณาการ คณาจารย์จะไม่ใช่ผู้สอนแต่เพียงฝ่ายเดียว คนที่อยู่หน้างานจริง ๆ คนที่อยู่ในสังคมอาจจะแลกเปลี่ยนความรู้กับมหาวิทยาลัยและสร้างความรู้ไปด้วยกัน นั่นคือการก้าวไปด้วยกันขององคาพยพทั้งหมดที่อยู่ในโลกดิจิทัล นั่นคืออิมแพกต์ที่สำคัญของ Digital Transformation” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ กล่าว

 

        ขยายรายละเอียด เห็นภาพชัดของ ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’

รองศาสตราจารย์ ดร.ถนอมพร อธิบาย 5 องค์ประกอบสำคัญของมหาวิทยาลัยดิจิทัล อันได้แก่ Infrastructure, Digital Learning, Digital Administration, Digital Security และ Digital Human Resource ทว่านิยามของ Digital University หรือ Smart University ในแต่ละยุคกลับแตกต่าง “ช่วงนี้ มหาวิทยาลัยของเราทำดิจิทัลให้เป็น Digitization คือ การเอางานมาปรับ ไม่ว่าจะเป็นการ Disrupt the old process หรือ Disrupt the old product เราเอาระบบมากางว่าเกี่ยวข้องกับใครบ้าง แล้วนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาช่วยปรับและกระตุ้นกระบวนการในการทำงาน” รองศาสตราจารย์ ดร.ถนอมพร อธิบาย “คำว่า Smart ก็คือคำว่า Efficient การทำ Digitization ก็คือ การเก็บข้อมูล การประมวลงาน เรื่องของ BI หรือ Business Intelligence คือเรื่องของยุคนี้ เป็นการขับเคลื่อนโดยข้อมูล ส่วนแง่ของ Digital Transformation คือ สิ่งที่เราจะไปให้ถึง”

        เช่นเดียวกับ รองศาสตราจารย์ ดร.รัฐสิทธิ์ เล็งเห็นว่าฐานข้อมูลจะต้องได้รับการพัฒนาให้เชื่อมโยงและบูรณาการ อันจะนำไปสู่การต่อยอดเป็นสารสนเทศ “มหาวิทยาลัยอยู่ในช่วงของการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 ซึ่งการทำแผนพัฒนาด้านดิจิทัลสอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะเทคโนโลยีถือเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ซึ่งเรามองว่าไอทีสนับสนุนทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งความพร้อมด้านข้อมูลสารสนเทศ ที่ช่วยในการตัดสินใจ ทั้งเรื่องเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับด้านดิจิทัล  อาทิ การใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ หรือการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทนเอกสารที่เป็นกระดาษ ฯลฯ มหาวิทยาลัยจึงมองว่าจะทำอย่างไรที่ดิจิทัลเทคโนโลยีจะเอื้อและเหมาะสมต่อการนำมาใช้งาน โดยที่ยังอยู่ในกฎอยู่ในเกณฑ์ของกฎหมาย” รองศาสตราจารย์ ดร.รัฐสิทธิ์ กล่าว

        ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ ให้ความเห็นว่า การยกระดับมหาวิทยาลัยให้กลายเป็นดิจิทัลนับเป็นการทำพันธกิจของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเป้าระยะไกลที่สุด ในการเตรียมความพร้อมให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ และสามารถทำงานร่วมกัน โดยมีแพลตฟอร์มของการสร้างความรู้และการส่งผ่านองค์ความรู้ เพื่อสร้างอิมแพกต์ให้กับสังคมด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี “ระหว่างทางจะเป็นเรื่องของ Digitization คือ การปรับตัวระบบมหาวิทยาลัยทั้งหมด เพื่อให้ข้อมูลโฟลว์ แต่ก็ไม่ละเลยเรื่อง Digitalization หรือการปรับกระบวนงาน ดูกระบวนการในการทำงานว่างานไหนอยู่บนแพลตฟอร์มแล้วกระบวนการสั้นลง มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการปรับประสิทธิผล ซึ่งในการทำ จะต้องใช้คน แผนการพัฒนาคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ ที่ต้องทำงานร่วมกัน หรือทักษะที่ต้องทำงานแบบบูรณาการ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ศึกษาข้ามงาน ต้องวางแผนทำงานร่วมกัน และ Digital Literacy การสำนึกในหน้าที่ของตัวเอง ที่รับผิดชอบต่อข้อมูลส่วนบุคคล ที่รับผิดชอบต่อการกระจายข้อมูล ผลกระทบต่อข้อมูล Workforce สำคัญที่สุด เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยได้มองกลไกเหล่านี้ไว้ในอนาคต และมีการปรับเปลี่ยนในช่วงของระยะกลาง เน้น Digitization และ Digitalization แต่เรื่อง Workforce เป็นงานที่ต้องทำตลอดทาง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ อธิบาย

 

SMART UNIVERSITY, SMART CITY

        การเคลื่อนทัพไปสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการเป็น Smart City อย่างน่าสนใจ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการพิจารณาให้เป็น ‘พื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะ’ ซึ่งนับเป็น 1 ใน 15 เมืองอัจฉริยะของประเทศ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

        ด้วยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเป็นเมืองอัจฉริยะ อันประกอบด้วย ‘โครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพ’ เช่น ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ รวมถึงศูนย์บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Smart Campus Management Center, SCMC) รวมถึง ‘โครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล’ เช่น ระบบเครือข่ายระบบ Internet ไร้สาย Wi-Fi, 4G, 5G, LoRaWan โครงข่ายไฟเบอร์ออปติก โครงข่าย Internet of Things (IoTs) เป็นต้น ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการรับรองเป็นพื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะครบทั้ง 7 ด้าน คือ Smart Environment, Smart Energy, Smart Economy, Smart Governance, Smart Mobility, Smart Living และ Smart People และสามารถใช้ตราสัญลักษณ์ ‘Smart City Thailand’ ได้เป็นระยะเวลา 2 ปี

         “การจัดทำแผนการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจจะแหวกแนวกว่าชาวบ้านเล็กน้อย แผนปกติจะมีเรื่องของแผนยุทธศาสตร์ งานวิจัย งานวิชาการ และการเรียนการสอนทั่ว ๆ ไป แต่การจัดทำแผนฯ ระยะที่ 12 เรามียุทธศาสตร์เชิงรุก 3 ด้าน คือ นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน นวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ และยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ 3 คือ ล้านนาสร้างสรรค์” รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดีด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม และผู้รับผิดชอบดูแลยุทธศาสตร์นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน กล่าว “เรื่อง Smart City เข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่ช่วงปี 2560 เป็นจังหวะเดียวกันกับที่เราตั้งใจจะทำยุทธศาสตร์เชิงรุก ตรงกับ Smart City ทุกอย่าง เราจึงปักธงว่าจะนำ Smart City เข้ามาใช้ภายใต้ยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน นับจากวันนั้น เราก็เริ่มทำกันมา กระทั่งล่าสุด เมื่อปีที่แล้ว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แจ้งผลการรับรอง Smart City ครบทั้ง 7 ด้านให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่”

        “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีฝ่ายบริหารจัดการเรื่อง Smart City โดยเฉพาะ เมื่อทุกท่านเข้ามาในมหาวิทยาลัยคงจะได้เห็นว่าเราใช้การขนส่งระบบไฟฟ้าทั้งหมด (Smart Mobility) ส่วนเรื่อง Smart Energy ทางมหาวิทยาลัยยังใช้โซลาร์รูฟท็อปซึ่งนำพลังงานไฟฟ้าไปใช้ในการบริหารจัดการ เป็นต้น” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยกตัวอย่าง

        รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ยังเล่าถึง Smart Grid ซึ่งเป็นการโอนย้ายพลังงานไฟฟ้าที่เก็บสะสมจากหลังคาอาคารหนึ่งไปยังอีกอาคารหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเปล่าจากการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยเฉพาะในวันที่บางอาคารไม่มีภารกิจ อาทิ การส่งพลังงานไฟฟ้าไปให้กับโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ เป็นต้น

         “อีกส่วนหนึ่ง คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีขยะกว่า 10 ตันต่อวัน ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยบริหารจัดการขยะเอง 100% โดยตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะให้มีขยะที่จัดการไม่ได้แล้วหรือจำเป็นต้องฝังกลบจริง ๆ ไม่เกิน 5% ที่เหลือต้องจัดการให้ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้า การผลิตพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใช้คำว่า CVG และล่าสุด ตอนนี้เรานำขยะพลาสติกมาทำเป็นส่วนผสมของยางมะตอย Asphalt Concrete” รองศาสตราจารย์ประเสริฐ เล่า

        ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ประเสริฐ อธิบายว่า คำว่า Smart City ต้องพิจารณาในบริบทของ City หรือเมืองนั้น ๆ อาทิ บริบทของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่าเป็นอย่างไร มีประชาคมเป็นอย่างไร โดยอาจต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งหมด ตลอดจนเรื่องการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทนั้น ๆ “สุดท้ายแล้ว คือ การมองว่าจะทำอย่างไรให้เมืองนั้นเป็นเมืองที่น่าอยู่ มีความสุข เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประชาคมมีความปลอดภัย และมีความยั่งยืน อันนั้นคือภาพหลัก ๆ” รองศาสตราจารย์ประเสริฐ กล่าว “คำว่า Digital University ผมว่าหลาย ๆ ท่านคงให้ข้อมูลในระดับหนึ่งแล้ว แน่นอนว่าไม่ใช่แค่การแปลงกระดาษมาเป็นไฟล์ดิจิทัล แต่คงต้องมองเรื่องการทำอะไรก็ตามให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งก็แมตชิงกับคำว่า Smart City ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้ทรัพยากร เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืน ฯลฯ คุยกันมาเยอะพอสมควร มีศัพท์หลาย ๆ คำเกิดขึ้นมา แต่สุดท้ายแล้ว สำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราต้องมองและเดินไปถึงระดับ Intelligent University ซึ่งรวบรวมคำว่า Digital University และ Smart City เข้ามาทั้งหมด”

 

พัฒนาทั้งระบบด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีไม่มีหยุดยั้ง

        ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ กล่าวว่า Digital Transformation เป็นสิ่งที่เปลี่ยนค่อนข้างรวดเร็ว อาจกล่าวได้ว่าเปลี่ยนกันวันต่อวัน เดือนต่อเดือน หรือปีต่อปีก็เป็นได้ นั่นเป็นที่มาให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการและหน่วยงานติดตามเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ “สำหรับช่วงเวลาอีก 5 ปีนี้ ดิจิทัลเทคโนโลยีจะถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการมากขึ้น ๆ ตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้น การเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยได้วางไว้ คือ มีการตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลาย ๆ หน่วยงานขึ้น หน่วยงานแรกเราเรียกว่า วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต (School of Lifelong Education) เพื่อรองรับการให้ความรู้แก่บุคคลที่จะเข้ามาสู่การเรียนรู้ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นวัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ คือ รองรับทุกคนที่ต้องการใฝ่รู้ อีกหน่วยงานหนึ่ง เรียกว่า ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ (Teaching & Learning Innovation Center, TLIC) ทำหน้าที่นำระบบไอทีมาช่วยในการเรียนการสอน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คณาจารย์ต้องปรับใช้ทักษะอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่นับรวมถึงสํานักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ดูแลเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีมาตั้งแต่ต้นและดำเนินการเรื่อยมา เรื่องการวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็นำระบบไอทีเข้ามาใช้ ตั้งแต่การบันทึกข้อมูล ระบบข่าวสารต่าง ๆ ระบบการจ่ายเงิน หรือเงินทุนที่ไปถึงผู้ทำวิจัยอย่างรวดเร็ว เป็นต้น เราหวังว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะเป็นไอทีทั้งระบบ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวปิดท้าย