ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Skooldio
ในวาระที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กำหนด ‘แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากาลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564-2570’ ว่าด้วย ‘เรื่องนโยบายการพลิกโฉมการศึกษาด้วยระบบดิจิทัล (Digitalization for Educational and Learning Reform)’ และสถาบันคลังสมองของชาติได้ดำเนิน ‘โครงการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital Transformation Health Check for University Preparedness)’ โดยมีเป้าหมายเพื่อสำรวจความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในการก้าวเข้าสู่ ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ นี่เป็นโอกาสที่ดีอีกครั้ง ที่ ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Skooldio ที่ปัจจุบันยังรับหน้าที่ Google Developers Expert ด้าน Machine Learning และ Google Cloud Certified Professional Data Engineer ทั้งยังเป็นอดีต Data Scientist ที่ Facebook ให้เกียรติร่วมวงสนทนาในประเด็น ‘การศึกษา’ เรื่อยไปจนภาพฝันของประเทศ หรือ ‘มหาวิทยาลัยดิจิทัล’ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนาทีนี้ เรายกให้ ดร.วิโรจน์ เป็นสุภาพบุรุษอีกท่านที่เป็นตัวแทนบุคคลหนึ่งในสามเจเนอเรชันที่มีมุมมองต่างมิติ มาชวนคิดและนำเสนอด้วยประสบการณ์ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเพราะการทำงานที่ผ่านมา หรือแม้แต่ในปัจจุบัน อย่างการที่เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Skooldio ที่เรียกว่าเป็น ‘สถาบันการเรียนรู้’ หรือหนึ่งในผู้ทำงานภาคการศึกษาอีกรูปแบบที่เกิดขึ้นในจังหวะหรือช่วงเวลาที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาการสนทนาเกือบ 1 ชั่วโมงเต็ม ดร.วิโรจน์สะท้อนความเชื่อใน ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของ Skooldio ได้อย่างกระจ่างชัด แต่ด้วยประสบการณ์ด้านวัยวุฒิ เขาจึงออกตัวว่าความคิดความเห็นของเขาเป็นเพียงมุมหนึ่งจากคนรุ่นใหม่เท่านั้น “ผมไม่ฟันธงว่าผมถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะมีมุมมองด้านการบริหารมหาวิทยาลัยที่ผมเองยังมองเห็นไม่ชัด” ดร.วิโรจน์กล่าว
เทรนด์และความสนใจในการทำงานของคนรุ่นใหม่
“เด็กสมัยนี้ เขามองหา Purpose ของงานมากขึ้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้ทักษะที่เรียนมา และทำงานตรงสายที่เรียนมาร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องบอกว่า ทุกทักษะสามารถนำไปบูรณาการใช้กับบทบาทหน้าที่ในองค์กรได้หมด ที่ Skooldio เป็นบริษัททำเรื่องการศึกษา ซึ่งธุรกิจการศึกษาไม่ใช่ธุรกิจที่ Margin เยอะที่สุด น้อง ๆ ส่วนใหญ่ที่ผมรับมาทำงาน DNA ของเขา คือ สนใจเรื่องการศึกษาจริง ๆ โปรแกรมเมอร์ของเราหลายคนมีพ่อแม่เป็นครู และมีความเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนให้การศึกษาดีขึ้น ซึ่งคงไม่ได้เปลี่ยนเป็นการเอาครูออกไป แต่ทำอย่างไรที่จะให้ชีวิตครู ชีวิตเด็ก การเรียนของเด็ก สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ประเด็นหนึ่งที่ผมพูดไว้คือ เขาสามารถนำสิ่งที่เขาเรียนมาประยุกต์ได้หลายอย่าง เรามีน้องที่จบนิเทศศาสตร์ จบบรรณารักษ์ศาสตร์ จบวิศวะคอมพ์ มาช่วยทำ Business Development เราดูภาพรวมของธุรกิจ Skill Set สามารถดึงออกมาใช้ประโยชน์ได้ ก็จะมีคนย้ายสายงานค่อนข้างหลากหลาย ถ้าเป็นเทรนด์สมัยก่อน ก็คือจบมาแทบจะมีลิสต์อยู่แล้ว ว่าจบสาขานี้มีท็อปสามบริษัทที่ต้องเข้าให้ได้ ถ้าเข้าไม่ได้ถือว่าเป็นความล้มเหลวในชีวิต สิ่งเหล่านี้หายไปแล้ว เด็ก ๆ เดี๋ยวนี้จึงเลือกบริษัทตาม Purpose สตาร์ทอัพเล็ก ๆ ก็เริ่มหาคนเก่ง ๆ ไปทำงาน เรื่อง Boundary เริ่มเบลอขึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่างานทุกอย่างในบริษัทเป็นสหวิทยาการ มีทักษะอะไรก็สามารถ Add Value กับทีมได้ และเรื่อง Diversity กับทีม ยังเป็นช่วยตัวช่วยให้องค์กรองค์กรหนึ่งสามารถขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ของตัวเองไปได้ดี”
Mindset และ Skill Set ของผู้เรียน ที่หล่อหลอมขึ้นก่อนก้าวสู่เส้นทางการทำงาน
“Mindset ของ Successful Candidate ที่สุดท้ายเราอยากได้มาทำงาน คือ ทัศนคติแบบ ‘น้ำไม่เต็มแก้ว’ รู้สึกว่าตัวเองยังไม่เก่งตลอดเวลา บรรทัดฐานหลักของผม คือ ‘ความกระหายอยากเรียนรู้’ ผมเป็นสตาร์ทอัพ ไม่สามารถจ่ายเงินเดือนได้เท่ากับบริษัทใหญ่ ๆ โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติ ยิ่งโปรแกรมเมอร์ค่าตัวแพงมาก คำถามคือ ทำไมคนอยากทำงานกับเรา เพราะเรามีวัฒนธรรมที่ดี เรามีวัฒนธรรมของการเรียนรู้ เราตั้งใจใส่วัฒนธรรมนี้ไว้เป็น DNA ของบริษัท เราจึงเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ที่ทำงานกับเราได้ลองเยอะ เปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้เยอะ อย่างไรก็ตาม เรื่อง Skill ที่ต้องมี คือ สามารถ ‘ศึกษาได้ด้วยตัวเอง’ ฟังดูเหมือนง่าย แต่สุดท้าย ความรู้ที่เราเรียนมันจะนำไปใช้งานได้ มันต้อง Connect The Dot คือ เรียนอันนี้ เพื่อเอาไปใช้อย่างนี้ หลายคนเมื่อเรียนด้วยตัวเอง แต่ Connect The Dot ไม่ได้ ไม่สามารถสังเคราะห์ หรือ Synthetic ความรู้ทั้งหมด ไม่สามารถทำให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ นี่เป็นอย่างหนึ่งที่เด็กไทยขาด ยกตัวอย่าง เด็กที่เก่ง ๆ เขาสามารถรับ Source หรือแหล่งข้อมูล จาก 3 แหล่ง และเข้าใจว่าอันนี้อธิบายในมุมนี้ อันนี้คือข้อเสียอย่างนั้นอย่างนี้ และเขาสามารถนำความรู้ที่หาเองมาใช้ได้จริง ๆ”
มหาวิทยาลัยไทย กับการปรับตัวสู่ Digital University เต็มรูปแบบ
“ปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยมีกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งผมเข้าใจว่าตั้งขึ้นจากความปรารถนาดี แต่ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บางอย่างอาจจะเริ่มเป็นข้อจำกัด เช่น อาจารย์พิเศษสามารถสอนได้ 50% ของรายวิชา ไม่อย่างนั้นอาจารย์ทุกคนก็จะเป็นอาจารย์พิเศษกันหมด แต่กลายเป็นว่า มหาวิทยาลัยเสียโอกาสที่เอา Expert จากอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาสอนองค์ความรู้ เช่น หลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ อย่างเทรนด์ตอนนี้ที่พูดกันเรื่อง Blockchain จะพบว่า หนังสือ Blockchain ออกมาน้อยมาก แล้วกว่าจะนำไปเขียนเป็นหลักสูตร กว่ามหาวิทยาลัยจะเปิดเป็นรายวิชาให้เด็กเรียน ก็ดีเลย์ไปหลายปีมาก ทั้ง ๆ ที่ในประเทศไทย เรามีสตาร์ทอัพทำเรื่อง Blockchain เยอะแยะ วิธีเดียวคือ ต้องหาความรู้ด้วยตัวเองเท่านั้น นี่จึงเป็นช่องว่างใหญ่ที่มหาวิทยาลัยน่าจะโอเพนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยก็ต้องมีวิธีกำกับดูแลอย่างเหมาะสม
“นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการปรับตัวในส่วนของการเรียนการสอน พวกเรารู้ตรงกันว่าเด็กสมัยใหม่เขาสมาธิสั้นลงเรื่อย ๆ เพราะเขาเติบโตมากับ iPad เติบโตมากับการดู YouTube แล้วกดเปลี่ยน เพราะฉะนั้น เราจะสอนแบบเดิม ๆ ของเราไม่ได้แล้ว ผมเชื่อว่า หลายคนเราตั้งต้นว่า การเรียนการสอนออนไลน์มันเวิร์ก แต่ช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่า มันก็ไม่ใช่ไม่เวิร์กร้อยเปอร์เซ็นต์ มันขึ้นอยู่กับว่า เราพร้อมที่จะใส่พลังไปตรงนั้นหรือเปล่า ถ้าจัดการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ เล่าเลกเชอร์ไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเด็กทุกคนก็จะเบื่อ เด็ก ๆ ก็จะรอวิดีโอมา แล้วก็ไปเปิดดูที่สปีด 2X คือ ให้อาจารย์พูดเร็ว ๆ ไป เมื่อต้องเรียนนาน ๆ เรื่องการเรียนการสอนจึงต้องปรับ ทำอย่างไรให้เป็น Active Learning ให้เขาทำระหว่างเรียน อย่าง Skooldio เอง Virtual Workshop ทำให้เราสามารถรันเวิร์กช็อปออนไลน์ของเราได้ เครื่องมือออนไลน์มีเยอะมาก ถ้าเราใช้เป็น มันประโยชน์ค่อนข้างเยอะ เมื่อสอนออนไลน์ สิ่งที่ทุกคนเห็นคือ หน้าอาจารย์ชัด ต่างจากปกติที่เรานั่งเลกเชอร์ในฮอลล์ใหญ่ ๆ อยู่ข้างหลัง หัวเพื่อนข้างหน้าบัง บางทีจอโปรเจกเตอร์ก็ซีดมาก เด็ก ๆ ก็เริ่มจับโทรศัพท์มือถือ แต่เมื่อสอนออนไลน์ หน้าจอทุกอย่างชัดหมด เขาก็จะมีความรู้สึก Concentrate ได้มากขึ้น กิจกรรมอีกหลายอย่างก็เช่นกัน เมื่อก่อนเรายืนมุงเขียนฟลิปชาร์ต แปะโพสต์อิต พออาจารย์จะช่วยรีแคป เด็กทั้งห้องต้องมายืนมุง บางคนก็ไม่เห็น ก็ไม่ฟังแล้วกัน ไปทำอย่างอื่น แต่พอเรามาทำทุกอย่างผ่าน Digital Tools กลายเป็นว่า มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม หลาย ๆ หลักสูตรของเราได้คะแนนความพึงพอใจจากผู้เรียนมากขึ้นกว่าตอนออฟไลน์ด้วยซ้ำ ก็เลยคิดว่า จริง ๆ มันต้องเป็น ‘เรื่องการปรับตัว’ ว่า เครื่องไม้เครื่องมือแต่ละอย่างมีข้อดีอะไร แล้วไปหยิบเอาเข้ามาใส่ในหลักสูตร”
งานระดับบริหาร เพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัย คณาจารย์ และนิสิตนักศึกษา ต่อการผลักดันให้เกิด Digital University ในอนาคต
“ผมเป็นเด็กน้อยมาก ผมไม่กล้าแนะนำผู้บริหารเท่าไหร่ แต่มองจากมุมผมแล้วกัน ผมว่าอย่างแรกคือ อินฟราพื้นฐานต่าง ๆ ต้องพร้อม อันหนึ่งที่เราพูดถึง คือ ‘ความเท่าเทียม’ ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนมีคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนมี iPad ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนมีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน เพราะฉะนั้น ต้อง Support ตรงนี้ ผมเห็นมหาวิทยาลัยหลาย ๆ มหาวิทยาลัยให้ทุนนิสิตนักศึกษาไปซื้ออุปกรณ์ ผมว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องทำ
“หลาย ๆ อย่างที่ผมว่าต้องปรับ คือ เราตอบวัตถุประสงค์ของแต่ละหลักสูตรให้ได้ ผมเข้าใจว่า หลักสูตรการศึกษาของเราเน้นวิชาการมาก ซึ่งก็ไม่ผิด อย่างหลักสูตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาการค่อนข้างเข้มข้น ความรู้พื้นฐานต้องดี เพราะว่าถ้าความรู้พื้นฐานไม่ดี Foundation ไม่แน่นทฤษฎี จะไปต่อปริญญาโท ปริญญาเอก หรือต่อในระดับที่สูงขึ้นไม่ได้ ขณะที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ อาจจะโฟกัสกับการลงมือทำมากหน่อย เพราะ Objective ของเขาคือผลิตนักศึกษามาป้อนเข้าตลาดแรงงานให้เยอะที่สุด เด็ก ๆ จากมหาวิทยาลัยเหล่านี้จึงพร้อมเข้าตลาดแรงงาน แต่สิ่งที่อย่าลืม คือ การเตรียมเขาให้พร้อมกับความรู้ใหม่ ๆ เพราะตอนนี้เขาพร้อมกับตลาดแรงงาน แต่อีก 5 ปี เขาอาจจะตกยุค คำถามคือ เขาสามารถดันตัวเองหลังจากนั้นได้หรือเปล่า สุดท้ายจึงต้อง ‘บาลานซ์’ ทำอย่างไรให้มี Mindset ในการเรียน มีความเข้มข้นในวิชาการเสริมได้ อันนี้เป็นความท้าทาย แต่ละมหาวิทยาลัยก็ต้องเลือกว่า Objective คืออะไร ปัญหาคือ ไม่ได้มี One Size Fit All ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เราจะสอน Practical ให้เด็กพร้อมไปเป็นทุกอาชีพ ก็เป็นไปไม่ได้ จึงต้องโฟกัสในสิ่งที่เป็น Objective ของมหาวิทยาลัยจริง ๆ เพียงแต่ว่าเมื่อไหร่ที่เด็กเขาอยากได้อะไรเสริม คำถามคือ เรามีอะไรที่พร้อมจะเสริม
“ผมยอมรับว่าทุกมหาวิทยาลัยเก่ง และพร้อมที่จะทำหลักสูตรอะไรก็ได้ เรามีอาจารย์ของเรา และคิดว่ามีคอร์สนี้ อาจารย์ทำคอร์สเพิ่มหน่อย แต่เวลานี้ เราอยู่ในโลกที่ทุกอย่างหมุนไว มันมีคอร์สที่สำเร็จอยู่แล้ว ก็สามารถไปดีลมา ต่อรองมาตามความเหมาะสม ซึ่งทำให้ไวกว่า เร็วกว่า ยิ่งถ้าความรู้บางอย่างมีโปรเฟสเซอร์ระดับโลกมาสอน ทำไมต้องไปพยายามสอนใหม่ในแบบของเรา ที่สุดท้ายก็เหมือนเกือบจะต้องแปลของเขามาสอนอยู่ดี เพราะฉะนั้น ต้องดูว่าจุดแข็งของเราคืออะไร แล้วเอาของคนข้างนอกมาเติมเต็ม อย่ามองทุกคนเป็นศัตรู ทุกคนมีจุดแข็งของตัวเอง ผมว่าช่วยกันได้ ตอนนี้ หลายมหาวิทยาลัยพยายามจะมีแบรนด์ดิ้ง มีแพลตฟอร์ม มีทุกอย่างของตัวเอง ประเด็นคือ ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ คนจะแห่ไปเรียน แต่คำถามคือ มหาวิทยาลัยเล็ก ๆ ที่เขาอาจจะมีบางวิชาที่ดีกว่าของคุณ ที่คุณไม่ได้ถนัดที่สุด ทำไมคุณไม่จับมือกัน”
Mindset และ Skill Set ที่ต้องปรับและเปลี่ยน ในฐานะผู้สอน
“ผมว่าเราต้อง Lead ว่าเด็กเขาชอบอะไร เขาสนใจอะไร เราต้องทำงานเพิ่มแทนเด็ก อย่างคอร์สของผมมีสอนเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล ถ้าวิเคราะห์ข้อมูลที่ไกลตัวเขา เขาก็จะไม่อิน ผมก็ให้วิเคราะห์ข้อมูลโปเกมอน เอา Data Set สนุก ๆ เข้ามา อย่างเรื่อง Machine Learning การทำโมเดลทางคณิตศาสตร์เพื่อทำนายอะไรต่าง ๆ ผมก็ไปเอา Virtual Post มาทำนายว่าโพสต์นี้มาจากเพจไหน เพจอีเจี๊ยบเลียบด่วน เพจ Drama Addict ฯลฯ พอเล่นแบบนี้ปุ๊บ เด็ก ๆ ก็จะสนุกสนาน เราก็ต้องพยายามทำงานเพิ่มตรงนี้ ผมมักจะเรียกว่า ‘Motivation’ ในการเรียน ผมเจออาจารย์ที่ดีหลายคนมาในชีวิต ถ้าอาจารย์คนไหนที่ให้ความสำคัญกับ Motivation คลาสจะออกมาดี ต้องทำให้เด็กอยากเรียนก่อน พอเขาโอเพน ที่เหลือเขาจะโอเพนหมด ถ้าสอนด้วย Motivation เราไม่ต้องยัดให้เขาด้วยซ้ำ เขาจะมาถามเราเอง ‘วันนั้นอาจารย์พูดเรื่องนี้ไว้ ยังทำไม่ได้เลย จะทำยังไง’ อันนี้เป็นบรรยากาศที่เราต้องสร้างให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย”
COVID-19 บททดสอบที่มอบประสบการณ์เพื่อ ‘ชีวิตวิถีใหม่’
“Joke ที่ได้ยินกันในช่วงนี้ คือ COVID-19 เป็นตัวเร่ง Digital Transformation ที่ดี เราไม่เคยคิดว่าออนไลน์จะทำได้ แต่ตอนนี้เราเชื่อแล้วว่ามันทำได้ แต่ผมเกิดคำถามใหญ่ที่ว่า ตกลง Value ของมหาวิทยาลัยคืออะไร Harvard ก็ไม่ได้เปิดการเรียนการสอนแบบออฟไลน์ ถ้าเปิดออนไลน์ ทำไมเขาไม่เปิดทั้งโลก จากที่เคยรับเด็กปีหนึ่งได้ไม่กี่ร้อยไม่กี่พันคน จริง ๆ เขาสามารถรับเด็กได้หลักหมื่นหลักแสนคน เพราะเรียนออนไลน์หมดแล้วนี่ คำถามคือ เราต้องมีครูที่สอนเก่งในวิชานั้น ๆ ในทุกมหาวิทยาลัยจริงหรือเปล่า หรือเราแค่มีครูที่สอนเก่งคนเดียวก็พอ แล้วก็เอาคอร์สของครูคนนั้นไปใช้ในทุกมหาวิทยาลัย ขณะที่บทบาทหน้าที่ส่วนอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัย คือ สร้าง Environment ในการเรียนรู้ จัดครูคนอื่น ๆ ให้สวมบทบาทเป็น Facilitator ช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้ได้ดีขึ้น จึงต้องมาคุยเรื่องบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย และบทบาทหน้าที่ของอาจารย์ใหม่กัน เมื่อก่อนมหาวิทยาลัยทำทุกอย่าง ทำทุกฟังก์ชัน ตอนนี้เริ่มมี Independent Provider และ Independent Constructor เป็นคนนอกมาสอนเด็ก และเด็ก ๆ ยังมี Community การเรียนรู้ในโลกออนไลน์อีก ทุกอย่างมันมีทางเลือกหมด ยิ่งตอนนี้ยอดคนเรียนก็ลดลงเรื่อย ๆ กระแสของโลกก็คือเราเริ่มให้ Value กับใบประกาศนียบัตรน้อยลงเรื่อย ๆ แล้วคำถามคือ จุดแข็งของมหาวิทยาลัยคืออะไร บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยคืออะไร ทุกมหาวิทยาลัยต้องตอบโจทย์ของตัวเอง อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องทบทวนกัน
“ผมชื่อว่าอาจารย์ทุกคนรู้ว่าวิธีการเรียนที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ ต้องฝึกให้เด็ก ‘คิด’ Active Learning คือ สิ่งที่เราพูดกันตลอดเวลา แต่ภาพที่เกิดขึ้นจริง คือ แค่เลกเชอร์ทั้งหมดให้ทัน 1 เทอมก็ยากมากแล้ว กลายเป็นว่า เราไม่ได้พยายามมากที่จะยัดกิจกรรมลงไปในคลาส แต่พอเป็นออนไลน์ ทุกอย่างมันเริ่มน่าเบื่อ มันเริ่มมีคอนเทนต์ออนไลน์ให้เด็กไปดูย้อนหลังได้ นี่จึงเป็นตัวกระตุ้นให้อาจารย์หลาย ๆ คนคิดว่าต้องปรับวิชาของตัวเองอย่างไร Assign ให้เด็ก ๆ ไปอ่าน Text Book กันได้หรือเปล่า แล้วเมื่อมาเข้าคลาส ก็มา Discuss กัน ทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกัน ตอนที่เรากลับมาเป็น New Normal เราก็จะรู้ว่าอันนี้ดี เก็บไว้ ช่วงนี้จึงเป็นโอกาสทดลองรูปแบบการเรียนรู้หลาย ๆ แบบ
“ผมคิดว่า COVID-19 ก็ Extreme เป็น Strictly Online เพราะฉะนั้น มันเป็นบททดสอบว่าตกลงพอทำอะไรได้บ้าง เมื่อถึงเวลาปกติแล้ว เราจะรู้ว่าเครื่องมือออนไลน์ไหนมีประสิทธิภาพในการทำอะไร อย่างไร เราจะรวบรวมทุกอย่าง ทั้งเครื่องมือออนไลน์และออฟไลน์ต่าง ๆ ให้รวมเป็นภาพเดียวกัน เป็นประสบการณ์ที่ Smooth ที่สุดสำหรับผู้เรียนได้”
จากมุมมอง Data Scientist ต่อการใช้ข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ ของ Digital University
“พอเก็บ Data มันช่วยได้เยอะจริง ๆ ผมใช้ Tools หลากหลายมาก ในการเรียนผมบอกว่า ให้ไปเรียนวิชานี้ คอร์สออนไลน์นี้มาก่อนเข้าคลาสผม คนไหนเรียน คนไหนไม่เรียน คนไหนเรียนจบ คนไหนเรียนไม่จบ ผมแทร็กได้หมด เรามี Test ทุกสัปดาห์ เรามี Exercise เราจึงเห็นว่า จริง ๆ เด็กยังไม่เก็ตเรื่องนี้ เดี๋ยวรอบหน้าต้องรีแคปใหม่ รอบหน้าต้องสอนเรื่องนี้ใหม่ เราก็สามารถปรับการสอนของเราให้เข้ากับสิ่งที่เด็กต้องการได้จริง ๆ ส่วนตัวผม ผมเชื่อเรื่อง Data อยู่แล้ว ในสเกลหนึ่ง อย่างน้อยก็ช่วยให้เราในฐานะคนสอน ตัดสินใจได้ดีขึ้น ถ้าสเกลใหญ่กว่านั้น ก็คือเรื่องของงานวิจัยการศึกษาต่าง ๆ สิ่งที่น่าสนใจ ผมทำแพลตฟอร์มให้ลูกค้าที่มีคนเรียนหลายหมื่นหลายแสนคน ผมสามารถทำการทดลองได้ง่าย ๆ คือ ในเด็กกลุ่มหนึ่ง เราจะมี Pop Quiz เด้งขึ้นมา ส่วนเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่มี แล้วไปดูผลสัมฤทธิ์ปลายทางว่า การที่เราใส่ Exercise เข้าไปเยอะหน่อย ช่วยกระตุ้น หรือช่วยผลักดันผลสัมฤทธิ์ในการเรียนได้มากน้อยแค่ไหน ผมว่ารูปแบบอย่างนี้เป็นงานวิจัยที่ทำแล้วมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อก่อน ที่แบ่งนักเรียนเป็น 2 ห้อง Sample Size 30-40 คน ซึ่งแทบจะวิเคราะห์ทางสถิติยาก และได้ผลที่ไม่แม่นยำ อย่างการมี Pop Quiz ขึ้นมาเรื่อย ๆ จริง ๆ ไม่ได้ทดสอบเรื่องความเข้าใจ แค่ทดสอบเรื่องความจำ เพราะบางครั้ง เด็กฟังอาจารย์สอนไปเพลิน ๆ แต่จำอะไรไม่ได้เลย ถ้ามี Quiz ขึ้นมา เด็กจะถูก Force ให้ต้องจำ สุดท้าย เขาก็จะจำได้นานขึ้น งานวิจัยพวกนี้อยู่ในโลกของการศึกษาอยู่แล้ว แต่พอทำทุกอย่างบนเครื่องมือออนไลน์ เราสามารถ Repeat การทดลองพวกนี้ได้ง่ายมาก
“การเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้เป็น Smart university ก็เช่นกัน ต้องนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจในการวางแผนต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมากขึ้น ต้องบอกว่า ทั้งหมดต้องเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลให้ได้ก่อน สเตปแรก เรียกว่า Digitize ทำอย่างไรที่จะ Digitonic ข้อมูลทุกอย่างได้จริง ๆ แต่ละวัน มีเด็กเข้ามาในมหาวิทยาลัยกี่คนรู้หรือเปล่า คนใช้ห้องสมุดเยอะแค่ไหน ควรเปลี่ยนห้องสมุดเป็น Co-working Space หรือเปลี่ยนเป็นอะไรแทนหรือเปล่า เด็กทำอะไรเยอะ ทำอะไรน้อย เราจะเข้าถึงข้อมูลนั้นได้อย่างไร ถ้าพยายามเก็บข้อมูล เราจะเข้าใจพฤติกรรมของเด็กได้มากขึ้น มหาวิทยาลัยมีจุดเด่นของตัวเอง เด็กหลายคนก็เลือกมหาวิทยาลัยตามจริตของตัวเอง ถ้ามหาวิทยาลัยอ่านขาดว่าเด็กที่เข้ามาต้องการอะไร สุดท้ายแล้ว มหาวิทยาลัยจะแข็งแรง อยู่ได้ ถ้าไม่อย่างนั้น ตอนที่ทุกอย่างอยู่บนโลกออนไลน์หมด คอนเทนต์ที่ดีที่สุดอยู่บนโลกออนไลน์ คนสอนที่เก่งอยู่บนโลกออนไลน์ มหาวิทยาลัยเล็ก ๆ น้อย ๆ ต้องเริ่มคิดแล้วว่าจะสอนอะไรดี ถ้าจะ Transform ระบบต่าง ๆ ให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น จึงต้องเก็บข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้สามารถ Transform ไปในทิศทางที่ถูกต้องมากขึ้น”
ใจความทิ้งท้าย จาก ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล
“ผมไม่ฟันธงว่าผมถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะมีมุมมองด้านการบริหารมหาวิทยาลัยที่ผมเองยังมองเห็นไม่ชัด แต่อันหนึ่งที่ผมเชื่อแล้วกัน คือ เรื่องการศึกษา สุดท้าย เทคโนโลยีจะเข้ามาตอบโจทย์ได้ แต่ผมยังเชื่อว่า ‘ครู’ แล้วก็ ‘คน’ ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่จะทำให้การศึกษาประสบความสำเร็จ คนชอบถามผมเสมอว่า AI จะแทนคุณครูได้หรือเปล่า ตอนนี้ถ้าถามจริง ๆ มันแทนเยอะมาก อย่างที่เมืองนอกเขาทำกัน คือ Personal Learning ซึ่งแนะนำเด็กได้ว่าต่อไปควรต้องเรียนอะไร เอาคนที่สอนเก่งที่สุดมาสอน แล้วครูละทำอะไร ผมก็จะบอกว่า นึกย้อนกลับไป ถ้าเราถามทุกคนถึงอาจารย์สักคนที่เรารักมาก ทำไมเราถึงชอบเขา มันจะไม่ใช่เพราะเขาสอนดีมาก แต่จะจบที่คำตอบว่า เขาเข้าใจเรา เขาทำให้เราชอบวิชานั้นได้ นี่คือ Environment ที่เทคโนโลยีทำไม่ได้ อย่างเด็กนั่งดู iPad แต่อาจารย์มีบทบาทในการ Motivate เด็ก ช่วยให้เด็กอยากเรียน ช่วยให้เด็กรู้สึกถึงการมีตัวตน ช่วยให้การศึกษาของเขาประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะฉะนั้น ส่วนตัวผม เทคโนโลยีช่วยให้หลาย ๆ อย่างดีขึ้นได้จริง แต่ผมไม่เคยเชื่อว่า เทคโนโลยีจะ Replace ทั้งหมด ช่วง COVID-19 เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเปิดใจลองดิจิทัลต่าง ๆ พอถึงวันที่ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ ทุกคนจะเริ่มเอาเทคนิคใหม่ ๆ เอาเครื่องมือใหม่ ๆ มาทำให้การเรียนการสอนในคลาสเรามีประสิทธิภาพมากที่สุด”