งานสื่อสารภายใต้ภารกิจการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยดิจิทัล
สู่งาน Co-Creation ค่อย ๆ เดินหน้าไปด้วยกัน
โดย อาจารย์รัตนางศ์ ตุละวรรณ นักวิจัยโครงการฯ
โครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล (Driving Thai
University toward Digital University) ซึ่งมี สถาบันคลังสมองของชาติ
เป็นผู้สนับสนุนหลัก ภายใต้นโยบาย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ด้วยเล็งเห็นความสำคัญและศักยภาพขององค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลที่สอดรับกับโลกยุคดิจิทัล
ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเป้าหมายองค์กร การวางแผนกลยุทธ์
การบริหารจัดการองค์กรในภาคส่วนต่าง ๆ การพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน
การตัดสินใจในประเด็นสำคัญ การยกระดับความได้เปรียบรอบด้าน ฯลฯ และในปีล่าสุดโครงการฯ ได้รับทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยเป็นโครงการวิจัยที่มุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยไทยก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล
และแน่นอนว่าภายใต้งานวิจัยโครงการฯ นี้ นับเป็นรวมตัวของนักวิจัยที่มุ่งศึกษาและทำงานด้วยความเข้มข้น
สำหรับหนึ่งในนักวิจัยผู้อาจไม่ค่อยได้ปรากฏชื่อบนเวทีต่าง ๆ เท่าไร
ด้วยเพราะทำงาน ณ จุดที่เป็นปลายน้ำก็คือ อาจารย์รัตนางศ์
ตุละวรรณ ทว่าอาจารย์รัตนางศ์เป็นหนึ่งในนักวิจัยโครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล
ซึ่งทำงานในส่วนการสื่อสาร เสมือนเป็นประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะหลังจากโครงการฯ
ได้ออกตัวมาแล้วถึง 3 ปี รวมถึงการมุ่งหน้าสู่การเชื่อมโยง และ Co-Creation
ในมิติต่าง ๆ
การสร้างพื้นที่เพื่อการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและทรงพลังจึงเป็นส่วนสำคัญของโครงการฯ
ที่ขาดไปไม่ได้
พื้นที่สื่อสารของ Digital University
อาจารย์รัตนางศ์กล่าวว่าการสร้างพื้นที่ในการสื่อสารของโครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลนั้นเป็นเหมือนกับการสร้างพื้นที่ส่วนกลางในการเชื่อมโยงทุก
ๆ คนที่มีความสนใจและมุ่งขับเคลื่อนความเป็นดิจิทัลในภาคส่วนของต่าง ๆ
ของมหาวิทยาลัยให้มาเจอกัน
เว็บไซต์ du-knit.org คือพื้นที่ที่ 1
ซึ่งรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและข้อมูลสำคัญต่าง ๆ
เกี่ยวกับการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลให้ผู้สนใจสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการฯ
และความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลอย่างถูกต้องและตรงกัน นอกจากนี้ที่เว็บไซต์ยังจัดพื้นที่กลางเพื่อเรียนรู้ในหลักสูตรออนไลน์แบบไม่มีค่าใช้จ่าย
(Free Online Course & Certification) กับหลักสูตรที่ 1 Toward to Digital University :
Building the Digital University Platform และล่าสุดเพิ่มเติมอีก 2
หลักสูตร ได้แก่ Data Driven Organization และ
Blockchain, Metaverse and Digital For HR
“นอกจากเว็บไซต์
เรายังจัดทำเฟซบุ๊กเพจ Digital University มหาวิทยาลัยดิจิทัล ซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่หรือช่องทางหลักสำหรับการสื่อสาร
โดยเฉพาะเรื่องการอัปเดต และ Discussion ทั้งเพื่อความเข้าใจในโครงการฯ
ที่มากขึ้น ไปจนถึงอัปเดตข้อมูลข่าวสารจากพาร์ตเนอร์ เครือข่ายต่าง ๆ ที่มีตั้งแต่มหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศที่กำลังดำเนินการเรื่องความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล
และอีกหลาย ๆ มหาวิทยาลัยที่กำลังปักหมุดเพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล
ซึ่งนอกจากจะได้รู้ข้อมูลที่น่าสนใจจากกันแล้ว ยังจะได้เห็นว่าอุตสาหกรรมหรือแวดวงการศึกษาของเรานั้นไปสู่จุดไหนกันแล้วบ้าง
“ที่ผ่านมา
ที่เฟซบุ๊ก เพจ Digital University มหาวิทยาลัยดิจิทัล ยังจัดให้มีการเสวนาออนไลน์สดเป็นประจำทุกเดือน Digital
University: Enabling The Smart Society ในช่วงค่ำ
เพราะเข้าใจและคำนึงถึงอาจารย์ทุกท่าน ผู้เป็นกลุ่มผู้ชมหลัก
ว่ามีภารกิจค่อนข้างรัดตัวในช่วงกลางวัน อย่างไรก็ตามทุก ๆ
การเสวนาที่จัดขึ้นและผ่านพ้นไปแล้ว สามารถรับชมและเรียนรู้ย้อนหลังได้
ทั้งนี้ถ้ารับชมทางเฟซบุ๊กเพจไม่ได้ ยังมีพื้นที่ YouTube ช่อง
KNIT channel สถาบันคลังสมองของชาติ เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้สามารถชมคลิปต่าง ๆ ย้อนหลัง และเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ
Digital University ได้”
อีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่สามารถรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว
ฉับไว คือ Line Official
ซึ่งปัจจุบันสามารถสแกน QR Code ได้ที่เฟซบุ๊ก เพจ Digital
University มหาวิทยาลัยดิจิทัล และในช่วงท้ายของการเสวนาออนไลน์สด
อาจารย์รัตนางศ์กล่าวถึงพื้นที่การสื่อสารหลักของโครงการฯ ที่มีส่วนสนับสนุนและผลักดันโครงการฯ ต่อไปในอนาคต “เพราะไม่ใช่ว่านักวิจัยทำงานวิจัยจบแล้วทุกอย่างก็จบลงตามไปด้วย อยากให้ทุกท่านได้เข้ามาอยู่ใน Ecosystem ดังกล่าวเหล่านี้ เพื่อก้าวหน้าไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลร่วมกัน”
บทบาทการสื่อสารกับงาน Co-Creation
“สำหรับเรื่อง
Co-Creation มีตัวอย่างหลาย ๆ รูปแบบ ตั้งแต่พันธกิจของโครงการฯ ไปจนถึงในส่วนหลังบ้าน
อย่างไรก็ตามยังมีความพยายามที่จะ Co-Create ด้วยการหาพาร์ตเนอร์มาร่วมกันทำให้เพื่อสร้างความเข้มแข็ง
“แต่สิ่งที่ลืมคือ ‘การสื่อสาร’ คืออยากจะหาพาร์ตเนอร์
อยากจะหาคนมาร่วมแชร์ อยากจะหาคนมามาร่วมทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น แต่เราลืมบอกคนอื่นว่าเรากำลังทำอะไร
บางทีเราลืมสื่อสารออกไปว่าตอนนี้แฟล็กชิปของเราคืออะไร เรามีพันธกิจอะไร จึงกลายเป็นว่าเราทำแล้วเรารู้อยู่คนเดียว
ก็จะทำให้หาพาร์ตเนอร์มา Co-Create กับเราได้ยาก”
อาจารย์รัตนางศ์สะท้อนประเด็นของหลายมหาวิทยาลัยที่พยายามมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล
แต่ลืมเรื่องของสื่อสาร “กลายเป็นว่าพาร์ตเนอร์ พันธมิตรที่ต่างมีความแข็งแกร่ง
หรืออยากจะหาคนมา Co-Create ด้วยกัน ก็จะหาคุณไม่เจอ
“ประเด็นสุดท้ายคือเมื่อตั้งพันธกิจที่จะ Co-Create แล้ว ให้เพิ่มประเด็นเรื่องการสื่อสารออกไปด้วย หมายถึง สื่อสารภายในแข็งแรง และไม่ลืมสื่อสารสู่ภายนอกว่ากำลังจะทำอะไร อยากได้พาร์ตเนอร์แบบไหน เป้าหมายของเราคืออะไรบ้าง”
เรียนรู้ไปด้วยกัน เดินหน้าไปพร้อมกัน
ในฐานะคนทำงานสื่อสารและทำงานวิจัยภายใต้โครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล
โครงการซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบมากมายในการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านเพื่อจะได้เห็นความเป็นดิจิทัลโดยสมบูรณ์ของมหาวิทยาลัยไทยอย่างเป็นรูปธรรม
โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดดิสรัปชันอย่างหนักหน่วงจากปัจจัยและสถานการณ์หลากมิติ อาจารย์รัตนางศ์จึงสื่อสารทิ้งท้ายไว้ว่าไม่ต้องกังวลกับความรู้สึกต่าง
ๆ ที่เหมือนกับมีประเด็นมากมายหลายอย่างเข้ามาทับถม ‘เพียงค่อย
ๆ เรียนรู้ไปด้วยกัน’
“ทำไมเราถึงมีการจัด
LIVE กันทุกเดือนทางเฟซบุ๊กอยู่เสมอ
ถือว่าเป็นการอัปเดตข้อมูลโครงการฯ เพราะเรื่องการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงแค่วันนี้หรือพรุ่งนี้
เพราะฉะนั้นเราจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป
“ดังนั้นเราจึงเรียนรู้ไปพร้อมกันได้
ค่อย ๆ ศึกษากันไป ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหนขององค์กรหรือมหาวิทยาลัยก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันได้
เราเองมีช่องทางการติดตามต่าง ๆ เพราะไม่อยากให้จบแค่วันนี้ อยากให้ทุกท่านได้อยู่กับเราต่อไปเรื่อย
ๆ จะได้เดินหน้าไปพร้อมกัน”