เมื่อสถาบันระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยมุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน คือ การเป็น ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ เต็มรูปแบบ การสนับสนุนและส่งเสริม ตลอดจนแรงผลักดันจากผู้นำทางการศึกษา ตั้งแต่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ประชุมอธิการบดีฯ (ทปอ.) และสถาบันคลังสมองของชาติ พร้อมนำและหนุนสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศสู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร หรือผู้เรียนที่มีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้สามารถใช้ชีวิตทุก ๆ มิติในโลกใหม่ใบเดิม ซึ่งดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อน และกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการดำเนินชีวิต ได้อย่างเต็มศักยภาพและเท่าทันในเวลาเดียวกัน
ครั้งนี้ 5 ผู้นำทางการศึกษา ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รองศาสตราจารย์ ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานที่ประชุมอธิบดีแห่งประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสะอาด ประธานคณะกรรมการอธิบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรูญ ถาวรจักร์ ประธานคณะกรรมการอธิบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ร่วมให้ความเห็นต่อการปรับตัวครั้งสำคัญของมหาวิทยาลัยของประเทศ ผ่านมุมคิดและมุมมองที่เกิดจากการดำเนินงาน ซึ่งมี ‘ปลายทาง’ ที่เปรียบดัง ‘จุดเริ่ม’ ของการศึกษาแห่งอนาคต นั่นคือ มุ่งผลักดันสถาบันระดับอุดมศึกษาสู่การเป็น ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ เต็มรูปแบบนั่นเอง
มหาวิทยาลัย คือ ผู้นำในการเปลี่ยนแปลง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล
ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
“แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศระบุชัดเจนว่าสถาบันอุดมศึกษาจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ โดยใช้องค์ความรู้
แม้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีเป้าที่แตกต่าง คือ มีภารกิจและจุดมุ่งเน้นของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่เป้าหมายหลัก คือ การเป็น ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’
มหาวิทยาลัยดิจิทัล มี 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1) ความสามารถในการปรับตัวในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ทั้งแบบก้าวกระโดด และแบบต่อเนื่อง 2) ความเร็วในการเปลี่ยนแปลงในการปรับตัว และ 3) ความครบถ้วนสมบูรณ์ในการปรับตัว
ทำไมต้องเป็นมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเป็นเป็นองค์กรหัวหอกของทุก ๆ สังคม
มหาวิทยาลัยมีองคาพยพและมีองค์ประกอบครบถ้วน
มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งทั่วโลกมีบุคลากรที่มีความสามารถ มีประสบการณ์ มีความรู้ และองค์ความรู้ต่าง ๆ ก็รวบรวมอยู่ในมหาวิทยาลัย
ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยมีหน้าที่สร้างและผลิตคนยุคใหม่ ดังนั้น คนที่ออกไปจากมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง
มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องเป็นผู้นำเพื่อที่จะดำเนินการนี้
การปรับตัวสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลก็เหมือนกับการปรับตัวเรื่องอื่น ๆ ต้องมีฉันทานุมัติ เรื่องนี้ทำคนเดียวไม่ได้ ดิจิทัล คือ การเชื่อมโยง (Connectivity) ตั้งแต่ระบบ คน และอะไรต่าง ๆ ต่อไปเรารับทราบแล้วว่าต้องการให้การเรียนการสอนเป็นแบบตลอดชีวิต การดำเนินการแบบเป็นระบบจะทำให้สามารถขับเคลื่อน ซึ่งไม่ใช่เพียงการขับเคลื่อนเฉพาะตัวมหาวิทยาลัย แต่เป็น ‘การขับเคลื่อนกระบวนการอุดมศึกษา ขับเคลื่อนประเทศ’
Digital Transformation คือ หนึ่งในหัวใจและกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา จึงชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงและเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ”
สร้างคนให้สามารถอยู่รอดในสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ
รองศาสตราจารย์ ดร.พีรเดช ทองอำไพ
ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ
“เรื่องมหาวิทยาลัยดิจิทัลเป็นเรื่องใหญ่ ผมแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ยอดของพีระมิด เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมมาก ใกล้มากที่จะเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบ 2) กลุ่มตรงกลาง คือ กลุ่มมหาวิทยาลัยที่อยากพัฒนาและมีศักยภาพในการพัฒนา และ 3) กลุ่มมหาวิทยาลัยที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย กำลังรีรออยู่ว่ากลุ่มข้างบนจะไปถึงไหนกัน และกลุ่มล่างนี้น่าจะเป็นกลุ่มส่วนใหญ่ของประเทศเสียด้วยซ้ำ
เราอยากขยับกลุ่มล่างขึ้นมาเป็นกลุ่มที่ 2 และขยับกลุ่มที่ 2 ให้ขึ้นมาเป็นกลุ่มที่ 1
ถ้าทำได้อย่างนี้ มหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะสามารถเดินหน้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบได้ทั้งประเทศ
การที่แต่ละมหาวิทยาลัยอยากพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบเป็นเรื่องที่ดีที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน แต่ตัวขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบจริง ๆ มี 3 ส่วนใหญ่ด้วยกัน ตัวแรกคือ ฮาร์ดแวร์ ส่วนที่ 2 คือ ข้อมูล หรือซอฟต์แวร์ทั้งหลาย ส่วนที่ 3 ที่สำคัญที่สุด คือ คน
ทั้ง 3 ส่วน คือ เครื่องมือ ข้อมูล และคน จะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล
เพราะการพัฒนาไปเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลมีองค์ประกอบหลายอย่าง การเรียนการสอนออนไลน์เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น องคาพยพอื่น ๆ สภาพแวดล้อมทั้งหมดต้องไปพร้อมกัน
มหาวิทยาลัยจะต้องสร้างคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยให้สามารถอยู่รอดในสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ
ดังนั้น มหาวิทยาลัยเองต้องมีความเป็นดิจิทัล เพื่อสร้างคนที่จะเป็นอนาคตของชาติ และจะต้องไปอยู่ในสภาพแวดล้อมของการเป็นดิจิทัลทั้งโลก
ถ้ามุ่งมั่น ทุกคนก็จะสามารถพัฒนาตัวเองเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลได้”
มหาวิทยาลัยดิจิทัลจะเป็นกระแสหลักของการเรียนการสอน
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์
ประธานที่ประชุมอธิบดีแห่งประเทศไทย
“ในอนาคตคำว่าห้องเรียนจะไม่ได้หมายความว่าห้องสี่เหลี่ยม การสอนจะมาจากภายในหรือภายนอกมหาวิทยาลัยก็ได้ ผู้เรียนก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าจะต้องอยู่ในมหาวิทยาลัย A หรือมหาวิทยาลัย B เท่านั้น อาจลงเรียนในบางวิชาที่อยากเรียนนอกจากในมหาวิทยาลัย A หรือมหาวิทยาลัย B ซึ่งอาจจะเป็นมหาวิทยาลัยในต่างประเทศก็ได้
อนาคต ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ จะเป็น Mainstream ของการเรียนการสอน
เพราะไม่มีมหาวิทยาลัยไหนหรอกที่จะมีอาจารย์ที่เก่งในทุกเรื่อง หรือมหาวิทยาลัยทั้งหมดมารวมกันก็อาจไม่มีความเชี่ยวชาญในบางเรื่อง
ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลจะมีการแชร์ความเชี่ยวชาญกันได้
เฉพาะมหาวิทยาลัยรวมกันก็ยังไม่ทันการเปลี่ยนแปลง
ต่อไป นอกจากการแชร์ความเชี่ยวชาญระหว่างมหาวิทยาลัยเอกชนด้วยกันเองแล้ว ต้องหาทางที่จะแชร์ความเชี่ยวชาญกับภาคอุตสาหกรรมด้วย
บริบทของมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนไป
อนาคตจึงต้องขั้นอยู่กับแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพกว่าในขณะนี้
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในอนาคต หากแต่ละมหาวิทยาลัยต้องพัฒนาภายในของตนเอง
ส่วนที่ 2 คือ หน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย หรือรัฐบาลเอง นอกจากจัดให้มีกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยแล้ว อีกเรื่อง คือ การลงทุน Digital Infrastructure ร่วมกัน
การลงทุนอย่างนี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก เพราะในที่สุดสิ่งที่ประเทศจะได้ก็คือ กำลังคนที่มีคุณภาพ
จากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเอกชน จุดแรกที่ต้องปรับเปลี่ยน คือ ปรับเปลี่ยนตัวเอง มหาวิทยาลัยจะต้องทรานส์ฟอร์มระบบต่าง ๆ อาทิ ข้อมูลในการบริหารจัดการ หรือ Infrastructure ส่วนกลาง ซึ่งแม้ไม่ได้รับการสนับสนุน ก็ต้องทำ แต่ถ้าได้รับการสนับสนุน ก็ทำให้เกิดได้เร็วขึ้น
อุดมศึกษาในประเทศไทยตอนนี้สามารถ Expand Boundary ไม่ใช่อยู่แค่นักศึกษาวัย 18-24 ปี แต่ยังรวมถึงคนทุกคนที่ต้องการ Upskill/Reskill
เพราะ Digital Technology Skill เป็นที่ต้องการ
อนาคต โอกาสที่เราจะขยายการแข่งขันไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้นมีความเป็นไปได้
เราอาจต้องลดการแข่งขันภายใน เพื่อให้มีศักยภาพที่จะแข่งขันกับภายนอก
การวางแผนทางด้านนี้ต้องคิดในระยะยาวพอสมควร”
วาระการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลมีความสำคัญและเร่งด่วนมาก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสะอาด
ประธานคณะกรรมการอธิบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
“มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยจึงมีนโยบายในการเตรียมบัณฑิตให้มีความเชี่ยวชาญด้านไอที โดยกำหนดยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยว่า นักศึกษาจะต้องมีความรู้ด้าน Digital Technology
ในศตวรรษที่ 21 ทักษะทางด้านไอทีถือว่าสำคัญที่สุด
พร้อมกันคืออาจารย์และบุคลากรก็ต้องปรับเปลี่ยน แต่โชคดีที่เราคุ้นเคย ทำให้การรับรู้และการเรียนรู้เกี่ยวกับ Digital Transformation ของบุคลากรเป็นไปได้เร็วมาก
วาระของการเป็น ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ มีความสำคัญและเร่งด่วนมาก
เพราะฉะนั้น เราสร้างเครือข่ายของ 9 ราชมงคล และแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนการกำหนดกฎเกณฑ์และหลักสูตร ทั้ง Degree และ Non-Degree ขึ้น รวมถึงหลักสูตรด้าน Digital Technology สำหรับบุคลากร ซึ่งรวมทั้งอาจารย์ และบุคลากรสายสนับสนุน ให้มีความรู้และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน
ตอนนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทำยุทธศาสตร์ร่วมกันของ 9 ราชมงคล เป็นยุทธศาสตร์ราชมงคล เพราะเรามีอัตลักษณ์ที่ตรงกัน คือ เป็นมหาวิทยาลัยเน้นด้านเทคโนโลยี และสร้างนวัตกรรม
ฉะนั้น 9 ราชมงคลจึงก้าวเดินไปด้วยกัน
สิ่งสำคัญมาก คือ พลังของ 9 ราชมงคลที่จะร่วมกันขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยดิจิทัล
พลังอีกอย่างหนึ่ง คือ การขับเคลื่อนประเทศให้มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี”
มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรูญ ถาวรจักร์
ประธานคณะกรรมการอธิบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ
“มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์กลางเพื่อเป็นการดำเนินงานร่วมกัน ประกอบไปด้วยยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาท้องถิ่น การผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา การยกระดับคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาระบบบริหารจัดการ
ประเด็นเร่งด่วนและสำคัญมากในการการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏ คือ การมุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่การเป็น ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’
มหาวิทยาลัยราชภัฏมีเป้าหมายเพื่อที่จะให้เกิดความเป็นเลิศในเรื่องการบริหารทุกภารกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ หรือการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปก็คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล พัฒนาเทคโนโลยีและสื่อการเรียนการสอน สร้างบัณฑิตรุ่นใหม่ที่มีทักษะพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต
เชื่อว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งพร้อมที่จะก้าวสู่เป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบภายใน 3-5 ปี
ปัจจุบันนี้ สภาวะ Technology Disruptive กระจายไปทั่วโลกและทุกมิติ ผู้คนหันมาใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการดำรงชีวิตประจำวัน และการรับบริการมากขึ้นเรื่อย ๆ
มหาวิทยาลัยจึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการให้บริการเพื่อให้ทันต่อยุคสมัย
มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว
ภาพอนาคตของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งจะเป็นภาพของ ‘การขับเคลื่อนร่วมกัน’ ภายใต้พันธมิตรทางด้านการศึกษา ทั้งในอดีตและในอนาคต ที่จะลงนามความร่วมมือเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียน ทั้งระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่จำเป็นสำหรับการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล 5G
ภาพความร่วมกันที่จะเห็นในอนาคตที่ชัดเจน คือ การใช้ระบบคลาวด์ร่วมกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน ลดความซ้ำซ้อนด้านงบประมาณ การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในด้านการบริหาร การบริการวิชาการ ตลอดจนการเชื่อมโยงกับองค์กรหรือหน่วยงานอื่น เพื่อให้การใช้ประโยชน์ข้อมูลหรือทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกัน
จุดเด่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่สำคัญที่สุด คือ การรวมพลังกันทั้ง 38 แห่งให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
ถ้าการขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลของมหาวิทยาลัยราชภัฏประสบความสำเร็จได้เร็วเท่าใด ก็จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับประเทศได้เร็วเท่านั้น เนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
การจับมือกัน ทำงานไปด้วยกัน จะเกิดอิมแพกต์
‘การรวมพลัง’ ย่อมเกิดผลกระทบในเชิงสร้างสรรค์และในเชิงการพัฒนามากกว่าทำเพียงลำพัง”
ด้วย ‘เป้าหมายเดียวกัน’ ที่สะท้อนผ่านคำกล่าวของผู้นำทางการศึกษาทั้งห้า ภาพที่ปรากฏระหว่างการดำเนินงานของภาคส่วนด้านการศึกษาต่าง ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนและพลิกโฉมรูปแบบการบริหารจัดการในทุกมิติของสถาบันอุดมศึกษา จึงเป็นความมุ่งมั่น ความพยายาม ความร่วมมือ และการขับเคลื่อนการศึกษาไทยและประเทศสู่สังคมแห่งอนาคตอย่างเคียงข้างกัน