Digital Transformation: กระดูกสันหลังของมหาวิทยาลัยดิจิทัล
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีตประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
โลกเราเวลานี้ไม่มีอะไรที่ชัดเจนไปกว่าการเดินทางเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 และพลวัตรของศตวรรษใหม่ยังมีเปลี่ยนแปลงไปในทุกมิติ เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะหลังเกิด Disruptive Technology ทั้งวิถีชีวิต กระบวนการทำงาน กระบวนการเรียนรู้ ไลฟ์สไตล์ด้านต่าง ๆ ตลอดจนถึง Business Model เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ‘Digital Transformation’ ไม่เพียงเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ หากยังกลายเป็นกระดูกสันหลัง (Backbone) ของทุกอย่าง จากนั้น Digital Platform ได้รับการสร้างขึ้นตามมา เพื่อรับมือและรองรับกับการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีตประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เริ่มต้นการพูดคุยด้วยการยกตัวอย่างถึงด้านการแพทย์ กล่าวคือ ปกติโรงพยาบาลศิริราชต้องรองรับผู้ป่วยนอกวันละประมาณ 9,000 คน แต่เมื่อเริ่มเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ปรากฏว่า มีผู้ป่วยมารับการรักษาเพียง 4,000 คน ซึ่งทำให้เกิดความกังวล และต้องติดต่อกลับไปทางผู้ป่วย ทั้งทางโทรศัพท์ ทั้งทางดิจิทัล ทั้งทางอินเทอร์เน็ต พบว่า สาเหตุที่ผู้ป่วยไม่มารับการรักษาเพราะกลัวการติดเชื้อ COVID-19 ทางโรงพยาบาลจึงจัดทำระบบ Telemedicine ขึ้น โดยในเบื้องต้น พยาบาลจะติดต่อไปยังผู้ป่วยผ่านระบบลักษณะเดียวกับคอนเฟอร์เรนซ์ และพูดคุยเพื่อตรวจสอบอาการของผู้ป่วย หากทุกอย่างปกติ และมีเพียงปัญหาเดียวคือ ยาหมด ทางโรงพยาบาลก็จะจัดส่งยาให้ผู้ป่วย ด้วยความร่วมมือกับการไปรษณีย์ไทย ซึ่งมีการรักษาคุณภาพยาอย่างปลอดภัยและได้มาตรฐาน สำหรับในกรณีที่ผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความไม่สบายใจ ก็จะได้พบกับแพทย์ผ่านระบบเดียวกัน และเมื่อได้พูดคุยกับแพทย์แล้ว พบว่า ผู้ป่วยไม่มีอาการใด ๆ ที่ต้องกังวล ทางโรงพยาบาลก็จะจัดส่งยาให้ตามกระบวนการต่อไป แต่สำหรับผู้ป่วยอีกกลุ่มที่พบแพทย์ผ่านระบบเช่นเดียวแล้ว กลับพบว่า ผู้ป่วยควรเข้ามาที่โรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจใด ๆ เป็นพิเศษ เช่น การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด การเอกซเรย์ ฯลฯ แพทย์ก็จะแจ้งให้ผู้ป่วยเดินทางมาที่โรงพยาบาล ซึ่งกลุ่มนี้มีส่วนน้อย เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า New Normal เกิดกับธุรกิจต่าง ๆ และ Health Care ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจเหล่านั้น
“Digital Transformation เป็นเรื่องสำคัญมากจริง ๆ มันเข้ามาช่วยอย่างมากมาย วิถีชีวิตเปลี่ยน การทำงานเปลี่ยน การเรียนรู้เปลี่ยน ตอนนี้คนเรียนรู้จากอะไรมากที่สุด คำตอบคือ Google แต่ถึงจุดหนึ่ง Google มันสอนบางอย่างไม่ได้ เช่น ทักษะ หรือสิ่งที่ต้องจับมือกันสอน หรือสิ่งที่ต้องการคนที่มีประสบการณ์มาสอนมาโค้ชให้ โดยพลวัตรของศตวรรษที่ 21 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อมาเจอกับ COVID-19 สิ่งที่อยากทำมานาน ตอนนี้ก็ทำได้ทุกอย่าง Digital Transformation กลายเป็น Backbone ของทุกอย่างจริง ๆ เราต้องยอมรับตรงนี้ แล้วนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์” นพ.อุดม กล่าว “บางอย่างอาจจะทดแทนไม่ได้ 100% เช่น การบ่มเพาะคุณลักษณะ ทัศนคติ หรือทักษะ ซึ่งเหล่านี้ยังต้องการ Face to Face และ Interaction โลกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง และเปลี่ยนเร็วกว่าที่คิด กระบวนการเรียนรู้เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ เป็นภาพที่ชัดว่า เทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อน แต่ถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้น ต้องมีการเรียนรู้ก่อน จึงเกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ เกิดกระบวนการใหม่ เกิดเทคโนโลยีใหม่ เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ และเกิดบริการใหม่”
สำหรับนิยามของคำว่า ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ ที่ได้รับการกล่าวถึงกันมากขึ้นในเวลานี้ ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจว่า คำว่า ดิจิทัล แท้จริงคือ แพลต์ฟอร์ม อย่างหนึ่ง ซึ่งอย่างที่ย้ำว่า Digital Platform อาจไม่สามารถแทนทุกอย่างได้ หากการนำมาใช้ ก็ช่วยในการเรียนรู้ได้เป็นอย่างมาก ทั้งผ่านการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ การวิจัย การทำแล็บ ฯลฯ “ผมจึงย้ำว่า Digital Skill บน Digital Platform เป็น Backbone ของทุกอย่างในชีวิต การทำงาน การทำธุรกิจ ฯลฯ แต่สิ่งสำคัญ คนยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ตัวอย่างเรื่อง COVID-19 เมื่อต้องเรียนออนไลน์ พบว่า เป็นการนำสิ่งที่เคยสอนมาใส่ลงในออนไลน์ อย่างนี้ไม่ใช่ Online Learning เพราะ Online Learning ต้องเปลี่ยนคอนเทนต์ใหม่ ที่จะต้องตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเวลานี้ และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า ต้องทันสมัย ตอบโจทย์ผู้เรียน ที่สำคัญตอนนี้คือ สิ่งที่เขาขาด เพราะฉะนั้น การเรียนรู้ต้องเป็น Competency-based Learning ไม่ใช่ Knowledge-based Learning และต้องเป็น Interactive Learning ซึ่งต้องมี Interaction ระหว่างครูกับลูกศิษย์ ดังนั้น จึงไม่ใช่การใช้คอนเทนต์แบบเดิม มาใส่แพลตฟอร์มแบบใหม่ ไม่ใช่ทำแบบไม่มีคุณภาพ ไม่ใช่เอาเหล้าเก่ามาใส่ขวดใหม่” นพ.อุดม กล่าว
นั่นหมายความว่า ก่อนจะก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ผู้รับหน้าที่สอน ทั้งครูอาจารย์ และบุคลากรในองค์กร ต้องทำความเข้าใจ และเพิ่มเติมระดับความสามารถด้าน Digital Skill อย่างถ่องแท้จนเกิดความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ ซึ่ง นพ.อุดม เรียกว่า เป็นของจริง เพื่อที่จะสามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์รูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกับแพลตฟอร์มใหม่ได้อย่างแท้จริง และไม่เพียงเท่านั้น นพ.อุดม ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังจำเป็นต้องมอนิเตอร์ด้านคุณภาพของบุคลากร และครูอาจารย์ภายในองค์กร เนื่องจากเวลานี้ ในเวทีโลก นอกจากจะแข่งขันกันที่เรื่องคุณภาพเป็นสำคัญแล้ว ยังต้องการคนที่มีความเชี่ยวชาญด้วย การยกระดับตนเองจึงเป็นหัวใจหลักที่จะมุ่งหน้าไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลอย่างมีทิศทาง
ในส่วนของ กกอ. มองว่า เรื่องหลักสูตรนั้นเป็นความอิสระของสภามหาวิทยาลัย แต่เพื่อการยกระดับไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล กกอ. จึงทำหน้าที่กำหนดกรอบ เช่น การ Online Learning ที่มีคุณภาพว่าต้องมีคุณสมบัติอย่างไร “สิ่งที่ กกอ. ช่วยตอนนั้นคือ ประเมินว่าหลักสูตรออนไลน์มีคุณภาพไหม และตีค่างานให้ ในส่วนของการประเมินผลต้องทำทั้ง 2 ทาง คือ อาจารย์และมหาวิทยาลัยเองต้องมอนิเตอร์ตรงนี้ด้วย ทาง กกอ. ก็จะดูในภาพรวมว่า มีคุณภาพจริงหรือไม่ หรือมีผลสัมฤทธิ์ไหม หมายความว่า คุณสามารถยกระดับความรู้ความสามารถของนิสิต นักศึกษาได้จริงหรือเปล่า นั่นคือสิ่งที่เราอยากเห็น” นพ.อุดม กล่าว
“แต่ผมย้ำนะครับ ว่าออนไลน์ไม่ได้มาแทนทุกอย่าง ผมเชื่อว่า การเรียนการสอนในปัจจุบันต้อง Blended ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์คู่กันไป ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบการศึกษาด้วยว่า อะไรจะเป็นออฟไลน์ อะไรจะเป็นออนไลน์ ที่สำคัญที่เรากังวล คือ ออนไลน์จะมีประสิทธิภาพจริงไหม แล้วการประเมินผลจะทำอย่างไร แน่นอนว่า มันสามารถมีคนมาทำแทนกันได้ ผมจึงเชื่อว่า จะต้องมีการประเมินผลหลายรูปแบบ เช่น Face to Face ผ่านดิจิทัล หรือรูปแบบ Sit In ที่มหาวิทยาลัย ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่จะต้องไปออกแบบกันอย่างมาก”
ผู้คนต่างเรียนรู้อะไรมากมายเมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 ในเรื่องของการจัดการการศึกษา นพ.อุดม กล่าวว่า กระบวนการที่หนึ่ง จะต้องมีการ Re-design การเรียนการสอน โดยมีเป้าหมายคือ New Normal Education หรือเป็น High Education ซึ่ง แบ่งเป็น 3 เป้าย่อย ได้แก่ 1) 2s Safety คือ การจัดการเรียนการสอนให้มีความปลอดภัยกับ Student (นิสิต นักศึกษา) และ Staff (อาจารย์ และบุคลากร) 2) Non-Crowded คือ การจัดการเรียนการสอนแบบแออัด หรือแบบเดิม ต้องเปลี่ยนไป 3) ความเสมอภาค ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า ที่ผ่านมาเรียนออนไลน์ไม่สามารถตอบโจทย์การเรียนการสอนในทุกพื้นที่ และทุกคน เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวว่า เรียนออนไลน์ ต้องตามไปดู ตามไปจัดหาจัดเตรียมให้ได้ ให้พร้อม ให้เข้าถึง “แก้ปัญหาเหล่านี้ไปด้วยกัน ต้องไปทุกคน การศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด ในการที่จะพัฒนาคนนั้นให้มีความรู้มีทักษะ มีสมรรถนะที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทุกคนต้องช่วยกัน ทุกคนต้องได้รับการศึกษาหรือรับรู้เหมือนกัน จะเกิดตรงนี้ได้จึงต้อง Re-design ต้องปรับ Infrastructure ต้องปรับ Workflow ต้องปรับ Mindset ตอนนี้คนมีความรู้ไม่เท่ากัน ต้องเติมในสิ่งที่เขาขาด และสุดท้ายคือ จะประเมินอย่างไร จะมอนิเตอร์อย่างไร เพื่อให้มีผลสัมฤทธิ์ตามที่ตั้งเป้าไว้ นี่คือ Re-design of Education”
ส่วนกระบวนการที่สอง คือ Digital Solution เพราะตอนนี้ Digital Transformation เข้ามามีบทบาทและเป็นตัวช่วยสำคัญ โดยมีการใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างหลากหลาย อาทิ Data Management การมอนิเตอร์ในเรื่องของคุณภาพและคุณค่า ฯลฯ สองกระบวนการ ทั้งการ Re-design และ Digital Solution จึงเป็นภาพใหญ่ที่ประกบคู่มาพร้อมกัน เพื่อตอบโจทย์เรื่อง New Normal Education ซึ่งวิกฤต COVID-19 เข้ามาเป็นเหมือนปฏิกิริยาเร่งให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี่เอง
ทว่ามหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทยต่างมีทักษะ และศักยภาพแตกต่างกัน กกอ. ทำหน้าที่เชื่อมโยงนโยบาย เชื่อมโยงมหาวิทยาลัย ตามยุทธศาสตร์ชาติ และโครงการปฏิรูปประเทศ รวมถึงเชื่อมโยงงบประมาณ “มหาวิทยาลัยที่ดีและน่าสนในมีหลายแห่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสนใจและทัศนคติของอาจารย์เป็นสำคัญ เช่น เขาไปเรียนรู้ เขาไปพัฒนาขึ้นมา คือ ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ทุกอย่าง ใครทำดีไปจับมือเขาเลย มา Collaboration กัน ต้องกล้าคิดกล้าทำ ไม่ต้องกลัวเสียหน้า ถ้าใครเก่งกว่า ก็ไปจับมือมาเลย มาช่วยสอน ยกระดับคุณให้เร็วขึ้น แล้วคุณจะพัฒนาได้เร็วขึ้น ผมคิดว่า เราต้องช่วยกัน ต้องร่วมมือกันมากกว่านี้ Barrier หรือกำแพงของมหาวิทยาลัย หรือระหว่างคณะ ต้องลดลง” นพ.อุดม กล่าว
ในวิกฤตมีโอกาส มีสิ่งที่ดีงามอยู่ การช่วยเหลือกัน ร่วมมือกัน แบ่งปันกัน เป็นงานที่จะต้องช่วยกันทั้งประเทศเพื่อยกระดับให้ไปด้วยกันได้ นพ.อุดม ย้ำว่า การศึกษาเป็นพื้นฐานของทุกอย่างจริง ๆ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม พื้นฐานคือ การศึกษา ถ้ามีการศึกษาที่ดี มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ จะยกระดับทุกอย่างได้ทั้งหมด “การศึกษานั้น หนึ่งคือ สร้างคน ให้มีทั้งความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่ดี เป็นกำลังพลที่มีศักยภาพสูง แข่งกับใครก็ได้ ขณะเดียวกัน การศึกษายังนำไปสู่การสร้างความรู้ใหม่ เช่น การทำวิจัย แค่นั้นไม่พอ เราต้องนำความรู้นั้นไปต่อยอด สร้างเป็นนวัตกรรม และนวัตกรรมนั้นต้องต่อยอดไปเป็นสินค้า และระบบบริการ ที่เรียกว่า เป็น Commercialization เราจะต้องลดการนำเข้า พึ่งพาตนเองให้ได้” นพ.อุดม กล่าว
เห็นชัดว่า ช่วง COVID-19 ประเทศไทยสร้างนวัตกรรมน้อยมาก นพ.อุดม ยกตัวอย่าง เรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในประเทศไทยมีมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยน้อยมาก ขณะที่ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเป็นวันละนับล้านชิ้น หรือเครื่องป้องกัน และอุปกรณ์อื่น ๆ ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ 100% “จริง ๆ หากพูดถึงอื่น ๆ ก็เหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะแค่อุตสาหกรรมทางการแพทย์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์เท่านั้น ผมคิดว่าเราต้องกลับมาดูตัวเอง เราต้องมาส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในประเทศจริง ๆ ให้ได้” นพ.อุดม กล่าว “นี่เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย เมื่อเกิดวิกฤต มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ร่วมมือกับเอกชน ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ขึ้น แม้อาจจะไม่ได้ระดับต่างประเทศ แต่ก็มีมาตรฐานที่ยอมรับและใช้งานได้ แต่เมื่อหมด COVID-19 เป็นหน้าที่รัฐบาลแล้ว ที่จะต้องยกระดับและต่อยอด เพื่อให้ได้นวัตกรรมที่เท่าเทียมกับนานาชาติ” นพ.อุดม กล่าว
จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กกอ. ได้แบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ตามความถนัด เพื่อให้การสนับสุนนแต่ละมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่และตอบโจทย์ กล่าวคือ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งมีความชัดเจนในเรื่องพัฒนาท้องถิ่น เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏจะพัฒนาและสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ไปเชื่อมโยงท้องถิ่น และชุมชนต่าง ๆ กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มมหาวิทยาลัย Frontier หรือเป็น World Ranking กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มเฉพาะทาง เช่น ด้านดิจิทัล และเทคโนโลยี ตัวอย่างของกลุ่มนี้ คือ 3 พระจอมเกล้า และ 9 ราชมงคล เป็นต้น นอกจากนี้ แต่ละกลุ่มยังต้องสามารถถ่ายทอด หรือเป็นพี่เลี้ยงส่งต่อความเชี่ยวชาญและความสามารถให้แก่กัน การแบ่งมหาวิทยาลัยทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าจะส่งเสริมอย่างไร ให้ตอบโจทย์ ให้ตอบโจทย์ Demand Side ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engine) ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม การสร้างกระบวนการเรียนรู้ ไม่ใช่เพียงสำเร็จการศึกษา และประกอบอาชีพ หากยังต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับภาคต่าง ๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเอกชน ภาคประชาสังคม จึงจำเป็นต้องคิด และออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้ครอบคลุม นพ.อุดม กล่าวถึงเมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือสมัยที่มีบัณฑิตจบใหม่ในสายสังคมเป็นส่วนใหญ่ แต่กลับว่างงาน เพราะประเทศกำลังขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่จึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างเด็กจบใหม่ที่มีทักษะ สมรรถนะ ตอบโจทย์แรงงาน และยุทธศาสตร์ชาติ จึงนำมาสู่การปรับแบบ Ready Made หมายถึง นิสิต นักศึกษา ต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ที่สำคัญ อาจารย์ต้องลงพื้นที่ตามไปสอนด้วยเช่นกัน ซึ่งสำนักงบประมาณให้งบประมาณถึง 120,000-150,000 ต่อคนต่อปี เพราะเป็นการปรับและเปลี่ยนแปลงที่ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามนโยบายปฏิรูปประเทศ “เชื่อไหมเอกชนแฮปปี้มาก เด็กก็แฮปปี้ เพราะเอกชนได้ถ่ายทอดงานเอง และปรากฏว่า บริษัท โรงงานต่าง ๆ เขารับเด็กที่ไปฝึกงานกับเขาไว้หมดเลย เพราะว่าเขาได้ถ่ายทอดเอง เขาได้เห็นว่าทำงานเป็น เมื่อจบจึงรับทำงานต่อเลย แต่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว อาจารย์ต้องออกจาก Comfort Zone เพื่อประเทศ” นพ.อุดม กล่าว “เราต้องช่วยประเทศ ไม่อย่างนั้นเราไปไม่รอด เรามีศักยภาพ แต่ปัญหาคือ ไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ไม่สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ การจะแข่งขันกับนานาชาติ จะต้องยกระดับตัวเอง สุดท้าย ต้องมาร่วมกัน Design ตั้งแต่ต้นจนจบให้ครบ Value Chain ทักษะ สมรรถนะต่าง ๆ ที่เป็นตัวสำคัญ วิชาการ 4-5 ปี ก็ล้าสมัย สิ่งสำคัญที่ต้องปลูกฝังให้เด็ก คือ ทักษะ สมรรถนะ และทัศนคติ ที่เขาจะปรับเปลี่ยนตัวเอง คิดว่า นี่คือ New Normal จริง ๆ”
แน่นอนที่สุด ในวันที่ Digital Transformation กลายมาเป็น กระดูกสันหลัง ของทุกอย่าง รวมถึง การก้าวสู่ ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ ใจความสำคัญไม่ได้อยู่ที่การนำ Digital Transformation มาใช้อย่างไร้ทิศทาง หากอยู่ที่ การปรับ หรือ Re-design รูปแบบการเรียนรู้ ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่นิสิตนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร มหาวิทยาลัย และที่สำคัญที่สุด คือ ประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและศักยภาพของประเทศต่อไป