คุณพีรพงษ์ วสิษฐ์ธำรง เลขานุการ วสท. สะท้อนมิติการนำใช้ AI เรื่องไกลตัวในอดีต...แต่วันนี้ไม่ใช่ AI เรื่องไกลตัวในอดีต...แต่วันนี้ไม่ใช่
เสวนาออนไลน์ Digital University: Enabling The Smart Society ครั้งที่ 23 ประเด็น “AI – RI กับก้าวต่อไปของสถาบันการศึกษา” คุณพีรพงษ์ วสิษฐ์ธำรงค์ กรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และมุมมองผ่านมิติของวิศวกร ที่เห็นการพัฒนา AI ในแวดวงวิศวกรรมมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งการมาของ ChatGPT ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะเหมือนว่า ChatGPT จะพูดคุยโต้ตอบได้ไม่ต่างผู้คนธรรมดา
เมื่อก่อน AI เป็นเรื่องไกลตัว แต่ตอนนี้ไม่ใช่
ถ้าพูดถึงการนำ AI มาใช้ จริง ๆ แล้วขึ้นอยู่กับภารกิจของหน่วยงาน เนื่องจาก AI มีความสามารถ ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1) เป็นความรู้ที่ทุกคนสามารถจะเรียนรู้ได้เหมือนกันหมด 2) เป็นความรู้ของ AI ที่ทำงานเฉพาะเรื่อง เช่น งานวิศวกรรม งานด้านการศึกษา เรื่องไฟแนนซ์ “แต่จะมีขีดความสามารถของ AI อันหนึ่งคือเรื่องของความรู้ที่คนทั่วไปเรียนรู้ได้ ใช้งานได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ ChatGPT เป็นขีดความสามารถที่นำมาให้เราทุกคนได้ใช้กัน และอันนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก”
เหตุที่ต้องเน้นย้ำเรื่อง ChatGPT คุณพีรพงษ์อธิบายว่า ณ วันนี้ การที่คนคิดว่าจะนำ ChatGPT มาใช้เป็นประโยชน์คือการแอปพลิเคชัน การนำไปใช้งานจริง ๆ ขยายขึ้นเรื่อย ๆ ตามที่คนสามารถจะจินตนาการได้ “อย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ ChatGPT ทำหน้าที่เหมือนเป็น Mentor เป็นที่ปรึกษา หรือเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา แต่ก่อนถ้าไม่รู้เรื่องอะไร เราต้องไปค้นอินเทอร์เน็ต ต้องไปอ่านหนังสือ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ChatGPT สามารถทำหน้าที่ที่ปรึกษาเราได้ ตอนนี้สงสัยอะไร สามารถเข้า ChatGPT ความจริงนอกจาก ChatGPT ก็มีตัวอื่นด้วย ผมพูด ChatGPT เป็น General แล้วกัน เขาสามารถที่จะตอบคำถามได้เกือบทุกประเภท แต่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า ไม่ทราบ แต่มันช่วยกระตุ้นให้เราสามารถไปเช็กต่อได้ หรือแม้กระทั่งถามเขาซ้ำ ๆ ได้ โดยเฉพาะข้อมูลที่สำคัญ แล้วท้ายที่สุดเราก็จะได้คำตอบออกมา”
AI ในมิติต่าง ๆ
คุณพีรพงษ์กล่าวว่า AI สามารถจะวิเคราะห์ข้อมูลที่มีปริมาณมาก ๆ หรือที่เรียกกันว่า Big Data ได้ดีกว่าคน เพราะ AI สามารถจะจับแพตเทิร์นได้ ขณะที่สมองคนเรานั้นไม่สามารถจะรับข้อมูลได้มากขนาดนั้น ทำให้ไม่เห็นแพตเทิร์นหรือแนวโน้ม AI จึงอาจจะเป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยผู้บริหารในการที่จะวิเคราะห์และจับแนวโน้มด้านต่าง ๆ เพื่อจะตัดสินใจ
“สำหรับงานเฉพาะด้าน เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ ตอนนี้คนพัฒนาซอฟต์แวร์สบายใจขึ้นเยอะ เพราะ ChatGPT สามารถช่วยออกแบบระบบซอฟต์แวร์ ช่วยเขียนโปรแกรมได้ด้วย ตัวผมเองได้ทดลองให้ ChatGPT ช่วยเขียนโปรแกรม ซึ่งเขาทำได้ ทดสอบโปรแกรม ช่วยสร้างรูปได้เหมือนจริง ช่วยสร้างเว็บไซต์ นี่คือตัวอย่าง ซึ่งด้านซอฟต์แวร์ยังมีอีกเยอะมาก
“ในมุมของงานวิศวกรรม ซึ่งส่วนหนึ่งใช้งานมานานแล้ว คือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ปกติแล้ววิศวกรจะออกแบบอะไรที่ดี ๆ ต้องวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล เมื่อมี AI มาช่วย จึงทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลทำได้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นต่อไปจะเห็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ อีกงาน คืองานบำรุงรักษาระบบ ซึ่ง AI นั้นสามารถทำนายการเสียของชิ้นส่วนของเครื่องจักรจากการดูข้อมูลปริมาณมาก ๆ (Big Data) ที่ Generate ขึ้นมาในระบบ ทำให้รู้ว่าเมื่อไรควรจะบำรุงรักษาชิ้นส่วนไหนของเครื่องจักร นี่แค่ตัวอย่างง่าย ๆ ของงานด้านวิศวกรรม”
ปฏิวัติการเรียนรู้
มาสู่งานด้านการศึกษา คุณพีรพงษ์อธิบายโดยมองในสถานะที่ชอบเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมย้ำว่าเซกเตอร์ของการศึกษานั้นสำคัญมาก กล่าวคือการใช้ AI ค้นหาข้อมูล ถามอะไร AI ก็ตอบมา อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ในความถูกต้อง แต่ก็ให้คำตอบมา และผู้ค้นหาข้อมูลสามารถค้นหาข้อมูลหรือถามต่อไปได้เรื่อย ๆ “เขาสามารถที่จะสรุปความรู้จากเอกสาร เอกสารเป็นเล่ม ๆ นี่ละ ที่แต่ก่อนเราอ่านเป็นเล่ม ๆ ใช้เวลาอ่านนานมาก เขาสามารถสรุปได้ อันนี้จึงช่วยอาจารย์ได้มาก ช่วยนักศึกษาได้มาก เพราะฉะนั้นการเรียนรู้อะไร 1) ค้นหาข้อมูลได้ง่าย 2) สรุปข้อมูลจากเอกสารได้เร็ว”
นอกจากนี้สำหรับการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนที่มีขีดความสามารถในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน คุณพีรพงษ์อธิบายว่า ChatGPT ยังสามารถจะจัดบทเรียนให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลได้ ซึ่งเป็นความแตกต่างจากการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นทั่ว ๆ ไปในชั้นเรียนปัจจุบันที่อาจารย์เข้าไปสอนที่หน้าชั้นเรียน เอาขีดความสามารถเฉลี่ยของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง แต่การนำใช้ AI จะปรับบทเรียนให้เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคนหรือเป็นรายคน โดย AI สามารถแนะนำและสร้างกำหนดการในการเรียนรู้ ทั้งบทเรียนและตารางเวลา “ที่สำคัญถ้าใช้ AI อย่าง ChatGPT ได้เก่ง จะสามารถคุยกับ ChatGPT ไปได้เรื่อย ๆ และสามารถเรียนรู้วิชานั้นได้รวดเร็วตามความสามารถในการถามคำถามของเรา นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล เมื่อก่อนเราสงสัยเราถามอาจารย์ แต่อาจารย์ไม่สามารถจะตอบคำถามได้ทันทีเหมือนกับ AI เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นการปฏิวัติการเรียนรู้ ที่สำคัญที่สุดคือ ChatGPT สามารถสร้างข้อสอบหรือแบบฝึกหัดให้นักเรียนได้ สำหรับอาจารย์ที่สอนหนังสือ สามารถใช้ ChatGPT สร้างข้อสอบเพื่อทดสอบนักเรียนได้ ทั้งหมดนี้เป็นบางส่วนที่ว่า AI มาช่วยอะไรให้มองเห็นภาพกัน”
ผู้นำ… เตรียมความพร้อม เตรียมรับมือ ปรับตัวกับการมาของ AI
ความรู้พื้นฐานสำคัญกว่าความรู้แอดวานซ์
“ประการแรก ผมเชื่อว่าผู้นำองค์กรทุกท่านความคิดของท่านเอง มีขีดความสามารถของท่านเองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผมมีความเห็นคือต้องให้ความรู้ท่าน ไม่จำเป็นต้องให้ความรู้ที่แอดวานซ์ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้คือให้พื้นฐานที่ Strong ความรู้พื้นฐานสำคัญกว่าความรู้แอดวานซ์” คุณพีรพงษ์กล่าว “ตัวอย่างเรื่อง ChatGPT ท่านใช้ให้ทะลุเลย สอนอยู่อย่างเดียวเรื่องนี้ รู้สิ่งที่เป็นพื้นฐานให้แน่นเป็นสิ่งที่ดีกว่าที่จะให้อะไรที่แอดวานซ์ เปรียบเทียบนักกีฬาระดับโลก เวลาเขาเรียนรู้อะไรก็ตาม เขาจะเรียนพื้นฐานให้แน่น พอเขามีพื้นฐานที่แน่นแล้ว การต่อยอดของเขาก็จะทำได้ง่าย”
ต่อยอดในมุมของผู้บริหาร
คุณพีรพงษ์อธิบายว่าการให้พื้นฐานในมุมการใช้เครื่องมือ AI คือ ‘การถ่ายทอดความรู้’ ซึ่งอาจต้องจัดสัมมนา หรือจัดอบรมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ “อันหนึ่งเป็นความรู้ทั่วไปเหมือนอย่างที่เรียนว่าความรู้ทั่ว ๆ ไปทุกคนก็ต้องเรียนรู้ในการใช้เครื่องมือ แต่ถ้าเป็นองค์กร ในแต่ละองค์กรก็มีลักษณะงานที่เฉพาะ มี Mission ที่แตกต่างกัน” คุณพีรพงษ์ยกตัวอย่างองค์กรด้านวิศวกรรมก็จะมีงานเฉพาะขององค์กรนั้น ๆ “คำถามคือจะใช้เครื่องมือ AI ไปอย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ต่อ ในมุมผู้สอน สมมติเป็นผู้สอน ก็เอาตัวอย่างทั่วโลกมาให้ดู แต่ท้ายสุดคนที่ตัดสินใจว่าจะเอาไปใช้อย่างไรก็คือ ‘ผู้บริหาร’ เท่านั้น”
ยกระดับการนำใช้ AI
ผู้บริหารรู้เรื่องอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องให้ความรู้กับคนระดับล่างลงมา ทว่าดังที่คุณพีรพงษ์ให้ความเห็นว่าสอนพื้นฐานให้แน่น สอนพื้นฐานที่ไม่ผิด และสอนซ้ำ ๆ ให้เวลากับพื้นฐานให้มาก ๆ อันจะนำไปสู่ผลในท้ายสุดคือ ‘การนำไปใช้งานในอนาคต’
“อย่างไรก็ตามคนที่จะตัดสินใจ คิดออกมาได้ ต้องเป็น ‘ผู้บริหาร’ ดังนั้นถ้าเป็นผมจะไม่มองไกลไปกว่านี้ แม้กระทั่งงานของแต่ละคน ผู้บริหารย่อมรู้อยู่แล้วในงานของเขา”
ใช้ AI อย่างคุ้มค่าและปลอดภัย
คุณพีรพงษ์ฝากไว้ว่า Critical Success Factor ที่มองเห็นจริง ๆ คือ ‘ความเข้าใจใน AI อย่างแท้จริง’ ซึ่งความหมายคือ ‘การลงทุน’ ไม่ว่าจะเป็นเวลา งบประมาณทั้งเพื่อ ‘การอบรมในการเปลี่ยนแปลงองค์กร’
“Critical Success Factor มีอย่างเดียว คือ ความรู้ (การอบรม) เพราะฉะนั้น จะนำ AI ไปใช้ให้ได้ เกิดขึ้นได้จริง และไม่ผิดพลาด ต้อง ‘รู้ในเรื่องที่ทำจริง ๆ’
องค์กรควรจะ Invest ในเรื่องการอบรม ทำให้เต็มที่และทำให้ถูกต้อง เท่านั้นเลย… ‘Critical Success Factor’
ชมเสวนาออนไลน์ Digital University : Enabling The Smart Society ในหัวข้อ “AI – RI กับก้าวต่อไปของสถาบันการศึกษา” ได้ที่นี่ https://fb.watch/ltn4pFK3qt/?mibextid=cr9u03