38 ราชภัฏร่วมพัฒนาเพื่อความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 การประชุมออนไลน์ครั้งพิเศษ รวมผู้นำและผู้พร้อมขับเคลื่อน 38 มรภ. มุ่งสู่องค์กรยุคใหม่

กับ 3 บุคคลสำคัญ รศ. ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล และ ผศ. ดร.ลินดา เกณฑ์มา ทปอ.มรภ.

สถาบันคลังสมองของชาติ นำโดย รศ. ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักในการผลักดันให้ โครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล (Driving Thai University toward Digital University) เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ได้จัดการประชุมที่น่าจับตาขึ้นอีกครั้ง 38 มหาวิทยาลัยราชภัฏกับการเตรียมความพร้อมเพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยยุคใหม่” กับรูปแบบการประชุมออนไลน์ที่มีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย

ในฐานะเจ้าบ้าน รศ. ดร.พีรเดชรู้สึกยินดีที่ผู้เข้าร่วมประชุมจากมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างมุ่งเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยยุคใหม่ ซึ่งสิ่งที่เปลี่ยนไปมากคือนโยบายของรัฐบาลและการเปลี่ยนไปของโลกที่มีการเข้ามาของดิจิทัลในทุกมิติ หากหลายมหาวิทยาลัยยังไม่ค่อยตื่นตัว คิดว่าการดำเนินงานในรูปแบบเดิมน่าจะไปได้ ในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ หลายแห่งในประเทศไทย เริ่มตื่นตัวและปรับตัว เพื่อมุ่งเข้าสู่การพร้อมที่จะเป็นมหาวิทยาลัยยุคใหม่มากขึ้น

“ตามนโยบายของ อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) สิ่งหนึ่งที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาคือการผลิตบัณฑิตยุคใหม่เพื่อให้สามารถอยู่ได้อย่างดีในศตวรรษที่ 21 ซึ่งศตวรรษที่ 21 หมายถึง สังคมดิจิทัลเกือบจะเต็มรูปแบบ สิ่งหนึ่งที่จำเป็นคือสภาพแวดล้อม (Ecology) ทั้งหลายที่นักศึกษาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในมหาวิทยาลัย ถ้ายังเป็นแอนะล็อก เด็กจะไม่มีการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยต้องเอื้อหรือเตรียมความพร้อม เพื่อที่จะให้นักศึกษามีความคุ้นชินกับความเป็นดิจิทัล แม้กระทั่งอาจารย์เองก็จำเป็นต้องรับรู้และปรับตัวให้ทัน เพราะดิจิทัลนั้นก็ไม่ใช่ของใหม่ เป็นเครื่องมือจะช่วยให้การทำงานต่าง ๆ ของอาจารย์สะดวกขึ้น มีประสิทธิภาพมาก สบายขึ้น และข้อสำคัญ คือเรื่องความถูกต้อง แม่นยำ” รศ. ดร.พีรเดชกล่าว

ในโอกาสนี้เองสถาบันคลังสมองของชาติ ซึ่งมี ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและคณะทำงานที่เข้มแข็ง จึงพยายามร่วมกันผลักดันให้มหาวิทยาลัยทั้งหมดในประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สามารถรองรับการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและให้อยู่รอดได้ในศตวรรษที่ 21

กว่า 3 ปีที่ผ่านมาได้มีการออกแบบเครื่องมือ Digital Maturity Model (DMM) เพื่อตรวจสอบสถานะการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศว่าอยู่ตรงไหน ระดับใด “3 ปีที่แล้วเป็นเพียงตัวทดลองเครื่องมือ พยายามจะดูออกมาว่ามหาวิทยาลัยทั่วไปในประเทศไทยอยู่กันในระดับไหน ก็น่ายินดีตรงที่ผลออกมาว่ามหาวิทยาลัยเมืองไทยถ้าแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ตามระดับของการเป็น Digital University มหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่อยู่แถว ๆ ระดับ 2 ที่ว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะแสดงว่ายังมีช่องทางให้เราพัฒนาอีกเยอะ ถ้ามหาวิทยาลัยทุกแห่งได้ 4 หมดแล้ว ก็แสดงว่าไม่ต้องพัฒนาอะไรแล้ว การที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่อยู่แถว ๆ 2 หรือ 1 กว่าก็มี แสดงว่ายังมีช่องทางที่จะพัฒนาต่อไปได้ มหาวิทยาลัยบางแห่งที่มีความเข้มแข็งทางด้านดิจิทัลอยู่แล้ว หลังจากที่ทำการเช็กสถานะ พบว่าเขาอยู่ในระดับ 3 กว่า ๆ ก็ยังมีช่องทางให้เติมเต็มได้อีกเช่นกัน

DMM กับการเตรียมพร้อมสู่ก้าวต่อไป

มหาวิทยาลัยดิจิทัล เชื่อมโยง และแบ่งปัน

อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล เริ่มต้นด้วยการนำทุกคนไปทบทวนและจูนคลื่นความเข้าใจให้ตรงกัน กับคำว่า มหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital University) ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งการขับเคลื่อนคน งาน ข้อมูล อย่างเป็นระบบ มีการนำใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้งด้านการเรียนการสอนและการบริการต่าง ๆ รวมถึงกระบวนการทำงานที่สามารถเชื่อมโยงกันทั้งภายในและภายนอก ทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ มีความโปร่งใส และเป็นธรรม สามารถตรวจสอบการทำงานได้อย่างถูกต้อง มีความสามารถในการแบ่งปันคุณค่าร่วมกันทุกภาคส่วน และสามารถต่อยอดบริการหรือนวัตกรรม เพื่อมุ่งสู่การสร้างนิเวศแห่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่องร่วมกัน

“เวลาที่พูดถึงดิจิทัลมักจะคิดกันว่าต้องเป็น QR Code ทั้งหมด แล้วองค์กรเป็นดิจิทัลทันที แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ แม้กระทั่งการมีระบบการเรียนการสอน การสอบ การประเมินที่เป็นเทคโนโลยีดิจิทัลก็ยังไม่ใช่ คำว่าดิจิทัลคือเรื่องของการคอนเนกต์และแบ่งปัน ซึ่งมี 3 ระดับ คือ 1) แบ่งปันเป้าหมาย 2) แบ่งปันกระบวนการทำงาน 3) แบ่งปันเทคโนโลยี แอปพลิเคชัน และ Data ทุกวันนี้เป็นการใช้ดิจิทัลที่ยังไปไม่ถึงเรื่องการแบ่งปัน นี่คือทั่วไป เอกชน และภาครัฐ บางอย่างเป็นการแชร์แค่ Data แต่ไปถึงเรื่องกระบวนการทำงาน และเป้าหมาย ซึ่งเป็นศักยภาพที่แท้จริง

“คำว่า มหาวิทยาลัยดิจิทัล คือมหาวิทยาลัยที่มุ่งในเรื่องกระบวนการทำงานที่เชื่อมกันได้ทั้งภายใน ภายนอก อย่างไร้รอยต่อ และมีความปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้ ส่วนสุดท้าย ‘เชื่อมไปเพื่ออะไร’ คำตอบก็คือ ‘เพื่อพัฒนานิเวศแห่งการอยู่ร่วมกัน’ นั่นเพราะเราเป็นสัตว์สังคม ถ้าเราชนะคนเดียว สุดท้ายโลกก็ร้อน เพราะทำทุกวิถีทางให้เราเป็นที่ 1 ดังนั้น Mindset ในช่วงหลังที่ถูกถอดรหัสออกมาเป็น SDGs (Sustainable Development Goals) ศาสตร์พ่อหลวง ร.9 มาถึง ESG (Environmental, Social, and Governance), BCG (Bio Economy, Circular Economy and Green Economy) ซึ่งจะน้อมนำเรื่องของการอยู่ร่วมกันมากกว่าต่างคนต่างอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องของการแข่งขันหรือโลกอดีตที่ทำสงครามกัน

“หากปรับทัศนคติ สู้อย่างไร สนามรบไม่มีวัน เปลี่ยนทิศ เปลี่ยนองศาไปร่วมกัน เป็นที่มาของการสำรวจความพร้อมการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการแบ่งปัน หรือมหาวิทยาลัยดิจิทัล

แบ่งปันแล้วจะรวยไหม แบ่งปันแล้วจะยืนหนึ่งกับอะไร แบ่งปันแล้วจะต้องสูญเสียหรือไม่???

“คำตอบคือยิ่งทำในวงนี้ จะยืนหนึ่งในจุดที่เป็นตัวเอง แล้วเก่งที่สุด ‘เป็นมหาวิทยาลัยแบบสุดซอย’ เพราะโลกคอนเนกต์กัน แปลว่าทำอะไรแล้วปังจะดังไป 8 พันล้าน ขณะเดียวกันเพราะโลกคอนเนกต์กัน ทำอะไรแล้วพังจะถูกบูลลีไป 8 พันล้านเช่นกัน”

อาจารย์ดนัยรัฐอธิบายต่อว่าเมื่อมีความพร้อมในการแบ่งปันทั้ง 3 ระดับ เพื่อนจะมากขึ้นตามระดับที่มีการแบ่งปัน “แบ่งปัน Data เพื่อนจะมาแบบยี้ ๆ แหย ๆ แบ่งปัน Process คือการสแกนคิวอาร์โค้ดของเราทะลุของเพื่อน เป็น Work Process ร่วมกัน แบ่งปันเป้าหมายคือเพื่อนกับเราวิ่งหน้ากระดานไปด้วยกัน ตรงนี้เป็นระดับ Mindset”

การประเมิน VS การสำรวจ

ดังที่ รศ. ดร.พีรเดชกล่าวถึงการนำใช้เครื่องมือ DMM เพื่อสำรวจสถานะของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เอาไว้ก่อนหน้านี้ อาจารย์ดนัยรัฐจึงเล่าว่าหลายคนสงสัยว่า การประเมิน กับการสำรวจนั้น ต่างกันอย่างไร พร้อมอธิบายว่า การประเมินจะมีผลออกมาว่าสอบตกหรือผ่าน “ไม่ตก ก็ผ่าน ต้องตั้งคณะภายนอกที่เป็นคนไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีเกณฑ์ระดับ ISO เพื่อมาบอกว่าเราตกหรือผ่าน อธิบายคือถ้าเป็นเรื่อง Need ต้องใช้การประเมิน เช่น เมื่อขับรถฝ่าไฟแดง ตกหรือผ่าน ไปโดนค่าปรับ แต่เรื่องของการพัฒนาตนเองไม่มีตกหรือผ่าน เป็นลักษณะของการสำรวจว่ามีความพร้อมแค่ไหน เช่นที่อาจารย์พีรเดชกล่าวถึงลำดับ 1, 2, 3, 4 เป็นเรื่องของการสำรวจ ซึ่ง 1, 2, 3, 4 ดีทั้งนั้น เพียงแค่ว่าจะต้องสิ่งที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง”

มาสู่คำถามว่าทำไมจึงต้องสำรวจความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ประเด็นที่ 1 คือ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงมีความผันผวนมากขึ้น มหาวิทยาลัยมีความจำเป็นต้นทบทวนความพร้อมของการพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบ ซึ่งอาจารย์ดนัยรัฐอธิบายว่าวงจรชีวิตหลักสูตรสั้นลง การอยู่คนเดียวจะไปต่อไม่ไหว

ประเด็นที่ 2 คือ เพื่อทำให้ผู้บริหารทุกระดับและระดับปฏิบัติการเห็นภาพตรงกันต่อการดำเนินงานในมหาวิทยาลัย (ลดการคิดเองเออเอง) “ปกติโลกของการไม่เชื่อมโยงผู้บริหาร คือการทำงานกับคนที่สนิทที่สุด และบางทีการปิดหูปิดตาโดยไม่ได้ตั้งใจ ในโลกออนไลน์ซึ่งต้องใช้ข้อมูลที่มาจากระบบจริง ๆ ไม่ใช่ข้อมูลเฟก ดังนั้นจะเป็นการลดการคิดเองเออเอง”

ประเด็นที่ 3 คือ เพื่อทำให้มีการกำหนดประเด็นในการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร (ลดการซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงาน) “เพราะเรามีงานที่กระบวนการทำงานซ้ำซ้อนเยอะมาก ถ้าไม่สำรวจ การที่เราซ้ำซ้อนกัน จะไปร่วมมือกับองค์กรอื่นได้อย่างไร เรียกว่างานของเรานั้นใครเป็นเจ้าภาพเรียกยังไม่ถูกคนเลย”

ประเด็นที่ 4 คือ เพื่อทำให้มีการนำใช้ แบ่งปันข้อมูลและเทคโนโลยีร่วมกัน (ลดการต่างคนต่างทำ) “แล้วสุดท้ายเทคโนโลยีก็เหมือนกัน มีการต่างคนต่างทำเยอะในแต่ละส่วน ตรงนี้แหละทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมันสูงและไม่เพียงพอ”

 

3 ปีที่ผ่านมา สู่เครื่องมือ DMM เวอร์ชันใหม่…

ชุดคำถาม 3 ประเด็น

ดังที่ รศ. ดร.พีรเดชเกริ่นไว้ข้างต้นแล้วว่าเครื่องมือ DMM ได้รับการปรับประยุกต์และพัฒนาไปในอีกขั้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้สอดรับกับโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสม จึงเป็นที่มาของชุดคำถามที่ต้องเปลี่ยนไปใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) อดีต ชุดคำถามจะมุ่งสร้างความสามารถในการแข่งขันสูงสุดขององค์กร ปัจจุบัน ชุดคำถามจะมุ่งความสามารถในการต่อยอดและมุ่งสร้างนิเวศแห่งการพัฒนาร่วมกันทุกภาคส่วน 2) อดีต เป็นมุมมองจากภายในองค์กรที่มองตนเองและบรรลุเป้าหมายที่ตนเองต้องการ ปัจจุบัน เป็นมุมมองจากความต้องการของสังคม มีการเชื่อมโยงกับทิศทางโลก และบริบทของประเทศมาสู่การกำหนดเป้าหมายของตัวเอง และ 3) อดีต ชุดคำถามมุ่งนวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นหลัก ปัจจุบัน ชุดคำถามมุ่งการขับเคลื่อนคนและองค์กรอย่างเป็นระบบโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้สอดคล้อง

เพราะในอดีตที่พูดถึงการประเมินกันมากนั้น อาจารย์ดนัยรัฐอธิบายว่าเป็นการมุ่งในเรื่องการแข่งขันเพื่อเป็นที่ 1 ทั้งที่จริงแล้วเราอาจเป็นที่ 1 อยู่แล้วเพียงหาตัวเองเจอ ด้วยเพราะมนุษย์ 8 พันล้านคนนั้นล้วนมีความแตกต่าง นอกจากนี้มุมมองจากอดีต SWOT ที่ตั้งต้นด้วย Strengths หรือจุดแข็ง หากเพราะโลกปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องมาตั้งต้นใหม่กันที่ O หรือ Opportunities เช่น คนหนึ่งว่ายน้ำเก่ง หากต้องมาปีนเขา ทักษะการว่ายน้ำเก่งย่อมไม่เป็นจุดแข็งในการแข่งขันปีนเขาอีกต่อไป เพราะฉะนั้นมุมมองต้องเป็นมุมมองร่วมกัน ไม่ใช่มุมมองของใครเพียงหนึ่งเดียว ไม่เพียงเท่านั้น อดีตมุ่งชูเรื่อง Big Data และ AI จะต้องยกให้เป็นดิจิทัลในทันที แต่ปัจจุบันมุ่งเน้นการต่อยอดกระบวนการทำงาน และเคล็ดลับของการต่อยอดกระบวนการทำงานคือกระบวนการทำงานเหล่านั้นจะต้องมีมาตรฐาน หรือมี Work Procedure Documents เรียกว่าถ้าไม่มี เก็บทุกอย่างไว้ในใจ ก็ย่อมต่อยอดไม่ได้

“กระบวนการทำงานมีมาตรฐานและตรงกับปัจจุบันไหม Data มีมาตรฐาน แล้วเป็น JSON คุยกันได้ไหม เชื่อไหมผู้บริหารบางท่านยังไม่รู้เลยว่า JSON คืออะไร เทคโนโลยีเป็นมาตรฐานเปิดไหม ที่จะคอนเนกต์กับคนอื่นนี่ใช้ Text Stack อะไร ที่บอกว่ามุ่งดิจิทัล แต่แค่แชร์ Data นั้นไม่พอ ต้องแชร์ Process และเป็น Open Technology ด้วย

“ข้อที่ 2 มุมมองต้องเป็นความต้องการของสังคมมากกว่าเป็นความต้องการของความเก่งคนเดียว ซึ่งอาจารย์ดนัยรัฐกล่าวว่าราชภัฏนั้นได้เปรียบมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่สุด เพราะเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่นสังคม และข้อที่ 3 ชุดคำถามจะถามไปที่คนกับงานว่าสอดคล้องกันไหม มากกว่าว่าเรามีความทันสมัย”

ข้อคำถาม 3 มิติ

DMM มาพร้อมข้อคำถาม 3 มิติ ที่ปรากฏในลักษณะของตารางเพื่อทำให้เกิดการเช็กสอบตัวเองได้ง่าย ๆ ได้แก่ มิติที่ 1 ด้านทิศทางและการส่งเสริม มิติที่ 2 งานหลัก เช่น งานสอน งานเรียนออนไลน์ ฯลฯ มิติที่ 3 คือการตรวจสอบความโปร่งใส และเรื่องการกำกับควบคุม

“ทั้งหมดต้อง Integrate และ Align กัน คะแนนที่ได้ขึ้นมานั้นจะถามแต่ละมิติว่า 1) มี Silo ไหม ถ้ามี 1 คะแนน ในคอลัมน์ถัดไป 2) มีแล้วมี Standard Manual ไหม Manual ตรงไหน ไม่ต้องเป็น Manual เล่มใหญ่ก็ได้ แต่มีการบันทึกไว้ไหม หรือมันบันทึกในใจ ต่างคนต่างมีขั้นตอนที่ไม่ตรงกัน อันนี้ไม่ได้ มีมาตรฐาน Data ไหม Data Format อยู่ตรงไหน มี Standard Technology ไหม เวลาจะเชื่อม 2 ระบบ อันหนึ่ง Encrypt อีกอันไม่ Encrypt คุยกันไปคุยกันมา คือข้อมูลรั่วอยู่ดี ดังนั้นคำว่า Standard เอามา 3 เลเยอร์ คือ Data, Process, Technology กี่ Standard หนึ่งมหาวิทยาลัยถ้ามี Standard Technology เป็นร้อยอย่างนี้ก็เรียกว่าไม่มี Standard ถ้ามี ก็ไม่ควรเกิน 5 เซตของการดำเนินงาน Data ก็ต้องมาลง Detail กันว่า Data นั้นเก็บโครงสร้างอะไร คะแนนก็จะเป็น 2 คะแนน แต่ถ้ามี 3 คะแนน แปลว่า Process เชื่อมโยงกัน Data เชื่อมโยงกันภายใน-ภายนอก เทคโนโลยีแลกเปลี่ยนกันไม่ทำให้ตัวใดตัวหนึ่งโหลด”

ผลสำรวจ 4 ระดับ

อาจารย์ดนัยรัฐอธิบายเรื่องผลสำรวจที่ได้จากเครื่องมือ DMM ใน 4 ระดับที่แตกต่าง ได้แก่ ระดับที่ 1 (Silo) การพัฒนาต่างคนต่างทำ เพิ่งเริ่มหรือยังทดลองทำ โดยขาดมาตรฐานในการดำเนินงาน ได้แก่ มาตรฐานด้านกระบวนการทำงาน มาตรฐานด้านข้อมูล และมาตรฐานการนำใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ ระดับที่ 2 (Standardized) การพัฒนาที่มีมาตรฐานในการดำเนินงาน ได้แก่ มาตรฐานด้านกระบวนการทำงาน มาตรฐานด้านข้อมูล และมาตรฐานการนำใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ ระดับที่ 3 (Optimized) การพัฒนาที่มีมาตรฐานในการดำเนินงาน ขจัดขั้นตอนการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนหรือไม่จำเป็นออกไป รวมถึงมีการเชื่อมโยงระหว่างระบบงานทั้งภายในและภายนอกอย่างไร้รอยต่อ และระดับที่ 4 (Modular) การพัฒนาที่มีมาตรฐานในการดำเนินการ ขจัดขั้นตอนการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนหรือไม่จำเป็นออกไป รวมถึงมีการเชื่อมโยงระหว่างระบบงานทั้งภายในและภายนอกอย่างไร้รอยต่อ และสามารถต่อยอดการสร้างบริการใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

“การ Optimized อะไร ต้อง Standard มาก่อน ถ้ายังพูดไม่เป็นมาตรฐานแล้วจะไปเชื่อมกับคนอื่น คิดว่าจะพูดรู้เรื่องไหม สุดท้ายคำว่า Modular เอาที่จะIntegrate กันจนช่ำชองแล้ว เปิดออกมาเพื่อทำให้เกิดการร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ เพราะเวลาที่มหาวิทยาลัย Integrate กัน โดยมากเป็นการ Integrate การส่งรายงานประเมินในอดีตที่ผ่านมาตกหรือผ่านหรืออะไร Integrate ในเรื่องของหลักสูตรด้วยกัน แต่ในอนาคตมหาวิทยาลัยจะเป็นแพลตฟอร์มเปิดให้กับชาวโลก ใครก็ตาม อยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่แค่เรียน สามารถต่อยอด Hackathon สามารถต่อยอดห่วงโซ่ธุรกิจ เขาเชื่อมกับเราด้วย JSON อยู่บน Open Technology มี Standard Process ที่อันนี้เร็ว อันนั้นก็เร็ว ถ้าของเราไม่เร็ว แล้วของเขาเร็ว จะกระชากกัน ต้องคุยด้วยกัน”

Modular ก็คือเปิด แต่ไม่ได้เปิดโดยที่ยังเป็น Silo ไม่มีมาตรฐาน ไม่ต้องเชื่อมกัน

 

เส้นเรื่องแห่งการพัฒนาสู่อนาคตของ มรภ กับ ผศ. ดร.ลินดา เกณฑ์มา

ด้วยเพราะเป็นการประชุมในหัวข้อ 38 มหาวิทยาลัยราชภัฏกับการเตรียมความพร้อมเพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยยุคใหม่” จึงนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้บริหารและบุคลากรจจาก 38 ราชภัฏจากทั่วประเทศ ไปจนถึงผู้ร่วมประชุมทุกท่านเป็นอย่างยิ่งที่ ผศ. ดร.ลินดา เกณฑ์มา ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ให้เกียรติร่วมแสดงวิสัยทัศน์ พร้อมนำเสนอทิศทางการดำเนินงานที่กำหนดไว้อย่างมีทิศทางและชัดเจน

ทั้งนี้ลำดับแรก ผศ. ดร.ลินดาสนับสนุนให้ทุกมหาวิทยาลัยร่วมสำรวจและวิเคราะห์สถานะความพร้อมของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ไปจนถึงทักษะ โดยมุ่งที่ทักษะของอาจารย์ บุคลากร และผู้ที่จะเข้ามาใช้งานด้านดิจิทัลของมหาวิทยาลัย เพื่อที่ว่าเมื่อสำรวจแล้ว จะนำไปสู่ทิศทางการทำงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ได้นำเข้าไปพูดคุยกันในส่วนของที่ประชุมอธิการบดีและมีการทำแผนขึ้นมา เกิดเป็นการทำงานร่วมกันทั้ง 38 ราชภัฏ

“หลังจากสำรวจความพร้อมทางด้านดิจิทัลแล้ว ปรากฏว่าการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏจะมียุทธศาสตร์ที่ 4 ซึ่งได้กำหนดไว้ว่าจะต้องดำเนินการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ Digital University เชื่อมโยงไปถึงเรื่องอื่น ๆ ทุกภาคส่วน (ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาระบบการบริหารการศึกษา – การบริหารระบบงบประมาณ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ รวมถึงการขับเคลื่อนสู่การเป็น Digital University เชื่อมโยงไปถึงเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบ National Credit Bank) นี่คือสิ่งที่กำหนดชัดลงไปในแผนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง

“อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่ 1, 2, 3 ก็มีส่วนเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาท้องถิ่น ด้านการผลิตและพัฒนาครู หรือด้านการยกระดับคุณภาพการศึกษา ทุกด้านของแผนจะต้องมีการนำเรื่องดิจิทัลเข้าไปเป็นตัวหลักสำคัญในการทำงาน เช่น ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาท้องถิ่น ก็ต้องมีการทำแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการดำเนินงาน การทำ Big Data การทำแพลตฟอร์มเชื่อมโยงงานสำคัญ ๆ ที่ได้ดำเนินการ เช่น University As A Marketplace เป็นต้น

“ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยิ่งสำคัญ เรื่องของการผลิตและพัฒนาครู ขณะนี้เราการทำแพลตฟอร์ม PLC (Professional Learning Community หรือการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้วิชาชีพ) ซึ่งเป็นการนำทักษะด้านดิจิทัลเข้ามาใช้ในการดำเนินงาน เป็นต้น ในส่วนของยุทธศาสตร์ที่ 3 เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ หรือเป็น Quick Win ก็ว่าได้ ที่เราเน้นคือการนำระบบดิจิทัลมาใช้ปฏิรูปการจัดการเรียนการสอน เพื่อยกระดับคุณภาพของการเรียนการสอนในทุกเรื่อง เช่น เรื่องการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต นั่นแปลว่า เราต้องทำหลักสูตรที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา อันนี้ก็ต้องไปที่เรื่องของการทำหลักสูตร MOOC หรือการทำหลักสูตรที่จะแขวนลงไปในระบบออนไลน์ เป็นต้น เหล่านี้คือตัวอย่างแผนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏ”

(ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาท้องถิ่น – ต่อยอดวิศวกรสังคมไปสู่การพัฒนาชุมชน การจัดทำ Community Innovation Zone ส่งเสริมนวัตกรรมในระดับพื้นที่ ร่วมมือกับภาคเอกชน ชุมชน พัฒนาคุณภาพโรงเรียนแบบไตรภาคี รวมทั้งมีการเสนอ Community Based Green Economy เป็นแพลตฟอร์มของมหาวิทยาลัยราชภัฏร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตและพัฒนาครู – การดำเนินการ Teacher System Reform การพัฒนาสมรรถนะและคุณภาพครูและการวิจัยด้านการศึกษา

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับคุณภาพการศึกษา – การยกระดับ Soft Skills นักศึกษา และบัณฑิต การพัฒนาหลักสูตรที่คํานึงถึงอาชีพในอนาคต การจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการแบบ Co-Creation)

 

การพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏสู่การเป็น Digital University

ผศ. ดร.ลินดากล่าวว่าเรื่องของยุทธศาสตร์ที่ 4 ที่เป็นการตกลงร่วมกัน และเป็นยุทธศาสตร์ว่าจะพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็น Digital University มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งจึงต้องดำเนินการ และมีการกำหนดตัวชี้วัดเอาไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือ 1) พัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล จัดเสริม เพิ่ม และพัฒนา Hardware, Software, Peopleware 2) ส่งเสริมพัฒนาให้อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา มีทักษะดิจิทัล สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนภารกิจหลักทุกด้านของมหาวิทยาลัยอย่างเต็มประสิทธิภาพ 3) พัฒนาทรัพยากรการเรียนรู้แบบดิจิทัล (Digital Content) พัฒนานวัตกรรมการบริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล “เช่น ขณะนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้เปลี่ยนเป็น e-Office เต็มรูปแบบเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการเกษียณหนังสือราชการ หรืออื่น ๆ ต้องใช้วิธีทาง e-Document” และ 4) พัฒนาสังคมดิจิทัล (Digital Society) สร้างสังคมดิจิทัลที่มีคุณภาพ พัฒนาราชภัฏเดต้าเซต (RajabhatData Set) สำหรับการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศในทุกมิติ

 

RU & BSRU Digital Platform

ผศ. ดร.ลินดาอธิบายภาพรวมของมหาวิทยาลัยราชภัฏในมิติของ Rajabhat Digital Platform ไว้อย่างน่าสนใจตั้งแต่ 1) ศูนย์ข้อมูลมหาวิทยาลัยราชภัฏ (Rajabhat Dataset) ซึ่งเป็นความร่วมมือในการดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น “เราได้ร่วมมือกับ สป.อว. (สำนักงานปลัดกระทรวง อว.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการทำเรื่องการพัฒนาท้องถิ่น ด้วยการนำฐานข้อมูลลงไปเป็นแพลตฟอร์ม Dataset เอาไว้” 2) โครงการต้นแบบระบบการอบรมกลุ่มหลักสูตรทักษะดิจิทัลพื้นฐานที่จำเป็น และทักษะขั้นสูงเฉพาะทาง เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรดิจิทัลทางการศึกษา ชุดการเรียนรู้ และชุดทดสอบทักษะดิจิทัล ICDL กล่าวคือ เป็นชุดการเรียนรู้ และชุดทดสอบทักษะดิจิทัล ICDL สำหรับนักศึกษาและคณาจารย์ และ 3) โครงการ Smart Skill (Google Career Certificate) ซึ่งเป็นการให้ทุนการเรียนรู้บนแพลตฟอร์ม Coursera

นอกจากนี้ 38 มหาวิทยาลัยราชภัฏยังมีความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ ความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA และกระทรวง อว. ฯลฯ กับโครงการ Digital Transcript (38 มหาวิทยาลัยกับ 16 หน่วยงาน)

“หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่ทำ BSRU App, U-App หรือ Mobile Platform โดยใช้ระบบ One Stop Service ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เพื่อให้นักศึกษาใช้บริการผ่าน Digital University กล่าวได้ว่าทุกอย่างบริการผ่านระบบดิจิทัล แม้แต่การรับพระราชทานปริญญาบัตร เพื่อความสะดวก นักศึกษาสามารถรายงานตัวผ่านระบบดิจิทัล ไม่ต้องมารายงานตัวที่มหาวิทยาลัย เป็นต้น

“นอกจากนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยายังมีการใช้ Metaverse ‘IFLAND’ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสาธารณรัฐเกาหลีใต้ เรียนรู้ผ่าน Education Platform In Metaverse ตรงนี้เชื่อว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏอื่น ๆ อีกหลายมหาวิทยาลัยกำลังเร่งดำเนินการ เพราะเป็นแผนที่คิดร่วมกัน”

ตัวอย่างอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาที่ ผศ. ดร.ลินดานำมาบอกเล่านั้นมีความหลากหลาย อาทิ การจัดการเรียนการสอนโดยทำแพลตฟอร์ม ทำระบบออนไลน์ต่าง ๆ ให้นักศึกษาสามารถเข้ามาเรียนได้โดยใช้ระบบดิจิทัลเป็นหลักสำคัญ หากในขณะเดียวกันยังมีการผสมผสานรูปแบบออนไลน์และออนไซต์อย่างเหมาะสม ไปจนถึงการทำระบบสอบวัดเพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลออนไลน์ของนักศึกษา เป็นต้น

 

The Future We Dream

ทั้งนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วมหาวิทยาลัยราชภัฏมีแนวทางในการพัฒนาในอนาคตอย่างไร ผศ. ดร.ลินดาสรุปภาพที่สะท้อนถึงพลังของ 38 มหาวิทยาลัยราชภัฏ กับการขับเคลื่อนเพื่อให้ไปสู่การเป็น Digital University ได้แก่ ประการที่ 1 การใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลร่วมกัน ประการที่ 2 การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลการสร้างสื่อและนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน อันที่ 3 การพัฒนาระบบบริหารจัดการ Big Data ร่วมกัน ซึ่ง ผศ. ดร.ลินดาย้ำว่าปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วค่อนข้างมาก กระทั่งมีมหาวิทยาลัยต้นแบบทดลองใช้ Big Data แล้วประมาณ 5-6 มหาวิทยาลัย ประการที่ 4 มีระบบการให้บริการชุมชนท้องถิ่น (University As A Marketplace) หรือแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ในการนำผลิตภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งลงไปพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นมาใส่ไว้ในแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้บริการผู้มารับบริการ ประการที่ 5 การสร้างแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนทรัพยากรแหล่งการจัดการเรียนรู้ร่วมกัน และประการสุดท้าย การปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่ Digital Organization และ Green University เต็มรูปแบบ

ผศ. ดร.ลินดาสรุปทิศทางและภาพอนาคตที่วาดฝันร่วมกันไว้ในการเป็นมหาวิทยาลัยยุคดิจิทัล

https://www.facebook.com/digitaluniversity.thai/