เตรียมความพร้อมด้านอาชีพ เติมสมรรถนะตอบโจทย์โลกยุคใหม่ กับคุณพรภัทรา ฉิมพลอย

จากที่ประชุมออนไลน์38 มหาวิทยาลัยราชภัฏกับการเตรียมความพร้อมเพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยยุคใหม่” ที่จัดขึ้นโดย สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้สนับสนุนหลักในการผลักดันให้ โครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล (Driving Thai University toward Digital University) เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ต่อด้วยเสวนาภายใต้ประเด็น “ก้าวต่อไปกับบัณฑิตใหม่ที่โลกต้องการ” โดยหนึ่งในผู้คุณวุฒิที่ให้เกียรตินำข้อมูลในมิติที่น่าสนใจมาแบ่งปัน ได้แก่ คุณพรภัทรา ฉิมพลอย รักษาการผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนภารกิจพิเศษ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) ซึ่งปัจจุบันมีภารกิจหลักในการ ส่งเสริมให้กลุ่มคนแต่ละอาชีพมารวมตัวกัน และจัดทำมาตรฐานอาชีพนั้น ๆ โดย ณ วันนี้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพมีมาตรฐานอาชีพที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วจากกลุ่มคนในอาชีพกว่า 900 อาชีพ ครอบคลุมในทุกเซกเตอร์ อาทิ ภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ฯลฯ ซึ่งคุณพรภัทราอธิบายว่าเมื่อมีมาตรฐานอาชีพ คนในแต่ละอาชีพย่อมอยากพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถทำงานได้ตามที่มาตรฐานกำหนดไว้หรือไม่ เพราะฉะนั้นอีกหนึ่งเรื่องที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพส่งเสริมจึงเป็นเรื่องของ การให้คนในอาชีพได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ

 

ทิศทางของมาตรฐานอาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

ก้าวต่อ ๆ ไป หรือนับตั้งแต่ปี 2567 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพยังคงมุ่งการส่งเสริมให้กลุ่มคนในอาชีพต่าง ๆ มารวมตัวกันเพื่อพัฒนามาตรฐานอาชีพนั้น ๆ อย่างไรก็ตามยังจะเน้นไปที่เรื่องการทบทวนสมรรถนะที่มีอยู่ในมาตรฐานอาชีพที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วให้มากยิ่งขึ้น “การที่ต้องทบทวนมาตรฐานอาชีพ เพราะว่าบริบทการทำงานในแต่ละอาชีพ เรื่องสมรรถนะในการทำงาน ทำงาน เทคโนโลยีที่ใช้ประกอบในการทำงาน ล้วนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก ด้วยความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องกลับมาทบทวนว่ามาตรฐานอาชีพในทุก ๆ มาตรฐาน ที่มีการกำหนดสมรรถนะ มีการกำหนดวิธีการปฏิบัติงานเอาไว้นั้นว่ายังเหมาะสมกับการทำงานในปัจจุบันหรือไม่ โดยเฉพาะมาตรฐานอาชีพทางด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล

“ปัจจุบันสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพทำมาตรฐานอาชีพครอบคลุม 10 สาขา มีอยู่ 67 อาชีพ ซึ่ง 10 สาขานั้นมีสาขาซอฟต์แวร์และการประยุกต์ สาขาฮาร์ดแวร์ สาขาความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล สาขาสื่อสารโทรคมนาคม สาขาการบริหารโครงการสารสนเทศ สาขาแอนิเมชัน สาขาอีเลิร์นนิง สาขาธุรกิจดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สาขา Data Science วิทยาศาสตร์ข้อมูล และเรื่องของเกม เพราะฉะนั้นสาขาทั้ง 10 สาขานี้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพมีมาตรฐานอาชีพทั้งหมด”

เตรียมความพร้อม กับมาตรฐานอาชีพ ก่อนก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน

คุณพรภัทราอธิบายความแตกต่าง 2 ส่วน ระหว่าง 1) มาตรฐานอาชีพ ซึ่งเหมาะสำหรับการรับรองคนในอาชีพ รับรองสมรรถนะการทำงานของแต่ละอาชีพ รวมถึงนักศึกษาที่กำลังจะก้าวเข้าสู่อาชีพ กับ 2) สมรรถนะสนับสนุนการทำงาน ซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าผู้ขอการรับรองจะทำอาชีพอะไร อาจเป็นนักศึกษาจากคณะต่าง ๆ หรือผู้ที่ทำงานในอาชีพที่หลากหลาย แม้กระทั่งประชาชนทั่วไป จนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ก็สามารถขอรับการรับรอง หรือเข้ารับการทดสอบสมรรถนะสนับสนุนการทำงานได้

การส่งเสริมให้คนในอาชีพมาเข้าสู่การประเมินนั้น เพื่อให้ได้รับการรับรอง และได้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งสำหรับนักศึกษาที่อยู่ในภาคการศึกษา โดยเฉพาะในชั้นปีสุดท้าย หรือกำลังจะสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิต ทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพมุ่งหวังให้คนกลุ่มนี้เข้ารับการทดสอบ และได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับว่าบัณฑิตที่กำลังจะก้าวสู่โลกของการทำงานจริงมีความพร้อมและมีสมรรถนะสำหรับการทำงานหรือไม่ “สถาบันการศึกษาสามารถนำ มาตรฐานอาชีพ ไปดูได้ว่าการทำงานในแต่ละอาชีพนั้นต้องพร้อมด้วยสมรรถนะในการทำงานอย่างไร ต้องทำอะไรเป็น ต้องมีความรู้และทักษะอะไรในแต่ละอาชีพ จากรายละเอียดของมาตรฐานอาชีพ จึงนำไปสู่หลักสูตรของสถาบันการศึกษาที่ได้มีการจัดการเรียนการสอน ถ้ายังมีแก๊ปที่ยังไม่สอดคล้องกัน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพอยากแนะนำให้สถานศึกษาลองพัฒนาหรือปรับปรุงตัวหลักสูตรให้มีความสอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อให้น้อง ๆ นักศึกษาได้เรียนและได้บ่มเพาะในหลักสูตร มีความพร้อมด้านสมรรถนะ สามารถก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานเมื่อสำเร็จการศึกษา”

คุณพรภัทราอธิบายเพิ่มเติมว่าสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพไม่ได้มีเพียงมาตรฐานอาชีพที่รองรับเรื่องการทำงานเท่านั้น หากยังมีเรื่องของ สมรรถนะสนับสนุนการทำงาน ซึ่งเป็นตัวช่วยให้ทั้งกลุ่มนักศึกษา ไปจนถึงคนทำงานสามารถยกระดับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น สมรรถนะด้านการใช้ดิจิทัล “Digital Literacy เป็นเรื่องของการประเมินสมรรถนะที่เกี่ยวข้องกับด้านการจัดเก็บข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ การใช้คอมพิวเตอร์อย่างมีความปลอดภัย การใช้โปรแกรม MS Office ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Word, Excel, Powerpoint ฯลฯ ในส่วนนี้จะดูว่าผู้ที่เข้ารับการประเมินเรื่องสมรรถนะสนับสนุนการทำงานสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ ถ้าทำได้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพจะให้หนังสือรับรองสมรรถนะสนับสนุนการทำงานอีกฉบับหนึ่ง”

“นอกจาก Digital Literacy แล้ว ยังมีสมรรถนะสนับสนุนการทำงานอื่น ๆ เช่น สมรรถนะสนับสนุนการทำงานเรื่อง E-Commerce” คุณพรภัทราเล่าว่ากระแสการทำ E-Commerce ค่อนข้างจะรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) “ช่วงโควิด อาชีพหันเข้าสู่การค้าขายออนไลน์ สมรรถนะ E-Commerce จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะมาช่วยเสริมการทำการตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้เรายังมีสมรรถนะสนับสนุนการทำงานเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งหากสถานศึกษาใดอยากให้นักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาทำการทดสอบในลักษณะของ Exit Exam อาจเลือกใช้สมรรถนะสนับสนุนการทำงานทางด้านภาษาอังกฤษของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเทียบเท่ากับ CEFR (Common European Framework of Reference for Languages) ที่ยุโรปให้การรับรอง”

อนาคตอันใกล้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพทำความร่วมมือ (MOU) กับ The Center of Applied Data Science บริษัทฝึกอบรมและพัฒนาหลักสูตรด้าน Data Literacy ณ ประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย เพื่อนำหลักสูตร Data Literacy ต่าง ๆ มาพัฒนาให้เป็นสมรรถนะสนับสนุนการทำงาน “Data Literacy มีความสำคัญมากในยุคปัจจุบัน สำคัญทั้งในเรื่องการเรียน และในโลกของการทำงาน เพราะเป็นเรื่องของการอ่านข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และสื่อสารด้วยข้อมูลตัวเลข นำมาสู่การตัดสินใจในเรื่องของข้อมูลได้อย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้นในโลกของการทำงาน อาทิ หลายบริษัทที่การทำชาร์ต มีการทำวิเคราะห์เรื่องรายได้ งบประมาณ การเติบโตขององค์กร ฯลฯ เพราะฉะนั้นเมื่อมีความเข้าใจเรื่อง Data Literacy ก็จะสามารถอ่านข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง และสามารถตัดสินใจบนการใช้ข้อมูลเหล่านั้นได้”

 

ปริญญาบัตรทางด้านอาชีพ และทรานสคริปต์รับรองสมรรถนะ

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพคือหน่วยงานเดียวในประเทศไทย ที่ให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพในรูปของประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมหนังสือรับรองสมรรถนะ ซึ่งคุณพรภัทรากล่าวว่าปริญญาบัตรคือบทพิสูจน์ความรู้และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ คู่ควรแก่การได้รับจากภาคการศึกษา หากประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ และหนังสือรับรองสมรรถนะ คือ อีกหนึ่งหลักฐานที่พิสูจน์ความสามารถในการทำงาน และความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่สถานประกอบการต่าง ๆ

ทั้งนี้กระบวนการที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพให้การรับรองสมรรถนะ แบ่งเป็น 8 ระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน (ระดับที่ 1) ไปจนถึงระดับสูงที่สุด (ระดับที่ 8) “การรับรองแต่ละระดับได้รับการระบุไว้ในกรอบคุณวุฒิแห่งชาติโดยสำนักงานเลขาธิการ สภาการศึกษา เป็นการเทียบกรอบคุณวุฒิแห่งชาติตั้งแต่ระดับที่ 1 ถึง 8 กับวุฒิทางการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงระดับปริญญาเอก เพราะฉะนั้นคุณวุฒิวิชาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ 8 ระดับ ตั้งแต่ระดับที่ 1 ถึงระดับที่ 8 จึงเทียบเคียงได้กับวุฒิทางการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไปจนถึงระดับปริญญาเอกเช่นเดียวกัน

การได้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพต้องเรียกว่าเป็นการได้ปริญญาบัตรทางด้านอาชีพ ส่วนหนังสือรับรองสมรรถนะก็เรียกว่าเหมือนทรานสคริปต์สำหรับการรับรองสมรรถนะ

 

ช่องทางและโอกาส

ปัจจุบันการขอรับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองสมรรถนะจากทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพสามารถทำได้หลากหลายวิธี  ได้แก่ วิธีที่ 1 คือ ผ่านการประเมิน ณ หน่วยประเมินหรือองค์กรรับรองที่ขึ้นทะเบียนกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งตั้งอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ สามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ www.tpqi.go.th วิธีที่ 2 ผ่านหลักสูตรที่มีความสอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพ เช่น สถานศึกษาที่มีหลักสูตรหรือจัดการเรียนการสอนตามปกติอยู่แล้ว สามารถนำมาตรฐานอาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และนำหน่วยสมรรถนะมาประกบกับรายวิชาในหลักสูตรของสถานศึกษา เพื่อให้หลักสูตรฐานสมรรถนะสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ และเสนอเข้ามาที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพให้ทำการรับรองหลักสูตร ว่าเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีความสอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพ เมื่อผู้เรียนสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนั้น จะสามารถขอรับหนังสือรับรองสมรรถนะหรือประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้เลย

ด้วยเป็นเวทีประชุมออนไลน์38 มหาวิทยาลัยราชภัฏกับการเตรียมความพร้อมเพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยยุคใหม่” คุณพรภัทราจึงนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งเป็น วิธีที่ 3 “อีกมิติ คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสามารถขอขึ้นเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้บริการฝึกอบรม เรียกว่าเป็นหน่วยฝึกอบรมที่ขึ้นทะเบียนกับทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ”

การเป็นหน่วยฝึกอบรมที่ขึ้นทะเบียนกับทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพนั้นดีอย่างไร

การมีหลักสูตรฝึกอบรมที่สอดคล้องตามมาตรฐานอาชีพ สามารถเปิดรับสมัครนักศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้เข้าฝึกอบรมในคอร์สต่าง ๆ รวมถึงเก็บค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมด้วยตัวเองได้ และเมื่อฝึกอบรมเรียบร้อยแล้ว ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพเมื่อฝึกอบรมกับองค์กรที่ทำหน้าที่ให้บริการฝึกอบรมที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วนั่นเอง

วิธีสุดท้าย คือ ในกรณีที่นักศึกษาบางคนมีความเชี่ยวชาญในบางอาชีพ หรือประกอบอาชีพในระหว่างเรียน หรือฝึกงานเอง และได้หนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ยังสามารถนำมาขอรับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพกับทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้ด้วยอีก อาทิ ถ้ามีผลการทดสอบมาตรฐาน ตปท. เช่น มีหนังสือรับรอง ICDL (International Computer Driving License หรือวุฒิบัตรมาตรฐานสากลด้านทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล) IC3 (IC3 Digital Literacy Certificate หรือการประเมินทักษะด้านการใช้ Digital Literacy) ก็สามารถขอรับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพในมาตรฐานอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทางด้านดิจิทัลได้”

E-Workforce Ecosystem

“ความร่วมมืออีกมิติหนึ่งที่อยากสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ ด้วยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพการพัฒนาแพลตฟอร์มส่งเสริมเรื่องการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังแรงงาน และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนทั่วไป ชื่อว่า E-Workforce Ecosystem (EWE) ซึ่งบรรจุอยู่ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน และภายใต้แพลตฟอร์มนี้ มีระบบการให้บริการย่อย ๆ อยู่หลายระบบ แต่ระบบแรกที่อยากแนะนำให้กับนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเข้าใช้งาน เพื่อเป็น input ของข้อมูล คือ E-Portfolio ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการใช้งานเรียบร้อยแล้ว”

E-Portfolio คือ การสร้างพอร์ตโฟลิโอในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถใส่ข้อมูลของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน ข้อมูลการฝึกอบรม วุฒิบัตร ประกาศนียบัตรต่าง ๆ ฯลฯ เมื่อใส่ข้อมูลไว้ E-Portfolio แล้วสามารถที่จะสร้าง Resume สำหรับการสมัครงานได้บนแพลตฟอร์มนี้ โดยข้อมูลใน E-Portfolio ที่ได้รับการรับรองสมรรถนะ หรือได้คุณวุฒิวิชาชีพแล้วจะวิ่งเข้ามาใน E-Portfolio ให้โดยอัตโนมัติ ไปจนถึงมีการการันตีว่า Resume ของคนคนนี้พร้อมสำหรับการทำงานจริง “อยากจะเชิญชวนให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งนำระบบ E-Portfolio มานักศึกษาใช้งาน ซึ่งสามารถใช้งานได้ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงทำงาน กระทั่งเกษียณอายุการทำงาน ก็ยังอัปเดตข้อมูลของตัวเองได้ไปตลอดช่วงชีวิต”

คุณพรภัทราเสริมว่าปัจจุบันแพลตฟอร์ม E-Workforce Ecosystem (EWE) เข้าถึงได้โดยง่าย ผ่านเว็บไซต์ www.ewe.go.th กับเมนูทางลัด E-Portfolio ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย คำนึงถึงพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และภายในปีงบประมาณ 2567 จะมีงบประมาณจากภาครัฐเข้ามาในรูปแบบ e-Coupon เป็นแอปพลิเคชันอยู่ในแอปเป๋าตัง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ e-Coupon นี้เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต อาทิ นำไปแลกรับคอร์สฝึกอบรมกับหน่วยฝึกอบรมที่ขึ้นทะเบียนกับทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นอกจากนี้ EWE Platform ยังเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน ทั้ง Android และ iOS ที่สามารถสะสมงานหรือคอร์สที่อบรม กับด้านของการสั่งสมสมรรถนะการเรียนรู้ ซึ่งเป็น Competency Credit Bank เป็นต้น

 

สุดท้าย คุณพรภัทรากล่าวถึงเรื่อง ‘Digital Transformation’ ว่าทุกภาคส่วนต้องปรับตัวและยอมรับเรื่องการ Transformation โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลให้เกิดขึ้นให้มหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านการบริหารจัดการภายในของมหาวิทยาลัยเอง หรือแม้กระทั่งด้านการรับรองให้กับผู้เรียนหรือบุคลากรทางการศึกษา โดยทุกส่วนสามารถใช้ดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานให้ง่ายขึ้นได้ หากจุดเริ่มต้นอยู่ที่ ความตระหนัก ได้ว่าเรื่องดิจิทัลหรือการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก และเป็นเรื่องที่สามารถ รับมือได้เพียงต้อง เปิดใจที่จะ เรียนรู้และ ยอมรับ เทคโนโลยีใหม่ ๆ และใช้ดิจิทัลอย่างระมัดระวังและรู้เท่าทัน

 

ในฐานะผู้แทนจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ คุณพรภัทราพร้อมสนับสนุนและให้กำลังใจต่อการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และการดำเนินงานทุกมิติขององค์กรการศึกษาสู่โลกดิจิทัล กับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง และยินดีร่วมมือทำงานกับ 38 มหาวิทยาลัยราชภัฏเมื่อมีโอกาสต่อไปในอนาคต