บ่อยครั้งที่ได้ยิน อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล เน้นย้ำและฝากฝังคำว่า ‘Care, Fair และ Share’ ไว้ให้กับผู้บริหารและผู้ร่วมขบวนขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยสู่การเป็น ‘Digital University หรือ Smart University’ เต็มรูปแบบ ทำให้นึกย้อนถึง 3 คำดังกล่าวที่เป็นหัวใจหลักหรือหลักจรรยา (Ethics) ของแนวคิดเพอร์มาคัลเจอร์ (Permacuture) หนึ่งในวิถีการเกษตรที่เชื่อในระบบนิเวศยั่งยืน ซึ่งเกิดขึ้นในยุค 70s อันเกิดจากหลักการคิดค้นระบบและเครื่องมือที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อออกแบบสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมของเราขึ้นใหม่อย่างสร้างสรรค์ในโลกที่ใช้ทรัพยากรและพลังงานลดน้อยลงและคุ้มค่าภายใต้หลักจรรยาและหลักการออกแบบของแนวคิด
เพอร์มาคัลเจอร์ หรือ Permacuture มาจากคำว่า Permanent และ Agriculture หมายถึง วิถีเกษตรกรรมที่มั่นคงยั่งยืน (ก่อตั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติโดย Bill Mollison นักวิทยาศาสตร์ นักคิดด้านเกษตรนิเวศ และนักเขียนชาวออสเตรเลีย) มีหลักจรรยาพื้นฐานสำหรับทั้งระบบ ได้แก่ ‘Earth Care, People Care และ Fair Share’
‘การดูแลโลก’ หมายถึงการดูแลทุกสรรพสิ่ง ทุกองค์ประกอบของการดำรงชีวิต ไม่ว่าสิ่งนั้น ๆ จะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ก็ตาม รวมถึงการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และมีจริยธรรม ‘การดูแลผู้คน’ เป็นภาพรวมของความเอื้ออาทรและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างบุคคล ตลอดจนถึงชุมชน และสังคม ส่งเสริมให้ทุก ๆ ชีวิตได้เข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม อาทิ อาหาร การรักษาพยาบาล การศึกษา การประกอบอาชีพ เป็นต้น และ ‘การแบ่งปันอย่างยุติธรรม’ เป็นเรื่องของการจัดสรรและแบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้กับจำนวนของประชากรและการบริโภคอย่างยุติธรรม ไม่เกินความจำเป็น
ว่าไปแล้วเพอร์มาคัลเจอร์จึงไม่ใช่ปรัชญาที่ว่าด้วยการออกแบบพื้นที่เกษตรกรรมเสียทีเดียว หากครอบคลุมการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างทุก ๆ องค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมให้เกื้อกูลและลงตัวภายใต้เงื่อนไขของแต่ละภูมินิเวศ วัตถุประสงค์ของเพอร์มาคัลเจอร์ที่มุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ โดยไม่สร้างมลพิษ และไม่ต่อต้านธรรมชาติ สนับสนุนและส่งเสริมการใช้ลักษณะเด่นของธรรมชาติกับพื้นที่ ตั้งฐานคิดอยู่บนการสังเกตระบบธรรมชาติ ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปจนถึงการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงไม่ต่างจาก ‘แรงบันดาลใจ’ สู่มุมคิด การดำเนินชีวิต หรือการดำเนินงานด้านอื่น ๆ ที่มุ่งวิถีการจัดการพฤติกรรม ค่านิยม และทัศนคติ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
ย้อนมาที่การศึกษาของประเทศไทย ณ เวลานี้ ที่มีการสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยขับเคลื่อนสู่การเป็น Digital University หรือ Smart University เต็มรูปแบบ โดยภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม ทั้งหน่วยงานใหญ่ และหน่วยงานย่อย ร่วมผนึกกำลังตามความเชี่ยวชาญและตามศักยภาพของแต่ละส่วน พบว่าฐานคิดสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ‘ทำน้อยแต่ได้ผลมาก’ หรือการมุ่งใช้ทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ให้เกิดศักยภาพสูงสุดภายใต้บริบทของพื้นที่ ชุมชน รวมถึงอัตลักษณ์เฉพาะ ซึ่งเป็นความโดดเด่นที่ต้องค้นหาเพื่อมุ่งพัฒนาไปพร้อมการผสมผสานกับการบริหารจัดการ องค์ความรู้หรือนวัตกรรม และเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเข้าใจ เหมาะสม มีเหตุมีผล และสร้างประสิทธิภาพจากการลุงทุนได้อย่างแท้จริงนั้น มีความใกล้เคียงกับแนวคิดเพอร์มาคัลเจอร์อยู่ไม่น้อย
ที่สำคัญ ‘Care, Fair และ Share’ ดังที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นว่าอาจารย์ดนัยรัฐเน้นและย้ำอยู่เสมอ ซึ่งแม้จะเป็นหลักจรรยาพื้นฐานของแนวคิดเพอร์มาคัลเจอร์ แต่ถ้าหากกล่าวว่าทั้ง Care, Fair และ Share นั้นควรเป็น Rules of Living ก็ไม่น่าจะผิด “เราเป็นมนุษย์ต้องแคร์เป็น เราต้องแฟร์เป็น และเราต้องแชร์ให้คนอื่นด้วย” อาจารย์ดนัยรัฐกล่าวพร้อมอธิบาย “คนที่จะ แชร์เป็น ถ้าแฟร์ไม่เป็นก็ไม่รู้จะแชร์อย่างไร คิดว่าแชร์ให้เท่ากัน แต่คนเตี้ยต้องการเก้าอี้สูง คนสูงไม่ต้องการเก้าอี้สักตัว ต้องแคร์ก่อนจะทำให้เรารู้ว่าอะไรคือแฟร์ เมื่อแฟร์แล้วเราจึงค่อยแชร์”
การขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลมีเกณฑ์หรือองค์ประกอบ และเครื่องมือที่เรียกว่าแบบสำรวจความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในการก้าวเข้าสู่ Digital University ‘Digital Maturity Model : DMM’ สนับสนุนโดยสถาบันคลังสมองของชาติ ซึ่งได้แบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ระดับที่ 1 Traditional University ระดับที่ 2 E-University ระดับ 3 Connected University และระดับที่ 4 Smart University อาจารย์ดนัยรัฐอธิบายไว้ว่า Flagship ของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นต่างกัน และจริง ๆ แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนกัน จากเดิมที่ใช้เกณฑ์ของการแข่งขัน (Competitiveness) ปัจจุบันต้องปรับเกณฑ์เป็นการหาตัวตนให้เจอ ‘ทำในจุดที่เป็นปมเด่น ไม่ไปขยี้ปมด้อยของตัวเอง’ จาก Flagship มาสู่ People & Partnership ที่มุ่งเน้นการบูรณาการ เชื่อมโยง และทำงานร่วมกัน สุดท้ายคือ Digitalship ที่แม้ว่าทุกมหาวิทยาลัยจะเดินหน้าสู่การเป็น Digital University เต็มรูปแบบ แต่ Digitalship กลับเป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนสิ่งที่ทำให้งานสำเร็จ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องลงทุนเกินความจำเป็น
“คำว่า Care จึงเป็นเรื่องของทั้งตัวคนและแฟลกชิป เพราะแคร์จะทำให้แฟลกชิปเดินหน้าอย่างมุ่งมั่น และในส่วนของงานเน้นไปที่คำว่า Fair ทั้ง People และ Partnership ต้องแฟร์กัน สุดท้ายคือ Technology (Digitalship) ที่ได้รับการออกแบบมาให้แชร์ซึ่งกันและกัน”
นอกจากนี้ Care, Fair และ Share ยังนับเป็น Mindset สำคัญที่ยังต้องมุ่งปลูกฝังและพัฒนาให้กับคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นท่ามกลางยุคที่ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันอย่างง่ายดาย “กติกาไม่ได้ถูกสร้างจากคนคนเดียว ปัจจุบันทุกคนสร้างกติกาไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเสียงโหวตหรือเสียงสะท้อนต่าง ๆ ดังนั้นจะต้องมีคำว่า Care หมายถึง แคร์คนอื่นก่อนที่เราจะแชร์ แคร์ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรในสิ่งที่เราจะพูดหรือจะทำ บวกด้วยการแคร์ตัวเอง ทุกวันนี้บางคนแคร์แต่ตัวเอง ไม่แคร์คนอื่น บางคนก็แคร์แต่คนอื่น แล้วลืมที่จะแคร์ตัวเอง คำว่า Fair คือเมื่อทำอะไรร่วมกันต้องมี Mindset ว่าเขา Win เรา Win เช่น บอกว่างานนี้ต้องมีคนนี้เข้ามาช่วย แต่การไปให้เขามาช่วยนี่อย่างกับทวงหนี้ มีการขอบคุณสักคำไหม ดังนั้นเราต้องแฟร์กับเขา ให้ประโยชน์บางอย่าง อาทิ การจัดคอร์สที่มีรายได้ จะต้องกล้าคุยสัดส่วน เรากับเขาจะแฟร์กันอย่างไร นอกจากนี้มีกฎระเบียบที่แฟร์หรือไม่ สุดท้าย คำว่า Share ไม่ว่าจะแชร์เทคโนโลยี แชร์คัลเจอร์ แชร์ทุก ๆ อย่าง บางครั้งเป็นการแชร์ที่ไม่แฟร์ เช่น การแชร์ข้าวสาร 2 กระสอบให้คนละ 1 กระสอบ แต่คนหนึ่งรวย คนหนึ่งจน คนรวยเขาไม่ได้ต้องการ อย่างนี้คือแคร์แต่ไม่ได้แฟร์ และบางครั้งก็พบว่าแฟร์แบบไม่แคร์ คือกล่าวว่าทั่วถึง แต่มันไม่ได้เท่าเทียม เพราะคนที่ขาดมากหรือติดลบ เขาอาจต้องการมากกว่า ดังนั้น Mindset ของคนรุ่นใหม่จึงเหลือ 3 คำนี้นี่เอง Care First, Fair แล้วจึง Share”
เกื้อกูล เป็นธรรม และแบ่งปัน คงเป็น ‘หลักคิด’ ที่ต้องออกสตาร์ตด้วย ‘การตั้งหลักใจ’ เริ่มจากเพียงคนหนึ่งคน แต่ส่งแรงกระเพื่อมไปยังทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา เกษตรกรรม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ อย่างเข้มแข็งได้ เพราะความตื่นตัวและการเล็งเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าและยั่งยืนบางครั้งก็เกิดขึ้นจากสิ่งเล็ก ๆ เช่นคำ 3 คำนี้ ‘Care, Fair และ Share’