การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยดิจิทัลที่มุ่งการสร้างสรรค์องค์กรแห่งนวัตกรรมร่วมกัน โดย ดร.รัตนวดี เศรษฐจิตร นักวิจัยโครงการ Digital University
ณ ที่ประชุมของสถาบันคลังสมองแห่งชาติภายใต้การพบปะพูดคุยกันด้วยประเด็นการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล หรือแม้แต่ที่เวทีเสวนาออนไลน์ Digital University: Enabling The Smart Society ซึ่งจัดขึ้นในทุก ๆ เดือนที่เฟซบุ๊กเพจ Digital University มหาวิทยาลัยดิจิทัล จะเคยได้ยินผู้ทรงคุณวุฒิท่านต่าง ๆ กล่าวถึง ดร.รัตนวดี เศรษฐจิตร หนึ่งในนักวิจัย ฟันเฟืองหลักตัวเล็ก ๆ ของโครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล (Driving Thai University toward Digital University) ในโอกาสนี้ ดร.รัตนวดีให้เกียรติถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานในโครงการฯ ไปจนถึงเรื่องราวการสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรมร่วมกัน (Co-Creation) โดยเฉพาะภายใต้ภารกิจการผลักดันให้มหาวิทยาลัยดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
มหาวิทยาลัยดิจิทัล : พลังเล็กจากทุกภาคส่วนที่ต้องไปด้วยกัน
ดร.รัตนวดีเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของโครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลที่ออกตัวมาตั้งแต่ปี 2563 กระทั่งโลกและประเทศของเราเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งส่งผลกระทบกับการเรียนการสอนในภาคการศึกษาเช่นเดียวกับภาคส่วนอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบในรูปแบบที่ต่างกันไป ทั้งนี้ด้วยแนวคิดเรื่องความเป็นดิจิทัลที่มีมานานแล้ว หากไม่มีการผลักดันอย่างจริงจัง และยังไม่มีการสร้างนิยามร่วมกัน จึงเริ่มจุดประกายการทำงาน ทว่าช่วงแรกที่มีการพูดคุยกันพบว่ามี ‘ความเข้าใจผิด’ ใน ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ ว่าหมายถึง ‘การเรียนการสอนออนไลน์’ เท่านั้น
“ในช่วงเริ่มต้นสถาบันคลังสมองฯ สนับสนุนทุนวิจัยในการหาคำตอบว่าหากมหาวิทยาลัยไทยจะก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลจะต้องทำอย่างไร ซึ่งเวลานั้นมีการจัดการแพลตฟอร์มต้นแบบเพื่อหาคำตอบให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ว่าจะสามารถก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลได้อย่างไร กระทั่งในปี 2566 โครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยเป็นโครงการวิจัยที่มุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยไทยก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล”
สำหรับโครงการฯ ซึ่งเป็นงานวิจัยในครั้งนี้ ดร.รัตนวดีอธิบายถึงเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ 1) การหารูปแบบว่ามหาวิทยาลัยไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลตามแฟล็กชิป ตามอัตลักษณ์ ตามพันธกิจของแต่ละมหาวิทยาลัยได้อย่างไร 2) เมื่อมหาวิทยาลัยเริ่มอยากจะก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล โครงการฯ จะทำหน้าที่จัดหารูปแบบต่าง ๆ ในการเสริมพลังให้กับมหาวิทยาลัยเหล่านั้น ทว่าเริ่มด้วยการปรับจูนความความเข้าใจให้ตรงกัน ก่อนไปสู่เรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือ และแพลตฟอร์มต่าง ๆ และ 3) เรื่องการสร้างความตระหนักรู้ เพราะความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลไม่ได้มีแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ต้องครอบคลุมทั้งมหาวิทยาลัย และต้องไปด้วยกัน
Co-Creation : ร่วมสร้างสรรค์องค์กรนวัตกรรม
ภาพของสถานการณ์สังคมโลก ประเทศ และสังคม ซึ่งมีความต้องการที่มากมายหลากหลาย ไม่เพียงแต่เป็นโจทย์ของมหาวิทยาลัย หากก็เป็นโจทย์สำคัญกับนักวิจัย ดังนั้นจึงต้องพยายามนำโจทย์ต่าง ๆ กลับมาสู่ภารกิจของมหาวิทยาลัย ดร.รัตนวดีเล่าถึงการทำงานที่ผ่านมาว่าหลายมหาวิทยาลัยทดลองใช้เครื่องมือ Vision Builder และได้เห็นว่าโลกเปลี่ยน สถานการณ์ก็เปลี่ยน มหาวิทยาลัยเองมีโจทย์มากมาย ทั้งโจทย์จากกระทรวง โจทย์จากพื้นที่ โจทย์จากหน่วยงานต่าง ๆ ฯลฯ “แล้วผู้เข้ามารับฟังในครั้งนี้อยู่ในภาคส่วนที่หลากหลายมาก บางท่านอยู่ในส่วนของงานบริหาร บางท่านอยู่ในส่วนภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย บางท่านอยู่ในส่วนการวิจัย การบริการวิชาการ การเรียนการสอน งานไอที งาน HR การเงินก็มี เมื่อฟังแล้ว บางท่านอาจสงสัยว่าตนเองจะอยู่ตรงไหน” ดร.รัตนวดีสะท้อนภาพ “Vision Builder ที่นำมาใช้ก็มีแผนว่าจะต้องปรับเรื่องการเงินแล้ว ว่าแต่ส่วนของการเงินนั้นจะมีวิธีการปรับเปลี่ยนอย่างไร ตรงนี้เองที่ Vision Builder จะแสดงให้เห็นว่าจากโจทย์ที่เข้ามา สู่การปรับปรุงมหาวิทยาลัยนั้น มหาวิทยาลัยจะต้องนำเสนอออกไปด้วยว่ามีอะไรที่ทำไปแล้วบ้าง”
องค์กรนวัตกรรมที่จะ Co-Creation แต่ละภาคส่วน จะเชื่อมต่อกันอย่างไร
ดร.รัตนวดียกตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เคยมีโอกาสเข้าไปร่วมทำงาน กล่าวคือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการเชื่อมต่อกันทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยในส่วนมหาวิทยาลัยเอง หลายแห่งนำโจทย์หรือ Data ซึ่งเป็นเรื่องของการวิจัยมาใช้กับเรื่องการเรียนการสอนและการบริการวิชาการ
“เมื่อก่อนโจทย์ของการบริการวิชาการ เช่น มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญเรื่องอะไร นักวิจัยเก่งเรื่องอะไร อาจจะเชี่ยวชาญการแพทย์ เชี่ยวชาญเรื่องท้องถิ่น เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ฯลฯ ก็ลงพื้นที่ไปคุยกับชุมชนว่าจะมาช่วยทำอะไร ทั้งนี้ชุมชนอาจบอกว่าอาจยังไม่ได้เหมาะ อาจไม่ได้ ไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอที่สามารถทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าในปริมาณมากขนาดนั้น ฯลฯ ทางมหาวิทยาลัยก็จะเริ่มเห็นนวัตกรรม การทำฐานข้อมูลชุมชน การทำฐานข้อมูลท้องที่ อาทิ พื้นที่ริมทะเลซึ่งมีอาหารทะเลเยอะ องค์ความรู้ที่ชาวบ้านหรือชุมชนท้องถิ่นอยากได้เพื่อนำไปพัฒนาจะเกี่ยวกับการทำเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มเรื่องสัตว์น้ำ หรือการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องประมงท้องถิ่น เป็นต้น”
มหาวิทยาลัยกับการแมตชิงข้อมูลเข้ากับความต้องการของชุมชน
ตั้งแต่โจทย์จากกระทรวงและองค์กรต่าง ๆ ที่มุ่งการพัฒนาหลากมิติที่วิ่งเข้าเข้าสู่มหาวิทยาลัย ตามมาด้วยความต้องการของพื้นที่ มหาวิทยาลัยจะทำงานอย่างไร “ฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่มีนั้นเชื่อมต่อกันหรือยัง มีเสียงบ่นจากชาวบ้านว่าช่วงที่อาจารย์ลงพื้นที่มาจากหลายคณะ เราไม่ได้ทำมาหากินเลย นี้ไม่ได้พูดเองนะ ชาวบ้านเริ่มพูดมา” ดร.รัตนวดีเล่า “เมื่อมีปราชญ์ชาวบ้าน และมีกลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในท้องถิ่น เขาเริ่มเห็นแล้วว่าหลายมหาวิทยาลัยเข้ามา จะเป็นไปได้ไหม หรือว่าจะมีโจทย์ที่สำคัญอะไรบ้างที่จะทำให้เห็นการเชื่อมต่อของฐานข้อมูล ตรงนี้ไม่จำเป็นว่าทุกคณะจะต้องลงไปที่ปราชญ์คนเดียวกัน บางคณะอาจจะลงไปในเชิงของสาธารณสุข บางคณะอาจจะลงในส่วนของการประมง และจะเชื่อมต่อกันอย่างไร
Co-Creation : จากวิสัยทัศน์สู่ภารกิจของมหาวิทยาลัย
ในมิติของการวิจัย โจทย์การเชื่อมต่อจากภายนอกเข้าสู่ภายใน คือการเชื่อมต่อไปสู่การเรียนการสอน และบริการวิชาการ ยิ่งไปกว่านั้น ดร.รัตนวดีอธิบายว่าหากเชื่อมต่อกันทั้งหมด อาจารย์ 1 ท่านที่อยู่ในมหาวิทยาลัย ต่างมีภารกิจมากมาย ตัวชี้วัดเต็มไปหมด… “จะทำอย่างไรให้งานวิจัยสามารถเสิร์ฟการเรียนการสอน ทำให้นิสิตได้เข้าไปเรียนรู้กับชุมชน แทนที่จะไปฝึกงานข้างนอก ก็ไปฝึกงานกับชุมชน ไปฝึกงานกับโจทย์ กับสถานประกอบการที่ต้องการองค์ความรู้ตรงนี้ได้เลย”
หากมีการพูดคุยกัน รับโจทย์ ทราบสถานการณ์จากภายนอก เช่นที่เครื่องมือ Vision Builder ได้แสดงให้เห็นว่าโลกเปลี่ยนไปอย่างไร มีแนวโน้มหรือทิศทางไปในทางไหน ความต้องการปัจจุบันเป็นอย่างไร สู่การย้อนกลับเข้ามาที่มหาวิทยาลัย “มหาวิทยาลัยมีคนเก่ง ๆ อยู่ตรงไหนบ้าง บางมหาวิทยาลัยเก่งมากเรื่องการทำ Database บางมหาวิทยาลัยเก่งมากเรื่องการจัดการการเงิน บางมหาวิทยาลัยเก่งมากเรื่องการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เรียกว่าดึง Stakeholders เข้ามาทำงานได้เก่งมาก ฯลฯ เพราะฉะนั้นจุดแข็งของแต่ละมหาวิทยาลัยอยู่ตรงไหน
“แฟล็กชิปของมหาวิทยาลัยทางภาคเหนือ ซึ่งอาจารย์ดนัยรัฐ (อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล) มักยกตัวอย่างเรื่องสมุนไพรที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งสามารถยกระดับไปเป็นภูมิปัญญาสำหรับโลก จากตรงนี้จะสามารถดึงเอาความต้องการภายนอกกับความเชี่ยวชาญภายในมาเชื่อมโยงกันอย่างไร ตรงนี้จะตอบโจทย์ของความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลตรงที่ว่าไม่ได้ทำงานแบบไซโล แต่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลจะต้องคอนเนกต์กัน มีมาตรฐานร่วมกัน เกิดการยกระดับเชื่อมต่อภายใน ไปจนถึงสามารถเชื่อมต่อและส่งต่อคุณค่าไปช่วยเหลือสังคมได้”
ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน การบริการวิชาการ งานวิจัย การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ สามารถทำร่วมกันได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ‘การเชื่อมต่อกัน ต้องมองเป้าหมายที่เป้าเดียวกัน’
ภาพความชัดเจนจากการนำใช้เครื่องมือ
ในส่วนของการนำ Vision Builder สู่ภารกิจของมหาวิทยาลัย (ซึ่งจริง ๆ ยังมีเครื่องมืออย่าง Enterprise Blueprint และ Design & Tracking Worksheet อยู่ในลูปทั้งหมด) เผยให้เห็นความเข้าใจวิสัยทัศน์ เข้าใจข้างนอกมาจนถึงข้างใน ใครอยู่ตรงส่วนไหนขององค์กร การจะเปลี่ยนกระบวนการทำงาน การจะสร้างนวัตกรรม
“นวัตกรรมมีความหลากหลายมากมาย นวัตกรรมความคิด นวัตกรรมการทำงาน การเปลี่ยนกระบวนการทำงานที่เคยทำงาน 20 วัน เหลือ 5 วัน ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมแล้ว การลดจำนวนคนที่เข้ามาช่วยงานต่าง ๆ ที่สำคัญก็เป็นการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์องค์กร เพราะบางทีนวัตกรรมที่เกิดขึ้นมานั้นตอบโจทย์ใคร เอาไปใช้อะไร
“Co-Creation ตรงนี้ ทำให้เห็นภาพว่าเครื่องมือนี้ ทำให้เห็นว่า Goal คืออะไร เช่นที่อาจารย์ดนัยรัฐกล่าวไว้ว่า เกณฑ์ต่าง ๆ อาทิ EdPEx, AUN ฯลฯ บรรดาคนในมหาวิทยาลัยจะเข้าใจกับคำศัพท์เหล่านี้ดีว่าต้องตอบตลอด และที่ต้องการมากคือหลักฐาน หมายความว่าตอบตรงนี้แล้วหลักฐานอยู่ตรงไหน เครื่องมือนี้จะทำให้เห็นตั้งแต่กระบวนการในการคิด ทำ ประเมินผล และเห็นทุกอย่างร่วมกัน ‘แล้วจะเห็นว่าเทคโนโลยีเข้ามาตรงจุดไหน’”
ย้อนกลับไปสู่ความเข้าใจในความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ปัจจุบันยังมีคนสอบถามมาที่เฟซบุ๊กเพจ Digital University มหาวิทยาลัยดิจิทัล ว่าจะสมัครเรียนมหาวิทยาลัยดิจิทัลได้อย่างไร ตรงไหน – ยังเป็นความเข้าใจผิดที่ว่า ‘อยากจะเรียน…’ เพราะเข้าใจว่าเป็นการเรียนออนไลน์ หรือเป็นการเรียนรูปแบบดิจิทัล
ดังนั้นนอกจากการสื่อสารเรื่องความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลจะเป็นความท้าทายแล้ว การที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาใช้เครื่องมือร่วมกัน ใช้เทคโนโลยีร่วมกัน ขับเคลื่อนองค์กรอย่างตอบโจทย์ที่หลากหลายด้วยการผสานความโดดเด่นที่แตกต่างร่วมกัน ที่สำคัญคือการมองเห็นภาพและเป้าหมายเดียวกัน คือโจทย์ใหญ่ที่จะนำสู่ความสำเร็จได้ตามภารกิจที่ตั้งไว้นั่นเอง