อ่าน... สิ่งซึ่งต้องลด ละ เลิก VS สิ่งที่ต้องเพิ่ม เติม สร้าง

การเปลี่ยนแปลงภาคบังคับ ที่ 38 มรภ. ต้องนำบัณฑิตก้าวต่อไปในโลกยุคใหม่ กับ รศ. ดร.บวร ปภัสราทร

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้สนับสนุนและผลักดัน โครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล (Driving Thai University toward Digital University) ได้จัดการประชุมออนไลน์38 มหาวิทยาลัยราชภัฏกับการเตรียมความพร้อมเพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยยุคใหม่” พร้อมกันนี้ได้เปิดช่วงเสวนาพิเศษภายใต้ประเด็น “ก้าวต่อไปกับบัณฑิตใหม่ที่โลกต้องการ” ซึ่งได้รับเกียรติจาก รศ. ดร.บวร ปภัสราทร ผู้ทรงคุณวุฒิทักษะดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมแชร์หลากหลายความเห็นและประสบการณ์ชวนคิด โดยเฉพาะสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏที่กำลังมุ่งหน้าเตรียมความพร้อมสู่การเป็น Digital University

 

พื้นฐานเรื่องการเชื่อมั่นในข้อเท็จจริง

รศ. ดร.บวรเริ่มต้นด้วยการเปรียบว่าการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัล หรือ Digital Transformation นั้น เหมือนกับพุทธศาสนิกชน นิกายมหายาน ที่เชื่อในเรื่องมหากรุณา ช่วยผู้อื่นเป็นหลัก ทำตัวให้เป็นประโยชน์เพื่อผู้อื่น ส่วนนิกายหินยาน จะเชื่อในเรื่องการทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส เพื่อจะได้ไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น

ทุกเรื่องมี Fundamental ที่ต้องเชื่อเสียก่อน

ดังนั้นเรื่องสำคัญของการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลคือการจัดการโดยใช้ข้อมูลที่เป็นจริง (Management by Fact) หรือนับได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานของเรื่อง Digital Transformation นั่นเอง “มโนให้น้อยที่สุด วันใดก็ตามที่ยัง Management by มโน หรือ by Opinion อย่าพูดถึง Digital Transformation เพราะท่านจะลงเงินไปโดยเสียประโยชน์ ดังนั้นเมื่อ Management by Fact และท่านต้องการจะผลิตบัณฑิตใหม่ที่โลกต้องการ ก็ต้องไปถามโลกว่าโลกในที่นี้ต้องการบัณฑิตใหม่ที่มีทักษะอะไร อาทิ World Economic Forum

 

ทักษะที่จำเป็นสำหรับบัณฑิตในปีปัจจุบัน จาก World Economic Forum

รายงาน Future of Jobs Report 2023 จาก World Economic Forum ซึ่งเป็น Insight Report ที่สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ https://www3.weforum.org/docs/WEF_Future_of_Jobs_2023.pdf กับข้อมูลที่สะท้อน10 อันดับแรกของทักษะที่จำเป็นสำหรับบัณฑิตที่เป็นที่ต้องการในปีปัจจุบัน โดย รศ. ดร.บวรไล่เลียงให้เราฟังว่า อันดับ 1 Analytical Thinking ซึ่งเป็นเรื่องของการคิดเชิงวิเคราะห์ อันดับ 2 คือ Creative Thinking “วิเคราะห์แล้วต้องสร้างสรรค์เป็น คนหนุ่มคนสาวบ้านเราพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่ามี Creativity ไม่แพ้ชาติใดในโลก เพียงแต่เวทีของเราอาจยังช่วยให้เขาครีเอตได้ไม่เต็มที่นัก อันดับ 3 ต้องอึด ประเทศไทยต้องอึดมาก เพราะเราทำอะไรซ้ำ ๆ เราสร้างของเดิมซ้ำ ๆ มากที่สุดในโลกหลายอย่างด้วยกัน แต่บ้านเราสร้างซ้ำแล้วซ้ำอีก เราอึด เรายืดหยุ่น และเราคล่องแคล่ว” รศ. ดร.บวรอธิบายถึงทักษะอันดับ 3 ด้าน Resilience, Flexibility and Agility

ส่วน อันดับ 4 คือ Motivation and Self-Awareness เป็นการทำงานด้วยแรงบันดาลใจ รู้ตัวเองว่าตัวเองเหมาะกับเรื่องใด โดย รศ. ดร.บวรกล่าวว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏมีความโดดเด่นและแตกต่างจากมหาวิยาลัยอื่น ๆ เพราะสามารถสร้างศิษย์หรือบัณฑิตที่มี SelfAwareness แม้จะมีข้อจำกัดว่าในจังหวัดที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่อาจไม่มีสาขาที่ผู้เรียนรู้สึกว่าเหมาะกับตัวเอง ก็จะเลือกทำงานไปด้วย ซึ่งมีข้อมูลชัดเจนว่านักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏทำงานพร้อมกับการเล่าเรียนสูงกว่ามหาวิทยาลัยวิจัยในประเทศไทย นับเป็นความภูมิใจของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีลูกศิษย์ในลักษณะ Lifelong Learner ตั้งแต่เรียนในระดับปริญญาตรี แม้อาจารย์จะออกตัวว่าลูกศิษย์ทำงานพร้อมกับการเล่าเรียนเพราะขาดแคลนเรื่องทุนทรัพย์ หาก รศ. ดร.บวรถือว่าเป็นข้อดีและเป็นจุดเด่นที่ผู้บริหารและคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏควรนำมาสื่อสาร

“แนวคิดของมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้นแทบไม่แตกต่างจาก Land-Grant University ของสหรัฐอเมริกาเมื่อสักร้อยกว่าปีก่อน อย่าง Cornell University ที่ในอดีตนั้นก็เป็น Land-Grant University ซึ่งนำที่ดินของชาวบ้านมาตั้งมหาวิทยาลัย โดย 70% ของช่วงเริ่มต้น อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะใช้เวลาจำนวนมากไปคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยราชภัฏของเรา บ้าน นี่เป็นตัวอย่างเรื่อง Self-Awareness รู้ว่าควรจะทำอะไร นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่อง Curiosity คือดูชาวบ้านทำงาน ขณะเดียวกันก็บอกได้ว่าเราสนใจ ใส่ใจว่านอกจากทำแบบนี้แล้ว ทำแบบนั้นเพิ่มเติมได้ไหม จึงมีผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่ได้รับการยกระดับขึ้นจากฝีมือของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏมากมาย”

รศ. ดร.บวรกล่าวพร้อมไล่ทักษะที่จำเป็นสำหรับบัณฑิตที่เป็นที่ต้องการในปีปัจจุบันมาถึงทักษะ อันดับ 5 Curiosity and Lifelong Learning และมาถึงทักษะ อันดับ 6 Technological Literacy ที่ รศ. ดร.บวรกล่าวว่าการที่มหาวิทยาลัยต้อง Reinventing ซึ่งเป็นเหมือน วาจาสิทธิ์ว่าจะต้องทำ มหาวิทยาลัยราชภัฏจึงหันไปโฟกัสในเทคโนโลยี ซึ่งอาจไม่ใช่เทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับชุมชน “ด้วยเป็นเด็กดี ใครบอกให้ Reinvent อย่างไรเราก็ Reinvent ด้วย จะเห็นว่าด้วยความอึด ด้วยความยืดหยุ่น ด้วยความปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วของมหาวิทยาลัยราชภัฏ จึงมีคนสนใจที่จะมาทำงานด้วยเยอะ ซึ่งชื่นชมความสามารถในการปรับตัวต่าง ๆของท่าน เพราะฉะนั้นเรื่อง Technology Literacy รับรู้ไว้ก็ดี แต่อย่าตื่นเต้นมากเกินไป

“ทักษะอันดับ 7 (Dependability And Attention To Detail), 8 (Empathy And Active Listening), 9 (Leadership And Social Influence), 10 (Quality Control) ไม่ค่อยเป็นเรื่องใหญ่แล้ว เพราะสำหรับปีนี้คือเรื่องวิเคราะห์เป็น สร้างสรรค์เป็น อึด คล่องตัว และยืดหยุ่น และถ้ามองไปข้างหน้า หรือมองไปถึงปี 2027 ตัวนำ 2 ตัวแรกก็ยังอยู่ คือ Analytical Thinking และ Creative Thinking คือ ‘A Must’ ที่จะต้องมีแน่ ๆ ซึ่งอยู่กับ อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ต้องท่องขึ้นใจคือ Reskill/Upskill แต่ที่ต้องทำอีกอันคือ Unskill เพราะมี Skill หลายอย่างที่มีแล้วเป็นภัยต่อองค์กร เป็นภัยต่อตัวเอง จะต้อง Unskill ตรงนั้นทิ้งไปด้วย”

 

เน้นย้ำทักษะสำคัญ กับการสร้าง Digital Ecosystem

รศ. ดร.บวรอธิบายว่าโลกปัจจุบันมี Data เยอะขึ้น การมโนก็เยอะขึ้น ฉะนั้นเครื่องมือในการสู้กับมโนคือ การวิเคราะห์ Big Data อย่างชาญฉลาด ซึ่งในอดีตเครื่องมือที่ใช้คือการนำสถิติเข้าไปจับ จากนั้นจึงพัฒนาสู่การใช้คอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ฉะนั้นทักษะที่ต้องปรับเปลี่ยนและยกระดับกันขนานใหญ่จึงเป็นทักษะอันดับ 3 ส่วนทักษะอันดับ 4 ที่มีลักษณะสำคัญคือความสามารถในการสร้างอิทธิพลหรือการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม ในชุมชน ซึ่ง รศ. ดร.บวรเชื่อมั่นว่าบทบาทนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีความเชี่ยวชาญและทำได้ดี หากดูแลทักษะเรื่อง Leadership และ Social Influence ให้ดี ย่อมสร้างความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ให้ประเทศได้

ผมจับแค่ 3-4 ตัวแรก เรื่อง Upskill ด้าน Big Data จะทำอย่างนี้ได้ มหาวิทยาลัยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัล ซึ่งคำว่า การปรับเปลี่ยนทางดิจิทัล เป็นคำศัพท์วาจาสิทธิ์ที่พูดกันเยอะ แต่จริง ๆ แล้วที่เราต้องการก็คือ Digital Ecosystem หรือการทำงานทุกอย่างที่มีระบบนิเวศ ขออนุญาตไม่ไล่ว่าองค์ประกอบของระบบนิเวศมีอะไร แต่ที่สำคัญไม่ใช่ตัวเทคโนโลยี”

รศ. ดร.บวรเล่าย้อนถึงเมื่อครั้งทำงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ว่าเคยติดตามว่าประเทศไทยลงงบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐไปแสนกว่าล้าน และวัดประสิทธิผลที่เกิดขึ้นในระบบราชการหลังจากลงทุนระบบดิจิทัลหลังจากเกิดการลงงบประมาณแสนกว่าล้านนั้น พบว่าประสิทธิผลของการบริการประชาชนโดยมีดิจิทัล กับเงินที่เพิ่มขึ้น ๆ ทุกปี ๆ ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ประสิทธิผลทรง ๆ ตัว ไม่เพิ่มขึ้นแบบ Linear หรือแบบ Exponential กับเงินลงทุนทางด้านดิจิทัลในประเทศไทย เพราะฉะนั้นคำตอบของ รศ. ดร.บวรคือราชการไทยมี Digital Ecosystem ที่ไม่เหมาะสม ทำให้การฉีดทรัพยากรเทคโนโลยีไม่สามารถสร้างประสิทธิผลให้กับการบริการลูกค้าได้ “ถ้าเน้นเอาเฉพาะ Analytical Thinking, Creative Thinking และ AI And Big Data หรือจะรวมเรื่อง Leadership And Social Influence สำหรับอาจารย์ทุกท่านแล้วคงหนีไม่พ้นจะต้องมี Digital Ecosystem ด้วย”

Digital Ecosystem เชื่อมโยงสู่ Fundamental ที่ รศ. ดร.บวรเกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนต้น มหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งมีภารกิจสร้าง Digital Ecosystem ที่เหมาะสม เพื่อสร้างทักษะที่โลกต้องการให้กับบัณฑิต ต้องเป็น Data Driven Organization หรืออีกหนึ่งวาจาสิทธิ์ ที่ รศ. ดร.บวรใช้คำว่าเป็นคำพูดที่พูดแล้วดูศักดิ์สิทธิ์ พูดแล้วดูยิ่งใหญ่ หากท้ายที่สุดก็กลับมายังจุดตั้งต้น ความตระหนักรู้ในข้อเท็จจริง (ตระหนักรู้ by Fact ไม่มโน)

“องค์กรที่ Management by Fact ต้องเชื่อถือและศรัทธาในข้อมูล รถอีแต๋นน่ะ ไม่มี Dashboard แต่ขับได้ เพราะอีแต๋นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ต้องมีข้อมูลก็เดินทางได้ อาจารย์ลองขับในมหาวิทยาลัยสิครับ แล้วเอากระดาษปิดหน้าปัดดู แล้วรู้สึกอย่างไร ถ้ารู้สึกสบายใจ อาจารย์ไม่ต้องทำ Digital Transformation เพราะท่านสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้ข้อมูล ท่านสามารถจัดการได้โดยมโน แต่ถ้าท่านขับรถแล้วมาตรวัดไม่ขึ้น รู้สึกไม่มั่นใจ ท่านร่วมวงกับผมได้ เพราะท่านเริ่มมีความเชื่อมั่นและศรัทธาใน Management by Fact ขึ้นต้นด้วยการเชื่อถือข้อมูลก่อน การแสวงหาข้อมูล การนำข้อมูลไปสร้างสาระ จากสาระไปสร้างเป็นความรู้”

รศ. ดร.บวรยกตัวอย่างว่าถ้าเปิดร้านโชห่วย แต่มีความเชื่อมั่นและศรัทธาในข้อมูล เหมือนกับผู้บริหารที่มี Analytical Thinking มี Creative Thinking จะจดบันทึกข้อมูลลูกค้า แยกกลุ่ม กองให้เป็นหมวดเป็นหมู่ เพื่อนับ แล้วเปลี่ยนข้อมูลที่กอง ๆ อยู่ให้กลายเป็นสาระ หรือสารสนเทศ (Information) หลังจากนั้นจะรู้ว่ามีอะไรที่ขาดเหลือ ต้องการอะไรเพิ่มเติม “ถ้ายังกอง ๆ อีเหละเขละขละเป็น Data อยู่ ก็ไม่มีวันทราบหรอกว่าจะใช้ไปทำอะไรได้บ้าง” รศ. ดร.บวรกล่าว “ทีนี้ถ้าผมมี Curiosity ผมใฝ่รู้ ผมก็ลองแยกดูว่ามีลูกค้าประจำเท่าไร ลูกค้าขาจรเท่าไร พอเป็นแบบนี้แล้วทุกท่านคงเห็นทันทีใช่ไหม จากข้อมูลชุดเดียวกัน จากเหตุการณ์เดียวกัน ผมเกิดความรู้มากกว่า ผมได้สาระมากกว่า ผมควรจะขายสินค้าประเภทไหน ถ้าขาจรเยอะผมก็ต้องเอาสินค้าสำหรับขาจร เป็นต้น

“ถ้าเป็นมหาวิทยาลัย การสร้าง Learning Outcome ให้กับลูกศิษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Skill ด้าน Analytic และด้าน Creative อาจารย์ต้องมีข้อมูลว่าลูกศิษย์มีทักษะต่าง ๆ เช่น Analytical Thinking แค่ไหน และถ้าทั้งผู้บริหารและอาจารย์เอง ไม่ Management by Fact ไม่มี Analytical Thinking, Creative Thinking หรือ Curiosity ในการบริหารจัดการ ในการจัดการเรียนการสอน ในการ Evaluate Learning Outcome อย่าได้หวังว่าลูกศิษย์จะเกิดทักษะต่าง ๆ ที่กล่าวมา”

แม่ปูสอนลูกปูไม่มีในโลก นั่นเป็นวาจาสิทธิ์เท่านั้น

 

โลกซับซ้อนขึ้นด้วย Data

“นักเรียนในระดับประถมศึกษาของแคนาดาสามารถแยกระหว่าง Fact กับ Opinion ออกตั้งแต่ยังไม่ทันจบเกรด 6 น่าเศร้าใจสำหรับประเทศไทยของเรา บางคนจบปริญญาเอกยังแยกไม่ออกระหว่าง Fact กับ Opinion” รศ. ดร.บวรกล่าว “องค์กรที่จะมีระบบนิเวศที่สร้างทักษะที่โลกต้องการให้กับลูกศิษย์ได้จะต้อง Management by Fact และแยกออกระหว่าง Fact กับ Opinion ก่อนทำ Digital Transformation ผมฝากความหวังไว้กับอาจารย์ทุกท่านว่าท่านจะเป็นผู้ชี้นำสังคมไทยให้แยกแยะให้ออกได้ระหว่าง Fact กับ Opinion เมื่อถึงวันนั้นประเทศไทยจะได้เป็นประเทศที่อุดมความจริง

ในวันที่โลกซับซ้อนขึ้น Data คือสัญลักษณ์ของสิ่งที่เกิดขึ้น การสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัล ช่วยแยกแยะ Fact ออกมาจาก Data จำนวนมหาศาลได้ และแน่นอนว่า AI กับ Big Data ช่วยได้ แต่การลงทุนหลายหมื่นล้านไปกับ AI ที่ดีที่สุดในโลก โดยขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาใน Management by Fact ขาดความรู้พื้นฐาน ขาดทักษะพื้นฐานเรื่อง Analytic Thinking ต่อให้เทคโนโลยีกว่าแสนล้านก็เป็นเพียงเครื่องประดับที่มีไว้เพื่อโอ้อวด เช่น ในปี พ.ศ. 2540 ที่บริษัทไฟแนนซ์ในประเทศไทยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ AS/400 ของ IBM แต่เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทยที่ปราศจาก Management By Fact, Analytic Thinking และ Creative Thinking เทคโนโลยีนั้นก็ล่มสลายไปพร้อม ๆ วิกฤตการเงิน ณ ช่วงนั้น

 

Digital Transformation เป็นการเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่พึงเกิดขึ้น

“อย่าคิดว่าการท่องคำว่า Digital Transformation แล้วความสำเร็จจะเกิดขึ้น อย่าคิดว่า Digital Transformation เป็นวาจาสิทธิ์ พูดแล้วองค์กรหรือมหาวิทยาลัยจะดูดี ดูวิเศษ อย่าคิดว่าพูดแล้วจะได้บัณฑิตที่โลกต้องการ”

รศ. ดร.บวรเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนจากการใช้เครื่องคิดเลขมาใช้คอมพิวเตอร์ จากการที่เคยใช้เครื่องแฟกซ์มาใช้อีเมลหรือไลน์ จากการที่เคยใช้โทรทัศน์เป็นสื่อในการสอนหนังสือมาใช้ยูทูบ ติ๊กต็อก เป็นต้น

Digital Transformation เป็นวิถีหนึ่ง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามวิถีการเปลี่ยนแปลงของโลก ชอบไม่ชอบไม่รู้ กลัวไม่กลัวไม่รู้ เกลียดไม่เกลียดไม่รู้ เก่งไม่เก่งไม่รู้ มันเป็นวิถีการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้น จะปักหลักต้านทานอย่างไร หรือจะต่อต้านอย่างไร สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยน เป็นการเปลี่ยนแปลงภาคบังคับ หนีไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นเกิดประโยชน์หรือไม่มีแค่ 2 ข้อหรือ Fundamental ใหญ่ ๆ เหมือนที่มหายานบอกว่าต้องยึดมั่นถือมั่นในมหากรุณาเป็นที่ตั้ง หินยานบอกว่าให้ทำดี ละชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส”

 

ตักศิลา… ไม้เมตรสมรรถนะของโลก

รศ. ดร.บวรทิ้งท้ายเรื่องความสำคัญเรื่อง Management by Fact และ 5 Good Skills ตั้งแต่การคิดวิเคราะห์เป็น สร้างสรรค์ได้ อึด คล่องตัว และยืดหยุ่น ไปจนถึงการมี Motivation เพื่อแสวงหาข้อมูล กับ Curiosity ความใฝ่รู้ หรือความอยากแสวงหาข้อมูล ซึ่งต้องมาพร้อมกับ Lifelong Learning ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้นเป็น ตักศิลา ในหลาย ๆ เรื่อง

เพราะฉะนั้นยิ่งเมื่อมี Self-Awareness ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นตักศิลาในเรื่องใด ย่อมจะเป็นไม้เมตรของสังคมไทย และเป็นไม้เมตรของโลก อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มีความเชี่ยวชาญเรื่องการท่องเที่ยวเมืองชายทะเล จะบอกว่านักบริหารจัดการการท่องเที่ยวเมืองชายทะเลคนไหนมีสมรรถนะด้านการจัดการการท่องเที่ยวเมืองชายทะเลมากน้อยเพียงใด หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มีความเชี่ยวชาญด้านเมืองวัฒนธรรม ตัวอย่างนี้พิสูจน์ได้ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นตักศิลาโดยใช้ Digital Transformation เป็นตัวช่วย

 

ดังที่ รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีรามคำแหง ผู้เป็นอาจารย์ที่รักและเคารพของ รศ. ดร.บวรได้เคยให้คำแนะนำเอาไว้ต่อการส่งและสร้างแรงบันดาลใจ รศ. ดร.บวรจึงเน้นย้ำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมุ่งสู่การเป็น ไม้เมตรสมรรถนะของโลกด้วยความเป็นตักศิลา ดังที่กล่าวเอาไว้ให้ได้