3 ปีแห่งความตั้งใจ และยังไปต่อกับความมุ่งมั่น

มรร. มุ่งเตรียมความพร้อมในการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล สู่การขับเคลื่อนไปกับทุกองคาพยพโดยมีใจบันดาลแรง กับ รศ. ดร.ดวงพร ภู่ผะกา

สถาบันคลังสมองของชาติ หน่วยงานหลักในการสนับสนุนและผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยมุ่งสู่การเป็น Digital University เต็มรูปแบบ ภายใต้นโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย รศ. ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการ ได้เน้นย้ำในทุกครั้งทุกคราว่าการผลักดันให้เกิดคนที่พร้อมด้วยศักยภาพสำหรับยุคดิจิทัลนั้นต้องเกิดจาก ‘สภาพแวดล้อมที่เอื้อ’ มหาวิทยาลัยทั้งหลายซึ่งต่างมีภารกิจหน้าที่หลักในผลิตบัณฑิตและการสร้างคน จึงถือเป็นหนึ่งใน ‘สภาพแวดล้อม’ ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับกลุ่มคนในภาคส่วนต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น ‘จุดเปลี่ยน’ ของมหาวิทยาลัยจึงเป็นการปรับตัวเพื่อมุ่งสู่การเป็น ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล หรือ Digital University’ พัฒนามหาวิทยาลัยให้มีสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เรียกว่า ‘ระบบนิเวศ’ ที่เป็นดิจิทัล และสามารถใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพและการทำงานได้

ย้อนไปกว่า 3 ปีที่ผ่านมา สถาบันคลังสมองของชาติจับมือกับนักวิชาการระดับแถวหน้าระดับประเทศ โดยเฉพาะ อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ซึ่งรับหน้าที่หลักในการเป็น ผู้ดูแลโครงการมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล พร้อมด้วยนักวิชาการที่มากด้วยประสบการณ์ในมิติที่หลากหลาย เข้าผนึกกำลังและผสานการทำงานอย่างเข้มแข็ง ที่สำคัญที่สุด คือมหาวิทยาลัยแกนนำจำนวนหนึ่งร่วมสำรวจความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในการมุ่งสู่การเป็น Digital University ภายใต้โครงการการพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยดิจิทัล โดยมีการนำใช้เครื่องมือที่อาจารย์ดนัยรัฐได้พัฒนาและประยุกต์ขึ้น ในชื่อ ‘Digital Maturity Model หรือ DMM’

RRU กับการรีฟอร์มมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น (Area Based and Community) ตั้งอยู่บนพื้นที่สำคัญของประเทศ คือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) นำโดย รศ. ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง เพื่อร่วมนำมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์สำรวจความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในการมุ่งสู่การเป็น Digital University ที่ รศ. ดร.พีรเดชเรียกว่าเป็น มหาวิทยาลัยเยี่ยงอย่าง’ สำหรับห้วง 3 ปีที่ผ่านมา

ณ ที่ประชุม 38 มหาวิทยาลัยราชภัฏกับการเตรียมความพร้อมเพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยยุคใหม่” จำเป็นโอกาสที่ รศ. ดร.ดวงพรได้นำประสบการณ์ต่าง ๆ มาสะท้อนภาพอย่างน่าสนใจ พร้อมเก็บเกี่ยวรายละเอียดสำคัญใหม่ ๆ เพื่อมุ่งเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจุบันเครื่องมือ DMM ได้รับการปรับและประยุกต์ อาทิ มิติของชุดคำถาม เป็นต้น

“เพราะเมื่อ 3 ปีที่แล้วมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ต้องการรีฟอร์มมหาวิทยาลัย (University Reform) ดังนั้นจึงพยายามหาเครื่องมือ มาตรฐาน หรือไม้บรรทัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น EdPEx, AUN-QA หรืออื่น ๆ และพบว่า DMM นั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถ Declare มหาวิทยาลัยของเราได้ว่าจะก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลอย่างไรได้อย่างไร

“มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์กำหนดเป็น Area Based University เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอื่น ๆ เมื่อครั้งที่นำใช้เครื่องมือ DMM ในครั้งแรก หรือเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพื่อสำรวจความพร้อมของมหาวิทยาลัย สิ่งที่แตกต่างจากตัวชี้วัด ณ ปัจจุบัน คือ เรื่องทิศทางการพัฒนาองค์กร ตัวพันธกิจในเชิงธุรกิจ ตัวระบบงานและการประยุกต์ ตัวข้อมูล และเทคโนโลยี”

รศ. ดร.ดวงพรเล่าว่าการสำรวจความพร้อมฯ ร่วมกับสถาบันคลังสมองครั้งแรก มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ดำเนินการร่วมกับจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีการใช้แพลตฟอร์มของมหาวิทยาลัยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ไปจนถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่อยู่ภายในจังหวัดผ่าน Smart City ต่าง ๆ มากมาย “การใช้เครื่องมือเหล่านี้มาเป็นตัว Declare ตัวเองว่าได้มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์เข้าสู่ Smart City ในกระบวนการทำงาน เพราะฉะนั้นผลการประกอบการที่มหาวิทยาลัยทำการประเมินจึงพบว่าค่าเฉลี่ยของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์นั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ย เพราะฉะนั้นเราจึงมีความรู้สึกว่าเป็นความท้าทายและเป็นการพัฒนาตัวเอง ที่สำคัญคือมองเห็นว่าหลาย ๆ มหาวิทยาลัยนั้นเป็นระบบหนุนเสริมซึ่งกันและกัน ในกรณีที่มิติหรือเทคโนโลยีที่ดีอื่น ๆ หลายมหาวิทยาลัย เช่น จังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี นครปฐม หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ฯลฯ อาจมีการ Sharing กัน ซึ่ง ผศ. ดร.ลินดา เกณฑ์มา ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้วางเป้าหมายนี้เอาไว้และพยายามผลักดันให้ทุกมหาวิทยาลัยเดินไปด้วยกัน”

รศ. ดร.ดวงพรอธิบายว่าการประเมินมีรายละเอียดภายในที่สำคัญยิ่งกว่าภาพที่เห็นกันภายนอก จากการสำรวจความพร้อมฯ ในครั้งแรก ผลที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ได้คือ Connected University ด้วยการกำหนดตัวเองว่าเป็นการเอาข้อมูลเป็นจุดจัดการ และมีนักจัดการงานวิจัยเข้ามาอยู่ในเนื้องานของมหาวิทยาลัย ทำให้สามารถเปลี่ยนจากแอนะล็อกเป็นดิจิทัล โดยตั้งต้นจากการลดใช้กระดาษ การพัฒนาระบบอัตโนมัติต่าง ๆ และพยายามทำให้เป็น Digital First เป็นต้น

 

เนื้องานของมหาวิทยาลัยเชื่อมไปกับจังหวัดเป็นอัตโนมัติ

ด้วยเพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์จึงได้รับการกำหนดทิศทางให้เป็นเศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจไร้รอยต่อ เพราะฉะนั้นจึงเกิดแพลตฟอร์มภาพรวมที่ตัวบ่งบอกของภาคตะวันออก “มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ปักธงทิศทางการทำงาน มองว่าธุรกิจของการพัฒนาในครั้งนี้จะต้องนำเทคโนโลยีมาสร้าง Business Model และมองไปถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายใน”

มองถึงกลยุทธ์ มองถึงวิธีคิด มองถึงวิธีการทำธุรกิจ มองถึงขีดความสามารถ

“กลับมาที่มหาวิทยาลัย จะต้องเติมความรู้ให้คนในรั้วมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น และการมองรอบนี้คงต้องเป็นการเติมความรู้ให้คนทั้งจังหวัด ซึ่งต้องขอบคุณหลาย ๆ ท่าน โดยเฉพาะ ผศ.สุรกิจ ทองสุก รองอธิการบดีจัดการทรัพย์สินและกายภาพ และ ผศ. ดร.สายฝน เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ร่วมผนึกกำลังการทำงานครั้งนี้”

รศ. ดร.ดวงพรกล่าวถึงการเข้าร่วมสำรวจความพร้อมฯ ในครั้งที่ 2 ซึ่งอยู่ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พอดิบพอดี หากผลสำรวจความพร้อมฯ พบว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์อยู่ในระดับ Optimized หรือระดับที่มีมาตรฐาน

“เรื่อง Strategic มีการกำหนดเป้าหมาย มีการตอบโจทย์ของทั้งจังหวัด มีการวาง Pain Point แต่ยังขาดการวางมาตรฐาน ซึ่งข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิในชุดนี้ให้เรามองเรื่องกลยุทธ์ เพราะฉะนั้นทางมหาวิทยาลัยจะนำเรื่องกลยุทธ์มาขับเคลื่อนต่อ” รศ. ดร.ดวงพรกล่าว “ส่วนที่ 2 คือเรื่อง Direction ต่าง ๆ การติดตามประเมินผล ตรงนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์อาจจะมีแนวทางในการติดตามประเมินผลไม่ต่อเนื่อง จึงเก็บ Pain Point เหล่านี้มาเป็นต้นทุนในการปรับเปลี่ยน การสนับสนุนทางด้านการควบคุมดูแลการประเมินผลทางยุทธศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ได้จัดตั้งศูนย์ SLI ของมหาวิทยาลัยเองเพื่อดูเทคนิคการทำประเมินผล ไปจนถึงดูว่าสิ่งที่ทำไปแล้วมีอิมแพกต์อย่างไร จากนั้นจึงดูเรื่องกลยุทธ์ด้านธุรกิจเพื่อต่อยอด ซึ่งมุ่งเน้นเรื่อง Outcome Based คือมองว่าสิ่งที่ทำงานไปจะไม่ทำสะเปะสะปะ เพราะมีการมอง Outcome เป็นจุดร่วมเดียวกันกับทั้งมหาวิทยาลัยและทั้งจังหวัด”

นอกจากนี้เรื่องของการมอนิเตอร์ภาพรวม ตั้งแต่ผลของ DMM รอบแรก จนมาสู่การนำเนื้องานของจังหวัดเข้ามาดำเนินการร่วมในทุกกระบวนการ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือการมอนิเตอร์การทำงานของมหาวิทยาลัยและของจังหวัดที่ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงได้เห็น Output ตัวเดียวกันทั้งระดับเลเยอร์หลาย ๆ ส่วน

เรื่องเทคโนโลยี รศ. ดร.ดวงพรกล่าวว่าเป็นความโชคดีที่ คุณขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เล็งเห็นความสำคัญของการสร้าง Smart City จึงนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และนวัตกรรมต่าง ๆ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้ามาใช้บูรณาการกับจังหวัด จึงเป็นโอกาสที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์สามารถนำแพลตฟอร์มเหล่านี้มาใช้ในมหาวิทยาลัยเพื่อเติมความรู้ให้คนในมหาวิทยาลัยอีกด้วย

 

เครื่องมือ DMM สู่การทำงานภายใน ขยายไปภายนอก

รศ. ดร.ดวงพรกล่าวว่าประโยชน์ (Benefits) เกิดขึ้นจาก DMM แบ่งเป็น 4 ส่วนด้วยกัน “1) เห็น Baseline ที่สามารถเห็นอิมแพกต์ 2) ทีมทำงานมองว่ามีวิธี หรือ How-To ในการจัดการ หรือมีกลไกในการจัดการ 3) เห็น Pain Point ซึ่ง Pain Point เหล่านี้อาจจะไม่ใช่การมองที่ตัวเราเอง อาจจะมองโดยท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ลงในรายละเอียดแต่ละดีเทล ก็มีการทำเวิร์กชอปเพิ่มเติมขึ้นมา และ 4) เห็น Ultimate Goal หรือเห็นภาพรวมที่เป็นเป้าหมายร่วม

“เพราะฉะนั้นในสิ่งที่ได้ดำเนินการ คือการจัดประชุมหลายรอบด้วยกัน และเราเห็นตั้ง 3 คอลัมน์ คือ สิ่งที่ดำเนินการมีอะไร เอาไปใช้ประโยชน์อะไร และใครเป็นผู้ใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นการใช้องคาพยพของทั้งมหาวิทยาลัย ทั้งสายสนับสนุน ทั้งสายวิชาการ และเห็นได้ว่าพอที่จะเห็นการขับเคลื่อนไปสักระยะหนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นส่วนประกอบสำคัญ คือองค์ประกอบของคนภายใน ซึ่งทำให้เกิดแรงผลักดันและการเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ให้เข้าไปสู่องคาพยพของการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด 20 ปี ซึ่งผูกโยงมาถึงปัจจุบัน”

รศ. ดร.ดวงพรอธิบายว่าแผนพัฒนาจังหวัด 20 ปี แบ่งออกเป็นกลุ่มเศรษฐกิจ/อุตสาหกรรม กลุ่มสังคม กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มการศึกษา กลุ่มเกษตร กลุ่มสิ่งแวดล้อม และเรียกว่า ‘ออกดอกออกผล’ ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เมื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์มีโอกาสได้ร่วมพัฒนาแผนดังกล่าว

“มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์มองความเป็น Digital University ว่าเรื่อง Digital ของ Province ด้วย และทางจังหวัดต้องการให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทในเรื่องของการพัฒนาด้านดิจิทัล เพราะฉะนั้นจึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเป็นข้อกลาง ข้อต่อในการขับเคลื่อน ในการเติมความรู้ด้านดิจิทัล ตั้งแต่ปรับ Mindset เป็น Digital First ไปถึงพัฒนาหลักสูตรทางไกลในแต่ละเลเยอร์ เพราะฉะนั้นโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ Wi-Fi หรืออื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันจังหวัดฉะเชิงเทราจับมือกับ AIS ร่วมพัฒนาในส่วนนี้ เป็นต้น”

 

RRU Roadmap

รศ. ดร.ดวงพรกล่าวว่าเป้าหมายของจังหวัดในเรื่องการพัฒนาด้านดิจิทัล มีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์นำการขับเคลื่อน เพราะฉะนั้นการพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัลสำหรับจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอาจเริ่มจากแปดริ้ว ในระยะปี 2566 โรดแมปคือระยะการสร้างการมีส่วนร่วมของบริหาร อาจารย์บุคลากร และนักศึกษา กับสร้างความพร้อม 5 ด้าน (Digital Participation and Ready) ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายและโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ (Hardware and Infrastructure) การเรียนรู้ไอซีทีของบุคลากรและนักศึกษา (ICT Literacy of Peopleware) ความปลอดภัยของระบบเครือข่าย (Network Security) ระบบนิเวศการเรียนรู้ดิจิทัล (Digital Learning Ecosystem) กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง (Laws and Regulation) ซึ่งในตอนนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์การดำเนินการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ ในปี 2568 เป็นการบูรณาการทุกพันธกิจของมหาวิทยาลัย ขับเคลื่อนโดยใช้ระบบดิจิทัลเป็นเครื่องมือ (Mission Integrated Platform) “สิ่งที่จะได้เห็นคือระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) แพลตฟอร์มการบริหารทรัพยากรองค์กร ไปจนถึงระบบอื่น ๆ ซึ่งใช้พลังเป็นอย่างมาก โดยเป็นโรดแมปที่กำหนดไว้ และระยะต่อไปในปี 2569 เป็นต้นไป มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์จะก้าวสู่การเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ”

พร้อมกันนี้ รศ. ดร.ดวงพรได้แชร์ Key Success Factors เอาไว้ว่าสิ่งหนึ่งคือนโยบายและภาวะผู้นำของผู้บริหาร ขณะที่อีกส่วนก็คือการสนับสนุนของฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัยในการให้การรับรองและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง การแก้ไขกฎระเบียบ ที่มีจำนวนมากถึง 157 คน ไปจนถึงเรื่องงบประมาณ “ตั้งแต่งบประมาณสนับสนุน ระบบนิเวศการผลิตภัณฑ์ และทุกคนต้องก้าวเดินไปด้วยกัน การกำหนดเป้าร่วม ระบบบริหารจัดการ การเปลี่ยนแปลงภายใน และโครงสร้าง เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ได้จากการทำเวทีของบุคลากรในมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น” รศ. ดร.ดวงพรทิ้งท้ายการบอกเล่าประสบการณ์งานรีฟอร์มมหาวิทยาลัยและการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบที่พร้อมสนับสนุนและเชื่อมร้อยกับพื้นที่ สะท้อนการขับเคลื่อนซึ่งต้องไปด้วยกันกับทุกองคาพยพ