Digital University กับการสร้าง Smart Society ภายใต้บริบทของระบบนิเวศที่เปี่ยมศักยภาพ

      ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิส่งเสริมทบวงมหาวิทยาลัย ‘สถาบันคลังสมองของชาติ’ มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการตอบสนองความต้องการของภาครัฐและสังคม ทั้งการแก้ไขปัญหาและการแสวงหาการริเริ่มเชิงนโยบาย โดยตั้งแต่ปี 2563 สถาบันคลังสมองของชาติสนับสนุนโครงการเตรียมความพร้อมสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลด้วยการสำรวจความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยในการก้าวไปสู่การเป็น Digital University หรือ Smart University เต็มรูปแบบ ด้วยการใช้เครื่องมือสำรวจความพร้อมตามความสมัครใจที่เรียกว่า Digital Maturity Model หรือ DMM กับการพิจารณาใน 5 มิติ ได้แก่ ทิศทางและการพัฒนาองค์กร ความพร้อมด้านพันธกิจ/ธุรกิจ ความพร้อมด้านระบบงานประยุกต์ ความพร้อมด้านข้อมูล และความพร้อมด้านเทคโนโลยี จากการแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ระดับที่ 1 Traditional University ระดับที่ 2 E-University ระดับ 3 Connected University และระดับที่ 4 Smart University พบว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีระดับความพร้อมที่แตกต่างและหลากหลาย

      ด้วยสถาการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งในประเทศไทยต่างต้องตั้งเกมรับและเดินเกมรุกด้วยการพึ่งพาเครื่องไม้เครื่องมือด้านดิจิทัลเทคโนโลยีกันอย่างหนักหน่วง หากก็เป็นการทวีความตื่นตัวในการนำสถาบันมุ่งสู่การเป็น Digital University หรือ Smart University เต็มรูปแบบอย่างจริงจัง ทั้งนี้การสร้างระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ของหนทางสู่เป้าหมายนั้น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงนโยบายต่าง ๆ มีความสัมพันธ์หรือมีผลต่อการสนับสนุนและผลักดันมากน้อยอย่างไร การเสวนาออนไลน์ Digital University : Enabling The Smart Society ภายใต้ประเด็น Digital University in Thailand Ecosystem หรือมหาวิทยาลัยดิจิทัลในนิเวศประเทศไทย มีหลากหลายประเด็นสำคัญให้ขบคิดและติดตามอย่างน่าสนใจ

บทบาทของภาครัฐและความสำคัญของ Digital University ต่อการขับเคลื่อนประเทศในยุคดิจิทัล

      “ภาครัฐคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าเข้าสู่โลกดิจิทัล” ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร. หรือ DGA) ย้ำว่าหากภาครัฐปรับตัวช้าจะส่งผลกระทบกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และอื่น ๆ บทบาทหน้าที่และภารกิจสำคัญของทั้งภาครัฐ และ DGA จึงเป็นการทำ Digital Transformation โดยหลักใหญ่ใจความอยู่ที่การเป็นรัฐบาลที่มีความเปิดเผย เชื่อมต่อข้อมูล และสร้างบริการใหม่ ๆ ให้กับประชาชนได้เข้าถึงบริการของรัฐผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ “เราคาดหวังให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานภายในให้เป็นดิจิทัลแบบ End-to-End Service เพื่อที่ทำให้เกิดความคล่องตัว และประชาชนได้รับบริการผ่านระบบออนไลน์ที่สะดวกรวดเร็ว” ดร.สุพจน์อธิบายพร้อมยากตัวอย่าง “ทาง DGA เองได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำแพลตฟอร์มกลาง เช่น Digital ID หรือแพลตฟอร์มสำหรับใช้ในการลงนามเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์มสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และระบบงาน E-Saraban ที่ให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาใช้ รวมถึงคลาวด์กลางของภาครัฐที่ทางกระทรวง DE (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ทำอยู่ และออกมาตรฐาน ไกด์ไลน์ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาบุคลากรภาครัฐ ตลอดจนให้ความรู้เรื่องการทำข้อมูล พัฒนาเรื่อง Data Governance และ Data Analytics ไปสู่ Big Data ในที่สุด”

      อย่างไรก็ตาม เพราะหน่วยงานในภาครัฐมีจำนวนมากถึงประมาณ 8,000 หน่วยงาน การขับเคลื่อนหน่วยงานต่าง ๆ สู่ Smart Government ในโลกของการเปลี่ยนผ่านทางด้านดิจิทัลเทคโนโลยีจึงไม่ใช่เรื่องง่าย 3 กลยุทธ์สำคัญที่ DGA นำมาใช้จึงได้แก่ 1) ร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความพร้อมสูง อาทิ แบงก์ชาติ 2) กำหนดวาระสำคัญของประเทศ “ด้านการศึกษาถือเป็นด้านที่มีความสำคัญมาก เราอยากให้เกิดการบูรณาการข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูลกันในเซกเตอร์การศึกษา บวกกับแรงงานที่เอกชนก็อยากได้ข้อมูลของผู้จบการศึกษา การทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลจะเป็นประโยชน์กับการวางแผนพัฒนาประเทศ และเป็นประโยชน์กับเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ดร.สุพจน์อธิบาย และ 3) หน่วยงานส่วนที่เหลือจำนวนกว่าอีก 7,000 แห่งที่ DGA ให้การสนับสนุนด้วยการทำเทมเพลต ไกด์ไลน์ และวิดีโอคลิป ในการดำเนินการ 2 เรื่อง คือ การทำ E-Service เพื่อให้บริการประชาชน และนำข้อมูลของภาครัฐที่มีอยู่มาทำให้เป็นข้อมูลเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จะเป็นผู้ทำหน้าที่กำหนด KPI และติดตามประเมินผลภาครัฐ “หลัก ๆ ตอนนี้งานที่เราทำก็คือร่วมกับหน่วยงานรัฐเพื่อขับเคลื่อนภาครัฐให้ไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ปัจจุบันมีบริการ E-Service มากขึ้น และกำลังจะยกระดับสู่เฟสต่อไป คือ Data Driven Government เป็นการจัดทำข้อมูลเป็นดิจิทัลและนำมาใช้ประโยชน์” ดร.สุพจน์กล่าวถึงความท้าทาย

      สำหรับเป้าหมายการเดินหน้าสู่ Digital University เต็มรูปแบบของสถาบันอุดมศึกษาไทยนั้น ดร.สุพจน์มองว่าเป็นอีกหัวใจสำคัญที่จะยังประโยชน์ให้กับภาครัฐ เพราะมหาวิทยาลัยมีภารกิจหลักในการผลิตกำลังคนเพื่อให้เป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศ “ทิศทางสมัยใหม่คงไม่ได้เน้นเฉพาะการผลิตบัณฑิตเพื่อเข้าไปทำงานในบริษัทที่พยายามทำงานเดิมซ้ำ ๆ กันอีกต่อไปแต่คงต้องมุ่งเน้นไปในลักษณะของการพัฒนาคนที่มีความเป็น Entrepreneurship สามารถริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าจะต้องไปทำงานอยู่ในองค์กรหรือก่อตั้งสตาร์ตอัปก็แล้วแต่ ทำอย่างไรให้เขาสามารถริเริ่มงานใหม่ ๆ ได้ภายใต้บริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกดิจิทัล”

      นอกจากนี้ จากส่วนหนึ่งของแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฉบับใหม่ (ปี 2566-2570) ซึ่งอยู่ระหว่างการร่าง DGA ต้องการเห็นการบูรณาการและการเชื่อมโยงอันจะนำมาซึ่ง Education Data Platform โดยนโยบายของรัฐบาลต้องการเห็นการพัฒนาประชาชนไทยทุกช่วงวัย หมายรวมถึงการศึกษาทั้งในและนอกระบบ “เป็นเรื่องของ Lifelong Learning เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้เรียน ตั้งแต่มุมของการให้บริการ เราอยากเห็นระบบงานต่าง ๆ เกิดขึ้น ภาพที่ควรจะเป็นคือบริบทของผู้สอน การพัฒนาระบบการศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นอย่างไร และจากมุมของประชาชน คือการเข้าถึงและสามารถใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้” ดร.สุพจน์กล่าว “ระบบที่มองว่าเป็นโครงการสำคัญในอนาคต คือ เรื่องธนาคารหน่วยกิต ระบบการประเมิน รวมถึง E-Education Hub นอกจากนี้คือเรื่องของการบูรณาการข้อมูลการศึกษาทั้งหมดไปเชื่อมโยงกับเรื่องของกำลังแรงงานเพื่อจะได้เห็นภาพว่าในอนาคตอันใกล้มหาวิทยาลัยกำลังผลิตบัณฑิตในสาขาอะไร ในขณะที่ความต้องการจริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร เกิดการ Match หรือ Mismatch อย่างไร จะได้รู้ว่าเราควรพัฒนาบุคลากรไปทางด้านไหนมากขึ้น เรียกว่า Single View of Education หรือ Single of Learners ถ้าสามารถทำได้ภายในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผมมั่นใจว่าการผลักดันมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็น Digital University ที่พร้อมด้วยระบบข้อมูลต่าง ๆ จะเป็นการตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาประชากรไทยและสร้างตลาดแรงงานที่มีความเข้มแข็งเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป”

 

Smart Thailand : เชื่อมร้อยองค์ความรู้ สร้างกลุ่มความร่วมมือ สู่การพัฒนายั่งยืน

      ในฐานะที่ภาคอุตสาหกรรมไทยคือหนึ่งแรงขับเคลื่อนหลักให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ Smart Society หรือ Smart Thailand คุณไพฑูรย์ ศิริฉัตรชัยกุล รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวไว้ว่าภาคอุตสาหกรรมไทยจะต้องเป็น Smart Industry เช่นเดียวกัน สำหรับ สอท. ซึ่งมีผู้ประกอบการทางด้านอุตสาหกรรมเป็นสมาชิกอยู่ที่ 14,500 ราย เป็น SMEs 80% และบริษัทขนาดใหญ่ประมาณ 10% ภายใต้องคาพยพของ สอท. ซึ่งนำโดยคุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. เข้าใจถึงผลกระทบของ Digital Disruption ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง จึงมีวิสัยทัศน์เรื่อง Industry Transformation ให้กับภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยแบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) Area-based ครอบคลุมทุกจังหวัดในประเทศไทย มีประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดดูแลสมาชิก 2) Industrial-based ประกอบด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มอาหาร กลุ่มหัตถกรรม กลุ่มสมุนไพรไทย ฯลฯ ขณะที่ ส.อ.ท. เป็นศูนย์รวมและสนับสนุนการขับเคลื่อนให้กับผู้ประกอบการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทุก ๆ มิติ ดังตัวอย่างเมื่อครั้งที่ ส.อ.ท. จัดงานเสวนาเพื่อสร้างความตระหนักและให้ความรู้กับผู้ประกอบการเกี่ยวกับ Industry Transformation การร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการทำประเมินสถานะความพร้อมเข้าของผู้ประกอบการสู่อุตสาหกรรม 4.0 หรือการจัด FTI Expo 2022 ที่มุ่งเน้นเรื่อง BCG Economy หรือ Bio-Circular-Green Economy ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้ ส.อ.ท. และซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศไทย เป็นต้น

      “เรื่องเกษตรอุตสาหกรรม เรามีสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ที่มองตั้งแต่ดีมานด์ ซัปพลาย การเพาะปลูก การเตรียมดิน การแปรรูป ครบวงจร นอกจากนี้เรามีคณะกรรมการทำงาน Smart Agriculture Industry หรือ SAI ซึ่งร่วมทำงานกับมหาวิทยาลัยในการทำโครงการนำร่องเพื่อ Roll Out ต่อไปในอนาคต และอีกด้านหนึ่งคือธีมเรื่องสุขภาพ (Health) และไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) ซึ่งมีคณะทำงานที่หลอมรวมเรื่องเครื่องมือแพทย์ สุขภาพ ยา อาหารเสริม ไลฟ์สไตล์ เครื่องสำอางต่าง ๆ เข้ามาเป็นคลัสเตอร์และร้อยเรียงกระบวนการทำงาน (Process) หรือ Supply Chain ไปจนถึงมือผู้บริโภค” คุณไพฑูรย์ยกตัวอย่างพร้อมขยายภาพความชัดเจน “ทั้งหมดล้วน ‘ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม’ และ ‘ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา’ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดการทำงานในลักษณะพาร์ตเนอร์ชิป สามารถใช้ดิจิทัลมาแอปพลาย ทำให้เกิดคอมมูนิตี และเกิดการแชร์เดต้า”

      ในแง่มุมของมหาวิทยาลัย คุณไพฑูรย์กล่าวว่าเมื่อสถาบันอุดมศึกษามุ่งสู่การเป็น Digital University หรือ Smart University เต็มรูปแบบแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะเชื่อมโยง (Connect) กันระหว่างมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่จะต้องเชื่อมโยงกับเอกชนและภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน ยกตัวอย่าง FTI Academy ที่เกิดขึ้นจากการทรานส์ฟอร์เมชันภายใต้ ส.อ.ท. ได้สร้าง 74 หลักสูตรจากภายใน ทั้งรูปแบบฟรีและมีค่าใช้จ่าย เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ให้กับสมาชิก นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษา และธุรกิจ เช่น สตาร์ตอัปต่าง ๆ ที่มีคอนเทนต์และแพลตฟอร์มดี ๆ รวบรวมหลักสูตรได้ทั้งหมด 241 หลักสูตรที่มีความหลากหลาย อาทิ กฎหมาย การเงิน ฯลฯ “เป็นหลักสูตรที่ครอบคลุมทุกด้าน มีรูปแบบการเรียนสอนคละกัน ทั้ง Classroom, E-Learning และ On-Site เราคงทำหลักสูตรหรือคอนเทนต์เองไม่ไหว จึงขอให้พาร์ตเนอร์มาจอยและแชร์กัน คอนเทนต์ที่มีค่าใช้จ่าย ทาง ส.อ.ท. ก็นำค่าสมาชิกมาเป็นส่วนลดสักส่วนหนึ่งเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เหมือนการคืนกำไรให้กับสมาชิก เพราะฉะนั้นเรามองทั้งกระบวนการ ทั้งการตลาด ทั้งคอนเทนต์ ทั้งคอนเนกต์ เกิดคอมมูนิตี”

      อย่างไรก็ตาม เพราะองค์กรส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีลักษณะการบริหารจัดการแบบไซโล การที่ทุกภาคส่วนจะนำประเทศมุ่งสู่ Smart Thailand ความท้าทายจึงอยู่ที่การทลายไซโล ซึ่งต้องตั้งต้นกันตั้งแต่ Mindset ในการพัฒนาและบริหารจัดการกระบวนการทำงานต่าง ๆ “สุดท้ายก็ต้องคอนเนกต์ ต้องพาร์ตเนอร์ชิปกัน แล้วทำให้ยั่งยืน หน่วยงานรัฐ หน่วยงานการศึกษา ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่การสร้างคอนเทนต์เพียงอย่างเดียว ยังสามารถ Provide เรื่องผลงานวิจัย เช่นในอนาคตที่กระทรวง อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ประสานความร่วมมือกับมูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมเพื่อร่วมกันสนับสนุน SMEs อย่างครบวงจร กระทรวง อว. ก็สามารถทำผลงานวิจัยใหม่มาคอนเนกต์และสร้างคอมมูนิตีกัน ขอทิ้งท้ายไว้ว่าจะต้องพร้อมใจ คือ เปิดใจกันก่อน แล้วพร้อมคิด มาช่วยกันคิด และพร้อมทำ ก็คือลงมือทำและปรับปรุงให้ดีขึ้น นี่เป็นจุดสำคัญเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืน”

      สิ่งแวดล้อมของการพัฒนา Digital University เพื่อส่งต่อองค์ความรู้และกำลังคนสู่โลกแห่งอนาคต

จากภาครัฐบาลและภาคอุตสาหกรรม มาสู่ฝ่ายที่ทำหน้าที่ผลิตกำลังคนออกไปสู่สังคมดิจิทัล ซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รศ. ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองแห่งชาติ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง Big Data จำนวนมหาศาลที่อยู่ในแวดวงการศึกษาว่าเป็นข้อมูลที่อยู่กันคนละที่คนละทาง ไม่มีพลังในการขับเคลื่อน ไม่มีพลังในการนำมาใช้ “ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนหัวรถจักรเชิงความรู้ที่ทำหน้าที่ลากขบวนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม สังคม ประชาชน หรือชุมชนต่าง ๆ โดยอาศัยดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น รวดเร็วขึ้น ประหยัดเวลาขึ้น และถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น ตอนนี้เวลาเราอยากรู้อะไรก็เพียงค้นหาในกูเกิล เราจึงอยากจะเห็นมันเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้ทันที แต่ปัจจุบันข้อมูลต่าง ๆ ยังอยู่กระจัดกระจายกัน”

      อย่างไรก็ตาม ทิศทางของประชุมของอธิการบดี (ทปอ.) ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเอกชน พบว่าวิสัยทัศน์ของทุกแห่งต้องการก้าวเข้าสู่การเป็น Digital University ทั้งหมด “เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องดำเนินการเพื่อสร้างคนให้พร้อมที่จะเข้าไปสู่โลกใหม่ที่เป็นยุคดิจิทัล คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นดิจิทัลตั้งแต่ต้นให้กับผู้เรียนเพื่อสามารถเป็นหลักในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไม่ว่าจะเป็นในภาครัฐหรือภาคเอกชน”

      จากการสำรวจความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย (Health Check) ในการก้าวไปสู่การเป็น Digital University ด้วยการใช้เครื่องมือ DMM ที่พบความแตกต่างของแต่ละสถาบันการศึกษา กล่าวคือ บ้างยังอยู่ในขั้นเตาะแตะ บ้างเริ่มใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และบ้างมีความใกล้เคียงที่จะเป็น Digital University เต็มรูปแบบ สถาบันคลังสมองแห่งชาติจึงมุ่งหวังที่จะได้เห็นสภาพแวดล้อมของ Digital University ที่สมบูรณ์ อาทิ นิสิตนักศึกษาสามารถตรวจสอบช่วงเวลาการมาถึงของรถรับ-ส่งผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ มหาวิทยาลัยสามารถมอนิเตอร์และควบคุมความหนาแน่นของประชากร ณ แต่ละพื้นที่ หรือการวางแผนเชิงการเงิน ทิศทาง หรือยุทธศาสตร์ที่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ เช่น มีจำนวนอาจารย์ ผลงานมีวิจัย หรืองบประมาณเท่าไร เป็นต้น เรียกว่าเป็นภาพของการก้าวเข้าสู่การเป็น Fully Digital University อย่างแท้จริง

      “ถามว่าทำไมถึงต้องเป็นแบบนั้น เราไม่ได้บอกว่าต้องการให้มหาวิทยาลัยดูมีความเป็นเลิศหรือมีความหรูในเรื่องดิจิทัล แต่อยากจะให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะในการสร้างคน เพื่อให้คนที่จะออกไปอยู่ในโลกที่ต้องเจอกับดิจิทัล มีความรู้ติดตัว ข้อสำคัญ ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยตั้งร้อยกว่าแห่ง ถ้านำข้อมูลที่สามารถเปิดเผยมารวมกันได้ ก็จะกลายเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เรียกว่าใกล้กับความเป็น Big Data ที่กล่าวไว้ข้างต้นมากขึ้น หมายความว่าภาครัฐและภาคเอกชนสามารถหยิบข้อมูลตรงนี้ไปใช้กำหนดทิศทางและบริหารประเทศได้”

      ในส่วนของการเชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ Smart Thailand ดร.พีรเดชอธิบายว่าการทำงานในฟากฝั่งของการอุดมศึกษานั้นมุ่งเน้นเรื่องความรู้และการสร้างคนเป็นหลัก หากองค์ประกอบหลักของงานด้าน Digital University แบ่งได้ 3 ส่วน คือ 1) ฮาร์ดแวร์ ซึ่งหมายถึงเครื่องมือต่าง ๆ 2) ข้อมูลที่มีคุณภาพและสามารถเชื่อมโยงกันได้ และ 3) คน ซึ่งทั้ง 3 ส่วนต้องได้รับการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน “ถ้ามหาวิทยาลัยไหนมีความพร้อมในทั้ง 3 ส่วนนี้ก็สามารถใช้ความเป็น Digital University ขับเคลื่อนสังคมและประเทศสู่ Smart City ในที่สุด” ดร.พีรเดชกล่าว “สิ่งที่อยากเน้น คือ ทุกมหาวิทยาลัยทำได้ถ้ามีความมุ่งมั่น ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ ไป ค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นไป ถ้ามหาวิทยาลัยมีความพร้อมก็ย่อมจะเป็นหัวขบวนหรือหัวรถจักรอย่างที่ได้กล่าวไว้ ในการขับเคลื่อนองคาพยพต่าง ๆ ของประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่ควรจะพัฒนา เพราะดิจิทัลเทคโนโลยีคือเครื่องมือที่ช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เรื่องความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนสังคมและประเทศยังเป็นอีกเรื่องสำคัญ เมื่อหัวรถจักรมีความพร้อมก็ต้องถามผู้ร่วมขบวน เช่น ถามภาครัฐถามภาคเอกชนว่าอยากทำอะไร ต้องการคนแบบไหน ต้องการความรู้แบบไหน ที่สำคัญคือการสร้างช่องทางหรือ Outlet ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก สำคัญที่สุด คือ การสร้างคนเพื่อรองรับการเติบโตทางด้านดิจิทัลของประเทศต่อไป”

      การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยให้เข้าสู่การเป็น Digital University เต็มรูปแบบถือเป็นการสร้างความแข็งแกร่งทางด้านดิจิทัลให้กับมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นพลังหรือเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศ ทั้งด้านกำลังคน ด้านข้อมูล และอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

หัวใจของการไปสู่ Smart University และ Smart Thailand

      หลังจากเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับคำว่า ‘ดิจิทัล’ กันเป็นอย่างยิ่ง อาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล มักจะสะกิดเตือนอยู่เสมอ เพราะหลายครั้งเมื่อพูดถึง ‘ดิจิทัล’ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะกระโจนเข้าสู่เรื่องเทคโนโลยี อาทิ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรือเรื่องการเรียนออนไลน์-ออนแอร์-ออนไซต์ หากในความจริง หัวใจของการไปสู่ดิจิทัลตั้งต้นที่ Mindset ในการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ ปรับตัวอยู่กับสถานะปัจจุบัน และใช้เครื่องมือที่อยู่ในยุคปัจจุบันได้อย่างทรงพลัง ฉะนั้นการสนับสนุนให้มหาวิยาลัยพัฒนาไปสู่การเป็น Digital University หรือ Smart University เต็มรูปแบบจึงมุ่งเน้นที่ผู้บริหารและคน เพื่อผลักดันให้เกิด 3 สิ่งสำคัญ ได้แก่ 1) มีความเข้าใจตรงกันในเรื่องความเป็น Digital University ซึ่งไม่ใช่เรื่องการทุ่มหรือลงทุนเทคโนโลยีจำนวนมาก โดยคาดหวังว่า Digital University จะเกิดขึ้นตามมา 2) ร่วมสำรวจความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการก้าวไปสู่การเป็น Digital University ซึ่งแบ่งได้ 4 ระดับดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และพบว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เกาะกลุ่มกันอยู่ที่ระดับ 2 ซึ่งถือว่ามีพื้นที่สำหรับการปรับปรุงต่อไป โดยอนาคตจะมีการทำสำรวจความพร้อมของมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า Leading to the Smart Society เพื่อปลุกความตื่นตัวและตื่นรู้ของมหาวิทยาลัยให้มากยิ่งขึ้นว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างไร และพื้นที่ยืนอยู่ ณ จุดไหน โดยเน้นการเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันมากกว่าเป็นที่หนึ่งตามลำพัง และ 3) เรื่องของ Platform Learning ที่จะเผยแพร่โมดูล E-Learning เป็นระยะ

      “ความเป็น Digital University ก็คือยุคดิจิทัล ไม่ใช่เทคโนโลยีดิจิทัล แต่หนีไม่พ้นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีที่เป็นดิจิทัล และคำว่า Digital University หมายถึง Mindset หรือวิธีคิดที่ไม่เหมือนเดิม จากที่เคยใช้การเป็นที่หนึ่ง หรือ Ranking ว่าเราชนะคนอื่น คนอื่นต้องทำอย่างเรา เมื่อเป็นดิจิทัลหลายอย่างคอนเนกต์และเกิดพาร์ตเนอร์ชิป พลังของดิจิทัลจากเน็ตเวิร์กทำให้เกิดการหาคุณค่า หาตัวตน หา Positioning ของตัวเอง” อาจารย์ดนัยรัฐอธิบาย “ส่วนที่ 2 หลักสูตรยาว ๆ ที่เคยทำเป็น Academic นั้นไม่ได้เสียหาย แต่จะต้องมีหลักสูตรที่คร็อปออกมาสั้น ๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถที่จะ Achieve สิ่งที่เขาต้องการ และเมื่อเจอปัญหาหรืออุปสรรค เขาจะได้ต่อยอดองค์ความรู้ตรงนั้น อย่าให้เขารอจนถึงขั้น 4 ปี เพราะบางครั้งโลกมันเปลี่ยนเร็ว ไม่ได้หมายความว่าห้ามมีหลักสูตร 4 ปี แต่ให้เขามี Achievement ได้เห็นและได้ฝึกมากขึ้น ส่วนสุดท้าย ควรจัดให้มีการเรียนจากกันเองมากขึ้น เรียกว่า Flipped Learning คือให้เกิดการเรียนรู้กันเอง อาจารย์หรือครู Facilitate องค์ความรู้นั้นด้วยเกณฑ์ที่เป็นธรรมและถูกต้อง เพราะบางวิชาไม่สามารถเรียนกันเองได้ ยุคของดิจิทัลทุกอย่างมาเร็ว เปลี่ยนแปลงเร็ว มหาวิทยาลัยจึงต้องตื่นตัวในการปรับเปลี่ยน เชื่อมโยง จากเป้าหมายที่ชนะตามลำพัง เป็นเป้าหมายร่วมกันสู่สังคมยุคใหม่”

      ในส่วนของความสัมพันธ์หรือความเชื่อมโยงการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยสู่การเป็น Digital University กับ Smart Thailand อาจารย์ดนัยรัฐพาไปทำความเข้าใจกับคำว่า Smart ให้ชัดเจนอีกครั้ง กล่าวคือ เป็นการ ‘ทำน้อย ได้ผลมาก’ และไม่ใช่ทำเพื่อตัวเองคนเดียวตามลำพัง แต่เป็นการทำเพื่อมวลชนหรือประเทศไทยทั้งประเทศ “ทีนี้แต่ละมหาวิทยาลัยควรทำอะไร สิ่งที่ควรจะต้องกลับไปดูเลยก็คือ 1) Positioning เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีความเป็นยูนีก เรียกว่าแข่งกันไม่ได้ และแทนที่จะแข่งกัน ให้ปรับ Mindset กลับมาดูว่าจริง ๆ มหาวิทยาลัยของเราเก่งอะไร เพื่อที่จะช่วยผลักดัน ‘ทำน้อย ได้ผลมาก เพื่อประเทศไทยไปด้วยกัน’ 2) เมื่อปรับ Mindset แล้ว Skillset จะอยู่ที่เดิมไม่ได้ เพราะฉะนั้น Toolset จะต้องตามมา Mindset ที่กว้างใหญ่ แข็งแกร่ง เหมือนเสริมใยเหล็กเหนียวแน่น จะได้ Skillset ที่กว้างใหญ่เช่นกัน หลังจากนั้นเมื่อลงไปที่ Toolset ก็จะไม่เป็นเรื่องที่ยากเกินไป อยากให้มหาวิทยาลัยมองว่าคำว่า Digital University ว่าไม่ใช่แค่การ Transform Process แต่เป็นการ Transform ไปถึงเป้าหมาย ดังนั้นไม่เปลี่ยน Mindset ไม่ได้ ถ้า Mindset เดิม เป้าหมายจะเหมือนเดิม จะยึดติดความสำเร็จเดิมด้วยวิธีเดิม การก้าวไปสู่ Digital University ต้องดูเป้าหมาย ที่เรียกว่า Smart Thailand

      ท้ายสุดแต่ไม่ใช่สุดท้าย (เพราะการสนทนาแลกเปลี่ยนมุมคิดและประสบการณ์ผ่านงานเสวนาออนไลน์ Digital University : Enabling The Smart Society ยังคงล้อมวงระยะไกลและจัดการพูดคุยขึ้นอย่างต่อเนื่อง) อาจารย์ดนัยรัฐสรุปว่าการเดินทางสู่ Smart Society นั้นต้องเริ่มจาก 1) Flagship คุณค่าและตัวตนของตัวเอง 2) Partnership ซึ่งหมายรวมถึง People “อย่าเอา KPI ผูกกับตัวเราคนเดียว ให้โตเป็นเครือข่าย และโตไปด้วยกัน เวลาที่ไปจะมีคนคอยสะกิดหลังว่าสิ่งที่ทำมันนั้นมีความเสี่ยงหรือมีอะไรหรือไม่ เวลาเราลอยลมบนไปแล้ว แต่รู้สึกเหนื่อย พาร์ตเนอร์จะคอยส่งลมใต้ปีกให้เราเดินต่อไป” และ 3) Digitalship ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Technology Distributed, Architecture, Blockchain จนไปถึง Metaverse เมื่อมี Partnership ที่ดีก็ไม่จำเป็นต้องลงทุน Digitalship เพียงแค่คนเดียว จะทำไปด้วยกัน จะไม่มีอะไรทำตามลำพังอีกต่อไป

 

ชมเสวนาออนไลน์ Digital University : Enabling The Smart Society ในหัวข้อ Digital University in Thailand Ecosystem (มหาวิทยาลัยดิจิทัลในนิเวศประเทศไทย)” ได้ที่นี่

https://www.facebook.com/digitaluniversity.thai/videos/756116165795743