กรมอุทยานฯ กับงานสร้างฐานรากด้านเทคโนโลยีอย่างเข้มแข็ง

มิติการนำใช้เทคโนโลยีเพื่อหนุนเสริมงานอนุรักษ์ ส่งเสริม ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับคุณวิชิต จิรมงคลการ

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (กรมอุทยานฯ) นำโดย คุณวิชิต จิรมงคลการ รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านระบบการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมอุทยานฯ ร่วมการเสวนาออนไลน์ Digital University: Enabling The Smart Society ภายใต้หัวข้อ ‘การจัดการองค์กรยุคหลังโควิดและภาวะผู้นำกับการขับเคลื่อนเพื่อการปรับองค์กรอย่างเป็นระบบ’ ถ่ายทอดประสบการณ์การปรับเปลี่ยนองค์กร โดยเฉพาะงานด้านเทคโนโลยี ตั้งแต่ช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทั่งเกิดวิกฤตยาวนานกว่า 2 ปี ไปถึงการรองรับการดำเนินงานในอนาคตที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านอื่น ๆ อย่างหลากหลาย

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับผลกระทบจากโควิด-19

จากภารกิจหลักเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้วิสัยทัศน์หลากหลายด้าน อาทิ การฟื้นฟู การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงการดูแลพื้นที่อนุรักษ์ทั้งประเทศที่เป็นอุทยานแห่งชาติ 133 แห่ง และรอประกาศ รวมทั้งหมดเป็น 155 แห่ง ไปจนถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นการดูแลทั้งทรัพยากรสัตว์ป่าและพื้นที่ที่สงวนให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า หากเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กล่าวได้ว่าเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะภาคสนาม แทบไม่ได้หยุดพัก ศูนย์เทคโนโลยีฯ จำเป็นต้องสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีให้กับทุกหน่วยงาน เพื่อรองรับการทำงานที่เปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ เช่น การประชุมผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด การให้บริการแบบ E-Service ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง E-Ticket

“ภาวะโควิด-19 ทำให้เกิดการตื่นตัวอย่างมาก แต่สำหรับกรมอุทยานฯ เป็นจังหวะและเป็นโอกาสที่ดี เนื่องจากปี 2558-2559 ซึ่งเป็นช่วงที่กรมอุทยานฯ แทบจะไม่มีเรื่องเทคโนโลยีด้านไอทีเลย เพราะเรามีนักวิชาการคอมพ์แค่คนสองคน และทุกอย่างเป็นไซโล ต่างคนต่างเก็บข้อมูลกันไว้ แต่อาจารย์ดนัยรัฐ (อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล) ได้เข้ามาช่วยทำเรื่อง Digital Transformation ที่กรมอุทยานฯ และปี 2560 ผมได้รับคำสั่งให้มาทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมอุทยานฯ จึงเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนกรมอุทยานฯ โดยต่อยอดจากที่อาจารย์ดนัยรัฐได้ตั้งต้นไว้ กับการมองมิติในส่วนที่เป็นเทรนด์ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ภาครัฐจะต้องทำตามแนวนโยบาย และตอบสนองทิศทางที่เปลี่ยนไปของโลก”

กรมอุทยานฯ มีเป้าหมายหลักของภาครัฐกำหนดไว้ในเรื่องวิสัยทัศน์และเป้าหมายด้าน Digital Thailand โดยมีการมุ่งพัฒนาและขับเคลื่อนสู่แผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ ภายใต้แนวคิด DNP Green Growth และล้อกันกับ Thailand 4.0 กระทั่งช่วงวิกฤตโควิด-19 เป็นจังหวะให้กรมอุทยานฯ ปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านไอที ไปจนถึงการทำ Open Data โดยมีการใช้ระบบ CKAN Open-D ฯลฯ

“กรมอุทยานฯ พยายามให้ทุกคนบูรณาการ ภายใต้การยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้บริการที่ฉับไว และยึดข้อมูลที่เป็น Centralization นี่คือส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนในช่วงที่เกิดโควิด-19 และด้วยภายใต้ Environment ของทางกรมอุทยานฯ จึงตอบสนองเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายใต้โมเดล BCG หรือโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนด้วย” คุณวิชิตอธิบาย “B (Bioeconomy) คือระบบเศรษฐกิจแบบชีวภาพ เป็นเรื่องของการเพิ่มผลผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม และความหลากหลายทางชีวภาพ เรามีการเชื่อมโยงข้อมูลกันเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งเรื่อง C (Circular Economy) เป็นเรื่องของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน คือเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เต็มวงจรชีวิต และหมุนเวียนกลับมาใช้แบบรีไซเคิลและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ส่วน G หรือ Green Economy เป็นเรื่องของระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งกรมอุทยานฯ สร้างความยั่งยืน ลดก๊าซเรือนกระจก และการลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด โดยจะเห็นว่ากระทรวงฯ (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) มีนโยบายมาเลยว่า ‘งดและเลิก’ การใช้ไม่ว่าถุงพลาสติกก็ดี โฟมก็ดี ทั้งในอุทยาน และในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ”

คุณวิชิตเสริมว่า ปัจจุบัน คุณอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งได้รับทำหน้าที่รักษาการอธิบดีกรมอุทยานฯ ยังให้แนวทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG ต่อการที่จะนำพื้นที่ป่าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นของกรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานฯ เข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีฯ จะต้องช่วยสนับสนุนด้านเทคโนโลยีให้สามารถให้บริการในรูปแบบ One Stop Service กับผู้ที่จะต้องใช้บริการเรื่องคาร์บอนเครดิตในอนาคตอีกด้วย

 

การมาของโควิด-19 กับบทบาทภาวะผู้นำ และความท้าทายด้านเป้าหมายขององค์กร

ดังที่คุณวิชิตกล่าวไว้แล้วว่า กรมอุทยานฯ เป็นหน่วยงานภาครัฐ ต้องเดินตามภูมิทัศน์ของ Digital Thailand ซึ่งตีกรอบไว้ในระยะ 20 ปี จึงนับเป็นธงและกรอบในการพัฒนาองค์กร ภายหลังได้รับองค์ความรู้เรื่องการ Tune-Up และวางกรอบงานจากอาจารย์ดนัยรัฐแล้ว กรมอุทยานฯ ซึ่งคุณวิชิตกล่าวว่า แม้จะเป็นกรมเล็ก ๆ หากก็เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นของงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นำมาสู่การจัดตั้งหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับอธิบดี และเกิดกระบวนการที่ปรับเปลี่ยนท่ามกลาง Disruption อย่างรวดเร็วในองค์กรของกรมอุทยานฯ ในด้านเทคโนโลยี

การปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่นี้ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีฯ ที่เห็นปัญหามากมายตั้งแต่ก่อนการมาของโควิด-19 จึงดำเนินการกำหนดทิศทางและวางกรอบเพื่อดำเนินการตามขั้นตอน ทั้งการสำรวจโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีของกรมอุทยานฯ ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงฐานข้อมูล จากเดิมที่เป็นไซโลทั้งหมด ไม่มีรูปแบบที่เป็นดิจิทัล ไปจนถึงการพัฒนาช่องทางการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ประโยชน์ข้อมูล และการสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำระบบสนับสนุนการตัดสินใจ

“ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการจัดทำ Data Center เรื่องการใช้ DR-Site เครือข่ายสำรอง เรื่องการใช้เทคโนโลยี Cloud กับอีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการรวบรวมข้อมูลทั้งหมด เรื่องแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่อยู่บนกรมอุทยานฯ ซึ่งมากมาย และเรื่องเว็บไซต์ ซึ่งเดิมไม่ตอบโจทย์การใช้งาน จึงปรับเปลี่ยนให้เป็น Web Portal และเรื่องการใช้ Transformation เรื่อง MIS และ GIS

“วันนี้กรมอุทยานฯ ได้นำข้อมูลที่เป็น GIS ขึ้นบนแพลตฟอร์มของ Cesium เป็นระบบสนับสนุนการตัดสินใจแบบอัจฉริยะ และเรื่อง DSS ซึ่งเป็นตัวหนึ่งที่เป็นจุดขายที่ผู้บริหารสามารถคลิกที่ Dashboard ได้ทั้งหมด เพราะเป้าหมายทุกอย่าง หลังจากเป็น Big Data แล้ว ต้องตอบโจทย์ที่ Business Intelligence”

ภายใต้ความท้าทาย ปัญหา และอุปสรรคที่มีอย่างหลากหลาย คุณวิชิตกล่าวว่า ไอทีอาจฟังเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ แต่หลังจากได้รับฟัง ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่กล่าวว่าท่าเองก็ไม่ได้ผ่านงานด้านไอทีมาก่อน แต่ท่านมองงานด้านไอทีว่ามีเพียง 4 ด้าน ได้แก่ Hardware, Software, Network และ Database ซึ่งทั้งหมดทำให้มองเห็นภาพทันทีว่า หน่วยงานทั้งหมดมีไอที 4 ด้านเท่านั้น

“ด้าน Hardware เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบควบคุม เรื่องการเชื่อมโยง เรื่อง Mobile เรื่อง Device ต่าง ๆ โดยเฉพาะกรมอุทยานฯ มี Device เกือบ 4,000 Device เรื่อง Office Automation การเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ และเรื่อง Server ระบบรักษาความปลอดภัย

“Software มีตั้งแต่เรื่องการปฏิบัติตามภารกิจ เรื่องการสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับคนนอก เว็บไซต์ อีฟอร์มต่าง ๆ เรื่อง Back Office ทั้ง E-Service และ E-Office ต่าง ๆ เรื่องระบบสารบรรณกลาง อีเมล ซึ่งเป็นเครือข่ายที่สำหรับในการบริหารจัดการด้านไอที และเรื่องการใช้ในภารกิจพิเศษ เช่น AI, BI, Cyber Security ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ค่อนข้างลงลึกในรายละเอียด

“อีกด้านคือ Network ซึ่งมีความสำคัญ ที่จริงแล้วปัญหาของงานด้านไอที แม้กระทั่งในช่วงที่เกิดโควิดและหลังจากเกิดโควิด ระบบเครือข่ายคือหัวใจ กรมอุทยานฯ มี Core Switch ที่เป็นหัวใจ มีปอดไว้สำหรับปั๊มอากาศขึ้นไป Distribute และมี Access Switch แต่ละชั้น ๆ ซึ่งแต่ละชั้นเรามีคนใช้งานตั้ง 150 คน รวมทั้งหมดประมาณ 2,000 คน 2,000 Devices ที่เชื่อมโยงเครือข่าย เมื่อมอง Network ตรงนี้แล้วทำให้รู้ปัญหา จริง ๆ แล้วปัญหาบางอย่างเกิดจาก Traffic ใน Network แต่ Network Bandwidth ภาครัฐเดิมนั้นมีน้อย จึงได้ขยายปอด ขยายหัวใจตรงนี้เพื่อรองรับ ช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งได้มีการยกเลิกการอบรมต่าง ๆ ทำให้สามารถนำเงินมาเปลี่ยนเป็นใช้พัฒนา ลงทุนกับ Device ทำระบบห้องประชุมออนไลน์ จากห้องประชุมขนาดใหญ่เป็นขนาดย่อย จนไม่นานที่โควิด-19 แพร่ระบาด ศูนย์เทคโนโลยีฯ จึงตอบโจทย์ตรงนี้ได้ เป็นการไหวตัวอย่างหนึ่ง

“อีกด้านหนึ่งคือ Data ซึ่งก็สำคัญ โดยป้าหมายคือเรื่องการบริการคนภายในกับคนภายนอก และระบบจัดการประมวลผล กับการจัดเก็บข้อมูลอย่างไรเพื่อซัปพอร์ตทั้งภายนอก ภายใน ผู้รับบริการ และระบบที่เกี่ยวข้อง ทุกวันนี้กรมอุทยานฯ มีห้อง Data Center ที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงภายใต้การไหวตัวทัน โดยตีกรอบเรื่องการทำ Vision Builder มองเห็นปัญหาแล้วหยิบประเด็นต่าง ๆ มาทำยุทธศาสตร์ และ Roadmap ว่าจะต้องจัดหาอะไรเมื่อไร เพราะภาครัฐไม่ได้งบประมาณมาง่าย ๆ จะต้องนำปัญหาและความจำเป็นไปพูดคุยกับผู้บริหาร”

คุณวิชิตมีจังหวะและโอกาสที่ดีในการร่วมเรียนรู้ด้าน Design Thinking ภายใต้หลักสูตร ป.ย.ป.4 โดยสำนักงาน ก.พ. อันนำมาสู่บริหารจัดการภายในองค์กร โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ศูนย์เทคโนโลยีฯ ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการ ต้อง Empathize กับผู้ใช้บริการ ต้องเก็บข้อมูลรอบด้านทั้งหมด ค้นหาปัญหาที่แท้จริง เพื่อการแก้ปัญหาอย่างถูกจุด “ทุกวันนี้กรมอุทยานฯ แทบจะพัฒนาโปรแกรมเองเกือบหมด และยังทำ Prototype ต้นแบบมาให้ตอบโจทย์กลับไป ส่งไปเทสต์ กลับไป Empathize ใหม่ เราสอนแนวคิดเหล่านี้ให้กับทุกคน อย่าคิดว่าตรงนี้เป็นปัญหา ไปดูก่อน ไปพูดคุย เอา User มานั่งคุยกัน ถกกัน ต้องถามเขา รับฟังเขาว่าเขามีมุมมองด้านอุทยานอย่างไร” คุณวิชิตสะท้อนประโยชน์จากหลักสูตร ป.ย.ป.4 ที่นำมาส่งต่อให้กับคณะทำงาน

คุณวิชิตเห็นว่าการดำเนินงานของภาครัฐสามารถทำในลักษณะภาคเอกชนได้ โดยเก็บละเอียด เก็บประโยชน์ต่าง ๆ มาใช้ นำแนวคิดมาปรับปรุงองค์กร การที่ศูนย์เทคโนโลยีฯ ได้รับการพิจารณารับรางวัลความก้าวหน้ารัฐบาลดิจิทัลที่ยิ่งใหญ่แห่งปี (Digital Government Awards) 2 ปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่ามกล่างวิกฤตโควิด-19 ไปจนถึงการดำเนินการขับเคลื่อนในการเปลี่ยนองค์กรให้เป็น e ทั้งหมด ตามนโยบายของอธิบดีกรมอุทยานฯ ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการปรับปรุงรองรับไว้ เป็นอาทิ

 

ความท้าทายจากวิกฤตที่ผ่านมา และในอนาคต

“ในนามเป็นหน่วยงานปฏิบัติงานด้านไอที ด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหัวใจหลักอย่างหนึ่ง เรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ ที่ผ่านมาได้มีการทำงานในเชิงบูรณาการโดยการสร้างเครือข่าย ทำหลังบ้านให้เข้มแข็ง เพื่อให้ทุกคนเข้ามาใช้งาน เช่น Open Data ที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการภายใต้ตัวชี้วัดที่ว่าทุกคนต้องนำข้อมูลมาเปิดเผย เพื่อสร้างหลังบ้านที่เข้มแข็ง”

อย่างไรก็ตาม คุณวิชิตกล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อคนทำงานไอทีเป็นอย่างมาก อาทิ เรื่องภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่กรมอุทยานฯ ต้องสร้างความตระหนักให้กับเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือพนักงานทุกระดับ

“หลังจากที่เจ้าหน้าที่ Work From Home (WFH) กลับมา ศูนย์เทคโนโลยีฯ ต้องดูแลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไวรัสก็ดี ซอฟต์แวร์ก็ดี ต้องค่อย ๆ บล็อก ติดตั้งระบบใหม่ เป็นต้น หากวิกฤตในอนาคต หรือจำเป็นต้อง WFH กันอีก จะต้องมีมาตรการ เช่น ตอนนี้ได้มีการทำไทม์ไลน์สำหรับการจัดทำ Network Access Control การนำแฟลชไดรฟ์มาใช้ หรือการติดตั้งแอปพลิเคชันที่แปลก ๆ ฯลฯ เหล่านี้จะมีการตรวจจับ ถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อม”

คุณวิชิตย้ำว่า ด้วยงบประมาณของภาครัฐมีไม่เยอะมาก หากแนวคิดของอาจารย์ดนัยรัฐ การทำ Roadmap การทำ Vision Builder ที่นำมาสู่เรื่องยุทธศาสตร์ ซึ่งเรียกว่าเป็นการวางฐานการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ล้วนมีส่วนให้กรมอุทยานฯ มีความพร้อม เช่น Hardware ที่ค่อนข้างมีมาตรฐาน รองรับการจู่โจมของผู้ไม่หวังดี เพราะที่ผ่านมากรมอุทยานฯ นับเป็นหนึ่งในเวทีประลองของเหล่าแฮกเกอร์ เป็นต้น

“เราก็ต้องยกการ์ดสูง ทุกวันนี้เราอยู่รอดได้ ยังไม่มั่นใจว่าอนาคตเราจะได้หรือเปล่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของเตรียมความพร้อมในการรองรับเรื่อง Crisis

“ระบบงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น E-Service, E-Ticket เรื่องของความโปร่งใส เรื่องของ Data Governance ซึ่งกรมอุทยานฯ เน้นเรื่องธรรมาภิบาล ข้อมูลภาครัฐ เรื่อง PDPA ที่มี Consent Management Platform ให้กับทุกหน่วยงาน สามารถตรวจสอบ ดูการเก็บข้อมูลตามฐาน เป็นการเตรียมความพร้อมของกรมอุทยานฯ” คุณวิชิตทิ้งท้าย และแม้จะกล่าวย้ำว่า กรมอุทยานฯ เป็นกรมเล็ก ๆ ที่อยู่ด้านหลัง ๆ ของด้านเทคโนโลยี หากเหมือนว่าในวันนี้กรมอุทยานฯ จะใส่เกียร์เดินหน้าเต็มกำลัง ทว่ามีทิศทางและเป้าหมายชัดเจน

 

ชมเสวนาออนไลน์ Digital University : Enabling The Smart Society ในหัวข้อ “การจัดการองค์กรยุคหลังโควิดและภาวะผู้นำกับการขับเคลื่อนเพื่อการปรับองค์กรอย่างเป็นระบบ” ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/digitaluniversity.thai/videos/1402841803836987