สำนักงาน ก.พ. กับการขับเคลื่อนองค์กรยุคหลังโควิด

สร้าง Ecosystem ขององค์กรแห่งการพัฒนา ผู้นำพร้อมขับเคลื่อน บุคลากรพร้อมพัฒนา กับคุณอริยะ สกุลแก้ว

นับเป็นการเสวนาออนไลน์ที่เข้มข้นครั้งหนึ่งก็ว่าได้ เมื่อเฟซบุ๊กเพจ Digital University ซึ่งได้รับการสนันสนุนโดยสถาบันคลังสมองของชาติจัดงานเสวนาประจำเดือน Digital University: Enabling The Smart Society ภายใต้ประเด็น ‘การจัดการองค์กรยุคหลังโควิดและภาวะผู้นำกับการขับเคลื่อนเพื่อการปรับองค์กรอย่างเป็นระบบซึ่งในครั้งนี้ นอกจากไม่ขาด อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ที่มาให้ความรู้และรายละเอียดสำคัญ โดยเน้นเรื่อง Enterprise Blueprint ที่สอดรับกับหัวข้อของการพูดคุยได้อย่างครบถ้วนในเวลาจำกัดแล้ว ความเข้มข้นที่กล่าวไว้เห็นจะต้องยกให้สองสตาร์ตอัป UPCYDE และ Backyard ที่ดำเนินธุรกิจแตกต่าง ทว่าได้ร่วมแบ่งปันเรื่องราวอันเป็นวิสัยทัศน์องค์กรและการก้าวข้ามวิกฤตอย่างน่าสนใจ นอกจากนี้ อีกไฮไลต์ของการพูดคุยคือการได้ฟังเสียงจากฟากฝั่งภาครัฐ กับองค์กรที่จำเป็นต้องตอบโจทย์การเปลี่ยนไปของโลกปัจจุบันอย่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนี่เป็นอีกหนึ่งเสียงจากองค์กรภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) นำโดย คุณอริยะ สกุลแก้ว ผู้อำนวยการวิทยาลัยนักบริหาร สำนักงาน ก.พ.

ความท้าทายด้านเป้าหมายองค์กรภาครัฐหลังโควิด-19 กับสำนักงาน ก.พ.

คุณอริยะเล่าว่า หน้าที่หลักอย่างหนึ่งของสำนักงาน ก.พ. คือการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ (HRD in Public Sectors) ซึ่งหมายรวมถึงข้าราชการพลเรือน รวมถึงข้าราชการประเภทอื่น ๆ ซึ่งเป็นการดูแลข้าราชการหลายล้านคน โดยสำนักงาน ก.พ. หน้าที่ในการช่วยกำกับ ดูแล และพัฒนาข้าราชการเหล่านี้

สำหรับสถานการณ์วิกฤตในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ช่วงของการเปลี่ยนผ่านต่าง ๆ จะเป็นเรื่องการเมืองก็ดี เศรษฐกิจก็ดี คุณอริยะมองว่าเป็นความท้าทายของผู้นำทั้งสิ้น

คำว่า Upskill และ Reskill ที่ถูกไฮไลต์กันขึ้นมาในช่วงโควิด-19 หากทางสำนักงาน ก.พ. เองได้ก้าวนำไปก่อน เพราะได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวมาขับเคลื่อนก่อนการมาถึงของโควิด-19 ด้วยความตระหนักถึงความจำเป็นดังที่ปรากฏในงานวิจัยสำคัญของต่างประเทศ ณ World Economic Forum ที่ระบุว่า บุคลากรในปี 2025 ของทุกองค์กร รวมถึงภาครัฐ จะต้องได้รับการพัฒนา Upskill และ Reskill

“การพัฒนาคนของ ก.พ. ยึดโยงตามแผนยุทธศาสตร์ระดับประเทศ (แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13) ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ระดับชาติมีแผนปฏิรูปประเทศ เรียกว่า แผนระดับ 1 ระดับ 2 ระดับ 3 ที่เป็นยุทธศาสตร์ที่ข้าราชการ หรือ สำนักงาน ก.พ. ต้องใช้เป็นเป้าในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาคน ซึ่งการพัฒนาคนในแต่ละแผนถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาประเทศ มีการเขียนไว้อย่างชัดเจน เช่น หมุดหมายที่ 13 ซึ่งเป็นแผนขั้น 13 ว่าด้วยเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติก็ดี หรือนโยบายแห่งรัฐก็ดี เป็นเรื่องของการพัฒนา ยกระดับภาวะผู้นำของข้าราชการ ยกระดับทักษะของข้าราชการ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ การบริการภาครัฐ การถ่ายโอนภารกิจต่าง ๆ ยังไม่รวมถึงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งต้องรอรัฐบาลชุดใหม่แถลงนโยบาย หลังจากนั้นทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยราชการ กระทรวงต่าง ๆ จะนำนโยบายจากรัฐบาลมาขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ

“ระดับนโยบาย ระดับยุทธศาสตร์ กำหนดชัดว่าข้าราชการ บุคลากรภาครัฐ จะต้องมีทักษะที่พร้อม มีภาวะผู้นำที่พร้อมในการขับเคลื่อน และอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องคุณธรรม จริยธรรม” คุณอริยะอธิบายว่าเรื่องคุณธรรม จริยธรรม เป็นความท้าทายของข้าราชการเสมอมา โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส เรื่องคอร์รัปชัน เป็นต้น “โดยกระบวนการก็ว่าไปตามกระบวนการ แต่เรื่องการพัฒนาก็เป็นเรื่องของการพัฒนา เป็นคนละส่วนกัน เพราะฉะนั้นในมุมของการพัฒนาบุคลากร ตัวบุคลากรเองต้องพร้อมในการพัฒนาตัวเอง เพื่อยกระดับการบริการภาครัฐที่มีต่อประชาชน ซึ่งจะเห็นว่ายุทธศาสตร์ต่าง ๆ ไล่ไปยังกฎหมายระดับประเทศ คือ รัฐธรรมนูญ ถึงแผนระดับ 1 ระดับ 2 ระดับ 3 กำหนดชัดเจนว่าข้าราชการต้องมีทักษะที่พร้อมและมีภาวะผู้นำ ย้ำว่า ‘ทุกระดับ’ คำว่า ทุกระดับ หมายความว่า ข้าราชการอาจเป็นเหมือนองค์กรเอกชนอยู่บ้างนิดหน่อย แต่เรื่องของความชัดเจน ในอดีตข้าราชการอาจเริ่มจากระดับ C1, C2, C3 ถึง C11 แต่ปัจจุบัน เรียกว่า ประเภท ทุกประเภท ตามสายงาน

“เพราะฉะนั้นในระดับยุทธศาสตร์บอกชัดเจนว่า นับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งคาบเกี่ยวกับช่วงหลังโควิด-19 ความท้าทายของ ก.พ. มี 2 ประเด็น ได้แก่ ‘การควบคุมอัตรากำลัง’ ด้วยเพราะภาระค่าใช้จ่ายของข้าราชการเยอะมาก โดยเฉพาะเงินเดือน ค่าตอบแทน ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ซึ่งถ้าเทียบเป็นเงิน GDP ของประเทศถือว่าเยอะพอสมควร เพราะฉะนั้น ก.พ. มีหน้าที่ในการควบคุมอัตรากำลังให้เหมาะสม และใช้ประโยชน์ และ ‘การพัฒนาบุคลากร’ ซึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของสำนักงาน ก.พ. ดังที่นำเรียนไปแล้ว กล่าวคือ มุ่งเน้นพัฒนาทักษะและสมรรถนะของบุคลากรให้มีความพร้อม เพื่อรองรับการปฏิบัติงานภายใต้ชีวิตวิถีใหม่”

นอกจากนี้อีกหนึ่งนโยบายหรือยุทธศาสตร์ของสำนักงาน ก.พ. ในการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ คือ การสร้างแรงจูงใจให้ข้าราชการสามารถเรียนด้วยตัวเอง พัฒนาตนเอง และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ร่วมกัน คุณอริยะอธิบายว่าไม่ใช่เป็นการพัฒนาเพียงแค่องค์กร แต่เป็นการพัฒนาตัวบุคลากร ซึ่งรวมทั้งหมดตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลาง ไปจนถึงน้อง ๆ ที่เป็นระดับแรกบรรจุ

“ประเด็นเรื่องการพัฒนาบุคลากรเพื่อตอบโจทย์ภาวะวิถีใหม่ สำนักงาน ก.พ. ค่อนข้างโฟกัสเรื่องภาวะผู้นำ เพราะในปี 2570 รัฐบาลจะเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล สำนักงาน ก.พ. เองจึงหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาบุคลากร ซึ่งมีแนวคิดที่น่าสนใจของต่างประเทศมากมาย หรือเรื่อง Well-Being ของตัวบุคลากร เป็นต้น”

หลังผ่านวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สำนักงาน ก.พ. จึงมุ่งเน้นที่ 3 เรื่องเป็นสำคัญ ได้แก่ ‘การเป็นองค์กรที่สามารถสนับสนุนการพัฒนาและการเรียนรู้ของบุคลากร “คำว่าองค์กรหมายรวมถึงผู้บริหาร องคาพยพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง Ecosystem ที่เกี่ยวข้อง” คุณอริยะเสริม

เรื่องที่ 2 คือ ‘Skillset และ Mindset ต้องทันสมัย’ เพื่อสนับสนุนให้ข้าราชการสามารถพัฒนาและเรียนรู้ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็น Mindset ต้องเป็น Mindset ทั้ง Global Mindset, Growth Mindset และ Mindset ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม คุณธรรม กลุ่มที่ 2 คือ Skillset ต่าง ๆ ที่ได้พัฒนาขึ้นมา แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ Skill ด้านภาวะผู้นำ และ Skill เฉพาะทาง “เนื่องจากข้าราชการมีสายงานค่อนข้างเยอะ ซึ่ง Skill ทักษะเฉพาะทางหมายถึง Functional Skill เช่น สายงานแพทย์ สายงานวิศวกร สายงานไอที สายงานพยาบาล ฯลฯ ถ้านับจริง ๆ ในแต่ละกรมก็เกือบร้อยสายงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น เพราะฉะนั้นข้าราชการจะพัฒนาเพียง Soft Skill ไม่ได้ ต้องพัฒนา Functional Skill หรือ Hard Skill ด้วย”

นอกจากนี้สำนักงาน ก.พ. เล็งเห็นว่าผู้นำจะต้องเปลี่ยน (Adapt) เรื่อง ‘Top Skills’ โดยทางสำนักงาน ก.พ. รับผิดชอบการพัฒนานักบริหาร ตั้งแต่หลักสูตรนักบริหารระดับสูง ที่นำทักษะต่าง ๆ เหล่านี้มาเป็นแกนหลักในการพัฒนาผู้นำ “หากดูจาก Top Skills ต่าง ๆ อาทิ จาก World Economic Forum แน่นอนว่ามุ่งเน้นเรื่องการคิดเชิงวิเคราะห์ เรื่อง Digital Skill เรื่อง Mindset เรื่อง Resilience หรือความยืดหยุ่น และเรื่อง Agile เป็นต้น ซึ่งในช่วงอีกประมาณ 5-10 ปีข้างหน้า การพัฒนาผู้นำไม่ค่อยหนีเรื่องของเทรนด์เหล่านี้”

การขับเคลื่อนองค์กรหลังโควิด-19 เป็นการโฟกัสเรื่ององค์กร ซึ่งคุณอริยะกล่าวว่า แม้ว่าองค์กรมีเทคโนโลยี และกระบวนการ (Process) ที่ดีก็ตาม แต่องค์กรจะไปไม่ได้เลย หากคนไม่ทำงาน หรือคนไม่พร้อม

“ฉะนั้นตรรกะนี้สำคัญมาก หลักการสำคัญในการพัฒนาคนของสำนักงาน ก.พ. ถ้าคนพร้อม Process เคลื่อน Process ดี Technology ใส่เข้ามา นี่คือแนวโน้มในการที่จะจัดการองค์กรหลังโควิด-19”

 

ความท้าทายวิกฤตในอนาคตในมิติที่หลากหลายและคาดเดาไม่ได้

“การบริหารบุคลากรขององค์กรภาครัฐต้องมีกลยุทธ์” คุณอริยะเปิดประเด็น “จากข้อมูลที่ผ่านมา มีคำถามว่าภาครัฐมีความน่าดึงดูดน้อยลงหรือไม่ เพราะยุทธศาสตร์ระดับประเทศนั้นมีความชัดเจนว่าภาครัฐต้องดึงดูด ‘คนเก่ง’ เข้ามาในระบบราชการ อาจเคยได้ยินว่า มีคนสมัครเข้าสอบภาค ก. ปีละ 5-6 แสนคน แต่คำถามคือคนเหล่านี้เป็นคนที่เราต้องการใช้หรือไม่ ถ้าตำตอบคือ ใช่ ก็ต้องพัฒนาเขาเพื่อให้เขาไปสู่สุดยอดของการเป็นบุคลากรภาครัฐ”

เพราะการรักษาคนเก่งเอาไว้เป็นเรื่องที่สำคัญ และปัจจุบันยังมีเรื่องของเจเนอเรชัน เรื่องความหลากหลายทางเพศ เรื่องสมรรถนะและทักษะที่ท้าทาย เพราะฉะนั้นแนวทางที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดขึ้น ตั้งแต่เรื่ององค์กร เรื่องทักษะสำคัญ ไปจนถึงเรื่องที่ผู้บริหารในภาครัฐต้องให้ความสำคัญ คือ เรื่องการพัฒนาบุคลากร “เพราะผู้บริหารในภาครัฐเป็น Key Person ในการบริหารบุคคล บริหารงาน บริหารทีมงาน บริหารงบประมาณ หากผู้บริหารไม่มี Mindset ที่ดีต่อการพัฒนาคน ข้าราชการระดับล่างลงไปย่อมจะรู้สึกเสียขวัญ และที่สุดแล้ว คือ ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่

“อย่างไรก็ตามบุคลากรเองก็ต้องปรับตัว ไม่ต้องรอให้ผู้บริหารปรับตัวเข้ามาหา อย่ารอให้ทุกอย่างมาหาโดยที่ตัวเองไม่ปรับตัว อย่าคิดว่าเงินเดือนน้อย ค่าตอบแทนน้อย เราจะได้รับสิ่งที่ตอบแทนเข้ามาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง โอกาสความก้าวหน้าทางราชการ ไปจนถึงโอกาสในการพัฒนาตัวเองก็มีมากขึ้น”

คุณอริยะจึงย้ำว่า บุคลากรต้องรู้จักพัฒนาตนเอง มีการวางแผน มี Mindset ที่ดี มี Growth Mindset ที่ดีต่อการพัฒนาตนเอง ยกระดับทักษะสำคัญที่ตัวเองพึงมีในการปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เต็มที่ แน่นอนคือเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม

เรื่องเทรนด์ของการบริหารองค์กรในอนาคต นโยบายภาครัฐต้องมาก่อน ขณะเดียวกันนโยบายภาครัฐต้องช่วยสนับสนุนบุคลากรภาครัฐ “เรื่ององค์กรเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มจาก Ecosystem และทุกอย่างต้องใช้งบประมาณ ถ้าองค์กรไม่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรแห่งการพัฒนา องค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ ข้าราชการก็จะอยู่ใน Ecosystem ที่ไม่เหมาะสมสอดคล้อง” คุณอริยะทิ้งท้าย