การจัดการองค์กรในยุค
AI อีกความท้าทายของคณะเภสัชศาสตร์ ม.พะเยา โดย ศ. ดร. ภก.สุรศักดิ์ เสาแก้ว
เวทีเสวนาออนไลน์ Digital University: Enabling The Smart Society ที่จัดขึ้นทุก ๆ เดือนบน เฟซบุ๊กเพจ Digital University มหาวิทยาลัยดิจิทัล มีโอกาสต้อนรับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมากมายจากหลากหลายองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการศึกษา ด้วยวัตถุประสงค์ของการมุ่งนำความรู้และประสบการณ์ในมิติต่าง ๆ มาเป็นแนวทางในการประยุกต์ ปรับใช้ และพัฒนามหาวิทยาลัยไทยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบต่อไป และในครานี้นับเป็นอีกโอกาสดี ๆ ที่การเสวนาได้ต้อนรับผู้บริหารในภาคการศึกษาจากโซนภาคเหนือ รศ. ดร. ภก.สุรศักดิ์ เสาแก้ว คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ให้เกียรติมาพูดคุยและแชร์ความคิด ความเห็นภายใต้เรื่องราวการจัดการองค์กรในยุคที่มีการไหลเข้ามาของประโยชน์ ประสิทธิภาพ และอื่น ๆ ของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ทั้งในระดับบุคคล และระดับสังคม กับประเด็น “การจัดการองค์กรอย่างฉลาดในยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์”
การจัดการองค์กรอย่างฉลาดเพื่อการพัฒนาตามยุคที่เปลี่ยนไป
รศ.
ดร. ภก.สุรศักดิ์ออกตัวว่าแม้จะทำงานมาเป็นเวลานานพอสมควร หากยังรู้สึกใหม่กับเรื่องการจัดการบริหารองค์กรมาก
จึงพยายามที่จะเรียนรู้ และมีโอกาสได้พบปะ แลกเปลี่ยน เรียนรู้กับ อาจารย์ดนัยรัฐ
ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ในการเรียนหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง
เมื่อถามถึงนิยาม
‘การจัดการองค์กรอย่างชาญฉลาด’
รศ. ดร.
ภก.สุรศักดิ์จึงกล่าวว่าตามทัศนะของตนเองมุ่งเน้นที่ ‘Efficiency’ มี Input กับ Outcomes
โดย Input คือ Cost
ซึ่งหมายถึง เรื่องคน เรื่องเงิน และเรื่องเวลา “ทำอย่างไรให้คนมีคุณภาพและมีสมรรถนะที่จะจัดการองค์กรไปด้วยกันได้
เรื่องของเวลาก็คือทำอย่างไรก็ได้ให้เวลาสั้นที่สุด แต่ว่าทำงานได้ให้เสร็จทันเวลา
ส่วน Outcomes คือ งาน หรือผลสัมฤทธิ์
ต้องบรรลุวัตถุประสงค์ หรือทำได้ดีด้วย”
“จากที่บริหารงานมาในระดับหนึ่ง
เรื่องการจัดการองค์กรอย่างชาญฉลาด เห็นด้วยกับคำที่ว่า Low
Cost, High Benefit ไปจนถึงต้องรู้ตัวตน ต้องรู้เป้าหมายขององค์กร ต้องรู้จุดแข็ง–จุดอ่อนขององค์กร ต้องบริหารจัดการองค์กรให้ได้ และเรื่องสำคัญคือ Mindset
ซึ่งจะเป็นสิ่งที่นำมาสู่ Process
ว่าจะไปอย่างไร
“ท้ายที่สุด Management ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งใช้ในการบริหารจัดการองค์กรให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ การอยู่เฉย ๆ การแอกชัน การก้าวกระโดด ฯลฯ ก็ล้วนแต่เป็นวิธีการ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตามยุคตามสมัย สำคัญคือต้องง่าย สะดวก ทุกคนเข้าถึงได้”
ความท้าทายในการนำใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี
เมื่อกล่าวกันมาถึงเรื่องความท้าทาย
รศ. ดร. ภก.สุรศักดิ์ถึงกับเอ่ยปากว่าทางคณะเภสัชศาสตร์เผชิญกับความท้าทายมากมายจริง
ๆ พร้อมกันนี้ได้ย้อนถึงครั้งเมื่อประเทศและโลกของเราเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
2019 (โควิด-19)
“ในเชิงของคณะ เมื่อได้วิเคราะห์องค์กรตัวเองแล้วก็หนีไม่พ้นสถานการณ์
BANI (B – Brittle (ความเปราะบาง) A – Anxious (ความกังวล) N – Nonlinear (ความคาดเดาได้ยาก) และ I – Incomprehensible (ความไม่เข้าใจ)) แต่ในฐานะผู้นำองค์กรซึ่งต้องพัฒนาคน
สร้างโครงสร้าง มีรูปแบบต่าง ๆ ให้คนสามารถจัดการได้ในภาวะที่เกิดการเปลี่ยนแปลง
ไปจนถึงการดูแลทางด้านจิตใจ คือการดูแลจิตใจของตัวเองและคนในองค์กร ซึ่งสำคัญมาก ๆ”
รศ. ดร.
ภก.สุรศักดิ์กล่าว “ช่วงหลังโควิด-19 คนไม่ได้เจอหน้ากัน ไม่ได้ระบาย ไม่ได้พูดคุย เรื่องความกังวลก็ยิ่งมีเยอะมาก
เพราะฉะนั้นเรื่อง Soft Skill การทำงานร่วมกัน การดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน
เป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุด เพราะถ้าคนมีใจไปด้วยกัน ต่อให้เครื่องไม้เครื่องมือไม่พร้อม
เงินน้อย ของน้อย แต่ใจไป บางทีเงินเยอะ ของเยอะ แต่ใจไม่ไป ดังนั้นในฐานะผู้นำองค์กรต้องจัดการให้ได้”
รศ.
ดร. ภก.สุรศักดิ์อธิบายต่อถึงเรื่องความคาดเดายากว่าไม่ได้ต่างกัน จะต้องนำข้อมูล
และ Input ต่าง ๆ มาวิเคราะห์สถานการณ์ “ที่ผ่านมาทางคณะใช้วิธีเก็บข้อมูล
จะเอาข้อมูลที ก็ไปเอาข้อมูลเดิมมาวิเคราะห์ ซึ่งไม่เป็นระบบ
เมื่อมารู้จักกับอาจารย์ดนัยรัฐ และได้แนะนำให้รู้จักกับเครื่องมือ Vision
Builder ที่ช่วยให้มองเห็นองค์กรอย่างรอบด้านมากขึ้น
จึงได้พัฒนาระบบขึ้นมาจัดการข้อมูลต่าง ๆ” รศ. ดร. ภก.สุรศักดิ์กล่าว “เรื่องความไม่เข้าใจก็เยอะพอสมควรที่จะต้องเข้าไปจัดการ
รวมถึงสร้างพันธมิตร ความโปร่งใส และการสื่อสาร
เพราะฉะนั้นความท้าทายที่เจอจึงเยอะแยะมากมาย และคงต้องจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น
นี่คือภาพใหญ่ขององค์กร”
ทักษะและสมรรถนะดิจิทัล
ขณะที่กระทรวงการอุดมศึกษา
วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กำหนดทักษะและสมรรถนะสำคัญต่าง ๆ
โดยเฉพาะทางด้านดิจิทัล ทั้งในบัณฑิต บุคลากร และผู้บริหาร
เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทรนด์ปัจจุบัน รศ. ดร. ภก.สุรศักดิ์กล่าวในฐานะที่ดำเนินงานในคณะด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
หรือเภสัชศาสตร์ ซึ่งมุ่งการเรียนในหลักสูตรการดูแลเรื่องยา การดูแลผู้ป่วย
การดูแลเรื่องโรค การออกฤทธิ์ของยา เป็นต้น
เมื่อเป็นทักษะและสมรรถนะดิจิทัลเป็นสิ่งที่จะต้องทำ ก็ต้องนำสู่การพัฒนา “เริ่มตั้งแต่อาจารย์ บุคลากรภายในคณะ นิสิตก็ต้องเอาตัวนี้มาจับ เพราะฉะนั้นเครื่องไม้เครื่องมือต่าง
ๆ การรู้จักสืบค้น การรู้จักข้อจำกัด ต้องทำให้เป็น รวมถึงวิธีการจัดการระบบ
การแบ่งทรัพยากร การตระหนักถึงประเด็นต่าง ๆ
รวมถึงการคัดลอกผลงานก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งนิสิตและอาจารย์จะต้องรู้
ต้องพัฒนาทักษะไปด้วยกัน”
การสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่เกี่ยวกับสมรรถนะดิจิทัล
“เรื่องการสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นเรื่องที่ทำอยู่แล้ว
เรามีการวิจัย เรามีโปรดักต์ใหม่ ๆ เรามียาใหม่ ๆ เรามีเครื่องสำอาง ฯลฯ
แต่พอพูดถึงเรื่องการสร้างสรรค์และนวัตกรรมด้านดิจิทัลนี่กลายเป็นเรื่องค่อนข้างยากสำหรับฝั่งเรา
เพราะฉะนั้นที่บอกว่าต้องผลิตสื่อ สร้างสื่อ ทำคลิปต่าง ๆ จึงต้องมีการเรียนรู้
แต่เป็นเรื่องง่ายสำหรับเด็กสมัยนี้ ให้ Input และหลักการพื้นฐานเพียวนิดเดียว
นิสิตก็สามารถจัดการทำตามคำแนะนำต่าง ๆ ได้”
เอกลักษณ์และคุณภาพชีวิต
รศ.
ดร. ภก.สุรศักดิ์ยังเน้นย้ำในประเด็นความปลอดภัยออนไลน์
โดยเฉพาะการให้ข้อมูลหรือการโพสต์ข้อความที่ความส่วนตัว
ไปจนถึงความปลอดภัยในเรื่องการทำงาน การเรียนการสอน เช่น
การนำใช้ซอฟต์แวร์ต้านไวรัสต่าง ๆ ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องคิดอย่างดี
เพื่อนำสู่การป้องกัน และการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ได้มุ่งเพียงแต่การป้องกันและระมัดระวังข้อมูลของตนเองเท่านั้น
หากเป็นไปเพื่อการแบ่งปันข้อมูลกับผู้อื่นได้อีกด้วย
การสอนและการเรียนรู้
ในส่วนของการสอนและการเรียนรู้
แม้ว่าช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทางคณะจะพบกับปัญหาไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบแล็บปฏิบัติการผ่านช่องทางออนไลน์ได้
หากช่วงเวลานั้นคณะอาจารย์ต่างทุ่มเทและใช้เวลาเรียนรู้กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ
เพื่อจัดรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ หรือ Learning Management System (LMS) ให้กับนิสิตในสถานการณ์ที่ไม่สามารถเปิดเรียนที่มหาวิทยาลัยตามปกติได้
ผ่านเครื่องมือที่สามารถนำใช้ ณ ช่วงนั้น ๆ อาทิ Zoom, Microsoft
Team, StreamYard รวมถึงแอปพลิเคชัน และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เป็นต้น
เครื่องมือ เทคโนโลยี และการติดต่อสื่อสาร
รศ. ดร. ภก.สุรศักดิ์เล่าว่าทางคณะได้พยายามจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เพื่อให้ทุก ๆ คนเกิดความคุ้นชิน ไปจนถึงเข้าใจในศัพท์เทคนิคสำคัญ ขณะที่เรื่องการติดต่อสื่อสาร กล่าวได้ว่าเมื่อวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้น การนำใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีในการสื่อสารก็กลายเป็นความคุ้นเคย มีความเข้าใจ ทุกคนสามารถใช้งานอย่างคล่องแคล่ว สะดวกสบาย เท่ากับว่านิสิตและอาจารย์ได้พัฒนาทักษะเหล่านี้ไปด้วยกัน
การพัฒนาองค์กรดิจิทัล
ต่อข้อถามถึงการพัฒนาดิจิทัลในองค์กร
ในฐานะที่ทำงานอยู่ในคณะเภสัชศาสตร์ รศ. ดร. ภก.สุรศักดิ์สะท้อนภาพตั้งแต่บันไดขั้นแรกคือการเดินตามพันธกิจ
– การจัดการศึกษา
การวิจัย การบริการวิชาการ การสนับสนุน และการกำกับดูแล พร้อมอธิบายว่า การจัดการศึกษา
เรื่องการออกแบบหลักสูตรและทบทวนหลักสูตร ได้พยายามนำดิจิทัลเข้ามาใช้
ไม่ว่าจะเป็นระบบ TQF (Thai Qualifications
Framework for Higher Education หรือกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ), iThesis (Integrated Thesis & Research Management System) ฯลฯ
“กระบวนการรับเข้า ประชาสัมพันธ์ ก็มีระบบ E-Admission ระบบ PR เพื่อให้คนภายนอกรับรู้และเข้าใจ
ส่วนการจัดการศึกษา การจัดการเรียนการสอน ที่เรียนไปแล้วว่ามีระบบ LMS ทำเป็นประจำอยู่แล้ว การวัดผลประเมินผลก็ใช้ระบบ IG
ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยทำอยู่แล้ว”
นอกจากนี้
รศ. ดร. ภก.สุรศักดิ์เล่าถึงกระบวนการฝึกงานและสหกิจศึกษาที่เป็นความท้าทาย
และดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือที่อำนวยประโยชน์ได้มากอย่างยิ่ง “นิสิตปี 6 จะต้องออกไปฝึกงานที่แหล่งฝึก
7 แห่งเป็นอย่างน้อย สาขาเครื่องสำอางต้องไปฝึกสหกิจศึกษา
เพราะฉะนั้นการติดตามประเมินผลจะต้องใช้ระบบออนไลน์ ซึ่งต้องพัฒนาขึ้น
โดยสามารถติดตามทั้งเรื่องความเป็นอยู่
สามารถแชร์ข้อมูลเป็นวงปิดของกลุ่มนิสิตฝึกงานเพื่อแบ่งปันเรื่องระบบการฝึกงาน
การเตรียมตัว การเตรียมความรู้” รศ. ดร. ภก.สุรศักดิ์กล่าว “นอกจากนี้คือระบบปรึกษาสุขภาพจิตออนไลน์
เป็นระบบปิดที่สามารถเข้าได้ตลอดเวลา ฉะนั้นถ้าใครมีเรื่องเกี่ยวกับ Mental
Health สามารถปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาได้ การเพียงแค่เริ่มมีอาการสุขภาพจิตที่ไม่ค่อยดี
การ Detect ได้เร็ว ก็สามารถรักษาได้เร็ว อันนี้ก็ถือว่าดิจิทัลช่วยได้เยอะ”
การวิจัย
“มาที่ด้านการวิจัย
ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเสนอโครงการวิจัยเพื่อการขอรับทุน รศ. ดร. ภก.สุรศักดิ์กล่าวว่าทางมหาวิทยาลัยมีระบบ
UPRM (University of Payao Research Management) มีระบบการจัดการข้อมูลตีพิมพ์ “มากน้อยขนาดไหนจะมีการ
Benchmark กันว่าจำนวนเปเปอร์มากน้อยต่างกันหรือไม่โดยใช้
Super KPIs ตรงนี้ก็มีระบบดิจิทัล มีกระบวนการจัดการและบริหารงานวิจัยที่ชัดเจน
รวมถึงตีพิมพ์ ซึ่งก็ใช้ดิจิทัลอยู่แล้ว”
การสนับสนุน
“ทีนี้มาดูส่วนสนับสนุนกัน ด้วยงบประมาณที่จำกัดมาก
ปีหนึ่ง ๆ ได้งบน้อยมาก ยิ่งขนาดเล็ก ๆ มีรายได้น้อย ทำอย่างไรให้ระบบทั้งทำได้
คล่องตัว และบรรลุวัตถุประสงค์ ก็ต้องนำระบบมาช่วย อาทิ E-Budget,
HR Smart แจ้งซ่อมออนไลน์ ฯลฯ
เรียกว่าพยายามนำองค์ความรู้ดิจิทัลของอาจารย์ในคณะมาช่วยกันพัฒนาความรู้
ถึงแม้ว่าอาจยังไม่ได้อยู่ในที่เดียวกัน ยังไม่สอดร้อยกัน พอใช้ได้ระดับหนึ่ง และ ‘ฝันในอนาคตคืออยากให้ทุกอย่างเชื่อมกันได้’
คลิกเดียวสามารถลิงก์ได้”
การกำกับดูแล
รศ.
ดร. ภก.สุรศักดิ์เล่าว่าการกำกับดูแล การจัดการงบประมาณต่าง ๆ ระบบประกันคุณภาพ มี
Common Data ที่มหาวิทยาลัยที่มีคณะเภสัชศาสตร์รวม 19 มหาวิทยาลัยทำร่วมกันและสามารถ Benchmark
กันได้แบบRealtime
การวางแผนและติดตามนโยบาย และงบประมาณ
รศ. ดร. ภก.สุรศักดิ์กล่าวว่าการได้รู้จักเครื่องมือ Vision Builder ซึ่งแม้ว่าในวันนี้จะยังใช้งานกันไม่ถึงความสำเร็จ หากทำให้เล็งเห็นประโยชน์ในการจัดการ “ค่อย ๆ เรียนรู้ไป ยังใหม่มาก และเมื่อเห็นว่ามี Enterprise Blueprint และอื่น ๆ ยิ่งรู้สึกว่าถ้าคณะของเราทำไปถึงจุดนั้นได้คงจะก้าวกระโดดไกลมาก”
ส่งกำลังใจจากภายในสู่
ที่เวทีออนไลน์ Digital University: Enabling The Smart Society ขอกำลังใจจากวิทยากรฝากให้กับผู้ฟัง
โดยเฉพาะภาคการศึกษาทั้งหลาย รศ. ดร. ภก.สุรศักดิ์กล่าวอย่างอารมณ์ดี
พร้อมเสียงหัวเราะว่าขอให้ผู้ฟังส่งกำลังใจกลับมาให้ด้วย เรียกว่า ‘ต่างคนต่างให้กำลังใจกัน’ และฝากคำว่า ‘Keep
Learning’ “ไม่ว่าอย่างไรก็ตามต้องเรียนรู้ตลอดเวลา
เพราะมีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดทุกวัน พยายามเรียนรู้ทุกเรื่องและตลอดเวลา
เพื่อจะได้เข้าใจและทำมันให้ได้”
“‘การนำองค์กร’ ต้องเริ่มที่ ‘จิตใจ’ พอจิตใจดี อย่างอื่นก็ออกมาดี ที่สำคัญ ‘ใจต้องใหญ่’
“เรามีวันที่หดหู่ เรามีวันที่สนุกสนาน
เรามีวันที่ท้อ เรามีวันที่มีพลัง เพราะฉะนั้นใจต้องดี
ถึงจะก้าวข้ามอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ได้
“และบอกตัวเองอยู่เสมอว่า ‘ต้องให้’ หมายถึง ให้คนอื่น
ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของที่พอจะให้ได้ ความรู้ อันนี้นี่ทำสม่ำเสมอ
เนื่องจากว่าเราอยู่มหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นการบริการวิชาการ
ไปช่วยกระทรวงให้ข้อมูลระดับชาติในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ฯลฯ
เพราะฉะนั้นเราก็ให้เสมอ แต่ที่สำคัญคือ ‘ต้องให้อภัย’
ไม่รู้ละว่าใครจะมาทำร้ายเรา เราไม่ต้องสนใจ ให้อภัยเมื่อไร
จะทำให้การทำงานก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้
“อดีตก็แก้ไขไม่ได้ อนาคตก็ยังไม่รู้ อยู่กับปัจจุบัน ทำวันนี้ให้ดีที่สุด
“สุดท้ายคือ มองทุกคนในองค์กรให้สำคัญทั้งหมด
เหมือนรถ จะวิ่งไม่ได้ถ้ามีแต่คนขับ ไม่มีล้อ ไม่มีพวงมาลัย ไม่มีนอต ฯลฯ ทุก ๆ
คนก็มีความสำคัญทุก ๆ ส่วน ให้พลังใจทุกภาคส่วน แล้วก็งานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ก
เพื่อนำองค์กรของเราก้าวข้ามอุปสรรค และมุ่งหน้าความเป็นเลิศครับ”
ชมเสวนาออนไลน์ Digital University : Enabling The Smart Society ในหัวข้อ “การจัดการองค์กรอย่างฉลาดในยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์”
ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/digitaluniversity.thai/videos/839476447898729