เสริมความเข้มแข็งภายใน สร้างความแข็งแกร่งกับพันธมิตรภายนอก นำมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
พัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน

รศ. ดร.ดวงพร ภู่ผะกา
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

      ในวันที่สถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยต่างกล่าวถึงการมุ่งสู่การเป็น Digital University เต็มรูปแบบเพื่อปรับองค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของการพัฒนาในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม และสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาประเทศระยะยาวที่กำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาให้กับหน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนอันนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ของประเทศที่ว่า ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว’ ตลอดจนสอดประสานกับนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นภาพกว้างที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ สะท้อนการเป็นฟันเฟืองสำคัญของประเทศในฐานะตัวกลางของการสร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม ตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศไทย

      อย่างไรก็ตามก่อนขยับไปยืนในจุดของการเป็น Digital University เต็มรูปแบบนั้น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จำเป็นจะต้องรู้ว่า ณ ปัจจุบันตนเองอยู่ตรงไหน ซึ่งหมายความถึงสถานภาพหรือสถานการณ์ปัจจุบันขององค์กรที่จะนำไปสู่การเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายและพัฒนาศักยภาพในอนาคตอย่างถูกทิศถูกทางและตรงจุดต่อไป

      ด้วยภารกิจที่มุ่งสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยมุ่งสู่การเป็น Digital University เต็มรูปแบบ ที่ผ่านมา ‘สถาบันคลังสมองของชาติ’ จึงเตรียมความพร้อมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital Transformation Health Check for University Preparedness) ภายใต้โครงการการพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยดิจิทัล เพื่อสำรวจความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งนำเครื่องมือ ‘Digital Maturity Model หรือ DMM’ มาประยุกต์ใช้ในการสำรวจความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลที่ได้แบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ระดับที่ 1 Traditional University ระดับที่ 2 E-University ระดับ 3 Connected University และระดับที่ 4 Smart University

การเสวนาออนไลน์ Digital University : Enabling The Smart Society ภายใต้หัวข้อ “สำรวจความพร้อมเพื่อสร้างแผนที่นำทางสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล” นับเป็นโอกาสดี ๆ อีกครั้งที่บุคคลสำคัญผู้มีประสบการณ์ตรงในการใช้เครื่องมือ DMM และมีการดำเนินงานในมุมของภาคการศึกษา โดยเฉพาะการขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาสู่การเป็น Digital University เต็มรูปแบบ ได้มาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนทรรศนะ ทั้งนี้ รศ. ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ เป็นตัวแทนในนามของ ‘มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์’ และให้เกียรติร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านบทเรียนที่ล้วนผ่านการลงมือทำงานจริงในฐานะการสนองภารกิจหน้าที่หลักขององค์กร อันว่าด้วยปรัชญาแห่ง ‘การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น’ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์จัดเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มพัฒนาชุมชนเชิงท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น (Area-based & Community Engagement) ตามการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา

      รศ. ดร.ดวงพรเริ่มต้นเรื่องราวด้วยบทบาทของการใช้เครื่องมือ DMM ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์มีส่วนร่วมกับสถาบันคลังสมองของชาติในการสำรวจความพร้อมของสถาบันตั้งแต่แรกเริ่ม ด้วยเพราะการเล็งเห็นความสำคัญของการทบทวนตัวเองและบริบทของพื้นที่ “เพราะเราต้องทบทวนคนของเรา ทบทวนพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) และบทบาทของประเทศ โดยการทบทวนสถานการณ์ในพื้นที่ EEC ต้องพิจารณาทั้งการเปลี่ยนแปลง แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นทั้งเรื่องทรัพยากร โครงสร้างประชากร การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาความมั่นคง หรือแม้แต่โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เพื่อนำมาข้อมูลมาประเมินและจัดการต่าง ๆ ต่อไป ซึ่งนอกจากการใช้เครื่องมือใน DMM แล้ว เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาในพื้นที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ หลักการของนโยบายการทำงานรอบนี้จะต้องทำงานแบบก้าวกระโดด แต่มีเข็มทิศที่บอกทิศทางอย่างชัดเจน”

      จากการร่วมทำ Health Check เพื่อตรวจวัดระดับต้นทุน พบว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์มีความพร้อมในระดับที่ 3 หรือ Connected University กล่าวคือการสำรวจความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลมีการแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยเอาไว้ 4 กลุ่ม ได้แก่ ระดับที่ 1 Traditional University ระดับที่ 2 E-University ระดับ 3 Connected University และระดับที่ 4 Smart University “มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์เป็นองค์กรที่บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์กับเดต้าเบสแบบแบบดั้งเดิมร่วมกัน และนำการบริหารจัดการทางด้านเทคโนโลยี ‘ที่มีอยู่’ มาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เราจึงจะถือว่าเป็น Smart University” รศ. ดร.ดวงพรอธิบาย “นอกจากนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ยังมีจุดพลิกโฉมหรือจุดวิจัยเป็นฐาน เพราะการทำงานในรูปแบบใหม่ด้วยข้อมูลหรือด้วยกิจการ มหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง ทำเฉพาะบางเรื่อง ใช้การศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมยกระดับเป็นขีดความสามารถ และบูรณาการศึกษากับภาคีความร่วมมือ เพราะฉะนั้นความเข้มแข็งของพื้นที่ กลุ่มเศรษฐกิจ และ Stakeholder จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนามหาวิทยาลัยและพื้นที่ไปพร้อมกัน”

      มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องหลังจากตรวจเช็กสุขภาพขององค์กรไปเป็นที่เรียบร้อย โดย รศ. ดร.ดวงพรเล่าว่าทางมหาวิทยาลัยได้นำข้อมูล Health Check มาใช้ประโยชน์ด้วยการบูรณาการกับการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างงาน สร้างอาชีพ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน “กลยุทธ์ของการทำงานเริ่มจากการยกระดับคุณภาพทรัพยากรภายในมหาวิทยาลัย หาต้นทุน ส่งเสริมคุณภาพการบริการ พลิกโฉมมหาวิทยาลัย พัฒนาสมรรถนะกำลังคน จัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ รวมทั้งสนับสนุนการบริหารจัดการในระบบเครือข่าย” รศ. ดร.ดวงพรกล่าวพร้อมยกตัวอย่าง “มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ยังมีการสอบวัดสมรรถนะด้านดิจิทัลจากการสุ่มตรวจกลุ่มตัวอย่างพบว่าสามารถวัดสมรรถนะได้ในระดับที่ค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นเฟรมเวิร์กของการทำงานจึงมีขั้นตอนการพัฒนาตั้งแต่การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมเพื่อกำหนดทิศทางและกำหนดความสำคัญของกลยุทธ์ โดยใช้เครื่องมือเรียกว่า Vision Builder ซึ่งทำให้เห็นภาพของการทำงานทั้งมหาวิทยาลัยเป็นภาพเดียวกัน จนถึงสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ยังทำ Digital Blueprint และ Worksheets ในแต่ละงาน โดยมีระบบการกำกับ การติดตาม การตรวจสอบ การประเมินเกิดขึ้นในทุก ๆ งาน สุดท้ายจึงทำ Roadmap ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เป็น Core ในการพัฒนาระบบบริหาร”

      การขับเคลื่อนความเป็นดิจิทัลที่สำคัญและเป็นรูปธรรมอย่างยิ่งคือการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์จัดเวิร์กชอป เพื่อสำรวจโครงสร้างและฉายภาพวิสัยทัศน์ของการทำงาน โดยวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งปัจจัยภายในและภายนอก กล่าวได้ว่าครบถ้วนทุกองคาพยพ โดยเชิญบุคลากรจากสถาบันคลังสมองของชาติและอาจารย์ดนัยรัฐมาเป็นวิทยากร “อย่างหนึ่งคือทุกคนทุกชีวิตของ RRU มาร่วมเปลี่ยนแปลงและพัฒนา Competency หลักร่วมกัน ทำให้เห็นพลังขององค์กรที่บุคลากรในมหาวิทยาลัยพร้อมจะขับเคลื่อน”

      มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ยังมุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และเกิด Lifelong Learning ขึ้นอย่างแท้จริง การใช้ Vision Builder จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถวิเคราะห์สภาพและสถานการณ์ของสังคม กฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ว่าระบบและกลไกส่วนไหนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในปัจจุบันและอนาคต เป็นต้น

      การจัดเวิร์กชอปในครั้งต่อ ๆ มา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์มีโอกาสได้เห็นระบบการบริการที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข การพัฒนา และการจัดบริการด้านนวัตกรรม ไปจนถึงการได้พิจารณาในปัจจัยสำคัญต่าง ๆ อาทิ ความเสี่ยง ช่องว่าง หรือแม้แต่ข้อควรต้องระวังเพื่อการพัฒนา ซึ่งท้ายที่สุดจึงนำไปสู่การทำเฟรมเวิร์กและโรดแมปการทำงานในระยะ 5 ปี “เครื่องมือเหล่านี้ทำให้เราเห็นจุดจัดการ เห็นข้อมูลที่แท้จริง และนำมาเป็นโรดแมปของการทำงานในพื้นที่ โดยสามารถนำข้อมูลทั้งหมดมาพัฒนา หรือปลั๊กอินกับการพัฒนาของจังหวัดฉะเชิงเทรา และการเป็น Smart City เพราะมหาวิทยาลัยผูกความรับผิดชอบกับ Smart People ในเรื่องของการพัฒนากำลังคนในจังหวัดฉะเชิงเทราและพื้นที่ EEC ทั้ง 3 จังหวัด การขับเคลื่อนการเป็นพลเมืองอัจฉริยะไม่ใช่การเดินคนเดียว ต้องมีหน่วยงาน องค์กร ภาคีเข้ามาพัฒนาความร่วมมือ เพราะฉะนั้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลและพบช่องว่างของการทำงาน กลุ่ม Stakeholder ก็สามารถเข้ามาเติมเต็ม Gap เหล่านี้ ทำให้การพัฒนาพื้นที่รอบใหม่เป็นการทำงานในรูปแบบใหม่ คือแบบก้าวกระโดด”

      รศ. ดร.ดวงพรขยายต่อไปว่าเมื่อรู้การทำงานที่ความชัดเจนแล้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์วางจุดยืนไว้ใน 4 ส่วน ตั้งแต่การทำงานเพื่อตอบโจทย์การเป็น Smart City ซึ่งยังเชื่อมโยงกับการสร้างงาน สร้างอาชีพ ที่นำไปสู่ Smart Living และเข้าสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Smart People และส่งเสริมการสร้างสิ่งแวดล้อม หรือ Smart Economy ดังนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์จึงจัดกระบวนการและระบบกลไกต่าง ๆ ในการทำงานด้วยการร่วมทำงานกับภาคีความร่วมมือ ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาหลักสูตรให้กับกลุ่มประชาชนทั่วไป ครอบคลุมการพัฒนา 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ Smart Famer (ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และบริษัท เอไอ แอนด์ ไอเอ คอนซัลท์ติ้ง จำกัด, Zero Waste Management (ร่วมกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย) และ Digital Entrepreneur (ร่วมกับบริษัท ไอเอสเอส คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด)

      “การทำงานในรอบนี้จะต้องมีทิศทางการทำงานที่ชัดเจน อาจดูในเรื่องเชิงประเด็นและเรื่องเชิงพื้นที่ได้ทั้ง 2 กรณี แต่สิ่งหนึ่งคือพลังการขับเคลื่อน ตั้งแต่ท่านนายกสภา ท่านกรรมการสภามหาวิทยาลัย ท่านกรรมการสภาวิชาการ หรือท่านกรรมการส่งเสริมที่จะรวมพลังและชี้นำนโยบายต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เป็นองคาพยพชิ้นใหญ่ที่สามารถขับแคลื่อนไปได้เร็ว ภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์จะ Full Option ได้จะต้องมีธงปักทางที่ชัดเจน” รศ. ดร.ดวงพรปิดท้ายประเด็นแนวทางและการทำงานที่มุ่งสู่การเป็น Digital University เต็มรูปแบบของ ‘มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์’ สถาบันการศึกษาแห่งภาคตะวันออกที่เป็นดังกระบอกเสียงให้กับทั้งบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย และนักศึกษา อีกทั้งยังเป็นองค์กรหลักที่รวมพลังอย่างเข้มแข็งกับเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการภารกิจสำคัญต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

https://www.facebook.com/digitaluniversity.thai/