การก้าวสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ในทัศนะของ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน

                 ถือเป็นโอกาสสำคัญ เมื่อผู้ใหญ่แห่งวงการการศึกษาไทย ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารสถาบันคลังสมองของชาติ และนายกสภามหาวิทยาลัย 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดสำนักงาน ‘วิจิตรภาคียสถาน’ ต้อนรับทีมงานให้เข้าพบและสนทนาในหัวข้อสำคัญเกี่ยวกับการอุดมศึกษาที่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กำลังเดินทัพมุ่งหน้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มกำลัง โอกาสนี้ ศ.ดร.วิจิตร ไม่เพียงแต่ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานให้ฟังอย่างน่าสนใจ หากยังชวนคิดในประเด็นสำคัญ ตลอดจนถึงโอกาสในการก้าวสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ พร้อมให้กำลังใจคนทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาและประเทศของเราไปด้วยกัน

ชวนพิเคราะห์

จาก ‘ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580’ ซึ่งทำหน้าที่เป็นกรอบชี้นำทิศทางการพัฒนาประเทศทุกมิติในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ตอบรับด้วยการกำหนดแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564-2570 ว่าด้วยเรื่องนโยบายการพลิกโฉมการศึกษาด้วยระบบดิจิทัล (Digitalization for Educational and Learning Reform) และต่อมา สถาบันคลังสมองของชาติ ได้ตอบสนองต่อความต้องการของภาครัฐและสังคมในการแก้ปัญหาและแสวงหาความริเริ่มเชิงนโยบายใหม่ ๆ ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้วยกระบวนการทางวิชาการ บนฐานของข้อมูลและการวิเคราะห์วิจัย ผ่านการประสานกับเครือข่ายนักวิชาการจากอุดมศึกษา โดยเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการสนับสนุนให้มีการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital Transformation Health Check for University Preparedness) โดยมีเป้าหมายเพื่อสำรวจความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในการก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลไปแล้วนั้น

สำหรับ ศ.ดร.วิจิตร เห็นว่า การที่มหาวิทยาลัยจะมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลต้องเริ่มจาก ‘การพิเคราะห์’ ว่ามหาวิทยาลัยของไทยในปัจจุบัน นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาส่งเสริมการทำงาน หรือเป็นเครื่องมือในการประกอบภารกิจแล้วเพียงใด ซึ่งจากอดีตพบว่า มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้มากขึ้น หากยังไม่เป็นระบบที่สมบูรณ์แบบ ทว่าเมื่อเกิดวิกฤตการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มาตรการคัดกรองและการเว้นระยะที่เคร่งครัดของภาครัฐ ส่งผลต่อการเรียนการสอนรูปแบบเดิมในมหาวิทยาลัย ‘การเรียนออนไลน์ในแบบเร่งรัดทำกันขึ้น’ จึงเป็นทางออกให้นิสิต นักศึกษา สามารถเรียนหรือศึกษาได้ “ทุกคนคิดว่านี่จะเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อรอให้สถานการณ์กลับมาปกติ แต่ก็ชัดเจนขึ้นว่า มันอาจจะเป็นปัญหาระยะยาวกว่าที่คิด เพราะฉะนั้น การพัฒนาเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ โดยทำให้ ‘มหาวิทยาลัยเป็นระบบดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ’ คงเป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ปัญหาก็คือ ไม่ใช่คิดแล้วทำได้เลย เพราะความพร้อมของมหาวิทยาลัย เรื่องบุคลากรที่รู้ ที่เข้าใจ แล้วจะลุกขึ้นมาทำ ยังมีน้อย” ศ.ดร.วิจิตร กล่าว

งานสำคัญ…‘เตรียมความพร้อม’

การนำใช้นำเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ใช่เทรนด์หรือกระแสที่เมื่อใครทำก็ทำตามกันได้ มหาวิทยาลัยดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบต้องพร้อมด้วย ‘ความพร้อม’ อาทิ การเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยดิจิทัล ไม่เพียงแต่อาจารย์จะมีความพร้อมเพียงฝ่ายเดียว หากนิสิต นักศึกษาเองต้องพร้อม โดยที่พร้อมทั้งองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงระบบการเชื่อมถึงต่าง ๆ เป็นต้น

“เรายังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายมหาวิทยาลัย หรือว่าฝ่ายนักศึกษา เครื่องไม้เครื่องมือไม่ได้มีไว้เพื่อรองรับระบบดิจิทัล แต่มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และเอื้อต่อการสืบค้นข้อมูลที่เข้าถึงได้ด้วยระบบดิจิทัล ซึ่งนั่นไม่ใช่ระบบของศึกษาออนไลน์สมบูรณ์แบบในทุกขั้นตอน” ศ.ดร.วิจิตร กล่าว “ปัญหาในการพัฒนาให้มหาวิทยาลัยมีความพร้อมเรื่องเหล่านี้ คือ ต้องลงทุน ทั้งในเรื่องการสร้างเครื่องมือที่เป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับสนับสนุนภารกิจต่าง ๆ ด้วยระบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน การวิจัย การบริการด้านวิชาการ เรื่องที่ 2 ก็คือ ต้องพัฒนาบุคลากร ต้องพัฒนา Mindset ให้เขาเห็นว่า การเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ด้วยดิจิทัล เป็นเรื่องที่เพิ่มคุณค่าของการสอนมากกว่าลด และไม่ใช่การทดแทน แต่เป็นการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ดีขึ้น สะดวกขึ้น เท่ากับว่าเป็นมาตรการส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานการศึกษาให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งยังเหมาะกับยุคปัจจุบันที่สภาวะแวดล้อมของคนในทุกวันนี้อยู่กับดิจิทัลมากกว่าเรื่องอื่นทั้งหมด”

จากแนวคิดในการก้าวสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ที่ทำให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต้องเร่งสร้างความพร้อมแล้วนั้น อีกด้านหนึ่งที่ ศ.ดร.วิจิตร ย้ำคือ ระบบที่เหมาะสำหรับสนับสนุนการทำภารกิจ ซึ่งมีอย่างน้อย 2 ภารกิจที่จำเป็น ได้แก่ การสอน และการวิจัย นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงบุคลากรที่อาจไม่มีประสบการณ์ด้านการนำใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยต้องรับหน้าที่ในการพัฒนาบุคลากรเหล่านั้น อาทิ การตั้งหน่วยพัฒนา ซึ่ง ศ.ดร.วิจิตร ย้อนถึงครั้งที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชทำชุดการสอนด้วยระบบเดิม หรือเป็นสิ่งพิมพ์ เมื่อต้องการพัฒนาสู่ระดับต่อไป ยังต้องมีคณะกรรมการกลุ่มผลิต และหน่วยสนับสนุนการผลิต เช่น หน่วยเทคโนโลยีการศึกษา หน่วยวัดผล ตลอดจนอีกหลายฝ่ายเพื่อร่วมกันทำโครงการดังกล่าว

“ที่ต้องคำนึงถึงมาก ๆ ก็คือ นักศึกษา หรือผู้รับบริการ ว่าแต่ละกลุ่ม และแต่ละเรื่อง เขาพร้อมแค่ไหน ถ้าเขาไม่พร้อม มันก็ตบมือข้างเดียว ส่งไปก็ไม่มีใครรับ เรื่องความพร้อมของนักศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ มหาวิทยาลัยควรจะสร้างความพร้อมให้กับนักศึกษา และบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบคู่ขนาน” ศ.ดร.วิจิตร เสริม

การเรียนการสอนแห่งอนาคต ความพร้อมจากภายในและภายนอก

การสร้างและพัฒนาความพร้อมด้านต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยนั้น ยังนับว่าไม่เพียงต่อการก้าวสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ “มันต้องพึ่งภายนอกด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าประเทศจะให้มีการสอนด้วยดิจิทัลแก่ทุกคนในทุกพื้นที่ คนในพื้นที่ต่าง ๆ เหล่านั้นเขาพร้อมหรือไม่ หลายเรื่องต้องพึ่งเมืองนอก เช่น ผมจัดสอบออนไลน์ ผมต้องพึ่ง The Cloud และต้องมั่นใจว่า เมื่อใช้ The Cloud แล้ว ไม่ว่าที่ไหนในโลก เมื่อคนไทยที่นั่นเรียน เขาสามารถสอบได้ หรือที่ผมทำให้กับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คนไทยใน 30 กว่าประเทศสามารถสอบได้เลย เขาจะทำได้เขาก็ต้องมีความพร้อม เขาต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีอินเทอร์เน็ต และรับ The Cloud ได้ มหาวิทยาลัยตามลำพังทำไม่ได้หรอก มันเกินขอบเขต มันก็ต้องสร้างความพร้อมของมหาวิทยาลัยให้มีเครื่องมือ ให้มีระบบ ให้มีคนพร้อมทุกฝ่าย แล้วพัฒนาขึ้นตามความเหมาะสมของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ซึ่งลักษณะจำเพาะของตน การพัฒนาเรื่องนี้มีทั้งส่วนภายในและภายนอกที่ต้องเชื่อมกันทั้งหมด”

นอกจากความเข้าใจในวิธีการแล้ว ดังที่กล่าวว่า ต้องจัดเตรียมความพร้อม ‘โดยเฉพาะสำหรับนักศึกษา’ ให้สามารถเข้ามาร่วมในกระบวนการและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ “การใช้เทคโนโลยีบางอย่างอาจเกินกำลังเด็กที่ยากจน เป็นไปได้ไหมที่มหาวิทยาลัยอาจจะให้เป็นเงินยืม หรืออาจจะมีเทคโนโลยีเหล่านั้นให้เขาเช่าใช้ หรือไปร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่เขาใช้เครื่องมือเหล่านี้อยู่แล้ว เช่น ถ้าจะจัดสอบ และ กศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) เขามีการจัดสอบในทำนองเดียวกัน ซึ่งคนของ กศน. ก็เยอะ แล้วต้องใช้เครื่องมือในการสอบแบบออนไลน์ ถ้ามีการสำรวจ และตกลงความร่วมมือกัน ก็ไม่ต้องลงทุนซ้ำ นักศึกษาบางคนต้องเคลื่อนที่นิดหน่อย ความพร้อมภายในและภายนอกเช่นนี้ ถ้าเร่งรัดกันจริง ๆ น่าจะนำไปสู่ในระบบดิจิทัลนี้ได้”

Blended Leaning…เรียนแบบผสมผสาน

เนื่องจากการศึกษาในระดับอุดมศึกษาประกอบด้วยหลากหลายสาขา และการเรียนการสอนจำนวนหนึ่งนั้นเป็นภาคปฏิบัติ จะใช้เพียงบทเรียนออนไลน์ในภาคทฤษฎีไม่เพียงพอ ศ.ดร.วิจิตร เล่าถึงความก้าวหน้าของหลาย ๆ ประเทศว่า เริ่มสร้าง Virtual Laboratory หรือ Open Laboratory เพื่อพัฒนาสื่อการสอนให้สามารถปฏิบัติได้เอง “แต่มันแทนไม่ได้ทั้งหมด การเรียนการสอนประเภท Hands On คือ จำเป็นต้องสัมผัสของจริง ยังมีอยู่ แต่ลดลงไปเหลือเท่าที่จำเป็นต้องสัมผัสของจริง เรื่องการเรียนการสอนออนไลน์โดยอาศัยดิจิทัลนี้ แม้แต่ยูเนสโก (องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) เองยังบอกว่า คงต้องมี Face to Face อยู่บ้าง เขาเรียกระบบใหม่นี้ว่า ระบบ Blended Leaning คือ ‘การผสม’ ระหว่างการเรียนออนไลน์ กับการพบปะในลักษณะที่เป็น Face to Face โดยสัดส่วนขึ้นอยู่กับแต่ละศาสตร์ สาขาวิชาในเชิงมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ อาจเรียนออนไลน์เกือบทั้งหมด แต่ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อาจมีอัตราส่วนของการศึกษาประเภทสัมผัสของจริงในลักษณะออนไลน์ หรือมาทำร่วมกัน เป็นการมาแชร์ความรู้ สร้างชุมชนผู้เรียนรู้ และทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพดีขึ้น” ศ.ดร.วิจิตร อธิบาย “ในระดับปริญญาตรี ครึ่งหนึ่งอาจจะเป็นออนไลน์ ครึ่งหนึ่งอาจจะเป็น Face to Face ซึ่งสามารถโต้ตอบสอบถามได้ ทำให้การศึกษานั้น มี Interactivity หรือปฏิสัมพันธ์ ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน และระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง ระบบที่เป็นดิจิทัลที่แท้จริงต้องมี Interactivity เสมือนหนึ่งนั่งเรียนอยู่ในชั้น”

เชื่อมโยงกันและกัน

“มหาวิทยาลัยต้องคอนเนกต์กันเพื่อช่วยเหลือกัน” ครั้งหนึ่ง ศ.ดร.วิจิตร เคยกล่าวไว้ ท่านจึงขยายความให้ฟังว่า ทำงานร่วมกันของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั้น มี ‘โครงสร้าง’ อยู่แล้ว อาทิ ฝ่ายมหาวิทยาลัยแต่ละกลุ่มก็จะมีที่ประชุมอธิการบดี เช่น ราชภัฏ ราชมงคล สมาคมของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น มีการทำงานร่วมกัน และช่วยเหลือกันภายในกลุ่ม จึงเป็นเรื่องที่การคอนเนกต์ หรือการร่วมมือกันสามารถทำได้ หรือการที่รัฐบาลมีคอนเซ็ปต์ ‘Area Base’ อยู่ 18 กลุ่มจังหวัด ยังถือเป็นโครงสร้างที่เอื้อต่อการพัฒนา สำคัญเพียงว่า ‘ต้องนำมาใช้’ รวมทั้ง ‘เปลี่ยน Mindset’ ให้เป็นการร่วมมือกันมากกว่าแข่งขันกัน ซึ่งในปัจจุบันโครงสร้างที่มีอยู่นับว่าเกินพอที่จะร่วมมือกัน Area Base ก็ได้ จะเอาตามประเภทก็ได้ เช่น ราชมงคล ราชภัฏ หรือจะเอาแบบ Interuniversity Corporation ตามความสมัครใจ รวมกลุ่มกันใหม่ ทำได้ทั้งสิ้น ขอให้เริ่มจากการที่คิดว่า เอาจุดแข็งของกันและกันมาแชร์ เพื่อประโยชน์ของการสร้างความเข้มแข็งให้กับมหาวิทยาลัยไทย ถ้ามีคอนเซ็ปต์ตรงนี้ ผมคิดว่าไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะโครงสร้างมีอยู่แล้ว” ศ.ดร.วิจิตร กล่าว

วัฒนธรรมคุณภาพ

เรื่องการจัดการศึกษา ศ.ดร.วิจิตร ใช้คำคำหนึ่งว่า มีความสำคัญยิ่งยวด คือ เรื่องวัฒนธรรมคุณภาพ (Quality Culture) โดยเฉพาะในระดับอุดม เรื่องของคุณภาพเป็นตัวสะท้อนมาตรฐาน เป็นคำสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษาระบบไหน อาทิ ระบบเปิด ระบบปิด ระบบการสอนทางไกล ระบบการสอนทางไปรษณีย์ ระบบที่มาเรียนในสถานศึกษา ฯลฯ และไม่ว่าใครจัด รัฐ หรือเอกชน อย่างน้อยจะต้องมีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาตรฐานระดับชาติที่กำหนด

“จะเรียนแบบไหน จะใช้ระบบอะไร เรื่องจริยธรรมของคณาจารย์ นักศึกษาผู้เกี่ยวข้อง ก็เป็นชุดเดียวกัน ทำอย่างไรถึงสอนแล้วได้คุณภาพ ทำอย่างไรถึงมีมาตรฐานที่ดีเป็นที่เชื่อถือ ทำอย่างไรถึงจะเป็นคนที่เรียนจะเป็นคนเรียนจริง อย่างไรถึงจะไม่มีการทุจริตในการสอบ เหล่านี้เหมือนกันหมด เพียงแต่ว่าเป็นการจัดการศึกษาคนละระบบ วิธีการที่จะธำรงรักษาคุณภาพมาตรฐานอาจมีกติกาปลีกย่อย แต่จริยธรรมเรื่องมาตรฐานและเรื่องคุณภาพไม่ต่างกัน ด้วยเหตุผลนี้ จึงต้องมีการเทียบมาตรฐานเมื่อจบจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่ามหาวิทยาลัยที่คุณจบมา ประเทศที่คุณจบมา เขารับรองว่าเท่ากัน ใช้เกณฑ์เดียวกัน” ศ.ดร.วิจิตร อธิบาย “เพราะฉะนั้น การที่จะปรับระบบจากระบบแบบมีชั้นเรียนตามปกติ มาเป็นระบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบผสม แบบ Blended หรือจะเป็นแบบ Pure ที่เป็นออนไลน์อย่างเดียว ก็ไม่เป็นข้อแม้ว่าจะต้องทำให้มาตรฐานแตกต่าง มันเป็นข้อบังคับด้วยซ้ำว่าต้องทำให้มีมาตรฐานเทียบเคียงกันให้ได้ ด้วยวิธีที่ต่าง แต่มาตรฐานร่วม”

มองเห็นโอกาส แต่ไม่ใช่ในทันที

ศ.ดร.วิจิตร ย้ำว่า มหาวิทยาลัยดิจิทัลจะสร้างโอกาสที่แตกต่างหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย ยังขึ้นอยู่กับความพร้อมของนักศึกษา ถ้านักศึกษามีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ก็สามารถที่จะใช้ระบบดิจิทัลในมหาวิทยาลัยได้เต็มที่ หากไม่พร้อม ซึ่ง ศ.ดร.วิจิตร ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ส่วนมากผู้เรียนเป็นคนทำงาน และจำนวนหนึ่งมีอายุ 60-70 ปี ซึ่งเป็นเจเนอเรชันที่มีข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยี ประเด็นนี้จึงพูดได้ไม่เต็มปากว่า การนำใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นการขยายโอกาส หรือกระจายโอกาสได้อย่างถ้วนทั่วทันที

“ต้องยอมรับว่า อาจต้องทำ 2 ระบบ หรือแบบผสม คือ ในสาขานี้อาจมีออนไลน์เท่านี้คอร์ส มี Face to Face อย่างนี้ เพราะการจะเป็นออนไลน์ทั้งหมดต้องคิดถึงเวลาทำ Virtual Laboratory อย่างมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษ เขาทำมานาน 4-5 ปี ทั้งหมดเป็นร้อยคอร์ส เมืองไทยยังทำไม่ได้ ครั้นจะเอาคอร์สของเขามา แต่เนื่องจากคอร์สของเขาเป็นภาษาอังกฤษ เราต้องมาทำเป็นภาษาไทย หาคนไทยประกบเพื่อแปล แต่เมืองไทยเราไม่เล่น มันก็ไปได้แต่เฉพาะที่เป็นบรรยาย แต่วิชาที่เป็นปฏิบัติ อย่างไรก็ต้อง Face to Face ข้อจำกัดเหล่านี้ยังมีอยู่ ถ้าไปสมบูรณ์แบบแล้ว ไม่มีข้อจำกัดทั้งฝ่ายมหาวิทยาลัย ทั้งฝ่ายนักศึกษา ก็จะเป็นการกระจายโอกาส ผมหวังว่าจะช่วยเพิ่มเรื่องคุณภาพ และที่สำคัญที่สุดก็คือ เพิ่มทักษะของการแสวงหาความรู้ ซึ่งจะต้องติดตัวไปตลอดชีวิต อันนั้นสำคัญ”

เป็นกำลังใจ

“การทำสองระบบต้องมากขึ้นแน่ ระบบออนไลน์เป็นของใหม่ ตอนนี้นักศึกษาไม่ใช่เพิ่มนะครับ นักศึกษาลด บางแห่งนั้นลดอย่างน่าใจหาย ดังนั้น อาจจะนำระบบออนไลน์มาเป็นมาตรการชั่วคราว คือ ถ้านักศึกษาลดแล้ว จำนวนหนึ่งก็ไปออนไลน์ แบบนี้อาจจะพอ Handle ได้ เมื่อถึงจุดหนึ่ง 3 ปี หรือ 5 ปีไปแล้ว อาจจะทำให้เหลือแต่เพียงออนไลน์ โดยต้องไปเร่งสร้างความพร้อม ตั้งแต่ตอนรับนักศึกษาเข้า ดูเหมือนกับว่าจะมีภาระพอกพูนเป็น 2 เท่า แต่จริง ๆ อาจจะไม่ใช่ ส่วนที่สองคือ เพราะคุณสามารถ Convert การเรียนการสอนจากปกติไปสู่ออนไลน์ ไม่ใช่เป็นการสร้างใหม่ หรือไม่อย่างนั้นก็ทำแบบผสม แต่แน่ล่ะ มันต้องมีภาระเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เริ่มจากสุญญากาศ มันเพิ่มขึ้นจากสิ่งที่เราได้ทำเพื่อประโยชน์ของการเรียนการสอน” ศ.ดร.วิจิตร กล่าว

ในวันนั้น ศ.ดร.วิจิตร ทิ้งท้ายการสนทนาถึงเป้าหมายของการก้าวสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบโดยสถาบันคลังสมองของชาติ ว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ หากในเบื้องต้น การสำรวจความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในการก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ยังเป็นเพียงการบอกสภาพหรือสถานะของแต่ละมหาวิทยาลัยเท่านั้น สิ่งที่ต้องเร่งทำต่อไป คือ การจัดระบบ ซึ่งหมายถึง ทั้งระบบภายในและภายนอกองค์กร “ระบบต้องมีทั้ง Target Group ข้างนอกที่เราจะเสิร์ฟ มีทั้ง Target Group ข้างในที่เราจะทำ ต้องจัดให้เป็นระบบ” ศ.ดร.วิจิตร กล่าว