มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ ‘การเดินทาง’ สู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล

ยุทธศาสตร์และแนวคิด

จาก ‘ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580’ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวฉบับแรกของประเทศไทย และทำหน้าที่เป็นกรอบชี้นำทิศทางการพัฒนาประเทศทุกมิติในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้จัดทำ ‘นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2570’ ขึ้น ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งเน้นการพัฒนานโยบายสำหรับทุกกลุ่มทั้งเชิงพื้นที่และระดับประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่มีข้อมูลสนับสนุน (Evidence-based Policy) โดยกำหนดเป้าหมายหลักและทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Objectives) รวมถึงประเด็นสำคัญ (Key Issues) ในการพัฒนาอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ยึดหลักเน้นความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ (Demand-driven) เพื่อเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ

ทั้งนี้ ในส่วนของ ‘ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา’ นอกจากจะประกอบไปด้วย 1) เจตนารมณ์ วิสัยทัศน์ และวัตถุประสงค์ของแผน และ 2) เป้าหมาย และตัวชี้วัดของแผนแล้ว หัวข้อที่ 3) ยุทธศาสตร์และแนวทาง ยังประเด็นยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศสำคัญ อันประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ บัณฑิตและกำลังคน ระบบนิเวศวิจัย และอุดมศึกษาใหม่ ซึ่งยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ มี 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพคน (Capacity Building) การส่งเสริมระบบนิเวศวิจัยอุดมศึกษา (Research Ecosystem Building) และการจัดระบบอุดมศึกษาใหม่ (Higher Education Transformation)

ในยุทธศาสตร์เรื่อง ‘การจัดระบบอุดมศึกษาใหม่’ นี้เอง สถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยจัดการศึกษาขั้นสูงที่เป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ฉะนั้น สถาบันอุดมศึกษาจึงต้องมีศักยภาพและสมรรถนะตรงตามอัตลักษณ์ หรือจุดแข็งของตนเอง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและประเทศ โดยสถาบันอุดมศึกษาต้องปรับตัวและพัฒนาตนเอง เพื่อมุ่งไปสู่สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ รวมทั้งต้องมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มีความทันสมัย ความโปร่งใส (Transparency) ความรับผิดชอบและการตรวจสอบได้ (Accountability) มีการใช้จ่ายงบประมาณที่ภาครัฐสนับสนุนอย่างคุ้มค่า คุ้มทุน และมีประโยชน์สูงสุด และสามารถจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อบรรยากาศการเรียนการสอนและรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งแนวทางขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ ประกอบไปด้วย 4 แนวทาง คือ การบริหารจัดการและธรรมาภิบาล (Management and Good Governances) การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาตามอัตลักษณ์ที่หลากหลาย (Reinventing University) ความมั่นคงทางการเงินในระบบอุดมศึกษา (Financial Security) และ ‘อุดมศึกษาดิจิทัล (Digital Higher Education)’

เฉกเช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ของ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อได้รับเสียงสะท้อนจากสภามหาวิทยาลัยเพื่อปฏิรูป 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ People, Ecological และ Spiritual ในการเดินหน้าสู่คำว่า ‘สมาร์ต (Smart)’ ซึ่ง รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายให้ง่ายขึ้นว่า ‘สมาร์ต’ ใกล้เคียงกับคำว่า ‘ดิจิทัล (Digital)’

“ในปัจจุบันนี้ ถ้าพูดถึงองค์กรที่ดี สมาร์ต หมายถึง ความฉลาด และอัจฉริยะ เรื่องนี้หลีกหนีไม่พ้น การนำดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือ ซึ่งสอดคล้องกับ Industrial Revolution เพราะฉะนั้น เรื่อง Digital Transformation หรือการปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นดิจิทัลจึงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัย” รศ.นพ.ชาญชัย กล่าว “เพราะฉะนั้น แฟลกชิปของมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ มหาวิทยาลัยที่นำใช้ดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ในการเรียนการสอน รวมทั้งในการผลิตบัณฑิต ตอนนี้เราต้องการทำให้บัณฑิตทุกคนรู้เรื่อง A, B, C, D คือ AI, Blockchain, Cloud และ Data แต่ละหลักสูตรจึงต้องไปคิดการทำให้บัณฑิตที่จบออกไปแล้วสามารถทำงานภายใต้สภาพหรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในที่ทำงาน ในอนาคตทุก ๆ องค์กรกำลังมุ่งไปในทิศทางนี้ทั้งหมด”

ในขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทยหลายแห่ง มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกอย่าง MIT หรือมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในต่างประเทศ อาจนำหน้าไปด้วยการมีรองอธิการบดีที่ดูแลด้านดิจิทัลกันเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับมหาวิทยาลัยขอนแก่น นับเป็นความโชคดีที่ผู้บริหารเล็งเห็นประโยชน์และเปิดใจรับการนำใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมาเป็นเวลาเกือบทศวรรษ ดังจะพบว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยรัฐบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่มีรองอธิบดีฝ่ายดิจิทัลรับหน้าที่ดูแลและพัฒนางานด้านดิจิทัลอย่างเข้มข้น

Digital Transformation มีหลายมิตินะครับ เป็นเรื่องการจัดการองค์กร โดยเปลี่ยนองค์กร 2 เรื่อง คือ เปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้นโดยใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือ เป็นการเปลี่ยนการทำงาน คือ Change the Known สองคือ Change the Games เป็นการเปลี่ยนวิธีให้บริการ หรือเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ขององค์กร ให้สามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลและบริการให้ดีขึ้นด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือการบริการใหม่ การปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัลต้องคำนึงถึง 2 สิ่งนี้ครับ” ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล กล่าว

 

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยน

มหาวิทยาลัยขอนแก่นเล็งเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลมานานพอสมควร ย้อนกลับไปประมาณปี 2016 ที่สภามหาวิทยาลัย และผู้บริหาร ณ ช่วงเวลานั้น เรื่อยมาถึงผู้บริหาร ณ ขณะนี้ มองว่าสังคมได้เดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นที่มาของการระดมสมองว่าจะรองรับกับอนาคตอย่างไร

“การระดมสมองที่เราทำ ไม่ใช่ทำกันในเฉพาะมหาวิทยาลัย แต่เรายังเชิญ Google จาก Mountain View มาร่วมด้วย เพื่อให้ทาง Google เล่าให้เราฟังว่าองค์กรที่เขาอยู่กับเทคโนโลยี เขาเห็นอะไร และองค์กรของเขาต้องการคนแบบไหนเพื่อการขับเคลื่อนองค์กร เราจึงได้เห็นแนวโน้มตรงนั้นว่าเราจะปรับใช้กับองค์กรที่เป็นลักษณะของการศึกษาอย่างไร เราพยายามปรับเปลี่ยนมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงแรก เราเน้นเรื่องการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน คือคำว่า ดิจิตอลเทคโนโลยี ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะขึ้น Slope คือ พุ่งไปข้างหน้า โดยการใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน และโชคดีที่พวกเราสร้างฐานไว้พอสมควรในระยะเวลา 2-3 ปีแรก กระทั่งพอถึงเวลาที่เราจำเป็นต้องใช้ เราก็ขึ้น Slope ได้ดีระดับหนึ่ง แม้ไม่สามารถบอกว่าดีที่สุด แต่เราก็ขึ้นได้ดีระดับหนึ่ง” ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าว

พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.เด่นพงษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า สามองค์ประกอบสำคัญของการเปลี่ยนแปลง คือ นโยบาย (Policy) กล่าวคือ ตั้งแต่ปี 2016 มีนโยบายว่าต้องเป็นไปแบบไหน และมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเรื่อยมา สองคือ เทคโนโลยี (Technology) ที่ต้องวางแผนให้ดี อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนที่ไม่ถึงครึ่ง การปรับเปลี่ยนที่มากที่สุดก็คือ การเปลี่ยนองค์กรหรือการเปลี่ยนคน คือการทำ Change Management การปรับเปลี่ยนในองค์กรต้องเกิดจากทั้ง 3 ขานี้ โดย 2 ขาแรก ทำได้ทำดีและได้เร็วพอสมควร แต่ขาที่ 3 ถือว่าท้าทายและยากที่สุด

ตอกย้ำถึงการเดินทางที่ออกจากจุดเริ่มต้นมาค่อนข้างไกล และได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย ดร.กิตติ์ เธียรธโนปจัย ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีดิจิทัล สะท้อนมุมมองในส่วนงานที่รับผิดชอบว่า ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่นลงทุนมาอย่างต่อเนื่องและค่อนข้างนาน โดยระหว่างที่ ดร.กิตติ์ อยู่ในตำแหน่ง มีการลงทุนประมาณปีละ 20,000,000 บาท เฉพาะในส่วนของ Infrastructure ที่ต้องมีการปรับปรุงและอัปเกรดให้ทันสมัย “ถ้าเทียบกับหลายมหาวิทยาลัย งบประมาณด้าน IT ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นก่อนหน้านี้ไม่ได้สูง จะมีช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เพราะมี COVID-19 จึงจำเป็นต้องทำให้คุณภาพของ IT สูงขึ้น ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น ปรับปรุงอะไรไปหลายอย่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่นอาจจะโชคดี คือ เราเลือกเทคโนโลยีได้ถูกเวลา ทำให้เราทุ่นเรื่องงบประมาณไปได้เยอะ” ดร.กิตติ์ กล่าว

“ผมอาจจะคอนเซอร์เวทีฟเรื่องเงิน คือ ใช้เงินอย่างประหยัดมาก ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะใช้ Open Source แทบจะทุกฐานเราจะหา Open Source ก่อน ตั้งแต่ OS ของระบบ Operating System ส่วนของเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมด ถ้าไม่จำเป็นเราจะใช้ลินุกซ์ (Linux) ส่วน Cloud ที่เราใช้ ก็เป็นสำหรับการศึกษา จะใช้ตัวฟรีเกือบทั้งหมด ยกเว้นที่จำเป็นสำหรับทำงานออฟฟิศ เช่น Windows แต่บริษัทที่ขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะขายให้ในราคาอัตราเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นโกลเบิลอยู่แล้ว แต่สิ่งที่หนีไม่พ้นต้องลงทุนก็คือ เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟเบอร์ออปติก เซิร์ฟเวอร์ ฯลฯ ส่วนฮาร์ดดิสก์เราก็ไม่ได้ซื้อ เพราะมีคนบริจาคให้ในความจุ 200 กว่าเทระไบต์ เพราะฉะนั้น การลงทุนเป็นการลงทุนไปกับ Infrastructure เป็นส่วนใหญ่” ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าว

 

ความท้าทายในการเปลี่ยนแปลง

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ ยอมรับว่า เป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะอธิบายให้ผู้ที่มีความกังวลหรือความกลัว โดยเฉพาะนักการเงิน นักการบัญชี ผู้ที่ไม่เพียงแต่ต้องตรวจสอบความถูกต้องของการเงินการบัญชี และเอกสารเบิกจ่ายต่างๆ แต่ยังต้องตรวจเช็กว่าไม่มีการละเมิดกฎระเบียบใด ๆ ของราชการ เพราะหากเกิดความผิดพลาด ความรับผิดชอบต่าง ๆ อาจต้องตกอยู่ที่บุคคลเหล่านั้น ความท้าทายสำคัญที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเลือกนำใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีกับฝ่ายที่ดูแลเรื่องการเงินการบัญชี คือ การพิสูจน์ว่า ดิจิทัลเทคโนโลยี ไม่ใช่อุปสรรคของการทำงานเหล่านั้น หากยังจะเป็นเครื่องมือสำคัญให้เขาอีกด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงหยิบระบบที่ใช้กว้างที่สุดในมหาวิทยาลัย คือ การขอเบิกจ่ายเพื่อเดินทางออกนอกมหาวิทยาลัย “ทุกคนในมหาวิทยาลัยเดินทางกันเยอะ อย่างน้อยเดินทางออกนอกมหาวิทยาลัยเดินทางไปต่างอำเภอ ก็ต้องขออนุมัติหมดอยู่แล้ว และถ้าต้องใช้เงินเบิกจ่าย ก็ต้องขออนุมัติ ผมจึงเลือกระบบนี้ในการทำ Change Management เลือกระบบทำราชการให้ไปแตะเรื่องเงิน ให้คนเข้าใจว่าเรื่องเงินก็ทำได้ หลังจากนั้น เรื่องอื่น ๆ ที่จะเข้ามาก็จะง่ายเอง” ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเดินทางมาถึงการ Change Management ในเรื่องการขอเบิกจ่ายเพื่อเดินทางออกนอกมหาวิทยาลัยดังที่กล่าวข้างต้น ‘Digital Signature’ คือ ใบเบิกทางสำคัญ ที่ทำให้สามารถพิสูจน์เอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ได้ตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ ผศ.ดร.เด่นพงษ์ อธิบายว่า Digital Signature หนีไม่พ้นเรื่องการ Log In, User Name และ Password เพราะ Digital Signature ไม่ใช่เพียงแค่การสื่อสารจากสมอง ไปที่มือ แล้วก็วาดรูป เพื่อให้เป็นลายเซ็น หากเป็นเรื่องของไฟล์ดิจิทัล จึงต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การใส่ Multi-factor Authentication ไปทั้งองค์กร ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น คือ มีความยุ่งยากมากขึ้น แต่ก็ต้องอธิบายว่าเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับทุกคน “การเปลี่ยน เปลี่ยนด้านหนึ่งกระทบอีกด้านหนึ่ง บวกไปด้านหนึ่งลบอีกด้านหนึ่ง แต่เราต้อง Compensate บางสิ่งบางอย่างกับสิ่งที่เป็นลบ และอธิบายได้” ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าว Digital Signature ที่เป็นมาตรฐานสากล ทำให้เอกสารนั้นถูกต้อง ตรวจสอบย้อนหลังได้เสมอ Digital Signature จึงเป็นประตูที่ทำให้เรากล้าแตะการเงิน”

 

ดิจิทัลเทคโนโลยีประจำวันในรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น

จะกล่าวว่า ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นอีกปัจจัยพื้นฐานในการดำรงอยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็คงไม่ผิดนัก เพราะการนำใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีได้รับการใช้งานตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ ไปจนถึงผู้บริหาร

“ระดับปฏิบัติการ อาทิ พนักงานรักษาความปลอดภัย ที่ต้องทำรายงานประจำวันต่าง ๆ โดยใช้ล็อกบุ๊กอยู่แล้ว เปลี่ยนมาใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งพนักงานมีใช้งานกันทุกคน “เราให้เขาสามารถรายงานการปฏิบัติงานผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ได้ เช่น ถ่ายรูปเสร็จ นำขึ้นแอปเลย ไม่ต้องหาวิธีดาวน์โหลดใส่อีเมล หรือคนส่งเอกสาร ก็สามารถการปฏิบัติงานผ่านอุปกรณ์ โดยตรวจสอบว่าจะต้องไปรับอะไร เอกสารครบไหม หรือต้องเอาไปส่งใคร ส่งครบหรือยัง แล้วเขาได้รับไหม ดิจิทัลเทคโนโลยีทำให้เขารู้สึกว่า สะดวกขึ้น แล้วงานเขาลดลงทันที แม่นยำขึ้น ส่วนในระดับผู้บริหาร มหาวิทยาลัยทำเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีมานานพอสมควร และผู้บริหารมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น เช่น ท่านอธิการบดี ท่านจะบอกเลยว่าท่านพร้อม” ผศ.ดร.เด่นพงษ์ เล่า

“โชคดีที่นโยบายของผู้บริหาร คือ ไม่ทิ้งเรื่องดิจิทัลเลย ตอนนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นภาคบังคับว่าคุณจะต้องใช้” อริสา จิรธชานนท์ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ หัวหน้างานสนับสนุนนโยบายผู้บริหาร สะท้อนภาพในฐานะคนทำงานใกล้ชิดกับผู้บริหาร หรือเป็นแนวหน้าที่ต้องสอดรับนโยบายที่มหาวิทยาลัยผลักดัน รวมถึงเรื่องการนำใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีที่ต่อยอดเรื่อยมา “ในส่วนของงานเลขานุการ การบริหารจัดการงานตารางนัดหมายผู้บริหาร มีการใช้ Google Calendar ใช้ Google Drive ในการทำงาน เรื่อง Flash Drive แทบจะไม่ต้องใช้เลย กล่าวได้ว่า ชินกับวัฒนธรรมการใช้ดิจิทัลมาตลอด และที่พีกที่สุด น่าจะเป็นช่วง COVID-19 ที่เป็นแรงผลักให้ทำงานกับคนอื่น ๆ ง่ายขึ้นด้วย” อริสา กล่าว “การเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัด คือ กระดาษหายไป เอกสารหายไป เดิมหลังโต๊ะทำงานทุกคนแทบจะต้องมีแฟ้มกระดาษ ตอนนี้สิ่งเหล่านี้ไม่มีแล้ว มันค่อย ๆลดลงไปเรื่อย ๆ และเรื่องของงบที่เราต้องจ่ายไปกับค่ากระดาษก็หายไปด้วย”

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการใช้เซ็นเซอร์เพื่อเก็บข้อมูล (Data) ต่าง ๆ จำนวนมาก ด้วยเพราะความเล็งเห็นแนวโน้มของ Internet of Things (IoT) ที่อยู่ในระบบของโลก มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเก็บ Data เพื่อใช้ในการตัดสินใจ การบริหาร เป็นฐานของการ Analytics หรือฐานของ AI

Supply Chain มันมา IoT จึงเป็นฐานใหญ่ แล้วก็เป็นฐานในอนาคต แทบจะทุกที่ต้องมี Data เราจึงวางแพลตฟอร์มของ IoT ในการอ่านข้อมูลจากเซ็นเซอร์ โดยเราก็ใช้ Open Source อีกเช่นกันในการทำเป็นระบบกลางของมหาวิทยาลัยเพื่อรับข้อมูลจากเซ็นเซอร์ทุกชนิด เช่น PM2.5, Solar Farm การผลิตน้ำประปา และการใช้ไฟฟ้าของมหาวิทยาลัย หรือการเรามีโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และน้ำเสียของมหาวิทยาลัยที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เราต้องดูแลและบำบัด เพราะฉะนั้น การที่เรามีข้อมูลลักษณะนี้ เราจะสามารถบริหารได้ว่า เราต้องขยายหรือจัดการอย่างไร” ผศ.ดร.เด่นพงษ์ อธิบาย

ด้าน ดร.กิตติ์ ชวนมองอีกมุมที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน ผมเห็นแนวโน้มในเรื่องการใช้เครื่องมือที่ระดับเร็วขึ้น โดยเฉพาะนักศึกษา ที่เข้าถึงเครื่องมือได้ง่าย เรียนรู้การเข้าถึงเครื่องมือได้เร็ว บางครั้งจึงแรงกระตุ้นให้อาจารย์ต้องเข้าถึงการใช้เครื่องมือพวกนี้เป็นด้วยเหมือนกัน ทำให้อาจารย์เองมีการปรับเปลี่ยน ต้องใช้เครื่องมือทางดิจิทัลเพื่อจะช่วยในการเรียนเรียนการสอน หรือกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพที่ดี เราเองมีเครื่องมือ ทั้งการสนับสนุนใน Infrastructure ส่วนหนึ่ง แต่เรื่องกิจกรรมที่จะถ่ายทอดให้กับอาจารย์ใหม่ จนถึงอาจารย์ที่ทำงานมานานแล้ว ก็จะมีหน่วยงานที่คอยสนับสนุน แต่ช่วงปีที่ผ่านมา ในสถานการณ์ COVID-19 ทุกคนเป็นกันในทันที” ดร.กิตติ์ กล่าว ในอนาคต คิดว่าเครื่องมือทางด้านดิจิทัลน่าจะมีส่วนช่วยในการเรียนการสอนมากขึ้น ในทางดีก็คือว่า จะทำให้นักศึกษาเองมีความพร้อม เพราะท้ายที่สุดเขาก็ต้องได้เจอเครื่องมือเหล่านี้ในการทำงานในอนาคต COVID-19 ก็เป็นโอกาสที่ทำให้คนเข้าถึงเครื่องมือทางด้านดิจิทัล บังคับให้คนใช้เครื่องมือดิจิทัล และมีทักษะเรื่องนี้ติดตัว นี่ก็เป็นหนึ่งเทรนด์เหมือนกัน”

 

การนำใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีที่ไม่มีสิ้นสุด

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล แต่ทุก ๆ ยุทธศาสตร์ขององค์กรจำเป็นต้องมีดิจิทัล เป็น Key Word ว่า ทำไมต้องนำดิจิทัลไปใส่ในทุก ๆ ที่ “ทำอยู่ที่เดียวไม่มีทางสำเร็จ มันกลายเป็นเรื่อง IT ไม่ใช่เรื่องดิจิทัล เพราะฉะนั้น ดิจิทัลต้องไปอยู่ในทุก ๆ ที่ ใครคิดกระบวนการ หรือคิดงานอะไร ดิจิทัลเข้าไปทำอะไรได้ในเรื่องนั้น คือ ทำให้ดิจิทัลอยู่ในทุกเรื่องได้”

ในความเห็นของ ดร.กิตติ์ เครื่องมือทางด้านดิจิทัลเป็นทั้งเรื่องง่าย ทั้งเรื่องยาก “สิ่งที่เรียนรู้คือ หนึ่ง เราเจอแล้วเราจะทำอย่างไร แล้วจะให้ผู้อื่นใช้งานได้ง่ายที่สุด ก็ต้องเข้าใจผู้ใช้ก่อนด้วย การที่เราเลือกเครื่องมือได้ถูก ทำให้เขาได้ใช้งานได้ง่าย ไม่ซับซ้อน หรือเขามีประสบการณ์มาก่อน จะทำให้การเปิดรับทำได้ง่ายขึ้น อีกสิ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นทำ คือ ถามผู้ใช้โดยตรงว่า ติดอะไร มีปัญหาอะไร ฟังจาก Feedback ของเขาเรื่อย ๆ เรื่อง User Experience สำคัญมากในเรื่องของการทำ Change Management อันนี้เราได้เรียนรู้มา Google เป็นคนสอนเราเรื่อง Change Management เราก็ต้องคิดลึกพอสมควร พอเราจับจุดตรงนั้นได้ จึงนำมาประยุกต์ใช้แทบจะทุกโปรเจกต์” ดร.กิตติ์ กล่าว

เรื่องการนำใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็น Journey แน่ ๆ เพราะไม่รู้แน่ว่า ร้อยเปอร์เซ็นต์ของความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลอยู่ตรงไหน เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เราเห็นตอนนี้ คือ เทคโนโลยีบล็อกเชนกำลังจะเข้ามา เป็น Wave ใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มันเป็น Distributor ไม่ใช่ Centralized Data อีกต่อไป บล็อกเชนที่เข้ามาตอนนี้ก็เหมือนประมาณตอนที่อินเทอร์เน็ตเข้ามาแรก ๆ ถามว่าตอนนี้เรายังสนใจโมเด็ม (Modem) ไหม ไม่สนใจแล้ว เรามาเรื่องไฟเบอร์ออปติกแล้ว แต่กว่าจะมาถึงไฟเบอร์ออปติก ก็ต้องเรียนรู้อะไรมา บล็อกเชนก็เช่นกัน ตอนนี้เราอาจต้องเริ่มคิดว่าต้องมี Token สำหรับใช้กันภายในเพื่อการสื่อสารกันหรือแลกเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างกันหรือไม่ มันคือ Journey เรียนรู้ในอดีต ใช้งานในปัจจุบัน แล้วก็หาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อที่จะเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ถ้าจะเรียกจริง ๆ นั่นคือ เรียนรู้ตลอดไป” ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าว

ท้ายที่สุดแล้ว การนำใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนผ่านจากมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลให้เดินหน้าและไปได้ไกลมากที่สุด ยังคงนับเป็น ‘ความท้าทาย’ ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดยท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัย ให้ความสำคัญกับการ Implement ระบบ โดยต้องทำ Change Management ให้มาก “ในมหาวิทยาลัยมีบุคลากรต่างเจเนอเรชัน เพราะฉะนั้น ต้องทำให้คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่สามารถไปด้วยกันได้ ความท้าทาย ความยาก อยู่ตรงการเปลี่ยน Mindset ของคนในองค์กร ให้เขายอมรับ และเชื่อว่าดิจิทัล จะมาช่วยให้เขาทำงานง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น” รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวปิดท้าย