สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กับการมาถึงของยุค AI
ดร.ชิดชนก เทพสุนทร จากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สะท้อนภาพผลกระทบจาก AI การเตรียมความพร้อมและการรับมือกับอุปสรรคผ่านมุมของหน่วยงานราชการ
ณ เวทีเสวนาออนไลน์ Digital University: Enabling The Smart Society ครั้งล่าสุด กับประเด็น “การปรับตัวเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์” ดร.ชิดชนก เทพสุนทร นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ กลุ่มงานนวัตกรรมพัฒนา สำนักเทคโนโลยีดิจิทัล สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยีโดยตรง รวมถึงเป็นตัวแทนของข้าราชการรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี ให้เกียรติร่วมพูดคุย แบ่งปันประสบการณ์ โดยเฉพาะผลกระทบจาก AI ในมิติต่าง ๆ ที่น่าสนใจ
เมื่อ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
“ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนเราทั้งอย่างที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว” ดร.ชิดชนกกล่าวและอธิบายต่อไปว่าเทคโนโลยีที่คนส่วนใหญ่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมถึง AI นั้นเพิ่มความสะดวกสบายแก่ชีวิตยิ่งขึ้น ทั้งในมิติของการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อตื่นขึ้นมา แล้วหยิบโทรศัพท์มือถือ สแกน Face ID ก็นับเป็น AI อย่างหนึ่ง ไปจนถึงการดูหนัง ฟังเพลง หรือใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ ที่มี AI ในการช่วยแนะนำหรือเลือกเฟ้นสิ่งที่เราต่างชื่นชอบ หรือ Personal Assistant อย่าง Siri การสืบค้นกูเกิลที่มี Auto Complete หรือเดาประโยคต่าง ๆ ได้ แม้แต่ไลฟ์สไตล์ของหญิงสาว อาทิ เรื่องความสวยความงาม การเลือกชอปฯ ลิปสติก หรือเสื้อผ้า ก็ยังสามารถทดลองสี ทดลองแบบจาก Virtual Try-On ได้ แม้แต่การสาธารณสุข หากเป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อย ผู้ป่วยก็สามารถเลือกใช้บริการ Teledoctor หรือ Telemed แทนการเดินทางไปโรงพยาบาล เป็นต้น
“เรียกว่าอำนาจอยู่ที่ปลายนิ้วมือ หรือแค่เสียงสั่งเท่านั้น ชีวิตในยุค AI สะดวกสบายมาก เพราะทุกอย่างถูกเสิร์ฟให้ถึงที่ แถมยังเป็นแบบ Personalized อีกด้วย”
ในส่วนการทำงาน จากประสบการณ์ ดร.ชิดชนกเห็นว่าหน่วยงานที่ปรับตัวได้ก่อน เช่น มีเทคโนโลยีหรือ AI เป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยสนับสนุน จะส่งผลให้การทำงานขององค์กรมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาก “งานที่เป็น Routine ก็กลายเป็นงานที่ Automate ได้ เจ้าหน้าที่จะมีเวลาที่จะทำงานอย่างอื่นที่มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม เช่น เทคโนโลยี OCR ที่นำมาใช้แทนเจ้าหน้าที่ในการ Extract ข้อมูลจากเอกสารกระดาษ หลาย ๆ ที่ก็เริ่มใช้ Speech-To-Text ใน Words หรือใน Google Docs ในการทำงานเอกสาร เจ้าหน้าที่คนที่พิมพ์ไม่ถนัดก็วิธีใช้พูด ซึ่งไม่ได้เป็นข้อเสียหรือเป็นข้อด้อยในการทำงานด้านเอกสาร เพราะสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยได้ พูดให้เห็นภาพคือเจ้าหน้าที่ไม่ต้องเริ่มทำเอกสารตั้งแต่ 0 เพราะมีตัวช่วยในส่วนนี้ หรือเจ้าหน้าที่บางคนอาจก้าวข้ามไปทำงานจากหน้าที่ Operator เป็น Editor
“เวลาที่ไม่มีไอเดียในการทำงานหรือวางแผน อยากหาคนหรือตัวช่วย ก็ปรึกษา Chatbot อย่าง ChatGPT หรือ Bard ให้ช่วยวางแผนได้ ซึ่งที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีบุคลากรหลายท่านที่เห็นประโยชน์ของ AI มากขึ้น จากที่มีฟีดแบ็กมาว่า AI ช่วยในการทำงานของเขาได้มากขึ้นจริง ๆ”
เหรียญมี 2 ด้าน
ดร.ชิดชนกกล่าวว่าเหมือนจะ Promising กับการที่เข้าสู่ยุค AI ในองค์กร แต่แน่นอนว่าเหรียญก็มี 2 ด้าน เทคโนโลยีกับ AI ก็เช่นกัน ย่อมมีข้อดีและมีข้อกังวล “ข้อแรก ผู้ใช้งานเทคโนโลยีหรือ AI ต้องมีการพึงระลึกอยู่เสมอ หรือมีการตระหนักรู้รู้ตัวอยู่เสมอว่า Input ที่เราให้ไปคืออะไร แล้ว Output ที่เราได้รับมาคืออะไร”
ทุก ๆ การคลิก ทุก ๆ การเสิร์ช ทุก ๆ การโพสต์ ถือเป็นข้อมูลทั้งหมด
“Input ที่ว่านี้คือต้องรู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไร ใช้เทคโนโลยีอะไร และการใช้นั้นเราต้องมอบข้อมูลอะไรไปบ้าง เพราะยุค AI เป็นยุคที่ข้อมูลมีค่ามาก ๆ เนื่องจาก AI จะเก่งได้ก็ต้องใช้ข้อมูล เพราะฉะนั้นในยุคนี้เราจะใช้แอปพลิเคชัน หรือใช้ Tools ต่าง ๆ โดยที่ไม่อ่าน Terms & Conditions หรือกด Next, Next, Next แล้วก็ผ่านไป ทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว เราต้องมั่นใจก่อนว่าเขาเอาข้อมูลอะไรจากเราบ้าง เราโอเคกับการทำอย่างนั้นไหม และข้อมูลที่เราให้ไปนั้นกระทบต่อ Data Privacy ของตนเองหรือขององค์กรหรือไม่”
ไม่ใช่ว่าเชื่อ Output ไปหมดทุกอย่าง
ด้าน Output ดร.ชิดชนกอธิบายว่าต้องมีการคิดและวิเคราะห์ก่อนว่าผลลัพธ์ที่ได้จาก AI Technology เป็น Fact หรือไม่ สามารถนำไปใช้ได้จริงหรือไม่ การใช้ AI ในชีวิตประจำวันหรือการนำไปใช้ในการทำงานก็เหมือนกับการได้ฝึกฝนทักษะ Critical Thinking ไปด้วย เพราะผู้ที่นำใช้จะต้องแยกแยะให้ได้ว่าผลลัพธ์จาก AI นั้นเชื่อถือได้หรือไม่
เทคโนโลยีได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว แล้วมนุษย์มองข้ามการพัฒนาทักษะตนเองหรือไม่
“อีกข้อหนึ่งที่สำคัญ ไม่พูดถึงไม่ได้ คือการพึ่งพาเทคโนโลยีหรือ AI มากเกินไป บางทีทำให้เรากลายเป็นคนขี้เกียจโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะทุกอย่างง่ายไปหมด สังเกตง่าย ๆ หลาย ๆ คนเมื่อต้องเจอกับปัญหาหรือคิดจะพัฒนาอะไร จะใช้ AI ให้ทำทันที จนลืมคิดไปว่าความสะดวกสบายที่ได้จาก AI ทำให้ลืมพัฒนาตนเอง เพราะฉะนั้นนี่คือหนึ่งในเรื่องที่จะมองข้ามไปไม่ได้ในการปรับตัวเข้าสู่ยุคของ AI ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเราอย่างแท้จริง”
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กับการเตรียมความพร้อมเพื่อนำใช้เทคโนโลยีและ AI
ดร.ชิดชนกเล่าว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเตรียมความพร้อม ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 คนและกระบวนการทำงาน (Human Resources & Procedures) เพราะยุคนี้เป็นยุคที่มีเทคโนโลยีดี ๆ ไปก็เท่านั้นถ้าขาดคนดูแลที่เข้าใจและสามารถใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ องค์กรจึงต้องลงทุนเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมากขึ้น “เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีหรือ AI มีอยู่รอบด้าน หน่วยงานควรเตรียมความพร้อมในเรื่องบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางด้วยเช่นกัน เช่น ด้าน Cyber Security, Software Engineering, Big Data, Infrastructure เป็นต้น รวมถึงการเปิดโอกาสให้บุคลากรรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดเห็น เสนอวิสัยทัศน์ แนวคิดในการพัฒนาองค์กร และแสดงถึงความคาดหวังที่อยากให้เกิดขึ้นในองค์กร เพราะหลาย ๆ ครั้งองค์กรได้มุมมองที่คิดไม่ถึงหรือแนวทางล้ำ ๆ หรือก้าวหน้าที่จะพาองค์กรไปในทางพัฒนาได้อย่างรวดเร็วจากบุคลากรรุ่นใหม่ ๆ”
ด้านกระบวนการทำงาน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญปรับให้การทำงานเป็นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น เพราะการบังคับให้เปลี่ยนแปลงภายในชั่วข้ามคืนไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงใช้วิธีการค่อย ๆ แทรกซึม ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทีละส่วน โดยเริ่มใช้ AI Technology ดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น อาทิ การใช้ระบบถอดเสียงอัตโนมัติ หรือ Speech-To-Text แทนการใช้เจ้าหน้าที่ เวลาที่มีการออกนั่งพิจารณาคดี หรือการประชุม ก็ใช้ Chatbot เข้ามาตอบคำถามเบื้องต้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถทำหน้าที่รับคำปรึกษาคดีที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้ รวมถึงการใช้ระบบ Intelligent Search System ในการช่วยสืบค้น ค้นหาคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญทั่วโลก เพื่อให้บุคลากรสามารถนำข้อมูลของทั่วโลกมาเทียบเคียงและประกอบการดำเนินงานด้านคดีได้
ด้านที่ 2 ทักษะ (Skillsets) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับเรื่องทักษะมากขึ้น สังเกตได้จากทางสำนักงานฯ จัดให้มีการอบรม สัมมนาด้านเทคโนโลยีรวมถึง AI เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งในและนอกองค์กรมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้บุคลากรได้เข้าร่วมหลักสูตรด้านเทคโนโลยี เช่น AI, AI Ethics, Big Data, Cyber Security มากขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ดร.ชิดชนกย้ำว่าทางสำนักงานฯ ผลักดันให้เรียนรู้แบบต่อเนื่อง เพียงบุคลากรแจ้งว่ามีความสนใจในเรื่องอะไร หรือต้องการอบรมในหลักสูตรไหน สำนักงานฯ ก็พร้อมสนับสนุน
ด้านที่ 3 ข้อมูลและทรัพยากร (Data & Resources) เพราะปัจจุบันข้อมูลส่วนใหญ่ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในรูปแบบไฟล์ PDF และ Words ทางสำนักงานฯ จึงมีแผนการดำเนินโครงการแปลงข้อมูลสำคัญให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล หรือ Machine-Readable Data และทำเป็น Structured Data ในปี 2567 เพื่อเป็นฐานข้อมูลจัดเตรียมไว้เพื่อให้การพัฒนาระบบต่าง ๆ ที่จะนำ AI มาใช้ในปีต่อ ๆ ไป และสามารถจะนำไปใช้ซ้ำ ๆ ได้
“สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังดำเนินโครงการสนับสนุนด้าน Cyber Security เพราะเมื่อนำ AI มาใช้ จะต้องใช้ข้อมูลเยอะ ซึ่งข้อมูลของเราสำคัญมาก เพราะฉะนั้นเราต้อง Protect Data ของเราไว้ให้ดี เรื่อง Cyber Security จึงมีความสำคัญในยุคที่เป็น AI และเรื่อง Infrastructure เช่นกัน เรามี Devices และมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่พร้อมที่เอื้อต่อการดำเนินงานแบบดิจิทัลหรือไม่ รวมถึงการพัฒนาระบบ AI เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่และให้บริการประชาชนไปพร้อมกัน”
3 อุปสรรคใหญ่ที่เกิดขึ้นในหน่วยงานราชการ
ดร.ชิดชนกกล่าวว่าการปรับเปลี่ยนองค์กรอย่างสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นดิจิทัลแบ่งเป็น 3 อุปสรรคใหญ่ ๆ
อุปสรรคที่ 1 ความกังวลด้านความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของ AI
เนื่องด้วย AI ส่วนมากมักจะเป็น Blackbox หรือสิ่งที่ไม่สามารถรู้ได้ว่ากระบวนการคิดหรือเหตุผลที่ AI ตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ นั้นคืออะไร ซึ่งความไม่โปร่งใสดังกล่าวนี้ทำให้ผู้ใช้งานเกิดความสงสัย ข้องใจ และอาจเป็นความกลัว
เหตุจากความไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจหลักการทำงานของ AI เพราะไม่สามารถอธิบายมาเป็นขั้นเป็นตอนที่นำมาซึ่งการตัดสินใจได้
“เมื่อเราไม่ทราบว่า AI มีหลักการหรือเหตุผลในการตัดสินใจอย่างไร เราก็ไม่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องหรือข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องได้ โดยเฉพาะองค์กรของศาลแล้ว เรื่องหลักการ เหตุผล ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ ซึ่งในอนาคตถ้าใน AI จะมีทิศทางที่เรียกว่า Explainable AI หรือ AI ที่สามารถอธิบายเหตุผลเป็นขั้นเป็นตอนได้มากยิ่งขึ้น ในหน่วยงานต่าง ๆ ของราชการก็อาจจะลดความกังวลในเรื่องนี้ไปได้”
อุปสรรคที่ 2 งบประมาณในการลงทุนด้าน AI Technology
“ขึ้นชื่อว่า AI แล้ว มูลค่าย่อมสูงแน่นอน ยิ่งเป็นองค์กรที่ไม่มีบุคลากรหรือทีมที่สามารถพัฒนาระบบต่าง ๆ ได้เองแล้ว ยิ่งต้องมีการลงทุนในการพัฒนาระบบต่าง ๆ สูงขึ้นไปด้วย หากการของบประมาณแต่ละปีก็ไม่มีความแน่นอน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของราชการว่าจะมีการแบ่งสันปันส่วนให้ในแต่ละหน่วยงานเท่าไร”
อุปสรรคที่ 3 Mindset
“เป็นอุปสรรคข้อสำคัญ เพราะ Mindset ที่อาจจะมีความยึดติดในสิ่งที่ถนัดหรือกรอบเดิม ๆ และอาจยังไม่ค่อยเข้าใจเทคโนโลยีหรือประโยชน์ของ AI ได้เพียงพอ จึงเกิดการต่อต้าน เพราะคิดว่า AI จะมาทำให้เกิดความยุ่งยาก อาจจะมาเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงาน แล้วอาจจะต้องปรับตัวหรือพัฒนาทักษะใหม่ ๆ หรือไม่”
ดร.ชิดชนกสะท้อนว่าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญต้องแก้ไขเรื่อง Mindset ของบุคลากร ที่ไม่ได้ใช้เพียงคำพูดหรือบรรยายสรรพคุณ หากยังทำให้บุคลากรเห็นถึงประโยชน์ของ AI โดยแสดงประโยชน์ให้เห็น จับมือทดลองให้ใช้ไปด้วยกัน
AI อาจจะเข้ามาแทนที่งาน (Job) ที่เป็นงาน Routine แต่อีกมุมหนึ่ง AI ช่วยลดภาระงานที่เป็น routine แล้ว บุคลากร คนทำงานสามารถพัฒนาความสามารถไปทำอย่างอื่นที่ซับซ้อนอีกได้
“ยุคนี้ไม่ใช่ AI หรอกที่จะเข้ามาแทนมนุษย์ แต่คนที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือต่างหากที่จะเข้ามาแทนคนที่ยังไม่ก้าวทันโลก ซึ่งอุปสรรคข้อนี้เป็นอุปสรรคที่เชื่อว่าทุกคน ทุกหน่วยงานจะต้องเจอ และมีความยากในการเปลี่ยนแปลง และต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างนาน”
ชมเสวนาออนไลน์ Digital University : Enabling The Smart Society ในหัวข้อ “การปรับตัวเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์” ได้ที่นี่ https://fb.watch/m1A6IyTkg8/?mibextid=aE13LE