ผู้นำกับการเลือกปลั๊กที่ตรงตามมาตรฐาน
ดร.ทัชนันท์ กังวานตระกูล
“โลกของเรามีมาตรฐานกว่า 2,000 มาตรฐาน หลายองค์กร หลายคน อาจกล่าวว่ามาตรฐานเป็นเรื่องเกะกะ เป็นภาระ เป็นหน้าที่ที่น่าเบื่อ ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง”
ดร.ทัชนันท์ กังวานตระกูล กับประสบการณ์การทำงานในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก การสวมบทบาททั้งประธานบอร์ดและและบอร์ดต่าง ๆ ในมิติที่หลากหลาย การรับผิดชอบงานสอน ณ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD สถาบันที่สร้างขึ้นจาก Regulators (หน่วยงานกำกับดูแล) และการนั่งอยู่ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการ บริษัท ไอเซ็ม จำกัด สำนักงานรับรองมาตรฐานสากลไอเอสโอ (ISO International Certification Agency (ISO-ICA)) และ Accredited Certification Body (CB) สัญชาติไทยรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองระบบจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงาน (International Accreditation. Forum (IAF)) จึงให้เกียรติร่วมแบ่งปันประสบการณ์สำคัญ ประเด็น “ผู้นำกับการรับมือกับมาตรฐานและการชี้วัดระดับสากล” ณ เวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการออนไลน์ครั้งล่าสุด ในหัวข้อ ‘Agile Leadership towards Digital University’ ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันคลังสมองของชาติ หนึ่งในหน่วยงานหลักที่สนับสนุนและผลักดันให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบ
ทุกอย่างมีมาตรฐาน
ในภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะใช้คำว่า Standard, Framework, Guideline หรืออื่น ๆ หากกล่าวถึงมาตรฐาน เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ สิ่งที่ต้องมี สิ่งที่ต้องวัด โดยเลือกให้เหมาะและแมตช์กับองค์กร หรือวงการการศึกษา
ดร.ทัชนันท์ไฮไลต์ให้เห็นมาตรฐานระดับสากลที่โลกให้ความสำคัญในห้วงเวลานี้ ไล่ลำดับตั้งแต่ ISO/IEC29110-4-1 : 2018 for Software Development, ISO/IEC29110-4-3 : 2018 for Service Delivery, ISO9001:2015 for Quality Management System (QMS), ISO27001 : 2018 for Information Security Management System (ISMS), Capability Maturity Model Integration : CMMI, Thailand Tourism Standards, AI Certification Model – AI ACT, AUN-ICT : 2022, Personal Data Protection Act (PDPA) – ISO27701 : 2019, Data Governance ACT : 2019, ISO 14001:2015 – Environmental Management Systems (Carbon Footprint), ISO 22301 : 2019 Security And Resilience – Business Continuity Management Systems (BCM), ISO 14065 : 2020 General Principles And Requirements For Bodies Validating And Verifying Environmental
“ข้อมูลคือสิ่งที่กำลังฮิตในตอนนี้ เราทำสิ่งที่โลกต้องการ เพราะฉะนั้นตอนนี้สิ่งที่โลกต้องการต้องเกี่ยวกับ Software Development, Service, Quality Management ไปจนถึงเรื่อง Security ซึ่งสามารถแบ่งเป็น Data Security, Data Management, Data Governance ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีเรื่อง AI อาจารย์ที่สอนเด็กทั้งที่ให้ไปทำโปรเจกต์ หรือมีบริษัทที่ทำโปรเจกต์เกี่ยวกับ AI Learning หรือ Machine Learning ก็จะต้องจะมีมาตรฐานเช่นกัน”
ด้วยผู้ทรงคุณวุฒิมากมายหลายท่านมารวมตัวกัน ณ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.ทัชนันท์จึงกล่าวถึงมาตรฐานสำคัญด้านการศึกษาที่ชื่อ AUN-QA (Asean University Network Quality Assurance) หรือเครือข่ายประกันคุณภาพมหาวิทยาลัยอาเซียน ซึ่งเป็นความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาระหว่างประเทศสมาชิก สมาคม ประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเชียงใต้ หรืออาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกลไกการประกันคุณภาพ และมาตรฐานอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยสมาชิกให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน กับระบบการประกันคุณภาพของ AUN-QA ใน 3 มิติ ได้แก่ 1) Strategic เป็นการประกันคุณภาพระดับสถาบันการศึกษา 2) Systemic เป็นการประกันคุณภาพระบบการประกันคุณภาพภายใน 3) Tactical เป็นการประกันคุณภาพระดับโปรแกรมหรือระดับหลักสูตร
ไอเซ็มยังร่วมสร้างมาตรฐานการตรวจวัดศูนย์คอมพิวเตอร์ให้กับมหาวิทยาลัยอาเซียน ซึ่ง ดร.ทัชนันท์กล่าวว่าเป็นเรื่องร้อนฉ่า (ไม่แพ้อุณหภูมิที่พุ่งสูงในฤดูกาลนี้เป็นแน่) ที่ในตอนนี้มีมหาวิทยาลัยนำร่องจากประมาณ 10 ประเทศ เป็นมหาวิทยาลัยในประเทศไทย 5 แห่ง พร้อมกันนี้ ดร.ทัชนันท์ได้แชร์คอนเซปต์ของ AUN-ICT ที่ว่า ‘Integrated Models into One Rubik Cube with muti-dimensions’ ซึ่งประกอบไปด้วย 5 โมดูล ได้แก่ Organizational Management, Project Management, Software Development, IT Services Management และ Information Security Management
“มีหลายเรื่องที่ฮิตตอนนี้ คงเคยได้ยินคำว่า Carbon Footprint, Carbon Credit ฯลฯ เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในเรื่องที่ได้รับการกล่าวถึงกันมากที่สุด แต่ก็ยังมีความสับสนเช่นกัน” ดร.ทัชนันท์ยกตัวอย่างพร้อมอธิบายต่อ
ประเทศไทยเองมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้บริการ ดูแล และกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการวัด การรายงาน และการทวนสอบ และให้การรับรองปริมาณการปล่อย การลด และการชดเชยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก “จะเห็นว่าเรื่องก๊าซเรือนกระจกมี 2 ฝั่ง คือ ฝั่งปล่อย กับฝั่งลด ฉะนั้นมาตรฐาน 2 ตัวจึงไม่เหมือนกัน Carbon Credit ที่ขานในประเทศไทยก็ราคาหนึ่ง ขายในต่างประเทศก็อีกราคาหนึ่ง ประเทศไทยขายที่ต่างประเทศได้หรือไม่ หรือต่างประเทศเข้ามาซื้อที่ประเทศไทยได้ไหม ตรงนี้มีกฎหมายข้ามประเทศมากมาย
“เราเรียกการวัดที่วัดได้นั้นว่า Environmental Social Governance หรือ ESG แต่คำถามหลักคือแต่ละองค์กรได้ปฏิบัติตาม ESG แล้วหรือยัง E ตัวแรกต้องสะท้อนให้ได้ว่าฝ่ายปล่อยปล่อยอย่างไร และฝ่ายลดลดอย่างไร สามารถตั้ง Vision, Mission ไปจนถึงทำ Validation และ Verification ได้ ตัว S หรือ Social ว่าด้วยเรื่องมนุษยธรรม ความเท่าเทียม และอื่น ๆ เป็นต้น และ G คือเรื่องถึง Governance กระบวนการที่มีมาตรฐาน แน่นอนว่า มาตรฐานก็คือเรื่องพื้นฐานนั้นเอง”
นอกจากนี้ ตอนนี้ทั่วโลกยังให้ความสำคัญกับเรื่อง SDGs หรือ Sustainable Development Goals ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อันประกอบด้วย 17 เป้าหมาย (Goals) และภายใต้หนึ่งเป้าหมายจะประกอบไปด้วยเป้าหมายย่อย ๆ ที่เรียกว่า เป้าประสงค์ (Targets) ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 169 เป้าประสงค์ และพัฒนาตัวชี้วัด (Indicators) จำนวน 232 ตัวชี้วัด (ทั้งหมด 244 ตัวชี้วัด แต่มีตัวที่ซ้ำ 12 ตัว) เพื่อติดตามความก้าวหน้าของเป้าประสงค์ดังกล่าว
ทั้งนี้ประเทศไทยและประเทศสมาชิกสหประชาชาติ รวม193 ประเทศ ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาของโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs เป็นแนวทางให้แต่ละประเทศดำเนินการร่วมกัน นั่นหมายความว่าประเทศไทยเองและมหาวิทยาลัยไทยทั้งหลายย่อมต้องขับเคลื่อนองค์กรและองคาพยพต่าง ๆ ไปในทิศทางดังกล่าวเช่นกัน
ผู้นำไม่ใช่ตำแหน่ง
ผู้นำมาใน 2 ส่วนสำคัญ คือ สติ และสมอง อยู่ที่ว่าจะทำหน้าที่นั้น ๆ เมื่อไร และอย่างไร
“ในภาวะผู้นำ เมื่อทำหน้าที่เป็นเป็นประธานบอร์ด เป็นกรรมการ เวลานั้นผู้นำต้องเป็นสติ เพราะสิ่งที่บริษัทคิดและนำเสนอ เขาทำหน้าที่เป็นสมอง สติจะเป็นผู้ตั้งคำถามว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ เก็บรวบรวมข้อมูลอะไรมา คิดเรื่องความเสี่ยงไว้อย่างไร ขัดแย้งต่อกฎหมายอะไรหรือไม่ เป็นต้น
ผู้นำจึงไม่ใช่ผู้ที่นั่งตรงหัวโต๊ะ แต่ต้องเป็นเหมือนกับ Influencer (กลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจ) และบอกเป้าหมายได้”
Standard คือ What : บอกว่าจะทำอะไร
Ecosystem Of Standards ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักที่เป็น Internal Stakeholders (อาทิ Employees, Managers, Owners) และ External Stakeholders (อาทิ Suppliers, Society, Government, Creditors, Shareholders, Customers) “การนำมาตรฐาน (Standard หรือ Framework ต่าง ๆ) มาช่วย ที่มาตรฐานบอกว่าให้ทำอะไร แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ในองค์กรหรือมหาวิทยาลัยจะต้องแยก Internal Stakeholders และ External Stakeholders ให้ออก ต้องหาวิธีบริหารการจัดการ นำเครื่องไม้เครื่องมือ (Tools) เข้ามาใช้”
ผู้นำต้องทำอะไร ภายใต้ประเด็น “ผู้นำกับการรับมือกับมาตรฐานและการชี้วัดระดับสากล”
เวลาที่คิดถึงมาตรฐาน ถ้าทำคนเดียวไม่ต้องมีมาตรฐานก็ได้ แต่เมื่อไรที่ต้องเชื่อมโยง ภาษาที่เป็นโปโตคอลเดียวกันถือเป็นสิ่งที่สำคัญ
มาตรฐานกับตัวชี้วัดมาด้วยกัน เป็นปาท่องโก๋
“ในโลกของมาตรฐาน คนเคยถามว่าอะไรออกก่อนระหว่าง Act (กฎหมาย) Regulator หรือ License แล้วมาตรฐานมาตอนไหน จริง ๆ แล้วมาตรฐานก็คือไม้บรรทัด ข้อบังคับคือตัวคุม เรื่องที่ประเทศไทยกำลังทำอยู่ในเวลานี้ไม่มีกฎหมายรองรับ นั่นหมายความว่า ‘ตกทุกตัว’
“แต่อย่างเรื่อง ESG มีคนถามว่าถ้าไม่ทำแล้วจะเป็นอย่างไร คำตอบคือคุณทำคุณได้เอง สังคมกำลังบอกอะไรเราอยู่ แม้ตอนนี้ ESG ไม่ได้ประกาศเป็นกฎหมาย แต่การที่จะไปคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง เราทำดีกว่า คู่ค้าต่าง ๆ ก็จะคุยกับเรา”
Standard Landscape in Thailand
“แลนด์สเคปมาตรฐานของประเทศไทยแบ่งออกเป็น 4 เรื่องเท่านั้น กล่าวคือ มีมาตรฐาน และกฎหมาย เป็นแซนด์วิชที่ไส้กลางเป็นแนวปฏิบัติ และการกำกับดูแล เมื่อประกาศใช้ไปแล้วต้องควบคุมได้ ถ้าครบ 4 องค์ประกอบถือว่าเป็นมาตรฐานเกรดเอที่สามารถเอาไปใช้ได้จริง”
มาตรฐานเหมือนปลั๊ก แต่ละประเทศใช้ปลั๊กไม่เหมือนกัน
ดร.ทัชนันท์ยกตัวอย่างพฤติกรรมของคนในประเทศไทยเวลาที่ซื้อปลั๊กมาจะมีการหักขาออก หรือไม่ก็ใช้อะแดปเตอร์ ตัวแปลงเข้ามาช่วย สะท้อนคำว่า ‘มาตรฐาน’ ได้ง่าย ๆ ว่าเวลาจะเลือกมาตรฐาน ก็เพียงถามตัวเองก่อนว่าจะคุยกับใคร
มาตรฐานอาจสร้างขึ้นเองหรือสมัครใจใช้มาตรฐานร่วมกับผู้อื่นก็ได้ หาก ดร.ทัชนันท์ให้มุมคิดไว้ว่า ลักษณะของการทำ Global Standard มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ ได้แก่ Safety, Efficiency และ Interoperability “เพราะฉะนั้นจะซื้อของที่มีมาแล้ว หรือใช้ของเราเองแล้วหักขาทิ้งหรือแปลงเอา หมายถึงมาตรฐานสามารถเทียบเคียงกันได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับ Society และ Industry ที่เราอยู่จริง ๆ เพราะไม่มีมาตรฐานที่ดีที่สุด มีแต่มาตรฐานที่ Fit ที่สุด ฉะนั้นเลือกใช้ตามปลั๊กได้เลย
“อย่าง ISO แยะแยะไปหมด ถามว่าต้องรู้ทั้งหมดไหม คำตอบคือไม่ต้องรู้ ทั้งเรื่อง Governance, Process, Life Cycle, Tech Standard, การประเมิน ฯลฯ นี่แค่บางส่วน และมีหลาย ๆ เรื่องที่ทับซ้อน หลายตัวเป็น Double Standards เพราะฉะนั้นในฐานะที่ผู้บริหารเป็นสติ ต้องถามว่าสิ่งทับซ้อนคืออะไร และต้องใช้ประสบการณ์ในการบูรณาการทำให้เหลือเพียง One Standard”
หลักการเดียวกับปลั๊ก ทำในสิ่งที่ใช้ ทำในสิ่งที่มีประโยชน์ คุยกับคนอื่นรู้เรื่องก็เพียงพอ