มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับ Big Change ที่ต้องก้าวไกลไปกว่า Digital University

ผศ. ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์
รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

หลายครั้งหลายคราเราได้รับเกียรติจากผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยและและมีโอกาสสนทนาในประเด็นการนำมหาวิทยาลัยมุ่งสู่การเป็น Digital University เต็มรูปแบบ เพื่อปฏิรูปการอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของการพัฒนาในมิติต่าง ๆ และสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 ตลอดจนสอดประสานกับนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้สะท้อนแนวคิดและการดำเนินงานภายใต้ความโดดเด่นเฉพาะตัวขององค์กรสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และในจังหวะดี ๆ ที่เราได้มาเยือนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้บริหารสถาบัน นำโดย ผศ. ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ชวนเราขบคิดก่อนที่จะกล่าวกันไปถึงการพัฒนาหรือขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็น Digital University เต็มรูปแบบ “ความเข้าใจของผม ดิจิทัลคือเครื่องมือที่เข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการทำงานของมหาวิทยาลัย และแน่นอนว่าดิจิทัลไม่ใช่เครื่องมือช่วยธรรมดา ๆ แต่เป็นเครื่องมือที่คนในยุคปัจจุบันยอมรับและเข้าใจว่า Powerful มาก ไม่ใช้ไม่ได้ มจธ. จึงเรียกว่า Critical Infrastructure ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน”

ผศ. ดร.ประเสริฐอธิบายว่าเมื่อนำ Digital Technology มาใช้ มหาวิทยาลัยต้องตอบเป้าหมายของมหาวิทยาลัยเองให้ได้ก่อนว่าคืออะไร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตังเป้าการปฏิรูปการศึกษา (KMUTT Educational Reform) พร้อมดำเนินงานอย่างสอดรับกับแผนกลยุทธ์ฉบับที่ 13 ของมหาวิทยาลัย จึงได้พัฒนาโครงการแพลตฟอร์ม KMUTT4Life ขึ้นเพื่อรองรับผู้เรียนทุกช่วงวัย (Lifelong Learning) โดยภาพของมหาวิทยาลัยในภาคปกติอาจเป็นการมุ่งเน้นการรองรับผู้เรียนในวัยเรียนเป็นหลัก ทว่าการรองรับผู้เรียนในวัยอื่น ๆ นั้นเป็นกลไกที่แตกต่าง อาทิ การฝึกอบรม หรือการบริการวิชาด้านอื่น ๆ “เมื่อกล่าวว่ามหาวิทยาลัยรองรับผู้เรียนทุกช่วงวัย สิ่งแรกที่คิดถึงคือจะนำ Digital Technology มาใช้อย่างไร ก่อนอื่นจึงต้องเข้าใจเป้าหมายแล้วจึงมาที่กลยุทธ์ของมหาวิทยาลัย และกระบวนการทำงานใหม่หรือการบริการรูปแบบใหม่ของมหาวิทยาลัยที่จะต้องเกิด”

จากนโยบาย Reinventing University ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และการดำเนินงานภายใต้แผนกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัย (KMUTT Strategy Reform) ตั้งแต่ฉบับที่ 12 ต่อเนื่องมาถึงฉบับที่ 13 ตลอดจนภารกิจหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งยวดของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีซึ่งเป็นการตอบโจทย์ประเทศ ผศ. ดร.ประเสริฐตั้งคำถามขึ้นว่าวันนี้ประเทศกำลังเผชิญกับโจทย์ใหญ่และวิกฤตในเรื่องอะไร “ประเทศไทยกำลังถูกดิสรัปต์ คนพูดว่าประเทศเราเป็นอุตสาหกรรมเก่า และกระทบกับกลุ่มแรงงาน 38-40 ล้านคน ถ้าจะให้คนเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เขาจะต้องมีงานทำ แต่ถ้าหากเขาไม่ Fix กับงานที่เกิดขึ้นใหม่ละ ใครจะช่วยตอบโจทย์ของประเทศ แน่นอนว่าคนมีโอกาสถูกเปลี่ยนงาน และถ้าเปลี่ยนงานแล้วแล้ว ความสามารถของเขาไม่ได้ถูกพัฒนาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับลักษณะงานที่เกิดใหม่ โอกาสที่เขาจะไม่มีงานทำหรืองานไม่ต่อเนื่องก็จะเกิดขึ้นอีก จะหวังให้ใครเข้ามาช่วย ถ้าจะเป็นระดับของอุดมศึกษา คือ Higher Education Level มหาวิทยาลัยก็ต้องปรับตัวเองด้วยการจัดกระบวนการของมหาวิทยาลัย” ผศ. ดร.ประเสริฐไล่ลำดับไปตั้งแต่กระบวนการเรียนการสอน อันเป็นงานหลักของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะต้อง ‘Change’ ชนิดที่เรียกว่าลงลึกไปถึงกระบวนการทำงานและจบเป็น Learning Unit “เปลี่ยนทั้งยวงเลยนะ เปลี่ยนทั้งมหาวิทยาลัย และการเปลี่ยนครั้งนี้ไม่ใช่ Core Process เมื่อมหาวิทยาลัยเปลี่ยน กระบวนการสนับสนุนการทำงานเปลี่ยน กลไกบุคคลเปลี่ยน กระบวนการไฟแนนเชียลก็เปลี่ยน ฯลฯ การเปลี่ยนที่ใหญ่อย่างนี้ถ้าไม่มี Digital Technology เข้ามาช่วย มัน Impossible เพราะมันเป็น Big Change”

หลักคิดและทิศทางการปฏิรูปมหาวิทยาลัยในยุคเปลี่ยนผ่าน

อาจารย์ธนิตสรณ์ จิระพรชัย อธิการบดีฝ่ายแผนและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เท้าความให้เราฟังถึงลักษณะเฉพาะของ 3 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าที่อยู่แยกออกจากกันว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือตั้งอยู่ทางทิศเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ทั้งหมดเป็นสามเหลี่ยมที่ปักแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเจตนาที่ประเทศสร้างมหาวิทยาลัยเฉพาะทางที่เรียกว่า ‘วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี’ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนและยกระดับประเทศ ทั้งนี้ด้วยเพราะมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ งานด้านงบประมาณและบุคลากรจึงยังอิงอยู่ในกำกับภาครัฐ ดังนั้นการขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงและเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมทั้งขยับขึ้นมาอยู่แถวหน้าของประเทศให้ได้นั้น แนวคิดเชิงนวัตกรรมที่มีมาตั้งแต่อดีตและรากฐานทางวัฒนธรรมของคนในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ‘ต้องคิดใหม่ อยู่กับกลไกโลกแบบเดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงตลอด’ “ โดยเฉพาะเมื่อต้องดำเนินงานสนับสนุนนโยบายประเทศที่ว่า ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ถ้าเราไม่มีนวัตกวรรมใหม่ ๆ ที่จะยกระดับประเทศให้ก้าวข้าม ‘กับดักของรายได้ปานกลาง’ แปลว่าเราไม่มีทางก้าวข้ามกับดักนี้ได้” อาจารย์ธนิตสรณ์จึงอธิบายต่อเนื่องไปถึงค่านิยมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT Core Values) “เป็นมืออาชีพ อย่างมีคุณธรรม จริยธรรม” (Professionalism and Integrity) คนในองค์กรต้องคิดใหม่ ต้องทำงานหนัก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับประเทศ โดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขัน ถ้ากล่าวถึง Inclusive Global เรามีมหาวิทยาลัยในภูมิภาคที่ต้องช่วยกัน แต่ถ้ากล่าวถึง Competitive Global เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยได้เป็นอย่างมาก”

ผศ. ดร.ประเสริฐจึงได้อธิบายไว้ว่ามหาวิทยาลัยมีความจำเป็นต้องเป็นดิจิทัลเรียกว่าในระดับของการตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของประเทศจึงต้อง ‘Reinventing’ ทั้งกระบวนการการเรียนการสอนและกระบวนการสนับสนุนทั้งหมด “ผมว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่อง Digital University แล้วนะ เพราะมันใหญ่มาก ต้องทำว่า ‘เพื่ออะไร’ มจธ. เริ่มต้นด้วยการคิด Process ของการทำงานไปกับเป้าหมายที่อยู่ในแผนกลยุทธ์ฉบับที่ 12 ที่ว่ามหาวิทยาลัยของเราจะเป็น The Best Science Technology & Innovation University In Thailand For Learning Innovation คือมีนวัตกรรมด้านการเรียนการสอนให้กับประเทศ และแผนกลยุทธ์ฉบับที่ 13 ที่กำลังเริ่มต้น คือการเป็น Top 3 Sustainable Eternal University In Science Technology & Innovation” ผศ. ดร.ประเสริฐอธิบายพร้อมยกตัวอย่าง “ในอาเซียน เป้าหมายใน Core Process เรื่องการเรียนการสอนก็เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่จะทำได้ Digital Technology ต้องเข้ามาช่วย แต่ภาพกว้างของมหาวิทยาลัยใน Core Process คือกระบวนการทำงานมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้มีเฉพาะการเรียนการสอน แต่ยังมีเรื่องการวิจัยและการบริการวิชาการด้วย คำถามคือจะทำให้การวิจัยและการบริการวิชาการเกิดประโยชน์ได้อย่างไร ในแผนกลยุทธ์ฉบับที่ 13 จึงมุ่งใช้กระบวนการหลักทั้งการวิจัยและการบริการวิชาการที่สร้างอิมแพกต์ให้กับสังคม ในกระบวนการของ มจธ. คือถ้าเพิ่มพับลิเคชันให้กับรีเสิร์ชแล้ว ยังสามารถนำรีเสิร์ชไปทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ชิปของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน ภาคผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคม และภาคชุมชนได้อย่างไร ประเด็นคือการจะทำงานและบริหารจัดการรีเสิร์ชโดยสามารถแทร็กกิงและสะสมองค์ความรู้ ตลอดจนทำให้เกิดการวิเคราะห์ได้ว่ามีอิมแพกต์อะไรบ้าง หากไม่มีระบบดิจิทัลมาช่วย มันยาก จะสะสมเป็นกระดาษ เอาไปวิเคราะห์ไม่ได้ มันไม่เห็นภาพว่าเราทำอะไร ประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นบทบาทของ Digital Technology ในงานวิจัยก็ต้องถูกนำมาใช้”

เหนือสิ่งอื่นใด วิสัยทัศน์ 15 ปีของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีกล่าวไว้ถึงสามคุณค่าอันได้แก่ 1) การพัฒนากำลังคนให้เป็น Social Change Agent 2) การพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดความเหมาะสมและสามารถพัฒนาความสามารถของผู้เรียนได้ และ 3) การทำงานวิจัยและการบริการวิชาการที่สร้างผลกระทบที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ “คุณค่าที่ 3 ซึ่งเป็นการทำงานวิจัยและการบริการวิชาการ จะลดประโยชน์ลงอย่างมากถ้าไม่สามารถนำประสบการณ์มาถ่ายทอดและตอบโจทย์สู่คุณค่าที่ 1 และ 2 คือการพัฒนากำลังคนที่มีทักษะ มีความสามารถ ความสามารถ มี Competency ที่ดีสำหรับประเทศ เราสร้างคนเพื่อไปมีผลกระทบต่อสังคม นั่นคือความเป็นผู้ประกอบการ และเราเชื่อว่าวิธีการคิดและร้อยเรียงกระบวนการของมหาวิทยาลัยภายใต้สามคุณค่านี้จะกลับมาสู่การพัฒนากำลังคนที่มีความหมายระดับประเทศ คือการสร้างผลกระทบที่มีตัวคูณเยอะเลย มากไปกว่าการบอกอุตสาหกรรมหนึ่งว่าสามารถลดต้นทุนได้ เป็นการการสร้างผลกระทบที่ มจธ. นำประสบการณ์ทั้งหลายใส่เข้าไปในกระบวนการพัฒนากำลังคนผ่านประสบการณ์ของอาจารย์ที่ได้มาจากของจริง แล้วทำให้คนเหล่านั้นมี Learning Curve ที่สั้นลง เรียกว่า Social Change Agent”

KMUTT4Life : Lifelong Learning ในแบบที่แตกต่าง

สำหรับโครงการแพลตฟอร์ม KMUTT4Life ที่ ผศ. ดร.ประเสริฐเกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่าเป็นกลไกสร้างระบบและสร้างเครื่องมือเพื่อสนับสนุนพัฒนากำลังคนทุกช่วงวัยนั้น ผศ. ดร.ประเสริฐกล่าวว่า “ไม่ว่าผม ไม่ว่าพนักงานในมหาวิทยาลัย อาจารย์ท่านอื่น ๆ ฯลฯ เราเป็นกำลังคนเหมือนกันหมด” ดังนั้นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีจึงวางแผนและสร้างแพลตฟอร์ม KMUTT4Life เพื่อสนับสนุนให้กำลังคนได้รับการสนับสนุนมี New Skill ขณะเดียวกันก็ยังมีโอกาสได้ Reskill และ Upskill ภายใต้สภาวการณ์ของการดิสรัปชันเช่นในปัจจุบัน

ทั้งนี้แพลตฟอร์ม KMUTT4Life เป็นการปรับกระบวนการการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ในลักษณะ Micro-credential (MC) หรือการพิสูจน์ความสามารถจากผลงานแสดงให้เห็นว่าผู้ขอรับรองทำได้จริง ผ่านการประเมินความสามารถที่เฉพาะเจาะจง (Competency-Based) โดยมีการรับรองความสามารถที่เฉพาะเจาะจง การันตีความสามารถที่ทำได้จริง และเน้นทักษะที่ใช้ทำงานจริง ซึ่งล้วนเป็นการเรียนรู้ที่เน้นผลลัพธ์ หรือ Outcome-based Education Module (OBEM) ทำให้เกิดความยืดหยุ่นของการออกแบบการศึกษาสามารถปรับการเรียนรู้ตามรูปแบบงานใหม่ ๆ ให้ทุกคนสามารถเพิ่มและพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการจัดระบบการเรียนการสอนที่สามารถพัฒนาคนทุกช่วงวัย พร้อมกันนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรียังสร้างและพัฒนาอาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ หรือ Learning Exchange (LX) เพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างกายภาพโดยใช้ Digital Technology สนับสนุนการพัฒนาและเตรียมความพร้อมสู่การเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ หรือที่มหาวิทยาลัยเรียกว่า Connected KMUTT

ผศ. ดร.ประเสริฐขยายความให้ฟังว่า KMUTT4Life มีแฟลตฟอร์มให้คนสามารถเข้ามาเรียนรู้ เรียกว่า Modular-based Learning ซึ่งมี 2 โมดูลหลัก ๆ คือ Learn Dot4Life ทั้งนี้รูปแบบการเรียนการสอนจะไม่ได้เป็นการเข้ามาเทรนนิงแล้วฟังแต่การบรรยายอีกต่อไป “ต้องมีการจัดคอร์ส ไม่เหมือนวิชาปกติ เรียนจบแล้วมั่นใจว่าจะได้นำไปทำอะไร เน้น Competency มากกว่า Content จึงต้องมีทั้ง Learning Activities และบรรยายในส่วนของ Content” กล่าวคือในฟากฝั่ง Learn Dot4Life จะมีการตั้ง Learning Outcome, Assessment, Learning Activities และ Learning Method มากกว่าการสอบ อีกด้านหนึ่ง หากเป็นผู้เรียนในลักษณะ Lifelong Learning คือมีความต้องการองค์ความรู้บางส่วน เพราะบางส่วนผู้เรียนมีองค์ความรู้นั้น ๆ แล้ว กล่าวคืออาจจะได้รับจากการเรียนหรือการทำงานที่ผ่านมา อีกโมดูลหนึ่งนี้เรียกว่า Earn Dot4Life “Earn Dot4Life เป็นระบบ Submit Experience House มีกระบวนการทำ Assessment ที่ผู้เรียนพิสูจน์ได้ว่ามี Competency และทักษะในเรื่องนั้น ๆ เป็นไปตาม Learning Outcome ที่มหาวิทยาลัยกำหนด เรียกว่า Earn กับเราได้ มหาวิทยาลัยก็จะรับรอง Competency ให้” ถือเป็นการปรับกระบวนการการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ในลักษณะที่เรียกว่า MC หรือการพิสูจน์ความสามารถจากผลงานแสดงให้เห็นว่าผู้ขอรับรองทำได้จริง ผ่านการประเมินความสามารถที่เฉพาะเจาะจง (Competency-based) โดยมีการรับรองความสามารถที่เฉพาะเจาะจง การันตีความสามารถที่ทำได้จริง และเน้นทักษะที่ใช้ทำงานจริง ซึ่งล้วนเป็นการเรียนรู้ที่เน้นผลลัพธ์ หรือ Outcome-based Education Module (OBEM)

“ทำไมจึงต้องมี 2 ซีก เช่น คนในวัยทำงานมีโอกาสที่จะรู้และไม่รู้ มีโอกาสที่จะทำเป็นแล้วและทำไม่เป็น ถ้าต้องการเรียนและอยากจะสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญา ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนทั้งหมด เสียเวลา โลกใหม่ไม่ได้คิดเป็นวิชา เรียนเป็น Content วิธีคิดของ Outcome-based Education Module มีความแตกต่างกัน Learn Dot4Life จะเหมือนมหาวิทยาลัยสอนหนังสือเด็กนี่ละ แต่เน้น Competency ส่วน Earn Dot4Life เปลี่ยนคำว่าวิธีคิดจากเป็นยูนิตวิชา หรือ Subject กลายเป็น OBDM เพราะฉะนั้นการมาเรียนที่ มจธ. ในอนาคต จะลงทะเบียน OBDM หรือจะลงทะเบียนเทียบ Competent MC ตัวไหน ภาพของฝั่งที่เป็นกระบวนการของการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัย Reinventing ตัวเองคู่ขนานมากับรูปแบบที่มีอยู่ ดิจิทัลแพลตฟอร์ตซีกนี้ มจธ. Innovate ขึ้นว่าหน้าตาของมหาวิทยาลัยในอนาคตจะเป็นอย่างนี้ เราจะต้อง Research เอง Travel เอง และ Improve เอง ซีกนี้จึงเป็นลิขสิทธิ์เป็นของ มจธ. ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเรายินดีจะแชร์กับประเทศ”

ทั้งนี้เพราะยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีไม่อาจเดินตามลำพังเพียงคนเดียวได้ “เราต้องทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ของมหาวิทยาลัย นั่นก็คือกับอุตสาหกรรม สถานประกอบการ ชุมชน หรือกระทั่งภาครัฐเป็นสถานประกอบการ เพราะเราเชื่อว่ามีประโยชน์ ผู้เรียนใช้เวลาเรียนสั้นลง ในการปรับระยะที่ดีที่สุดคือการส่งเข้าไปเรียนรู้ระหว่างการทำงานจริง ในฐานะเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัย เราอาจมีความร่วมมือกับภาคประกอบการ อาจจะทำ MOU กัน ส่วนอาจารย์ที่เคยอยู่และสอนในมหาวิทยาลัย ไม่เคยออกจากรั้วมหาวิทยาลัย ก็ต้องออกไปอยู่กับผู้ประกอบการ ต้องมีตารางการทำงาน ไปเป็น Co-coach หรือ Co-teach กลายเป็นการพัฒนาผู้เรียนโดยได้ประสบการณ์ตรงจากคนในองค์กรที่เรามีความร่วมมือ และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยที่ไกด์ไลน์ด้านการเรียนรู้ นี่เป็นอีกเรื่องของ KMUTT Organization Transformation ที่อยู่ภายใต้แพลตฟอร์ม KMUTT4Life”

Mod Link แอปพลิเคชันภายใต้แนวคิด Connected KMUTT

อีกหนึ่งความน่าสนใจจากรั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คือแพลตฟอร์ม Mod Link ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นเพื่อให้นักศึกษาเชื่อมต่อกับทางมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นตารางสอน ตารางสอบ หรือประกาศอื่น ๆ “Mod Link เป็นแนวคิดใหม่ ได้ความร่วมมือและคำแนะนำจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ อาจารย์ชูจิต (รศ. ดร.ชูจิต ตรีรัตนพันธ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ) ได้วิเคราะห์ User Journey และนำมาทำเฟรมเวิร์กในการออกแบบ ขณะที่ผมช่วยให้เป็นระบบสารสนเทศและจัดทำแอปพลิเคชันขึ้น” รศ. ดร.วชิรศักดิ์ วานิชชา รองคณบดีด้านบริหาร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงการเกิดขึ้นของ Mod Link ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานอย่างหลากหลาย มีทิศทาง และตรงจุด ให้กับกลุ่มนักศึกษาในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงการเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จน Mod Link เข้ามาแทนที่แอปพลิเคชันที่มหาวิทยาลัยเคยจัดทำขึ้นได้อย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ตามแม้จะตอบสนองการใช้งานได้กว่าที่ผ่านมาอย่างเป็นรูปธรรม รศ. ดร.วชิรศักดิ์กล่าวว่าสถานะปัจจุบันของ Mod Link ยังอยู่ในเฟสที่ 1 คือเน้นเรื่องEngagement ส่วนเฟสที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่อง Connected จะเป็นรายละเอียดที่ลึกยิ่งขึ้น “เริ่มมีลักษณะการเชื่อมโยงในเรื่อง Learning Outcome ซึ่งเราพยายามจะแทร็กและบอกให้ได้ว่านักศึกษาได้เรียนอะไรไปแล้ว ทำอะไรไปแล้ว และจะได้อะไรในอนาคต จะเห็นว่าเริ่มมีโครงสร้างและความซับซ้อนมากขึ้น สิ่งนี้กำลังทำอยู่และเริ่มเข้าสู่ปีที่ 2 และอนาคต Mod Link จะขยายออกไปในฝั่งของอาจารย์และเจ้าหน้าที่ โดยปกติมหาวิทยาลัยก็ใช้ Data อยู่แล้ว Mod Link เป็น Demo ตัวแรกเลยก็ว่าได้ที่ทำให้ระบบทุกอย่างเชื่อมเข้ามาหา เราต้องสร้าง Gateway รวมข้อมูลเข้ามาหากัน ซึ่งกลายเป็นเครื่องแบบของแนวความคิด ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีวิธีการการพัฒนา มีการเปลี่ยนแผนเปลี่ยนระบบที่เป็น Core System ของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแค่ข้อมูลที่มีอยู่ และการเชื่อมโยงข้อมูลที่นำไปใช้ได้ก็ไม่ได้เป็นประเด็น แต่ประเด็นก็คือการนำข้อมูลไปใช้ได้เร็ว ไปได้ถูก และเมื่อไรก็ได้ที่ต้องการ นี่คือ Issue ที่แท้จริงของเรา การนำข้อมูลไปวิเคราะห์นั้นยังไม่ค่อยใช่ปัญหาของเราเท่าไหร่ เราต้องการที่จะให้ทุกอย่างเชื่อมโยงกันแบบ Real Time ต้องใช้ได้ ซึ่งปัจจุบันกำลังเชื่อมเข้าด้วยกันในคอนเซปต์ Connected KMUTT”

จากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีวางแผนระยะยาวไว้เป็นแผนระยะ 20 ปี แล้วจึงแบ่งช่วงแผนเป็นคราวละ 5 ปี จากนั้นจึงกระจายสู่แผนปฏิบัติการประจำปีเพื่อตั้งงบประมาณเป็นแผน 1 ปี โดยมีการมองล่วงหน้าไปในระยะ 2 ปี เรียกว่า 1+2 “เมื่อทำงานครบ 5 ปี ก็จะมองไปอีก 20 ปีข้างหน้า หรือแผนระยะยาว ทำให้แผนต่อเนื่อง ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปถึงอนาคต ประเด็นสำคัญคือในแต่ละรอบมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอด อาทิ ปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เทคโนโลยีก็ดี แม้กระทั่งโควิด-19 ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้เป็นตัวเร่ง ถ้ามหาวิทยาลัยไม่หาวิธีป้องกันตัว หรือใช้โอกาสจากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ สิ่งที่ฝันไว้ก็คงยาก ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงมีกลไกสร้างความเข้าใจในอนาคต หรือ 6+1 Flagships (Science Strengthening, Management Strengthening, Learning Organization, E-University, Research University, Driven & Cost Conscious และ The Best & The Brightest)” อาจารย์ธนิตสรณ์กล่าว “โลกปัจจุบันต้องการ Competency บางเรื่อง เราจึงต้องนำ Scale Competency ในศตวรรษที่ 21 มาใส่ไว้ในเด็กของเรา กลไกตรงนี้ในแทร็กที่ 1 คือสายวิชาการ จากนั้นมหาวิทยาลัยต้องสร้างกลไกการสนับสนุน อาทิ เรื่องดิจิทัลก็ดี ในการสนับสนุนจะมีการระดมพลกับงานสนับสนุนทั้งหมดภายใต้แผนที่จะไปในแทร็กของสายวิชาการ เป็น Core Business ว่าต้องสนับสนุนอะไรบ้าง ตรงนี้คือแทร็กที่ 2 ส่วน แทร็กที่ 3 มหาวิทยาลัยจะมองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาปัจจุบัน นักศึกษาที่ออกไปทำงาน ผู้ประกอบการ ผู้ปกครอง ฯลฯ ควรมีส่วนร่วมในการมองภาพของมหาวิทยาลัยเช่นกัน และนี่ก็กลายเป็น 6+1 Flagships ที่จะทำให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน”

อาจารย์ธนิตสรณ์เน้นย้ำว่าการทำงาน ‘ในระยะยาว และต่อเนื่อง’ คือความโดดเด่นของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิสัยทัศน์ไม่ได้เกิดขึ้นจากความคิดของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากความคิดของประชาคมที่จะมุ่งไปสู่ความสำเร็จด้วยกัน “What We Like Would To Be In The Future ไม่ใช่ What I Be Like To Be อีกหนึ่งส่วนสำคัญคือวัฒนธรรมองค์กร อาทิ 6+1 Flagships ที่ช่วยให้ทุกคนมองภาพเดียวกันดังที่กล่าวไว้แล้ว วัฒนธรรมแบบนี้ยังได้รับการกำกับด้วยค่านิยม หรือ Professionalism And Integrity เพราะฉะนั้นเมื่อ 2 อย่างนี้มีมีความต่อเนื่องเข้าด้วยกัน ตรงนี้จึงกลายเป็นความสำเร็จขององค์กร”

อีกประเด็นสำคัญคือการเปิดโอกาสให้คนได้คิดใหม่ และยอมให้คนได้ลอง “มหาวิทยาลัยมีงบประมาณสำหรับการทำงานที่เป็นเรื่องใหม่ ๆ เป็นการพยายามผลักดันให้คนได้คิด แม้แต่การเปิดโอกาสให้คนได้ทำแบบแสดงความคิดความเห็นร่วมกันก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราไม่ได้คิดว่าถ้าทำไม่สำเร็จคือความล้มเหลว เพียงถ้าไม่สำเร็จต้องบอกให้ได้ว่าปัจจัยที่นำไปสู่ความล้มเหลวให้สำเร็จนั้นคืออะไร ถ้าสามารถบันทึกและถอดบทเรียนได้ ก็ถือว่าทำงานได้สำเร็จ นโยบายของการคิดและทำอะไรใหม่ ๆ มีกติกาอยู่นิดเดียว คือ 1) คิดใหม่แล้วเอาไปช่วยในการเรียนการสอนได้ไหม 2) ทำเป็นงานเชิงวิจัยเพื่อต่อยอดให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ได้หรือไม่ 3) สามารถนำไปเผยแพร่และใช้งานจริงได้ใช่ไหม และ 4) ต้องเป็นต้นแบบ” อาจารย์ธนิตสรณ์กล่าว

ผศ. ดร.ประเสริฐเสริมและสรุปปิดท้ายกับ Motto ของ Big Change มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในศตวรรษที่ 21 นี้ว่าเรื่องของ Digital Transformation ก็คือ Connected KMUTT เป็นการเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าหากัน ตั้งแต่ Connected Culture ซึ่งสิ่งที่ตอบรับ Culture ก็คือ Process & Human เพราะฉะนั้นภาพใหม่ที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นการคิดอย่าง Connected “Connected KMUTT, Connected Culture, Connected Future คือต้อง Connected เป็น Future เรียกว่า Connected มาตั้งแต่การกำหนดนโยบาย นโยบายนี้ก็มาตั้งแต่นโยบายประเทศ ถอดมาเป็นนโยบายมหาวิทยาลัย เป็นกลยุทธ์ประเทศ เป็นเป้าหมายเชิงหน้าที่ประเทศ เป้าหมายเชิงหน้าที่มหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นระบบดิจิทัลของมหาวิทยาลัยที่กล่าวว่าเป็น Connected KMUTT จึงต้องเข้าไป Connected ทั้งระบบ”

https://www.facebook.com/digitaluniversity.thai/