ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล
ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
แผน งาน กลยุทธ์ และภาพในอนาคต บอกเล่าโดย
“เมื่อสัปดาห์สุดท้ายของปี พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบกับ ‘แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ’ ซึ่งในแผนนี้มุ่งว่า สถาบันอุดมศึกษาจะเป็นแกนหลัก หรือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งหมายถึง สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องมีทั้งบุคลากรที่ดี มีระบบการดำเนินงานที่ดี และมีระบบการศึกษาที่ดี ‘ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน’ จะเป็นหนึ่งในหัวใจ และกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านนี้ ดังนั้น แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ จึงระบุชัดเจนว่า สถาบันอุดมศึกษาจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ โดยใช้องค์ความรู้ครับ” ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บอกเล่าอย่างกระชับถึงที่มาที่ไปของแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ ที่นับจากนี้ ประเทศไทยจะเริ่มกล่าวถึงหัวข้อนี้กันอย่างกว้างขวางและมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
นับแต่มียุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี หรือ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580’ อันเป็นยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวฉบับแรกของประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นกรอบชี้นำทิศทางการพัฒนาประเทศทุกมิติในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า ซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์ และเป้าหมายการพัฒนา โดยยึดคติพจน์ของประเทศ ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ดังนั้น เพื่อให้ทิศทางของประเทศมีแนวทางตอบโจทย์เป้าหมายอย่างชัดเจนในทุกมิติ ยุทธศาสตร์สำหรับขับเคลื่อนประเทศจึงประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐ
‘แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ’ ได้รับการจัดทำขึ้น เพื่อกำหนดให้ประเทศไทยมีทิศทาง และเป้าหมาย ในการพัฒนาประเทศชัดเจนมากขึ้น โดย ‘แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ’ นั้น กำหนดทิศทาง เป้าหมาย และตัวชี้วัดของการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติให้ชัดเจน โดยแบ่งช่วงระยะเวลาของการพัฒนาออกเป็น 4 ช่วง ช่วงละ 5 ปี ซึ่งทำให้ทิศทางการพัฒนามีความยืดหยุ่น พร้อมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของแต่ละช่วงเวลา และสามารถปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หนึ่งในกลไกสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนพัฒนานั้นสำเร็จบรรลุได้ตามเป้าหมาย คือ ‘การอุดมศึกษา’ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและพัฒนากำลังคนระดับสูง และยังเป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อันเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อนำพาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างทันยุคสมัยทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ“ทำไมต้องเป็นมหาวิทยาลัย ประการแรก มหาวิทยาลัยมีองคาพยพและมีองค์ประกอบครบถ้วน มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งทั่วโลกมีบุคลากรที่มีความสามารถ มีประสบการณ์ มีความรู้ และองค์ความรู้ต่าง ๆ ก็รวบรวมอยู่ในมหาวิทยาลัย ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยมีหน้าที่สร้างและผลิตคนยุคใหม่ ดังนั้น คนที่ออกไปจากมหาวิทยาลัย จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องเป็นผู้นำเพื่อที่จะดำเนินการนี้”
ปลัด อว. กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้จัดทำ ‘นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2570’ ขึ้น ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งเน้นการพัฒนานโยบายสำหรับทุกกลุ่มทั้งเชิงพื้นที่และระดับประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่มีข้อมูลสนับสนุน (Evidence-based Policy) โดยกำหนดเป้าหมายหลักและทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Objectives) รวมถึงประเด็นสำคัญ (Key Issues) ในการพัฒนาอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ยึดหลักเน้นความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ (Demand-driven) เพื่อเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
ทั้งนี้ ในส่วนของ ‘ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา’ นอกจากจะประกอบไปด้วย 1) เจตนารมณ์ วิสัยทัศน์ และวัตถุประสงค์ของแผน และ 2) เป้าหมาย และตัวชี้วัดของแผนแล้ว หัวข้อที่ 3) ยุทธศาสตร์และแนวทาง ยังประเด็นยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศสำคัญ อันประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ บัณฑิตและกำลังคน ระบบนิเวศวิจัย และอุดมศึกษาใหม่ ซึ่งยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ มี 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพคน (Capacity Building) การส่งเสริมระบบนิเวศวิจัยอุดมศึกษา (Research Ecosystem Building) และการจัดระบบอุดมศึกษาใหม่ (Higher Education Transformation)
ในยุทธศาสตร์เรื่อง ‘การจัดระบบอุดมศึกษาใหม่’ นี้เอง สถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยจัดการศึกษาขั้นสูงที่เป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ฉะนั้น สถาบันอุดมศึกษาจึงต้องมีศักยภาพและสมรรถนะตรงตามอัตลักษณ์ หรือจุดแข็งของตนเอง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและประเทศ โดยสถาบันอุดมศึกษาต้องปรับตัวและพัฒนาตนเอง เพื่อมุ่งไปสู่สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ รวมทั้งต้องมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มีความทันสมัย ความโปร่งใส (Transparency) ความรับผิดชอบและการตรวจสอบได้ (Accountability) มีการใช้จ่ายงบประมาณที่ภาครัฐสนับสนุนอย่างคุ้มค่า คุ้มทุน และมีประโยชน์สูงสุด และสามารถจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อบรรยากาศการเรียนการสอนและรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งแนวทางขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ ประกอบไปด้วย 4 แนวทาง คือ การบริหารจัดการและธรรมาภิบาล (Management and Good Governances) การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาตามอัตลักษณ์ที่หลากหลาย (Reinventing University) ความมั่นคงทางการเงินในระบบอุดมศึกษา (Financial Security) และ ‘อุดมศึกษาดิจิทัล (Digital Higher Education)’
ในส่วนของ ‘แผนการปฏิรูปประเทศ’ ได้กำหนดให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อขับเคลื่อนเร่งรัดประเด็นสำคัญ และปลดล็อกข้อจำกัดในการดำเนินงานแก่ภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย ประกอบกับ ‘แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา’ จะผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ด้านทรัพยากรมนุษย์ในสังคมไทยให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ผ่านกลไกการจัดการศึกษาที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ ยังมี ‘แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศให้บรรลุผลตามยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้ โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาอันเป็นปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ ซึ่งได้วิเคราะห์สภาพปัญหา และความท้าทายของระบบการศึกษาไทย ประกอบกับข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษาของหน่วยต่าง ๆ กำหนดเป็นแผนงานเพื่อการปฏิรูป 7 เรื่อง ทั้งนี้ เรื่องสำคัญประการหนึ่ง คือ ‘เรื่องการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล’ (Digitalization for Educational and Learning Reform) ซึ่งประกอบด้วยประเด็นปฏิรูป 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ (Digital Learning Reform : National Digital Learning Platform (NDLP)) 2) ระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา (big data for education) และ 3) การพัฒนาความเป็นพลเมืองดิจิทัล (digital citizenship) ในด้านความฉลาดรู้ดิจิทัล (digital literacy) ความฉลาดรู้สารสนเทศ (information literacy) ความฉลาดรู้สื่อ (media literacy) เพื่อการรู้วิธีการเรียนรู้ (learning how to learn) ในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนการมีพฤติกรรมที่สะท้อนการรู้กติกา มารยาท และจริยธรรมเกี่ยวกับการใช้สื่อและการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ต
“เรื่องการขับเคลื่อนและพัฒนาการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลนี้ ยังมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 องค์ประกอบด้วยกัน คือ 1) ความสามารถในการปรับตัวในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ทั้งแบบก้าวกระโดด และแบบต่อเนื่อง 2) ความเร็วในการเปลี่ยนแปลงในการปรับตัว และ 3) ความครบถ้วนสมบูรณ์ในการปรับตัว” ปลัด อว. อธิบาย
ทั้งนี้ ทั้งการพัฒนา และการเปลี่ยนแปลง ก่อนอื่นต้องรู้ว่าอยากจะไปที่ไหน อยากจะเห็นอะไร จึงต้องมีเป้า (Goal) ซึ่งแม้เป้าหลักจะเป็นการปรับตัวสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล แต่ภารกิจและจุดมุ่งเน้นของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นย่อมแตกต่างกันตามความโดดเด่น หรือจุดแข็ง จึงเป็นที่มาของโครงการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital Transformation Health Check for University Preparedness) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสำรวจสถาบันอุดมศึกษาในการก้าวเข้าสู่ มหาวิทยาลัยดิจิทัลใน 5 มิติ ได้แก่ ทิศทางและการพัฒนาองค์กร ความพร้อมด้านพันธกิจ/ธุรกิจ ความพร้อมด้านระบบงานประยุกต์ ความพร้อมด้านข้อมูล และความพร้อมด้านเทคโนโลยี
เมื่อรู้เฮลท์เช็กแล้ว เมื่อรู้โกลแล้ว จะรู้ว่าต้องทำอะไร ซึ่งมีวิธีการหลักๆ อยู่ 2 วิธี คือ 1) แบบค่อยเป็นค่อยไป ยกตัวอย่างเช่น การเรียนการสอนแบบออนไลน์ จำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์ หรือระบบต่าง ๆ จำนวน 100 ตัว แต่ขณะนี้มีอยู่ 40 ตัว ดังนั้น จึงต้องเพิ่มจาก 40 ตัว เป็น 100 ตัว ปีไหนจะทำอะไร เท่าไร นี่คือการวิธีการแบบค่อยเป็นค่อยไป 2) แบบก้าวกระโดด เช่นว่า ในการเรียนออนไลน์ การจะรู้ว่านักศึกษาสัมฤทธิ์ผลในการศึกษาได้โดยไม่ต้องนั่งทำข้อสอบเลยได้หรือไม่ จะทำอย่างไร การปรับตัวต้องปรับทั้ง 2 แบบ บางส่วนจำเป็นต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป บางส่วนจำเป็นต้องทำแบบก้าวกระโดด”
อย่างไรก็ตาม เพื่อการขับเคลื่อนไปสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ต้องตั้งคำถามว่า ทำไปทำไม และเกิดประโยชน์กับใคร “จริง ๆ ประโยชน์เกิดขึ้นกับทุกส่วนนะครับ เกิดขึ้นกับทั้งตัวนิสิต นักศึกษา มหาวิทยาลัยเองก็ต้องได้รับประโยชน์ บุคลากรอาจารย์ ก็ต้องได้ประโยชน์ กระทรวง ประชาชน ก็ต้องได้ประโยชน์ และที่สำคัญ ประเทศต้องได้ประโยชน์” ปลัด อว. กล่าว
โครงการหนึ่ง คือ ดิจิทัลทรานสคริปต์ ซึ่งจะพลิกโฉมของการออกทรานสคริปต์จากเดิมที่เป็นกระดาษ ให้กับนิสิต นักศึกษา ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย มาสู่รูปแบบไฟล์ดิจิทัล ซึ่งสามารถยืนยันว่าได้เป็นเอกสารตัวจริง มีระบบลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ เบื้องต้นนิสิต นักศึกษา จะได้รับประโยชน์ เพราะสามารถใช้สมัครงานได้อย่างคล่องตัว หรือขอเอกสารจากทางต้นสังกัดได้โดยไม่ต้องเดินทาง หรือใช้เวลานานเช่นที่ผ่านมาในอดีต ขณะเดียวกัน บริษัทผู้รับสมัครงาน หรือนายจ้าง ก็สามารถตรวจสอบเอกสารผ่านระบบได้อย่างสะดวก และเชื่อถือได้ ที่สำคัญที่สุด ประเทศจะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมต่อข้อมูล เพราะแทนที่จะทราบเพียงว่าในแต่ละปีมีนิสิต นักศึกษา สำเร็จการศึกษาเท่าไร ยังจะมีฐานข้อมูลว่า ประเทศของเรามีนิสิต นักศึกษาที่ทำคะแนน หรือมีความสามารถในวิชาต่าง ๆ ระดับไหน จำนวนเท่าไร ซึ่งสามารถนำข้อมูลมาประมวล และพิจารณาในแง่ขององค์ความรู้ของประเทศต่อไปได้
ทว่า ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ “การการปรับตัวทุกครั้งยากทั้งหมด การปรับตัวเข้าสู่เรื่องดิจิทัลนี้ก็ยากไม่ต่างจากเรื่องอื่น ๆ การที่จะทำเรื่องยากนั้น คือ 1) เรื่องฉันทานุมัติ เป็นเรื่องที่ทำคนเดียวไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องดิจิทัล คือ เรื่องของการเชื่อมต่อ (Connectivity) ไม่ได้มีจุดเดียว ต้องมีหลาย ๆ จุด 2) ปัจจัยภายนอก ซึ่งส่งผลให้จำเป็นจะต้องเปลี่ยนอย่างรวดเร็วมาก เช่น เรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญมาก คือ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์อย่างเต็มตัว” ปลัด อว. ยกตัวอย่าง“ความจริงแล้ว เราตื่นตัวและเตรียมตัวเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์กันมาหลายปี แต่เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2563 มีความจำเป็นต้องยุติความเคลื่อนไหวของคนจำนวนมาก และการติดต่อสื่อสารส่วนใหญ่ต้องดำเนินการโดยวิธีการไม่เจอตัว กิจการเรื่องการอุดมศึกษาจึงนำไปสู่การเรียนการสอนทางไกล หรือการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งพบว่า ทั้งประเทศสามารถจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่า เรื่องที่เราดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะในแง่ของระบบออนไลน์ มีความพร้อม และสามารถเปลี่ยนได้ทันที แรงกระทบจากภายนอกอย่างสถานการณ์ COVID-19 ไม่ได้สะท้อนปัญหา แต่แสดงให้เห็นว่า เรามีศักยภาพที่จะดำเนินการได้”
ปลัด อว.อธิบายว่า การเรียนสอนออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนและพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ยังจำเป็นต้องประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐาน และเนื้อหาสาระ กล่าวคือ โครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยไทยมีความพร้อมหรือไม่ อย่างไร อาทิ เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับดำเนินการ เป็นต้น ในส่วนของเนื้อหาสาระ เช่น การเข้าสู่การเรียนการสอนแบบออนไลน์สำหรับบางรายวิชา และบางกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น การเรียนการสอนในเชิงศิลปกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ยังทำได้ยาก
จากการเรียนการสอนออนไลน์อย่างเต็มตัว พบว่า มีการขับเคลื่อนเรื่องความสนใจที่ไร้การปิดกั้นขึ้นด้วย เช่นว่า นิสิต นักศึกษา ลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยของตนเอง แต่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนออนไลน์ของอาจารย์ท่านอื่นในรายวิชาเดียวกันจากต่างมหาวิทยาลัย “การเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในยุค COVID-19 ทำให้เราเห็นแล้วว่า ในรายวิชาเดียวกัน อาจจะไม่จำเป็นต้องสอนจากมหาวิทยาลัยทุกแห่ง เช่น ทั้งประเทศมีอาจารย์ที่สอนรายวิชานี้อยู่ 25 ท่าน อาจให้อาจารย์ที่เชี่ยวชาญประมาณ 3 ท่านจัดสอนนิสิต นักศึกษาทั้งประเทศ อีก 22 ท่านก็จะสามารถไปมุ่งเน้นพัฒนางานด้านอื่น ๆ ของประเทศ นี่คือตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลง และการดำเนินงานระบบนี้ เราไม่เพียงแต่ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย แต่เป็นการขับเคลื่อนกระบวนการอุดมศึกษา ขับเคลื่อนประเทศให้มีความชัดเจนมากขึ้น” ปลัด อว. ยกตัวอย่าง
นอกจากนี้ ยังมีโครงการการเชื่อมต่อข้อมูลของระบบมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้ตัวข้อมูลได้เป็นประเด็นสำคัญของการเรียนการสอนแล้ว กล่าวคือ ระบบข้อมูลต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันนั้น ทำให้เกิดการเรียนการสอนแบบตลอดชีวิต “คนคนหนึ่งอาจจะเริ่มเรียนวิชาหนึ่งในปีหนึ่งที่นี่ แล้วอีก 5 ปีต่อมา เขาสามารถไปเรียนอีกรายวิชาหนึ่งอีกที่หนึ่ง กระบวนการในการทรานส์เฟอร์ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ จะเกิดขึ้นแบบสมบูรณ์” ปลัด อว. กล่าว “ในเวลานี้ สิ่งที่กระทรวงทำก็คือ ให้ทิศทางหลัก ให้โครงการหลัก เพื่อนำไปสู่ 3 อย่าง คือ 1) เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว 2) มีความตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ และ 3) เกิดความสมบูรณ์
เมื่อแผนชัด ทิศทางชัด เป้าหมายชัด ภาพและความชัดเจนของ ‘อุดมศึกษาดิจิทัล’ ที่วางไว้ย่อมอยู่ไม่ไกล ที่สำคัญ คือ สามารถตอบโจทย์องค์ประกอบ 3 ด้าน ตั้งแต่ 1) ยกระดับคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นการเสริมสร้างกระบวนการเข้าถึงแหล่งความรู้ การกระจายความรู้ และการปฏิรูปการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษา 2) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ การเรียนการสอน และการบริหารจัดการทางการศึกษาให้สามารถขยายบริการทางการศึกษาได้เพิ่มมากขึ้น และ 3) ส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถใช้ประโยชน์และพัฒนากลไกการเรียนรู้ของตนเองโดยอิสระ ซึ่งกลายมาเป็นกลยุทธ์สำคัญ 3 ประการ คือ 1) โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และระบบฐานข้อมูล (Big Data) เพื่อการอุดมศึกษาและวิจัย 2) รัฐกำหนดมาตรฐานการให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลระดับสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้ทุกสถาบันอุดมศึกษาสามารถใช้ประโยชน์จากระบบดิจิทัลในการจัดการศึกษา และการวิจัยได้อย่างเสมอภาค ตลอดจนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ 3) รัฐกำหนดมาตรฐานการเข้าถึงแหล่งข้อมูลดิจิทัล เพื่อการเรียนรู้และการวิจัย (Digital Contents) จากทั่วโลกส่งเสริมการพัฒนา Online Course, Digital Content, Digital Collections, Virtual Mobility ส่งเสริมการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล การสืบค้นข้อมูล และแหล่งกระตุ้นส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ที่หลากหลาย รัฐเป็นผู้ประสานการเจรจาต่อรองการจัดการฐานข้อมูลความรู้และการวิจัยทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากร เพื่อการศึกษามีความเหมาะสมสอดคล้องกับยุคดิจิทัล
จาก ‘ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580’ สู่ ‘นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2570’ จนถึงงานด้าน ‘อุดมศึกษาดิจิทัล’ ในวันนี้ ได้ถูกเคลื่อนกำลังทัพ เดินหน้าทำงานอย่างเต็มกำลังทั้งระบบ พร้อมขับเคลื่อนและนำประเทศไทยสู่ ความ ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ อย่างแท้จริง
ข้อมูลอ้างอิง : แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564-2567 ฉบับสมบูรณ์
The author’s last name, publisher’s name, name of the https://www.affordable-papers.net/ book, publisher’s address, etc.