รู้ปัจจุบัน เพื่อพัฒนา ปรับเปลี่ยน แก้ไข ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
มองงานใหญ่ ‘การปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ ผ่านจุดตั้งต้นเล็ก ๆ กับ รศ. ดร.วรัญญา ปุณณวัฒน์
เสวนาออนไลน์ Digital University: Enabling The Smart Society หัวข้อ “จาก DMM สู่การจัดการมหาวิทยาลัยจากหน้าบ้านถึงหลังบ้าน” ครั้งนี้เป็นอีกมุมที่น่าสนใจ กับโอกาสได้มองการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ผ่าน ‘งานวิจัย’ ของสถาบัน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ซึ่งนำใช้เครื่องมือ Vision Builder, Enterprise Blueprint (EA) และ Design and Track Worksheet (DT Worksheet) โดยมี รศ. ดร.วรัญญา ปุณณวัฒน์ อาจารย์จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมบอกเล่ารายละเอียดผ่านประสบการณ์ตรง
งานวิจัยภายใต้การนำใช้เครื่องมือเพื่อสำรวจสถานะมหาวิทยาลัย
สืบเนื่องจาก มสธ. ได้เชิญอาจารย์ดนัยรัฐมาร่วมทำกิจกรรมด้านวิชาการอย่างหลากหลาย ทำให้ทาง มสธ. ได้รู้จัก 3 เครื่องมือที่สำคัญ ได้แก่ คือ Vision Builder, EA และ DT Worksheet ขณะที่ มสธ. เอง ซึ่งมีนโยบายและแผนยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล และมีแผนปรับแต่งแปลงโฉมมหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ นำใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกลแบบดิจิทัล พัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับยุคสมัย และนำเสนอระบบการศึกษาแบบออนไลน์แบบสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้เรียน จึงต้องการนำเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้กับมหาวิทยาลัยเพื่อเตรียมความพร้อมของทั้งนักศึกษา ไปถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานต่าง ๆ ให้เป็นดิจิทัล
ทั้งนี้แผนการปรับเปลี่ยนดิจิทัลของ มสธ. ที่มุ่งขับเคลื่อน มสธ. สู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล มีโปรแกรมทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ 1) เรื่องโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 2) เรื่องการเรียนการสอนทางไกลแบบดิจิทัล 3) เรื่องการบริหารงานแบบดิจิทัล 4) เรื่องการให้บริการนักศึกษาแบบดิจิทัล 5) การสร้างประสบการณ์การเรียนการสอนที่เป็นแบบเสมือนจริง และ 6) การพัฒนาสมรรถนะด้านดิจิทัลให้แก่ผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษา
“จากแผน 2 ส่วน รวมกับเครื่องมือของอาจารย์ดนัยรัฐ จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยสถาบันในการใช้เครื่องมือนั้นในการสำรวจสภาพแวดล้อมของบริบทต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบถึงการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล และพิจารณาในหมวดการทำงานต่าง ๆ ภารกิจหลักและภารกิจรองของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร รวมถึงการมุ่งไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล มสธ. จะต้องเตรียมอะไรเพิ่มเติม
“วิธีการทำวิจัย คือ วิธีการสัมภาษณ์ โดยกลุ่มตัวอย่างที่เชิญมาร่วมทำวิจัยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก และกลุ่มที่ 2 คือบุคลากรภายใน ซึ่งมีทั้งผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ นักศึกษาที่เป็นศิษย์เก่า โดยเงื่อนไขกว้าง ๆ ที่สำคัญสำหรับการการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่จะมาช่วยให้ความคิดเห็น คือ เป็นผู้ที่เคยเป็นผู้พัฒนาองค์กร มีการลงมือปฏิบัติ มีการสร้างผลงานในเชิงประจักษ์ เป็นผู้ที่มีลักษณะเปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงาน เป็นผู้ที่กระตือรือร้นในการที่จะพัฒนาไปข้างหน้า และสามารถที่จะทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจึงถือเป็นตัวตั้งต้นว่า มสธ. จะได้ข้อมูลในการที่จะสำรวจหรือวิเคราะห์ปัจจัยมาในลักษณะใดที่จะเป็น Input เข้ามาสู่แบบจำลอง”
อย่างไรก็ตาม รศ. ดร.วรัญญาเล่าว่ามีข้อจำกัดคือ บุคลากร เพราะการนำใช้เครื่องมือทั้ง 3 เครื่องมือ อยากให้มีผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องหรือเข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมร่วมกันจำนวนมากเท่าที่จะเป็นไปได้ กล่าวคือ เพื่อสะท้อนองค์กร มสธ. ย่อมอยากให้มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก “แต่เนื่องจากการทำวิจัยคราวนี้เป็นลักษณะของการวิจัยสถาบัน เพราะฉะนั้นจึงต้องการได้ผลที่จะนำไปให้มหาวิทยาลัยใช้ในการประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในเรื่องเวลา และงบประมาณ จึงส่งผลให้การเลือกกลุ่มตัวอย่างมีข้อจำกัดได้แค่ตามเกณฑ์ของทุนวิจัยที่ให้ในแต่ละครั้งหรือในครั้งนี้”
เมื่อได้กลุ่มตัวอย่างแล้ว จึงมาสู่การตรวจสอบเกณฑ์ หารือกับที่ปรึกษาและทีมวิจัยถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งในกรณีที่เป็นบุคลากรของ มสธ. จะครอบคลุมทุกแผนกของมหาวิทยาลัย (แต่อาจได้มาเพียง 1-2 คนเท่านั้น) ขณะที่กลุ่มผู้บริหาร อาทิ ผู้บริหารสูงสุด ซึ่งมีตัวแทนจากกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารระดับกลางจากสำนักต่าง ๆ และจากสาขาวิชา สำหรับกลุ่มนักศึกษาที่เป็นศิษย์เก่านั้น ถือว่าเป็นผู้ที่รู้ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ต้นจนสำเร็จการศึกษาของ มสธ. ซึ่งในงานวิจัยได้แบ่งศิษย์เก่าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) มั่งคั่ง 2) มั่นคง และ 3) ยั่งยืน แล้วจึงทอนลงไปว่าจะมาจากสาขาวิชาอะไร ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก มีทั้งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทเอกชน หน่วยงานราชการ และนักวิชาการอิสระ ทั้งนี้ได้มีการนำใช้แอปพลิเคชัน Floward ของอาจารย์ดนัยรัฐเช่นกัน ล้อไปกับเครื่องมือ Vision Builder, Enterprise Blueprint และ DT Worksheet จากนั้นจึงได้ข้อมูล Input ในแบบจำลอง
ระเบียบวิธีวิจัย กับ 3 เครื่องมือที่แตกต่าง
จากระเบียบวิธีวิจัยที่ล้อไปตามเครื่องมือที่ใช้คือ กรอกข้อมูลวิเคราะห์ตามหมวดของ Vision Builder มาสู่ Enterprise Blueprint จึงวิเคราะห์ตามหมวดของ Enterprise Blueprint และท้ายสุดคือ DT Worksheet ที่นำงานที่ได้มาจาก Enterprise Blueprint มากรอกข้อมูลต่อ “ตัววิเคราะห์สภาพแวดล้อมนี้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญภายนอกช่วยดูให้ ทำให้เห็นหลายมุมมอง ส่วนหนึ่งคือขึ้นอยู่กับแบ็กกราวนด์ของกลุ่มตัวอย่างที่เชิญมา ซึ่งเป็นประโยชน์มาก เนื่องจากทุกท่านมองได้กว้างมากกว่าที่ทางมหาวิทยาลัยมองตัวเอง มองภาพกว้างในหลายมิติ และเครื่องมือก็มีประโยชน์มาก เพราะช่วยเช็กความสมดุล เมื่อผู้เชี่ยวชาญกรอกข้อมูลก็จะเห็นข้อมูลว่าตกลงสุดท้ายแล้วสิ่งที่ได้รับการแนะนำมานั้นไปอยู่ในหมวดไหนของ Vision Builder และเราสามารถเช็กได้ว่าถ้าท่านกรอกตรงนี้ แล้วอีกฝั่งหนึ่งที่เป็นลักษณะสมดุลกันนั้นท่านได้แนะนำหรือไม่ จะได้ลักษณะที่สมดุลในทุกหมวดของแบบจำลองให้เราด้วย”
รศ. ดร.วรัญญาอธิบายว่า Vision Builder มีทั้งหมด 6 หมวด ได้แก่ 1) สภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อม 2) ทิศทางโลก ทิศทางประเทศ 3) ความต้องการของตลาดและสภาพเศรษฐกิจ 4) กฎหมายและกฎระเบียบ 5) ทักษะด้านคนที่เราต้องการและเทคโนโลยี และ 6) ตำแหน่ง บทบาท พฤติกรรม และวัฒนธรรมองค์กร
Vision Builder ทำให้นักวิจัยเข้าใจงานมากขึ้นด้วย
“คือ เห็นภาพรวมของมหาวิทยาลัยและบริบทของสังคมกว้างขึ้น ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารที่ร่วมเป็นกลุ่มตัวอย่างก็เห็นแบบเดียวกันคือ เครื่องมือนี้ดี มีประโยชน์ เพราะเมื่อก่อนบางท่านอาจไม่ได้เห็นทุกมุมมองทุกมิติ แต่เมื่อใช้โมเดลนี้จึงเห็นแบบเดียวกับที่เราเห็นคือ ทุกมุม ทุกมิติต้องบาลานซ์กัน และเมื่อได้ภาพรวมข้างนอกแล้ว จึงได้ภาพรวมข้างใน เห็นโอกาสในการพัฒนา การจะวัดผลการดำเนินงาน การเตรียมคนของ มสธ. รวมถึงพันธมิตรที่ มสธ. ต้องสร้างความร่วมมือ
สำหรับคนใน มสธ. EA มีประโยชน์มาก เพราะทุกคนไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนของภาระงานทั้งหมด
“อาทิ ฝ่ายนิติกรจะเน้นแต่เรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ แต่เมื่อเริ่มใส่งานลงไปใน Enterprise Blueprint แล้วให้เขาหยิบงานของเขาไปเขียนเป็น DT Worksheet เขาจะต้องเขียนว่าใครคือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และกระบวนการมีอะไร เขาจึงเริ่มเห็นความเชื่อมโยงว่าเขาไปเกี่ยวข้องกับใคร นอกจากนี้ในการกรอก DT Worksheet เขาต้องบอกด้วยว่าเขาต้องการการสนับสนุนอะไรจากมหาวิทยาลัยบ้าง ตอนแรกเขายังเขียนกันไม่เป็น แต่พอเขาเริ่มได้เขียนเขาก็จะเข้าใจกระบวนการของเขา Output ของเขาคืออะไร Outcome คืออะไร เริ่มเข้าใจงานของเขามากขึ้น บางคนบอกว่าถ้าเขาเห็นงาน เห็น Worksheet เห็นเครื่องมือนี้ก่อนก็ดีเหมือนกัน เขาจะได้นำไปใช้ในการวางงบประมาณของเขาได้ เป็นต้น
งานวิจัยสถาบัน กับการนำใช้ 3 เครื่องมือ คือ Vision Builder, EA และ DT Worksheet ดำเนินการเรื่อยมา บรรดาผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญซึ่งสะดวกในช่วงเวลาที่ต่างกัน มี Floward ในการช่วยกรอกข้อมูล และแสดงข้อมูลไปในหน้ากราฟิก ทำให้ทุกคนเห็นผลการสัมภาษณ์ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว สามารถเสริมหรือเพิ่มเติมข้อมูลได้ ในส่วนของบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ที่ไม่สามารถเก็บข้อมูลเป็นรายคน การดำเนินการภายใต้งานวิจัยนี้จึงออกแบบให้ร่วมด้วยช่วยกันกรอกแบบฟอร์มเดียว และได้ผลลัพธ์ที่ดี กล่าวคือ เกิดความกระตือรือร้น รับรู้แล้วว่ามีเครื่องมือเช่นนี้ มีความรู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับงานที่ทำ และรู้ว่าจะระบุความต้องการการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยในเรื่องอะไรได้บ้าง เมื่อเป็นโมเดลขึ้นมา ทว่าข้อมูลที่เยอะมาก อาจารย์ดนัยรัฐให้คำแนะนำว่าไม่ควรนับความถี่ ด้วยบางคนอาจจะเขียนเหมือนกัน “สุดท้ายแล้วคล้าย ๆ กับ Content Analysis คือ วิเคราะห์เนื้อหาโดยเอาคีย์เวิร์ดที่ทุกคนพูดตรงกัน กรุ๊ปเป็นประเด็นออกมา บางคำที่ไม่ได้เหมือนตรงเป๊ะ ก็จะดูในบริบทว่าไปเข้าหมวดไหน ซึ่งผลจากการทำ Vision Builder และ Enterprise Blueprint ถือว่าผ่านการวิเคราะห์ของกลุ่มตัวอย่างมาแล้ว เราก็มาวิเคราะห์เนื้อหาและสรุปอีกที”
DT Worksheet เป็นประเด็นที่นำมาสรุปค่อนข้างยากที่สุด
เนื่องจากมีจำนวนเยอะ เพราะฉะนั้นวิธีการสรุปที่อาจารย์ดนัยรัฐแนะนำให้กับทาง มสธ. คือ ใช้ประเด็นตาม Roadmap หรือตามหน้า Dashboard ของซอฟต์แวร์แอปพลิเคชัน Floward ที่มีมิติเรื่องแอปพลิเคชันกับแพลตฟอร์ม มิติเรื่องทักษะ มิติเรื่องงบประมาณ และเรื่องการเสนอทางด้านกฎหมายและกฎระเบียบ “Worksheet ที่สรุปออกมาใน 4 มิติช่วยให้สามารถส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องทักษะ จะส่งให้ HR ไปดูแลเรื่องการฝึกอบรมต่อ เรื่องงบประมาณ จะส่งให้ฝ่าย กอง แผนงบประมาณดูแลเรื่องการตัดสินใจ หรือการจัดสรรงบประมาณ หรือเรื่อง PDPA เรื่องกฎระเบียบ จะส่งไปที่ฝ่ายนิติกร ถ้าเรื่องแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม ก็ส่งต่อไปยังสำนักคอมพิวเตอร์”
DT Worksheet ที่ได้มีมิติที่สามารถสรุปได้มากมาย แต่ข้อจำกัดในครานี้คือ การทำวิจัยที่เกิดขึ้นเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ไม่ได้เป็นภาพรวมทั้งหมด จึงมีอีกหลายมิติที่ไม่สามารถสรุปได้
ก้าวแรกเล็ก ๆ สู่การขยายผลเพื่ออนาคต
รศ. ดร.วรัญญากล่าวว่างานวิจัยนี้เป็นจุดเริ่มเล็ก ๆ แต่ทำให้เกิดการรับรู้ถึงเครื่องมือเหล่านี้แก่บุคลากร เพราะบางครั้งยุทธศาสตร์หรือนโยบายของมหาวิทยาลัยในระดับสูงกับบุคลากรที่ทำงานอยู่หน้างานเกิดช่องว่าง กล่าวคือ คนทำงานไม่รู้ว่าจะนำไปปฏิบัติอย่างไร และไม่รู้วิธีที่จะปรับปรุงงาน (Improve) ให้ดีขึ้น ฉะนั้นด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้ อาทิ DT Worksheet ที่ลงไปสู่บุคลากรแต่ละคน และทำให้คล้ายกับเป็นการรับปากของบุคลากรว่างานที่เขาเหล่านั้นรับผิดชอบ จะปรับปรุงอะไรในปีงบประมาณนี้ เป็นต้น
ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญภายนอก รศ. ดร.วรัญญาเล่าว่าได้รับคำแนะนำในสิ่งที่หลายท่านห่วงใย คือ Digital Mindset คือ การทำความเข้าใจให้องค์กรปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล หรือวัฒนธรรมดิจิทัล “เพราะเทคโนโลยีไม่ใช่ตัวไฮไลต์ แต่ต้องมุ่งเน้นเรื่องวัฒนธรรมองค์กรและความร่วมมือของคนมากกว่า สิ่งสำคัญก็คืองบประมาณต้องมีให้พร้อม ไม่เช่นนั้นจะเดินหน้าไม่ได้
“เครื่องมือทั้งสามทำให้เรามุ่งสู่วุฒิภาวะของตัว Digital Maturity Model ที่ดีขึ้นได้ เพราะเดิมเรามีทั้งที่เป็นไซโล จนถึงงานไซไลเยอะ ๆ ซึ่งเราต้องการปรับไปสู่สถานะที่เป็นมาตรฐาน และมีการ Optimization และไปสู่ที่เป็น Modularity และเครื่องมือทั้งสามนี้เองที่จะช่วยยกระดับตัววุฒิภาวะของงานดิจิทัลของมหาวิทยาลัยได้” รศ. ดร.วรัญญากล่าว “อย่างไรก็ตามเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยรักษาสมดุล เช่น โอกาสในการพัฒนาที่ไม่ได้กำหนดตัวชี้วัด จะชี้ประเด็นนี้ให้กับทางผู้บริหารว่าถ้ามหาวิทยาลัยจะกำหนดโอกาสในการขับเคลื่อน แต่ไม่มีการกำหนดตัวชี้วัด ตรงนี้ก็ควรต้องกำหนดขึ้นมา ไม่อย่างนั้นจะเป็นการย้อนแย้ง หรือไปกำหนดตัวชี้วัดกับสิ่งที่ไม่ใช่โอกาสในการขับเคลื่อน เป็นต้น”
เนื่องจากงานวิจัยนี้เป็นก้าวแรก เรื่องข้อเสนอแนะ และอื่น ๆ ยังมีขั้นตอนที่ต้องทำต่อ โดยเฉพาะการนำไปขยาย ทำประชาพิจารณ์ จัดลำดับความสำคัญของงานหรือของโครงการต่าง ๆ “และถ้ามีความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน ซึ่งเกิดขึ้นจริง ๆ ตอนที่ทำ DT Worksheet จะต้องเข้าไปทำประชาพิจารณ์และเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาหารือกัน มีการปรับ ทบทวน ฯลฯ” รศ. ดร.วรัญญากล่าว “งานวิจัยนี้สามารถขยายผลต่อเนื่องได้ เช่น เมื่อได้กระบวนการ แต่ละ DT Worksheet แล้ว อาจคัดเลือกบางกลุ่มตัวอย่างที่มีศักยภาพและทำวิจัยต่อ โดยปรับกระบวนการให้เป็นกระบวนการอัตโนมัติหรือเป็น Digital Process มากขึ้น ตอนนี้ที่ทำวิจัยไป ได้นำเสนอโมเดล Digital University ของ มสธ.ให้กับมหาวิยาลัย ซึ่งต้องรอผลจากกรรมการที่อนุมัติ”
รศ. ดร.วรัญญาปิดท้ายว่าทาง มสธ. เองยังไม่ได้ลงทะเบียนร่วมการสำรวจความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลด้วยการนำใช้เครื่องมือ DMM กับทางสถาบันคลังสมองของชาติ แต่ได้นำเป็นข้อเสนอแนะให้กับมหาวิทยาลัยไว้ว่าหากมีโอกาสอยากให้เข้ามาร่วมกับโครงการ เพื่อประเมินความพร้อมและสำรวจสถานะสำคัญต่อการเดินหน้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลต่อไป